เรื่องเด่น มิจฉาสมาธิ-สัมมาสมาธิ ( อบรมโดยหลวงตาพระมหาบัว ฯ )

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 8 สิงหาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    มิจฉาสมาธิ-สัมมาสมาธิ
    1557.jpg
    เราเป็นนักบวชและเป็นผู้งดเว้นทุกอย่าง บรรดาที่เป็นข้าศึกต่อตนเองและส่วนรวม ท่านจึงให้นามว่า นักบวช แปลว่า ผู้งดเว้น คำว่า เว้น ในที่นี้หมายความว่า เว้นสิ่งที่เป็นข้าศึกที่จะทำให้เราเสีย จงสังเกตคำว่า นัก ถ้าขึ้นหน้าด้วยคำว่า นัก แล้วต้องเลื่องลือ เช่นคำว่านักเลง นักปล้นจี้ เป็นต้น ต้องเป็นคนเสียหายอย่างลือนาม ถ้าเป็นทางดี เช่น นักปราชญ์ นักบวช นักปฏิบัติ ย่อมเป็นไปเพื่อความดีเด่นเป็นส่วนมาก เฉพาะที่นี่จะอธิบายเกี่ยวกับนักบวช ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่งดเว้นสิ่งที่เป็นอกุศล และบำเพ็ญสิ่งที่เป็นกุศล คือความฉลาดเข้าให้มากเท่าที่จะมากได้ จนพอตัวแล้วก็ข้ามอุปสรรคคือกองทุกข์เสียได้ เพราะฉะนั้น เราทุกท่านบัดนี้ได้ทราบแล้วว่าเราเป็นนักบวช โลกก็ให้นามว่าเป็นนักบวช จงทำความรู้สึกในเพศของตนตลอดเวลาและทุกๆ อาการที่เคลื่อนไหวทางกาย วาจา ใจ

    เราบวชในพระศาสนามีพระโอวาทเป็นเครื่องปกครอง พระโอวาทมีทั้งรั้วกั้น มีทางเดิน รั้วกั้น คือพระวินัย ปรับโทษแห่งความผิดไว้เป็นชั้น ๆ อย่างหนักก็มี อย่างกลางก็มี อย่างเบาก็มี นี่คือรั้วกั้นทางผิดไม่ให้ปลีกออก และเปิดทางที่ถูกไว้คือพระธรรมเพื่อดำเนินไปสู่จุดประสงค์ที่มุ่งหวัง พระวินัยเป็นรั้วกั้นสองฟากทาง ถ้าแยกออกไปแล้วแสดงว่าผิด แยกออกน้อยก็ผิดน้อย แยกออกมากก็ผิดมาก แยกออกไปจนถึงไม่กลับเข้าสู่ทางเลย ก็แสดงว่าผิดไปเลย เหมือนคนหลงทาง ถ้าหลงน้อยก็วกกลับเข้ามาได้เร็ว ถ้าหลงมากก็ทำให้เสียเวลานาน ยิ่งหลงไปเสียจริง ๆ ก็ไม่มีโอกาสจะถึงจุดประสงค์

    เพราะฉะนั้น เรื่องของพระวินัยจึงเป็นเหมือนรั้วกั้นความผิดของผู้เป็นนักบวช เป็นชั้น ๆ ตามฐานะของนักบวชและฆราวาสจะปฏิบัติรักษาตามหน้าที่ของตน ในศีลนับแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ส่วนพระธรรมเป็นทางเดิน มีศรัทธาความเชื่อเป็นภาคพื้น ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว คือเชื่อในทางดำเนินเพื่อผลอันดี วิริยะเพียรไปตามทางนั้นเสมอไม่ลดละ สติเป็นผู้ประคองความเพียรของตนในเวลาเดินทาง สมาธิความมั่นคงของใจต่อการเดินทาง และเป็นเสบียง คือความสงบสุขของใจระหว่างปลายทาง และปัญญา ความรอบคอบในการเดินทางเป็นลำดับไป ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง

    ธรรมที่กล่าวมาทั้งนี้ เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราเดินถูกทาง เมื่อเป็นผู้มีธรรมทั้ง ๕ ข้อ คือ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ สติ และปัญญา ประจำตนเสมอแล้ว จุดหมายปลายทางซึ่งเป็นตัวผลเรามิต้องสงสัย จะต้องปรากฏขึ้นเป็นผลตอบแทนให้รู้ประจักษ์ใจของเราตามกำลังความสามารถของตน ถ้าอบรมธรรมทั้ง ๕ นี้แก่กล้าภายในใจแล้ว จุดหมายปลายทางที่พระองค์ประกาศผลเอาไว้ได้แก่ วิมุตติพระนิพพาน จะหนีจากทางดำเนินนี้ไปไม่ได้ เพราะคำว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต่างก็มุ่งต่อผลนั้นอยู่แล้ว

    ขอให้ท่านนักปฏิบัติจงพยายามบำรุงศรัทธาความเชื่อในธรรม และสมรรถภาพคือความสามารถของตนเอง วิริยะเพียรให้พอ สมาธิความสงบจะปรากฏเป็นผลขึ้น และพยายามบำรุงสมาธิให้เพียงพอ สติกับปัญญาเป็นพี่เลี้ยง ผลจะปรากฏขึ้นเป็นที่พึงพอใจแก่ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เราไม่ต้องเป็นอารมณ์ข้อข้องใจว่า มรรค ผล นิพพาน จะมีอยู่ในที่แห่งใด จงพยายามบำรุงเหตุที่ได้อธิบายมานี้ให้เพียงพอ ผลซึ่งจะเกิดขึ้นจากเหตุนั้นจะไม่มีอะไรบังคับไว้ได้

    ในธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ คือหลักธรรมทางดำเนิน เรียกว่า อินทรีย์ ๕ หรือ พละ ๕ ก็ได้ อินทรีย์ความเป็นใหญ่ พละคือกำลัง ฝ่ายพระวินัยเป็นรั้วกั้นสองฟากทางซึ่งจะเป็นเหตุให้ผิดต่อทางดำเนินเพื่อมรรค ผล นิพพาน พระพุทธเจ้าทรงกั้นไว้รอบด้าน แล้วทรงเปิดทางคืออินทรีย์ ๕ ให้ดำเนินจนเพียงพอแก่ความต้องการ

    กายวิเวก ความสงัดแห่งกาย ในสถานที่อยู่อาศัย ที่ไปที่มาตามบริเวณที่อยู่นี้ นับว่าเป็นสัปปายะ ความสบายพอสมควร จิตวิเวก ท่านผู้มุ่งให้เป็นไปเพื่อความสงัดภายในตามขั้นแห่งความสงบของตน ก็มีประจำจิตของท่านผู้บำเพ็ญพอสมควร ส่วนผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ๆ ยังไม่ได้จิตวิเวกภายในใจ จงพยายามบำรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้มีกำลัง ความวิเวกภายในค่อยปรากฏขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่ได้รับความวิเวกภายในพอประมาณแล้ว จงพยายามส่งเสริมให้มีความละเอียดเข้าเป็นลำดับ พร้อมทั้งปัญญาความรอบคอบในความวิเวกของตน และผู้มีธรรมยิ่งกว่านั้น จงรีบเร่งตักตวงความเพียรด้วยปัญญาให้เพียงพอ จะปรากฏเป็นอุปธิวิเวก ความสงัดจากกิเลสโดยสิ้นเชิงประจักษ์ใจขึ้นมาก

    กายวิเวกความไม่วุ่นวายกับสิ่งภายนอก เที่ยวหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด และไม่คว้าหาการงานมาเป็นเครื่องรบกวนกาย จนกลายเป็นโรงงานขึ้นในสถานที่อยู่และที่อาศัยชั่วคราว โดยถือการงานเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนาและการอาชีพของนักบวช ซึ่งเห็นอยู่ในที่ทั่วไป จนหมดความสนใจในความเพียรทางใจ ซึ่งเป็นกิจของนักบวชแท้ จิตวิเวก ความสงัดของจิต ที่มีความเพียรทางใจเป็นพี่เลี้ยงตามรักษา ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับสิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัส รั้งจิตใจให้ดำรงอยู่ในความสงบได้ด้วยความระวังสำรวมตลอดเวลา ตามธรรมดาของจิตวิเวก แม้สิ่งภายนอกจะไม่มารบกวน แต่ภายในจิตก็ยังต้องมีอารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อใจอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ชื่อเพียงจิตวิเวก ความสงัดจากอารมณ์เครื่องก่อกวนภายนอก

    ส่วนอุปธิวิเวก หมายถึง ความสงัดจากสิ่งภายนอก มีรูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้นด้วย สงัดจากอารมณ์ภายในที่เป็นข้าศึกแก่ใจโดยเฉพาะด้วย คือหมดทั้งสิ่งที่เป็นข้าศึกภายนอก หมดทั้งสิ่งที่เป็นข้าศึกภายใน เป็นความสงัดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรแทรกสิงใจแม้แต่น้อย เป็นอุปธิวิเวก ความสงัดจากกิเลสตลอดเวลา แม้จะกระทบอารมณ์จากสิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัส หรือขันธ์จะทำงานตามหน้าที่ของตน ก็ไม่ซึมซาบถึงใจให้ได้รับความลำบาก

    ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกายวิเวกและจิตวิเวกเป็นบาทฐานสำคัญ ธรรมทั้งสามประเภท คือ กายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวกนี้ เป็นธรรมที่ควรแก่ความสามารถของนักปฏิบัติจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ขึ้นในตนได้ทุก ๆ คน โดยไม่มีอะไรมากีดขวาง ขออย่างเดียวแต่อย่าละความเพียรพยายาม จงเป็นผู้อาจหาญร่าเริงต่อสถานที่อยู่ที่อาศัยซึ่งเป็นที่เปลี่ยว ๆ สงัดวิเวกวังเวง และเป็นสถานที่ที่จะปลดเปลื้องความโง่ต่อตัวเองเสียได้โดยสิ้นเชิง ที่ทั้งนี้พระองค์กับบรรดาสาวกได้เสด็จผ่านไปแล้วจนถึงแดนแห่งนิพพาน ที่ดังกล่าวยังจะกลับแปรสภาพมาเป็นข้าศึกต่อพวกเราผู้ดำเนินตามเยี่ยงอย่างของพระองค์ท่านจะมีอย่างหรือ

    จงอย่าพากันห่วงใยในชีวิต ว่าจะทอดทิ้งร่างกายในสถานที่เช่นนั้น หากจะเป็นเช่นนั้นได้จริงแล้ว พระองค์ต้องทรงเปลี่ยนอนุศาสน์จากคำว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ การอยู่ป่าไปเป็นอื่นให้สมกับพระเมตตาที่มีต่อบรรดาสัตว์ทั้งมนุษย์และเทวดาโดยตลอด อนึ่ง ถ้าผู้อยู่ในที่สงัดวิเวกด้วยความเพียรตามแบบพระองค์สอน ผลจะกลายเป็นอื่นไปจากผลที่ชอบธรรมซึ่งประทานแล้ว พระองค์ก็ต้องดัดแปลงแก้ไขบทธรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสมัย และสถานที่นิยม ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งเป็นเหมือนพระหทัยวัตถุของพระองค์ที่ประทานไว้ชอบแล้ว ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยพระองค์โดยสิ้นเชิง

    art_302357.jpg
    ธรรมทั้งนี้ยังคงเส้นคงวาโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงจากพระองค์ท่าน เราผู้ปฏิบัติจึงควรดัดกาย วาจา ใจของตนเข้าสู่ธรรม ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดัดแปลงธรรมให้เป็นไปตามอำนาจของใจที่มีกิเลส จะกลายเป็นพระเทวทัตขึ้นมาที่กาย วาจา ใจดวงนั้น ศาสดาคือพระโอวาทอันชอบธรรมก็จะสูญเสียไปจากเราโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก ฉะนั้น จงพยายามทางความเพียรตามธรรมที่ทรงประทานไว้ มีความอาจหาญต่อสู้สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจ ทั้งที่เกิดขึ้นจากภายนอก และเกิดขึ้นจากภายใน ทั้งผลที่ปรากฏขึ้นมาให้ได้รับความทุกข์ว่าเกิดขึ้นจากไหน และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ด้วยความสนใจของตนตลอดเวลา อย่าทอดธุระ อย่ามีความระอา จงพยายามให้รู้เหตุรู้ผลของสิ่งที่มากระทบหรือเกี่ยวข้องกับใจ จนถึงกับเป็นผลให้ใจได้รับความทุกข์ขึ้นมา จนเห็นได้ชัดในตัวเหตุผลก็เป็นสิ่งจะทราบชัดในขณะเดียวกัน

    ข้อสำคัญที่สุดที่ได้เทศน์ในวันใดก็ดี และเป็นธรรมที่แนบสนิทอยู่กับใจของผู้เทศน์ตลอดเวลา คือ สติกับปัญญา นี่เป็นธรรมสำคัญมาก ถ้าได้ขาดสติกับปัญญาแล้วผลจะขาดวรรคขาดตอน การก้าวแห่งความเพียรก็จะขาดวรรคขาดตอนไม่สม่ำเสมอ แม้อุบายความฉลาดที่จะปรากฏขึ้นเป็นเครื่องแก้กิเลสก็ขาดลงเป็นลำดับ และผลคือความสงบสุขก็ขาดวรรคขาดตอนไปตาม ๆ กัน ถ้าสติกับปัญญาได้ขาดวรรคขาดตอนไปแล้ว พึงทราบว่าความเพียรทุกประโยคได้ขาดวรรคขาดตอนไปในขณะเดียวกัน ฉะนั้น โปรดได้ทราบไว้ทุก ๆ ท่านด้วย และทุกครั้งที่เทศน์ไม่เคยเว้น สติกับปัญญาแทบจะกล่าวได้ว่าออกหน้าออกตาว่าบรรดาธรรมทั้งหลาย

    เพราะได้พิจารณาแล้วเต็มกำลัง นับแต่ได้เริ่มปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยเห็นธรรมบทใดหมวดใดที่ยิ่งไปกว่าสติปัญญา ซึ่งจะสามารถรื้อฟื้นสิ่งลี้ลับอยู่ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี ให้ประจักษ์แจ้งขั้นมาภายในใจ ดังนั้นจึงได้นำธรรมทั้งสองประเภทนี้มาแสดงแก่บรรดาท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ถ้าเป็นไม้ก็แก่น หรือรากแก้วของต้นไม้ เป็นธรรมก็รากเหง้า หรือเครื่องมือที่สำคัญสำหรับแก้กิเลสอาสวะ นับตั้งแต่หยาบถึงละเอียดยิ่งให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ถ้าได้ขาดสติไปเสียเพียงจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งได้ขาดปัญญาไปเสียด้วยแล้ว แม้สมาธิก็จะกลายเป็นมิจฉาสมาธิไปได้ เพราะคำว่า สมาธิ นั้นเป็นคำกลาง ๆ ยังไม่แน่ว่าเป็นสมาธิประเภทใด ถ้าขาดปัญญาเป็นพี่เลี้ยงต้องกลายเป็นสมาธิที่ผิดจากหลักธรรมไปได้โดยไม่รู้สึกตัว

    คำว่ามิจฉาสมาธินั้นมีหลายชั้น ชั้นหยาบที่ปรากฏแก่โลกอย่างชัดเจนก็มี ชั้นกลาง และชั้นละเอียดก็มี ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะมิจฉาสมาธิในวงปฏิบัติซึ่งปรากฏขึ้นกับตนเองโดยไม่รู้สึกตัว เช่นเข้าสมาธิจิตรวมลงแล้วพักอยู่ได้นานบ้าง ไม่นานบ้าง จนถอนขึ้นมา ในเวลาจิตถอนขึ้นมาแล้วยังมีความติดพันในสมาธิ ไม่สนใจทางปัญญาเลย โดยถือว่าสมาธิจะกลายเป็นมรรค ผล นิพพานขึ้นมาบ้าง ยังติดใจในสมาธิอยากให้รวมอยู่นาน ๆ หรือตลอดกาลบ้าง จิตรวมลงถึงที่พักแล้วถอนขึ้นมาเล็กน้อย และออกรู้สิ่งต่าง ๆ ตามแต่จะมาสัมผัส แล้วเพลินติดในนิมิตนั้น ๆ บ้าง บางทีจิตลอยออกจากตัวเที่ยวไปสวรรค์ชั้นพรหม นรก อเวจี เมืองผี เมืองเปรตต่าง ๆ จะถูกหรือผิดไม่คำนึง แล้วก็เพลินในความเห็น และความเป็นของตนจนถือว่าเป็นมรรคผลที่น่าอัศจรรย์ของตน และของพระศาสนาด้วย ทั้งนี้แม้จะมีท่านที่มีความรู้สามารถในทางนี้มาตักเตือนก็ไม่ยอมฟังเสียเลย เหล่านี้เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก

    ส่วนสัมมาสมาธิเล่าเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติวิธีใดจึงจะเป็นไปเพื่อความถูกต้อง ข้อนี้มีผิดแปลกกันอยู่บ้าง คือ เมื่อนั่งทำสมาธิจิตรวมลงพักอยู่ จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม และจะพักอยู่ได้นานหรือไม่นาน ข้อนี้ขึ้นอยู่กับสมาธิประเภทนั้น ๆ ซึ่งมีกำลังมากน้อยต่างกัน จงให้พักอยู่ได้ตามขั้นของสมาธินั้น ๆ โดยไม่ต้องบังคับให้ถอนขึ้นมา ปล่อยให้พักอยู่ตามความต้องการแล้วถอนขึ้นมาเอง แต่เมื่อจิตถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว จงพยายามฝึกค้นด้วยปัญญา จะเป็นปัญญาที่ควรแก่สมาธิขั้นไหนก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองดูตามธาตุขันธ์ จะเป็นธาตุขันธ์ภายนอกหรือภายในไม่เป็นปัญหา ขอแต่พิจารณาเพื่อรู้เหตุผลเพื่อแก้ไขหรือถอดถอนตนเองเท่านั้นชื่อว่าถูกต้อง

    จงใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งภายในทั้งภายนอก หรือจะเป็นส่วนภายในโดยเฉพาะ หรือจะเป็นส่วนภายนอกโดยเฉพาะ พิจารณาลงในไตรลักษณ์ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ได้จนชำนาญและแยบคาย จนรู้ช่องทางเอาตัวรอดไปได้โดยลำดับ เมื่อพิจารณาจนรู้สึกอ่อนเพลีย จิตอยากจะเข้าพักในเรือนคือสมาธิ ก็ปล่อยให้พักได้ตามความต้องการ จะพักนานหรือไม่นานไม่เป็นปัญหา จงพักอยู่จนกว่าจิตจะถอนขึ้นมาเอง เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้วจงพิจารณาสภาวธรรม มีกายเป็นต้นตามเคย นี่เรียกว่า สัมมาสมาธิ และพึงทราบว่าสมาธิเป็นเพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพิจารณาโดยทางปัญญามาก ๆ รู้สึกอ่อนเพลียภายในจิตก็เข้าพักอยู่ในสมาธิ จิตมีกำลังแล้วถอนขึ้นมาควรแก่การพิจารณาต้องพิจารณา ทำอย่างนี้โดยสม่ำเสมอ สมาธิจะเป็นไปเพื่อความราบรื่น ปัญญาจะเป็นไปเพื่อความฉลาดเสมอไป จะเป็นไปเพื่อความสม่ำเสมอทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา

    เพราะสมาธิเป็นคุณในทางหนึ่ง ปัญญาเป็นคุณในทางหนึ่ง ถ้าจะปล่อยให้ดำเนินในทางปัญญาโดยถ่ายเดียวก็ผิด เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุน ยิ่งถ้าปล่อยให้ดำเนินไปในทางสมาธิโดยถ่ายเดียวแล้ว ยิ่งเป็นการผิดมากกว่าทางด้านปัญญา เมื่อสรุปความลงแล้ว คุณธรรมทั้งสองประเภทนี้เทียบกันได้กับแขนซ้ายแขนขวา เท้าซ้ายเท้าขวาของคน คนคนหนึ่งเดินเหินไปไหนมาไหน และทำกิจการอะไร เท้าและแขนทั้งสองเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนคนนั้น เรื่องของสมาธิกับเรื่องของปัญญาก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเห็นเสียว่าสมาธิดีกว่าปัญญา หรือปัญญาดีกว่าสมาธิแล้ว คนคนนั้นควรจะมีเพียงขาเดียว แขนเดียว ไม่มีสองแขน สองขาเหมือนอย่างคนอื่น ๆ ก็เรียกว่าเป็นคนแปลกจากโลกเขา

    คนที่ทำตัวให้แปลกจากธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นคนในลักษณะนี้เหมือนกัน คือ ตำหนิปัญญาชมเชยสมาธิบ้าง ตำหนิสมาธิชมเชยปัญญาบ้างอย่างนี้ ที่ถูกขณะที่เราจะทำสมาธิก็ต้องเป็นหน้าที่ของสมาธิ และเห็นประโยชน์ในสมาธิจริง ๆ เวลาจะพิจารณาทางปัญญาก็ให้ทำหน้าที่ทางปัญญาและเห็นประโยชน์ในด้านปัญญาจริง ๆ ต่างพักไว้ตามกาลอันควร ไม่ให้สับสนระคนกันเช่นเดียวกับเท้าทั้งสอง เมื่อเท้าขวาก้าวไป เท้าซ้ายต้องหยุด เมื่อเท้าซ้ายก้าวไปเท้าขวาต้องหยุด ไม่ใช่จะก้าวไปพร้อม ๆ กัน เพราะเหตุนั้น สมาธิกับปัญญาจึงเป็นคุณด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อสติกับปัญญาต่างก็มีกำลังเพียงพอ เพราะการฝึกฝนเป็นคู่เคียงกันมา สมาธิกับปัญญาก็จะก้าวไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่จะเปลี่ยนกันรบและเปลี่ยนกันรับอย่างนั้นเสมอไป เช่นเดียวกับแขนซ้ายแขนขวาทำงานร่วมกันฉะนั้น

    นี่กล่าวเรื่องสมาธิกับปัญญา ซึ่งเป็นธรรมจำเป็นเสมอกันสำหรับนิสัยผู้อบรมสมาธิมาก่อน เดี๋ยวจะเป็นสมาธิเลยเถิด โดยไม่เห็นปัญญาเป็นอีกแง่หนึ่ง คือถ้าเป็นธรรมจำเป็นจะควรใช้ในกาลอันควร ส่วนนิสัยของผู้หนักในด้านปัญญาอบรมสมาธิ จิตต้องหาความสงบไม่ได้ด้วยอำนาจของสมาธิอบรม ก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นผู้สกัดลัดกั้นจิตที่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในอารมณ์ต่างๆ โดยกำหนดตามความฟุ้งของใจว่า ฟุ้งไปเพราะเหตุใด และมีสิ่งใดเป็นเหตุชักจูงจิตใจให้เป็นอย่างนั้น ปัญญาต้องตามค้นคว้าในสิ่งที่จิตไปสำคัญมั่นหมายนั้น ๆ จนกว่าจิตจะยอมจำนนต่อปัญญา แล้วเข้าสู่ความสงบได้ ความสงบของจิตประเภทนี้เรียกว่า สงบได้ด้วยปัญญา

    นิสัยของบางราย แม้จิตจะเข้าสู่ความสงบ แต่ยังใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหรือคิดปรุงยังได้ โดยไม่เป็นข้าศึกต่อความสงบนั้น เราจะหาว่าจิตเป็นสมาธิแล้วทำไมจึงคิดปรุงได้ แล้วเกิดความสงสัยในความเป็นสมาธิของตน เรียกว่าไม่เข้าใจในนิสัยของตน แต่ก็เป็นธรรมดาของผู้ไม่เคยผ่านเคยรู้ เนื่องจากไม่มีผู้แนะนำแนวทางพอได้ยึดเป็นหลักฐาน เวลาเหตุการณ์เช่นนั้นได้ปรากฏขึ้นในตนเอง อาจจะสงสัยในปฏิปทาการดำเนินของตนได้ ดังนั้นจึงถือโอกาสแสดงให้บรรดาท่านผู้ฟังได้ทราบว่า จิตที่มีความสงบโดยวิธีของปัญญาเป็นพี่เลี้ยงอย่างนี้ มีความคิดปรุงได้ในขั้นหนึ่ง

    แต่เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดเต็มที่แล้วนั้น ไม่ว่าสมาธิประเภทใดจะหมดการปรุงแต่งเช่นเดียวกัน หมดสัญญาความจำในสิ่งทั้งหลาย สังขารความคิดความปรุง และวิญญาณความรับรู้ในสิ่งต่างๆ จะไม่ปรากฏในสมาธิประเภทละเอียดนั้น สรุปความ สมาธิขั้นกลางของนิสัยผู้ลงได้อย่างรวดเร็ว คือผู้ได้สมาธิก่อนไม่มีการปรุง เพราะถ้าเริ่มปรุงก็เริ่มจะถอนในขณะเดียวกัน แต่สมาธิที่สงบได้ด้วยอำนาจของปัญญาเป็นพี่เลี้ยงยังคิดปรุงได้โดยจิตไม่ถอน และทั้งสองนิสัยต้องมีสติรู้อยู่ในความรวมของตนด้วยกัน

    วันนี้ได้อธิบายมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิว่ามีความต่างกันอย่างไร อธิบายเท่าที่ควรสำหรับนักปฏิบัติของเราจะได้เข้าใจ และยึดไว้เป็นหลักต่อไป ได้ย้ำว่าสติกับปัญญาเป็นธรรมสำคัญมาก ผู้ฝึกหัดสติไม่จำเป็นจะต้องฝึกหัดเฉพาะเวลาทำความเพียรเท่านั้น ต้องฝึกหัดอยู่ตลอดเวลา จะเดินไปไหนทำอะไรก็ตามต้องเป็นผู้มีสติตั้งท่าต่อความเพียรของตนเสมอ ถ้ามีสติแล้วสัมปชัญญะก็ต้องมี เพราะสัมปชัญญะติดต่อสืบเนื่องมาจากสติที่ตั้งไว้ดีแล้ว ถ้าขาดสติเสียสัมปชัญญะก็ไม่ปรากฏ ฉะนั้นจงพยายามอบรมสติที่เป็นภาคพื้นจนสามารถแก่กล้าขึ้นเป็นสติในความเพียรภายในใจได้ จากนั้นก็กลายเป็นมหาสติขึ้นมาเพราะการอบรม และการตั้งสติอยู่เสมอ

    เรื่องของปัญญาก็เช่นเดียวกัน จงพยายามไตร่ตรองในสิ่งที่มากระทบ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส หรือจะเป็นขึ้นภายในโดยเฉพาะก็ตาม ต้องตามคิดค้นดูสาเหตุจนกลายเป็นความเคยชินเกิดขึ้นกับนิสัยชอบคิดชอบไตร่ตรอง เมื่อปัญญาขั้นนี้มีกำลังแล้วก็จะก้าวขึ้นสู่ปัญญาขั้นสูง เราจะน้อมปัญญาขั้นนี้ขึ้นสู่การพิจารณาในข้อข้องใจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในใจโดยเฉพาะ ก็จะปรากฏเห็นความแจ้งชัดขึ้นมาและตัดข้อข้องใจนั้น ๆ ได้ เพราะอำนาจของปัญญาที่เคยอบรมในทำนองนี้ จนกลายเป็นมหาปัญญาขึ้นเช่นเดียวกับมหาสติ ไม่เคยปรากฏในที่ไหนเลย

    ผู้ไม่ได้เริ่มฝึกหัดปัญญาไปโดยวิธีที่กล่าวนี้ แล้วไปปรากฏผลอย่างสมบูรณ์ขึ้นด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม แม้ท่านผู้เป็นขิปปาภิญญาตรัสรู้ได้เร็ว ท่านยังเริ่มต้นแต่ปัญญาขั้นหยาบขึ้นเป็นลำดับไปอย่างรวดเร็ว และตรัสรู้ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบมาแล้วในตำนาน ฉะนั้นการฝึกหัดสติกับการฝึกหัดปัญญาไปตามความเคลื่อนไหวของตนทุกๆ อาการ โดยไม่คำนึงว่าเราทำความเพียรหรือไม่ทำความเพียร แต่ให้เป็นความเพียรแฝงโดยทำนองนี้เสมอไปแล้ว อย่างไรจิตต้องก้าวเข้าสู่ความสงบ และปัญญาก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ

    เฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นนักบวชหรือผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติเพื่อความสงบใจ และเพื่อการรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียวแล้ว เรื่องสติกับปัญญายิ่งเป็นธรรมจำเป็นมากขึ้น เพราะถ้าอบรมสติกับปัญญาจนติดนิสัย กลายเป็นความรอบคอบประจำตนแล้ว จะกำหนดออกไปข้างนอกก็เป็นความฉลาด จะกำหนดเข้าสู่ภายใน คือกาย เวทนา จิต ธรรม ก็ได้ความแยบคายขึ้นเป็นลำดับ จะพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ได้อุบายรื้อถอนกิเลสไม่ขาดวรรคขาดตอน และเรื่องของสติเป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่มีสติเป็นรั้วกั้นไว้ทุกระยะแล้ว แม้ปัญญาก็จะกลายเป็นสัญญาโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นสติจึงเป็นธรรมมีน้ำหนัก ที่จะทำปัญญาให้มีความฉลาดได้โดยราบรื่น ด้วยอำนาจของสติเป็นฝั่งเหมือนฝั่งแม่น้ำไม่ให้ปัญญาเลยเถิด

    ปัญญาเลยเถิดโดยมากมันเลยไปเป็นสัญญา ถ้าปัญญาจริงๆ แล้วจะไม่เลยเถิด เพราะมีสติกำกับอยู่แล้ว การใช้ปัญญากำหนดเข้าสู่ภายในกายนี้จะเป็นเรื่องอะไรสะดุดใจทุก ๆ ระยะ จะเป็นเรื่อง อนิจฺจํ ก็ดี ทุกฺขํ ก็ดี อนตฺตา ก็ดี ต้องปรากฏขึ้นไตรลักษณ์ใดไตรลักษณ์หนึ่งแน่ ๆ เพราะสภาพคือกายเป็นต้น มีอยู่ตลอดกาล เมื่อสติกับปัญญาได้หยั่งลงสู่ที่นี่แล้ว จะกลายเป็นปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมขึ้นมา โปรดทราบว่าธรรมทั้งหลาย จะไม่ปรากฏขึ้นเพราะเรื่องอดีต อนาคต แต่จะปรากฏขึ้นเพราะเหตุแห่งปัจจุบันเท่านั้น แม้เราจะพิจารณาเรื่องอดีต อนาคต ก็ต้องย้อนเข้าสู่วงปัจจุบัน จึงจะสำเร็จประโยชน์

    เช่นเราเห็นเขาตาย น้อมเข้าสู่ตัวเราว่า เราก็ต้องตายเหมือนกันดังนี้เป็นต้น เมื่อคำว่าเราเกิดเท่านั้นก็วิ่งเข้าถึงตัว และปรากฏเป็นปัจจุบันขึ้นมา เรื่องอดีตอนาคตจะให้สำเร็จประโยชน์ต้องน้อมเข้าสู่ปัจจุบันเสมอ เช่น วานนี้เขาตาย วันนี้หรือพรุ่งนี้เราจะต้องตายเช่นเดียวกัน นี่คำว่าเราทั้งนั้นก็เข้าถึงปัจจุบันทันที เรื่องข้างนอกต้องน้อมเข้าสู่ข้างใน เรื่องข้างหน้า ข้างหลังต้องน้อมเข้าสู่ปัจจุบันจึงจะสำเร็จประโยชน์

    1255232164.jpg
    เมื่อไตร่ตรองดูสภาวธรรมที่มีอยู่รอบตัวของเรา มีกายเป็นต้น โดยมีสติและปัญญาอยู่เสมอ ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นมือ ต้องรู้เห็นประจักษ์ใจขึ้นมา และการพิจารณาสภาวธรรมมีกายเป็นต้น พึงแยกส่วนแบ่งส่วน และตรองดูด้วยปัญญาจนชัดเจน อย่าปล่อยให้สัญญาฉุดลากหนีจากหลักธรรมที่ตนกำลังพิจารณา เว้นไว้แต่จะใช้สัญญาเพื่อเป็นเส้นบรรทัดให้ปัญญาเดินตามในเวลากำลังปัญญามีไม่เพียงพอต่อการพิจารณาเท่านั้น จงทำสติให้เป็นรั้วกั้นด้วยดี จะรู้เห็นในสิ่งไม่เคยรู้เคยเห็นประจักษ์ใจ เพราะสภาวธรรมมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เราไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหน เป็นธรรมมีเต็มอยู่ในกายในจิตอย่างสมบูรณ์ตลอดกาล นอกจากสติกับปัญญาไม่สามารถจะขุดค้นสิ่งที่มีอยู่ให้ปรากฏขึ้นมาเป็นสมบัติของตนได้เท่านั้นแต่ถ้าเราตั้งความสังเกตพิจารณาทั้งวันทั้งคืน วันหนึ่งคืนหนึ่งกี่รอบกี่เที่ยวไม่ต้องถือเป็นอารมณ์ โดยถือเอาความชำนาญและคล่องแคล่วทางปัญญาเป็นสำคัญ ความมีสติติดเป็นพืดอยู่ในปัจจุบัน และความมีปัญญากระจายอยู่รอบตัว ความเคลื่อนไหวจะส่งไปที่ไหน สติกับปัญญาวิ่งตามอยู่รอบตัว สิ่งที่เป็นข้าศึกจะทนต่อสติปัญญาซึ่งเราเคยฝึกฝนจนเพียงพอได้อย่างไรเล่า

    อนึ่ง เรื่องความฟุ้งซ่านวุ่นวายเหล่านั้น เราไม่ได้ตั้งเจตจำนงจะส่งเสริมเขา ส่วนธรรมเครื่องระงับสิ่งเหล่านั้น เราพยายามฝึกอยู่ตลอดเวลาเพื่อทันกับความเคลื่อนไหวแห่งกองโจรซึ่งคอยดักปล้นเราอยู่ทุกขณะ เราต้องใช้แบบบังคับโดยทำนองที่กล่าวนี้ อาการทุกส่วนในร่างกายจงแยกออกดูให้ชัด ตั้งแต่ข้างนอกเข้าสู่ข้างใน หรือแยกแต่ข้างในออกมาข้างนอก ดูถอยหน้าถอยหลัง ดูขึ้นดูลง และแยกส่วนแบ่งส่วนเป็นชิ้นเป็นอัน จะกำหนดไฟเผาให้ไหม้เป็นจุณวิจุณลงไป หรือจะกำหนดให้แตกกระจัดกระจายลงโดยวิธีใด แล้วแต่ความถนัดของเรา จัดว่าเป็นเรื่องของปัญญาหาความแยบคายใส่ตนทั้งนั้น เมื่อพอแก่ความต้องการแล้วเราจะรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ และประจักษ์กับใจโดยไม่ต้องไปถามใคร ๆ ทั้งนั้น

    การพิจารณากายจนรู้ชัดเห็นชัดเท่าไร เรื่องเวทนา จิต ธรรม หรือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ต้องชัดไปตาม ๆ กัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหินลับสติกับปัญญาให้คมกล้าขึ้นเป็นลำดับ เหมือนวิดน้ำออกจากบ่อปลา วิดน้ำออกมากเท่าไรก็ยิ่งเห็นตัวปลาชัดขึ้นทุกที หรือเราถางป่าที่รกชัฏ ถางให้เตียนเท่าไรก็ยิ่งเห็นสถานที่นั้นชัด สิ่งที่กล่าวเหล่านี้แลเป็นเครื่องปกคลุมจิตใจของเรา จนไม่สามารถจะรู้กระแสของใจที่ส่งออกสู่อารมณ์ต่าง ๆ ได้ชัดเจน เมื่อใช้ปัญญาไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ ความเด่นแห่งกระแสของใจ ความกระเพื่อมของใจที่แสดงออกทุกๆ ขณะก็รู้ชัด และความเด่นของใจก็จะรู้เช่นเดียวกัน เพราะสติแก่กล้าปัญญาก็รวดเร็ว ความกระเพื่อมของจิตพอแสดงออก สติกับปัญญาซึ่งมีอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน ก็จะตามรู้และแก้ไขกันได้ทันท่วงที

    แต่พึงทราบว่า การพิจารณาขันธ์ ๕ สติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้หมายจะถือเอาสิ่งเหล่านี้เป็นมรรค ผล นิพพาน แต่เป็นวิธีรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ออกเพื่อเห็นธรรมชาติที่ว่าตัวปลาคืออะไรแน่เท่านั้น คำว่าปลาเทียบกับใจที่ทรงไว้ซึ่งความเศร้าหมองทั้งหลาย ใครพิจารณามากเท่าไร วันหนึ่งกี่เที่ยวหรือกี่รอบไม่ต้องนับ ถือเอาความชำนาญคล่องแคล่วต่อการพิจารณาเป็นหลักสำคัญ ใครพิจารณาได้มากและชำนาญเท่าไร ความแยบคายของปัญญาที่แพรวพราวต่อตนเองและสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป ก็ยิ่งทวีคูณไม่มีที่สิ้นสุด จนมีความรู้ความสามารถปฏิเสธในสภาวธรรมที่เคยพิจารณามาเป็นชั้น ๆ นับแต่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วทั้งโลกธาตุ ย้อนเข้ามาสู่กองรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตนว่าไม่ใช่กิเลสตัณหาอาสวะแต่อย่างใด มีเรื่องของใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นกิเลสอาสวะเครื่องผูกมัดตนเองโดยตรง ไม่มีอะไรจะมีอำนาจเอื้อมเข้ามาผูกมัดจิตใจ นอกจากใจที่ทรงไว้ซึ่งความโง่ต่อตนเอง แสวงหาบ่วงมาสวมคอตัวเอง และก่อไฟกองลุ่มหลงขึ้นเผาตัวเองเปล่าๆ เท่านั้น ไม่เห็นมีร่องรอยแห่งข้าศึกจะมาจากที่ไหน

    เรื่องทั้งนี้เทียบกับมีดพร้าซึ่งเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ของคนฉลาด แต่คนโง่กลับไปคว้าเอาสิ่งเหล่านี้มาประหารตนให้ได้รับความทุกข์ถึงตายแบบโมฆบุรุษ แล้วจะหาว่ามีดพร้าเป็นข้าศึกต่อตนเองอย่างนี้มีตัวอย่างที่ไหน สภาวธรรมทั่ว ๆ ไป เช่นเดียวกับเครื่องมือทำประโยชน์ แต่โมฆบุรุษไปคว้ามาจองจำตัวเองแล้วกลับตำหนิว่า สภาวะทั่วโลกรวมหัวกันมาทำร้ายตัวเองอย่างนี้ ใครจะเป็นผู้ตัดสิน เพราะเจ้าตัวได้ประหารตัวเองจนถึงตายแล้ว ตัดสินเครื่องมือให้เป็นฝ่ายแพ้ความต่อผู้ชนะที่ตายไปแล้ว จะได้อะไรมาเป็นเครื่องเสริมเกียรติให้สมใจเล่า

    เรื่องใจหลงตัวเองและหลงเรื่องของตัวมีลักษณะเช่นนี้ ฉะนั้นเมื่อปัญญาหยั่งทราบในสภาวธรรมมีกายเป็นต้นแล้ว จะต้องหยั่งทราบถึงจุดแห่งเหตุนั้น เรื่องของจิตจะมีกระแสส่งไปหนักเบามากน้อยในทางใด และในอารมณ์อันใดก็จะรู้ชัดด้วยปัญญา สิ่งทั้งหลายที่เคยถือว่าเป็นข้าศึก ก็จะกลับปฏิเสธ เพราะอำนาจของปัญญาที่ไตร่ตรองดูสาเหตุโดยละเอียดถูกต้องแล้ว ในขณะเดียวกันก็จะกลับตำหนิความรู้ซึ่งมีอยู่ภายในว่า เป็นข้าศึกต่อตนเอง เพราะอำนาจของปัญญาที่เห็นชัด และปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้น ๆ ซึ่งจะทนถือไว้ไม่ได้ ดังนั้นความรู้ชัดเห็นชัดโดยทางปัญญาจึงต้องปฏิเสธ และปล่อยวางเป็นระยะ นับแต่รูป เสียง เป็นต้น จนถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีเหลืออยู่ภายในใจ

    แม้ธรรมชาติที่รู้ๆ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่สามารถจะรู้เห็นได้ว่าเป็นตัวโทษหรือตัวคุณ เราจึงมัวแต่ไปตำหนิสิ่งทั้งหลายทั่วทั้งโลกธาตุ ว่าเป็นของดีบ้างชั่วบ้าง น่านิยมชมชอบบ้าง น่าเกลียดบ้าง น่ารักน่าชังบ้าง น่าอัศจรรย์จนตัวลอยไปตามบ้าง และน่าเบื่อจนเกิดความทุกข์ร้อนนอนไม่หลับเพราะความเบื่อนั้นบ้าง สรุปความลงให้ยินดียินร้าย เป็นทุกข์เป็นร้อนไม่มีสิ้นสุดโดยไม่รู้สึกตัว อะไรเป็นตัวเหตุสำคัญที่ทำใจให้เป็นกงจักรหมุนรอบตัว และก่อไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ เผาตัวอยู่ตลอดกาล เมื่อปัญญาได้ไตร่ตรองดูจนแจ้งชัดแล้ว สภาวะทั่วๆ ไปทั้งภายในภายนอกย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกันหมด ไม่ปรากฏว่าสิ่งทั้งนี้เป็นข้าศึกต่อผู้ใด จะเห็นตัวโทษมีอยู่เฉพาะธรรมชาติที่รู้ๆ ในขณะปัญญานำสิ่งปกคลุมออกหมดแล้ว คราวนี้ผู้รู้จะไหวตัว หรือกระเพื่อมแผล็บก็รู้ทันทีว่าตัวกงจักรแสดงตน เป็นตัวก่อเหตุ เป็นตัวสั่งสมทุกข์ทั้งมวล และเป็นตัวสมุทัยโดยตรง นอกจากธรรมชาตินี้แล้วไม่มีอะไรเป็นตัวสมุทัยในโลก

    มาถึงขั้นนี้แล้ว มีความรู้อันเดียวเท่านั้นเป็นตัวสมุทัยหมดทั้งดวง เมื่อประจักษ์ใจด้วยปัญญาถึงขนาดนี้แล้ว ใครจะยอมถือตัวผู้รู้ซึ่งเป็นกงจักรนี้ว่าเป็นตนเล่า นี่คือปัญญาขั้นละเอียดและปัญญาอัตโนมัติในหลักธรรมชาติ ซึ่งอบรมมาจากการกดขี่บังคับในเบื้องต้น ผลจึงปรากฏเป็นความฉลาดพอตัว แม้จะให้นามว่าขั้นมหาปัญญาก็ไม่ผิด นอกจากรู้วัฏจิตอันเป็นตัวสมุทัย แล้วยังพิจารณาย้อนเข้าไปว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงเป็นสมุทัย และเป็นได้อย่างไร ตามคิดค้นเข้าไปตามสาเหตุที่มีและแสดงตัวให้ปรากฏอยู่ ด้วยความสนใจใคร่จะรู้ในสาเหตุนั้น

    แต่โดยมากเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองจนละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ต้องติดในความรู้วัฏจักรนี้แน่ๆ เพราะเป็นยอดสมุทัยของวัฏจักร ซึ่งควรหลงและติดได้โดยนักปฏิบัติไม่รู้สึกตนว่าติด นอกจากจะหลงและติดอยู่โดยไม่รู้สึกตัวแล้ว ยังอาจจะระบายความหลงอันลึกลับนี้ออกเป็นความรู้โดยเข้าใจผิดของตนให้ผู้อื่นฟัง และหลงตามกันไปเป็นจำนวนมากก็ได้

    เพื่อให้นักปฏิบัติทั้งหลายได้ทราบว่าธรรมชาติรู้ๆ นี้ ถ้าว่าเป็นของอัศจรรย์ก็ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จะว่าผ่องใสก็ยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น จึงควรให้นามธรรมชาตินี้ว่าหลุมถ่านเพลิงซึ่งขุดไว้ในที่ลี้ลับ แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาตินี้จะทนต่อปัญญาซึ่งเป็นธรรมละเอียดเช่นเดียวกันไปไม่ได้ จะต้องทราบความจริงจากปัญญาว่า ธรรมชาติรู้ ๆ นี้คือสมุทัยอย่างเอก และจะทนตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องแตกทลายลงทันที เช่นเดียวกับเขาทุบต่อยสิ่งมั่นคงให้แตกกระจายด้วยท่อนเหล็กฉะนั้น

    เมื่อธรรมชาตินี้ได้ถูกทำลายด้วยปัญญาสลายตัวลงไปแล้ว ธรรมชาติที่อัศจรรย์เหนือสมมุติใด ๆ ก็ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่ ความเห็นโทษกับความเห็นคุณได้ปรากฏขึ้นในขณะเดียวกัน วิชชาวิมุตติได้ปรากฏเป็น ธมฺโม ปทีโป (ความสว่างแห่งธรรม) อันเด่นดวงขึ้นอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่ปราศจากเมฆกำลังฉายแสงลงสู่พื้นให้โลกได้รับแสงสว่างอย่างเต็มที่ฉะนั้น ผลคือความเด่นแห่งวิชชาวิมุตติได้ปรากฏแก่ใจของท่านนักปฏิบัติ ในขณะอวิชชาได้ดับลงไปแล้ว

    ธรรมที่กล่าวมานี้เป็นตัวผล เหตุเป็นมาอย่างไร ได้อธิบายให้ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า ศรัทธาความเชื่อ วิริยะความเพียร สติความระลึกได้ สมาธิความตั้งมั่น ปัญญาความฉลาดรอบคอบ นี่คือทางเดิน เดินมาสู่จุดนี่เอง ไม่ได้เดินไปที่ไหน ใครจะอยู่ในบ้านก็ตาม อยู่ในวัดก็ตาม อยู่ในป่าก็ตาม และเป็นผู้หญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม เป็นนักบวชหรือฆราวาสก็ตาม ถ้ามีธรรมห้าประการประดับตัวอยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าเดินเข้ามาสู่จุดนี้ทั้งสิ้น คือเป็นผู้มีสิทธิในด้านปฏิบัติ และผลที่จะพึงได้รับก็สมบูรณ์เท่าเทียมกัน

    ฉะนั้น ขอให้บรรดาท่านนักปฏิบัติทั้งหลายซึ่งเราก็ทราบชัดในใจของเราว่า เป็นนักปฏิบัติด้วย เป็นนักงดเว้นด้วย จงปฏิบัติเพื่อการส่งเสริมกาย วาจา ใจให้เจริญ และจงงดเว้นสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนเองอย่างเต็มที่ จนถึงจุดประสงค์คือวิมุตติพระนิพพาน ตามที่ได้อธิบายให้ฟังแล้ว เพราะธรรมทั้งนี้จะเหนือจากสติปัญญา ความเพียรพยายาม ไม่ทอดธุระของเราทั้งหลายไปไม่ได้ และธรรมเหล่านี้แลที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ว่า สวากขาตธรรม แปลว่า ธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว คือทางดำเนินก็ตรัสไว้ชอบแล้ว ทั้งทางผิดก็ตรัสไว้ว่าผิดจริง และทางถูกก็ตรัสไว้ว่าถูกจริง ผลที่เกิดจากทางดำเนินที่ถูกต้อง คือวิมุตติพระนิพพาน ก็เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วเหมือนกัน ที่เป็นปัญหาอยู่ก็คือ ผู้ดำเนินเท่านั้น จะดำเนินหรือปฏิบัติชอบจริงหรือไม่ ถ้าปฏิบัติชอบจริงตามที่ประทานไว้แล้วผลก็ต้องปรากฏเป็น สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายโดยชอบเช่นเดียวกัน

    เพราะเหตุนั้นจงพยายามฝึกหัดสติกับปัญญาของตนทุกๆ ขณะ ไม่เพียงแต่ว่าอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง เราอย่าเห็นว่าทำมากไปหรือน้อยไปในเรื่องความเพียร ใครเข้าใจมากเท่าไร ฉลาดมากเท่าไร แก้ไขกิเลสได้มากเท่าไร และพ้นทุกข์ไปได้มากเท่าไร นั่นเป็นผลที่เราต้องการเป็นลำดับ จนถึงกับพ้นไปเสียจริงๆ ไม่มีอะไรเหลือ คือพ้นทั้งรู้ๆ เห็นๆ ในชีวิตของเราซึ่งกำลังครองขันธ์ห้าอยู่นี้ นั่นแลเป็นธรรมที่แน่นอนที่สุด เพราะคำว่าสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วนั้น ไม่ได้หมายความว่าชอบในเวลาเราตายไปแล้วเท่านั้น ยังชอบทั้งขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ด้วย ผลที่ได้รับตามขั้นของความเพียรก็ประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติซึ่งยังมีชีวิตอยู่ด้วย

    อนึ่ง วิธีการหรืออุบายจะฝึกฝนจิตใจของเรานั้น ยกให้เป็นอุบายความแยบคายของแต่ละท่านในประโยคแห่งความเพียรของตน ต้องสังเกตอิริยาบถที่เป็นไปเพื่อความสะดวกในทางความเพียร ไม่เพียงแต่ว่านั่งแล้วก็นั่ง เดินแล้วก็เดิน ต้องสังเกตผลประโยชน์ที่เกิดจากความเพียรของตนโดยความมีสตินั้นด้วย เพราะอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อาจจะถูกตามจริตของแต่ละท่านๆ ไม่สม่ำเสมอกัน

    วันนี้ได้แสดงธรรมให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายฟัง ตั้งแต่ต้นจนสุดขีดความสามารถเหมือนกัน ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอให้ทุกท่านจงนำธรรมที่ได้อธิบายในวันนี้และที่ผ่านมาแล้ว เข้าไปเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นคู่เคียงกับความเพียรของตน ผลที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้รับจะหนีจากธรรมที่เทศนาในวันนี้ไปไม่ได้ จึงขอยุติธรรมเทศนาลงเพียงเท่านี้ เอวํ

    ที่มา: http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=803&CatID=9
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    [๒๓๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสดไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’
    ………….
    ข้อความบางตอนใน สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙
    https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=9&siri=2

    ภิกษุนั้น ในคำว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต อภินีหรติ นี้ คำว่า ญาณทัสสนะ ท่านกล่าวหมายถึงมรรคญาณก็ได้ ผลญาณก็ได้ สัพพัญญุตญาณก็ได้ ปัจจเวกขณญาณก็ได้ วิปัสสนาญาณก็ได้.
    …ฯลฯ...
    แต่คำว่า ญาณทสฺสนายน จิตฺตํ ในที่นี้ท่านกล่าวหมายถึงญาณทัสสนะที่เป็นตัววิปัสสนาญาณ.
    .........
    ข้อความบางตอนใน อรรถกถาสามัญญผลสูตร https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09.0&i=91&p=6
    #วิปัสสนาญาณ #สมาธิ #วิปัสสนา

    3tVmDr7qsxU79Y0SqtSI-uT_V_h-YIEUVCzfGzhQdmLe&_nc_ohc=8q2MwQSmcJIAX_csQS3&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    จิตผ่องใสคืออวิชชา
    [​IMG]
    วันที่ 26 มกราคม 2519 ความยาว 31.58 นาที
    สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด


    เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


    จิตผ่องใส คือ อวิชชา


    ปกติจิตเป็นสิ่งที่ผ่องใส และพร้อมที่จะสัมผัสสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เสมอ สภาพทั้งหลายเป็น “ไตรลักษณ์” ตกอยู่ในกฎแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยกันทั้งนั้นไม่มีเว้น แต่ธรรมชาติของจิตที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ในกฎนี้ เท่าที่จิตเป็นไปตามกฎของ “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ” ก็เพราะสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ คือสิ่งที่หมุนเวียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต จิตจึงหมุนเวียนไปตามเขา แต่หมุนเวียนไปด้วยธรรมชาติที่ไม่แตกไม่สลาย หมุนไปตามสิ่งที่มีอำนาจให้หมุนไป แต่ที่เป็นอำนาจของจิตอยู่โดยหลักธรรมชาตินั้น คือ “รู้และไม่ตาย” ความไม่ตายนี้แลเป็นสิ่งที่เหนือความแตก ความไม่แตกสลายนี้แลเป็นสิ่งที่เหนือกฎไตรลักษณ์และ “หลักสากลนิยม” ทั้งหลาย แต่ที่ไม่ทราบก็เพราะธรรมชาติที่เป็นสมมุติเข้าไปเกี่ยวข้องรุมล้อมจิตเสียหมด จิตจึงกลมกลืนกับเรื่องเหล่านี้ไปเสีย

    ที่เราไม่ทราบว่าการเกิดตายเป็นของมีมาดั้งเดิมประจำจิตที่มีกิเลสเป็นเชื้อ ก็เพราะความไม่ทราบเป็นเรื่องของกิเลส ความเกิดตายเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องเราจริงๆ เรื่องเราล้วนๆ คือเรื่องจิตล้วนๆ ไม่มีอำนาจเป็นตัวของตัวเองได้ อาศัยของจอมปลอมมาเป็นตัวของตัวเรื่อยมา การแสดงออกของจิตจึงไม่ตรงตามความจริง มีการแสดงออกต่างๆ ตามกลมารยาของกิเลส เช่นทำให้กลัว ทำให้สะทกสะท้าน กลัวจะเป็นกลัวจะตาย กลัวอะไรกลัวไปหมด แม้ทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่อะไรมาปรากฏก็กลัว อะไรกระทบกระเทือนไม่ได้เลยมีแต่กลัว ผลที่สุดในจิตจึงเต็มไปด้วยความหวาดความกลัวไปเสียสิ้น นั่น! ทั้งๆ ที่เรื่องความหวาดความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของจิตโดยตรงเลย แต่ก็ทำให้จิตหวั่นไหวไปตามจนได้

    เราจะเห็นได้เวลาที่จิตชำระจนบริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้ว ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องได้แล้ว จะไม่ปรากฏเลยว่าจิตนี้กลัว กล้าก็ไม่ปรากฏ กลัวก็ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ธรรมชาติของตัวเองอยู่โดยลำพังหรือโดยหลักธรรมชาติตลอดเวลา “อกาลิโก” เท่านั้น นี้เป็นจิตแท้ จิตแท้นี้ต้องเป็น “ความบริสุทธิ์” หรือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ของพระอรหันต์ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ไม่อาจเรียก “จิตแท้” อย่างเต็มปากเต็มใจได้ สำหรับผู้แสดงกระดากใจไม่อาจเรียกได้

    “จิตดั้งเดิม” หมายถึงจิตดั้งเดิมแห่ง “วัฏฏะ” ของจิตที่เป็นอยู่นี่ ซึ่งหมุนไปเวียนมา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลักธรรมว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใส” นั่น! “แต่อาศัยความคละเคล้าของกิเลสหรือกิเลสจรมา จึงทำให้จิตเศร้าหมอง” ท่านว่า

    “จิตเดิมแท้” นั้นหมายถึงเดิมแท้ของสมมุติต่างหาก ไม่ได้หมายถึงความเดิมแท้ของความบริสุทธิ์ เวลาท่านแยกออกมา “ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ ภิกฺขเว” “ปภสฺสร” หมายถึง ประภัสสร คือความผ่องใส ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ นี่หลักเกณฑ์ของท่านพูดถูกต้องหาที่แย้งไม่ได้เลย ถ้าว่าจิตเดิมเป็นจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะมีที่ค้านกันว่า “ถ้าบริสุทธิ์แล้วมาเกิดทำไม?” นั่น แน่ะ!

    ท่านผู้ชำระจิตบริสุทธิ์แล้วท่านไม่ได้มาเกิดอีก ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วชำระกันทำไม มันมีที่แย้งกันตรงนี้ จะชำระเพื่ออะไร? ถ้าจิตผ่องใสก็ชำระ เพราะความผ่องใสนั้นแลคือตัว “อวิชชา” แท้ไม่ใช่อื่นใด ผู้ปฏิบัติจะทราบประจักษ์ใจของตนในขณะที่จิตได้ผ่านจากความผ่องใสนี้ไปแล้วเข้าถึง “วิมุตติจิต” ความผ่องใสนี้จะไม่ปรากฏตัวเลย นั่น! ทราบได้ตรงนี้อย่างประจักษ์กับผู้ปฏิบัติ และค้านกันได้ก็ค้านกันตรงนี้ เพราะความจริงนั้นจะต้องจริงกับใจของบุคคล เมื่อใครทราบใครรู้ก็ต้องพูดได้เต็มปากทีเดียว

    ฉะนั้นจิตของพวกเรากำลังตกอยู่ในวงล้อม ทำให้หวาดให้กลัว ให้รักให้ชัง ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างชื่อว่าเป็นอาการของสมมุติ เป็นอาการของกิเลสโดยสิ้นเชิง ตัวเราเองไม่ได้พลังจิตเป็นของตนเอง มีแต่พลังของกิเลสตัณหาอาสวะ มันผลักมันดันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเราจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน เมื่อธรรมชาตินี้ซึ่งเป็นของแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ยังมายั่วยุจิตให้เป็นไปตามอีกด้วยโดยที่เราไม่รู้สึก

    โลกนี้จะหาความสุขที่ไหน หาไม่ได้ ถ้าไม่ได้ถอดถอนธรรมชาติเหล่านี้ออกจากจิตใจโดยสิ้นเชิงเสียเมื่อไร จะหาความทรงตัวอยู่อย่างสบายหายห่วงไม่ได้เลย จะต้องกระดิกพลิกแพลงหรือต้องเอนโน้นเอนนี้ ตามสิ่งที่มาเกี่ยวข้องยั่วยวนมากน้อย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ชำระจิต ซึ่งเป็นการชำระความทุกข์ทรมานของตนนั้นแล

    ไม่มีผู้ใดที่จะหยั่งถึงหลักความจริงได้อย่างแท้จริงดั่งพระพุทธเจ้า มีพระองค์เดียวที่เรียกว่า “สยัมภู” โดยไม่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ในการแก้กิเลสออกจากพระทัยของพระองค์ ทรงทำหน้าที่ทั้งเป็นนักศึกษาทั้งเป็นครูไปในตัวลำพังพระองค์เดียว จนได้ตรัสรู้ถึงขั้น “ยอดธรรม ยอดคน ยอดศาสดา”

    ส่วนทางสมาธิด้านความสงบนั้น ท่านคงได้ศึกษาอบรมมาบ้างเหมือนกันกับดาบสทั้งสอง ไม่ปฏิเสธ แต่นั่นไม่ใช่ทางถอดถอนถึงความเป็น “สัพพัญญู” ได้ เวลาจะเป็น “สัพพัญญู” ก็เสด็จออกจากดาบสทั้งสองไปบำเพ็ญลำพังพระองค์เดียว และทรงรู้เองเห็นเองโดยไม่มีครูสั่งสอนเลย แล้วนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก พอได้รู้บุญรู้บาป รู้นรกสวรรค์ ตลอดนิพพานมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ หากไม่มีใครมาสั่งสอนเลย สัตว์โลกก็จะแบกแต่กองเพลิงเต็มหัวใจไม่มีวันเวลาปล่อยวางได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ควรจะเห็นคุณค่าแห่งธรรมที่ท่านนำมาสอนโลกได้โดยยาก ไม่มีใครในโลกสามารถทำได้อย่างท่านเลย

    เวลานี้อะไรเป็นเครื่องหุ้มห่อจิตใจ หาความ “ผ่องใส” และ “ความบริสุทธิ์” ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราต้องการหาความบริสุทธิ์ด้วยกันทุกคน อะไรเป็นเครื่องปิดบังอยู่เวลานี้? ถ้าพูดตามหลักธรรมชาติแล้ว ก็มีขันธ์ห้าเป็นที่หนึ่ง ส่วน “จิตอวิชชา” นั้นยกไว้ก่อน เอาแต่ที่เด่นๆ คือขันธ์ห้านั้นเป็นที่หนึ่ง และที่เป็นสหายกันนั้นก็คือรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งติดต่อสื่อสารกันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และเข้าไปประสานกับใจ จากนั้นก็เป็น “ความสำคัญ” ขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้จากรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วนำเอาอารมณ์ที่ผ่านไปแล้วนั้นแล เข้ามาผูกมัดวุ่นวาย หรือมาหุ้มห่อตัวเองให้มืดมิดปิดตาไปด้วยความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ และอะไรๆ เต็มไปหมด ซึ่งได้มาจากสิ่งดังกล่าวทั้งนั้น

    ส่วนที่ฝังอยู่ลึกก็คือขันธ์ของเรานี้ เราถือว่าเป็นตัวเป็นตนของเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์กาลไหนๆ ทุกชาติทุกภาษา แม้จะเป็นสัตว์ก็ต้องถือว่าเรานี้เป็นของเรา นี้เป็นสัตว์ เป็นตัวของสัตว์ เป็นตัวของเรา จะเป็นกายทิพย์ ร่างกายทิพย์ก็เป็นตัวของเรา จะเป็นเปรต เป็นผีเป็นอะไรก็ตามเถอะ สิ่งที่อาศัยอยู่ร่างหยาบร่างละเอียด ต้องถือว่าเป็นเราเป็นของเราด้วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งที่มาเป็นมนุษย์ที่รู้จักดีรู้จักชั่วบ้างแล้ว ก็ยังต้องถือว่า “นี้เป็นเราเป็นของเรา” ในขันธ์ห้า รูปก็เป็นเรา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นเราเป็นของเรา เหล่านี้ยังฝังอยู่อย่างลึกลับ

    ฉะนั้นท่านจึงสอนให้พิจารณา การพิจารณาก็เพื่อจะให้รู้ชัดเจนตามความจริงของมัน แล้วถอนความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดว่าตน เพื่อความเป็นอิสระนั่นเองไม่ใช่เพื่ออะไร ตามปกติของเขาแล้วจะพิจารณาเขาทำไม? รูปก็เป็นรูป เสียงเป็นเสียง กลิ่นเป็นกลิ่น รสก็เป็นรส เครื่องสัมผัสต่างๆ เป็นธรรมชาติของเขาอยู่ดั้งเดิม เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นข้าศึกอะไรต่อเราเลย ไปพิจารณาเขาทำไม?

    การพิจารณาก็เพื่อให้ทราบความจริงของสิ่งนั้นๆ ตามความเป็นจริงของเขา แล้วทราบความลุ่มหลงของตนด้วยการพิจารณานี้ และถอนตัวเข้ามาด้วยความรู้ การที่จิตเข้าไปจับจองยึดขันธ์ว่าเป็นตนเป็นของตน ก็เพราะความลุ่มหลงนั่นเอง

    เมื่อพิจารณาเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรอย่างชัดเจนแล้ว จิตก็ถอนตัวเข้ามาด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญา หมดกังวลกับสิ่งเหล่านั้น การพิจารณาอันใดที่เด่นชัดในบรรดาขันธ์ห้านี้ ไม่ต้องไปสำคัญมั่นหมาย คือคาดคะเนว่าเราไม่ได้พิจารณาขันธ์ห้าโดยทั่วถึง คือทุกขันธ์ไปโดยลำดับ ไม่ต้องไปทำความสำคัญ ขอแต่ว่าขันธ์ใดเป็นที่เด่นชัดซึ่งควรพิจารณาในเวลานั้น และเหมาะสมกับจริตนิสัยของเรา ก็ให้พิจารณาค้นคว้าในขันธ์นั้นให้ชัดเจน เช่น รูปขันธ์ เป็นต้น

    ในรูปขันธ์ มีอาการใดเด่นในความรู้สึกของเรา ที่เกิดความสนใจอยากจะพิจารณามากกว่าอาการอื่นๆ เราพึงจับจุดนั้น กำหนดพิจารณาให้เห็นความจริงของมันว่า “ทุกฺขํ คืออะไร?”

    ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ทุกฺขํ” คือความทนไม่ได้ มันไม่ค่อยสนิทใจเราซึ่งเป็นคนมีนิสัยหยาบ จึงชอบแปลแบบลางเนื้อชอบลางยาเป็นส่วนมากว่า “ทุกฺขํ คือความบีบบังคับอยู่ตลอดเวลานี้แล” นี่เหมาะกับใจเราที่หยาบมาก ดังธรรมบทว่า “ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ” นี้ตรงกับคำที่ว่านี้ คือปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมใจก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์คืออะไร? ก็คือบีบคั้นตัวเองนั้นแล หรือเกิดความไม่สบายนั่นแล้ว ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็ไม่สบาย ปรารถนาสิ่งใดแม้ได้แล้ว แต่สิ่งนั้นพลัดพรากจากไปเสียก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์อันนี้เข้ากันได้กับคำว่า “มันบีบบังคับ” ความบีบบังคับนั้นแลคือความทุกข์ความทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ก็เป็นไปตามเรื่องของเขา ไปยุ่งกับเขาทำไม! ความจริงจะเป็นขันธ์ใดหรือไตรลักษณ์ใดก็ตาม ใจของเราไปยึดไปถือเขาต่างหาก จึงต้องมาพิจารณาให้ชัดเจนในขันธ์

    รูปขันธ์ อาการใดดูให้เห็นชัดเจน ถ้ายังไม่ทราบชัดใน “ปฏิกูล” ซึ่งมีอยู่ในรูปขันธ์ของเรา ก็ให้ดูป่าช้าในตัวของเรานี้ให้เห็นชัดเจน คำว่า “เยี่ยมป่าช้า” ให้เยี่ยมที่นี่ แม้เยี่ยมป่าช้านอกก็เพื่อน้อมเข้ามาสู่ป่าช้าในตัวของเรา “ป่าช้านอก” คนตายในครั้งพุทธกาล มันป่าช้าผีดิบทิ้งเกลื่อน ไม่ค่อยจะเผาจะฝังกันเหมือนอย่างทุกวันนี้ ท่านจึงสอนให้พระไปเยี่ยมป่าช้า ที่ตายเก่าตายใหม่เกลื่อนกลาดเต็มไปหมดในบริเวณนั้น เวลาเข้าให้เข้าทางทิศนั้นทิศนี้ ท่านก็สอนไว้โดยละเอียดถี่ถ้วน ด้วยความฉลาดแหลมคมของพระพุทธเจ้าผู้เป็น “สยัมภู” หรือ “ผู้เป็นศาสดาของโลก” ท่านสอนให้ไปทางเหนือลม ไม่ให้ไปทางใต้ลม จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะกลิ่นซากศพที่ตายเก่าตายใหม่นั้นๆ

    เมื่อไปเจอซากศพเช่นนี้เข้าแล้ว ความรู้สึกเป็นอย่างไร แล้วให้ไปดูซากศพชนิดนั้นๆ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ให้ประมวลหรือ “โอปนยิโก” น้อมเข้ามาสู่ตัวเองซึ่งเป็นซากอันหนึ่ง ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้ เมื่อเราได้สักขีพยานคือตัวเราเอง ว่าซากศพที่อยู่ในป่าช้าภายนอกนั้นเป็นอย่างไรแล้ว น้อมเข้ามาสู่ป่าช้าภายในคือตัวเราเอง เมื่อได้หลักเกณฑ์ที่นี่แล้ว การเยี่ยมป่าช้านั้นก็ค่อยจางไป ๆ แล้วมาพิจารณาป่าช้านี้ให้เห็นชัดเจนขึ้นโดยลำดับ คือกายนี้เป็นบ่อปฏิกูลน่าเกลียด ต้องชะล้างอาบสรง ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา

    ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับทุกส่วนของร่างกายเรานี้ มีอะไรที่เป็นของสะอาด แม้เครื่องอุปโภคบริโภคเมื่อนำมาบริโภคก็กลายเป็นของปฏิกูล นับแต่ขณะเข้าทางมุขทวารและผ่านลงไปโดยลำดับ เครื่องนุ่งห่มใช้สอยต่างๆ มันก็สกปรก ต้องไปชะล้างซักฟอกยุ่งไปหมด ที่บ้านที่เรือนก็เหมือนกัน ต้องชะล้างเช็ดถูปัดกวาดอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นป่าช้าขึ้นที่นั่นอีก เพราะความสกปรกเหม็นคลุ้งทั่วดินแดน มนุษย์ไปอยู่ที่ไหนต้องทำความสะอาด เพราะมนุษย์สกปรก แน่ะ! ในตัวเราซึ่งเป็นตัวสกปรกอยู่แล้ว สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับตัวเรามันจึงสกปรก แม้แต่อาหารหวานคาวที่มีรสเอร็ดอร่อยน่ารับประทาน สีสันวรรณะก็น่าดูน่าชม พอเข้ามาคละเคล้ากับสิ่งสกปรกที่มีอยู่ภายในร่างกาย เช่น น้ำลาย เป็นต้น ก็กลายเป็นของสกปรกไปด้วย อาหารชนิดต่างๆ ที่ผ่านมุขทวารเข้าไปแล้ว เวลาคายออกมา จะนำกลับเข้าไปอีกไม่ได้ รู้สึกขยะแขยงเกลียดกลัว เพราะเหตุไร? ก็เพราะร่างกายนี้มีความสกปรกอยู่แล้วตามหลักธรรมชาติของตน อันใดที่มาเกี่ยวข้องกับร่างกายนี้จึงกลายเป็นของสกปรกไปด้วยกัน

    การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่า “พิจารณาป่าช้า” “พิจารณา อสุภกรรมฐาน”

    เอ้า กำหนดเข้าไป ในหลักธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร ดูทุกแง่ทุกมุมตามความถนัดใจ คือปกติเมื่อเราดูในจุดนี้แล้ว มันจะค่อยซึมซาบไปจุดนั้นๆ โดยลำดับ ถ้าสติกับความรู้สึกสืบต่อกันอยู่แล้ว ปัญญาจะต้องทำงานและก้าวไปไม่ลดละ จะมีความรู้สึกซาบซึ้งในการรู้จริงเห็นจริงโดยลำดับ นี่เป็นปัญญาระดับแรกของการพิจารณา

    เมื่อพิจารณาในขั้น “ปฏิกูล” แล้ว พิจารณาความเปลี่ยนแปรสภาพของร่างกาย คือความปฏิกูลก็อยู่ในร่างกายนี้ ป่าช้าผีดิบก็อยู่ในร่างกายนี้ ป่าช้าผีแห้งผีสดผีร้อยแปดอะไรก็รวมอยู่ในนี้หมด เวลานำไปเผาไปต้มแกงในเตาไฟ ไม่เห็นว่าเป็นป่าช้ากันบ้างเลย แต่กลับว่า“ครัวไฟ” ไปเสีย ความจริงก็คือป่าช้าของสัตว์นั่นแหละ และขนเข้ามาเก็บเอาไว้ที่นี่ (ท้องคน) ในหลุมในบ่ออันนี้เต็มไปหมด นี่ก็คือที่ฝังศพของสัตว์ต่างๆ เราดีๆ นั่นแลถ้าคิดให้เป็นธรรม คือให้ความเสมอภาค เพราะศพใหม่ศพเก่าเกลื่อนอยู่ที่นี่ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้วจะไม่เกิดความสะอิดสะเอียน ไม่เกิดความสังเวชสลดใจแล้วจะเกิดอะไร? เพราะความจริงเป็นอย่างนั้นแท้ๆ

    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ถึงความจริง เพราะความจริงมีอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่ปีนเกลียวกับความจริง ใครๆ ก็จะได้ปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นความสำคัญผิด อันเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาของตนออกได้เป็นลำดับๆ จิตใจจะมีความสว่างกระจ่างแจ้ง ฉายแสงออกมาด้วยความสง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญต่อความจริง ที่สัมผัสสัมพันธ์กับตนอยู่ตลอดเวลา พอใจรับความจริงทุกแง่ทุกมุมด้วยความเป็นธรรมไม่ลำเอียง แม้ยังละไม่ขาดก็พอมีความเบาใจ มีที่ปลงที่วางบ้าง ไม่แบกหามอุปาทานในขันธ์เสียจนย่ำแย่ตลอดไป แบบภาษิตท่านว่า “คนโง่นั้นหนักเท่าไรยิ่งขนเข้า” “ปราชญ์ท่านเบาเท่าไรยิ่งขนออกจนหมดสิ้น!”

    เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว จงพิจารณาความแปรสภาพของขันธ์ ขันธ์แปรทุกชิ้นทุกอันทุกสัดทุกส่วนบรรดาที่มีในร่างกายนี้ แม้แต่ผมเส้นหนึ่งไม่ได้เว้นเลย แปรสภาพเหมือนกันหมด อันไหนที่เป็นเรา อันไหนที่เป็นของเรา ที่ควรยึดถือ?

    คำว่า “อนตฺตา” ก็เหมือนกัน ยิ่งสอนย้ำความไม่น่ายึดถือเข้าไปอย่างแนบสนิท

    อนตฺตาก็อยู่ในชิ้นเดียวกัน ชิ้นเดียวกันนี่แหละที่เป็นอนตฺตา ไม่ใช่เรา! และของใครทั้งสิ้น! เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ๆ ที่คละเคล้ากันอยู่ตามธรรมชาติของตน ๆ ไม่สนใจว่าใครจะรักจะชัง จะเกลียดจะโกรธ จะยึดถือหรือปล่อยวาง

    แต่มนุษย์เรานั้นมือไวใจเร็ว อะไรผ่านมาก็คว้ามับ ๆ ไม่สนใจคิดว่าผิดหรือถูกอะไรบ้างเลย มือไวใจเร็วยิ่งกว่าลิงร้อยตัว แต่มักไปตำหนิลิงว่าอยู่ไม่เป็นสุขกันทั้งโลก ส่วนมนุษย์เองอยู่ไม่เป็นสุข ทุกอิริยาบถเต็มไปด้วยความหลุกหลิก คึกคะนองน้ำล้นฝั่งอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจตำหนิกันบ้างเลย “ธรรม” ที่ท่านสอนไว้ จึงเปรียบเหมือนไม้สำหรับตีมือลิงตัวมือไวใจคะนองนั้นแล!

    “ไตรลักษณ์” มี อนตฺตา เป็นต้น ท่านขู่ไว้ตบไว้ ตีข้อมือไว้ “อย่าไปเอื้อม!” ตบไว้ตีไว้ “อย่าไปเอื้อมว่าเป็นเราเป็นของเรา” นั่น! คำว่า “รูปํ อนตฺตา” ก็อุปมาเหมือนอย่างนั้นเอง “อย่าเอื้อม” “อย่าเข้าไปยึดถือ!” นั่น! ให้เห็นว่ามันเป็นอนตฺตาอยู่แล้ว นั่นแน่ะ! ธรรมชาติของมันเป็นอนตฺตา ไม่เป็นของใครทั้งหมด “อนตฺตา ไม่เป็นตน” ก็บอกอยู่แล้ว นี่คือการพิจารณาร่างกาย

    เอาละที่นี่กำหนดให้มันสลายไป จะสลายลงไปแบบไหนก็เอาตามความถนัดใจ อันนั้นเปื่อยลง อันนี้เปื่อยลง อันนั้นขาดลง อันนี้ขาดลง กำหนดดูอย่างเพลินใจด้วยปัญญาของตน อันนั้นขาดลง อันนี้ขาดลง ขาดลงไปจนขาดลงไปทุกชิ้นทุกอัน ตั้งแต่กะโหลกศีรษะขาดลงไป กระดูกแต่ละชิ้นละอันเมื่อหนังหุ้มมันเปื่อยลงไปแล้ว เนื้อก็เปื่อยลงไปแล้ว เส้นเอ็นที่ยึดกันขาดเปื่อยลงไปแล้ว มันทนไม่ได้ต้องขาดไป ๆ เพราะมีชิ้นติดชิ้นต่อกันอยู่อย่างนี้ด้วยเอ็นเท่านั้น เมื่อเส้นเอ็นเปื่อยลงไป ส่วนต่างๆ ต้องขาดลงไป ขาดลงไปกองอยู่กับพื้น และเรี่ยราดกระจัดกระจายเต็มบริเวณ มิหนำยังกำหนดให้แร้งกาหมากินและกัดทิ้งไปทั่วบริเวณ ใจจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

    เอ้า กำหนดดู! ส่วนที่เป็นน้ำมันก็กระจายลงไป ซึมซาบลงไปในดินด้วย เป็นไอขึ้นไปบนอากาศด้วย แล้วก็แห้งเข้าไป ๆ จนไม่ปรากฏสิ่งที่แข็ง เมื่อแห้งเข้าไปแล้วก็กลายเป็นดินตามเดิม ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ซอยลงไป อันใดก็ตามในธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟนี้ เป็นสิ่งประจักษ์ในทางสัจธรรมด้วยกันทั้งนั้น เราไม่ต้องคิดว่าเราพิจารณาดินชัด แต่ส่วนนั้นไม่ชัดส่วนนี้ไม่ชัด ไม่ต้องว่า พิจารณาให้มันชัดไปส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม มันต้องทั่วถึงกันหมด เพราะดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่เปิดเผยอยู่แล้วในสายตาของเราก็เห็น ภายในร่างกายนี้น้ำเราก็มีอยู่แล้ว ลมคือลมหายใจ เป็นต้น ก็มีชัดๆ เห็นชัดๆ อยู่แล้ว แน่ะ! ไฟคือความอบอุ่นในร่างกายเป็นต้น แน่ะ! ต่างก็มีอยู่แล้วภายในร่างกายนี้ ทำไมจะไม่ยอมรับความจริงของมันด้วยปัญญาอันชอบธรรมเล่า เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหนมันต้องยอมรับ ฝืนความจริงไปไม่ได้ เพราะต้องการความจริงอยู่แล้วนี่

    พิจารณาลงไป ค้นหาชิ้นใดว่าเป็นเราเป็นของเรา หาดูซิไม่มีเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ! มันเป็นสมบัติเดิมของเขาเท่านั้น คือดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมบัติเดิมของธาตุต่างๆ นี่อันหนึ่ง ดูอย่างนี้ จิตสงบแน่วลงไปได้ และไม่ใช่อารมณ์ที่พาให้จิตฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมคะนอง แต่เป็นธรรมที่ทำให้ใจสงบเย็นต่างหาก ท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ จนเป็นที่เข้าใจและชำนาญ

    เมื่อจิตได้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว จิตจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องถอนตัวเข้าไปสู่ความสงบแน่วแน่อยู่ภายใน ปล่อยความกังวลใดๆ ทั้งหมด นี่เป็นขั้นหนึ่งในการพิจารณาธาตุขันธ์!

    เอ้า วาระต่อไปพิจารณาทุกขเวทนา เฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือขณะที่นั่งมากๆ เกิดความเจ็บปวดมาก เอาตรงนี้แหละ ! นักรบต้องรบในเวลามีข้าศึก ไม่มีข้าศึกจะเรียกนักรบได้อย่างไร อะไรเป็นข้าศึก? ทุกขเวทนาคือข้าศึกของใจ เจ็บไข้ได้ป่วยมีทุกข์ตรงไหน นั้นแหละคือข้าศึกอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นนักรบเราจะถอยไปหลบอยู่ที่ไหน? ต้องสู้จนรู้และชนะด้วยความรู้นี้

    เอ้า เวทนามันเกิดขึ้นจากอะไร? ตั้งแต่เกิดมาจนเราเริ่มนั่งทีแรกไม่เห็นเป็น แต่ก่อนเรายังไม่เริ่มเป็นไข้ ไม่เห็นปรากฏทุกขเวทนาขึ้นมา นี่เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกขเวทนาจึงปรากฏขึ้นมา แต่ก่อนนี้มันไปหลบซ่อนอยู่ที่ไหน? ถ้าเป็นตัวของเราจริง จิตเรารู้อยู่ตลอดเวลา ทุกขเวทนาชนิดนี้ทำไมไม่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงมาปรากฏในขณะนี้? ถ้าทุกขเวทนาเป็นเรา เวลาทุกขเวทนาดับไปทำไมจิตจึงไม่ดับไปด้วย ถ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงๆ ต้องดับไปด้วยกัน จิตยังมีความรู้สึกอยู่ตราบใด ทุกขเวทนาก็ควรจะมีอยู่ตราบนั้น ถ้าเป็นอันเดียวกันแล้วไม่ควรดับไป ต้องพิจารณาดูให้ชัด และแยกดูกายด้วย ขณะที่ทุกข์เกิดขึ้น เช่น เจ็บแข้งเจ็บขา ปวดกระดูกชิ้นนั้นชิ้นนี้ จงกำหนดดูกระดูก ถ้ามันปวดกระดูกเจ็บกระดูกมากๆ ในเวลานั้น

    “กระดูกนี้หรือเป็นตัวทุกข์?” เอ้าถามดู และถามที่ตรงไหนให้จ่อจิตลงที่นั่นด้วยนะ อย่าถามแบบเผอเรอไปต่างๆ ให้ถามด้วย “จ่อจิตเพื่อรู้ความจริง” จ่อจิตแน่วอยู่กับทุกข์ จ้องอยู่กับกระดูกชิ้นนั้นท่อนนั้นที่เข้าใจว่าเป็นตัวทุกข์ ดูให้ดีว่ากระดูกชิ้นนี้หรือเป็นทุกข์ กำหนดดูเพื่อเป็นข้อสังเกตด้วยปัญญาจริงๆ ถ้ากระดูกนี้เป็นทุกข์จริงๆ แล้ว เวลาทุกข์ดับไปทำไมกระดูกนี้ไม่ดับไปด้วย นั่น! ถ้าเป็นอันเดียวกันจริง เมื่อทุกข์ดับไปกระดูกนี้ต้องดับไปด้วยไม่ควรจะยังเหลืออยู่ แต่นี่เวลาโรคภัยไข้เจ็บหายไป หรือเวลาเราลุกจากที่นั่งภาวนาแล้ว ความเจ็บปวดมากๆ นี้หายไป หรือทุกข์นี้หายไป กระดูกทำไมไม่หายไปด้วยถ้าเป็นอันเดียวกัน นี่แสดงว่าไม่ใช่อันเดียวกัน เวทนาก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับกาย กายก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับเวทนา กายกับจิตก็ไม่ใช่อันเดียวกัน ต่างอันต่างจริงของเขา แล้วแยกดูให้เห็นชัดเจนตามความจริงนี้ จะเข้าใจความจริงของสิ่งเหล่านี้โดยทางปัญญาไม่สงสัย

    เวทนาจะปรากฏเป็นความจริงของมัน ผลสุดท้ายการพิจารณาก็จะย่นเข้ามา ๆ ย่นเข้ามาสู่จิต เวทนานั้นจะค่อยหดตัวเข้ามา ๆ จากความสำคัญของจิต คือจิตเป็นเจ้าตัวการ จิตเป็นเจ้าของเรื่อง เราก็จะทราบ ทุกขเวทนาในส่วนร่างกายก็ค่อยๆ ยุบยอบ ค่อยดับไป ๆ ร่างกายก็สักแต่ว่าร่างกาย มีจริงอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ทุกขเวทนายังไม่เกิด แม้ทุกขเวทนาดับไปแล้ว เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก ส่วนไหนที่ว่าเป็นทุกข์ ก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้เป็นทุกข์นี่ กายก็เป็นกาย เวทนาก็เป็นเวทนา ใจก็เป็นใจ กำหนดให้เห็นชัดเจนตามเป็นจริงนี้ เมื่อจิตพิจารณาถึงความจริงแล้วเวทนาก็ดับ นี่ประการหนึ่ง

    ประการที่สอง แม้เวทนาไม่ดับก็ตาม นี่หมายถึงเวทนาทางกาย แต่ก็ไม่สามารถทำความกระทบกระเทือนให้แก่จิตได้ สุดท้ายใจก็มีความสงบร่มเย็น สง่าผ่าเผยอยู่ในท่ามกลางแห่งทุกขเวทนาซึ่งมีอยู่ภายในร่างกายของเรานี้ จะเป็นส่วนใดหรือหมดทั้งตัวก็ตามที่ว่าเป็นทุกข์ ใจของเราก็ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงอะไรทั้งหมด มีความเย็นสบาย เพราะรู้เท่าทุกขเวทนาด้วยปัญญาในเวลานั้น นี่คือการพิจารณาทุกขเวทนาที่ปรากฏผลอีกแง่หนึ่ง

    การพิจารณาทุกขเวทนา ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าใดสติปัญญาเราจะถอยไม่ได้ มีแต่ขยับเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อรู้ความจริง ไม่ต้องไปตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งความสำคัญมั่นหมายขึ้นว่า “ให้ทุกขเวทนาดับไป” ด้วยความอยากของตนนั้น จะเป็นเครื่องช่วยเสริมทุกขเวทนาให้หนักขึ้นโดยลำดับ ความจริงก็พิจารณาให้เห็นความจริงเท่านั้น ทุกข์จะดับหรือไม่ก็ตาม ขอให้ทราบความจริงที่เป็นทุกข์หรือเกิดทุกข์ขึ้นมา ด้วยการรู้เท่าทางปัญญาของเราเป็นที่พอใจ เรากำหนดที่ตรงนั้น และสิ่งเหล่านี้มันเกิดมันดับอยู่อย่างนั้นภายในขันธ์

    กายมันเกิดขึ้นมาเป็นเวลาชั่วกาลชั่วระยะก็แตกสลายลงไป ที่เรียกว่า “แตกดับ” หรือ “ตาย” ทุกขเวทนาเกิดร้อยครั้งพันครั้งในวันหนึ่ง ๆ ก็ดับร้อยครั้งพันครั้งเหมือนกัน จะจีรังถาวรที่ไหน เป็นความจริงของมันอย่างนั้น เอาให้ทราบความจริงของทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนด้วยปัญญาอย่าท้อถอยเลื่อนลอย สัญญามันหมายอะไรบ้าง สัญญานี่เป็นตัวการสำคัญมาก พอสังขารปรุงแพล็บเท่านั้นแหละ สัญญาจะยึดเอาเลย แล้วหมายนั้นหมายนี้ยุ่งไปหมด ที่ว่าพวกก่อกวนพวกยุแหย่ให้เกิดเรื่องนั้นให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็คือพวกนี้เอง คือพวกสังขารกับพวกสัญญา ที่สำคัญมั่นหมายว่านั้นเป็นเรานั้นเป็นของเรา หรือนั้นเป็นทุกข์ เจ็บปวดที่ตรงนั้นเจ็บปวดที่ตรงนี้ กลัวเจ็บกลัวตาย กลัวอะไรๆ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง กลัวไปหมด คือพวกนี้เป็นผู้หลอกให้กลัว จิตก็เลยหวั่นไปตามและท้อถอยความเพียรแล้วแพ้ นั่น! ความแพ้ดีละหรือ? แม้แต่เด็กเล่นกีฬาแพ้ เขายังรู้จักอับอายและพยายามแก้มือ ส่วนนักภาวนาแพ้กิเลสแพ้ทุกขเวทนา ไม่อายตัวเองและกิเลสเวทนาบ้าง ก็นับจะด้านเกินไป

    จงทราบว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการหนึ่งๆ ของจิตที่แสดงออกเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับ “สญฺญา อนตฺตา” นั่น ! มันก็เป็นอนตฺตาอย่างนั้นเอง แล้วไปถือมันยังไง ไปเชื่อมันยังไงว่าเป็นเราเป็นของเรา ว่าเป็นความจริง จงกำหนดตามให้รู้อย่างชัดเจน ด้วยสติปัญญาอันห้าวหาญชาญชัย ใจเพชรเด็ดดวงไม่ย่อท้อง้อกิเลสและเวทนาทั้งมวล สังขารความปรุง เพียงปรุงแพล็บๆๆ “ขึ้นมาภายในใจ” ใจกระเพื่อมขึ้นมา “แย็บๆๆ” ชั่วขณะ เกิดขึ้นในขณะไหนมันก็ดับไปขณะนั้น จะเอาสาระแก่นสารอะไรกับสังขารและสัญญาอันนี้เล่า

    วิญญาณเมื่อมีอะไรมาสัมผัส ก็รับทราบแล้วดับไป ๆ ผลสุดท้ายก็มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับเต็มขันธ์อยู่อย่างนี้ ไม่มีอันใดที่จีรังถาวรพอเป็นเนื้อเป็นหนังแก่ตัวเราอย่างแท้จริงได้เลย หาชิ้นสาระอันใดไม่ได้ในขันธ์อันนี้ เรื่องปัญญาจงพิจารณาให้เห็นชัดโดยทำนองนี้ จะเห็น “ธรรมของจริง” ดังพระพุทธเจ้าสอนไว้ไม่เป็นอื่นมาแต่กาลไหนๆ ทั้งจะไม่เป็นอื่นไปตลอดกาลไหนๆ อีกเช่นกัน

    เมื่อพิจารณาจนถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมจิตจะไม่หดตัวเข้ามาสู่ความสงบจนเห็นได้ชัดเจนเล่า ต้องสงบและต้องเด่น ความรู้สึกที่จิตนี้ต้องเด่นดวงเพราะหดตัวเข้ามา เพราะความเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ แล้ว จิตต้องเด่น เวทนาจะกล้าแสนสาหัส ก็จะสลายไปด้วยการพิจารณาเห็นประจักษ์อยู่กับจิตแล้วตามความจริง ถ้าไม่ดับก็ต่างคนต่างจริงใจ ก็มีความสง่าผ่าเผยอาจหาญอยู่ภายในไม่สะทกสะท้าน ถึงกาลจะแตกก็แตกไปเถอะ ไม่มีอะไรสะทกสะท้านแล้ว เพราะเรื่องแตกไปนั้นล้วนแต่เรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องผู้รู้คือใจนี้แตกไป ไม่ใช่ผู้รู้คือใจนี้ตายไป! มีแต่สิ่งเหล่านั้นเท่านั้นที่แตกดับสลายลงไป มีความสำคัญมั่นหมายของใจที่หลอกตนเองนี้เท่านั้นทำให้กลัว ถ้าจับจุดแห่งความสำคัญมั่นหมายนี้ว่าเป็นตัวมารยาที่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว จิตก็ถอยตัวเข้ามาไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ แต่เชื่อความจริงเชื่อปัญญาที่พิจารณาโดยตลอดทั่วถึงแล้ว

    เอ้า เมื่อจิตพิจารณาหลายครั้งหลายหนไม่หยุดไม่ถอย ความชำนิชำนาญในขันธ์ห้าจะปรากฏขึ้น รูปขันธ์จะถูกปล่อยไปก่อนด้วยปัญญาในขั้นเริ่มแรกพิจารณารูปขันธ์ ปัญญาจะรู้เท่าก่อนขันธ์อื่นและปล่อยวางรูปได้ จากนั้นก็ค่อยปล่อยเวทนาได้ สัญญาได้ สังขารได้ วิญญาณได้ในระยะเดียวกัน คือรู้เท่า พูดง่ายๆ พอรู้เท่าก็ปล่อยวาง ถ้ายังไม่รู้เท่ามันก็ยึด พอรู้เท่าด้วยปัญญาแล้วก็ปล่อย ปล่อยไปหมด เพราะเห็นแต่จิตกระเพื่อมแย็บๆๆ ไม่มีสาระอะไรเลย คิดดีขึ้นมาก็ดับ คิดชั่วขึ้นมาก็ดับ คิดอะไรๆ ขึ้นมาขึ้นชื่อว่าสังขารปรุงแล้วดับด้วยกันทั้งนั้นร้อยทั้งร้อย ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้นานพอจะเป็นสาระแก่นสารให้เป็นที่ตายใจได้เลย

    แล้วมีอะไรที่คอยป้อนหรือผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกมาเรื่อยๆ เดี๋ยวผลักดันสิ่งเหล่านี้และสิ่งเหล่านั้นออกมาหลอกเจ้าของอยู่เรื่อย นี่แหละท่านว่า “ประภัสสรจิต” จิตเดิมแท้ผ่องใส ภิกษุทั้งหลาย แต่อาศัยความคละเคล้าของกิเลส หรือความจรมาของกิเลส มาจากรูปเสียงกลิ่นรส จากเครื่องสัมผัสต่างๆ จรมาจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ไปกว้านเอามาเผาลนตัวเองนี่แหละ ที่มาทำให้จิตเศร้าหมอง เศร้าหมองด้วยสิ่งเหล่านี้เอง

    ดังนั้นการพิจารณา จึงเพื่อจะถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออกเพื่อเปิดเผยตัวจิตขึ้นมาด้วยปัญญาอย่างประจักษ์ จึงจะเห็นได้ว่า ในขณะจิตที่ยังไม่ได้ออกเกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆ เพราะเครื่องมือคืออายตนะยังไม่สมบูรณ์ ยังอ่อนอยู่ จิตประเภทนี้ย่อมสงบตัวและผ่องใส ที่เรียกว่า “จิตเดิมเป็นจิตผ่องใส” แต่เป็นจิตเดิมของ “วัฏจักร” เช่นจิตเด็กแรกเกิดนั้นแล ซึ่งความเคลื่อนไหวต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์พร้อมพอรับอารมณ์ต่างๆ ได้เต็มที่ ไม่ใช่จิตเดิมของวิวัฏจักรที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว

    ทีนี้เวลาพิจารณารอบไปโดยลำดับแล้ว อาการของกิเลสที่เคยเพ่นพ่านจะรวมตัวเข้าสู่จุดนั้น เป็นความผ่องใสขึ้นมาภายในใจ และความผ่องใสนี้แล แม้แต่เครื่องมือประเภท “มหาสติ มหาปัญญา” ก็ยังต้องลุ่มหลงความผ่องใสในระยะเริ่มแรกที่เจอกัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่เคยพบมาก่อนเลย นับแต่วันเกิดและเริ่มแรกปฏิบัติ จึงเกิดความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ ดูเหมือนสง่าผ่าเผยไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้ในขณะนั้น ก็จะไม่สง่าผ่าเผยยังไง เพราะเป็น “ราชาแห่งวัฏจักร” ทั้งสามโลก คือกามโลก รูปโลก อรูปโลก มาแล้วเป็นเวลานานแสนกัปนับไม่ได้โน่นน่ะ เป็นผู้มีอำนาจเหนือจิต ครอบครองจิตอยู่ตลอดมา ในเวลาที่จิตยังไม่มีสติปัญญาเพื่อถอนตัวออกจากใต้อำนาจนั้น ก็จะไม่สง่าผ่าเผยยังไง! จึงสามารถบังคับถูไถจิตให้ไปเกิดในที่ต่างๆ โดยไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แล้วแต่อำนาจแห่ง “วิบากกรรม” ที่ตนสร้างไว้มากน้อย เพราะกิเลสประเภทนางบังเงาเป็นผู้บงการ ความที่สัตว์โลกเร่ร่อนเกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็เพราะธรรมชาตินี้แลทำให้เป็นไป

    เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องพิจารณาให้เห็นชัด ความจริงแล้ว “ความผ่องใส” กับ “ความเศร้าหมอง” เป็นของคู่กัน เพราะต่างก็เป็นสมมุติด้วยกัน ความผ่องใสเพราะการรวมตัวของกิเลสต่างๆ นี้ จะเป็นจุดให้เราทราบได้อย่างชัดเจนว่า “นี้ คือจุดแห่งความผ่องใส” เมื่อมีความเศร้าหมองขึ้นมา ตามสภาพของจิตหรือตามขั้นภูมิของจิต ก็จะเกิดความทุกข์อันละเอียดในลักษณะเดียวกันขึ้นมาในจุดที่ว่าผ่องใสนั้นแล ความผ่องใส ความเศร้าหมอง และความทุกข์อันละเอียด ทั้งสามนี้เป็นสหายกัน คือเป็นคู่กัน เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นความผ่องใสนี้ จึงต้องมีความพะวักพะวนระมัดระวังรักษาอยู่ตลอดเวลา กลัวจะมีอะไรมารบกวนให้กระทบกระเทือน และทำให้จิตที่ผ่องใสนี้เศร้าหมองไป แม้จะเป็นความเศร้าหมองอันละเอียดเพียงใด แต่เป็นเรื่องของกิเลสที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรนอนใจทั้งนั้น จำต้องพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ไม่หยุดหย่อน

    เพื่อให้ตัดภาระกังวลลงไปโดยเด็ดขาด จงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า “ความผ่องใสนี้คืออะไร?” จงกำหนดให้รู้ ไม่ต้องกลัวความผ่องใสนี้จะฉิบหายวายปวงไป แล้ว “เราที่แท้จริง” จะล่มจมฉิบหายไปด้วย การพิจารณาจงกำหนดลงไปในจุดนั้นให้เห็นชัดเจน ความผ่องใสนี้ก็เป็น “อนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ อนัตตลักขณะ” เหมือนกันกับสภาพธรรมทั้งหลายที่เราเคยพิจารณามาแล้วไม่มีอะไรผิดกันเลย นอกจากมีความละเอียดต่างกันเท่านั้น จึงไม่ควรไว้ใจกับอะไรทั้งสิ้นขึ้นชื่อว่า “สมมุติ” แล้ว ปัญญาให้ฟาดฟันลงไป กำหนดลงไปที่ตัวจิตนี่แหละ สิ่งจอมปลอมแท้ๆ มันอยู่ที่ตัวจิตนี้เอง ความผ่องใสนั่นแหละคือตัวจอมปลอมแท้ ! และเป็นจุดเด่นที่สุดในเวลานั้นแทบไม่อยากแตะต้องทำลาย เพราะเป็นสิ่งที่รักสงวนมากผิดสิ่งอื่นใด ในร่างกายนี้ไม่มีอะไรที่จะเด่นยิ่งไปกว่าความผ่องใสนี้ จนถึงกับให้เกิดความอัศจรรย์ ให้เกิดความรักความสงวนอ้อยอิ่งอยู่ภายใน ไม่อยากจะให้อะไรมาแตะต้อง นั่นน่ะ จอมกษัตริย์คืออวิชชา !

    เคยเห็นไหม? ถ้าไม่เคยเห็น เมื่อปฏิบัติมาถึงจุดนี้ ก็จะหลงเองแล้วก็จะรู้เอง ไม่มีใครบอกก็รู้เมื่อสติปัญญาพร้อมแล้ว นี่แหละท่านเรียกว่า “อวิชชา” คือตรงนี้ที่เป็นอวิชชาแท้ ไม่ใช่อะไรเป็นอวิชชาแท้ อย่าพากันวาดภาพ “อวิชชา” เป็นเสือโคร่งเสือดาว หรือเป็นยักษ์เป็นมารไป ความจริงแล้วอวิชชา ก็คือนางงามจักรวาลที่น่ารักน่าหลงใหลใฝ่ฝันของโลกดีๆ นี่เอง อวิชชาแท้กับความคาดหมายผิดกันมากมาย เมื่อเข้าถึงอวิชชาแท้แล้ว เราไม่ทราบว่าอวิชชาคืออะไร? จึงมาติดกันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าไม่มีผู้แนะนำสั่งสอน ไม่มีผู้ให้อุบาย จะต้องติดอยู่เป็นเวลานานๆ กว่าจะรู้ได้พ้นได้ แต่ถ้ามีผู้ให้อุบายแล้วก็พอเข้าใจและเข้าตีจุดนั้นได้ ไม่ไว้ใจกับธรรมชาตินี้ การพิจารณาต้องพิจารณาเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลาย

    เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาอันแหลมคมจนรู้เห็นประจักษ์แล้ว สภาพนี้จะสลายตัวลงไปโดยไม่คาดฝันเลย ขณะเดียวกันจะเรียกว่า “ล้างป่าช้าของวัฏจักรของวัฏจิตสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้วใต้ต้นโพธิ์ คือความรู้แจ้งเห็นจริง” ก็ไม่ผิด เมื่อธรรมชาตินี้สลายตัวลงไปแล้ว สิ่งที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรมชาตินี้ซึ่งถูกอวิชชาปกปิดเอาไว้ จะเปิดเผยขึ้นมาอย่างเต็มตัวเต็มภูมิทีเดียว นี้แลที่ท่านว่า “เหมือนโลกธาตุหวั่นไหว” กระเทือนอยู่ภายในจิต เป็นขณะจิตที่สำคัญมากที่ขาดจาก “สมมุติ” ระหว่าง “วิมุตติกับสมมุติขาดจากกัน” เป็นความอัศจรรย์สุดจะกล่าว ที่ท่านว่า “อรหัตมรรคพลิกตัวเข้าถึงอรหัตผล” หมายความถึงขณะจิตขณะนี้เอง ขณะที่อวิชชาดับไปนั้นแล! ท่านเรียกว่ามรรคสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก้าวเข้าถึงอรหัตผล “อันเป็นธรรมและจิตที่สมบูรณ์แบบ” จากนั้นก็หมดปัญหา

    คำว่า “นิพพานหนึ่ง” ก็สมบูรณ์อยู่ภายในจิตดวงนี้ ขณะที่อวิชชากำลังสลายตัวลงไปนั้น ท่านเรียกว่า “มรรคกับผลก้าวเข้าถึงกัน” ซึ่งเป็นธรรมคู่ ถ้าเปรียบกับการเดินขึ้นบันได เท้าข้างหนึ่งกำลังเหยียบอยู่บันไดขั้นสุด เท้าอีกข้างหนึ่งก้าวขึ้นไปเหยียบบนบ้านแล้ว แต่ยังไม่ได้ก้าวขึ้นไปทั้งสองเท้าเท่านั้น พอก้าวขึ้นไปบนบ้านทั้งสองเท้าแล้ว นั้นแลเรียกว่า “ถึงบ้าน” ถ้าเป็นจิตก็เรียกว่า “ถึงธรรม” หรือบรรลุธรรมขั้นสุดยอด ขณะเดียวกับการบรรลุธรรมสิ้นสุดลง” ท่านเรียกว่า “นิพพานหนึ่ง” คือเป็นอิสระอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีกิริยาใดที่แสดงอีกต่อไปในการถอดถอนกิเลส นั่นท่านเรียกว่า “นิพพานหนึ่ง” จะว่า “อรหัตผล” ก็ได้ เพราะไม่มีกิเลสตัวใดมาแย้งแล้ว “นิพพานหนึ่ง” ก็ได้ แต่เมื่อจะแยกให้เป็นสมมุติโดยสมบูรณ์ตามหลักธรรมชาติ ไม่ให้มีความบกพร่องโดยทางสมมุติแล้ว ต้องว่า “นิพพานหนึ่ง” ถึงจะเหมาะเต็มภูมิ “สมมุติ” กับ “วิมุตติ” ในวาระสุดท้ายแห่งการล้างป่าช้าของ “จิตอวิชชา”

    พระพุทธเจ้าท่านว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี นี้หมายถึงความเป็นผู้สิ้นกิเลสของผู้ได้ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ซึ่งยังทรงขันธ์อยู่ ดังพระอรหันต์ท่าน

    การปฏิบัติศาสนาคือการปฏิบัติต่อจิตใจเราเอง ใครเป็นผู้รับทุกข์รับความลำบาก เป็นผู้ต้องหาถูกจองจำอยู่ตลอดเวลา คือใคร? ใครเป็นผู้ถูกจองจำถ้าไม่ใช่จิต! ใครเป็นผู้จองจำจิตถ้าไม่ใช่กิเลสอาสวะทั้งปวง! การแก้ก็ต้องแก้ที่ตัวของข้าศึกที่มีต่อจิตใจนั้นด้วยปัญญา มีปัญญาอันแหลมคมเท่านั้นที่จะสามารถแก้กิเลสได้ทุกประเภท จนกระทั่งสลายตัวเองไปดังที่กล่าวมาแล้ว หมดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น !

    เรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่เพียงอาการ ๆ เท่านั้น ไม่อาจมากระทบกระเทือนจิตใจให้กำเริบได้อีกเลย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างว่า “มีก็มี ไม่มีก็ไม่มีปัญหาอะไร มีแต่จิตไปสำคัญมั่นหมายเพราะความโง่เขลาของตน เมื่อจิตฉลาดพอตัวแล้ว จิตก็จริง สภาวธรรมทั้งหลายทั้งในและนอกก็จริง ต่างอันต่างจริงไม่ขัดแย้งกัน ไม่เกิดเรื่องกันดังที่เคยเป็นมา

    เมื่อถึงขั้นต่างอันต่างจริงแล้วก็เรียกได้ว่า “สงครามกิเลสกับจิตเลิกรากันแล้ว ถึงกาลสลายก็สลายไป เมื่อยังไม่ถึงกาลก็อยู่ไปดังโลกๆ เขาอยู่กัน แต่ไม่โกรธกันเหมือนโลกเขาเพราะได้พิจารณาแล้ว

    คำว่า “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ถ้าไม่หมายถึงขันธ์ที่เรารับผิดชอบนี้จะหมายถึงอะไร? เราก็เรียนจบแล้ว คือจบ “ไตรลักษณ์” ไม่ใช่จบพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกก็คือพระไตรลักษณ์อยู่นั่นเอง เนื่องจากพระไตรปิฎกพรรณนาเรื่องของพระไตรลักษณ์ตลอดเรื่อง

    อนิจฺจํ คือความแปรสภาพ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไม่ใช่เราอยู่แล้ว ยังอยู่ก็ไม่ใช่เรา ตายแล้วจะไปยึดอะไร เมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้วก็ไม่หวั่นไหวพรั่นพรึง ทั้งความเป็นอยู่แห่งขันธ์ ทั้งความสลายไปแห่งขันธ์ จิตเป็นแต่เพียงรู้ไปตามอาการที่ขันธ์เคลื่อนไหวและแตกสลายไปเท่านั้น ธรรมชาตินี้ไม่ได้ฉิบหายไปตามธาตุขันธ์ จึงไม่มีอะไรที่น่ากลัวในเรื่องความตาย เอ้า จะตายเมื่อไรก็ตายไปไม่ห้าม ยังอยู่ก็อยู่ไปไม่ห้าม เพราะเป็นความจริงด้วยกัน

    การเรียนให้จบเรื่องความตายเป็นยอดคน คือยอดเรา ผู้เรียนจบเรื่องความตายแล้วไม่กลัวตาย ยังเป็นอยู่ก็อยู่ไป ถึงวาระที่ตายก็ตายไป เพราะได้กางข่ายด้วยปัญญาไว้รอบด้านแล้ว เราจะไม่หวั่นไหวต่อความจริงนั้นๆ ซึ่งรู้อยู่กับใจทุกวันเวลานาทีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์

    เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร พอดีเทปก็หมด
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    "จิตผ่องใส กับจิตบริสุทธิ์"

    " .. "ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตเบื้องต้นเป็นประภัสสร" ไม่ได้หมายถึงว่า "จิตบริสุทธิ์ เป็นเพียงมีความผ่องใสเท่านั้น" แต่เป็นจิตที่ผ่องใสอยู่ในภาวะแห่งอวิชชาที่ครองตัวอยู่เท่านั้น "ไม่ได้เป็นจิตที่ผ่องใสเพราะอำนาจแห่งความบริสุทธิ์ ฉะนั้น จิตดวงนี้จึงควรที่จะถือกำเนิดเกิดได้" ในกำเนิดและสถานที่ต่าง ๆ เป็นธรรมดา

    "แต่ถ้าจิตได้ถูกซักฟอกด้วยอำนาจของสติและปัญญา แม้ความที่ว่าจิตผ่องใสนั้น ซึ่งติดสมมุติของอวิชชาสถิตอยู่ ก็ได้ถูกปัญญาพิจารณาจนรู้รอบไม่มีอันใดเหลือแล้ว กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมา"

    นั้นแลจึงไม่ใช่ฐานะที่จะก่อกำเนิดเกิดอีกเช่นที่เคยเป็นมา "จิตนี้เรียกว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ได้จริง ๆ เป็นจิตที่พ้นจากภาวะที่เคยเป็นมา" .. "

    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=805&CatID=2
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๘

    จิตเสื่อมเพราะขาดสติ


    หลักพุทธศาสนานี้สติเป็นพื้นฐานทีเดียว ออกกระจายไปหมดทั้งหน้าที่การงานการประพฤติตัว ต้องมีสติติดตามๆ สวยงามไปหมด ผลได้ไม่ค่อยผิดพลาด ไม่บกพร่อง สติเป็นสำคัญ เราไม่ลืมนะที่ได้นำมาสอนบรรดาพี่น้องลูกหลานอยู่เวลานี้ คือถอดออกจากหัวใจที่ลงจากเวทีมา แหม จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ คือฝังใจด้วยนะสดๆ ร้อนๆ ไม่มีคำว่าจืดชืด เจริญแล้วเสื่อมๆ ปีหนึ่งกับห้าเดือน เราไม่ลืมเลย โอ๋ย ทุกข์แสนสาหัส ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนกับว่า คนที่มีเงินเป็นล้านๆ แต่ไปถูกล่มจมลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้เงินจะมีอยู่ในบ้านเป็นแสนๆ ก็ตามไม่มีความหมาย มันจะไปอยู่ที่เงินสูญหายไปเป็นล้านๆ นั้นหมดหัวใจ สร้างฟืนสร้างไฟเข้ามาเผาตัวเอง เงินเหลือเป็นแสนๆ ไม่มีความหมาย นี่ได้คิดถึงขนาดนั้นเป็นข้อเปรียบเทียบ

    พวกตาสีตาสาเขาอยู่ตามท้องไร่ท้องนาเขา ไม่ได้มีเงินมีทองเป็นพันเป็นหมื่นอะไรเขาอยู่สบาย เรามีเงินเป็นล้านๆ แล้วไปถูกล่มจมลงไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้จะมีเงินอยู่ในบ้านเป็นแสนๆ ก็ตามไม่ได้มีความหมาย สู้ตาสีตาสาเขามีเงินสิบบาทร้อยบาทอยู่ในบ้านไม่ได้นะ เขาไม่ทุกข์ เรานี้ทุกข์แสนสาหัสเลย จึงไม่ลืม นี่ละที่เด็ดอันนี้ เราก็เลยย้อนไปหาในคัมภีร์ พระโคธิกะฌานท่านเสื่อม ๖ หน เจริญแล้วเสื่อมๆ นี่ละที่ท่านทุกข์มาก เราเอาเข้ามาหาเราได้ทันที เจริญแล้วเสื่อมๆ ดูว่าหนที่หกท่านทนไม่ไหม ท่านเอามีดเฉือนคอเจ้าของเลย แต่ท่านมีนิสัยนะ เอามีดเฉือนคอเลือดกระฉูดออกมามองเห็น พิจารณาอยู่นั้นบรรลุธรรมปึ๋งเดี๋ยวนั้นเลย

    นี่เรื่องพระโคธิกะก็พิสดารอยู่ ท่านบอกไว้ในตำราว่า พญามารมาคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะ ตายแล้วไปไหน แผ่รัศมีออกจนกระทั่งมืดฟ้ามัวดินไปหมด รัศมีของพญามารที่คุ้ยเขี่ยหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะว่าตายแล้วไปไหน พระพุทธเจ้าก็รับสั่งแบบว่าตวาดลงมาเลย เออ พญามาร ถ้าเป็นภาษาหลวงตาบัวแล้วก็จะซ้ำเข้าอีกทีหนึ่ง แต่พระองค์พูดโดยสุภาพหรือพระองค์จะเน้นหนักยิ่งกว่าเราก็ได้ แต่ตำราท่านบอกมาเป็นกลางๆ เพื่อให้สุภาพ พญามาร เธอจะไปค้นหาอะไรจิตวิญญาณของพระโคธิกะลูกเราตถาคต เธอนิพพานไปแล้ว ถ้าเป็นเราจะว่า เธอจะมายกโคตรยกแซ่เธอมาคุ้ยเขี่ยหาก็มา หรือเธอมีกี่โคตรกี่แซ่ให้มาคุ้ยเขี่ยหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะ ไม่มีหวัง ถ้าเป็นหลวงตาบัวพูด คือคำพูดเหล่านี้พูดเพื่อให้เน้นหนัก ยกทัพมาเท่าไรมาค้นก็ไม่เห็น อย่าว่าแต่พญามารเท่านั้น เสนามารอะไรๆ มาทั้งหมดก็ไม่เจอ

    เราย่นเข้ามาถึงเรื่องความเสียใจของท่าน ท่านทนไม่ไหวฌานเสื่อม ฌานก็คือสมาธิ ฌาน แปลว่า การเพ่ง สมาธิมีจุดที่สงบเย็น จิตมันจ้ออยู่นั้นเรียกว่าสมาธิ เรียกว่าฌาน ในศัพท์นี้ได้ทั้งนั้น ทีนี้ก็มาเข้ากับเราเรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เข้ากันได้ ที่จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ จิตเราเจริญก็เคยเล่าให้ฟังแล้ว เราไม่รู้จักรักษา เพราะไม่เคยรู้ไม่เคยเป็น นึกว่ามันจะไม่เสื่อมอย่างนั้นเราก็เลยรามือบ้างมาทำกลดหลังหนึ่ง นั่นแหละตัวเหตุ จิตมันก็ไปจ่ออยู่ที่กลดไม่ได้มาจ่ออยู่ที่นี่ ทีนี้จิตขาดการอารักขามันก็เสื่อม

    พอเข้าสมาธิได้บ้างไม่ได้บ้างเท่านั้น ไม่ได้มากอะไรนะ พอเข้าได้บ้างไม่ได้บ้างเท่านั้นก็รีบร้อยกลดทันทีๆ โอ๋ย ไม่ได้จิตเราเสื่อมแล้ว โดดผึงออกเลยซัดกันใหญ่ สู้มันไม่ได้ นี่ละเรื่องจิตเสื่อม มันก็เสื่อมเลยที่นี่ โถ เสียใจเสียจน... อะไรๆ ไม่มีความหมายในโลกนี้ เสียดายจิตอันนั้นที่ปรากฏว่ามันเลิศเลอ ที่เสื่อมไปนั้นนะ ก็สมาธิเรานั้นแหละ แต่สมาธิขั้นนี้มันแน่นปึ๋งเราจึงตายใจนึกว่าจะไม่เสื่อม เวลามันเสื่อมเพียงยิบแย็บๆ เท่านั้นเราก็รีบออกเลย มันลงหมดเลยไม่มีเหลือ นี่ละที่ว่าเรามีเงินเป็นล้านๆ ไปถูกล่มจมลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้จะมีเงินอยู่ในบ้านในเรือนเป็นแสนๆ ก็ไม่มีความหมาย ความทุกข์ไปรวมอยู่กับจำนวนเงินเป็นล้านๆ นั้นที่สูญหายไปนั้นหมดเลย นี่ละกองทุกข์เกิดขึ้นมา สู้เขามีเงินสิบบาทยี่สิบบาทไม่ได้ เขาไม่ได้ทุกข์เหมือนเรา เราทุกข์มากที่สุด

    แต่ความเพียรมันไม่ถอยเท่านั้นแหละ ถ้าความเพียรถอยตายเลยนะ ความเพียรไม่ถอย เสื่อมลงไป เอ้า เอาอีกซัดอีก ได้ ๑๔-๑๕ วันหมุนกันเต็มเหนี่ยวๆ ไปถึงขั้นนั้นแล้วทีนี้มันไม่เหมือนเก่าซี พอเข้าเฉียดๆ ชานเมืองไม่ใช่ตัวเมืองคือสมาธิ สมาธิคือตัวเมือง เข้าไปชานเมือง อยู่ได้สองคืนเท่านั้นเสื่อม เสื่อมลงแบบกลิ้งครกลงจากภูเขาละ ผึงเลยเทียวไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น ผึงลงเลย แหม แบกความเสียอกเสียใจ ความทุกข์ความทรมานใจ นี่ก็พยายามไสเข้าอีกอย่างนั้นมา เจริญแล้วเสื่อมเราอย่าว่าเลยห้าหนหกหน มันปีหนึ่งกับห้าเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกาจนกระทั่งเดือนเมษาปีต่อไป ปีหนึ่งกับห้าเดือนที่ไสครกขึ้นภูเขาแล้วมาทับหัวเจ้าของลงไป ไสครกขึ้นภูเขาเวลาลงมาทับหัวเราลงไป นี่เป็นทุกข์แสนสาหัสเราไม่ลืม สดๆ ร้อนๆ จนกระทั่งทุกวันนี้

    ทีนี้พอมันเป็นอย่างนั้นแล้วก็มาพิจารณา คือเรากำหนดจิตโดยเฉพาะ สติอยู่กับจิตๆ มันเผลอไปได้นะ มันมีเผลอไปได้ ความเผลอไปนั้นกิเลสเผาแล้วๆ เสื่อมได้เลย มันจะเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำบริกรรมหรือยังไงน้า ใช้ความใคร่ครวญดู จิตของเราถึงได้เสื่อมได้ มีทางเสื่อมได้อย่างนี้ละมั้ง เอา แต่นี้ต่อไป มีทางเดียวเท่านี้ละ คือทางคำบริกรรมกับสติ เอาตรงนี้ละ อย่างอื่นเราพิจารณาหาไม่เห็น เราก็ตั้งใจอยู่เต็มเหนี่ยว ๑๔-๑๕ วันเจริญขึ้นแล้วลง อยู่ได้เพียงสองคืนหรือสามคืนลง เอาจุดนี้ละ แต่ต้องเรียนให้ทราบนิสัยของหลวงตานี้พูดจริงๆ มันจริงมากนะ ว่าอะไรขาดสะบั้นไปเลย นี่ลงวินิจฉัยใคร่ครวญดู พอลงตัวแล้วว่าเอาจุดที่ว่าคำบริกรรมติดกับจิต แล้วสติครอบอยู่ในจิตนี้เลย ไม่ให้มันเผลอเลยที่นี่ เอ้า มันจะเสื่อมไปทางไหน ความเสื่อมความเจริญเราไม่เอามาเป็นอารมณ์ เราจะจับอยู่กับคำว่าพุทโธกับสติติดกับหัวใจนี้เท่านั้น มันจะเสื่อมไปไหนให้เสื่อม มันเจริญก็ให้เจริญไป เราอยากให้มันเจริญพอแล้ว ไม่อยากให้เสื่อมก็พอแล้ว มันไม่ได้ฟังเสียงเรา ทีนี้เราไม่ยุ่งไม่เป็นอารมณ์ แล้วไม่เป็นจริงๆ นะ มันจะเสื่อมจะอะไรเราไม่สนใจ เอากับพุทโธติดแนบเลย

    ทีนี้มันเป็นเหมือนระฆัง เหมือนนักมวยเขาจะต่อยกัน พอระฆังเป๋งเท่านั้นก็ซัดกันเลยนักมวย อันนี้ก็พอลงใจแล้วเอาละนะ นั่นละเรียกว่าระฆังดังเป๋ง สติจับปุ๊บกับคำบริกรรม ตั้งแต่นี้เผลอไปไม่ได้เลย แล้วไม่เผลอจริงๆ นะ ตั้งแต่กำหนดปั๊บนั้นแล้วไม่มีเผลอเลย ทั้งวันเผลอไปไม่ได้ นี่ละทุกข์มากที่สุด คือควบคุมจิตที่กิเลสตัวสังขารมันผลักดันออกมาอยากคิดอยากปรุง มันดันเข้ามาๆ เหมือนหัวอกจะแตกนะ นี่เราถึงได้เห็นอำนาจของกิเลสมันมาทางสังขารความคิดปรุง อวิชชาดันออกมาๆ มันดันขึ้นมา

    ทางนี้พุทโธคำบริกรรมปิดช่องมันไว้ ไม่ให้มันออก สติติดแนบอยู่นั้น มันก็ โหย เหมือนอกจะแตกนะ มันดันมันจะออก ไม่ยอมให้ออก ซัดกันทั้งวันตลอดหลับ ไม่มีคำว่าเผลอเลย นู่นฟังซิมันเอากันขนาดไหน หนักขนาดไหน จึงว่าไม่มีคำว่าเผลอเลย เผลอไม่ได้ว่างั้นเลย ระฆังดังเป๋งต่อยละ หมดทั้งวันเอาเต็มเหนี่ยววันนี้ พอวันที่สองมา ตื่นนอนปั๊บจับปุ๊บเลยนะ ทีนี้เผลอไปไม่ได้อีกเหมือนกัน ซัดลงไปถึงประมาณสักสามวัน ความผลักดันมากๆ นี่ค่อยอ่อนลงๆ สติกับคำบริกรรมนี้ไม่มีคำว่าเผลอเลย ติดกันตลอด นี่ฟังซิ เผลอไม่ได้

    บิณฑบาตเขาจะเอาอะไรใส่ไม่สนใจ คำวาพุทโธกับสติติดแนบกันนี้ติดตลอด ไปบิณฑบาตเขาเอาอะไรใส่บาตรไม่สนใจ ไม่ให้เผลอเลย ฉันอยู่ก็เผลอไม่ได้ ทำอะไรเผลอไม่ได้ ประมาณสักสามวันล่วงไปแล้วค่อยเบาลงๆ ทีนี้ก็เน้นหนักเข้าไปทางสติ จนกระทั่งมันพอรามือมันจึงจะมีเผลอได้ละ ในระยะที่ชุลมุนกันอยู่นี้เผลอไม่ได้เป็นอันขาด ซัดกัน ทีนี้จิตก็ค่อยสงบเข้าไปๆ เห็นความสงบละที่นี่ สังขารที่มันปรุง สังขารกิเลสที่มันปรุงนั้นเบาลงๆ จิตก็ละเอียดเข้าไปๆ ซัดเข้าไปจนกระทั่งถึงคำที่เราบริกรรมติดกันอยู่มาหลายวันๆ ทีนี้พอมันได้จังหวะแล้วมันละเอียดมันก็ลงซิ มันรวม

    ละเอียดเข้าไปๆ ปั๊บจนกระทั่งคำบริกรรมคิดไม่ออกเลย หมดคำบริกรรม พุทโธๆ นี่ติดมากี่วัน พอจิตมันเข้าขั้นละเอียดแล้วทีนี้คำว่าพุทโธนี้ จิตละเอียดแล้วไม่ปรุงนะ ปรุงอะไรก็ไม่ออก ไม่มี เกิดความสงสัย ทั้งๆ ที่สงสัยก็ไม่ยอมให้เผลอ ฟังซิน่ะ เอ๊ ทำไมจิตของเราก็บริกรรมมาจนกระทั่งขนาดนี้ แล้วพอถึงนี่แล้วมันถึงบริกรรมไม่ได้นะ เอาบริกรรมไม่ได้ก็ความที่สง่างามอยู่ภายในจิตละเอียดลออนั้นมีอยู่ เอาสติจับตรงนี้แทนคำบริกรรม ก็จับไว้นั้นอีก ไม่ให้เผลออีกเหมือนกัน จนกระทั่งมันได้จังหวะแล้วก็เหมือนคนตื่นนอน พอตื่นนอนแล้วจิตคลี่คลายออกมาแล้วเอาพุทโธติดเข้าไปอีก

    นี่เล่าความละเอียดให้ท่านทั้งหลายฟัง วิธีการที่เราดำเนินซึ่งตั้งตัวได้เพราะเหตุนี้เอง ทีนี้พอมันคลี่คลายออกมาก็เอาพุทโธติดเข้าไป ติดเข้าไปเรื่อย คำว่าเผลอไม่ให้มีเลย ซัดกันนี่ทุกข์ที่สุดเลย เรื่องทุกข์แสนทุกข์ แต่มันไม่ได้สนใจความทุกข์ มันสนใจแต่งานที่ทำ ครั้นต่อไปก็ค่อยเจริญขึ้นๆ พอเจริญขึ้น เอาเจริญก็เจริญ เสื่อมก็เสื่อม คำบริกรรมนี้เป็นอันว่าคอขาดไปด้วยกัน จากนั้นพอถึงขั้นที่มันเจริญขึ้นไปได้สองคืนแล้วเสื่อม เอาเสื่อมไปเราไม่เสียดายมัน มันเคยเสื่อมมาพอแล้ว สร้างกองทุกข์ให้เรามากแล้ว เราไม่สนใจ เราจะจับพุทโธคำบริกรรมนี้ติดอยู่อย่างเดียวเท่านั้น

    พอถึงนั่นแล้วมันไม่เสื่อมแล้วที่นี่ เสื่อมไม่เสื่อมเราก็ไม่อาลัยกับมันแล้ว เราปล่อยมันแล้ว มีแต่คำบริกรรม ทีนี้จิตไปถึงขั้นที่ควรจะเสื่อมแล้วไม่เสื่อมนะ ค่อยเจริญขึ้นๆ ดูเรื่อยๆๆ สตินี้ติดตลอดเลย จนกระทั่งมันก้าวผ่านนั้นไปแล้ว พอเป็นที่เบาใจลงได้แล้วจึงมาพิจารณาย้อนหลัง อ๋อ ที่จิตของเราเผลอ ทำให้จิตเสื่อมลง อยู่ได้สองคืนสามคืนเสื่อมลงเพราะการขาดสตินี่เอง สติอาจแย็บออกไปนั้น กิเลสเข้ามาเผาได้ตอนนั้น ทีนี้กิเลสเผาไม่ได้ จิตได้รับการควบคุมรักษาก็เจริญขึ้นอย่างนี้ ก็ก้าวขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสติที่ว่านี่นะ

    กิเลสมันจะหนาแน่นขนาดไหนขนาดอกจะแตก สู้สติไม่ได้นะ สติบังคับไม่ให้ออก มันออกไม่ได้ มันออกไม่ได้ก็ไม่ออกทำงานกว้านเอาฟืนไฟมาเผาเรา มีแต่จิตทำงานด้วยธรรม สร้างธรรม พุทโธนั่นละเรียกว่างานของจิต สติธรรม พุทโธติดกันไปเรื่อยๆ จิตก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่นั่งหามรุ่งหามค่ำละ ไม่ถอยเลย พอจิตสงบลง เย็นลง ตายใจได้ สบายใจได้แล้ว ทีนี้ก้าวเข้าสู่การนั่งหามรุ่งหามค่ำเลย เอาจนกระทั่งก้นแตก เอา เป็นยังไงเป็นกัน

    นี่เรายังได้คิดอีกนะว่า จิตของเราเมื่อเจริญแล้วอย่างนี้จะเสื่อมไปไม่ได้ นี่ละทำให้เราคิดถึงพระโคธิกะ ถ้าเสื่อมคราวนี้เราจะทนอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ เราต้องตาย จะตายแบบไหนมันคงจะเหมือนพระโคธิกะ เพราะเราเชื่อนิสัยเราว่าอะไรเป็นอย่างนั้นจริงๆ ว่าควรตายตายจริงๆ เอาถ้าเสื่อมแบบนี้เราต้องตาย ถ้าเราไม่ตายจิตเราจะเสื่อมไม่ได้ มันก็เหมือนกับว่าโทษอุกฉกรรจ์ เขามัดคอมันแข้งมัดขาไว้หมด นี่สติความรอบคอบ ความอารักขาจิตใจ มัดไว้ตลอด จิตมันก็ไม่เสื่อม ถ้าหากว่าจิตเสื่อมคราวนี้เราจะตายแล้วนะ เป็นพระโคธิกะแน่นอน แต่พระโคธิกะตายท่านสำเร็จมรรคผลนิพพาน เราตายนี้จะลงนรกหรือลงไหนไม่ทราบ

    มันทนไม่ไหวแล้วทุกข์มาแสนสาหัส ได้ปีหนึ่งกับห้าเดือน เราจะทนทุกข์ทรมานไปอีกได้ยังไง เพราะฉะนั้นเอาคำว่าจิตเสื่อมไม่ได้เป็นประกันเลย ซัดกันเลย นั่นละมันถึงได้ก้าวขึ้นสู่นั่งหามรุ่งหามค่ำ ไปถึงนู้นจิตลงจ้าขนาดนั้น บอกว่าไม่เสื่อม ส่วนใหญ่มันก็ไม่เชื่อ เพราะเราเคยเข็ด ความเคยเข็ดนั่นละไม่เชื่อ ซัดกันเรื่อยๆ ท่านทั้งหลายจำเอานะการภาวนา เราทำเป็นแบบฉบับได้ เราเอาตัวเราเป็นแบบฉบับเรา และเป็นแบบฉบับของพี่น้องทั้งหลาย การสอนจึงไม่ผิด

    สติเป็นสำคัญมากทีเดียว เราตั้งตัวได้ด้วยสติ กิเลสมันจะหนาแน่นถึงขนาดอกจะแตกมันดันอยากคิด สติครอบเอาไว้ไม่ยอมให้ออก กิเลสก็ออกไม่ได้ กิเลสออกทำงานไม่ได้ สติก็ทำงานได้ คำบริกรรมก็ทำงานได้ สร้างธรรมขึ้นในใจได้ สร้างความสงบขึ้นได้ในขณะเดียวกัน ให้ท่านทั้งหลายจำให้ดี เราได้เห็นโทษของมันเรื่องจิตของเราเสื่อม ปีหนึ่งกับห้าเดือน อย่าพูดเลยว่า ๖ หนเหมือนพระโคธิกะ เรามันมากกว่านั้น ทนทุกข์ทรมาน อยู่ไหนหาความสบายไม่ได้เลย จิตเสื่อมนี้เป็นทุกข์มากที่สุด

    เวลาธรรมดาเราไม่ได้จิตมีสมาธิอย่างนั้นก็อยู่เหมือนเราๆ ท่านๆ อยู่กัน ก็ไม่เห็นทุกข์อะไรมากนัก เป็นธรรมดาเหมือนโลกทั่วๆ ไป แต่พอได้จิตขั้นนี้ขึ้นมาแล้วมันเสื่อมลงไปนี้ แหม ทุกข์เอาเหลือประมาณ จึงได้เอากันอย่างหนัก นี้จึงเน้นหนักถึงเรื่องสตินะ ขอให้สติดีเถอะกิเลสจะกำเริบไปไม่ได้ มันจะหนาแน่นขนาดไหนสติติดแล้วกิเลสจะออกมาเพ่นพ่านไม่ได้ เราได้จับติดแล้วทำแล้ว ถึงขนาดอกจะแตก คือสังขารมันอยากคิดอยากปรุง อยากรู้อยากเห็น เป็นทางของกิเลสออกทำงานเพื่อกว้านฟืนไฟมาเผาเรา แต่ไม่ยอมให้ออก ช่องมันออกนั้นเอาพุทโธปิด สติติดแนบเข้าไปอีก มันเลยไม่ออก จึงเหมือนว่าอกจะแตก มันดันมันอยากออก ไม่ยอมให้ออก แล้วมันก็สงบของมันลงไปเอง ไม่เห็นมันผาดโผน เหยียบสติ ข้ามสติไปได้

    สติจึงสำคัญมาก กิเลสจะใหญ่โตขนาดไหนก็ใหญ่เถอะ ขอให้มีสติจับติดกิเลสฝืนไม่ได้เลยเชียว จำให้ดีคำนี้นะ เราได้ทำมาแล้ว ฝืนไม่ได้จริงๆ จนอกจะแตกมันยังสงบของมันลงได้ด้วยอำนาจสติไม่ปล่อย ปิดไว้เลยไม่ให้มันออก วันนี้พูดเพียงเท่านี้ให้เป็นคติแก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย พวกปฏิบัติในครัวให้เอาจริงเอาจังนะ อย่าเหลาะแหละๆ โลเลโลกเลกไม่ได้นะ จิตใจนี้สร้างฐานให้ได้สาระ สร้างสาระให้ได้ สร้างความเลวทรามมันสร้างมาพอแล้วละ เอาให้ดีซิเป็นยังไง ธรรมพระพุทธเจ้าแข่งกับกิเลสเป็นยังไง แต่ก่อนจิตนี้มันเป็นคลังกิเลส ฟัดลงไป ฆ่ากิเลสฉิบหายหมดแล้ว เป็นคลังของธรรมขึ้นมาต่างกันยังไงบ้างจิตดวงนี้ ให้เห็นอย่างนั้นซี มีเท่านั้นละ มีอะไรอีกไหม

    วันนี้สอนเป็นแบบฉบับจริงๆ ใครอย่าปล่อยนะ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะพออยู่เย็นเป็นสุขและตั้งตัวได้ ถ้าผู้ที่ควรผ่านๆ ผ่านได้ถึงนิพพานเลย สติเป็นสำคัญมาก วางไม่ได้เลยสติ ตั้งแต่พื้นๆ จนกระทั่งถึงนิพพาน สตินี้จะปล่อยไม่ได้เลย สำคัญขึ้นเป็นลำดับ คิดดูสติขั้นนี้แล้ว ต่อไปสติหนาแน่นขึ้นไปกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ทำงานเอง เป็นสติเอง ไม่ได้เผลอเลย เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ไม่มีคำว่าเผลอ เป็นเอง นี่ถึงขั้นเป็นเอง ไม่ตั้งก็เป็น สติก็จำเป็นอยู่อย่างนี้ จากนี้ก็ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา เมื่อกำลังของสติปัญญาอัตโนมัตินี้แก่กล้าแล้ว เชื่อมเข้าไปถึงมหาสติมหาปัญญา ทีนี้พูดไม่ได้เลย ซึมซาบไปหมดเลยมหาสติมหาปัญญา พูดได้แต่เพียงว่าซึมซาบ ไม่มีคำว่าสับยำเหมือนสติปัญญาอัตโนมัติ ยังมีสับมียำ พอถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้วซึมไปเลย กิเลสอยู่ที่ไหนขาดไปเลย ถูกเผาแหลกๆ

    ถึงขั้นนี้แล้ว จากนี้ปั๊บก็พ้นเลย จิตพ้น ให้จำเอานะ เราตั้งสติตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลาน จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญา ซึมเลย กิเลสตัวใดผ่านไม่ได้เลย ถึงขั้นนั้นแล้วผ่านไม่ได้ เรียกว่ามันเผาโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เราตั้งหน้าจะเผานะ เผาอัตโนมัติกับเสาะแสวงหากิเลส นี่ก็เป็นอัตโนมัติ เจอกิเลสก็ฟัดกันเป็นอัตโนมัติไปเลย ถึงขั้นธรรมเป็นอัตโนมัตินี้เป็นอย่างนี้ ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ กิเลสเป็นอัตโนมัติในหัวใจเราเป็นอย่างไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งนั้น เวลามันเป็นอัตโนมัติ จะคิดจะปรุงจะรู้จะเห็นสิ่งใดๆ กิเลสจะออกก่อนๆ ทำงานหมด เป็นอัตโนมัติของมัน แต่เราไม่ทราบว่ากิเลสสร้างตัวของมันบนหัวใจโดยอัตโนมัติ

    นี่เราก็ไม่ทราบแต่ก่อน แต่พอจิตขั้นนี้ขึ้นมาๆ มันแก้กิเลสโดยอัตโนมัตละซิที่นี่ อยู่ที่ไหนแก้แต่กิเลส ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจก็ตามมันหากหมุนของมันเพื่อฆ่ากิเลสตลอดๆ จนกระทั่งถึงขั้นซึมซาบของมหาสติมหาปัญญา เป็นเรื่องฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติทั้งนั้นๆ นี้มันก็พูดกันได้ แต่ก่อนกิเลสทำงานบนหัวใจเราเป็นอัตโนมัติ ทีนี้ธรรมทำงานฆ่ากิเลสบนหัวใจเราเป็นอัตโนมัติเหมือนกันมันก็รู้ คำนี้เราไม่ได้มาจากไหน ในคัมภีร์ท่านก็ไม่มี คัมภีร์เราก็เรียนมาแต่ไม่เห็นนะ แต่ก็มาเห็นมาเจอเอาที่หัวใจของเรา

    ตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลานที่ว่าตั้งสติ ระฆังเป๋งตั้งนั่นละ จำให้ดีนะ จนกระทั่งถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา เราคนเดียวเป็นผู้ดำเนิน เราคนเดียวเป็นผู้รู้ผู้เห็น ฆ่ากิเลสก็เป็นเราคนเดียว ตั้งแต่ขั้นกิเลสมันผาดโผนโจนทะยาน สติปัญญานี้ล้มลุกคลุกคลานก็รู้ในตัวเอง พอจากนั้นไปก็ค่อยราบรื่นๆ สติปัญญาราบรื่นแล้วกิเลสหมอบลงๆ เอาจนกระทั่งค้นหากิเลสไม่เจอ มีแต่เรื่องอัตโนมัติของสติปัญญา เพราะฉะนั้นสติจึงสำคัญมาก ปัญญานี้จะออกเป็นบางกาลบางเวลา พอถึงขั้นเข้าไปหามหาสติมหาปัญญาแล้วนั้น เป็นอัตโนมัติ กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ทั้งสติทั้งปัญญากลมกลืนเป็นอันเดียวกันเลย

    ให้เป็นอยู่ในหัวใจ ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนก็รู้เองๆ นี่ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่จริงจังมาก รู้จริงๆ เห็นจริงๆ ละกิเลสได้จริงๆ ท่านจึงสอนว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือแบบแปลนแผนผัง ตำรับตำราแสดงเรื่องบาป บุญ มรรคผลนิพพานไว้ เรานำเอาตำรามาปฏิบัติ ทีนี้ก็ปรากฏเป็นผลขึ้นมา เหมือนเราเอาแปลนมาปลูกบ้านสร้างเรือน จะเอาขนาดไหนๆ สร้างตามแปลนมันก็สำเร็จเป็นบ้านเรือนขึ้นมา อันนี้จิตของเราสร้างตัวเองด้วยภาคปฏิบัติก็ปรากฏผลขึ้นมา ปฏิเวธๆ แปลว่าเห็นผลขึ้นมาเป็นลำดับ อย่างเขาสร้างบ้านสร้างเรือน ก็เห็นมาตั้งแต่เขาขุดดินเทเสาเทคาน ก็เห็นเป็นผลมา เออ วันนี้ได้แค่นี้ วันนั้นได้แค่นั้น เห็นผล นี่เรียกว่าปฏิเวธ ความรู้ผลของงานของตัวเอง

    ออกภาคปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธก็ติดกันไป นั่นละขึ้นแล้วมรรคผลนิพพาน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ธรรมทั้งสามประเภทนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกธรรมทั้งสามนี้ออกแล้ว ศาสนาไม่เต็มบาทเต็มเต็งนะ มีแต่ปริยัติเรียนจำมาเฉยๆ ใครก็เรียนได้จำได้ เด็กก็เรียนได้ ผู้ใหญ่เรียนได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้จำได้ด้วยกัน สำคัญที่ภาคปฏิบัติ ถ้าไม่นำไปปฏิบัติก็จำได้เฉยๆ เหมือนแปลนบ้านของเรา เอามาไว้เต็มห้องมันก็เป็นแปลนอยู่เต็มห้อง ไม่เป็นตึกรามบ้านช่องให้ พอลากเอาแปลนนั้นออกมาสร้าง จะเอาขนาดไหน ก็ปรากฏเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาตามแปลนนั้น

    นี่ก็เหมือนกันการปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วผลก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับๆ ผลที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินี้แม่นยำมาก แม้แต่ภาคปริยัติที่เราเรียนมาทีแรก เรายังสงสัยสนเท่ห์ ทั้งๆ ที่ธรรมที่ท่านสอนไว้บริสุทธิ์หมดจด แต่กิเลสเราเต็มหัวใจ ไปเรียนธรรมที่บริสุทธิ์มันก็มัวหมองในตัวของเรา เกิดความสงสัยในตัวของเราจนได้นั่นแหละ เวลามาปฏิบัติแล้วผลเกิดขึ้นในใจของเรา ทีนี้หายสงสัยๆ เรื่อยๆ ไปเลย ตั้งแต่ธรรมขั้นพื้นๆ ฟาด สาธุ ไม่ได้ประมาทอะไรละ ถึงมรรคผลนิพพาน ไม่ถามใครเลย แม้องค์ศาสดาก็ไม่ทูลถามท่านเพราะเป็นอันเดียวกัน นี่ละภาคปฏิบัติ นั่นละปฏิเวธสมบูรณ์แบบ ถึงที่สุดจุดหมายปลายทางก็เป็นปฏิเวธเต็มตัว สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิ ประจักษ์ในหัวใจตนไม่ต้องถามใคร แม้องค์ศาสดาก็ไม่ทูลถามท่าน จะถามอะไร ท่านบอก สนฺทิฏฺฐิโก ท่านมอบให้แล้วนี่ ให้ปฏิบัติ ให้รู้เองนะ จำเป็นอะไรจะต้องมาถามเราตถาคต ความหมายว่างั้น พากันจำ

    เราสงสารโลกมันสกปรกมาก สกปรกเฉยๆ ธรรมดาไม่ได้สร้างฟืนสร้างไฟ ไอ้สกปรกในหัวใจนี้สร้างทุกข์ให้ตลอดนะ สกปรกทางร่างกงร่างกายอาบน้ำชำระเสียก็ไม่เป็นทุกข์อะไร แต่สกปรกในหัวใจนี้เป็นฟืนเป็นไฟในนั้นเสร็จนะ สกปรกมากเท่าไรยิ่งทุกข์มากๆ นี่ละเป็นสิ่งที่น่าคิดมาก เอาธรรมเข้าไปจับถึงจะรู้ สกปรกขนาดไหนก็ตามสำหรับคนตาบอดหูหนวกใจบอดมันไม่รู้ตัวเอง ดิ้นอยู่เหมือนไส้เดือนบุ้งกือ หาทางออกไม่ได้ ต้องเอาธรรมเข้าไปจับแล้วหาทางออกได้ จำเอานะ เอาละพอ


    รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

    www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

    และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

    FM 103.25 MHz
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    อรหัตตมรรคเกิดขึ้นอย่างไร
    ****************
    “สัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรมเท่าไรสนับสนุน”

    “สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการสนับสนุน คือ
    ๑. มีศีล สนับสนุน
    ๒. มีสุตะ สนับสนุน
    ๓. มีสากัจฉา สนับสนุน
    ๔. มีสมถะ สนับสนุน
    ๕. มีวิปัสสนา สนับสนุน

    สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการนี้แลสนับสนุน”

    ข้อความบางตอนใน มหาเวทัลลสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=43

    คำว่า "อัน...ช่วยเกื้อหนุนแล้ว" คือ ได้รับอุปการะแล้ว.

    คำว่า "ความเห็นที่ถูกต้อง" คือ ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรค (ทางแห่งความเป็นพระอรหันต์) ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรคนั้นเกิดในขณะแห่งผล.

    ที่ชื่อว่า มีความเห็นหลุดพ้น เพราะจิตเป็นผล เพราะความหลุดพ้นเพราะปฏิบัติทางจิตเป็นผลของท่าน.

    ที่ชื่อว่ามีผลคือสิ่งที่ไหลออกมาจากความหลุดพ้นในทางจิตใจ เพราะผลคือสิ่งที่ไหลออกมากล่าวคือความหลุดพ้นในทางจิตใจของท่านมีอยู่.

    แม้ในบทที่สองก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ. และพึงทราบว่าในผลเหล่านี้ผลที่ ๔ ชื่อว่าความหลุดพ้น เพราะความรู้ชัด สิ่งที่เหลือเป็นความหลุดพ้นเพราะจิตใจ.

    ในคำเป็นต้นว่า "อันศีลเกื้อหนุนแล้ว" ศีลอันมีความบริสุทธิ์ ๔ อย่างชื่อว่าศีล.

    คำว่า "การฟัง" คือ การฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย (ถูกอารมณ์).

    คำว่า "สากัจฉา" ได้แก่ ถ้อยคำที่ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน.

    คำว่า "สมถะ (ความสงบ)" ได้แก่ สมาบัติ ๘ ที่มีวิปัสสนารองรับ.

    คำว่า "วิปัสสนา (ความเห็นแจ่มแจ้ง)" คือ การตามเห็น (อนุปัสสนา) ๗ อย่าง.

    ก็แหละ พระอรหัตตมรรคย่อมเกิดขึ้นแล้วให้ผลแก่ผู้ที่กำลังบำเพ็ญศีลอันมีความหมดจดสี่อย่าง
    ฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย
    ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน
    ทำงานในสมาบัติแปดที่มีวิปัสสนารองรับ
    อบรมการตามพิจารณาเห็น ๗ อย่างอยู่.
    ……….
    ข้อความบางตอนในอรรถกถามหาเวทัลลสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php…

    IJ4XRBd2hZGbscD2jwSwxqun0U9bYQIib5zmmNEnILDU&_nc_ohc=UyJIIRmbDBkAX_mVJBC&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg

    **********************************
    หมายเหตุ
    อนุปัสนาเจ็ดอย่าง

    1. อนิจจานุปัสนา
    2. ทุกขานุปัสนา
    3. อนัตตานุปัสนา
    4. นิพพิทานุปัสนา
    5. วิราคานุปัสนา
    6. นิโรธานุปัสนา
    7. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    พระป่าหรือพระโกหก
    พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

    ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
    ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี



    คำว่าพระป่า พระบ้าน เป็นความเข้าใจผิดนะ พวกเราไปแบ่งกันเองว่าพระป่าหรือพระบ้าน ความจริงพระก็คือพระ เวลาพระบวชมา อุปัชฌาย์อาจารย์จะสอนเห็นไหม เวลาบวชพระ มันก็ได้กรรมฐานเหมือนกัน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เหมือนกัน เวลาบวชพระ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์ ไม่บอกกรรมฐาน ก็ไม่เป็นพระ พอบวชเป็นพระขึ้นมาแล้วเห็นไหม พระป่า พระบ้านนี้มันแบ่งกันที่ไหน พระป่าหรือพระบ้านนี้เขาไปแบ่งกันที่การปฏิบัติ มันเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ไม่ได้แบ่งว่า ถ้าบวชอย่างนี้เป็นบวชวัดบ้านนะ บวชอย่างนี้เป็นบวชวัดป่านะ ไม่มีหรอก

    บวชพระก็คือบวชพระ อุปัชฌาย์ก็เหมือนกัน ถ้าบวชพระจบแล้วคือบวชพระ แต่ถ้าบวชพระขึ้นมาแล้วเราจะศึกษา การศึกษาก็เป็นปริยัติ เห็นไหม แต่ถ้าเราจะออกปฏิบัติแล้ว ตามประเพณีวัฒนธรรม เพราะการออกปฏิบัติคือจงใจว่าจะปฏิบัติใช่ไหม ก็เลยอุปโลกน์กันว่าให้ชื่อว่าวัดป่า พระป่า พระป่าหรือพระบ้านก็คือพระเหมือนกัน

    ทีนี้คำว่าสอนแบบพระป่าหรือสอนแบบพระบ้าน พระบ้านเราบวชแล้วใช่ไหม เราจะศึกษาเล่าเรียน ก็เป็นปริยัติ ก็กางตำรา ก็เรียนกัน ก็ท่องจำ ก็เป็นเหมือนทางโลกเห็นไหม ต้องมีการศึกษา มีการสอน มีครูก็สอนกันไป แต่ถ้าจะออกปฏิบัติมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการปฏิบัตินี้มันเป็นประสบการณ์ตรงของจิต มันไม่ใช่การฝึกสอน มันเป็นประสบการณ์ตรงของจิตใช่ไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นว่าการปฏิบัตินี้ มันต้องอาศัยความสงบสงัด อาศัยผู้รู้จริงคอยชักนำ มันต้องอาศัยความสงบนั้น มันก็เป็นประเพณีการปฏิบัติไง

    ทีนี้วัดป่า วัดบ้าน ประสาเราว่า มันก็มาจากขั้วเดียวกัน คือมาจาการญัตติจตุตถกรรม บวชมาจากการญัตติยกเข้าหมู่มาเหมือนกัน ก็พระเหมือนกันนั่นแหละ แล้วมาแบ่งกันตรงไหนว่าวัดป่าหรือวัดบ้านล่ะ วัดบ้านดี ก็ดีนะ วัดบ้านที่มีครูบาอาจารย์ที่ดีก็ดีเยอะแยะไป วัดป่าที่ดีก็มี วัดป่าที่ไม่ใช่พระป่าก็เยอะแยะไป ถ้าบอกว่าการอยู่ป่าอยู่เขา เป็นพระป่า แล้วสัตว์ที่มันเกิดอยู่ในป่าล่ะ เวลาสัตว์มันเกิดในป่ามันตายในป่า เราจะไม่บอกว่าสัตว์มันเกิดในป่าเป็นอริยบุคคลขึ้นมาเลยหรือ มันก็ไม่เป็นเห็นไหม มันไม่เป็นหรอก

    ทีนี้คำว่าพระบ้านหรือพระป่านี้ มันอยู่ที่คำสอนถูกหรือผิด ถ้าคำสอนถูกนะ พระบ้านสอนถูกก็คือถูก ก็ดีงาม ถ้าพระบ้านสอนผิดเราก็หลงทางผิดไปใช่ไหม พระป่าก็เหมือนกัน พระป่าสอนถูก สอนถูกคือตรงสู่ธรรม ตรงสู่หัวใจ ตรงสู่การประพฤติปฏิบัติ มันก็ถูกต้อง แต่ถ้าพระป่าสอนผิด มันก็ไม่ใช่

    ไม่ใช่ที่พระป่าหรือพระบ้านหรอก มันเป็นพระป่าหรือพระโกหกต่างหาก ถ้าพระป่ามันต้องสอนตามความเป็นจริง ถ้าพระโกหกมันก็สอนตามโกหกไปเรื่อยเฉื่อยอย่างนั้น

    ถ้าพระจริงจะสอนตามความเป็นจริง มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า “จริงหรือปลอม ถูกหรือผิด” มันไม่ใช่อยู่ที่ว่าพระป่าหรือไม่พระป่า ต้นไม้เป็นป่าไหม ถ้าเป็นป่าที่ถูก ป่ามันเป็นอย่างไร มันก็ต้องมีข้อเท็จจริงในหัวใจนั้น

    ถ้าพูดถึงพระป่าองค์แรกเลยก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ แล้วก็สั่งสอนมา พอสั่งสอนมาเพราะพระพุทธเจ้าท่านเห็นถึงจริตนิสัย เห็นไหม พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “มันจะสอนได้อย่างไรหนอ เขาจะรู้กับเราได้อย่างไรหนอ” เห็นไหม เพราะการประพฤติปฏิบัตินี้มันลึกซึ้งมาก พอลึกซึ้งขึ้นมาก็เผยแผ่ธรรม ทีแรกขึ้นมานี้ ตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ตั้งแต่ยสะ ๖๑ องค์ “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน” นี่ของจริงๆ เลย พระป่าจริงๆ เลย เพราะตรัสรู้จริงๆ

    แต่พอมีมากเข้าๆ พอพระบวชเข้ามาแล้วปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

    แล้วการศึกษามันก็เริ่มมาจากพระจุนทะ พระจุนทะเห็นลัทธิต่างๆ พอศาสดาเขาตายพวกพระก็มีการแตกกระสานซ่านเซ็น พระจุนทะเลยไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” พระพุทธเจ้าบอกว่า “เพราะไม่มีธรรมวินัย ไม่มีวินัยไว้” ก็พยายาม อยากให้พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัย พระพุทธเจ้าบอกว่า “บัญญัติไม่ได้” มันจะต้องมีคนทำผิด พระพุทธเจ้าจะไม่บัญญัติอะไรไว้ล่วงหน้า ถ้ามีใครทำผิดท่านถึงจะบัญญัติวินัยขึ้นมา พอมันเริ่มบัญญัติวินัยมาเห็นไหม ก็เริ่มมีกรอบขึ้นมา แต่เดิมไม่มีเลยนะ ตอนไม่มีเลยก็มีแต่พระอรหันต์ทั้งหมดเลย พอมีกรอบกติกามากขึ้นมา พระอรหันต์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เลย เพราะมันมีกรอบนะ กรอบอันนี้มันก็เหมือนวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าเราปฏิเสธวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มันเป็นกรอบตายตัว แต่ธรรมะมันละเอียดลึกซึ้งกว่า เพราะมีความรู้สึกมีชีวิต มันละเอียดอ่อนกว่าวิทยาศาสตร์เยอะแยะไปหมดเลย

    วิทยาศาสตร์คือโลก กฎกติกาคือโลก แต่ถ้าความเป็นจริงมันละเอียดอ่อนกว่านั้น แต่คนถ้ามันมีจิตใจที่เป็นธรรมหรือเป็นสัมมาทิฐิ มันจะไม่แหกคอกอันนี้ไป ทีนี้พอมันมีมากขึ้นมาๆ มันก็ออกมาแบ่ง มาแบ่งเป็น คันถธุระ-วิปัสสนาธุระ ธรรมกถึก-วินัยธร หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นธรรมกถึกใหญ่ เพราะธรรมกถึกก็คือการเทศน์ นักสั่งสอน นี่ไงวัดป่าไง เพราะมันออกมาจากอะไร มันออกมาจากหัวใจ มันออกมาจากความเป็นจริง ถ้าออกมาจากความเป็นจริงแล้วมันจะผิดพลาดตรงไหนล่ะ ก็ออกมาจากความเป็นจริง

    แต่ถ้าวินัยธรคือกฎหมาย คือธรรมวินัยที่เราศึกษาใช่ไหม ก็ไปศึกษา ก็มาวิจัย ก็วิจัยกันไป แล้วแต่มุมมอง พอวิจัยขึ้นมาก็เป็นกฎหมาย แล้วกฎหมายก็ออกมาเป็นการปกครอง ในการปกครองมันมีวัฒนธรรม มันมีประเพณี มีสถานที่ มีสิ่งแวดล้อมที่จะเข้าไปเผยแผ่ เผยแผ่เข้าไปที่ไหนล่ะ ถ้าไปในจีนก็เป็นเซนไป เพราะมันมีขงจื๊ออยู่แล้ว พอมาทางสุวรรณภูมิ เห็นไหม มันมีผีอยู่แล้วนะ มันก็เป็นพราหมณ์ไป

    นี่ไง มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่พื้นถิ่นที่มันมีไปเห็นไหม นี่ธรรมและวินัยเวลาที่มันเป็นไป แต่ถ้าเป็นวัดป่าที่เป็นความจริงเห็นไหม โพธิธรรมที่เมืองจีนเห็นไหม นั่นล่ะ ต้นแห่งเซน โพธิธรรมเป็นองค์ที่ ๖ เขาถือว่าพระกัสสปะเป็นยอดแห่งผู้นำของเซน ถ้าเซนนั้นคือมาจากพระกัสสปะ โพธิธรรมนี้เป็นองค์ที่ ๖ นี่เข้าไป เพราะโพธิธรรมนี่รู้จริงเห็นไหม ไปถึง กษัตริย์ไม่ยอมรับ ก็ไปนั่งอยู่ในถ้ำ แล้วแสงเทียนมันส่อง ๖ ปีนะ จนเป็นเงาเลยล่ะเป็นรูปร่างขึ้นมาเลย จนกษัตริย์ยอมรับขึ้นมา เพราะรู้จริง ถ้ารู้จริงจะสอนไม่มีผิดเลย แต่ถ้ารู้ปลอมนะ มันโกหกมาสอนจะผิดหมดเลย อย่างพวกที่สอนผิดเห็นไหม

    ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าการประพฤติปฏิบัติเป็นความจริง ไม่ใช่ว่าวัดป่าสอนแบบวัดป่า วัดป่านี่เขาทำสมาธิ ผู้ที่อยากทำสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมาบ้างก็คือวัดป่า ไม่ใช่! ไม่ใช่!

    ถ้าวัดป่าเป็นสมาธิแล้ว หลวงปู่หลุย หลวงปู่ดุลย์นี้ ท่านทำอย่างไรล่ะ ท่านสอนอย่างไร

    ต้องเอาที่ข้อเท็จจริง อย่าอ้างว่าสอนแบบวัดป่า ไม่ใช่!

    “สอนจริงหรือสอนปลอม สอนถูกหรือสอนผิด” เอาตรงนี้ ไม่ใช่ที่วัดป่า พอขึ้นชื่อว่าวัดป่าแล้วมันต้องมีทฤษฎี มันไม่มีหรอก อย่างเช่นการทำสมาธินี้ ทำไมมันต้องทำสมาธิ เพราะครูบาอาจารย์ที่เป็นวัดป่าท่านรู้ว่าโลกุตตรปัญญาเป็นอย่างไร โลกียปัญญาเป็นอย่างไร สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เป็นอย่างไร การปฏิบัติต้องเกิดจากภาวนามยปัญญา ไม่ใช่เกิดจากจินตนาการ แล้วการจินตนาการกับไม่จินตนาการนี้มันต้องมีตัวสมาธิเข้าสู่จิต ถ้าเข้าสู่จิตแล้วถ้าจิตมีสมาธิ และเป็นสมาธิจริง มันจะเห็นจริงของมัน ถ้าเห็นจริงของมัน เห็นไหม มันไม่โกหกไม่มดเท็จ

    ถ้าโกหกมดเท็จ สมาธินี่ก็ยังไม่รู้จัก

    เขาบอกว่า ใครกำหนดพุทโธจะเป็นฌาน ๒

    เราอยากรู้ว่า ใครปฏิบัติได้ฌาน ๒ คนที่เขาชี้ว่าได้ฌาน ๒ นั้นขอพบหน่อย ฌาน ๒ เป็นอย่างไร

    เพราะอะไร เพราะฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ นั้นมันเป็นทฤษฎี มันเป็นธรรมวินัย มันเป็นบัญญัติ ฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ และอรูปฌานอีก ๔ สมาบัติ

    พอใครทำพุทโธๆ ก็ว่าต้องเป็นฌาน ๒

    คำว่าฌาน ๒ คือสำเร็จรูป ใครมาก็ฌาน ๒ แล้วฌาน ๒ เป็นอย่างไร ฌาน ๑ เป็นอย่างไร ฌาน ๒ เป็นอย่างไร

    อย่างเรานี้ไม่รู้เรื่องเลย เขาก็บอกว่าเราได้ฌาน ๒ ไอ้คนนี้ไม่รู้เรื่องมันเป็นฌาน ๒ ไอ้คนนั้นมันก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง ก็เป็นฌาน

    เป็นฌานที่ ๒ นะ เพราะพุทโธเป็นฌาน ๒

    นี่ไง คำว่าสมาธิไม่ใช่ฌาน ฌานคือฌาน สมาธิคือสมาธิ แล้วเขามาบอกว่าพุทโธเป็นฌาน ๒ ก็เหมาเป็นสำเร็จรูปเลย

    ถ้าใครกำหนดพุทโธเป็นฌาน ๒ อย่างนั้นหรือ ?

    “แล้วหนูไม่รู้อะไรเลยนะ” นั่นล่ะ ฌาน ๒ ไม่รู้เรื่องนั่นแหละเป็นฌาน ๒


    นี่แหละ! พระโกหก! ไม่ใช่พระป่า มันสอนแบบโกหกมดเท็จ!


    ถ้าสอนจริงนะอะไรเป็นฌาน ๑ อะไรเป็นฌาน ๒ แล้วกำหนดพุทโธมันเป็นฌานได้อย่างไร ถ้ากำหนดพุทโธๆๆ นี่ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี้ คำว่าสมาธิมันเป็นอย่างไร แล้วจิตมันสงบเข้ามานี้ มันจะรู้ของมันไหมว่า จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตไม่สงบเข้ามาจะไม่รู้ว่าจิตสงบหรอก แล้วจิตสงบกับจิตไม่สงบมันต่างกันอย่างไร ถ้าจิตไม่สงบความคิดที่คิดกันอยู่นี้ อย่างที่พระโกหกสอนกันอยู่อย่างนี้ ว่างๆ ว่างๆ ใช้ดูไป เข้าใจไป รู้ไป ปล่อยวางไป จับปล่อยๆ ไป

    มันก็หุ่นยนต์ทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องของธรรมะ ไม่ใช่เลย ไม่ใช่!

    ถ้าเป็นเรื่องธรรมะนะ จิตมันจะสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามานี้ จิตมันจะรู้เห็นอย่างไร แล้วถ้าไม่รู้เห็นอย่างไร จะออกฝึกปัญญาอย่างไร นี่ตรงนี้สำคัญ! ออกฝึกปัญญา ออกฝึกปัญญาในโลกุตตรปัญญา ถ้าออกฝึกปัญญา ปัญญามันออกรู้นี้ มันจะเห็นความรู้ต่างว่าโลกียะกับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันมาก แล้วถ้าเห็นว่าโลกุตตรปัญญามันเกิด เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตมันปล่อยวางจากสัญญาอารมณ์ของมัน จิตมันปล่อยวางธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของจิตนี้มันคิดโดยขันธ์ ๕ มันคิดโดยสามัญสำนึก มันคิดอยู่ตลอดเวลา ปัญญาที่มันคิดอยู่ตลอดเวลานี้ มันปล่อยเข้ามา มันเป็นอิสระเข้ามาได้อย่างไร แล้วมันคิดอีกอย่างไร แล้วมันคิดอีกรอบหนึ่งอย่างไร คิดแบบโลกุตตรปัญญานี้มันคิดอย่างไร แล้วคิดโดยธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมันนี้ มันคิดอย่างไร

    นี่ไง มันชี้ชัดเจนว่าพระโกหก!

    ถ้าพระจริงเขารู้จริงของเขา มันจะรู้เลยว่า การปล่อยวางสัญชาตญาณ ปล่อยวางสามัญสำนึก ปล่อยวางอย่างไรถึงเข้าไปเป็นสมาธิ แล้วออกจากสมาธินี้ไปใช้ปัญญาอย่างไร

    นี่ไง พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ท่านถึงเห็นว่าการปฏิบัติที่มันยาก มันปฏิบัติยากอย่างไร

    ทีนี้ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักสมาธิ เห็นไหม ไม่รู้จักสมาธิ แล้วบอกว่าจิตมันเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วบอกว่าออกรู้ จิตเป็นสมาธิออกรู้นะ ออกกระทบกาย จิตออกกระทบ ถ้าจิตออกกระทบ สมาธิเอาอะไรไปกระทบ สมาธิเอาอะไรไปกระทบ การกระทบ มันกระทบอย่างไร

    นี่! พระโกหก ไม่ใช่พระป่า พระโกหก

    ถ้าพระป่า จิตมันออกรู้ จิตมันสงบแล้วมันออกรู้ ออกรู้กายอย่างไร เห็นกายอย่างไร เห็นกายกับกระทบกายต่างกันอย่างไร ต่างกันมาก

    แล้วพอปฏิบัติไปเป็นสมาธินะ เขาบอกว่า ถ้าเป็นสมาธิ อย่ารักษาผู้รู้ การรักษาผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนไว้ให้ทำลายผู้รู้ นี่ พระหลวงปู่ดูลย์สอนว่าให้ทำลายผู้รู้ อย่ารักษาผู้รู้ ห้ามรักษาผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนไว้ ว่าห้ามรักษาผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้

    หลวงตาจะพูดประจำ หลวงตาบอกว่า “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสีย”

    ห้ามรักษาผู้รู้ นี่หรือ การสอนแบบพระป่า

    หลวงปู่ดูลย์สอนบอกให้ทำลายผู้รู้ถูกต้องไหม....ถูก

    หลวงตานะ เวลาท่านภาวนาของท่านไปเรื่อยๆ ผู้รู้นี่ ต้องรักษาไว้ รักษาผู้รู้ไว้ แล้วผู้รู้นี้จะออกทำลาย ออกทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นผู้รู้ที่สะอาดเข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นผู้รู้ที่ละเอียดไปเรื่อยๆ ผู้รู้มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด ผู้รู้มันมีหลายซับหลายซ้อนนัก ทีนี้ผู้รู้มันปล่อยเข้ามาเรื่อยๆ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านพิจารณาเรื่อย จนจิตมันปล่อยกามราคะหมดนะ พอกามราคะหมดนะ ท่านก็รักษาใจของท่าน ท่านอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ โอ้ วันนั้นเป็นวันพระ ท่านไม่ได้บิณฑบาต ท่านเดินจงกรมอยู่ จิตมันใสมันสว่างไสว มันพุ่ง มันทะลุภูเขาเลากาไปหมดเลย ท่านก็บอกว่า “จิตของเราทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของเราทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของมนุษย์ทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้” นี่รักษาผู้รู้นะ รักษาผู้รู้ๆ มาเรื่อย รักษาผู้รู้ไว้

    ที่ว่าหลวงปู่ดูลย์ให้ทำลายผู้รู้ เห็นไหม พอท่านภาวนาปั๊บ ธรรมะมาเตือน เตือนบอกว่าที่สว่างไสวนั้นเกิดจากจุดและต่อม ความสว่างไสวทุกอย่างนั้นเกิดจากผู้รู้ เพราะรักษาผู้รู้มาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วทำลายมาตลอด ทำลายสังโยชน์ขาดมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนเหลือผู้รู้แท้ๆ จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส พอจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันมาจากไหน มันมาจากผู้รู้ เห็นไหม ธรรมะมาเตือนว่าความสว่างไสวนี้มาจากจุดและต่อม มาจากผู้รู้นั้น ท่านงงเลยนะ

    นี่คำว่าจะเห็นผู้รู้ได้ มันไม่ใช่ของง่ายๆ ผู้รู้นี้ มันมี ผู้รู้อย่างหยาบ ผู้รู้อย่างกลาง ผู้รู้อย่างละเอียด

    ทีนี้พอธรรมะมาเตือน เตือนเองแล้วก็ยังงง ตัวเองนี้งงมากเลย พองงมากแล้วหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว ก็พยายามค้นคว้าหาของตัวเองมา จากนั้นมาก็ธุดงค์ไปเรื่อย ก็หาจุดและต่อมอะไรหนอๆ จนกลับมาวัดดอยธรรมเจดีย์อย่างเก่า ที่เดิมนั่นละ แล้วท่านก็กลับมาย้อน ผู้รู้ เข้าไปทำลายผู้รู้ เข้าไปทำลายจุดและต่อม พอทำลายจุดและต่อม พั้บ! เห็นไหม

    หลวงตาท่านบอกว่า การประพฤติปฏิบัตินะ นี่พระป่า พระป่าแท้ๆ พระป่าที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา พระป่าที่ได้รับผลมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นพระป่า สอนตามข้อเท็จจริงมา แล้วหลวงตาเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น รับคติธรรม รับขบวนการประพฤติปฏิบัติมาเป็นชั้นเป็นตอนมา แล้วปฏิบัติขึ้นมาจนได้ตามความเป็นจริง เห็นไหม

    พอได้ตามความเป็นจริง “รักษาผู้รู้ รักษาพุทโธ เราจะไม่เสียหายเลย” การประพฤติปฏิบัติต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย รักษาผู้รู้ตลอด

    แล้วถึงที่สุดเห็นไหม รักษาเป็นด้วย พอเข้ามา กลับมาถึงที่เก่านะ จากจุดและต่อม มันย้อนเข้าไปในผู้รู้ พอพิจารณาเข้าไป พอซ้ำเข้าไปละเอียดเข้าไปๆ จนถึงตัวจิตตัวผู้รู้ ผู้รู้มันแยกเป็น ๒ ขั้ว เหมือนมะพร้าวมี ๒ ขั้วขึ้นมา แล้วทำลายดีและชั่ว ทำลายพั้บ! นี่ทำลายผู้รู้

    หลวงปู่ดูลย์สอนให้ทำลายผู้รู้นั้นถูก แต่ไอ้พระโกหกมันไม่รู้ มันเลยบอกว่าต้องทำลายผู้รู้ตั้งแต่ต้น มันต้องรักษาผู้รู้มาเรื่อยๆจนถึงที่สุด มันจะไปทำลายผู้รู้ต่อเมื่อคนรู้จริง พอทำลายผู้รู้จริง หลวงตาท่านย้อนกลับไปจนถึงต้นขั้วของผู้รู้ ทำลายผู้รู้หมด เห็นไหม ท่านบอกว่า “จิตที่ผ่องใสจิตสว่างไสวเปรียบเหมือนกองขี้ควาย” ความที่เราหลงความสว่างไสว ความรู้ความเห็นของเราว่ารู้ไปหมด ว่าเข้าใจไปหมด ตอนนั้นมันมหัศจรรย์นะ คนที่ไปรู้ไปเห็นเอง เจ้าของเอง มหัศจรรย์ในความรู้ความเห็น มหัศจรรย์มาก เพราะคนไม่เคยเห็นเคยรู้ มหัศจรรย์กับความรู้นี้มาก จิตนี้มหัศจรรย์ มหัศจรรย์มหาศาลเลย

    แต่พอมันเข้าไปถึงทำลายผู้รู้ ผลัวะ! “ความมหัศจรรย์นั้นเหมือนกองขี้ควาย ความมหัศจรรย์นั้นเหมือนกองขี้ควาย!”

    ถ้าไม่มีความมหัศจรรย์นั้น ไม่มีผู้รู้นั้น มันจะไปทำลายได้อย่างไร พอมันไปทำลายแล้ว สิ่งมหัศจรรย์นั้นเป็นกองขี้ควาย ตอนนี้เหลืออะไร เหลือธรรมธาตุ เหลือสักแต่ว่าไม่มีอะไรสักอย่างเลย ไม่ใช่จิตหนึ่ง ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น หมดสิ้นกระบวนการต่อไป

    เห็นไหม นี่มันมาจากไหนล่ะ ถ้ามีผู้รู้ เห็นไหม ผู้รู้นี้สำคัญมาก แล้วบอกว่าให้ทำลาย

    เราพูดบ่อยมากนะ เราพูดบอกว่าตัดรากถอนโคน

    เขาบอกว่า ห้ามรักษาผู้รู้ ถ้ารักษาผู้รู้ผิด เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนว่าต้องทำลายผู้รู้

    แล้วตาสีตาสาไม่รู้จักอะไรเลยมันก็จะทำลายผู้รู้ แล้วผู้รู้มันอยู่ที่ไหนล่ะ

    นี่ล่ะพระโกหกมันสอนนะ พระโกหกมันสอนให้ทำลายผู้รู้ ก็เหมือนพวกเรา ก็เลยขี้ลอยน้ำไง เริ่มต้นไม่ถูกไง จะเดินกระบวนการ ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นไปอย่างไรในเมื่อมันไม่มีฐานเริ่มต้น แล้วเมื่อไม่มีฐานเริ่มต้นก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ไอ้พระโกหกมันสอนบอกว่าหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้ทำลายผู้รู้

    โธ่...หลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ตอนจิตมันเสื่อม ท่านบอกเลยนะ ท่านภาวนาอยู่ ๗ ปี ตอนศึกษาอยู่ จิตรวมได้ ๓ หน แล้วพอออกปฏิบัติเห็นไหม เริ่มต้นก็ดูจิต เพราะปฏิบัติโดยสามัญสำนึก เห็นไหม ไปหาอุปัชฌาย์ พระครูวัดโยธานิมิตร

    บอกว่า “อยากปฏิบัติ”

    “ก็พุทโธสิ”

    ก็พุทโธไปเรื่อย พุทโธไปโดยที่ว่าไม่มีสิ่งใดเป็นการต่อรอง ก็พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วศึกษาไปเรื่อยๆ ๗ ปีรวม ๓ หน

    ทีนี้พอศึกษาไปเรื่อยๆ ศึกษาจนจบมหา แล้วออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ก็คิดว่ามีปัญญามีความรู้ ก็ดูจิต กำหนดจิตเฉยๆ ดูจิตไง ไปอยู่จักราชปีหนึ่งจิตดีมากเลย แข็งเป็นหินเลย สุดท้ายแล้วจิตเสื่อมหมดเลย เสื่อมหมดเลยจะเอายังไงก็เอาไม่ขึ้น ไปหาหลวงปู่มั่นนะ ตอนอยู่กับหลวงปู่มั่น อันนี้ท่านเล่าให้ฟังเอง พออยู่กับหลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านผ่านไปแล้วนะ คนเรานี้นะพอผ่านมาเป็นผู้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปดูเราตอนเด็กนะๆ เราจะรู้เลยว่าตอนเป็นเด็กๆ เราคิดอย่างไร ทำอย่างไร

    พอผ่านไปแล้วนะ ท่านบอกว่าไปหาหลวงปู่มั่น คอตกเลยนะ จิตเสื่อมหมดเลย หลวงปู่มั่นบอกว่า “จิตนี่เหมือนเด็กๆ มันต้องกินอาหาร ตอนมันเสื่อมนี้มันเท่ากับจิตนี้มันไปเที่ยว พอไปเที่ยวไม่มีอาหารกิน มันต้องหิวโหย เราอยู่กับเรานะ อยู่กับพุทโธๆๆ นี่คืออาหารของมัน พอมันหิวกระหายแล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมากินพุทโธๆ ให้ท่องพุทโธๆๆ ไว้”

    ฉะนั้นพอเวลาหลวงปู่มั่นท่านไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ทิ้งท่านไว้องค์เดียว ท่านบอกว่าท่านก็พุทโธเลย พยายามพุทโธๆๆ อยู่ ๓ วัน อกแทบระเบิด เพราะดูจิตนี้มันสะดวกสบายเร่ร่อนไง ปล่อยสบายๆ เคลิบเคลิ้มสบายๆ พอสบายๆ มันก็ไม่มีที่เกาะ พอท่านเจริญแล้วเสื่อมมาถึง ๖ ปีกับ ๖ เดือน ทุกข์คราวใดเท่ากับจิตเสื่อมอันนี้ไม่มี หลวงตาท่านจำแม่นในหัวใจเลย แล้วพยายามกลับมาพุทโธๆๆๆ พอพุทโธๆ ๓ วันแรกนี้ อกแทบระเบิดเลย เพราะจิตมันเคย เหมือนคนใจแตก เหมือนเด็กมันติดแสงสีเสียง แล้วบังคับไม่ให้มันเที่ยว มันต้องบังคับมัน พอบังคับพุทโธๆๆ นี่อกแทบระเบิดเลย

    พอ ๓ วันไปแล้ว มันเริ่มดีขึ้น พอเริ่มดีขึ้น นี่ไง แล้วพอท่านปฏิบัติมา เห็นไหม ท่านจะสอนเลยนะ ท่านจะสอนบอกว่า “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสีย แต่ถ้าปล่อยผู้รู้ ปล่อยพุทโธจะเสีย”

    แต่นี่เขามาบอกว่า ห้ามรักษาผู้รู้ ห้ามอยู่กับผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนให้ทำลายผู้รู้

    ไอ้พระโกหกมันไม่เข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจนี้มันต้องรักษาผู้รู้ก่อน เหมือนกับการยึดเมือง เราเข้าไปตีไม่ได้ กิเลสนี่มันหนามาก ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันหนามาก ทีนี้การจะเข้าไปตีเมืองมันก็ต้องไปตีจากชายขอบเข้ามา การตีชายขอบเข้ามา เราจะเอาอะไรไปตีชายขอบมัน

    หัวใจของเรา เห็นไหม พุทโธคือเมืองหลวง แล้วผู้รู้นี่คือจักรพรรดิ เราก็ต้องรักษาผู้รู้เพราะผู้รู้เป็นเรา แล้วมันต้องทำลายจากชายขอบเข้ามา ถ้ามันทำลายจากชายขอบเข้ามา เวลามันพิจารณาของมัน สังโยชน์มันขาดไปเรื่อยๆ มันตีจากชายขอบเข้ามา พอชายขอบเข้ามา ผู้รู้! ผู้รู้นี้เป็นตัวฐาน ผู้รู้นี้เป็นผู้ที่เป็นสัมมาสมาธิ ผู้รู้นี้เป็นฐานแห่งปัญญา แล้วผู้รู้ที่เป็นฐานแห่งปัญญานี้ ปัญญามันจะทำลายจากชายขอบเข้ามาเรื่อยๆ เห็นไหม โสดาบัน สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว แล้วกามราคะปฏิฆะอ่อนไป มันจะเข้ามาถึงผู้รู้นี้

    การทำลายผู้รู้นี่ถูกต้อง แต่คนที่จะทำลายผู้รู้นี้ได้มันต้องรู้จริง แล้วการทำลายผู้รู้นี้มันก็ต้องเอาผู้รู้ทำลายผู้รู้ มันจะไปเอาขี้หมาที่ไหนมาทำลายผู้รู้ล่ะ ในเมื่อไม่ต้องรักษาผู้รู้นี้แล้วจะไปเอาขี้หมาที่ไหนมาปฏิบัติล่ะ ไอ้พระโกหก!!!

    แหม..แล้วเขาบอกว่าสอนแบบพระป่า

    ถ้ามันสอนแบบพระป่า มันต้องรู้จักสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิมันเกิดบนผู้รู้ ผู้รู้นี้จะเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันไม่ต้องรักษาผู้รู้แล้วทำลายผู้รู้ แล้วกำหนดขี้หมาอย่างนั้นมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

    นี่ไง มันไม่ใช่ว่าพระป่าหรือพระบ้าน มันเป็นพระโกหก! ถ้าพระโกหกมันก็สอนโกหกนี่ไง

    แต่ถ้าเป็นพระที่เป็นความจริง มันจะมีเป็นขั้นตอนเข้ามา

    เราไม่พูดมานานนะ จะบอกว่าถ้ามันไม่จริงก็คือมันไม่จริง จะมาอ้างว่า วัดป่า วัดบ้าน วัดกรรมฐาน พระบ้าน พระป่าไม่เกี่ยวเลย พูดถูกก็ถูก พูดผิดก็ผิด พระป่าพูดผิดก็ผิด ไม่ใช่ว่าพระป่าจะพูดถูกไปหมดทุกองค์ พระป่าถึงประพฤติปฏิบัติมาจะได้จริงมาสักกี่องค์ล่ะ จะว่าพระป่าพูดถูกทั้งหมดหรือ งั้นสัตว์ป่ามันก็พูดถูกสิ อ้าว สัตว์ป่ามันอยู่ในป่า มันเห่ามันหอนก็ถูกนะ แล้วไอ้สัตว์ในฟาร์ม มันผิดหมดเพราะเขาเลี้ยงมัน นี่ก็เหมือนกันไอ้สัตว์ในป่า ถ้ามันผิดมันถูก มันก็ผิดถูกตามธรรมชาติของมัน มันไม่มีหรอก

    เพราะเขาพยายามจะพูดไงว่า เวลาเราพูดออกไป เขาก็บอกว่า เหมือนกันๆ

    ไม่เหมือน มันไม่เหมือนเพราะอะไร เพราะหลักการ เราพูดบ่อยว่าต้องมีสติ เห็นไหม คนเราถ้าปฏิบัติมันต้องมีสติเป็นพื้นฐาน แล้วสติมันต้องฝึกขึ้นมา สติไม่ใช่จิต และจิตไม่ใช่สติ สติไม่ใช่สัญญา สติไม่ใช่ปัญญา สติก็คือสติ พอมีสติขึ้นมา ผู้รู้มันจะชัดขึ้นมา สติต้องการในกาลทุกเมื่อ ต้องการในทุกสถาน สติมันเป็นสติ สติมันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกลือนี้ คือยุทธปัจจัยเลย เกลือนี้ใช้ถนอมอาหาร เกลือนี้ใช้ผสมอาหาร เกลือนี้ใช้ชำระล้างแผล เกลือนี้ทำได้ทุกอย่างเลย แต่เกลือมันก็คือเกลือ สติมันก็คือสติ แต่มีสติแล้ว สติมันจะฝึกขึ้นมาอย่างไรเท่านั้นแหละ...(มีต่อ)
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    (ต่อจากโพสข้างบน)....


    พระป่าสอนให้มีสติก่อน แล้วกำหนดพุทโธ เพราะเป็นคำบริกรรม จิตต้องอาศัยคำบริกรรมพุทโธ มันถึงจะแสดงตัวออกมา พุทโธหรืออะไรต่างๆ นี้เป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นความคิดทั้งนั้น เป็นความคิดขึ้นมาจากจิตทั้งนั้น จิตผู้รู้นี้มันแส่ส่าย มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้าไม่มีอะไรเป็นที่ยึดของมัน มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จิตมันแส่ส่าย แล้วมันจะอาศัยอะไรเป็นที่ยึดที่เกาะ ก็อาศัยคำบริกรรมเป็นที่เกาะ ถ้าคำบริกรรมเป็นที่เกาะ คนเรามันคนละจริตนิสัย เห็นไหม มันก็อยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยคนชอบ เขาบอกว่าสอนตามคนชอบ มันไม่ใช่ มันสอนตามจริต เราจะชอบหรือไม่ชอบถ้าไม่ตรงจริตของเรา เราก็ใช้ไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่ตรงจริตมันก็แก้ไขกิเลสไม่ได้หรอก เหมือนเราเป็นมะเร็ง แล้วไปรักษาเบาหวาน มันจะหายไหม คนเป็นมะเร็งก็ต้องรักษามะเร็ง เป็นเบาหวานก็ต้องรักษาเบาหวาน คนเป็นอะไรก็ไปรักษาตามโรคนั้น

    นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่มันเป็นในหัวใจ กิเลสมันติดในสิ่งใด มันก็ต้องรักษาไปตามนั้น มันไม่ได้ว่าอยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามันชอบหรือไม่ชอบ กิเลสมันก็ชอบสบายๆทั้งนั้น ทุกคนชอบสบาย แล้วอาศัยทฤษฎีความสบายออกมา ทุกคนชอบสบาย แล้วมันสบายจริงไหมล่ะ มันจะเป็นตามจริงไหมล่ะ มันไม่เป็นตามจริงหรอก ความเป็นจริงถ้าคนปฏิบัติได้จริงนะ ถ้าพระป่าที่เป็นสัจธรรมพูดตามความเป็นจริงนะ มันถูกหมด จะแกล้งพูดให้ผิดมันก็ถูกนะ คนพูดจริงคนรู้จริงถึงจะทำให้มันเผลอๆไผลๆ มันก็รู้ถึงว่าอย่างนั้นไม่ผิด แต่คนที่ไม่มีนี่จะพยายามแสดงตัวว่ารู้จริงขนาดไหน มันก็ผิด มันพูดไม่ถูกหรอก มันพูดไม่ถูกแล้วก็อ้าง เห็นไหม อ้างหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บอกว่าให้ทำลายผู้รู้ แล้วพอพูดอย่างนี้ไปนะ เขาก็จะบอกว่า หลวงปู่ดูลย์พูดผิดอีก หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้พูดอย่างนี้ ตีความผิดอีกล่ะ

    เวลาอ้างนะ เพราะเราไม่รู้จริง พอเราไม่รู้จริงแล้วเราพูดไป ครูบาอาจารย์ท่านพูดถูก หลวงปู่ดูลย์นี้พูดถูกนะ ตั้งแต่จิตส่งออกก็พูดถูก แต่เพราะเราไม่รู้จริง พอเราไม่รู้จริงเราตีความไม่ได้ พอเราตีความไม่ได้ เราก็พยายามเปลี่ยนแปลงสัจจะอันนั้นให้มาเป็นตามความเห็นของเรา เอาแต่ความเห็นของเรานี้เข้าไปเทียบ แล้วของที่จริงอยู่แล้ว นี่คือดึงฟ้าให้ต่ำ! แล้วเวลาเอามาอ้าง เวลาอ้างครูบาอาจารย์ ก็อ้างเป็นฐานขึ้นไป แต่ไม่ได้อ้างว่าครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างไร แล้วเรามีความเข้าใจในคำสอนของครูบาอาจารย์องค์นั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามันจริงอย่างนั้น นี่ไงครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า “การลงใจ ถ้าใจมันลงมันจะไม่ฝืนนะ ฝืนอย่างนี้ไม่ได้”

    แต่นี่พูดออกไปเพื่อหนุนความเห็นของตัว แต่ไม่ได้พูดด้วยความซาบซึ้งของตัว เพราะใจมันไม่เข้าถึงธรรม ถ้าใจมันไม่เข้าถึงธรรม มันจะกระด้าง มันจะไม่อ่อนโยน ถ้าใจเข้าถึงธรรมมันอ่อนโยนโดยธรรมชาติของมัน มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะเป็นสัจธรรมของมัน ถ้าสัจธรรมอย่างนั้น เห็นไหม มันอันเดียวกัน มันต้องรู้กัน มันต้องเหมือนกัน

    ถ้าเหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นความปกติของใจ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมานี้สมาธิมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ขาดสติปั๊บสมาธิจะมาเอง แล้วถ้าจงใจตั้งใจผิดหมด

    ถ้าจงใจตั้งใจผิดหมด แล้วความเพียรชอบมีไว้ทำไม ความเพียรชอบ ความอุตสาหะ คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ใช่ความเพียรขี้ลอยน้ำ ความเพียรแบบเลื่อนลอยอย่างนั้นมันเป็นความเพียรขี้ลอยน้ำ เพราะมันตัดรากถอนโคน ตัดรากถอนโคนจิตของตัว

    ทำลายนะ เหมือนหลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาเรามีบ้านมีเรือนใช่ไหม เผาบ้านเผาเรือนหมดเลย ทำลายบ้านเรือนตัวเองทำไม ทำลายบ้านเรือนตัวเองเพื่อจะได้มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมไปทำไม ทำเกษตรกรรมขึ้นมาเพื่อจะมาปลูกบ้านเรือนนั้น ดูคนมันสอนสิ เรามีบ้านมีเรือนอยู่แล้วใช่ไหม ทำลายให้หมดเลย ทำลายไปทำไมล่ะ จะปรับพื้นที่ ปลูกแตงไง แล้วจะเอาแตงไปขาย ขายทำไมล่ะ ขายเพื่อเอามาปลูกบ้านเรือนอย่างเก่า

    นี่! ทำลายผู้รู้ไง ไม่ต้องรักษามันไง

    เรามีบ้านมีเรือนอยู่แล้ว เรามีสติอยู่แล้ว เรามีจิตอยู่แล้ว ถ้าเราทำสมาธิเราได้สมาธิอยู่แล้ว เราทำอย่างนี้เราพยายามทำของเรา แล้วก็รักษาของเรา เราจะปลูกพืชผักสวนครัวอย่างไรเพื่อเลี้ยงชีพก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ให้เจริญขึ้นมา

    จิตใจเรามีอยู่แล้ว คนมันรู้จริงนะ มันจะไม่ทำลายบ้านเรือนของตัวเอง ทำลายทำไม ทำลายขึ้นมาเพื่อจะเอาพื้นที่ จะปลูกผักปลูกหญ้ามาขายเพื่อจะเอามาสร้างบ้านหลังใหม่

    ไม่มี อย่าตัดรากถอนโคน อย่าทำลายจิตของตัวเอง จิตของตัวเองนี้สำคัญมาก เพราะจิตเห็นไหม จิตเป็นผู้ทุกข์ผู้ยาก จิตนี้เป็นภาชนะที่จะสัมผัสธรรม ถ้าสัมผัสธรรมได้จริง จะไม่พูดโกหกมดเท็จอย่างนั้น โกหกมดเท็จมาตลอด

    สังโยชน์ขาด ขาดแล้วก็กลับมาอีก

    แล้วแว็บก็เห็นนิพพาน ก็เป็นพระโสดาบัน

    พระอรหันต์ไม่มีอะไรเลย พระอรหันต์เวลาจะนอนก็ตกภวังค์ไปเลย

    พระอรหันต์ยังมีภวังค์อีกหรือ พระอรหันต์มีภวังค์ที่ไหน ภวังค์ไม่มี ภวังค์ไม่มีหรอก หนึ่งพระอรหันต์ไม่มีภวังค์ เพราะจิตมันพ้นออกไปแล้วนี้ เป็นวิมุตติแล้วไม่มีอะไรเลย เป็นสุขอยู่ในวิมุตตินั้น วิมุตติสุขไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าเป็นจิต เห็นไหม เราปฏิเสธตลอดเวลาว่าจิตไม่มี แต่เวลาพูดโดยสมมุติมันก็ต้องอ้างอิงไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านอ้างอิงว่าจิตเป็นอย่างนั้นๆ ท่านอ้างอิง แต่ไอ้คนไม่รู้นะ พอท่านบอกว่า จิตพระอรหันต์มันเป็นอย่างนั้นนะ มันก็สร้างภาพเลย นิพพานเป็นเมืองแก้ว เมืองแก้วมันก็คู่กับเศร้าหมอง สิ่งใดที่ยังพูดเป็นสมมุติได้ มันไม่ใช่ ถ้ายังพูดเป็นสมมุติได้ ไม่ใช่ มันพ้นออกจากสมมุติไปหมด เพียงแต่ว่าเวลาพระพุทธเจ้าพูดถึง เปรียบเทียบ ถ้าคนมีจริงจะเปรียบเทียบได้ ถ้าเปรียบเทียบได้มันจะเป็นความจริงได้ สิ่งที่เป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง

    เราพูดนี้เพราะพยายามจะอ้างอิงเอาทฤษฎีของวัดป่า ของครูบาอาจารย์มา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมาธิก่อน แล้วพอสมาธิออกมาแล้วนี่มันจะค่อยๆ ออกมา เราบอกว่าพุทโธเข้าไป จนจิตนี้ปล่อยวางหมด โลกธาตุนี้ดับหมด พูดอย่างนั้นเลยนะ ถ้าดับหมดแล้วค่อยๆ ออกมา พอออกมาแล้วจิตนี้กระทบ นี่เห็นไหม มันเป็นประเด็นทันทีเลย จิตนี้กระทบ จิตนี้มันเป็นแก้วหรือ แล้วสิ่งที่กระทบมันเป็นอะไรล่ะ อะไรกระทบกัน อะไรกระทบกัน

    แต่ถ้ามันเป็นความจริง จิตเวลามันลงแล้วนะ มันออกมานี้ มันจับอย่างไร มันรู้อย่างไร จิตมันรู้นี่มันรู้ กระทบอย่างไร ถ้าจิตมันกระทบตามความเป็นจริง

    มันบอกถึงว่า จำทฤษฎีมา แล้วพยายามจะพูดให้เหมือน แล้วไม่เหมือนๆ แล้วถ้ามันเหมือนนะ ย้อนกลับมาที่เขาบอกว่า เวลาจะทำสมาธินี้ต้องทำลายผู้รู้

    ถ้าห้ามรักษาผู้รู้ คนๆ นั้นก็ไม่มีสมาธิ เพราะสมาธิเกิดบนผู้รู้ ถ้าเราไม่มีใครรู้ใครเห็นสมาธิจะเกิดตรงไหน ผู้ที่รู้สมาธิ มันรู้ชัดๆ เรื่องสมาธินี้ แล้วไม่มีผู้รู้เรื่องสมาธิ สมาธิมันจะเกิดบนอะไร ถ้าทำลายผู้รู้นี้ แล้วสมาธิมันจะเกิดบนอะไร

    แต่พูดถึงถ้าเป็นนะ คนเป็นสอนมา ก็ต้องเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่เริ่มต้นจากไม่รู้แล้วก็ต้องทำให้มันชัดขึ้นมา สติชัดขึ้นมาทุกอย่างชัดขึ้นมา พอชัดขึ้นมามันจะเป็นความจริงของมัน พอชัดขึ้นมาแล้ว มันทำของมันไป แล้วมันเห็นสภาวะไป แล้วออกรู้อย่างไร แล้วภาวนามยปัญญาเกิดอย่างไร เห็นชัดเจนเลยว่าปัญญาอย่างที่เกิดขึ้นมานี้ มันเป็นปัญญาโลกียปัญญา มันเห็นชัดมาก

    หลวงตาจะพูดเน้นมากนะ หลวงตาจะเน้นมากเลยว่า “ปัญญาสมองกับปัญญาจิต” หลวงตาเน้นมากว่า เวลาภาวนานี้ ไม่ใช่ปัญญาจากสมอง ปัญญาจากจิต ปัญญาเกิดจากกลางอก ไม่ใช่ปัญญาเกิดบนสมอง แล้วปัญญาที่เกิดจากกลางหัวอก ปัญญาที่เกิดจากจิตนี้มันเป็นอย่างไร

    นี่คนรู้จริง แล้วผู้รู้มันอยู่ที่ไหน ผู้รู้อยู่กลางหัวอก แล้วปัญญาที่มันเกิดจากกลางหัวอกนี้ แล้วมันออกมาชำระกิเลส มันชำระอย่างไร ของอย่างนี้นะ เวลามันเป็นความจริงเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ท่านสอนท่านก็เห็นใจพวกเรา พวกเราประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าทุกคนประพฤติปฏิบัติแล้วจะได้รู้เหมือนกันหมด แต่เมื่อปฏิบัตินะมันจะแตกแขนงออกไป ใครมีความถนัด มีความคล่องตัว ในการดำเนินงานอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนี้ มันจะเหมือนกัน เหมือนกันจริงๆ อริยสัจมีอันเดียว อริยสัจไม่มีสอง จะมาช่องทางไหน ก็เหมือนกัน

    สังเกตได้ไหม สมัยหลวงปู่มั่น แล้วพอมาถึงครูบาอาจารย์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่พรหม หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี เคยเถียงกันเรื่องมรรคผลไหม เคยเถียงกันไหม หลวงปู่ฝั้น ไม่เคยเถียงกันเรื่องมรรคผลเลย ทั้งๆ ที่ว่าหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี พิจารณากายเหมือนกัน แต่พิจารณาไม่เหมือนกัน พิจารณาแตกต่างกัน เช่น หลวงปู่ขาวนี้ หลวงปู่ขาวพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะบ่อยเลย “เจี๊ยะ ม้างกายหลายบ่ ม้างกายหลายบ่ ” หลวงปู่เจี๊ยะพูดให้ฟังประจำ “ม้างหลายๆๆ” นี่คนเป็นกับคนเป็นพูดกัน หลวงปู่ขาวถามหลวงปู่เจี๊ยะว่า “เจี๊ยะเอ้ย ม้างกายหลายบ่” หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ม้างหลายครับ ม้างหลาย” แล้วม้างกายนี้ เอาอะไรไปม้างล่ะ คนเป็นกับคนเป็น เขารู้กันอยู่แล้ว

    อย่างเช่น เราเป็นนักขับรถ เราจะรู้เลยว่าขับรถอย่างไร รถรุ่นไหน รถอะไรจะขับอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน “ม้างกายหลายบ่” ถ้าเราไม่มีจิต เราไม่มีอะไรไปม้าง เราไม่มีผู้รู้ไปม้าง จะม้างกันอย่างไร ใครเป็นคนม้างกาย ใครเป็นคนพิจารณากาย แต่ถ้าคนเป็น เห็นไหม “เจี๊ยะเอ๊ย ม้างกายหลายบ่” หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้เราฟังเอง “ม้างหลายหลวงปู่ ม้างหลายๆ” คือพิจารณามากๆ แล้วเอาอะไรพิจารณาล่ะ มันรู้ว่ามันพิจารณา เพราะว่าคนเป็นคือคนเป็น มันมีอะไรไปพิจารณา มันมีผู้รู้ไปพิจารณา เห็นไหม

    หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี ครูบาอาจารย์เหล่านี้ นี่พิจารณากายกันทั้งนั้นเลย แล้วมันเหมือนกันไหมล่ะ ทางการประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนกันเลย เพราะต่างคนต่างมีความถนัดแตกต่างกัน แต่ผลล่ะ ทำไมเหมือนกัน ทำไมไม่มีใครบอกใครผิดใครถูกเลยล่ะ ทำไมผลมันเหมือนกัน

    นี่พระป่าเขาสอนกันอย่างนี้ สอนกันแบบวุฒิภาวะที่จริง วุฒิภาวะที่จริงนี้ถึงที่สุดแล้ว ลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์จะไปอยู่ในที่เดียวกัน ที่ๆเป็นจริงเหมือนกัน มันถึงไม่มีความแตกต่างไง ไม่ใช่ว่าเราจะบอกว่า สอนแบบพระป่าแล้วก็พูดกันไป เริ่มต้นก็ผิดไปตั้งแต่เริ่มต้นเลย

    ถึงบอกว่ามันไม่ใช่พระป่าหรือพระบ้าน มันไม่ใช่ว่าการปฏิบัติมันมีหลากหลาย มันมีถูกมีผิด

    เราถึงบอกว่ามันมีพูดจริงกับพูดโกหกไง

    มันมีพระป่ากับพระโกหก

    ตอนนี้ มันไม่ได้บอกว่าสอนแบบพระป่าหรอก มันสอนแบบพระโกหก

    จะจบนะ มันเป็นพระโกหกนะ เอวัง
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    Csr4wvolRTYVsnZmoc1sqUwOceZjmLPDjSq2KzEq2lN7&_nc_ohc=HT--Wc7wUxQAX9bI0pG&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    ฐีติภูตังญาณทัศนะ

    หลักธรรมคำสอนของหลวงปู่คำพันธ์นั้น จะเป็นไปแบบเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป สำหรับผู้ถือศีล สำหรับพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรม และสำหรับพระวิปัสนาที่ติดปัญหาภาคปฏิบัติในเรื่องที่ละเอียดอ่อน หลวงปู่ จะแก้ปัญหาแนะนำสั่งสอนให้ ให้พระนักปฏิบัตินำแนวทางไปปฏิบัติ สำเร็จลุล่วงขึ้นในระดับสูงต่อไป

    ครั้งหนึ่ง พระลูกศิษย์ได้เรียนถามท่านถึงเรื่อง ..

    " ฐีติภูตังญาณทัศน์ "

    ท่านตอบว่า..

    " เมื่อจิตสงบลงไป อาการสงบดังกล่าวนั้น ภาษาปริยัติ เรียกอาการนั้นว่า

    ฐีติภูตัง หมายถึง จิตไม่มีอาการปรุงแต่ง นิ่งอยู่ เป็นอัปนาสมาธิ เหมือนเด็กแรกเกิด จิตบริสุทธิ์ไม่มีกิเลส

    เหมือนน้ำที่นิ่งสงบลมไม่พัดกวน สะอาด

    มันเคยสะอาด

    แต่เมื่อมีนามรูปเข้ามาทาง หู ตา จมูก ลิ้น กายแล้ว ใจจะปรุงแต่ง

    เมื่อจิตลงสู่ฐีติภูตัง ให้กำหนดเห็นสิ่งต่างๆ ปฏิกูล

    แล้วพิจารณาให้คลายกำหนัด จนเกิดนิพพิทาญาณ แล้วพิจารณาให้คลายออกจากร่างกาย เรียกว่า ยถาภูตะญาณทัศนะ

    แล้วจะคลายกำหนัด ความมีรักจากสิ่งต่างๆ ความสิ้นรัก ความเกลียด ออกไปแล้ว จะเกิด วิราคะ เกิด วิมุติต่อไป จึงจะสิ้นสุด "

    วิราคะ หมายถึง ความปราศจากราคะ, ความไม่พึงใจ, ความหน่าย, ความไม่ใยดี, นิพพาน.

    หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

    FOGDZRJpnPvyYA_aEh2ZjnSgTPGOaPPvkcr_zJGU_mFr&_nc_ohc=KBtQPXGsCbkAX_Mi4lG&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    un14P_JLYN0VpUQsOo7Ru23XkPbQp5D3s5-eIruMdCTe&_nc_ohc=L8AZ_EHanj4AX8k8_ei&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    a91eqqmcpyhrhrup_yjh5fjllnzsrgmnt6cjtgyg-_nc_ohc-awnexr0h7jgax8tzurg-_nc_ht-scontent-fcnx3-1-jpg.jpg
     
  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    GJIlP647zm20CJ55gB4hvjvTchdhe6x7T9dfE1odaOvK&_nc_ohc=ceDQgHLE4aIAX_Exo55&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    IcXrAq3fyuL0vDRlcfU_ECOadEp14cXAgVnHMkaIWoss&_nc_ohc=KyECQxIQTPcAX-BdIS1&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    เมื่อมีความชำนาญในสมาธิ จะอยู่เฉย ๆ สบาย ๆ ดั่งนี้นานสักเท่าไรก็ได้ แต่ว่าก็ไม่บังเกิดผลทางปัญญา แต่อย่างใด
    เมื่อติดอยู่ด้วยความสุขในสมาธิ ดังนี้ ก็กลายเป็นอุปกิเลสเป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกันไว้ไม่ให้เกิดปัญญาดังกล่าว

    เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องการให้มีสมาธิเป็นบาท คือให้เป็นที่ตั้งเหมือนอย่างเป็นเท้าสำหรับที่จะดำเนินเข้าสู่ปัญญาซึ่งเป็นตัวความรู้
    เพราะฉะนั้นก็ให้ทำสมาธิ คือหยุดความคิดแม้ที่เป็นกุศล แต่ตั้งจิตให้เพ่งอยู่ในอารมณ์ คือเรื่องอันเดียว
    เมื่อจิตตั้งมั่นก็จะไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งหลาย ตามกำลังของความตั้งมั่นแห่งจิต และเมื่อจิตมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดังนี้ ก็ไม่ติดอยู่ในความตั้งมั่นของจิดนี้ เพราะว่าความติดอยู่ก็เป็นสังขารขึ้น คือเป็นความปรุงขึ้น และเมื่อเป็นความปรุงขึ้น ก็จะต้องมีความเกิด ความดับ ฉะนั้นก็ให้ไม่ยึดมั่น อยู่ในความตั้งมั่นของจิตนั้น แต่ให้มีความรู้อยู่เป็นความรู้ปล่อย รู้วาง

    และก็อยู่กับความรู้ปล่อย รู้วางนี้ นี่เป็นทางปฏิบัติอย่างสะดวกทางหนึ่ง คือปฏิบัติในทางแห่งสมาธิกับปัญญาประกอบกัน สมาธิก็คือทำจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์ ปัญญาก็คือ ทำความรู้ว่า แม้สมาธิก็เป็นสังขาร คือความปรุงอย่างหนึ่ง ที่จะต้องมีเกิด มีดับ

    เมื่อติดอยู่ในสาธิ ก็เป็นความติดอยู่ในสังขาร เพราะฉะนั้นจึงไม่ยึดถือ แต่ปล่อยวาง ทำความรู้อยู่กับความปล่อยวางนี้ ดังนี้ก็เป็นการปฏิบัติทางปัญญา และการปฏิบัติปัญญานี้ เมื่อแสดงตามหลักอริยสัจจ์ ก็คืออบรมความรู้ในทุกข์ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์


    (คำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม ๕ (เล่มพิเศษ) ชุด เทิดทูนพระคุณบิดามารดา หน้าที่ ๑๒๗ คัดลอกโดย ด.ญ.ปุณยนุช ขจรนิธิพร
     
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,337
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...