แนะนำพระดี มีพลังมหัศจรรย์ อาถรรพ์หนุนชีวิต อิทธิฤทธิ์มหาศาล

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย หนุ่มเมืองแกลง, 15 พฤษภาคม 2010.

  1. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    บทโศลกบทนี้ จะพบอยู่เสมอในเว็ปธรรมะของจีน

    เห็นว่ามีความหมายดี จึงนำมาฝากครับ

    ***************

    สรรพสิ่งในโลก ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ

    ดุจเงาภาพในความฝัน แล ฟองสบู่

    สั้นดั่งหยดน้ำค้าง แล สายฟ้าแลบ

    มีแต่กรรมที่กระทำเฝ้าติดตาม

    --------------------------------------

    สรรพสิ่งในโลก ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสมมุติตั้งขึ้นมากันเอง เช่น เพชรนิลจินดา

    ถ้าหากเราเอาเพชรอย่างดีมีราคา โยนให้ไก่ให้เป็ด เป็ดไก่ยังเดินหนีไม่สนใจมันเลย

    จริงแล้วในสายตาของเป็ดไก่ มันคือก้อนหินก้อนกรวดสำหรับพวกเขา

    ***

    ดุจเงาภาพในความฝัน แล ฟองสบู่ หรือฟองอากาศนั่นเอง จับต้องเอาเป็นของเราจริงๆไม่ได้

    ทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้มากมาย พอตายแล้วไม่สามารถหยิบติดมือไปได้ แม้แต่เข็มเล่มเดียว

    สมบัติเป็นเหมือนภาพมายาในความฝันที่ตื่นมาแล้วจับต้องอะไรไม่ได้

    ****

    สั้นดั่งหยดน้ำค้าง แล สายฟ้าแลบ ตั้งอยู่เพียงชั่วคราวก็แปรเปลี่ยน

    เหมือนน้ำค้างพอโดนแดดก็สลาย เหมือนฟ้าแลบให้เห็นแผล็บเดียวก็หายไป

    ดอกไม้บานแล้วไม่น่นก็ร่วงโรย วัยหนุ่มสาวไม่นานก็แก่ชราหย่อนยาน

    ******

    มีแต่กรรมที่เรากระทำเท่านั้น ที่จะติดตามเราไป

    บุญ บาป เท่านั้นที่ตามติดตัวไป เป็นของจริง
     
  2. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    อย่าคิดว่าสูญเสียแล้วชีวิตจะต้องเป็นศูนย์ เรานับหนึ่งใหม่ได้เสมอ หากเราคิดจะนับซะอย่าง"

    ถ้าสิ่งที่เราคาดหวัง...ไม่เป็นดั่งหวัง ถ้าสิ่งที่เราพยายามทุ่มเททำสุดแรงกายแรงใจไม่ประสบผลสำเร็จ
    ถ้าสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น และได้สร้างความบอบช้ำ จนทำให้เราต้องจมอยู่กับ
    ความทุกข์

    เรากำลังก้าวสู่ "ชีวิตที่เป็นจริง" แล้วหล่ะ เพราะความเป็นจริงของชีวิต จะสอนให้เรารู้จักยอมรับความพ่ายแพ้สอนให้เรารู้จักสูญเสียน้ตา เพื่อที่จะได้รอยยิ้มคืน กลับมาเป็นรางวัลตอบแทน แต่มันก็ไม่เคยทำให้ใครหมดสิ้นความหวัง หมดสิ้นพลังและกำลังใจไปกับความพ่ายแพ้ เพียงแค่ความเป็นจริงสอนให้พวกเราทุกคนรู้ว่า

    ...........อย่าเพียรสร้างความหวัง แต่ให้เชื่อมั่นในความหวัง............

    เพราะความเชื่อมั่นจะนำพาเราไปพบกับ "หนทางสู่ความสำเร็จ" แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอะไรอีกมากมายกว่าจะถึงวันนั้น แม้ว่าจะต้องล้มลงอีกสักกี่ครั้ง แม้ว่าจะต้องผิดหวังอย่างแรงอีกสักกี่หนก็ตาม ปล่อยให้ชีวิตผิดพลาดเสียบ้าง ปล่อยให้ความคาดหวังได้เจอกับความผิดหวัง ปล่อยให้ความฝันกลายเป็นฝันค้างลอยกลางอากาศ ปล่อยให้อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แม้ว่าเกิดขึ้นแล้วจะเลวร้ายกับชีวิตก็ตามที เพราะทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น จะช่วยสอนและช่วยเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้แก่ชีวิต ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วบนโลกใบนี้

    คุณ บอย โกสิยพงศ์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเล่มหนึ่ง เขาพูดให้แง่คิดที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันอาจจะสร้างบาดแผลให้กับใครหลายๆ คนมาบ่อยครั้ง คุณบอยพูดไว้ว่า...ไม่มีอะไรที่อยู่กับเราตลอดชีวิต ทุกอย่างมันก็รอเวลาจากเราไปทั้งนั้น

    เชื่อว่าถ้าชีวิตคนเรา ไม่ยึดติด ไม่ต้องแขวนชีวิตไว้กับความคาดหวัง เวลาที่เราสูญเสีย หรือเวลาที่เราต้องเจอกับความล้มเหลว เราคงมีภูมิต้านทานมากพอที่จะเอาไว้ต่อสู้กับความท้อแท้ อย่าคิดว่าสูญเสียแล้วชีวิตจะต้องเป็นศูนย์ เพราะว่าเรานับหนึ่งใหม่ได้เสมอหากเราคิดที่จะนับซะอย่าง ไม่มีอะไรบนโลกที่น่ากลัว และไม่จำเป็นต้องกลัวกับความเป็นจริงของชีวิต

    "มีพบก็ต้องมีจาก มีได้ก็ต้องมีเสีย และมีสุขก็ต้องมีทุกข์เป็นสัจธรรม"

    เมื่อไรที่เราได้รู้จัก สัมผัส และได้เรียนรู้กับชีวิตทั้งสองด้าน เมื่อนั้นเราจะไม่รู้สึกเสียดาย หากเราได้มีโอกาสล้มทั้งยืน แต่เราจะเสียใจไปตลอดชีวิตหากเราไม่สามารถก้าวข้ามความล้มเหลวที่ผ่านเข้ามาได้

    มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า... การตั้งความหวัง คือการเสี่ยงกับความเจ็บปวด การพยายาม คือการเสี่ยงกับความล้มเหลว แต่ยังไงก็ต้องเสี่ยง เพราะในสิ่งที่อันตรายที่สุดในชีวิตก็คือ การไม่เสี่ยงอะไรเลย

    ล้มลงสักกี่ครั้ง ผิดหวังมาสักกี่หน ลุกขึ้นยืนให้ได้ แล้วสักวันเราจะเจอความสุข เพราะความสุขไม่ได้หนีจากเราไปไหนหรอก มันอยู่ใกล้เราแค่เพียงเอื้อมมือจริงๆ ถ้าหากเราไม่ได้ไปตัดสินว่า โลกมันควรเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น และไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ให้กับตัวเองมากจนเกินไป เวลาคิดหรือทำอะไรสักอย่างแล้วมีข้อบังคับ มีกรอบ และสร้างมโนภาพความสำเร็จไว้ล่วงหน้า เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปตามกฎของเรา เราก็ทุกข์ เราก็เสียใจ และเราก็ใจเสียเอาได้ง่ายๆ

    มีคนเคยบอกไว้ว่า...สิ่ง ที่เกิดขึ้นกับคุณ ไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดความสุขของคุณ แต่มันเป็นความคิดของคุณเองต่างหาก ความคิดที่มีต่อสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับคุณนั่นเอง จะสุขหรือจะทุกข์ก็ขึ้นอยู่ที่เราทั้งนั้นเป็นคนกำหนด ล้มทั้งยืนเสียบ้างก็คงไม่เสียหายอะไร แต่ล้มไม่เป็นเลยนี่สิ...ลำบาก

    ลองคิดดูเล่นๆ ซิว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตต่อไป...หลังจากนี้
     
  3. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    อิติปิโส ภะคะวือ โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


    นึกถึงนิทานย่อๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังเสมอ หลวงตาพรอาจารย์ของหลวงพ่อนักธรรมตรีก็ไม่ได้ สอนลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่มีปฏิภาณโวหาร แต่ว่าลูกศิษย์สอบได้นักธรรมตรี โท เอก ท่านกลัวว่าลูกศิษย์จะลบหลู่ดูหมิ่นท่านหรืออย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่ท่านก็เล่านิทานอันนี้ให้ฟังอยู่บ่อยๆ ท่านบอกว่า

    มีครูบาอาจารย์สำนักหนึ่งสอนลูกศิษย์ให้ภาวนา อิติปิโส ภะคะวือ แล้วลูกศิษย์ที่ยังไม่มีความรู้กว้างขวาง ก็ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์อย่างคนว่าง่าย แต่มาภายหลังลูกศิษย์เหล่านั้นมีโอกาสได้ไปศึกษาเล่าเรียนในต่างสำนัก บางท่านก็ได้เป็นมหาเปรียญกลับมา ทีนี้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ก็ไปค้นคว้าตำรับตำราหาคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ ไม่มีเลย

    ทีนี้พอกลับมาแล้ว ก็มาปรึกษาหารือว่าอาจารย์ของเรานี้ เข้าใจผิดซะแล้วล่ะ พวกเราต้องมาช่วยกันแก้ทิฏฐิของอาจารย์ มีอย่างที่ไหน อิติปิโส ภะคะวือ มาสอนกัน มันไม่มีในตำราสักหน่อยหนึ่งเลย พอกลับมาก็เข้าไปกราบอาจารย์ "อาจารย์ๆ สอนพวกเราว่า อิติปิโส ภะคะวือ นี้สอนผิดซะแล้วล่ะ ควรแก้ใหม่ พวกเราไปค้นตำรับตำรากันหมดพระไตรปิฎกแล้ว ไม่เจอคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ กันสักแห่งเลย อาจารย์เอาที่ไหนมาว่าก็ไม่รู้ล่ะ"

    ทีนี้อาจารย์ท่านก็บอกว่า "เราก็ปฏิบัติของเรามาอย่างนี้ ของพวกท่าน อิติปิโส ภะคะวา ก็คืออิติปิโส ภะคะวา ไปซิ จะมาให้ผมเลิก อิติปิโส ภะคะวือ นี้มันเป็นไปไม่ได้หรอกเพราะผมปฏิบัติมานานแล้ว" ลงผลสุดท้ายอาจารย์กับลูกศิษย์เถียงกันไม่ตก ก็เลยต้องแยกทางกัน อาจารย์บอกว่า "เออ ! ถ้า อิติปิโส ภะคะวา ของท่านทั้งหลายถูกต้อง พวกท่านพากันอยู่วัดเสีย ผมจะไปภาวนา อิติปิโส ภะคะวือ ของผมบนภูเขาโน้น" ว่าแล้วท่านก็เตรียมบริขารของท่านไปอยู่บนเขา

    ฝ่ายลูกศิษย์อยู่ทางวัด ข้อวัตรปฏิบัติก็ย่อหย่อน แล้วประชาชนทั้งหลายก็เสื่อมศรัทธาไม่มีความเลื่อมใส เพราะว่าพระภิกษุไม่สำรวมในสิกขาบทวินัย ไม่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ เขาไม่มีศรัทธา ไม่มีใครทำบุญก็พากันอดอยากเกิดความเดือดร้อน แล้วก็พากันคิดถึงครูบาอาจารย์ ก็มาปรึกษาตกลงกันว่า เราจะไปอาราธนาอาจารย์ของเรากลับคืนมา ว่าแล้วก็พากันไป ขึ้นไปบนภูเขาที่อาจารย์ท่านพักอยู่ พอไปถึงก็พากันไปกราบอาจารย์ อาจารย์ก็เดินจงกรมเฉย

    ทีนี้ลูกศิษย์ก็กราบเรียนท่าน ท่านก็หันหน้ามา ลูกศิษย์องค์หัวหน้าก็กราบเรียนท่านว่า "พวกเรามาขอพักกับอาจารย์สักคืนหนึ่ง" "เออ ! ที่พักที่นี้กุฏิก็ไม่มี มีแต่ร่มไม้กับพลาญหิน เสื่อหมอนก็ไม่มี มีแต่ก้อนหินกับใบไม้นั้นแหละ พวกท่านต้องการที่ไหนเป็นที่สบายก็นิมนต์จัดหาเอาเอง" พอเสร็จแล้วพระทั้งหลายก็พากันจัดที่พักผ่อนหลับนอนตามอัธยาศัย

    พอตื่นเช้าขึ้นมา อาจารย์ก็เดินจงกรมเฉย จนกระทั่ง ๑๑ โมง มันเพลแล้วยังไม่พาบิณฑบาตเลย "อาจารย์เมื่อไหร่จะพาออกบิณฑบาตซักที" "ฮือ ! หิวแล้วหรือ" "หิวแล้วล่ะ" "อ้าว ! ถ้าหิวก็เก็บก้อนหินใส่บาตร" พอเก็บก้อนหินใส่บาตรมา มาประเคนอาจารย์ อาจารย์ก็นั่งหลับตาลง ก็เพ่งลงในบาตร แล้วท่านก็สวด อิติปิโส ภะคะวือ อิติปิโส ภะคะวือ ก้อนหินที่อยู่ในบาตรกลายเป็นข้าวมธุปายาส อันหอมตลบไปทั่วทุกทิศทุกทาง พอเสร็จแล้วก็ยื่นมาให้พวกลูกศิษย์ "อ้าว ! เอาไปฉันซะ" ทีนี้พระทั้งหลายก็พากันฉัน ฉันเสร็จแล้วก็พักผ่อนตามอัธยาศัย

    พอวันหลังมาลูกศิษย์ก็พากันไปกราบอาจารย์ "อาจารย์ๆ วันนี้พวกเราขอทดลองดูหน่อยนะ" "เออ ! ตามใจ" พอเสร็จแล้วต่างคนก็ต่างเก็บก้อนหินใส่เข้าไปในบาตรแล้วก็ไปนั่งบริกรรมภาวนา อิติปิโส ภะคะวือๆๆ จิตมันก็ไม่เป็นสมาธิสักที อิติปิโส ภะคะวือ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็ไม่เป็นสมาธิสักที ลืมตาขึ้นมาก้อนหินก็คงเป็นก้อนหินโค่โร่อยู่อย่างเก่า ผลสุดท้าย ๑๑ โมงถึงเวลาฉัน ยอมจำนนเข้าไปกราบอาจารย์ "โอ๊ย ! อาจารย์ไม่ไหวแล้ว ท่องมาจนเมื่อยแล้วไม่เห็นเป็นข้าวมธุปายาสสักที" "หือ ! อ้าว ! เอาบาตรมาตั้งเรียงกัน" ตอนนี้อาจารย์แสดงปาฏิหาริย์ใหญ่เลย เอามือไปแตะบาตรเท่านั้นแหละ ในบาตรควันตลบขึ้นมากลายเป็นข้าวมธุปายาส

    ทีนี้พอตกตอนเย็นมา อาจารย์ก็เรียกมาประชุมกัน ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ท่านบอกว่า อิติปิโส ภะคะวือ หรือ อิติปิโส ภะคะวา นี่นะมันเป็นแต่เพียงคำบริกรรมภาวนาเท่านั้นเองแหละ เมื่อก่อนนี้ผมก็ภาวนาอิติปิโส ภะคะวา เหมือนกัน พอภาวนาไป ภาวนาไป จิตมันเคลิ้มๆ ลงไปสักหน่อยหนึ่งคำว่า อิติปิโส ภะคะวือ มันก็โผล่ขึ้นมา ผมก็เลยจับเป็นอารมณ์ภาวนาเรื่อยมา จนกระทั่งได้สมาธิ ได้ญาณ สามารถเสกก้อนหินเป็นข้าวกินได้

    เพราะฉะนั้น พวกท่านจะไปสำคัญมั่นหมายอะไรกับคำบริกรรมภาวนา ท่านจะเอาคำไหนมาบริกรรมภาวนาก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ว่าให้เราจริงใจอดทน พากเพียรพยายามเท่านั้นเป็นพอ

    ทีนี้ถ้าจะพิจารณาตามนิทานย่อๆ นี้ เราก็ไม่น่าจะไปสงสัยข้องใจกับคำบริกรรมภาวนา ภาวนาพุทโธไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ สัมมา อรหัง ไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ ยุบหนอ พองหนอ ไม่หยุด จิตมันก็เป็นสมาธิได้ เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายอย่าไปข้องใจสงสัยในเรื่องคำภาวนา หรืออารมณ์จิตในการภาวนา
     
  4. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    บุญในการปฏิบัติธรรม บุญแท้จริง ไม่ติดโลก โดย ลป.ดุลย์ อตุโล


    การทำบุญสุนทรทาน เป็นทางไกล ก็คือว่าจะทำให้ชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายภพหลายชาติ อาจจะได้เกิดดี เป็นต้นว่า ได้เป็นมนุษย์หรือเทวดาอยู่หลายชาตินัก แต่ก็ยังไม่สิ้นทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย กว่าจะสิ้นทุกข์พบสุขได้ก็เนิ่นนานเกินไป

    แต่การภาวนา คือฝึกสมาธิเจริญปัญญาเป็นวิธีลัดที่จะพามนุษย์พ้นทุกข์ได้เร็วพลัน การภาวนาจะช่วยให้เราตัดกิเลสตัณหาได้ขาดแล้วพ้นทุกข์พบสุขสงบได้อย่างถาวร

    ครั้งหนึ่ง เมื่อญาติโยมถวายสังฆทานเสร็จแล้ว ได้พากันกราบนมัสการถามหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งรักษาอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า

    “หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนกับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากการที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อยหาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด”

    หลวงปู่ตอบพวกเขาว่า

    “มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด”

    วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

    ๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

    ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัวหรือรู้ “ตัว” อย่างเดียว

    รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ “รู้อยู่เฉยๆ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

    เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

    จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอ รักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

    ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

    ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

    ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือ คำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

    พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

    ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ด้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายยอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

    เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

    ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู้อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกันที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

    ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

    เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”

    การบริกรรม “พุทโธ” เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

    แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

    ดั้งนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดจน และความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

    เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่
    ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

    เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

    เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเองเพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้นๆ

    บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

    ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคอง รักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่เงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้ากิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)

    ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ

    ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

    ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

    ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกายอยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

    คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

    ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติสังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีสิ้นสุด มันเป็นมายา หลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

    คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณนั่นเอง

    ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

    เรียกว่า “สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

    ๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะกรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

    ๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

    เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ธรรมจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

    เมื่อจิตว่างจาก “พฤติ” ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึงความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้วจิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

    เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

    เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า “นิพพาน”

    โดยปกติ คำสอนธรรมมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น เป็นแบบ “ปริศนาธรรม” มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้น คำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า “พฤติของจิต” แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

    คำว่า “ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต” เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่ายเข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

    ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ “พฤติแห่งจิต” อยู่ตลอกเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลัง เพราะคำว่า “มรรคปฏิปทา” นั้น จะต้องอยู่ใน “มรรคจิต” เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

    การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้


    อเหตุกจิต ๓ ประการ


    ๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

    ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

    หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

    จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

    ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

    กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

    วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

    ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำมิได้

    การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

    (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

    ๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

    ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือ วิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

    ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

    ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

    สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณาอเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

    อเหตุกจิตนี้นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

    อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิต จนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

    คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้ละสิ่งไม่ดี สร้างสิ่งที่ดีแล้วทำจิตใจผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ในที่สุดบุญเราก็ไม่เอา ไม่ยึด คือทำบุญโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุญ หลวงพ่อปัญญานันทะ เคยสอนเกี่ยวกับลอยบาป-ปล่อยบุญไว้

    หลวงปู่ดูลย์ปรารภธรรมครั้งหนึ่งว่า

    “สัจจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรมนั้น แล้วก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราญช์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อจะอธิบายสัจจธรรมนั้น นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจจธรรมนั้นที่ตนเองได้ไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสม
    บูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”

    “คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียวคือพระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความคิดเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน”

    “การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”

    “การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบ และคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวิมุตติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง”

    “ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”

    ท่านกล่าวถึงความสุขในชีวิตว่า

    “ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวมดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แต่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”


    ความหมายของบุญ


    บุญที่แท้จริง จะต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้และพบสุขอันแท้จริง บุญที่ทำๆ กันอยู่ทั่วไปนั้น ไม่มีความหมายอะไรในการบรรลุธรรม แต่มีประโยชน์ต่อการเป็นอยู่ก็ให้ทำกันไป แต่ก็ควรพัฒนาตัวเองให้ไปถึงบุญสูงสุดหรือโลกุตตรบุญให้ได้ หรือบุญที่พ้นไปจากบุญ

    พวกเราที่ยังเป็นปุถุชนกันอยู่เมื่อปรารถนากันอยู่เมื่อปรารถนาบุญ ส่วนใหญ่แล้วต้องการแต่บุญขั้นโลกีย์ บุญขั้นที่ยังข้องเกี่ยวกับโลก เพราะยังหลงใหลเสน่ห์ของโลกอยู่ แต่อริยชนกลับไม่เป็นอย่างนั้น จะไม่หวังบุญโลกีย์ บำเพ็ญแต่บุญโลกุตตระ หรือบุญที่พ้นโลก อยู่เหนือโลก

    เมื่อหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สร้างโบสถ์สร้างศาลาใหญ่โตก็มีผู้ไปถามหลวงปู่ว่า คงจะได้บุญกุศลใหญ่โตทีเดียวและโดยทั่วไปเราก็เชื่อกันอย่างนั้น

    แต่หลวงปู่กลับตอบว่า

    “ที่เราสร้างนี้ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลกสำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้”

    เราจะบรรลุถึงบุญที่พ้นบุญหรือบุญอยู่เหนือบุญได้ ก็ด้วยการปฏิบัติให้พ้นไปจากบุญ ก.เขาสวนหลวง นักปฏิบัติธรรมหญิงผู้ยิ่งใหญ่เคยเขียนเป็นกวีไว้ว่า

    การปฏิบัติเพื่อพ้นบุญพ้นบาป

    ๏ การปฏิบัติ ต้องรู้ ดูของหมุน
    ทั้งบาปบุญ วุ่นวาย คล้ายจักรผัน
    มันสืบต่อ ก่อความ ตามพัวพัน
    หมุนเวียนกัน ไม่รู้จบ ภพโลกีย์

    ๏ รู้รูปนาม ตามมอง ดูกองทุกข์
    ทั้งความสุข เห็นชัด สลัดหนี
    เพราะหลงตาม กามคุณ บุญบาปมี
    ความยินดี พอใจ ในกามา

    ๏ จงละความ กำหนัด ขจัดออก
    ด้วยการฟอก ขุดค้น กลตัณหา
    สละกาม ตามโอวาท พระศาสดา
    ในธรรมา-ริยสัจจ์ ชัดความจริง

    ๏ กำหนดรู้ กายใจ ให้แจ้งชัด
    อันเป็น “ทุกขสัจจ์” ชัดทุกสิ่ง
    “สมุทัย” ข้อสอง กองเหตุอิง
    ทุกข์มันสิง เพราะความอยาก ให้มากความ

    ๏ ข้อที่สาม “นิโรธ” ดับโทษหมด
    ธรรมปรากฏ ได้สละ ละเสี้ยนหนาม
    ดับความอยาก เครื่องเผาใจ ดังไฟลาม
    ละรูปนาม ตัวตน กลมายา

    ๏ ข้อที่สี่ “องค์มรรค” มีหลักเกณฑ์
    ความรู้เห็น รูปนาม ตามศึกษา
    เห็นทุกข์แจ้ง ชัดใจ ด้วยปัญญา
    มีดวงตา เห็นธรรม รู้ความจริง

    ๏ เมื่อรู้แจ้ง อริยสัจจ์ ชัดโดยย่อ
    ไม่ปรุงต่อ ตัดสังโยชน์ โทษไม่สิง
    ถึงสรณะ ภายใน ไม่อ้างอิง
    ไม่พึ่งสิ่ง อื่นใด ไม่ไยดี
    เพราะเหตุรู้ จักพระ ละพยศ
    เพื่อเปลื้องปลด โทษร้าย ได้ขัดสี
    รู้เหตุผล พ้นภัย ใช้วิธี
    ปล่อยวางมี ไว้เสมอ อย่าเผลอเพลิน

    ๏ ได้เดินตาม ทางพระ ชนะทุกข์
    ไม่หวังสุข ในขันธ์ ทั้งสรรเสริญ
    ผู้ประพฤติ ตามธรรม ความเจริญ
    เย็นเหลือเกิน เดินทาง อย่างสบาย
    ทั้งบุญบาป พ้นไป ได้ไถ่ถอน
    ไม่อาทร ร้อนจิต คิดมุ่งหมาย
    ไม่มีเรื่อง อะไร ไม่วุ่นวาย
    ถึงจุดหมาย ไม่ต้องวุ่น บุญบาปเอย


    บุญ-บาป อยู่ที่ความประพฤติ


    ชีวิตจะดีหรือชั่วก็อยู่ที่ตัวทำ
    บุญบาปอยู่ที่ความประพฤติ

    หลวงปู่ดูลย์ กล่าวว่า ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น

    ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงเคยตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายว่า

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรม

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม

    พระพุทธองค์ตรัสสอนพราหมณ์และคฤหบดีว่า

    “พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียนร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง”

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อยคือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่า ไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

    เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

    เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่โคตรรักษา ที่ธรรมรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้)

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กล่าวเท็จ คือไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง

    เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

    เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

    เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยการสมควร

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด

    เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง

    เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทางที่ให้แล้วไม่มี ผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่บนโลกนี้

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

    ละการถือทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นที่อยู่บ้าน หรือที่อยู่ป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

    ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่สามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นแล้ว)

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่าบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิดท่านรู้เรื่องใดก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ เมื่อรู้บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น เมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง

    ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือฟังข้างโน้นแล้ว ไม่นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้น สมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีแล้วในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน

    ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ชอบใจ

    ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาควรพูดตามความจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัย และกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลสมควร

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด

    เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุขรักษาตนเถิด

    เป็นผู่มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

    (สาเลยยกสูตร ๑๒/๔๔๐)


    พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ


    พระสงฆ์ถือเป็นเนื้อนา เป็นที่สำหรับประชาชนหว่านเมล็ดข้าว คือบุญทานลงไป จะต้องงอกเงยขึ้น จึงต้องประพฤติตัวให้ดี อย่าให้มีบาป อกุศลในจิตใจ

    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เคยกล่าวตักเตือนพระภิกษุสามเณรว่า

    “คฤหัสถ์ชนญาติโยมทั่วไป เขาประกอบอาชีพการงานด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุข้าวของเงินทอง มาเลี้ยงครอบครัวลูกหลานของตน แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรเขาก็ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกันเขาก็อยากได้บุญได้กุศลด้วย จึงพยายามเสียสละทำบุญลุกขึ้นแต่เช้า หุงอาหารอย่างดีคอยใส่บาตร ก่อนใส่เขายกอาหารขึ้นท่วมหัวแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นใส่แล้วก็ถอยไปย่อตัวยกมือไหว้อีกครั้งหนึ่ง ที่เขาทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการบุญ ต้องการกุศลจากเรานั่นเอง แล้วเราเล่า มีบุญกุศลอะไรบ้างที่จะให้เขา ได้ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับเอาของเขามากนักแล้วหรือ”

    พระภิกษุสามเณรจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี จะได้เป็นเนื้อนาบุญของชาวบ้านได้ ให้เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า

    สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
    อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
    ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมแล้ว เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
    สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว

    ให้เป็นพระเณรที่ควรแก่การระลึกถึงที่เรียกว่าเป็น สังฆานุสสติ เป็นพระสงฆ์ที่ระลึกถึงได้

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวว่า

    คำว่า พระสงฆ์ นั้นหมายถึงหมู่ มิได้หมายถึงบุคคลจำเพาะ และหมู่ที่หมายถึงนั้นก็คือหมู่ของพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นสาวก คือ เป็นผู้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล ตั้งต้นแต่พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคขึ้นไป จนถึงพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล มรรคนั้นได้แก่ธรรมปฏิบัติอันเป็นส่วนเหตุ ซึ่งเป็นเครื่องตัดกิเลสได้เด็ดขาด ผลนั้นก็ได้แก่ความสงบกิเลสอันเป็นผลของธรรมปฏิบัตินั้น ได้ชื่อว่าเป็นมรรคก็เพราะเป็นทางปฏิบัติอันนำไปสู่การตัดกิเลส ได้ชื่อว่าเป็นผล เพราะเป็นความดับกิเลสได้ สงบกิเลสได้ ผู้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ประสบมรรคคือธรรมปฏิบัติ อันเป็นทางตัดกิเลส หมายถึงตัวธรรมปฏิบัติโดยย่อก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมกันเป็น มรรค ตัดกิเลสได้จึงประสบผล คือความดับกิเลส เรียกว่าวิมุตติ ความหลุดพ้น หรือเรียกว่านิโรธ ความดับ ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ประสบมรรคและผลดังนี้ รวมกันเข้าเป็นหมู่เรียกว่าพระสงฆ์ หรือพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้น จึงได้แก่บุคคล ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘

    คู่ที่หนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
    คู่ที่สอง ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล
    คู่ที่สาม ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล
    คู่ที่สี่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

    สี่คู่ก็เป็นแปด ท่านแสดงว่า ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั้นก็ชั่วขณะจิตหนึ่ง แล้วจึงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ก็อีกขณะจิตหนึ่ง ก็เป็นพระโสดาบันบุคคล ในคู่อื่นก็เหมือนกัน คือผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็เป็นพระอนาคามีบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ก็เป็นพระอรหัตตบุคคลหรือพระขีณาสพผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว แม้เพียง ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘ หรือนับเรียงบุคคลซึ่งเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ก็เป็น ๔ เพราะฉะนั้น จึงเรียกพระสงฆ์คือแปลว่าหมู่ หมู่ของพระอริยบุคคลซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก ตามชั้นของมรรคผลก็มีจำนวนดังกล่าวแล้ว และเมื่อผู้บรรลุมรรคผลมีมากขึ้นเท่าไร พระสงฆ์ที่แปลว่าหมู่ของพระอริยบุคคลก็ใหญ่ขึ้นเท่านั้นมากขึ้นเท่านั้น นี้คือพระสงฆ์ที่เป็นรัตนะที่ ๓ ซึ่งดำรงพระคุณดังที่เราสวดกันอยู่ว่า

    สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้ว
    อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว
    ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว
    สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ระลึกถึงพระสงฆ์โดยพระคุณดังกล่าวมานี้ พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยมีพระสงฆ์ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมา และพระพุทธเจ้าเองทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะได้ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอน และได้มีพระสงฆ์ขึ้น ก็คือได้มีหมู่แห่งบุคคลผู้ฟังคำสั่งสอน ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลขึ้นในพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่พระปัญจวัคคีย์ผู้รับพระปฐมเทศนา คือ พระธรรมจักร และทุติยเทศนา คือ พระอนัตตลักขณะเป็นต้นมา ว่าถึงในสมัยพระพุทธกาล ก็มีพระสุภัททะซึ่งบรรลุผลเมื่อใกล้จะปรินิพพาน หลังจากพระพุทธกาลมาก็ไม่มีพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้บรรลุมรรคผลบ้าง

    ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้พยากรณ์ แต่แม้เช่นนั้นก็ได้มีผู้เคารพนับถือให้ผู้ปฏิบัติพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่
    าได้บรรลุมรรคผลในภายหลังพระพุทธกาลมาอีกนาน และแม้ว่าจะได้มีคัมภีร์ซึ่งพยากรณ์อายุของพระพุทธศาสนาแต่งขึ้นในลังกาทวีป ว่าเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปเท่านั้นๆ ก็จะไม่มีพระอรหันต์ ก็จะไม่มีพระอนาคามี ก็จะไม่มีพระสกทาคามี ก็จะไม่มีพระโสดาบัน เป็นต้น แต่ว่าได้มีพระพุทธพยากรณ์ตรัสไว้ว่า เมื่อมรรคมีองค์แปดยังมีอยู่ตราบใด โลกก็จะไม่ว่างจากสมณะที่ ๑ คือ พระโสดาบัน สมณะที่ ๒ พระสกทาคามี สมณะที่ ๓ คือพระอนาคามี สมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ตราบนั้น

    ในบทพระธรรมคุณก็มีแสดงไว้บทหนึ่งว่า “ธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา” ซึ่งมีอธิบายไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิบัติเมื่อไรก็ย่อมได้รับผลเมื่อนั้น ไม่จำกัดว่าพระพุทธศาสนาจะล่วงไปเท่าไร ความเป็นอกาลิโกนั้นย่อมมีอยู่เสมอไป เพราะเหตุนี้ทุกคนผู้เกิดมาในภายหลังจึงไม่ควรจะท้อใจว่าไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมร
    รคผลได้ ย่อมสามารถจะปฏิบัติได้ทั้งนั้น แต่แม้เช่นนั้นก็ไม่ควรที่จะมีตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากได้มรรคผล และไม่ควรจะมีอธิมานะคือความเข้าใจผิดคิดว่าสำเร็จมรรคผลแล้ว เพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจิตใจย่อมพบความสงบ เมื่อได้พบความสงบอยู่นานๆ ก็อาจจะคิดว่าสำเร็จไปแล้ว แต่ความจริงนั้นสังโยชน์ยังละไม่ได้เด็ดขาด หรือว่าอาสวอนุสัยยังละไม่ได้เด็ดขาด ธรรมปฏิบัติเป็นเหมือนหินทับหญ้าเอาไว้ หญ้าไม่งอกขึ้นแต่ว่ารากยังอยู่ ดังนี้ก็ยังตัดกิเลสไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจผิด คิดว่าบรรลุชั้นนี้แล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นอธิมานะ และบางทีกลับเกิดกิเลสขึ้นอีกกองหนึ่งคือ ยกตนข่มท่าน คิดว่าข้าพเจ้าสำเร็จแล้ว คนโน้นคนนี้ยังไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าดีกว่า ดังนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นก่อกองกิเลสขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บังเกิดความเจริญในธรรมยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่ามีอยู่จริงในโลกธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ
    ่งที่รู้ได้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผลปฏิบัติได้ คือได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ และบรรดาบริษัทของพระพุทธเจ้านั้นภิกษุบริษัทย่อมเป็นหัวหน้าซึ่งเป็นผู้บำรุงรักษาพ
    ระพุทธศาสนาสืบต่อมา

    สำหรับบริษัทนี้เป็นชื่อของหมู่บุคคลผู้ปฏิบัติตนนับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติพระพุทธศาสนา มีอาการเป็นที่ปรากฏภายนอก คือภิกษุบริษัทหมู่ของภิกษุก็ถือเพศเป็นนักบวชตามพระพุทธเจ้า ครองผ้ากาสาวพัสตร์ และปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้น สำหรับภิกษุ ภิกษุณี บริษัทหมู่ของภิกษุณีคือสตรีผู้บวชตามพระพุทธเจ้า ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งบัดนี้ตามเถรวาทไม่มีแล้ว อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท หมู่ของอุบาสกอุบาสิกาคือคฤหัสถ์ชายหญิงผู้ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาตามภูมิตามชั้
    น นับว่าเป็นอาการภายนอกเพราะการประกาศตนนั้น เป็นการแสดงตนให้คนอื่นทราบ เหมือนอย่างเป็นภิกษุก็ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ประกาศตนว่าเป็นภิกษุให้คนอื่นทราบ เป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็เช่นเดียวกันเป็นการประกาศตนแสดงตนให้คนอื่นทราบ

    เพราะฉะนั้น บริษัททั้ง ๔ นี้จึงเป็นหมู่ของบุคคลผู้นับถือพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นี้ เมื่อบรรลุมรรคผลทางจิตใจ จึงนับเข้าในพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นั้น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นบุรุษสตรี ถ้าบรรลุมรรคผลแล้วก็นับเข้าในพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นั้น

    สำหรับภิกษุบริษัทนั้น ภิกษุเมื่อประชุมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ย่อมสามารถกระทำสังฆกรรมให้สำเร็จได้ตามพระพุทธานุญาต เรียกว่า เป็นพระสงฆ์ตามพระพุทธานุญาต เพราะฉะนั้น หมู่ของพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปซึ่งประชุมกันทำสังฆกรรม จึงเรียกว่า เป็นพระสงฆ์ตามพระวินัย อันเรียกว่าสมมติสงฆ์หรือวินัยสงฆ์ พระสงฆ์ตามสมมติหรือพระสงฆ์ตามพระวินัย

    สำหรับการสืบรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระสงฆ์คือหมู่ของภิกษุนี้ย่อมเป็นหัวหน้าการที่นำรักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อมาเพราะเป
    ็นผู้ที่ได้ออกจากเรือนมา เป็นผู้ไม่มีเรือน มาสละชีวิตทั้งหมดแก่พระพุทธศาสนา จึงมีโอกาสที่จะเรียนปฏิบัติพระพุทธศาสนา นำสืบรักษาพระพุทธศาสนาโดยสะดวก และฝ่ายคฤหัสถ์ก็ให้การอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัยทั้งหลายดังที่ปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหัวหน้าในอันที่จะสืบรักษาพระพุทธศาสนา และก็ได้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเป็นต้น ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระสังฆคุณนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่นับถือในอันดับถัดมาจากพระอริยสงฆ์ดังกล่าวมาข้างต้น

    แต่สำหรับหมู่ของผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือบริษัททั้ง ๔ ดังกล่าว แม้ภิกษุบริษัทก็ย่อมมีดีมีไม่ดี ตามแต่บุคคล ซึ่งมีดีมีไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาบ้าง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาบ้าง แต่แม้เช่นนั้น เมื่อได้ทราบว่า พระสงฆ์โดยตรงนั้นหมายถึงพระอริยสงฆ์ ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระวินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์นั้นประกอบด้วยหมู่ภิกษุผู้ซึ่งอาจจะม
    ีดีมีไม่ดี ซึ่งย่อมมีอยู่โดยปรกติในหมู่ทั้งหลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าพระสงฆ์ซึ่งมุ่งถึงพระอริยสงฆ์โดยตรง อันเป็นรัตนะที่ ๓ พึงเศร้าหมองไปด้วย เพราะพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์นั้นย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ตามภูมิตามชั้นจริงๆ และแม้วินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์ผู้เป็นผู้ปฏิบัติตรงก็เป็นผู้ที่พึงเคารพนับถือบูชา ฉะนั้น ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น ทั้งที่เป็นอริยสงฆ์และทั้งวินัยสงฆ์ หรือสมมติสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเป็นต้น ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า


    การค้ากับบุญบาป


    พวกชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าประกอบอาชีพทำมาค้าขายได้ถามหลวงปู่ดูลย์ว่า

    “พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความจริงบ้าง ค้ากำไรเกินควรบ้าง แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างโดยลำดับ แต่บางท่านบอกว่าภาระหน้าที่อย่างผมนี้มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก หลวงปู่เห็นว่าอย่างไร เพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่ฯ”

    หลวงปู่ว่า

    “เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงาน และอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่อย่างใด ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี”


    อามิสทาน


    อามิสทาน การให้สิ่งของเป็นขั้นโลกีย์ที่จำเป็นเหมือนกันเพราะช่วยค้ำจุนชีวิต ทำให้เขามีที่พึ่งพาอาศัย ได้กำลังวังชา ผู้ให้เองก็ได้อานิสงส์ไม่น้อยเลย ดูอย่างนางวิสาขา มหาอุบาสิกาในสมัยพุทธกาล ทั้งสวยทั้งรวย ก็เพราะการทำบุญ เริ่มแต่บูชาพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อชาติก่อน มาในชาติหนหลังเธองามพร้อมแม้ในยามชรายังงดงามไร้ผู้เทียมทาน พระราชพรหมญาณเถรเคยกล่าวไว้ว่า

    การบูชาพระพุทธเจ้า เป็นปัจจัยให้นางวิสาขามีรูปสวย คือ เป็นเบญจกัลยาณี มีความงาม ๕ ประการ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะยังจำได้ว่า “เบญจกัลยาณี” นั้น ได้แก่

    ๑. งามผม
    ๒. งามริมฝีปาก
    ๓. งามฟัน
    ๔. งามผิว
    ๕. งามวัย

    ตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของนางวิสาขาอีกเหมือนกัน นางวิสาขานี้ชอบบูชาพระพุทธเจ้า แม้แต่เกิดมาในชาติหลัง เธอได้เป็นพระโสดาบันนับตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ก็ยังบูชาพระพุทธเจ้าจนตาย มีความเลือมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปกติและจริงใจ ทั้งนี้เพราะว่าเป็นอุปนิสัยเดิม ซึ่งเคยบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าตนจะระลึกชาติไม่ได้ แต่ว่ากำลังใจ น้ำใจที่เคยตั้งมั่นอยู่ในความดีของพระพุทธเจ้ามันไม่ถอยหลัง ที่ท่านกล่าวว่า การสร้างบุญบารมี สะสมเข้าไว้ ความจริงความดีที่เราสร้างไว้ สะสมอยู่เรื่อยๆ เกิดชาติต่อๆ ไปก็สร้างสรรค์ความดีเพิ่มเติม จนกว่าบารมีจะเต็ม ครั้งเมื่อบารมีเต็มแล้วก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

    คำว่า “บารมี” บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เราแปลกันว่า “กำลังใจ คือ ทำกำลังให้เต็ม” ตามศัพท์ศึกษากันมา เขาแปลว่า เต็ม เฉยๆ เลยไม่รู้กันว่า เต็มตรงไหน ความจริงคือทำกำลังใจให้เต็ม เช่น

    “ทานบารมี” เราตั้งใจในการให้ทานเป็นปกติ แต่ว่าการให้ทานนี้ เราจะให้ตามกำลังที่เรามีอยู่ ไม่ใช่ว่าให้เกินพอดี ถ้าเกินพอดีแล้วองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ติว่าเป็นการเบียดเบียนตนเกินไป

    ฉะนั้น การเต็มใจในการให้ทาน ไม่ใช่ว่ามีเท่าไรให้หมดอย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตไม่สรรเสริญ ต้องให้แล้วไม่ลำบากสำหรับเรา เขามีร้อย เขาให้ร้อยได้ เพราะมีเงินมาก ถ้าเราให้ร้อยแล้วหมด อย่างนี้ไม่ควรทำ ควรให้แล้วเราสบาย อย่างนั้นจึงจะเป็นความดี

    การให้ทานนี้เหมือนกัน เป็นปัจจัยให้นางวิสาขาเกิดมาในชาติหลัง ปรากฏว่าเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ เพราะตระกูลของนางวิสาขามีเงินนับไม่ถ้วน ในเวลานั้น เศรษฐีทั้งหลายเขามีเงินนับกันเป็นโกฏิๆ ถ้ามีเงินประมาณ ๔๐ โกฏิ ก็ถือว่าเป็น “อนุเศรษฐี” คือเศรษฐีเล็กๆ ถ้าตั้งแต่ ๘๐ โกฏิขึ้นไป ก็ถือว่าเป็น “มหาเศรษฐีใหญ่” (คำว่าโกฏิ ไม่ใช่ ๑๐ ล้าน คำว่าโกฏิสมัยนั้น ท่านตั้งล้านเข้าไว้ แล้วเติมศูนย์อีกสามศูนย์ เป็นหลักล้านเท่ากับ ๑ โกฏิ) แต่ว่าตระกูลของนางวิสาขานี้ไม่ใช่อย่างนั้น รวยมากกว่านั้น นับเป็นโกฏิไม่ได้ ต้องตวงกันเป็นโกฏิๆ เล่มเกวียน ไม่ใช่โกฏิเหรียญเป็นโกฏิเล่มเกวียน เงินทองมากมายกว่าท้องพระคลังมาก

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ตระกูลของนางวิสาขาไม่ใช่ตระกูลคอรัปชั่น หมายความว่า ไม่ได้รวยมาเพราะการโกงชาวบ้านเขา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นบุญวาสนาบารมีส่งเสริมเพิ่มเติมเข้าไว้สนับสนุนให้ตระกูลนี้มีความร่ำรวยเหลือหล
    าย คือ รวยมาตั้งแต่ปู่ มาสมัยพ่อก็เป็นคนรวย มาสมัยนางวิสาขาก็เป็นคนรวย นางวิสาขาทั้งรวยทั้งสวย น่าสนใจไหม

    บรรดาท่านพุทธบริษัท เรื่องความสวยสดงดงาม ท่านทราบแล้วว่า นางวิสาขาทำอย่างไร อย่างนี้หวังว่าคงจะเป็นที่ถูกใจของท่านสุภาพสตรี “ถ้าอยากจะสวยแบบนางวิสาขาบ้างก็ซ่อมพุทธรูปที่กำลังปรักหักพัง เรามีทุนซ่อมองค์ใหญ่ไม่ได้ เราก็ซ่อมองค์เล็ก ซ่อมด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา” เพื่อให้ปวงประชาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้กราบไหว้บูชา เป็นที่เจริญใจอย่างนี้ผลที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้รับ คือมีความสวย เช่น นางวิสาขา

    ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึงความรวย นางวิสาขานี้รวยมาก รวยบอกไม่ถูก เมื่อสามีของนางให้คนมาขอเรียกว่าพ่อผัวให้คนมาติดต่อ เขาถามว่า ตระกูลนี้มีเงินเท่ไร ท่านทูตสันติหรือพ่อสื่อทั้งหลายบอกว่า ท่านเศรษฐีผู้นี้มีเงิน ๔๐ โกฏิ บิดาของนางวิสาขายังนึกในใจว่า เงินแค่ ๔๐ โกฏิ มันยังน้อยไปกว่าเงินที่ติดอยู่ก้นเชี่ยนหมากของเรา ในสมัยก่อนชาวบ้านเขากินหมากกัน เมื่อสมัยที่อาตมายังเป็นเด็กเขามีเชี่ยนหมากประจำ เชี่ยนหมากมีตัวถังขึ้นมาแล้วก็มีฝา มีอุปกรณ์วางข้างบน คือ เต้าปูน กล่องยา กล่องหมาก อย่างนี้เป็นต้น แต่ก้นเชี่ยนหมากคือภายในตัวถัง เขาใส่อุปกรณ์สำหรับหมากเข้าไว้ แต่บางทีมีเงินทองไว้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ใส่ไว้ก้นเชี่ยนหมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจะไม่เป็นการยาก เวลาจับจ่ายใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องเข้าไปหยิบในเซฟ หรือในที่เก็บเก็บไว้บาทสองบาท สลึงสองสลึง เวลาจะใช้ก็หยิบได้สบาย

    ตระกูลสามีและนางวิสาขา ถือว่าเป็นตระกูลใหญ่ เป็นตระกูลเศรษฐีมีเงินถึง ๔๐ โกฏิ แต่ทว่า “ธนัญชัยเศรษฐี” ผู้เป็นบิดาของนางวิสาขา ยังมีความรู้สึกในใจว่า เงิน ๔๐ โกฏินี้ไม่เท่ากับเศษเงินที่เราเก็บไว้ที่ก้นเชี่ยนหมาก ดูซิเขารวยขนาดไหนแล้วเขาทำอย่างไรถึงได้รวย ท่านกล่าวว่า คนในตระกูลนี้ที่เป็นปัจจัยให้ร่ำรวยมีอยู่ ๕ คนคือ

    ๑. ท่านเมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ของนางวิสาขา
    ๒. ธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็นพ่อของนางวิสาขา
    ๓. มาดาของนางวิสาขา
    ๔. ตัวนางวิสาขา
    ๕. นายปุณณะ ผู้เป็นทาส

    คำว่า “ทาส” หมายความว่า เดิมเป็นทาส ต่อมาด้วยอำนาจบุญบารมีอาศัยพุทธบูชาเดิมเป็นสำคัญ เป็นปัจจัยให้นายปุณณะคนนี้นั้น มีเงินเป็นร้อยๆ โกฏิเหมือนกัน จึงได้นามว่า “นายปุณณทาส” แต่ความจริงสมัยนั้นเขาไม่ใช่ทาสแล้ว เขามีเงินมากแต่คงอยู่ร่วมตระกูลกับท่านธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา เพราะถือว่าเดิมตัวอาศัยท่านอยู่ เมื่อร่ำรวยขึ้นมาก็เลยไม่แยกกันกลายเป็นตระกูลเดียวกัน

    ท่านทั้งหลายทั้ง ๕ คนนี้นั้น ต่างคนต่างบูชาความดีของพระพุทธเจาด้วยการถวายทาน ทีนี้จะนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง เผื่อบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านคิดว่าชาตินี้เรารวยไม่พอ ความมีทรัพย์สินก็พอจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง แต่มันไม่ถึงกับฟุ่มเฟือย ถ้าเรามีมากจนใช้ไม่หมดนับจำนวนไม่ได้ ใช้เท่าไรมันก็ไม่สิ้น ใช้เท่าไรก็ไม่รู้สึกว่ายุบลงไป สึกหรอลงไป อย่างตระกูลของนางวิสาขานี้มีความสบายมาก ไม่ต้องไปโกงใครเขา อยากจะได้อะไรสมความปรารถนา เราจะสร้างความดี คือ การให้ทาน การสงเคราะห์ก็ทำให้สะดวก เมื่อเราให้ทานสบาย ใครมาเราก็ให้ ใครอดอยากเราก็ให้ ใครมีความลำบากขัดสนจนขึ้นมา เราก็สงเคราะห์ได้ อย่างนี้เป็นปัจจัยสร้างความสุข ที่ได้กล่าวแล้วว่า การให้ทาน เป็นปัจจัยของความสุข คือเป็นการผูกมิตร ทำจิตให้สบาย จะไปทางไหนก็มีแต่เพื่อน จะไปทางไหนก็มีแต่คนรัก เมื่อเรามีคนรักรอบบ้านแล้ว เราจะหนักใจอะไรกับศัตรู นี่เป็นผลของการให้ทาน

    นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารยังกล่าวว่า “ทานัง สัคคโส ทานัง” ผลของการให้ทาน เมื่อตายจากความเป็นคนแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า มีทิพยสมบัติ มีร่างกายเป็นทิพย์ ไม่มีความแก่ ไม่มีความป่วยไข้ไม่สบาย และสิ้นบุญเมื่อไร ก็ไม่เรียกว่าตาย เรียกว่า เคลื่อนลงมาเกิด มีความสุขเป็นพิเศษ

    องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงกล่าวต่อไปว่า เกิดเป็นคนชาติใดก็ตาม “คนที่เคยให้ทานไว้ในเขตของพระพุทธศาสนา ทำแบบนางวิสาขาจะไปเกิดกี่ชาติก็ตาม หาความยากจนไม่ได้”

    ทั้งนี้เพราะอะไร ท่านกล่าวว่า “แม้จะเข้าถึงพระนิพพานแล้วอานิสงส์ยังไม่หมด”

    ที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า การให้ทานแบบนั้นมีอานิสงส์มาก หลังจากชาตินั้นไปเป็นเทวดาแล้ว ถ้าเกิดมาเป็นคนกี่ร้อยชาติ กี่พันชาติก็ตาม กว่าจะเข้าพระนิพพานขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจ ย่อมไม่ปรากฏ

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทการให้ทานมีผลดีแบบนี้ อย่าคิดว่าพระชอบพูดแต่การให้ทาน ไม่ใช่พระเป็นผู้บ่อนทำลายความสุขของสังคม ที่พระแนะนำเรื่องการให้ทานคือเป็นการเฉลี่ยความสุขซึ่งกันและกัน เมื่อเรามีความสุข เขามีความสุข ไม่มีใครมีความทุกข์ ก็มีแต่ความแช่มชื่น ภัยอันตรายก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา การบริจาคทาน เป็นการสร้างความเป็นมิตรเข้าไว้ เมื่อเรามีมิตรเป็นที่สนิทใจเป็นที่รักที่ใคร่ ไปไหนก็มีแต่มิตร ไม่มีศัตรู

    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทลองคิดดูสิว่า เราจะมีความสุขหรือจะมีความทุกข์ เป็นอันทราบว่าเราก็มีความสุข

    ตอนนี้มาดูตัวอย่าง นางวิสาขาทำอย่างไร จึงได้เป็นคนมีความร่ำรวยมาก ยากเหลือเกินที่จะหาคนรวยได้อย่างนางวิสาขา ความสวยก็สวยหาคนเสมอเหมือนไม่ได้อยู่แล้ว ยังจะมารวยเสียอีก ถ้าจะคิดๆ ไปตามภาษาชาวบ้านธรรมดาก็เรียกว่า แกทั้งสวยทั้งรวยจนน่าอิจฉา แต่ความจริงไปอิจฉาริษยาแกไม่เป็นประโยชน์ แกทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว เราสบาย เพราะอะไรก็ตาม ถ้าบุคคลใดเขาทำให้เป็นตัวอย่าง มีประโยชน์ มีคุณไม่มีโทษ มีความสุขเราเป็นคนทำทีหลัง เรามีความสบายมาก ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องพยายามใคร่ครวญแล้ว พิจารณาแล้ว หาที่ปรึกษาหารือแล้วจึงจะตัดสินใจ เพราะกิจใดถ้ายังไม่เคยทำ ยังไม่เคยได้ มันต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าคนเขาทำแล้ว เขาได้แล้ว เขามีความสุขใจ เราก็หวังได้แน่ว่า ถ้าเราทำตามเขาบ้าง เราก็จะมีความสุขเช่นเดียวกับเขา เราจะมีผลเช่นเดียวกับเขา

    มาดูกันเสียทีว่า นางวิสาขาทำอย่างไร เรื่องนี้ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้ว่า ถอยหลังจากชาตินี้ไปประมาณแสนกัป สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงอุบัติขึ้นในโลก มีพระนามว่า “พระวิปัสสีทศพล” ในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระทศพลมีบริวารประจำ คือพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ประมาณสองแสนรูป แล้วยังมีพระอรหันต์ทั้งหลายที่แยกย้ายกันอยู่ต่างหากอีก สำหรับพระอรหันต์ที่ประจำนี้ถ้าจะเปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์ ก็เรียกว่าข้าราชบริพารในพระราชสำนัก ประจำอยู่กับพระองค์ ส่วนพระสงฆ์ที่แยกย้ายอยู่ตามวัดต่างๆ มีอีกนับประมาณมิได้

    ในกาลนั้น นางวิสาขาเกิดเป็นสตรีคนหนึ่ง มีฐานะไม่ใช่เศรษฐีและก็ไม่ใช่คหบดี เป็นคนอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายคือมีฐานะพอกินพอใช้แบบธรรมดาๆ แต่ว่ามีสตรีนางหนึ่งเป็นเพื่อนของนางวิสาขา เธอเป็นลูกของมหาเศรษฐีใหญ่ มีเงินนับไม่ได้ นับล้าน นับโกฏิ นับพันโกฏิ หมื่นโกฏิ แสนโกฏิ นับไม่ได้ ถ้าจะนับเป็นเหรียญต้องนับเป็นร้อยๆ พันๆ โกฏิเล่มเกวียน เธอมีเงินมากเหลือเกิน แต่ว่าไม่ถือตัวทั้งๆ ที่นางวิสาขาเป็นคนจนแสนจน

    ถ้าจะเทียบกับฐานะขอนาง สตรีผู้นั้นซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่าตั้งแต่เด็กไม่เคยแสดงความรังเกียจ มีความรักใคร่ ถือว่านางวิสาขาเป็นมิตรสนิทชิดเชื้ออยู่ตลอดเวลา แต่ว่าสำหรับเธอนั้น เป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในเมื่อกาลใด จะมีพระสงฆ์ติดตามมากี่แสนกี่ล้านองค์ก็ตาม นางสตรีผู้นั้นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางวิสาขา รับอุปการะทุกเวลา ทั้งสถานที่อยู่เครื่องใช้ไม้สอยทุกอย่างตามความจำเป็นของสมณวิสัย ตลอดจนอาหารการบริโภค ยารักษาโรค ทุกอย่างนางรับอุปการะทั้งหมด เป็นเหตุให้สาวกของพระบรมสุคต มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน มีความสุข ไม่ลำบากด้วยความเป็นอยู่ ที่เป็นอย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูท่านกล่าวว่า เพราะว่านางบำเพ็ญกุศลทานมีการถวายสังฆทาน เป็นต้น

    ต่อมาองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศน์ผลของการถวายสังฆทานว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมากตามลำดับของทาน ท่านกล่าวว่า

    การให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่คนไม่มีศีล ๑ ครั้ง

    การให้ทานแก่คนที่ไม่มีศีล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่คนที่มีศีลบริสุทธิ์ ๑ ครั้ง

    การให้ทานแก่คนที่มีศีลบริสุทธิ์ ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค ๑ ครั้ง

    (คำว่า “ผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค” ก็คือ การปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ด้วยความตั้งใจจริง หวังจะเป็นพระโสดาบัน แต่ยังไม่ได้ ก็เรียกว่าผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค)

    การถวายทานแก่ท่านที่ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค ๑๐๐ ครั้ง ก็มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระโสดาปัตติมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระโสดาปัตติมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระโสดาปัตติผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระโสดาปัตติผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระสกิทาคามิมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระสกิทาคามิมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระสกิทาคามิผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระสกิทาคามิผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอนาคามิมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอนาคามิมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอนาคามิผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอนาคามิผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอรหัตมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอรหัตมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอรหัตผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอรหัตผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง

    ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับการสร้างวิหารทานไว้ในพระพุทธศาสนา ๑ ครั้ง

    นางวิสาขาสมัยนั้นชื่อว่าอะไรก็ไม่ทราบ ท่านไม่ได้บอกชื่อ เมื่อได้ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ว่า การถวายสังฆทานมีอานิสงส์มาก แม้แต่ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเองถึง ๑๐๐ ครั้งก็มีผลไม่เท่ากับการถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง เพราะถวายสังฆทานนี้ ต้องปรารภพระพุทธเจ้าประธานเพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราถวายทานแด่พระสงฆ์ เราก็ต้องน้อมจิตถึงพระพุทธเจ้าด้วย เพราะคำว่า “สังฆทาน” แปลว่า “ทานเพื่อหมู่” ไม่ใช่เพื่อบุคคล เป็นส่วนสาธารณประโยชน์

    เมื่อนางได้ฟังอย่างนั้นแล้วจึงได้อาราธนาองค์สมเด็จพระประทีปแก้วพร้อมไปด้วยพระสงฆ
    ์ตามสมควร ไปรับสังฆทานที่บ้าน เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงรับด้วยอาการ “ดุษณีภาพ” (หมายความว่า “พระพุทธเจ้า เวลาท่านรับนิมนต์ ท่านไม่ออกปากว่ารับได้ ถ้านิมนต์แล้วท่านไม่ขัด ท่านเฉย ถือว่ารับ”)

    เมื่อถึงเวลาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พร้อมด้วยพระสงฆ์ก็ไปที่บ้านของนาง นางก็ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ตามกำลังฐานะที่พึงถวายได้ (อาจจะมีแกงเลียงตำลึงสักถ้วย มีต้มยำสักหม้อ มีน้ำพริกสักถ้วยหนึ่ง มีผักดิบ มีผักต้มอย่างนี้เป็นต้น คือเป็นธรรมดาๆ) เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เป็นผู้เลี้ยงง่าย ใครเขาเลี้ยงแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น พระองค์ไม่เคยรังเกียจ ไม่ใช่ว่าเป็นพระสำรวยเวลามียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมาต้องกินข้าวด้วยตะลุ่มมุก ต้องกินจานแก้ว จานเงิน จานทอง สำรับสวยๆ พระดีท่านไม่ทำแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้นก็เป็นพระนรกเท่านั้น พระดีเขาไม่คิด คิดเสียว่าถ้าชาวบ้านเขามีศรัทธาแล้วเป็นใช้ได้

    เมื่อนางถวายทานแล้ว จึงเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงพระนามว่า “วิปัสสีทศพล” ตั้งมโนปณิธานกับองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “การถวายสังฆทานครั้งนี้ ขอผลบุญอันนี้ จงส่งให้หม่อมฉันในชาติต่อไป ให้มีโอกาสได้เลี้ยงดูพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับสตรีที่เป็นเพื่อนของหม่อมฉันเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

    นางกล่าวเจตนาไม่ได้หวังความเป็นเศรษฐี ต้องการอย่างเดียวคือเลี้ยงดูพระสงฆ์ให้มีความสุข ดูเจตนาของนางให้ดี บรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ทรงสดับแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงตรวจดูด้วยอำนาจพระพุทธญาณก็ทราบชัด เมื่อทราบแล้ว องค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์ได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

    “ภคินี ดูกรรน้องหญิง นับตั้งแต่นี้ไปอีกแสนกัป จะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “พระสมณโคดม” สมัยนั้น เธอจะเกิดเป็นลูกของธนัญชัยเศรษฐี มีปู่นามว่า เมณฑกเศรษฐี เธอมีนามว่านางวิสาขา จะมีทรัพย์สินรวยมากนับไม่ได้และจะเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน”

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน หลังจากชาตินั้นแล้วนางวิสาขาก็ท่องเที่ยวอยู่บนสวรรค์สิ้นกาลนาน เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงอุบัติ นางก็มาเกิดเป็นลูกธนัญชัยเศรษฐีแล้วก็ได้บรรลุพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และเกิดความมั่งมีศรีสุขร่ำรวยเงินทองจนนับไม่ได้

    หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บำเพ็ญทานขั้นโลกีย์หรือในระดับศีลธรรมเหมือนอย่างท่านอื่นๆ เช่นกัน ต่างแต่ว่าทำแบบปล่อยวางหมดทำแบบไม่เอา ไม่หวังสวรรค์วิมานอะไรทั้งนั้น ท่านปรารถนาแต่บุญโลกุตตระเท่านั้น

    หลวงปู่เคยกล่าวไว้น่าคิดว่า

    “เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้วอาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง
     
  5. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    อิทธพลของการทำสมาธิ โ ด ย : พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    ขณะใดที่เราภาวนา แล้วจิตของเราสงบ นิ่ง สว่าง
    หรือไปรู้สึกนิ่งแจ่มๆ อยู่ในจิตในใจก็ตาม

    นั่นแสดงว่า จิตใต้สำนึกของเรากำลังเริ่มตื่นขึ้นแล้ว
    ทีนี้เมื่อเราฝึกต่อเนื่องกันทุกวัน จนคล่องชำนิชำนาญ
    เราสามารถทำจิตให้สงบได้ ตามที่เราต้องการ
    เมื่อจิตสงบลงนิดหน่อย เราจะน้อม
    ไปใช้ประโยชน์ในทางไหนก็ได้
    อยากจะเป็นหมอรักษาคนไข้
    ก็สำรวมจิต อธิษฐานแผ่เมตตาให้คนไข้
    แม้เพื่อนฝูงของเราเจ็บไข้ อยู่ในที่ห่างไกล
    เรานั่งสมาธิสำรวมจิต แล้วอธิษฐานจิตแผ่เมตตาให้เพื่อนของเรา
    ที่กำลังป่วยไข้ ก็สามารถที่จะหายได้
     
  6. ครุฑา

    ครุฑา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    604
    ค่าพลัง:
    +3,089
    เอาความรู้มาฝากกันเพื่อจะได้ดูแลพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ครับ
    10 อาการนำโรคอัลไซเมอร์
    สมาคมโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึง 10 อาการเตือนภัยที่เราควรระมัดระวัง เมื่อเห็นว่าผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ และมีผลต่อการดำเนินชีวิต ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์


    1. อาการหลงลืม (memory loss)

    ต้องบอกว่า อาการหลงลืมของอัลไซเมอร์นั้น ระยะแรกจะหลงลืมในสิ่งที่ผ่านมาไม่นาน หรือพึ่งเกิดขึ้น (เรียกว่า recent memory) เช่น วางของไว้ที่ไหน เมื่อวานเย็นไปกินข้าวกับใครที่ไหน อาทิตย์ก่อนใครมาเยี่ยม เดือนก่อนไปเที่ยวต่างจังหวัดที่ไหน ส่วนความจำเกี่ยวกับเรื่องเก่า ๆ นั้นมักจะหลงลืมก็ต่อเมื่ออาการเป็นสมองเสื่อมขั้นรุนแรง (severe dementia) แล้วเท่านั้น
    ผู้ป่วยสมองเสื่อมจำนวนมากมักจะการถามอะไรซ้ำ ๆ เช่นถามว่า พรุ่งนี้จะไปไหนกัน ..... เว้นไปห้านาที ก็ถามใหม่ว่าพรุ่งนี้จะไปไหนกัน .... บางคนถามคำถามเดิมเป็นสิบ ๆ ครั้ง เพราะ จำไม่ได้ว่าถามไปแล้ว ....



    2. ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำมาไม่ได้ (Difficulty performing familiar tasks)

    โดยจะเริ่มจากการทำกิจวัตรที่เคยทำที่ซับซ้อนไม่ได้ (เรียก instrumental activities of daily living)ผู้ป่วยอัลไซเมอร์คนหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนใมหาวิทยาลัย ซึ่งสอนวิชาเคมี โดนสอนวิชานี้มานานหลายปีแล้ว เป็นประจำ แต่บัจจุบันมีปัญหาสอนไม่ได้ ... เวลาที่ขึ้นไปพูดหน้าห้อง นึกไม่ออก พูดได้แค่ตามที่เขียนใน power point นอกนั้นไม่สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ ทั้ง ๆ ที่สอนเหมือนเดิมมาหลายปีแล้ว เมื่อนักศึกษาถามก็ตอบไม่ถูกแม่บ้านที่ทำอาหารมาตลอดและทำได้อร่อย ....ลูก ๆ เริ่มสังเกตุว่ารสชาติอาหารเปลี่ยนไป ไม่อร่อยเหมือนเคย ... บางครั้งปรุอาหารผิด เช่นใส่ใบโหระพา แทนใบกระเพราในผัดกระเพราและเมื่อาการเริ่มเป็นมาก จะทำกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ไม่ได้ (basic activities of daily living)กิจวัตรประจำวันง่าย ๆ นี่เช่น การทำอาหาร การกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน การแต่งตัว ก็จะทำเองไม่ได้


    3. มีปัญหาในการใช้พูดหรือใช้ภาษา (Problems with language )

    ในเรื่องของการใช้ภาษานั้น แน่นอนทุกคนอาจจะเคยพูดผิดบ้าง เรียกชื่อเพื่อนผิดบ้าง หรือนึกคำที่ไม่ค่อยได้ใช้ไม่ออกบางครั้ง แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาลืมแม้กระทั่งคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อย ๆ นึกคำที่จะใช้ไม่ออก บางครั้งใช้คำผิด (เช่นเรียกหมูแทนไก่ พูดถึงเก้าอี้แต่เรียกเป็นโต๊ะ) หรือมีปัญหาในการพูดหรือเขียน จนทำให้ฟังหรืออ่านไม่ค่อยเข้าใจ
    นึกคำไม่ออก ..... ที่พบบ่อย ๆ คือผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์มักจะใช้คำว่า “ไอ้นั่น” “ไอ้นี่” “อันนั้น” “ที่นั้น” บ่อย ๆ .....(เหตุการณ์เกิดในครัวขณะแม่กับลูกสาวทำอาหารเย็นด้วยกัน)
    แม่ ลูกช่วยหยิบ “ไอ้นั้น” ให้หน่อยสิ
    ลูกสาว “ไอ้นั้น” นี่อะไรล่ะแม่
    แม่ ไอ้นั่นไง
    ลูกสาว ก็อะไรล่ะแม่ ....(ทำหน้างง ว่าจะให้หยิบอะไรกันแน่)
    แม่ ก็ไอ้นั่น .... (ชี้นิ้ว) ก็ที่แบน ๆ เอาไว้ผัดผักไง
    ลูกสาว อ๋อ ตะหลิวน่ะเหรอ .....
    แม่ ลูก ๆ ใส่ผัก”อันนั้น”ในแกงจืดหน่อย
    ลูกสาว ผักอะไรล่ะแม่ ?????
    นี่เป็นตัวอย่างของการมีปัญหาในการใช้ภาษา เพราะผู้ป่วยนึกศัพท์ไม่ออก ใช้ไม่ถูก .... ทั้ง ๆ ที่ “ตะหลิว” เองก็เป็นสิ่งที่ใช้บ่อย ๆ ก็เรียกไม่ถูก ต้องใช้บรรยายคำใกล้เคียงแทน
    อะไรที่อาจพบได้ในคนปกติ คือการนึกคำศัพท์ไม่ออกแบบนาน ๆ ที หรือศัพท์ที่ใช้ไม่บ่อยแล้วนึกไม่ออก ก็พบได้


    4. ไม่รู้วัน เวลาและสถานที่ (disorientation to time and place)

    ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์อาจมีปัญหา ไม่รู้วัน เวลาและสถานที่ได้แน่นอนว่าบางครั้งคนทั่ว ๆ ไปอาจจะจำไม่ได้บ้างว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ (เช่นวันที่ 20) แต่มักไม่เป็นบ่อย ๆ แต่หากจำไม่ได้ว่าอยู่บ่อย ๆ ว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว ....วันนี้วันอะไร (วันเสาร์ อาทิตย์ จันทร์) หรือเดือนอะไร นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าไม่น่าจะใช่เรื่องปกติ ยิ่งหากจำถนนหนทางที่คุ้นเคย เช่นแถว ๆ บ้านไม่ได้ หรือหลงทางในบริเวณที่ไปเป็นประจำ ยิ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าไม่น่าจะธรรมดาปัญหาการไม่รู้สถานที่นี่มักทำให้เกิดปัญหาสำคัญที่เจอบ่อย ๆ ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นั่นคือการหลงทาง ... หลายคนออกจากบ้านแล้วหายไป เพราะกลับไม่ถูกหรือจำไม่ได้


    5. การตัดสินใจแย่ลง (poor or decreased judgment )

    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักประสบกับปัญหาการตัดสินใจที่แย่ลงและช้าลง ... เช่น เมื่อเกิดไฟดับ ผู้ป่วยอาจตกใจและลนลานไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง (ปกติก็คือ อาจหาเทียนไข หรือไฟฉายมาใช้ ) หรือเมื่อท่อน้ำในบ้านแตก ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง (ทั่วไปคืออาจไปปิดวาร์วน้ำ โทรหาช่าง หรือโทรถามคนอื่น) บางคนแคไปรษณีย์มาส่งพัศดุ ให้คนในบ้าน ก็งง ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรแล้ว เมื่อได้รับบิลค่าโทรศัพท์หรือค่าไฟแล้วไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงกับบิลต่อไป ผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางคนมีการตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าแปลก ๆ ไม่เหมาะสมได้เช่น อาจใส่เสื้อผ้าหนาวในกรุงเทพหน้าร้อน หรือใส่สีไม่เข้ากันเลย (เช่นเสื้อเชิ๊ตสีแดง กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน) บางคนตัดสินใจในเรื่องการเงินแย่ลง เอาเงินไปแจกคนอื่น หรือลงทุนอย่างไม่เหมาะสมจนเป็นปัญหาตามมาได้ .....


    6. ความคิดและเหตุผลแย่ลง (problems with abstract thinking)

    ความบกพร่องของความคิดอาจจะเห็นตั้งแต่ ผู้ป่วยดูคิดอะไรช้าลงมาก ถามอะไรก็อาจตอบช้ากว่าเมื่อก่อนเยอะ บางคนเริ่มคิดเลขไม่ได้ ไปซื้อของคำนวญราคาไม่ถูก คิดทอนเงินไม่ได้ หลาย ๆ คน เวลาที่อธิบายอะไรให้ผู้ป่วยฟัง ก็ยากที่จะเข้าใจ ไม่สามารถวางแผนการได้


    7. วางของผิดที่ (misdisplacing)

    นอกจากวางของแล้วจำไม่ได้ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจจะวางของในที่แปลก ๆ ที่ไม่ควรจะวาง เช่น เก็บโทรศัพท์ไว้ในตู้เย็น มาหม้อหุงข้าวมาเก็บไว้ในห้องนอน เป็นต้น


    8. อารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ( Mood and behavioral change )
    อารมณ์ (emotion and affect) พบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวนหนึ่งนั้น มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย คือ มีอารมณ์เศร้า เบื่อ ไม่อยากทำอะไรที่เคยชอบทำ ร้องไห้บ่อย ๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี หรือพูดถึงว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยากฆ่าตัวตาย ..... ดังนั้นหากพบอาการซึมเศร้าในผู้ที่มีอายุมาก ๆ อาจจะต้องระวังเรื่องของโรคอัลไซเมอร์ด้วย อีกอารมณ์หนึ่งที่พบได้บ่อยคือ การมีอารมณ์หงุดหงิดโมโหได้ง่าย จากเดิมที่ไม่เป็น เอาแต่ใจ บางครั้งเวลาถูกขัดใจอาจมีตะโกนเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ มีอารมณ์ขึ้นลงรุนแรงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป (behavioral change) ผู้ป่วยบางคนอาจมีพฤติกรรมที่แปลก ๆ ผิดปกติไป ที่พบได้บ่อยเช่น บางคนเดินกลับไปกลับมาในบ้านซ้ำ ๆ โดยไร้จุดหมาย ผู้ป่วยคนหนึ่งค้นตู้เสื้อผ้าในบ้านออกมาจนหมดกระจุยกระจายเต็มบ้าน แล้วจัดเก็บเข้าไปใหม่ จากนั้นไม่นานก็ลื้อออกมาใหม่ ผู้ป่วยคนหนึ่งหยิบปากกาขึ้นมาส่องดูแล้วก็วาง แล้วสักพักก็ส่องดูใหม่วันละหลายสิบรอบ บางคนมีนิสัยเก็บสะสมของต่าง ๆ และขยะ ผู้ป่วยบางคนเก็บขยะจากที่ต่าง ๆ มาสะสมในบ้านหนักหลายกิโล


    9. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ( Personality Change )
    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนหนึ่งจะมีอาการนำมาด้วยมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น จากเดิมเป็นคนง่าย ๆ ไม่ค่อยพูดบ่นมาก ก็กลายเป็นคนที่พูดมาก บ่นจู้จี้จุกจิกไป บางคนที่เดิมเป็นคนร่าเริงสนุกสนานชอบงานสังคม ก็กลายเป็นคนเงียบ ๆ ไม่พูด ไม่ออกจากบ้าน ดังนั้นหากพบว่าคนรู้จักของเรามีนิสัย บุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตอนอายุมาก ๆ อาจต้องนึกถึงว่านี่เป็นอาการนำของโรคสมองเสื่อม


    10. ขาดการคิดริเริ่มและความสนใจสิ่งแวดล้อม (loss of initiative)

    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนมากกว่าครึ่ง จะมีอาการขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว (อันนี้ต้องเปรียบเทียบจากนิสัยเดิมด้วย) เช่น ผู้ป่วยจะไม่คิดริเริ่มที่จะทำอะไร ไม่เป็นฝ่ายเริ่มคุยกับคนอื่นก่อน ถ้าคนอื่นไม่มาคุยด้วยก็จะไม่พูดอะไร มีส่วนร่วมในงานสังคมน้อยลง ไม่ค่อยสนใจสิ่งที่เคยสนใจทำมาก่อน ผู้ป่วยหลายคนวัน ๆ นั่งเฉย ๆ ไม่ทำอะไรได้ทั้งวันสิ่งที่พบได้ในคนปกติ การที่บางครั้ง บางวันอาจเบื่อไม่อยากทำอะไร แต่ไม่ควรเป็นต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน
     
  7. chokaku

    chokaku เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    1,312
    ค่าพลัง:
    +4,333
    ขอบคุณ พี่้หนุ่ม ที่นำสิ่งดีๆ มาให้ครับ
     
  8. PITINATTH73

    PITINATTH73 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    2,991
    ค่าพลัง:
    +9,624
    สวัสดียามเย็นครับ ญาติธรรมทุกๆท่าน
     
  9. b_wanlop

    b_wanlop เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    575
    ค่าพลัง:
    +1,888
    สวัสดี ยามเย็น เช่นกันครับ
     
  10. Tawatchai1889

    Tawatchai1889 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    6,406
    ค่าพลัง:
    +16,785
    ขุนแผนองค์นี้ ท่านที่ร่วมทำบุญ ผมจะส่งไปให้พี่หนุ่ม ทาน้ำมันโป น้ำมันวาสนาเป็นพิเศษให้เฉพาะองค์นี้อีกครั้งครับ

    นอกจาก ลูกอมรุ่น 4 ที่ขอมอบให้ฟรี 1 ลูก แล้ว จะ ขอมอบลูกอมพรายมงคลเนื้อก้นครกจากทุกรุ่นรวมๆกัน ที่ทำเสร็จแล้ว และไม่ได้เอาออกให้บูชาแต่อย่างใด ยังไม่มีใครได้รับทั้งสิ้น (จนกว่าจะเสกครบ 16 ครั้งเป็นพิเศษ) โดยจะขอมอบเพิ่มให้ผู้ที่ประมูลพระขุนแผนองค์นี้ได้เป็นกรณีพิเศษอีก 1 ลูก ซึ่งลูกอมเนื้อก้นครก ที่รวมสรรพสิ่งอาถรรพ์นี้ ไม่มีให้บูชาในเวปครับ นอกจากทำกุศลร่วมกัน

    ขุนแผนองค์นี้ ท่านที่ร่วมทำบุญ ผมจะส่งไปให้พี่หนุ่ม ทาน้ำมันโป น้ำมันวาสนาเป็นพิเศษให้เฉพาะองค์นี้อีกครั้งครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 ธันวาคม 2010
  11. namo_2009

    namo_2009 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    2,432
    ค่าพลัง:
    +10,228
    สวัสดี พ่อแม่พี่น้อง ทุกท่านครับ
     
  12. namo_2009

    namo_2009 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    2,432
    ค่าพลัง:
    +10,228
    อนุโมทนาบุญครั้งนี้ด้วยนะครับ พี่ธวัชชัย:cool:
     
  13. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    เพื่อให้พระขุนแผนระฆังทององค์นี้ มีดีเหมือนพระขุนแผนอีก 2 องค์ก่อนหน้านี้
    ที่ทาน้ำมันโป และน้ำมันวาสนา ให้ไปแล้วเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำกุศลร่วมกัน
    ทางคุณธวัชชัย ผู้มอบพระมาให้ร่วมประมูล จึงส่งพระมาให้ทาน้ำมันโป น้ำมันวาสนา
    ที่ผสมรวมกันไว้ และยังเหลือก้นขวดอีกไม่มากนัก และเก็บไว้เพื่อร่วมงานกุศลโดยตรง
    ใครที่ชอบและศรัทธา เลื่อมใส ในพระขุนแผนพรายกุมาร หลวงปู่ทิม รุ่นระฆังทอง
    ที่มีออฟชั่นพิเศษ คือ

    - เป็นรุ่นฝังตะกรุดทองคำแท้ ที่แก่ผงพรายมากเป็นพิเศษ
    - เป็นองค์ ที่ได้รับการทาน้ำมันโปจากสามเหลี่ยมทองคำ
    - และเป็นองค์ที่ได้ทาน้ำมันวาสนา จากรัฐฉาน

    เงินทุกบาท ร่วมทำกุศลทั้งสิ้น เชิญผู้ที่สนใจ หรือผู้มีจิตเมตตาต่อเด็กด้อยโอกาสครับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4520-1.jpg
      IMG_4520-1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      146.3 KB
      เปิดดู:
      35
    • IMG_4520-2.jpg
      IMG_4520-2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      155.9 KB
      เปิดดู:
      35
  14. PPond

    PPond เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    838
    ค่าพลัง:
    +2,348
    ขอประเดิมร่วมทำบุญพระขุนแผนระฆังทอง 4000 บาทครับ
     
  15. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    เมื่อต้องการสมหวังจากพระเครื่อง...ทำไง?

    เคยย้อนนึกคิดและลองสังเกตุตัวเองว่า ที่เคยได้รับสิ่งดีๆจากพระเครื่องที่ศรัทธามามากหลายๆครั้ง และที่ได้รับเรื่องดีๆเหลือเชื่อนั้น ล้วนมาจากการแขวนเดี่ยว(องค์เดียว) แทบทั้งสิ้น เมื่อก่อนหน้านั้น ตอนปี 2533 แขวนพระ 5 องค์แท้ๆทั้งสิ้น มีพระกริ่งชินบัญชร พระชัยชินบัญชร พระปิดตาจัมโบ้ พระปิดตาแจกแม่ครัว ลป.ศุข พระปิดตา ลป.จีน ท่าลาด ชีวิตก็ปกติสุข ปลอดภัยไร้อันตราย แต่ไม่มีเหตุนอกเหนือวิสัยและเรื่องปาฏิหารย์ดีๆให้ได้ชื่นชม แต่ก็นับว่ามีดีในชีวิต และเป็นปกติสุข การงานราบรื่นดี

    เมื่อมาลองแขวนเดี่ยวพระแหวกม่านข้างเม็ดเนื้อดิน ลป.กวย ก็ได้รับโชคใหญ่ทันทีใน 1 เดือนหลังจากแขวนบูชา เมื่อลองแขวนเดี่ยวพระขุนแผนพรายกุมาร ลป.ทิม ก็เห็นชัดว่าเมตตาแรงชัดเจนจนรู้ได้ และเป็นมหาเสน่ห์ ติดต่อใครมีแต่แย้มยิ้มและปลอดโปร่ง และเมื่อลองแขวนเดี่ยวพระขุนแผนครูบาจันต๊ะ รุ่นแรก ดีชัดเจนมากที่สุดคือทั้งมหาเสน่ห์ ทั้งกับเพศหญิงและเพศที่สาม โดยเรื่องนี้ได้ถามคนที่เข้ามาขอเบอร์โทรว่า ทำไมกล้าขอเบอร์ผมทั้งๆที่เราไม่รู้จักกันเลย ผู้หญิงคนนั้นเธอตอบว่า "มองหน้าแรกเห็นสะดุดใจทันทีเหมือนมีมนต์สะกด และใจเสียดายหากต้องจากไปโดยไม่ได้รู้จักกัน" ส่วนผู้ฉิง ที่เข้ามาจับมือบอกอายๆว่า "ไม่รู้ฮ่ะ มันบอกไม่ถูก แต่ขอเป็นน้องสักคนนะฮะ" และเจอทุกวัน พระองค์นั้นยังเก็บไว้จนบัดนี้ และไม่อยากใส่เพราะเจอเพศที่สามเข้ามาขอนั่งด้วยบ่อยมาก บางทีเข้ามากอดดิ้อๆ แม้แต่บนห้างพันทิพย์ ของท่าน(รุ่น1) ดีทางนี้จริงๆ


    ลป.ไสว วัดปรีดาราม นครปฐม เจ้าตำรับเมตตา มหาเสน่ห์ และวิชาเป่าทองเข้าหน้าผาก เคยบอกว่า อย่าแขวนพระทางเมตตา มหาเสน่ห์ รวมในพวงกับพระทางแคล้วคลาด ดีอย่างไรก็แห้ว คลาดแคล้วต่อกันไปหมด ไม่สมหวังดังใจ ได้แต่มองๆ ให้แขวนรวมกับพระทางบู๊ คือคงกะพัน จะสมหวังมากกว่า


    เมื่อก่อนนี้ ตอนปี 2530-33 ผมเสาะหาแต่พระขุนแผนตามที่เขาร่ำลือกัน ว่าดีนักดีหนา มีมากมาย แต่มันมีข้อจำกัดในพระขุนแผนแทบทุกรุ่น ว่าดีทางใหน พระขุนแผนบางองค์บางรุ่นดีเฉพาะทางเมตตาด้านชู้สาวก็มี เพราะอาจารย์ผู้ปลุกเสกมีจิตโน้มเอียงฝังใจเชื่อมั่น ไปในทางนั้นโดยเฉพาะ ไม่ดีครอบคลุมในทุกด้านอย่างที่ควรจะเป็น


    สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือ ความเชื่อมั่นในองค์พระที่แขวนคอบูชาอยู่ในขณะนั้น ยิ่งแขวนเดี่ยวจะยิ่งมั่นคงมากที่สุด จะเห็นผลมากกว่าแขวนเป็นพวง เพราะจิตของเราเกิดจุดศูนย์รวมพลังศรัทธาได้ดีที่สุด ไม่คลอนแคลน ไม่เฉไฉ และแน่วแน่มากกว่า ลองทำดูก็ได้ครับว่าจริงใหม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 ธันวาคม 2010
  16. หนุ่มเมืองแกลง

    หนุ่มเมืองแกลง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2007
    โพสต์:
    32,522
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +210,857
    พระขุนแผนอีกสำนักหนึ่ง ที่ดีทางเสน่ห์ด้านชายหญิง และเด่นจนสัมผัสได้ด้วยตัวเองคือ ขุนแผนกัวเผาะ ของ ลพ.ชู สำนักหินเหล็กไฟ สุรินทร์ ที่มีวิชาส่วย ทางมหาเสน่ห์โดยตรง พระของท่านดีทางนี้โดยตรง หญิงใช้ได้ ชายใช้ดี ผมได้มอบให้ลูกน้อง(ผู้ชาย) ไปใช้ แค่สองปีเขามีไปแล้วสามเมีย เป็นคนดีๆมีงานการทำทั้งสิ้น และปรองดองกัน ทั้งๆที่ไม่ร่ำรวยอะไรนัก ถามผู้หญิงว่าทำไมมาตกหลุมดำถลำลึกแบบนี้ มาทนทำไม เขาบอกว่าไงรู้ใหมครับ "ก็คนมันรัก ทำไงได้" เจ้าหนุ่มนั่นแขวนแต่พระขุนแผนองค์นั้นองค์เดียวทุกวันนี้ ยังเจอกันทุกปี เขามาไหว้ปีใหม่ทุกครั้งพร้อมนำเมียมาใหม่ๆมาอวดทุกปี
     
  17. วีรวัช

    วีรวัช เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    2,622
    ค่าพลัง:
    +5,029
    กระทู้นี้ มีคนตอบ 32,278 คำตอบ พันหกร้อยกว่าหน้า มีคนเปิดอ่าน 1,127,870 ครั้ง

    ล้านหนึ่งแสนกว่า สุดยอดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด:cool:
     
  18. วีรวัช

    วีรวัช เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    2,622
    ค่าพลัง:
    +5,029
    หูผึ่งเลยผม ผมยังไม่มีสักคน อิอิ
     
  19. Norragate

    Norragate เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    19,518
    ค่าพลัง:
    +37,735

    ขุนแผนกัวเผาะ.....น่าสนใจมั๊กๆ......(^_^)...เชื่อว่าเป็นที่ถูกใจชาวพิมพ์นิยมใช่มั้ยครับ..ท่านประธานฯโต้ง..ฮ่าๆ
    ที่ถูกใจสุดก็ตรงที่ปรองดองกันอ่ะครับพี่หนุ่มมมมมมมมมม 555
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 ธันวาคม 2010
  20. CheKuvara

    CheKuvara เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 มกราคม 2006
    โพสต์:
    3,460
    ค่าพลัง:
    +19,341
    ฮ่าๆๆ เรื่องนี้ฟังแล้วจี๊ดเลย ขุนแผนที่พี่หนุ่มว่ามาพอมีไว้บ้างด้วย ของครูบาจันต๊ะ รุ่นหนึ่งเป็นอย่างที่พี่หนุ่มว่าจริงๆครับ ที่จะพอๆกันก็ของครูบาเสน่ห์รุ่นแรกที่ฝังชิ้นอาถรรพ์ ผมฟังเค้ามาทั้งนั้นครับ ไม่ได้มีประสบการณ์หรอก ตอนนี้ยังอกหัก เพราะไม่มีใครรักวันละร้อยแปดรอบเลย ฮ่าๆๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...