ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อปราโมทย์ เล่าไว้สมัยเป็นฆราวาส

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 27 เมษายน 2009.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    727
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    ๑. พอเริ่มต้นก็ผิดเสียแล้ว


    ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติสมาธิภาวนาครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๗ ขวบ โดยคุณพ่อพาไปวัดอโศการามของท่านพ่อลี ธัมมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์) และได้หนังสือการฝึกอานาปานสติมาจากท่านพ่อลี ก็นำมาอ่านแล้วปฏิบัติด้วยตนเองไปตามความเข้าใจแบบเด็กๆ เอาจิตไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก พยายามหัดอยู่ทุกวันเพราะผู้เขียนเป็นคนกลัวผี และเชื่อว่าถ้าภาวนาเป็นจะหายกลัวผี การที่จิตจดจ่อกับลมหายใจโดยไม่ได้คิดคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นนั้น เป็นหลักการสำคัญของสมถกรรมฐาน ดังนั้นเพียงไม่นาน จิตก็รวมวูบลง ปราศจากกาย แล้วจิตก็อันตรธานไปปรากฏขึ้นในเทวโลก เมื่อเวลาจะเดินทางไปมา ก็เพียงนึก แล้วกายทิพย์ก็ลอยไปเหนือพื้น


    ผู้เขียนเที่ยวเล่นอยู่เช่นนี้ไม่นานวันนัก ก็เกิดความเฉลียวใจว่า สมาธิไม่น่าจะมีประโยชน์เพียงแค่นี้ ทำไมเราจะต้องปล่อยให้จิตเคลิ้มแล้วมาเที่ยวอย่างนี้ นับจากนั้นก็กำหนดลมหายใจให้แรงขึ้น เพื่อไม่ให้จิตตกภวังค์ จิตก็ไม่ออกเที่ยวภายนอกอีก


    ๒. กำหนดลมหายใจแบบแข็งกร้าว


    การกำหนดลมหายใจแรงๆ แม้จะทำให้จิตไม่เคลิ้มตกภวังค์ แต่จิตก็ไม่สามารถพัฒนาให้ยิ่งกว่านั้น กลับทำความเหน็ดเหนื่อยให้อย่างมาก แต่ผู้เขียนก็มิได้ย่อท้อ ยังคงกำหนดลมหายใจแรงๆ เช่นนั้นเสมอมา แม้จะเหนื่อยเพียงใด ก็ทนเอา เนื่องจากไม่มีสติปัญญา มีแต่แรงกระตุ้นของอดีตให้ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติลำบากเช่นนี้อยู่ถึง ๒๑ ปี โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ไม่ว่าสมาธิหรือปัญญา ทั้งนี้เพราะผู้เขียนไม่ทราบว่า ที่ปฏิบัตินั้นทำไปเพื่อสิ่งใด และไม่ทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย


    ผู้ที่จะปฏิบัติธรรม จึงควรศึกษาถึงเป้าหมายของการปฏิบัติให้ชัดเจน และเรียนรู้วิธีปฏิบัติให้เข้าใจเสียก่อน อย่าได้ลำบากเหมือนผู้เขียนเลย


    ๓. ดูจิตได้เมื่อภัยมา


    บ้านเกิดของผู้เขียนเป็นตึกแถว ด้านหน้าคือถนนบริพัตร ด้านหลังคือคลองโอ่งอ่าง หมู่บ้านที่อยู่มีชื่อเป็นทางการว่า “บ้านบาตร” เพราะมีอาชีพทำบาตร แต่ส่วนที่อยู่จริงเป็นหมู่บ้านโบราณอีกหย่อมหนึ่งเรียกว่า “บ้านดอกไม้” เพราะมีอาชีพทำดอกไม้ไฟ ตอนเด็กๆ เกิดไฟไหม้บ้านดอกไม้ มีการระเบิดและมีคนตายจำนวนมาก ผู้เขียนจึงกลัวไฟไหม้จับจิตจับใจ วันหนึ่งเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ ขณะเล่นลูกหินอยู่ข้างถนนหน้าบ้าน ได้เห็นไฟกำลังไหม้ตึกแถวเดียวกัน แต่ถัดไป ๕ - ๖ ห้องซึ่งเป็นร้านซ่อมรถยนต์


    ผู้เขียนเกิดความกลัวอย่างรุนแรง ลุกพรวดขึ้นได้ก็วิ่งอ้าวเข้าบ้านเพื่อไปบอกผู้ใหญ่ พอวิ่งไปได้ ๓ ก้าว จิตก็เกิดย้อนดูจิตโดยอัตโนมัติ มองเห็นความกลัวดับวับไปต่อหน้าต่อตา เหลือเพียงความรู้ตัว สงบ ตั้งมั่น ตอนนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะอะไร ได้แต่เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่า ไฟไหม้ แล้วยืนดูคนอื่นตกใจกันวุ่นวาย.


    หลายปีถัดมา ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า ผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เราทำไว้ในชาติก่อนๆ ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของเรานั่นเอง เมื่อถึงเวลา มันก็จะแสดงตัวออกมา จุดอ่อนของผู้เขียนในขณะนั้นก็คือ ผู้เขียนไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสรุปให้ฟังว่า เกิดอะไร เพราะอะไร ผู้เขียนจึงลืมการดูจิตไปอีกครั้งหนึ่ง


    สิ่งหนึ่งที่อยากกล่าวกับผู้อ่านก็คือ คุณงามความดีทั้งหลายนั้น ขอให้สร้างไว้เถิด ผลของมันไม่สูญหายไปไหน เมื่อถึงเวลาย่อมให้ผลอย่างแน่นอน


    ๔. กลัวผีจนเจอดี


    ดังที่เล่ามาแล้วว่า ผู้เขียนกลัวผียิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ทั้งที่ไม่เคยพบผีเลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งปี ๒๕๒๑ จึงได้ไปบรรพชาอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ แล้วท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์คือพระธรรมโกศาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) ก็เกิดจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ แทนที่จะให้ไปอยู่ในหมู่กุฏิหลังวัด ซึ่งพระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก กลับให้ผู้เขียนอยู่กุฏิโดดเดี่ยวตามลำพังข้างเมรุและใกล้ช่องเก็บศพ


    ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นกุฏิที่น่าอยู่มาก เพราะปลูกอยู่ริมสระน้ำเล็กๆ มีต้นไม้ร่มรื่น แต่ข้อเสียคือพอตอนฉันเพล ได้พบโยมบางคนเขาบอกว่ากุฏินั้นผีดุ เคยมีเณรไปอยู่แล้วตกกลางคืนร้องลั่นวิ่งหนีจากกุฏิเพราะมีผีมาเล่นกระโดดน้ำในสระ ผู้เขียนแม้เป็นพระ ก็รู้สึกหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่ง


    พอตกกลางคืนหลังจากไปฝึกกรรมฐานที่ท้ายวัด ก็กลับเข้ากุฏิปิดไฟนอน เวรกรรมแท้ๆ ผนังกุฏิช่วงล่างสัก ๑ ฟุตเป็นกระจกโดยรอบ จึงมองออกมาเห็นภาพภายนอกตะคุ่มๆ พอหลับแล้วกลางดึกก็ต้องตกใจตื่น เมื่อได้ยินเสียงอะไรบ้างอย่างกระโดดน้ำดังตูม บทสวดมนต์ต่างๆ มันเลื่อนไหลขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ นอนกลัวจนถึงเช้าจึงออกไปดูที่สระน้ำ ก็เห็นผี คือลูกมะพร้าวลอยตุ๊บป่องๆ อยู่ในสระ


    ผีในลักษณะนี้ผู้เขียนได้พบเห็นอยู่เสมอเมื่อออกไปปฏิบัติธรรมตามวัดป่า เช่น ผีกระรอกขว้างหลังคากุฏิตอนดึกๆ ผีตุ๊กแกจับแมลงโตๆ ฟาดฝากุฏิ ผีนกร้องเสียงเหมือนยายแม่มด ผีเปรตนกร้องกรี๊ดๆ บนยอดไม้สูงๆ เป็นต้น ยิ่งเขาลือว่าตรงนั้นมีผี ตรงนี้มีผี ยิ่งชอบพิสูจน์ทั้งๆ ที่กลัว


    หลังจากเจอผีมะพร้าวแล้วผู้เขียนก็ชักจะกระหยิ่มใจ พอตกกลางคืนแม้จะเลิกปฏิบัติรวมกลุ่มจากศาลาท้ายวัดแล้ว ก็ยังกลับมานั่งภาวนาต่อในกุฏิอีก คืนหนึ่งจิตสงบลงและรู้สึกหน่อยๆ ว่าเมื่อยขา และเป็นเหน็บ จึงนั่งเหยียดเท้าแล้วภาวนาต่อไป แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกได้ว่ามีใครคนหนึ่งมานวดขาให้ เพียงกดคราวเดียว เลือดลมก็เดินสะดวก หายปวดหายเมื่อย จิตก็ส่งออกไปดู เห็นชายวัยเกษียณอายุคนหนึ่งแต่งชุดทหารอากาศกำลังนวดให้อย่างตั้งใจ จิตในขณะนั้นไม่มีความกลัวเลย หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เห็นเขาคนนี้อยู่เสมอๆ


    เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นอุปาทานหรืออะไรก็แล้วแต่เถิด ผู้เขียนได้ประสบมา ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อคลายความหนักในเนื้อหาของธรรมที่จะเล่าต่อไปข้างหน้า


    ๕. ดูจิต : จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู


    ผู้เขียนปฏิบัติตามยถากรรมมาโดยตลอด เพิ่งจะมีครูบาอาจารย์จริงจังเอาเมื่ออายุ ๒๙ ปี เหตุที่จะพบอาจารย์นั้น ก็เพราะชอบเล่นเหรียญพระเครื่อง จึงไปซื้อหนังสือทำเนียบเหรียญหลวงปู่แหวนมาเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ "ชีวิตและศาสนากิจ หลวงปู่แหวน" เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทางวัดสัมพันธวงศ์ จัดพิมพ์ ดูไปทีละหน้า พอถึงตอนท้ายๆ เล่ม ผู้จัดพิมพ์หนังสือคงเห็นว่ามีที่ว่างเหลืออยู่ จึงนำธรรมะเรื่อง “อริยสัจจ์แห่งจิต” ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มาลงไว้เป็นข้อความสั้นๆ ว่า


    "จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
    ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
    จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
    ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ”


    “อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็แต่ว่า ถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว จิตเกิดหวั่นไหวหรือเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม จบอริยสัจจ์ ๔”


    (ข้อความจากหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสนใจคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีนักปฏิบัติรุ่นไล่ๆ กับผู้เขียนอีก ๒ ท่าน เข้าไปเป็นศิษย์ของหลวงปู่ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ และท่านหนึ่งได้ครองสมณเพศมั่นคงในธรรมปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรงดงามบริบูรณ์ยิ่ง ผู้เขียนและพระอาจารย์รูปนั้น ยังปรารภด้วยความเคารพในหนังสือเล่มนั้นมาจนทุกวันนี้) อ่านแล้วผู้เขียนเกิดความสะกิดใจว่า จริงนะ ถ้าจิตไม่ทุกข์ แล้วใครจะเป็นผู้ทุกข์ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในช่วงวันมาฆบูชาปี ๒๕๒๕ ผู้เขียนพร้อมด้วยน้องในทางธรรม ก็สุ่มเดินทางไปสุรินทร์ แล้วเที่ยวถามหาวัดบูรพาราม ในตอนสายวันนั้น ก็ได้ไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้สูงวัยกว่า ๙๐ ปี


    ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า ผู้เขียนอยากปฏิบัติ ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ ไปครึ่งชั่วโมง แล้วสอนว่า


    “การปฏิบัติไม่ยาก มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อแต่นี้ให้อ่านจิตของตนเองให้แจ่มแจ้ง”


    แล้วท่านก็สอนอริยสัจจ์แห่งจิต เหมือนที่เคยอ่านมานั้น แล้วถามว่า “เข้าใจไหม”


    ผู้เขียนในขณะนั้นรู้สึกเข้าใจแจ่มแจ้งเสียเต็มประดา จึงกราบเรียนท่านว่า “เข้าใจครับ” แล้วลาท่านกลับไปขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ พอรถไฟเริ่มเคลื่อนจากสถานีจังหวัดสุรินทร์ ผู้เขียนก็เพิ่งนึกได้ถึงความโง่เขลาอันร้ายแรงของตนเอง


    คือนึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่สั่งให้ ดูจิต ก็แล้ว จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู นึกเสียใจที่ไม่ได้ถามปัญหาเหล่านี้จากหลวงปู่ แล้วคราวนี้จะปฏิบัติได้อย่างไร นี่แหละความผิดพลาดที่ฟังธรรมด้วยความไม่รอบคอบ เอาแต่ปลาบปลื้มใจและตื่นเต้นที่ได้พบครูบาอาจารย์ จนพลาดในสาระสำคัญเสียแล้ว จะกลับไปถามหลวงปู่ก็ไม่สามารถกระทำได้แล้วในตอนนั้น


    ผู้เขียนแก้ปัญหานี้ ด้วยการทำใจให้สบายหายตระหนกตกใจ แล้วพิจารณาว่า จิตเป็นผู้รู้อารมณ์ จิตจะต้องอยู่ในกายหรือในขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นแน่ หากค้นคว้าลงในขันธ์ ๕ ถึงอย่างไรก็ต้องพบจิต แต่จะพบในสภาพใด หรือจะเอาอะไรไปรู้ว่าอันนี้เป็นจิต ยังเป็นปัญหาที่พิจารณาไม่ตก ก็จับปัญหาแขวนไว้ก่อน


    ผู้เขียนพยายามทำใจให้สบาย สลัดความฟุ้งซ่านทิ้ง ตั้งสติระลึกรู้อยู่ในกายนี้ ตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงพื้นเท้า ก็เห็นว่ากายนี้ไม่ใช่จิต กายเป็นวัตถุธาตุเท่านั้น แม้จะตรวจอยู่ในกายจนทั่วก็ยังไม่พบจิต พบแต่ว่ากายเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น ไม่ใช่จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้เขียนจึงพิจารณาเข้าไปที่เวทนา ตั้งสติจับรู้ที่ความทุกข์ ความสุข และความเฉยๆ ที่ปรากฏ ก็พบอีกว่า เวทนาก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิต ผู้เขียนก็วางเวทนา หันมีระลึกรู้สัญญาที่ปรากฏ ก็เห็นว่าสัญญาคือความจำได้/หมายรู้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีก ผู้เขียนก็หันมาดูสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งที่เกิดขึ้น ก็เห็นความคิดนึกปรุงแต่งผุดขึ้นเป็นระยะๆ เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิตอีก


    ก่อนที่รถไฟจะถึงกรุงเทพฯ ผู้เขียนสามารถแยกรูป เวทนา สัญญา และสังขาร ออกแล้ว ทันใดผู้เขียนก็พบจิตผู้รู้ เป็นสภาพที่เป็นกลาง ว่าง และรู้อารมณ์ ผู้เขียนก็ตอบปัญหาได้แล้วว่า จิตเป็นอย่างนี้ จิตอยู่ที่รู้นี้เอง ไม่ได้อยู่ที่กาย เวทนา สัญญา และสังขาร ผู้เขียนรู้จิตผู้รู้ได้ด้วยเครื่องมือ คือ สติ ซึ่งผู้เขียนได้ใช้สติเป็นเครื่องระลึกรู้ และใช้ปัญญาพิจารณาแยกขันธ์ จนเข้ามาระลึกรู้ จิตผู้รู้ได้


    ถ้ามีความรอบคอบ ถามครูบาอาจารย์มาให้ดี ก็คงไม่ต้องช่วยตนเองขนาดนี้ แต่การที่คลำทางมาได้อย่างนี้ ก็สอนให้ผู้เขียนเคารพแต่ไม่ติดยึดอาจารย์ และซึ้งถึงคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้เขียนเคารพในศักยภาพของมนุษย์ เห็นว่าถ้าตั้งใจจริง ก็สามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะขนาดผู้เขียนไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร ก็ยังทำมาจนได้


    ๖. รู้จักจิต แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี


    ทันทีที่แก้ปัญหาแรกตก คือตอบได้ว่า จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน และเอาอะไรไปดู ปัญหาใหม่ก็ตามมาทันทีว่า เมื่อรู้แล้วจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป เพราะหลวงปู่สอนมาสั้นๆ ว่าให้ดูจิต เมื่อผู้เขียนได้จิตผู้รู้มาด้วยการแยกขันธ์ออกจากจิต ผู้เขียนก็ต้องระวังรักษาจิตเพื่อเอาไว้ดู โดยการป้องกันไม่ให้จิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์ เพราะถ้าจิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์ ก็จะไม่มีจิตผู้รู้เอาไว้ให้ดู


    ในช่วงวันแรกๆ ที่แยกจิตกับขันธ์ออกจากกันได้นั้น ผู้เขียนใช้ความพยายามอย่างมากรักษาจิตไม่ให้ไหลเข้าไปรวมกับขันธ์อีก แต่ก็รักษาได้เพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วกว่าจะพิจารณาแยกออกได้อีกก็ใช้เวลาเป็นวันๆ ผู้เขียนผู้ไม่มีความรู้ใดๆ อาศัยความอดทนและความเพียรพยายาม รวมทั้งอุบายทุกชนิดที่จะรักษาจิตผู้รู้เอาไว้ให้ได้ เช่นใช้กำลังจิตพยายามผลักสังขารขันธ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิต เมื่อจิตไปติดก้อนสังขารที่ปรากฏด้วยความรู้สึกเป็นก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก ก็พยายามเจาะ พยายามทุบทำลายก้อนนั้นด้วยพลังจิต บางคราวทุบตีไม่แตก ก็พิจารณาแยกเป็นส่วนๆ บางคราวแยกแล้วก็ไม่สำเร็จอีก ก็กำหนดจิตให้แหลมเหมือนเข็ม แทงเข้าไปเหมือนแทงลูกโป่ง วันใดทำลายก้อนอึดอัดได้ ก็รู้สึกว่าวันนี้ปฏิบัติดี บางวันทำลายไม่ได้ ก็รู้สึกว่า วันนี้ปฏิบัติไม่ดี


    ต่อมาเป็นเดือนๆ ก้อนอึดอัดนี้ก็เล็กลงเรื่อยๆ แล้วสลายไปกลายเป็นความรู้สึกที่เคลื่อนไหวได้ เช่นเห็นการเคลื่อนไหวไปมาบ้าง เป็นความไหวตัวยิบยับบ้าง แล้วก็พบว่าอารมณ์แต่ละตัวที่เกิดขึ้น จะมีสภาวะที่รู้ได้ไม่เหมือนกัน เช่น ความโกรธเป็นพลังงานและมีความร้อนที่พุ่งขึ้น โมหะเป็นความมืดมัวที่เคลื่อนเข้ามาครอบงำจิต ถ้าเป็นกุศลจิต ก็จะเห็นความโปร่งว่างเบาสบาย ในเวลาที่จิตกระทบอารมณ์ เช่น ตกใจเพราะเสียงฟ้าผ่า ก็จะเห็นการหดตัววูบ ในช่วงนั้น ผู้เขียนเอาแต่ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการเรียนรู้สภาวะต่างๆ และคอยแก้อาการต่างๆ ที่จิตเข้าไปติดข้อง ด้วยความสำคัญผิดว่า นี่แหละคือการดูจิต บัดนี้เราเห็นจิตชัดเจนแล้ว ว่ามีอาการต่างๆ นานา สมควรแก่เวลาที่จะไปรายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ทราบ ซึ่งท่านคงจะอนุโมทนาด้วยดี เพราะศิษย์ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านไม่หยุดหย่อนติดต่อกันมาแล้วถึง ๓ เดือน


    ผู้เขียนไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้ชราภาพ แล้วรายงานผลการปฏิบัติต่อท่านว่า ผมเห็นจิตแล้ว หลวงปู่ถามว่า จิตเป็นอย่างไร ก็กราบเรียนท่านว่า “จิตมีความหลากหลายมาก มันวิจิตรพิสดารเป็นไปได้ต่างๆ นานา ดังที่ได้พบเห็นมา” พอกราบเรียนจบก็ได้รับคำสอนที่แทบสะอึกว่า


    "นั่นมันอาการของจิตทั้งนั้น ยังไม่ใช่จิต จิตคือผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ให้กลับไปดูใหม่"


    ๗. ตู้พระธรรมเคลื่อนที่


    เพราะการไปศึกษาครั้งแรกไม่ถามหลวงปู่มาให้ดี จึงเสียเวลาและลำบากไป ๓ เดือน เพราะไปหลงอาการของจิตว่าเป็นจิต กลับจากสุรินทร์คราวนี้จะไม่ยอมพลาดอีกแล้ว จึงเริ่มทำจิตให้สงบในเวลาที่มันฟุ้งซ่าน ด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง การหายใจประกอบคำบริกรรมพุทโธบ้าง พอจิตสงบดีแล้วก็เห็นความว่าง โปร่ง เบา มีความรู้ตัวแจ่มใส เห็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นระยะๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อทำลายอารมณ์ดังที่หลงทางมาแล้ว


    วันหนึ่งขณะที่เห็นอารมณ์เกิดดับอยู่นั้น จิตเกิดความอ่อนแอน้อมเข้าหาความสงบ แล้วรวมลงนิ่งสนิทอยู่ช่วงหนึ่ง พอจิตถอนขึ้นมาก็รู้สึกสว่างไสวไปหมด มองสิ่งต่างๆ รู้สึกว่าชัดเจนไปหมด กระทั่งมองอากาศว่างๆ ตรงหน้า ก็ยังเห็นถึงอณูของอากาศ และฝุ่นละอองอันละเอียดที่แฝงในอากาศ ก็เกิดระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า ท่านช่างสอนธรรมอันน่าอัศจรรย์นัก จากนั้นจิตก็ระลึกถึงธรรมหมวดต่างๆ ได้เป็นอันมาก ไล่ตั้งแต่หมวด ๑ หมวด ๒ ไปจนหมวดเกิน ๑๐ นึกถึงธรรมข้อใดก็เข้าใจแจ่มแจ้งไปทุกหัวข้อ และพบว่าธรรมทั้งหลายเชื่อมโยงเป็นอันเดียว รวมลงในอริยสัจจ์ ๔ ทั้งสิ้น ผู้เขียนพิจารณาธรรมด้วยความเพลิดเพลิน ยิ่งพิจารณายิ่งแตกฉาน ยิ่งแตกฉานก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจ พิจารณากว้างขวางออกไปอีก เมื่อรู้ธรรมอันใดแล้ว ก็พยายามทรงจำไว้ ไม่นานเลย ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตนเองกำลังแบกตู้พระไตรปิฎกไปไหนมาไหนด้วย มันเป็นภาระอันหนักเหลือเกิน


    แล้วผู้เขียนก็ระลึกถึงหลักตัดสินพระธรรมวินัย ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไรบ้าง ก็รู้ว่า ท่านสอนธรรมเพื่อความละ ความคลาย ความสิ้นไปแห่งตัณหา ผู้เข้าถึงธรรมจะต้องวางความยึดถือทั้งปวง ก็เกิดความเฉลียวใจว่า อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นคืออะไร เพราะตรงกันข้ามกับหลักตัดสินที่ท่านสอนไว้ ก็เข้าใจขึ้นว่า นี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส ๒ ประเภทซ้อนกันอยู่ คือโอภาสอย่างหนึ่ง กับความแตกฉานในธรรมอีกอย่างหนึ่ง พอรู้ทันแล้ว อาการนี้ก็หายไป เหมือนโยนภาระหนักทิ้งเสียได้


    ๘. เดินวิปัสสนา


    ผู้เขียนเพียรปฏิบัติด้วยการมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือมีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ มีสัมปชัญญะรู้ตัว ไม่หลงไม่เผลอตามอารมณ์นั้น จิตมั่นคงเป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า บางคราวที่จิตฟุ้งซ่านไม่สามารถจะดูอารมณ์ได้ชัดเจน หรือจิตหลงเข้าไปเกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่น ผู้เขียนก็จะทำความสงบด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง บริกรรมพุทโธบ้าง กำหนดลมหายใจประกอบการบริกรรมพุทโธบ้าง เพ่งความว่างในจิตบ้าง เมื่อมีกำลังแล้ว คือสามารถแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้ชัดเจน ก็มาตามรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่อไป โดยไม่ได้คิดคำนึงว่า ดูแล้วจะได้อะไรขึ้นมา เพราะทุกวันที่ดูนั้น มันเหมือนมีงานที่น่าสนใจติดตามให้ทำอยู่ตลอดเวลา


    ผู้เขียนดำเนินวิปัสสนาในช่วงนี้อยู่ ๔ เดือนนับแต่ไปกราบหลวงปู่เป็นครั้งที่ ๒ จึงเข้าใจถึงสภาพที่จิตพ้นจากความปรุงแต่ง รู้ชัดว่าความเป็นตัวตนของจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง ความดับ อยู่ตรงที่พ้นจากความปรุงแต่งนี้เอง


    ไปกราบหลวงปู่คราวที่ ๓ นี้ ไม่ได้หวังว่าจะได้รับคำยืนยันผลการปฏิบัติจากหลวงปู่ เพียงต้องการไปกราบท่านเพื่อให้ท่านเห็นว่า การดำรงขันธ์อยู่ของท่าน เป็นประโยชน์เพียงใด แต่หลวงปู่ก็กรุณาแจกแจงสภาวธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียด ตอนที่กำลังก้มลงกราบลาท่านกลับออกจากวัด ท่านก็กล่าวด้วยเสียงที่อ่อนโยนและเยือกเย็นว่า


    "ถึงพระรัตนตรัยแล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว ต่อจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องมาหาอาตมาอีก"


    ผู้เขียนเดินออกจากวัดบูรพาราม ที่หน้าวัดกำลังมีงานช้างสุรินทร์ ท่ามกลางเสียงที่อึกทึกและผู้คนที่แน่นขนัดนั้น ผู้เขียนมีความรู้สึกเหมือนเดินผ่านไปในกองธาตุ ตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน ร่างกายของผู้เขียนก็เป็นอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อม ไม่เข้ามากระทบถึงจิตเลย จิตเหมือนลมที่พัดผ่านสิ่งต่างๆ ด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นช่อดอกไม้หรือซากศพ ผู้เขียนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเคารพนอบน้อมแด่พระสาวกที่สืบทอดพระธรรมวินัยมาจนถึงยุคปัจจุบัน


    ๙. เจริญปัญญา ละเลยสมาธิ


    การปฏิบัติหลังจากทำลายความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราลงแล้ว ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือการรู้ความเกิดดับของอารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง แต่สิ่งที่สะดวกมากขึ้นก็คือ จิตมีความเป็นกลางสม่ำเสมอมากขึ้น การเกาะเกี่ยวอารมณ์ที่หยาบลดน้อยถอยลง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจน้อยลง การเจริญปัญญามีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ยิ่งรู้ความเกิดดับ ก็ยิ่งเพลิดเพลิน เวลากิเลสใดๆ เกิดขึ้น พอกระทบความรับรู้ของสติ กิเลสก็ดับวับไปทันที เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ความเพลิดเพลินในการเจริญสติสัมปชัญญะ ทำให้ละเลยการทำความสงบไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว


    ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ช่วงหนึ่ง คราวนี้ไปพบเห็นอารมณ์ละเอียดอันหนึ่ง เป็นเพียงความไหวตัวยิบๆ เล็กๆ เหมือนระลอกน้ำที่ไหวตัวเมื่อลมโชยแผ่ว.ความไหวยิบยับนี้เกิดขึ้นทั้งวันทั้งคืน ก็ตามรู้ตามเห็นไปเป็นเดือนๆ จิตเกิดความอ่อนล้าและเร่าร้อนขึ้นมา จึงเดินทางไปกราบหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน หลวงพ่อก็เมตตาแสดงธรรมอบรมอยู่นาน แต่จิตไม่รู้สึกอิ่ม ไม่รู้สึกพอ ท่านก็อุตส่าห์แจกแจงให้รู้ว่า การปฏิบัติในขั้นละเอียดนั้น มันเหนือคำพูด เหนือบัญญัติ เห็นเพียงสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นยุบยิบๆ เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นจิตของผู้เขียนก็ไม่คลายจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย แม้จะมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสังขารละเอียดก็ตาม


    เมื่อเหนื่อยล้ามากเข้า ก็คิดว่า วันนี้ของดดูจิตสักวันเถอะ ก็ไม่สามารถงดได้ เพราะมันรู้เห็นจนเป็นอัตโนมัติไปแล้ว อยู่มาวันหนึ่งก็หันมาทำความสงบ พอจิตสงบลงได้พักถึงฐานเต็มที่ ความกระวนกระวายก็ดับไป จึงรู้ว่า จิตนั้นต้องการพัก จะเอาแต่เจริญปัญญารุดหน้าไปฝ่ายเดียวไม่ได้


    ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และผู้เขียนก็โง่พอที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นคราวหนึ่งเกิดความเครียดกับผู้อำนวยการกองซึ่งย้ำคิดย้ำทำ งานเรื่องเดียวจะต้องแก้ไปเรื่อยๆ หลายสิบครั้งจนถึง deadline จึงยอมให้ผ่าน รวมทั้งกร้าวร้าวรุกรานตลอดเวลา จนผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนเครียดและประสาทเสียไปตามๆ กัน ผู้เขียนก็พยายามแก้ไขความเครียดนั้นด้วยปัญญา พลิกแพลงพิจารณาสารพัด เช่น พิจารณาว่า ทั้งเขาและเรา ต่างก็จะต้องตายจากกันในไม่ช้า เขาอยากทำอะไรก็ช่างเขา หรือพิจารณาแยกธาตุทั้งตนเองและผู้บังคับบัญชา หรือดูว่าความเครียดเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดๆ ดับๆ ไม่ใช่จิต แต่ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร จิตก็ไม่ปล่อยวางเรื่องนี้ เพราะมีผัสสะกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา


    ครั้งหนึ่งไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง พระอุปัฏฐากท่านจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ เพราะทุกครั้งที่ไปจะมีธรรมะไปกราบเรียนถามหลวงปู่เสมอ ท่านจะจัดให้นั่งที่มุมใกล้ๆ หลวงปู่ แต่ยังไม่ให้ถามอะไร จนกว่าญาติโยมที่มากราบหลวงปู่เป็นร้อยๆ คน จะกลับไปเสียก่อน พอญาติโยมถวายข้าวของต่างๆ แล้ว หลวงปู่ก็จะยถาสัพพี อนุโมทนาทาน ช่วงนั้นทุกคนก็จะประนมมือรับพร ผู้เขียนก็รับด้วย และเนื่องจากเครียดเรื่องผู้บังคับบัญชาไม่หาย ก็เลยอธิษฐานขอพรจากหลวงปู่ ขอให้พ้นจากหัวหน้าคนนี้เสียที พอท่านให้พรเสร็จ ท่านก็หันมาพูดเบาๆ คำเดียวว่า "กรรม" จิตในขณะนั้นก็โล่งไปหมด เพราะรู้ว่า นี่เรากำลังใช้กรรมอยู่


    เครียดมาประมาณเดือนเศษๆ เช้าวันหนึ่งรู้สึกอ่อนล้าเหลือเกิน ก็คิดว่าวันนี้จะขอทำสมถะสักหน่อย พอกำหนดลมหายใจไปประมาณ ๒๘ ครั้ง จิตก็รวมพรึ่บลง ว่าง สงบ สว่างผ่องใส พอถอยออกจากสมาธิ จิตก็ย้อนเข้ารู้ความเครียดโดยอัตโนมัติ ความเครียดก็ขาดสะบั้นไปเองเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ


    พบเหตุการณ์ทำนองนี้หลายครั้งเข้า จิตที่เคยชินกับการเดินปัญญาก็ยังไม่หลาบจำ จนเมื่อประมาณปลายปี ๒๕๓๘ ได้ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เกี่ยวกับแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่ โดยกราบเรียนท่านว่า ผมเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เป็นปกติ ท่านพระอาจารย์เทสก์ฯ ก็บอกว่ามันสุดทางที่จะดำเนินไปแล้ว แต่นี่ผ่านมาหลายปี ผมยังไม่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้ ท่านอาจารย์มองหน้าอยู่อึดใจหนึ่งก็ตอบว่า


    "ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาแล้วด้วยตนเอง ที่ว่ามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ที่จิตนั้น มันรู้อยู่ไม่ได้นานหรอก ไม่มีอะไรดีกว่าการบริกรรม ให้บริกรรมกำกับเข้าไปที่ตรงรู้นั้นอีกทีหนึ่ง จึงจะผ่านจุดนี้ได้”


    รวมความแล้วก็คือ ผู้เขียนติดการเจริญปัญญาและไม่เห็นความสำคัญของกำลังสมาธิมาแต่ไหนแต่ไร กลายเป็นจุดอ่อนที่ต้องนำมาเตือนตนเองป็นประจำ


    ๑๐. กิเลสหลบใน


    นับตั้งแต่จิตของผู้เขียนหลุดพ้นชั่วคราวครั้งแรก ผู้เขียนก็จำขั้นตอนการบรรลุมรรคผลได้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นผู้เขียนก็ดูจิตเรื่อยมา วันหนึ่งจิตรวมลงไป ดับความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก เห็นความสว่างค่อยๆ ผุดขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์โผล่พ้นเมฆขึ้นมา หลังจากนั้น จิตก็อุทานขึ้นเบาๆ ว่า จิตไม่ใช่เรา จากนั้นจิตก็ถอนออกจากภาวะนั้น ผู้เขียนรู้ชัดว่า นี่จิตมันพยายามเลียนแบบอาการของจิตที่เคยเห็นมา สิ่งนี้เป็นมายาหลอกลวงของกิเลส


    แต่มีความแปลกประหลาดอันหนึ่งคือ จิตของผู้เขียนไม่ถูกกามราคะมาแผ้วพานอีก แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่า ด้วยภูมิธรรมของผู้เขียนจะสามารถละกามได้ ประกอบกับยังสังเกตเห็นความยินดีในรสอาหารอยู่ แสดงว่ากิเลสกามมันหลบซ่อนตัวอยู่เท่านั้น จึงคิดจะล่อให้มันออกมาจากที่ซ่อน โดยการไปหาหนังสือโป๊มาอ่าน ประมาณ ๗ วัน กามก็โผล่ตัวขึ้นมาให้เห็นอีก


    เมื่อนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็บอกว่า มันเป็นนิมิตเท่านั้น ดีแล้วที่ไม่เชื่อมัน และเมื่อนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์ ท่านยิ้มแล้วชมว่า ดีแล้วที่ไม่หลงเชื่อมัน


    การที่ผู้เขียนไม่ถูกกิเลสหลอกลวง ก็เพราะเคยรู้ปริยัติธรรมมาว่า ต้องระดับพระอนาคามีจึงจะละกามราคะได้ แล้วก็ใช้ความสังเกตจิตใจตนเองพบว่า กามราคะยังเหลืออยู่ในรูปของความพอใจในรส จากนั้นก็หาอุบายล่อลวงกิเลสให้ปรากฏตัวขึ้นมา


    ๑๑. ตกภวังค์ครั้งใหญ่


    ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ผู้เขียนจะนิยมการเจริญสติรู้ความเกิดดับของอารมณ์ เรื่องที่จิตจะน้อมไปหาความสงบนั้น ยากที่จะเกิดขึ้น แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งในราว ๑ เดือนก่อนจะเข้าพรรษาปี ๒๕๒๖ ผู้เขียนมีอาการตกภวังค์ตอนเวลา ดูจิตเมื่อใดก็ตกภวังค์เมื่อนั้น และตกแบบหัวซุกหัวซุน แม้จะยืนกำหนดหรือนั่งขัดสมาธิเพชรก็ยังตกภวังค์ พยายามกำหนดลมหายใจแรงๆ ก็ยังตกภวังค์ รวมความแล้วรู้สึกอับจนปัญญาที่จะแก้ไขอาการเช่นนี้ พอถึงวันอาสาฬหบูชา ผู้เขียนกับน้องชายในทางธรรม ได้เดินทางไปกราบหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้กราบขออุบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจนปัญญาจะช่วยตนเองแล้ว หลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตามองหน้าผู้เขียนแล้วยิ้มๆ กล่าวว่า


    "เป็นผู้รู้อย่างนี้แล้ว จะต้องถามใคร จะต้องสงสัยอะไร. อย่าสงสัยเลย ให้เร่งปฏิบัติไปเถิด แล้วจะได้ของดีในพรรษานี้แหละ"


    รวมความแล้วผู้เขียนก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับอาการของจิตคราวนั้นเลย แต่เมื่อเป็นคำของครูบาอาจารย์ ก็ต้องน้อมรับไว้ตามนั้น


    เช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเข้าพรรษา ผู้เขียนก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถทัวร์ ระหว่างทางก็ดูจิตบ้าง สนทนาธรรมกับน้องชายบ้าง อาการที่จิตตกภวังค์ก็เริ่มหายไปทีละน้อย พอรถทัวร์มาถึงสี่แยกหลักสี่ น้องชายพูดว่า จิตของผมรวมอีกแล้ว ฟังเท่านั้นจิตของผู้เขียนก็รวมลง เพราะมีปัญญาเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก จิตเข้าถึงความดับเพียงวับเดียว แล้วแสงสว่างก็ปรากฏขึ้น ความเบิกบานปรากฏขึ้น เป็นครั้งที่ ๒ นับแต่ปฏิบัติธรรมมา


    ผู้เขียนได้ความเข้าใจว่า ลักษณะนี้เองที่มีผู้รู้ธรรมขณะที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม แต่จนป่านนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ผู้เขียนจึงตกภวังค์ขนานใหญ่ และหลังจากวันนั้น ก็ไม่ตกภวังค์อย่างนั้นอีกเลย และผู้เขียนตระหนักชัดถึงญาณทัศนะอันแจ่มใสของหลวงปู่สิม มาตั้งแต่คราวนั้น


    ๑๒. พระอภิญญา



    เมื่อกล่าวถึงญาณทัศนะของหลวงปู่สิม พุทธาจาโรแล้ว ทำให้ผู้เขียนอดระลึกถึงพระอภิญญาองค์อื่นๆ ไม่ได้ การที่ผู้เขียนวนเวียนอยู่ตามสำนักครูบาอาจารย์สายพระป่านั้น ทำให้ได้พบเห็นและรู้จักพระอภิญญาหลายองค์ จึงตระหนักชัดไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อย เกี่ยวกับเรื่องอภิญญาในพระไตรปิฎก ทราบซึ้งแก่ใจว่า การจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับอภิญญาในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นอุบายดึงให้คนเคารพศรัทธาในพระศาสนา แต่เป็นการกล่าวความจริงล้วนๆ เพราะพระพุทธศาสนานั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็น่าเคารพศรัทธาเต็มเปี่ยมในจิตใจอยู่แล้ว ไม่ต้องนำเรื่องอภิญญาหรือปาฏิหารย์มาเป็นอุบายล่อให้คนศรัทธา และมีแต่ของจอมปลอมหลอกลวงเท่านั้น จึงต้องอาศัยอุบายล่อลวงให้คนนับถือ


    แต่เรื่องราวของพระอภิญญามีมาก ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมเท่านั้น เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่น่าจะได้รับฟังสาระประโยชน์บ้าง ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องสนุกๆ เท่านั้น


    มีช่วงหนึ่งประมาณสิบปีกว่ามาแล้ว ผู้เขียนหัดเข้าสมาบัติอันหนึ่งซึ่งค้นพบโดยไม่ได้ตั้งใจ คือในคราวแรกผู้เขียนกำหนดสติรู้อยู่ที่ผู้รู้ สักพักหนึ่งก็เห็นว่า น่าจะออกไปพิจารณาสิ่งภายนอกบ้าง จึงกำหนดสติรู้ออกไปที่ความว่างซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้า เมื่อกระแสของจิตเคลื่อนออกไปสู่ความว่าง แต่ยังไม่เกาะเข้ากับความว่าง ผู้เขียนก็ถอยกระแสจิตย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้อีก ขณะที่กระแสจิตจะจับเข้ากับจิตผู้รู้ ผู้เขียนก็ส่งกระแสนั้น ย้อนไปที่ความว่างอีก ย้อนไปมาเช่นนี้ ๒ - ๓ ครั้ง จิตก็หยุดอยู่ในระหว่างจิตผู้รู้กับอารมณ์ ไม่ยึดเกาะทั้งจิตและอารมณ์ ไปรู้อยู่บนความไม่มีอะไรเลย แล้วดำเนินผ่านอรูปฌานละเอียดมาก พลิกเข้าสู่สภาวะอันหนึ่ง ซึ่งเหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีความคิด ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา เป็นสภาพที่ว่างจากตัวตนและเวลา เมื่อจิตถอนออก ก็ย้อนกลับเข้าด้วยวิธีเดิมอีก ฝึกซ้อมหาความชำนาญในกีฬาทางจิตอยู่


    หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เขียนก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง กราบเรียนท่านถึงสิ่งที่กำลังเล่นอยู่ ท่านไม่ห้าม กลับกล่าวว่า


    "ฝึกไว้ให้ชำนาญเถอะ เวลานี้ไม่ค่อยมีใครเข้าสมาบัติอันนี้เท่าไรแล้ว"


    ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านว่า


    "ผมกลัวจะติดเหมือนกัน"


    ท่านตอบว่า


    "ไม่ต้องกลัว ถ้าติด อาตมาจะแก้ให้เอง"


    ผู้เขียนทราบเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ที่ต้องการให้สืบทอดเรื่องสมาธิต่างๆ จึงปฏิบัติเรื่อยมา เพราะทราบว่า อารมณ์ของสมาบัติชนิดนี้เอานิพพานเป็นอารมณ์


    ต่อมาอีกประมาณ ๑ เดือน ผู้เขียนไปสัมมนาที่เชียงใหม่ ตกค่ำมีงานเลี้ยง ซึ่งผู้เขียนจะหนีงานเลี้ยงทุกครั้งที่ทำได้เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก พอหลบออกจากงานได้ก็ตรงไปวัดสันติธรรม เพื่อกราบท่านอาจารย์ทองอินทร์ กุสลจิตโต พอลงจากรถสามล้อเครื่องที่หน้าประตูวัดก็เป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่มเศษ ที่หน้าประตูวัดมืดสนิท ผู้เขียนคุ้นเคยสถานที่ ก็เดินเข้าไปอย่างไม่ลังเล พอพ้นประตูวัดก็พบพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมายืนอยู่ในความมืด จึงไหว้ท่านแล้วเรียนถามว่า “ท่านอาจารย์ทองอินทร์อยู่หรือเปล่าครับ” ท่านก็ตอบว่า “อยู่ แต่ตอนนี้ท่านอาจารย์บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้ง มาพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่นี่ โยมไปหาท่านหน่อยสิ” ผู้เขียนก็เรียนท่านว่า “ผมไม่รู้จักท่านอาจารย์บุญจันทร์ เกรงจะเป็นการรบกวนเพราะค่ำมากแล้ว”


    จากนั้นผู้เขียนก็เข้าไปที่กุฏิท่านอาจารย์ทองอินทร์ สนทนาธรรมกับท่านประมาณชั่วโมงเศษ พอออกจากกุฏิก็ต้องแปลกใจที่พบว่าพระหนุ่มยังรออยู่ ทั้งที่อากาศนอกกุฏินั้น กำลังหนาวเย็นและมืดมาก ท่านกล่าวอีกว่า “ไปพบท่านอาจารย์บุญจันทร์สักหน่อยเถิด” ผู้เขียนลังเล ท่านก็ขยั้นขะยอ ผู้เขียนจึงเดินตามท่านไปที่กุฏิท่านอาจารย์บุญจันทร์ ขึ้นบันไดไปชั้นบน ท่ามกลางความมืดก็เห็นเงาตะคุ่มๆ ของท่านอาจารย์บุญจันทร์ ท่านนอนคลุมผ้าอยู่บนตั่งไม้หน้ากุฏิ ขณะนั้นอากาศหนาวมาก องค์ท่านก็สั่นมีอาการอาพาธ พระหนุ่มที่ขึ้นบันไดมาก่อนได้หลบเข้าห้องไป ผู้เขียนก็ก้มกราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพนอบน้อม ท่านถามเสียงดังว่า “ไง ปฏิบัติยังไง” ก็กราบเรียนถึงการฝึกเข้าสมาบัติ พอกล่าวจบก็ถูกท่านดุเอาทันทีว่า


    "นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะปฏิบัติยังไงอีก"


    ผู้เขียนคิดว่าท่านไม่เข้าใจ ก็กราบเรียนซ้ำอีก ท่านก็ดุอีกว่า


    "นิพพานอะไรอย่างนั้น มีเข้ามีออกอยู่อย่างนั้น เข้าใจไหม"


    ผู้เขียนนั้นจิตสว่างวาบออกมาเลย เพราะหมดความยึดถือสมาบัติ รู้ว่าถึงฝึกไปก็ไม่ช่วยให้เข้านิพพานได้จริง. และนับแต่นั้น ผู้เขียนก็ไม่อาจเข้าสมาบัตินั้นได้อีก


    พอจิตของผู้เขียนสว่างวาบขึ้น ท่านอาจารย์ก็แกล้งทดสอบผู้เขียนอีก โดยการหัวเราะออกมาดังๆ ผู้เขียนกำลังเบิกบานใจก็หัวเราะตามท่าน จู่ๆ ท่านกลับหยุดหัวเราะฉับพลัน ผู้เขียนก็หยุดตามท่านทันที จิตเป็นปกติราบเรียบลง ท่านว่า “เออ ใช้ได้ ไปได้แล้ว” ผู้เขียนก็กราบลาท่านลงมาจากกุฏิ ออกเดินจะไปหน้าวัด พระหนุ่มท่านก็รีบตามลงมา ระหว่างรอรถสามล้อเครื่องอยู่นั้น ก็คุยกันไปเรื่อยๆ พระหนุ่มท่านก็บอกว่า “ท่านอาจารย์สั่งไว้ให้มารอโยมตั้งแต่ตอนเย็น ยังไงๆ ก็ให้พาไปหาท่านให้ได้”


    ญาณทัศนะที่ท่านใช้คราวนี้คือ อนาคตังสญาณ หรือญาณหยั่งรู้อนาคต ไม่ใช่ญาณรู้วาระจิต เพราะท่านทราบตั้งแต่ก่อนที่ผู้เขียนจะคิดไปวัดสันติธรรม รวมกับญาณทัศนะพิเศษบางอย่างที่ทราบว่าจะอนุเคราะห์เวไนยสัตว์ผู้นี้ได้


    พระอภิญญาอีกองค์หนึ่งที่ผู้เขียนได้ประโยชน์จากท่าน และประทับใจมาก คือหลวงพ่อ หรุ่น สุธีโร ผู้เขียนพบท่านที่วัดบวรสังฆาราม หน้าเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ ตอนนั้นเป็นเวลาสายๆ หลังจากพระฉันอาหาร และฆราวาสรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต่างก็ออกจากศาลาแยกย้ายกันไปทำกิจของตน ผู้เขียนแปรงฟันหลังอาหารเสร็จแล้ว ก็เดินไปรอบๆ วัด พบเก้าอี้หินใต้ร่มไม้ข้างสระน้ำใหญ่ที่เพิ่งขุดใหม่ ก็คิดว่าน่าจะนั่งภาวนาที่นี่ ทันใดก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อหรุ่นตะโกนข้ามสระน้ำมาว่า


    "โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว"


    หันไปมองเห็นท่านกำลังจะแปรงฟัน มือหนึ่งถือขันน้ำ มือหนึ่งถือแปรงสีฟัน


    เดิมมานั้นผู้เขียนเห็นแต่อารมณ์ที่เกิดดับ ไม่เคยเห็นตัณหาละเอียดคือความอยากภาวนา นับแต่เมื่อท่านตะโกนบอกคราวนั้น ผู้เขียนก็เห็นตัณหาในจิตอย่างชัดเจน กระทั่งจิตอยากจะนั่งภาวนา ก็ยังเป็นตัณหาที่ต้องรู้และละเสีย การภาวนาจึงจะสะอาดหมดจด เพราะไม่ได้ปฏิบัติไปตามความอยาก แต่ปฏิบัติเพราะสมควรจะปฏิบัติเท่านั้น


    อีกคราวหนึ่งในปลายปี ๒๕๒๕ หรือต้นปี ๒๕๒๖ ผู้เขียนไปกราบหลวงปู่ดูลย์ หลังจากรายงานผลการปฏิบัติและฟังธรรมแล้ว หลวงปู่ไปสรงน้ำ ผู้เขียนก็เดินเล่นไปมาในบริเวณสนามหน้ากุฏิของท่าน บางทีก็แวะฟังน้องชายคุยกับพระอุปัฏฐากของหลวงปู่ แล้วจู่ๆ ผู้เขียนก็สัมผัสถึงกระแสบางอย่างที่ละเอียดอ่อน เยือกเย็น เป็นสุขอย่างยิ่ง หันไปมองที่ประตูกุฏิ ก็เห็นว่าหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว สวมอังสะออกมานั่งที่เก้าอี้โยกหน้ากุฏิ ท่านกำลังมองดูผู้เขียน ผู้เขียนก็ทราบว่า ท่านดูจิตใจของผู้เขียนอยู่ จึงเข้าไปกราบท่านอีกคราวหนึ่ง นับแต่นั้นมา ผู้เขียนก็สามารถรู้สภาวะจิตของผู้อื่นได้เหมือนสภาวะจิตของตนเอง น้องชายก็เลิกคุยกับพระอุปัฏฐาก ตามมานั่งหน้าหลวงปู่ด้วย เมื่อกราบท่านแล้วผู้เขียนก็นั่งสงบอยู่หน้าท่าน ท่านก็กล่าวว่า


    "ให้ปฏิบัติเสียให้จบในชาตินี้นะ"


    ผู้เขียนก็ถามท่านว่า


    "ผมจะทำให้จบในชาตินี้ได้หรือครับ"


    หลวงปู่ตอบเสียงเฉียบขาดว่า


    "จบ.. จบแน่นอน"


    คำกล่าวของท่านนี้ เป็นกำลังใจในยามเมื่อสิ้นท่านไปแล้ว และสิ้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งพาใกล้ชิดของผู้เขียน


    อีกคราวหนึ่งผู้เขียนไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง ท่านเมตตาให้พักที่กุฏิเก่าของท่าน ซึ่งมองทางหน้าต่างจะเห็นภาพในกุฏิใหม่ของท่านชัดเจน เพราะห่างกันไม่มากนัก ประมาณ ตี ๒ เศษๆ ผู้เขียนเห็นท่านเดินจงกรมท่ามกลางแสงสลัวๆ ก็เกิดความสงสัยว่า ท่านเดินจงกรมโดยวางมืออย่างใด ทันทีที่คิด ท่านก็เดินแกว่งแขนให้ดูทันที ผู้เขียนก็คิดได้ว่า ท่านสอนให้เราเจริญสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ รู้ความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ธรรมดานั่นเอง


    ผู้เขียนเคยพบเห็นพระอภิญญาอีกหลายองค์ บางองค์ทำอะไรได้แปลกๆ น่าอัศจรรย์ แต่ที่นึกได้และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของผู้เขียน และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็มีตามที่เล่ามานี้


    ๑๓. การดูจิตที่ผิดพลาด


    เมื่อแรกที่ผู้เขียนภาวนา ผู้เขียนจะรู้ความเกิดดับของอารมณ์ โดยระวังไม่ให้จิตเคลื่อนเข้าไปเกาะอารมณ์ เป็นการพยายามแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ออกจากกันเสมอๆ เมื่อสิ้นหลวงปู่ดูลย์ไปแล้ว ผู้เขียนก็ยังวนเวียนไปศึกษากับหลวงพ่อคืนเป็นประจำ วันหนึ่งหลวงพ่อคืนสอนผู้เขียนว่า ทำไมไม่ย้อนจิตมาหยุดอยู่กับ "รู้" มัวแต่ดู "สิ่งที่ถูกรู้" เมื่อใดจะจบได้ ผู้เขียนก็กำหนดสติย้อนเข้ามาดูผู้รู้-ผู้ดู แล้วก็เห็นว่า ผู้รู้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังมีผู้รู้ซ้อนเข้าไปอีกเป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะทวนเข้าไปเท่าใด ผู้รู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทุกที จนผู้เขียนเกิดอาการหัวหมุนติ้วๆ เพราะใช้กระแสจิตดันกลับหลังเข้ามาที่ผู้รู้อยู่ตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งผู้เขียนก็ทราบว่า วิธีนี้ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการจงใจละทิ้งอารมณ์ แล้วย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้ อันเป็นการกระทำด้วยตัณหา ไม่ใช่ด้วยปัญญาที่เห็นอารมณ์เป็นไตรลักษณ์ แล้วปล่อยวางอารมณ์และย้อนมารู้จิตผู้รู้เองตามธรรมชาติ ผู้เขียนได้ทราบว่า การเพ่งจ้องอารมณ์เป็นสมถะ แม้การเพ่งจ้องจิตผู้รู้ ก็เป็นสมถะอีกเช่นกัน


    ผลการปฏิบัติผิดคราวนั้น ส่งผลเสียหายร้ายแรงมาอีกนาน เพราะจิตมีความชำนาญในการจับเข้ามาที่ผู้รู้ จึงชอบมาหยุดอยู่ที่ผู้รู้ ในลักษณะเหมือนวิ่งเข้ามาในป้อมปราการ ยิ่งกว่าจะออกไปเรียนรู้ เพื่อปล่อยวางอารมณ์ที่จิตยึดมั่นถือมั่น


    แท้จริงการดูจิตไม่มีอะไรมาก เพียงแต่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ ก็พอแล้ว รู้อยู่ตรงที่รู้นั่นแหละ ถ้าจิตเป็นกลางจริง จะสังเกตเห็นจิตผู้รู้แทรกอยู่ตรงนั้นเอง เมื่อเห็นบ่อยๆ แล้ว ต่อไปก็ชำนาญ สามารถเห็นจิตผู้รู้ได้เสมอๆ


    ตัวอย่างเช่น ขณะนี้กำลังเกิดความสงสัยในหลักการปฏิบัติ เพราะไม่ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรดี วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การรู้เข้าไปที่อารมณ์สงสัยที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นว่า ความสงสัยกำลังถูกรู้ แล้วก็จะรู้จักจิตผู้รู้ได้ หรือถ้าดูอารมณ์ภายในจิตไม่ออก ก็ลองมาดูอารมณ์ทางกาย เช่นระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยจิตใจที่สบายๆ แล้วเห็นว่า ลมหายใจกำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่ ก็จะรู้จักจิตผู้รู้ ผู้ดูขึ้นมาได้โดยง่าย


    ธรรมชาติของกิเลสนั้น มันมักจะมาล่อหลอกให้เราทิ้งจิตผู้รู้ อันเป็นแก่นสารสาระของการปฏิบัติเสีย แล้วหลงคิดไปตามความปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส ถ้าเรารู้ทันลูกเล่นของกิเลสอย่างนี้แล้ว เราก็อย่าหลงเชื่อกิเลส ทิ้งจิตผู้รู้ออกไปคิดค้นคว้าสิ่งต่างๆ ตามใจกิเลส ตัวอย่างเช่นเมื่อมีความสงสัยในวิธีการปฏิบัติเกิดขึ้นมา แทนที่เราจะรู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้น แล้วดูมันจนมันดับไปเอง เรากลับพยายามคิดค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อจะแก้ความสงสัยนั้น การหลงคิดค้นไปนั้นเอง คือการหลงกลกิเลส เพราะเราลืม "รู้" ไปเสียแล้ว มีแต่ คิด คิด คิด เรื่อยไป


    การคิดเรื่อยไปนั้น ให้เราได้แค่ความรู้ความเข้าใจในระดับ "สัญญา" แต่การรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งตัวความสงสัยเอง กลับเป็นหนทางให้ได้มาซึ่ง "ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา" เพราะปัญญาทางพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรมาก เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ล้วนแต่ต้องดับไปทั้งสิ้น ปัญญาแค่นี้ก็พอจะพาให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์แล้ว เนื่องจากพอเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็นไตรลักษณ์ จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เมื่อจิตปล่อยวาง ไม่ดีดดิ้นวิ่งโลดไปตามอารมณ์ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย


    ผู้ปฏิบัติบางคนคิดว่า ให้รู้เฉยๆ นั้น มันน้อยไป กลัวจะโง่หรือไม่พ้นทุกข์ จึงพยายามคิดเพื่อสนองความอยากรู้ โดยไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว "รู้" กับ "คิด" เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้"


    การเพ่งจ้องใส่อารมณ์ หรือจิตผู้รู้นั้น ผิดตรงที่ผู้ปฏิบัติหลง "เพ่ง" อยู่ ส่วนการคิดไปตามแรงขับของกิเลส ก็ผิดตรงที่ "เผลอ" ไปตามแรงชักจูงของกิเลส ผู้ดูจิต มักผิดพลาดตรงนี้แหละ คือถ้าไม่เพ่ง ก็เผลอ ไม่ใช่การรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลางที่แท้จริง แต่ยังบังคับจิตบ้าง ปล่อยจิตให้เลื่อนไหลตามกิเลสไปบ้าง


    พระพุทธจ้าท่านสอนทางสายกลาง คือไม่หย่อนด้วยกาม และไม่ทรมานตนเอง การเผลอไปตามอารมณ์ก็เสมือนหลงในกาม การเพ่งบังคับจิตก็เหมือนการทรมานตนเอง หากดำเนินจิตด้วยทางสายกลาง และเป็นกลางจริงๆ จึงต้องทั้งไม่เผลอ และไม่เพ่ง


    ๑๔. การพิจารณารูป


    ผู้เขียนมีปกติชอบดูจิต อันเป็นการเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ในส่วนที่เป็นเวทนาทางใจ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ถนัดในการพิจารณารูปกาย อันเป็นส่วนของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ในส่วนที่เป็นเวทนาทางกาย) เพราะผู้เขียนเห็นว่า รูปเป็นของหยาบ รู้เห็นง่าย ไม่เหมือนกับการดูจิตที่เป็นของละเอียด มีอะไรแปลกๆ ให้ศึกษามากมาย ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญในด้านการพิจารณากายเท่าที่ควร


    คราวหนึ่งขึ้นไปนมัสการหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ได้กรุณาตักเตือนว่า จิตเป็นของละเอียด ส่วนกิเลสเป็นของหยาบ อยู่นอกๆ นี่ ถ้าดูจิตอย่างเดียว เวลาพบกิเลสหยาบจะสู้ไม่ไหว ผู้เขียนก็น้อมรับคำสอนของท่านกลับมาปฏิบัติที่บ้าน โดยกำหนดจิตพิจารณาเส้นผม พอจิตกระทบเส้นผมเส้นผมก็หายไปทันทีเหลือเพียงหนังศีรษะ พอดูเข้าไปที่หนังศีรษะก็ทะลุถึงกระโหลก พอดูเข้าที่กระโหลก คราวนี้เห็นกระดูกทั้งร่างนั่งขัดสมาธิอยู่ ยังไม่ทันจะพิจารณาอย่างใด กระดูกก็แตกเปรี๊ยะๆ กลายเป็นเม็ดเล็กๆ ใสๆ เหมือนก้อนกรวดแล้วสลายหายไปหมด เหลือแต่จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่อย่างเดียวเท่านั้น รวมความแล้ว ผู้เขียนไม่สามารถพิจารณากายได้ดังที่ตั้งใจไว้ เพราะจิตทิ้งกายเข้ามาพิจารณาจิตอย่างรวดเร็วมาก


    ผู้เขียนได้กราบเรียนเรื่องนี้กับหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็กรุณาอธิบายว่า จริตของคนเราไม่เหมือนกัน การปฏิบัติจึงแตกต่างกัน การจะพิจารณากาย หรือพิจารณาสิ่งใดๆ ก็ตาม ก็เพื่อให้สามารถย้อนเข้ามารู้อยู่ที่จิต เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะย้อนออกไปหาสิ่งภายนอกอีกทำไม ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ไม่กังวลถึงการพิจารณากายอีก เพราะไม่ถูกจริตของผู้เขียน แต่ผู้เขียนจะมีสติรู้กายอยู่ตามปกติ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม และพูดจา


    ๑๕. การพิจารณานาม


    ผู้เขียนมีปกติชอบพิจารณาหรือระลึกรู้ นาม อันประกอบด้วยเวทนาทางใจได้แก่ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข และเป็นกลาง สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งของจิต ที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นกลางบ้าง และวิญญาณคือความหยั่งรู้อารมณ์ทาง ตา หู … ใจ และจิตที่เป็นผู้รู้อารมณ์ทั้งปวง


    ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปนมัสการหลวงพ่อเทียน ที่วัดสนามใน ขณะนั้นท่านกำลังสอนญาติโยมจำนวนมากให้เคลื่อนไหวมือ ผู้เขียนกำหนดจิตดูก็พบว่า นอกจากหลวงพ่อเทียนแล้ว ผู้อื่นไม่มีใครมีความรู้ตัวจริงเลย มีแต่ส่งจิตไปอยู่ที่มือ คิดแต่เรื่องการเคลื่อนไหวมือเท่านั้น


    ผู้เขียนจึงเลี่ยงออกไปนอกศาลา ไปนั่งบนเก้าอี้ใต้ต้นไม้ แล้วดูจิตไปตามที่เคยทำมา เพียงครู่เดียวจิตก็รวมลงถึงภวังคจิต ต่อมาจิตเกิดความรับรู้ขึ้นมาในท่ามกลางความว่างเปล่า จิตก็เอาความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ เข้าคู่อยู่กับความว่างเปล่า จิตไม่รู้จักย้อนเข้ามาดูจิต มีแต่ดูออกไปภายนอก แล้วความคิดปรุงแต่งก็ผุดขึ้นจากความว่าง เหมือนงูที่เลี้อยออกจากรู แต่ขณะนั้นไม่ทราบว่าคิดเรื่องอะไร เพราะปราศจากสัญญา เมื่อใจสัมผัสเข้ากับความคิด ก็เกิดวิญญาณทางใจขยายตัววูบออกปิดบังความว่างไว้ วิญญาณแผ่ออกกระทบรูป รูปก็ปรากฏ แผ่ออกกระทบนาม นามก็ปรากฏ แล้วความมีอยู่ของขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ ก็ปรากฏ


    เมื่อรูปนามของผู้เขียนปรากฏแล้ว ผู้เขียนก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทต่อไปจนตลอดสาย จนรู้ชัดว่า เมื่อจิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนเมื่อใด จิตก็เป็นทุกข์เพราะความเป็นตัวตน เมื่อนั้น แล้วเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเพราะความไม่สมอยากในอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า โดยมีการทำงานไปตามลำดับดังนี้


    ในเวลาที่ตากระทบรูป ก็จะเห็นวิญญาณหยั่งลงทางตา แล้วจิตจึงรู้อารมณ์ทางตา คล้ายกับเมื่อมีแมลงมากระทบใยแมงมุม ความสั่นสะเทือนของใย ทำให้แมงมุม(จิต) รู้ถึงสิ่งที่มากระทบ โดยก่อนการกระทบนั้น แมงมุมนอนหลับเงียบอยู่ เหมือนจิตที่ตกภวังค์เงียบอยู่ พอมีสิ่งเร้าแล้ว จิตก็ไหวตัวขึ้นจากภวังค์ แล้วส่งออกไปรับรู้สิ่งที่มากระทบนั้น เหมือนแมงมุมวิ่งออกไปจับแมลงที่มากระทบใยกินเป็นอาหาร คือจิตวิ่งเข้าไปเสวยอารมณ์นั้น รู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ บ้าง เมื่อมีความรู้สึกหรือเวทนาแล้ว จิตก็เกิดความทะยานอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น แล้วเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์ เกิดความเป็นตัวตนของจิตขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ต่อไป


    ในช่วงนั้น ผู้เขียนเห็นว่า จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งแยกออกจากขันธ์ กระทั่งนามขันธ์ เพราะมองเห็นจิตอยู่โทนโท่ (แต่ไม่ได้เห็นเป็นรูป มันเป็นความรู้สึกของตัวสิ่งที่รู้อารมณ์ และเสวยอารมณ์ได้เท่านั้น) และพบว่าจิตไม่ใช่เวทนา สัญญา สังขาร หรือกระทั่งวิญญาณ โดยเฉพาะวิญญาณนั้นมีความคล้ายกันในหน้าที่รู้อารมณ์ แต่ทำงานต่างจากจิต คือมันเป็นความรับรู้ทางอายตนะเท่านั้น แต่จิตเป็นทั้งผู้คิด ผู้นึก ผู้ตัดสินและเสวยอารมณ์ (ความรู้ความเข้าใจนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างในภายหลัง)


    ๑๖. พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้


    ผู้เขียนมีวาสนาได้ศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่ดูลย์เพียงปีเศษ และได้ไปกราบท่านครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน ๒๕๒๖ เป็นเวลาเพียง ๓๖ วันก่อนท่านจะละขันธ์ ผู้เขียนได้ฟังธรรมของท่านในช่วงเย็น จนกระทั่งค่ำ สังเกตเห็นว่าหลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ถึงขนาดเริ่มหอบนิดๆ เห็นสมควรแก่เวลาแล้วก็ลงกราบท่าน เรียนท่านว่าจะลากลับเพราะท่านเหนื่อยมากแล้ว หลวงปู่ผู้มีวัยกว่า ๙๖ ปี กลับมองหน้าผู้เขียนแล้วกล่าวว่า "จะกลับหรือ"


    แล้วไม่อนุญาตให้กลับ แต่กล่าวธรรมต่อไปอีก ด้วยธรรมที่แปลกประหลาด ไม่เคยได้ยินได้ฟัง กระทั่งคิดมาก่อน คือท่านกล่าวว่า


    "พบผู้รู้แล้ว ให้ทำลายผู้รู้ จิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง"


    ท่านสอนอีกว่า


    "ถ้าเมื่อใดเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยปัญญา ว่าจิตไม่ใช่จิต เธอจะเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งนั้นได้ในพริบตาเดียว"


    ท่านถามว่า เข้าใจไหม ก็กราบเรียนท่านว่า ผมจำได้แล้ว แต่ไม่เข้าใจ จะขอลองนำกลับไปปฏิบัติดูก่อนครับ หลวงปู่กล่าวว่า


    "ดีแล้ว เอ้า ไปได้แล้ว"


    ตอนที่กราบลาท่านนั้น ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า จะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านอีกแล้ว


    วันรุ่งขึ้นผู้เขียนแวะไปกราบหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน โคราช อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตลอดมาเมื่อไปกราบหลวงปู่ดูลย์ที่สุรินทร์ เมื่อหลวงพ่อเห็นผู้เขียนก็ร้องทักว่า


    "เอ้าว่าอย่างไรนักปฏิบัติ คราวนี้หลวงปู่สอนอะไรให้อีกล่ะ"


    ก็กราบเรียนว่า หลวงปู่สอนว่า พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ หลวงพ่อพุธทวนคำสอนของหลวงปู่ว่า


    "อือ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ อันนี้เป็นสุดยอดของกรรมฐานแล้ว เมื่อไม่กี่วันนี้หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่ ท่านก็กล่าวกับหลวงพ่อว่า..เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ ก็เพียงเท่านี้เอง"


    แล้วหลวงพ่อก็ขยายความให้ฟังว่า


    "การทำลายผู้รู้ ก็คือการไม่ยึดมั่นในตัวผู้รู้"


    จากนั้นท่านก็แสดงธรรมเรื่องอื่นๆ ต่อไป ก่อนที่ผู้เขียนจะลากลับ ท่านได้มอบหมายงานให้เรื่องหนึ่ง คือสั่งว่า


    "หลวงพ่ออยากให้คุณเขียนประสบการณ์การปฏิบัติของคุณเองออกเผยแพร่”


    ท่านให้เหตุผลว่า


    "หลวงพ่อเป็นพระ ติดด้วยพระวินัย จะกล่าวธรรมที่ลุ่มลึกนักก็ไม่ได้ คนที่เขามีจริตนิสัยแบบคุณ และเป็นผู้มีอุปนิสัยยังมีอยู่ ถ้าเขาได้ฟังแล้ว เขาอาจจะทำตามได้ต่อไป"


    หลายปีต่อมาผู้เขียนจึงเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่เคยฟังธรรมเรื่องการทำลายผู้รู้มาก่อน ผู้เขียนคงไม่มีปัญญาผ่านด่านสุดท้ายที่พระอนาคามีพากันไปติดอยู่ได้ สิ่งที่หลวงปู่สอนไว้นั้น เป็นมรดกธรรมที่จะต้องเอาไว้ใช้ในอนาคต ไม่ใช่ธรรมที่จะสามารถปฏิบัติได้ในขณะนั้น นับเป็นความเมตตา และความละเอียดรอบคอบของครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง ที่มอบมรดกธรรมชิ้นนี้ไว้ให้ในนาทีสุดท้ายที่จะลาจากท่าน และไม่ได้พบกันอีกแล้วในสังสารวัฏนี้


    ;k03
     
  2. minijung

    minijung เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2013
    โพสต์:
    139
    ค่าพลัง:
    +162
    สาธุ กระทู้นี้ดีมากๆครับ
     
  3. กล่องไม้ขีดไฟ

    กล่องไม้ขีดไฟ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤศจิกายน 2015
    โพสต์:
    2,859
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,815
    สาธุครับ ทราบมาว่าหลวงพ่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

    จริงไม่ครับ?

    ขอให้หายๆไวๆนะครับ...

    ....
     
  4. Prasit5000

    Prasit5000 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    301
    ค่าพลัง:
    +228
    ....ผมเคยปฏิบัติ ตามซีดีที่ท่านเผยแพร่ ก็ทำได้ตามนั้น นับว่ามีประโยชน์มาก ถึงแม้บางอย่าง ผมยังค้านอยู่ แต่ก็ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ ใครก็ตามที่คิดจะศึกษา สติปัฎฐานสี่

    ...เมื่อเริ่มต้นได้แล้วก็ควรศึกษาพระไตรปิฏกเทียบเคียง เกิดมาทั้งทีพบของดีแล้วอย่าให้เสียของ
     

แชร์หน้านี้

Loading...