พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมีด้วยการควักดวงตา?

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย มาร-, 9 ตุลาคม 2010.

  1. มาร-

    มาร- เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    262
    ค่าพลัง:
    +487

    ผู้ให้ของชอบใจย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดีย่อมได้ของดี ผู้ให้ของประเสริฐย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ

    ในการเดินทางไกล เราจำเป็นจะต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในโลกนี้ ในโลกหน้า หรือแม้กระทั่งไปสู่อายตนนิพพานย่อมต้องมีเสบียง คือ บุญ ไว้หล่อเลี้ยงกายและใจ บุญจะช่วยชำระใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ และเป็นเครื่องดึงดูดความสุขความสำเร็จในชีวิต บุญเกิดจากการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ทางมาแห่งบุญ โดยย่อ คือ การทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่า



    " มนาปทายี ลภเต มนาปํ
    อคฺคสฺส ทาตา ลภเต ปุนคฺคํ
    วรสฺส ทาตา วรลาภี จ โหติ
    เสฏฺฐนฺทโท เสฏฺฐมุเปติ ฐานํ

    ผู้ให้ของชอบใจย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดีย่อมได้ของดี ผู้ให้ของประเสริฐย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ "

    ปุญญาภิสันทา ท่อธารแห่งบุญ เมื่อบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย จะกลั่นเป็นดวงบุญที่สุกใสสว่าง คอยหล่อเลี้ยงรักษา สนับสนุนส่งเสริมให้เราเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัติทุกอย่าง อานุภาพดวงบุญศักดิ์สิทธิ์จะดึงดูดสิ่งที่ดีงามเข้ามาสู่ตัวเรา ดึงดูดทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ สวรรค์สมบัติ กระทั่งนิพพานสมบัติ เมื่อมีบุญมากความสุขความสำเร็จย่อมมีมาก นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายเห็นคุณค่าของบุญ จึงสั่งสมบุญทุกรูปแบบ โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้างและเงื่อนไข โดยเริ่มต้นสั่งสมบุญด้วยการให้

    โลกนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการให้ การให้เป็นวิสัยของบัณฑิต เป็นอริยประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จะเป็นผู้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตได้ต้องเริ่มจากการเปิดใจให้กว้าง ฝึกการเป็นผู้เสียสละ พร้อมเสมอที่จะให้ พระโพธิสัตว์ทั้ง หลายมองเห็นสุขอันยิ่งใหญ่แล้ว ท่านจึงให้ทานโดยไม่มีความตระหนี่เข้ามาครอบงำจิตใจแม้เพียงน้อยนิด ท่านยอมสละสุขเล็กน้อย เพื่อเข้าถึงสุขที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ สละได้แม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อมุ่งสู่พระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

    * เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระเจ้าสีวิราช ครองแคว้นสีพี พระองค์เป็นผู้ยินดีในการบริจาค ทาน ทรงบริจาคทานทุกวัน วันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ โดยสร้างศาลาโรงทานไว้ ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ แห่ง ใจกลางเมืองอีก ๑ แห่ง และที่ประตูพระราชนิเวศน์อีก ๑แห่ง พระองค์จะเสด็จไปโรงทาน ทรงตรวจตราการให้ทานด้วยพระองค์เองในทุกวันพระ

    ครั้งหนึ่ง ในวันดิถี ๑๕ ค่ำ พระเจ้าสีวิราชประทับเหนือราชบัลลังก์ ทรงนึกถึงมหาทานที่พระองค์ได้บริจาค พลางดำริว่า "ทรัพย์สมบัติภายนอกทุกอย่างเราก็ให้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เรายังไม่เคยบริจาค แต่ทานเหล่านี้มิได้ทำให้เรายินดีปรีดาเพิ่มขึ้นเลย ไฉนหนอจะมีคนที่มาขอวัตถุที่เป็นของภายในบ้าง"

    พระองค์ทรงดำริต่อไปว่า "ในวันนี้หากมีผู้มาขอเนื้อ เราก็จะให้เนื้อ ขอเลือดก็จะให้เลือด ขอหัวใจก็จะให้หัวใจ และถ้าใครขอดวงตาของเรา เราจะควักดวงตาทั้งคู่ให้ทันที" ท้าวสักกเทวราชประสงค์จะทดลองกำลังใจ จึงแปลงเป็นพราหมณ์ชรามีดวงตามืดบอด ไปเข้าเฝ้าพระราชาผู้กำลังตรวจตราโรงทาน เมื่อไปถึงได้ประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า พระราชาตรัสถามว่า "ท่านพราหมณ์ ท่านมาวันนี้ มีความประสงค์สิ่งใด"

    ท้าวสักกเทวราชตรัสตอบว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้ทรงธรรม การบริจาคทานของพระองค์ได้ฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ ข้าพระองค์เป็นคนตาบอดมีนัยน์ตาข้างเดียว ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" พระราชาสดับถ้อยคำเช่นนั้น เกิดความปีติปราโมทย์ยิ่งนัก ถึงกับเปล่งอุทานว่า "เป็นลาภใหญ่ของเราหนอ ความปรารถนาของเราจะสำเร็จบริบูรณ์ในวันนี้แหละ เราจะได้ให้ในสิ่งที่ให้ได้โดยยากแล้ว"

    พราหมณ์ได้กราบทูลอีกว่า "บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ดวงตาเป็นสิ่งยากที่บุรุษจะสละได้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานดวงเนตรนั้น ที่ไม่มีสิ่งอื่นจะยิ่งกว่า แก่ข้าพระองค์เถิด" พระราชาตรัสตอบว่า "ท่านพราหมณ์ ท่านปรารถนาสิ่งใดจากเรา ขอสิ่งนั้นจงเป็นผลสำเร็จแก่ท่านเถิด เมื่อท่านขอ ดวงตาข้างเดียว เราจะให้ดวงตาทั้ง ๒ ข้างแก่ท่านเลยทีเดียว" จากนั้นทรงนำพราหมณ์เข้าไปในพระราชฐาน รับสั่งให้เรียกหมอมาควักดวงตาของพระองค์

    เรื่องที่พระราชาจะบริจาคดวงตาแก่พราหมณ์ตาบอด ได้กระจายไปทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว เหล่าอำมาตย์ราชเสนาพสกนิกรต่างกราบทูลทัดทานพระราชาเอาไว้ แต่พระราชาทรงยืนยันว่า "แม้เราจะรักดวงตาทั้งสองปานใด แต่สัพพัญญุตญาณอันประเสริฐนั้น เป็นสิ่งที่เรารักและปรารถนามากยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นเราจึงยินดีที่จะสละดวงตา ท่านทั้งหลายอย่าได้ห้ามการบริจาคของเรา และอย่าได้ถือโกรธในพราหมณ์นี้เลย"

    จากนั้น พระองค์ทรงรับสั่งให้แพทย์ควักดวงตาทั้งสองออก หมอได้บดโอสถหลายขนานทาพระเนตรเบื้องขวา พระองค์ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส หมอเกิดความสงสารขึ้นมาจับใจ ไม่อาจทำต่อไปได้ จึงกราบทูลพระราชาว่า "ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงตัดสินพระทัยใหม่เถิด ข้าพระองค์สามารถทำพระเนตรให้กลับเป็นปกติได้" พระองค์ทรงปฏิเสธว่า "ท่านอย่ามัวชักช้าอยู่เลย จงรีบควักดวงตาของเราออกเถิด" หมอจึงปรุงโอสถน้อมเข้าไปให้ทรงทาพระเนตรซ้ำอีก

    เมื่อดวงตาถูกควักออก พระราชาทรงเกิดทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะสละดวงตาเป็นทานให้ได้ จึงข่มทุกขเวทนาไว้ หมอได้วางดวงตาไว้ในพระหัตถ์ของพระราชา พระองค์ทรงรับดวงตาทั้งสองไว้ พลางตรัสว่า "สัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักกว่านัยน์ตาทั้งสองของเราตั้งร้อยเท่า พันเท่า ขอผลที่เราบริจาคดวงตานี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้พระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐนั้นเถิด" แล้วได้พระราชทานดวงพระเนตรทั้งสองแก่พราหมณ์

    พราหมณ์รับดวงตาทั้งสองมาแล้ว ได้ประดิษฐานไว้ในเบ้าตาด้วยฤทธานุภาพ ทำให้สามารถมองเห็นได้อีกเป็นอัศจรรย์ เมื่อพระราชารู้ว่า พราหมณ์มองเห็นได้เป็นปกติ ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง มีปีติแผ่ซาบซ่านไปทั่วพระวรกายข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ทำให้ความเจ็บปวดที่มีอยู่หายไปหมดสิ้น

    เมื่อพระราชาเห็นว่า พระองค์เป็นคนตาบอดไม่สะดวกที่จะปกครองบ้านเมืองอีกต่อไป จึงมอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลาย เสด็จออกผนวชเป็นฤๅษีอยู่ในพระราชอุทยาน ทรงรำพึงถึงทานของพระองค์ว่า "ก่อนให้ก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็มีใจศรัทธา หลังให้แล้วมีใจเอิบอิ่มเบิกบาน" ท้าวสักกะเห็นความเด็ดเดี่ยวในการบริจาคทานของพระโพธิสัตว์ จึงเสด็จมาแนะนำให้พระราชาขอพร เพื่อให้ได้ดวงตากลับคืนมาอีกครั้ง

    พระราชาทรงทำสัจจกิริยาว่า "ผู้ใดมาขอกับเรา ผู้นั้นเป็นที่รักของเรายิ่งนัก เมื่อพราหมณ์มาขอดวงตาข้างเดียว เราได้ให้ดวงตาทั้งสอง โดยไม่มีความรู้สึกเสียดายเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจักษุจงบังเกิดขึ้นแก่เราเถิด" สิ้นคำอธิษฐาน ดวงตาทั้งสองเกิดขึ้นใหม่ทันที มีลักษณะที่สวยงามมาก พระองค์สามารถทอดพระเนตรได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ มองทะลุฝาหรือกำแพงหรือภูเขาได้หมด ไม่มีสิ่งใดบดบังดวงตาของพระองค์ได้อีกต่อไป

    เราจะเห็นว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านเกิดกี่ภพกี่ชาติไม่เคยว่างเว้นจากการสั่งสมทานบารมี ไม่ว่าจะเป็นบารมีขั้นต้น อุปบารมี หรือปรมัตถบารมี พระองค์ประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ให้เป็นต้นแบบในการสร้างบารมีของเรา เพราะพวกเราทั้งหลายต่างกำลังสร้างบารมีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่ง นิพพาน ท่านมีวัตรปฏิปทาอย่างไร เราก็ต้องดำเนินตามแบบอย่างของท่าน ชีวิตการสร้างบารมีของเราจะได้ไม่ผิดพลาด มีแต่ความปลอดภัย และประสบชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

    พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

    ที่มา

    บริจาคดวงตาเป็นทาน(อุปบารมี) ::: DMC Dhamma Media Channel
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • LW_58___.jpg
      LW_58___.jpg
      ขนาดไฟล์:
      62.3 KB
      เปิดดู:
      139
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 ตุลาคม 2010
  2. จันทโค

    จันทโค เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,866
    ค่าพลัง:
    +35,603
    สาธุ กราบอนุโมทนาด้วยนะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...