หลวงปู่เทสก์ ตอบปัญหาเรื่องกรรม และการเชื่อกรรม

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย ธนานุวัตร, 8 ตุลาคม 2009.

  1. ธนานุวัตร

    ธนานุวัตร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    224
    ค่าพลัง:
    +968
    หลวงปู่เทสก์ ตอบปัญหาเรื่องกรรม และการเชื่อกรรม



    ผู้ถาม: ดิฉันเป็นคนยิว และคนทั่วโลกก็แปลก ชอบยกโทษคนยิว ทำให้เราได้รับความเดือดร้อนใจมาก แม้แต่นักศึกษาชาวออสเตรเลียนี้ก็เหมือนกัน บางครั้งถึงขนาดมีคนเอาก้อนอิฐมาขว้างปาก็มี อยากจะทราบว่าจะเป็นเพราะกรรมที่เคยสร้างมาใช่หรือไม่ จึงทำให้เราได้รับผลกรรมถึงเพียงนี้

    หลวงปู่เทสก์ : มัน ไม่แน่เหมือนกัน ที่คนเขายกโทษว่ายิวไม่มีที่อยู่แล้วไปแทรกซึมทุกชาติแล้วแย่งอาชีพเขา ความเข้าใจอันนั้นมันเลยกระจายไปทั่วทั้งโลก เห็นยิวอยู่ตรงไหนเขาก็พากันรังเกียจ ที่แท้จริงนั่นพวกยิวก็มีความดีอยู่เหมือนกัน ยังมีคนชมอยู่เหมือนกันว่าพวกยิวฉลาด กล้าหาญ แม้แต่ระเบิดปรมาณูก็เกิดจากยิว แต่ก็ยังเกลียดพวกยิวอยู่ตลอดเวลา

    เพราะเหตุนี้แหละ ความนิยมจึงเป็นของแน่นอน ความจริงตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้ถือชาตินั่นชาตินี่อะไรทั้งนั้น ถือคุณธรรม เดี๋ยวนี้น่ะยิวเขาพึ่งตนเองได้ เขาส่งไปอยู่ทะเลทรายยังสามารถสร้างประเทศชาติของเขาให้เจริญ จะว่าไม่ดีได้อย่างไร จึงขอว่าของดีมีอยู่ แต่นิสัยความนิยมของคนเราไม่ดี มันติดอยู่ในสันดาน คนยุโรปเห็นพวกยิวแล้วพากันรังเกียจไปหมด ญวนก็เป็นที่รังเกียจของชาวเอเชียฉันนั้น แต่ในผลที่สุดเอเชียก็กลัวญวน ยุโรปก็กลัวยิว เพราะเขาเหล่านั้นมีธรรมะ คือ ขยัน อดทนต่อเหตุการณ์นั้นๆ

    .....................

    ผู้ถาม: ตามหลักพุทธศาสนาเราไม่ถือพระเจ้า และพระพุทธเจ้าไม่ให้เรานึกคิดในเรื่องสาระของคนเรา เป็นเพราะเหตุใด และปัจจุบันนี้ก็มีพุทธศาสนาสองนิกาย มหายานกับหินยาน มหายานยังเชื่อเรื่องของพระเจ้าอยู่ แต่หินยานไม่ให้คิดนึกถึงเรื่องสาระของคนเรา

    หลวงปู่เทสก์ : ไม่ ได้ห้าม พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามที่จะไม่ให้ค้นคิดสาระอันลึกซึ้งของคนเลย ยิ่งคิดยิ่งดี พุทธศาสนาไม่ให้ถือพระเจ้า แต่พุทธศาสนาสอนให้คิดค้นหาเหตุผลตัวจริง ข้อเท็จจริงในสิ่งต่างๆ เช่น พิจารณากายนี้ให้เห็นเป็นธาตุ สภาพของธาตุเกิดขึ้นมาจากอะไร ตั้งอยู่ด้วยประการใด แล้วก็ดับไปได้ด้วยวิธีใด พูดกันง่ายๆ ให้คิดค้นหาเหตุผลสิ่งต่างๆทั้งหมดในโลก จนกระทั่งไม่เข้าไปยึดอันนั้นเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา เห็นเป็นแต่สักแต่ว่าสภาวธรรม การไม่เข้าไปยึดเท่านั้นแหละ เป็นทางให้พ้นจากความเป็นภพเป็นชาติ นี่แหละที่ว่าพุทธศาสนาเป็นของลึกซึ้ง ลึกตรงนี้


    ................

    ผู้ถาม: ถ้าเราพิจารณาสภาวธรรม และเราก็เห็นว่าสภาวธรรมเป็นสิ่งลึกซึ้งมาก เหมือนกับทุกๆสิ่งมันมีโครงการ มันต่อเนื่องกัน และ มันทำงานด้วยกัน และจะต้องมีผู้วางแปลนด้วย ถ้าหากว่าเราพิจารณาสภาวธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีแปลนและเข้าใจว่ามีผู้วางแปลน นั้น มันจะผิดกับหลักของหินยานหรือเปล่า

    หลวงปู่เทสก์: จะมีโครงการแลทำงานสืบเนื่องกันโดยที่มีผู้วางแปลนหรือไม่ก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ได้คำนึงเรื่องอันไร้สารประโยชน์ พระพุทธเจ้าสอนแต่สิ่งที่ทำประโยชน์ให้เกิดมีขึ้นแก่ตน (คือทำให้พ้นจากทุกข์) เช่นเรื่องโลกกลมโลกแบน พระพุทธเจ้าท่านรู้ก่อนคนทั้งหลายว่า วัฏฏโก โลโก ความว่านี้เป็นของกลมหมุนอยู่เป็นนิจ วัตถุธาตุสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องดับไปเป็นที่สุด ไม่มีใครแต่งมัน หากเกิดจากเหตุปัจจัยของมันเอง เกิดมาแล้วก็ดับไป หากมันเป็นอยู่อย่างนั้นจึงเรียกว่า โลก พระเจ้าเสียอีก สร้างโลกแล้วไม่รู้จักว่าโลกนี้กลม แลโลกนี้สลายไปเมื่อไร นายอะไรคนหนึ่งเขาว่าโลกนี้กลมก็เลยโกรธเขา เอาเขาไปลงโทษ พอเขาพ้นจากโทษแล้ว นายคนนั้นก้ยังยืนยันว่าโลกนี้กลมอยู่
    มาสมัยวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วทั้งโลกก็ลงความเห็นอย่างนายคนนั้น ผลที่สุดชาวศาสนาคริสต์ทั้งหลายก็เลยคิดทรยศต่อพระเป็นเจ้า (คือคิดตรงกันข้าม)


    ..........

    ผู้ถาม: คำสั่งสอนของลัทธิต่างๆ เช่น ฮินดู พวกโยคี เวลาหัดภาวนาแล้วได้รับประสบการณ์ต่างๆ มีสาระหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่พ้นจากใจของเรา เราจะปล่อยใจของเราให้อยู่กับสาระสากลทั่วไป ทางศาสนาพุทธเป็นอย่างไร

    หลวงปู่เทสก์: เราจะปล่อยใจอย่างไรก็ต้องมีใจอยู่ดีๆ นั้นเอง จะให้ปราศจากใจไม่มี ที่ว่าปล่อยใจของเราให้ไปอยู่กับสาระสากลนั้น จะปล่อยอย่างไรถ้าไม่มีใจเสียอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีสาระ แท้ที่จริงการปล่อยใจของตนให้ไปอยู่กับสาระสากลนั้น ก็คือส่งใจไปอยู่กับสิ่งนั้นๆนั่นเอง ที่พ้นจากใจแล้วไม่มี ใครจะทำอะไรได้ก็ล้วนแต่เอาใจนี้ไปทำทั้งนั้น คนตายแล้วจะทำอะไรได้ ไม่มี
    ...........

    ผู้ถาม: ศาสดาอื่นๆ เช่น พระเยซู เข้าถึงพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวหรือคำสั่งสอนของเขาต่ำกว่าพระพุทธเจ้า

    หลวงปู่เทสก์: ขออย่าให้เรียกว่าถึงพุทธศาสนาเลย เรียกว่าถึงธรรมะ คือจะเรียนรู้พุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ถ้าผู้นั้นปฏิบัติธรรม เช่น มีเมตตา มีสามัคคีธรรม มีความอดทนต่อสิ่งที่มากระทบให้เกิดอารมณ์อย่างนี้เป็นต้น ผู้นั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงธรรมแล้ว ที่เรียกว่า เข้าถึงพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวนั้น คือธรรมเหล่านั้น พระพุทะเจ้ามารู้ก่อนคนทั้งปวง จึงเรียกธรรมเหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนา คำสอนของศาสนาต่างๆไม่ใช่แต่คริสต์ศาสนาต่ำกว่าพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่พุทธศาสนาสอนให้ไม่เอาอะไรทั้งหมดเป็นของตัว แม้แต่ความดีความชั่วก็ให้ละหมด ศาสนาอื่นๆสอนให้เอา

    .......

    ผู้ถาม: ศาสดาของลัทธิต่างๆ ที่มีคุณธรรมสูงตามความเห็นของเรา เราถือว่าเขาปฏิบัติหลักของพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวหรือลัทธิของเขามีสาระเอง ของเขาโดยเฉพาะ ที่จะทำให้เป็นคนดี ที่จะทำให้คนมีคุณธรรม


    หลวงปู่เทสก์
    : มันก็แน่ละซี มีสาระในตัวของมันเอง เพราะคุณธรรมนั้นๆทำให้มีสาระในตัวของมัน แต่อย่าลืมว่าที่จะมีสาระก็ต้องมีสมาธิเสียก่อน เช่น โมเสสผู้ตั้งลัทธิคริสต์ศาสนา เขาไปนั่งทำความสงบจิต จึงเกิดนิมิตเป็นเสียงขึ้นมาบัญญัติ ๑๐ ประการ ให้นำไปสอนพวกยิวทั้งหลาย เมื่อมีแต่เสียงไม่ปรากฏตัว เขาถือพระเจ้าก็เลยถือว่าเป็นเสียงของพระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนคนโบราณถือเสียงฟ้าร้องเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ฉะนั้น โมเสสหาได้นึกคิดเอาเองไม่ เขามีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วจึงเกิดความรู้อันนั้นขึ้นมา


    ..................

    ผู้ถาม: ขอกราบเรียนถามเรื่องปัญญา เท่าที่เข้าใจ เวลาเราทำใจสงบ ใจนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว ถึงจะมีความรุ้เกิดขึ้น แต่ที่ท่านอาจารย์สอนถึงเรื่องปัญญา เราจะต้องเข้าสภาพอันนี้ก่อนแล้วจึงค่อยเข้าสู่สภาพที่หยาบกว่า จึงจะมีปัญญาสามารถค้นคว้าหาเหตุผลได้ อยากทราบเรื่องของปัญญาหรือภูมิของใจที่เราจะใช้นี้ เป็นเรื่องของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หรือเป็นเรื่องของศาสนาอื่นๆก็มี หรือเป็นเรื่องของฝ่ายหินยานโดยเฉพาะ อยากทราบว่าลัทธิอื่นๆสอนถึงภูมิปัญญาด้วยหรือไม่


    หลวงปู่เทสก์
    : ที่ว่าใจมันนิ่งแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียวและให้เกิดปัญญานั้น การนิ่งแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียวในที่นี้มิได้หมายความว่าไม่มีอารมณ์ มี แต่เป็นอารมณ์อันเดียว เฉพาะที่พิจารณอยู่นั้นเท่านั้น ไม่มีอารมณ์อื่นมาเจือปนเลย นั้นมิใช่หยาบและละเอียด ปัญญาเกิดภูมินี้เท่านั้น หยาบกว่านี้และละเอียดกว่านี้แล้วไม่เกิดปัญญา
    ภูมิของจิตและภูมิของปัญญาที่ว่านี้ใช้ได้ทั่วไป มิใช่แต่เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น แต่พุทธศาสนาสอนให้พิจารณาเป็น ธาตุ ขันธ์ อายตนะ สัจธรรม ลงสู่พระไตรลักษณญาณ นอกจากนี้แล้วไม่ใช่ปัญญาในทางพุทธศาสนาแน่

    ..................

    ผู้ถาม: ไม่มีลัทธิที่จะตัดกระแสตัณหาหรือกระแสของกรรมหรือ


    หลวงปู่เทสก์
    : ไม่มีลัทธิใดซึ่งจะตัดกระแสตัณหาและกรรมได้ นอกจากพุทธศาสนาเท่านั้น พุทธศาสนาสอนให้ตัดตัณหาด้วยการพิจารณาเห็นชัดแจ้ง ด้วยปัญญาอันชอบว่าตัณหาเกิด และกรรมนี้เป็นตัวการ ก่อให้เกิดภพเกิดชาติแล้วละได้...
    พระพุทธเจ้าท่านเทศนาไว้ ปัญหาเทวดาถามกุมารกัสสป มีจอมปลวกตัวหนึ่ง มีรูอยู่หกรู เหี้ยมันเข้าไปอยู่ในนั้น เวลาจะจับเหี้ยนั้นจะทำอย่างไร ปิดเสียทั้งห้ารูเหลืออยู่รูเดียว บุคคลจ้องจะจับเหี้ยรออยู่ที่ปากรูนั้น เวลาเหี้ยออกมาจับเอาเลย
    ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่าห้ารูปิดหมด ยังเหลือแต่ใจ คอยจ้องจับเอาที่ใจมันจะคิดนึกถึงอะไรต่างๆ อย่างที่อธิบายให้ฟัง ใจคือตัวกลาง เข้ากับหลักที่ว่ากลาง มันไม่มีอะไร พอแวบออกไปที่รู จับคอมันทันที ใจคือตัวกลางไม่มีอะไร ไม่ได้ส่งไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย มโนทวาร คือใจ พอแวบออกไปจับตัวนั้นเลย

    ..................

    ผู้ถาม: ถ้าหากเราผิดศีลข้อที่สอง คือ เราลักขโมย จะได้รับผลอะไรบ้าง


    หลวงปู่เทสก์
    : ได้ผลคือ ใจของเราเป็นบาป ผิดปรกติ คิดชั่วลักของเขาโดยไม่สุจริต บาปตามสนองให้ได้ความทุกข์เดือดร้อน ว่าตนทำผิดอยู่เสมอ ตายไปก็จะเดือดร้อน เป็นอยู่ร่ำไปเพราะกรรมไม่ดีนั้น


    ..................

    ผู้ถาม: ในหนังสือมรรควิถี ท่านอาจารย์ยกเอาอสุภะขึ้นมาพิจารณากรรมฐานภายในกาย เห็นว่าเราต้องพิจารณาอสุภะ หรืออานาปานสติ หรือพุทโธ มันเป็นทั้งหมดใช่หรือไม่


    หลวงปู่เทสก์
    : อันนั้นยกเอามาเป็นตัวอย่างเฉยๆ จะพิจารณาอานาปานสติหรือพุทโธก็ได้แล้วแต่ใครจะพอใจอะไร ข้อสำคัญจิตรวมได้เป็นพอ ก่อนจะพิจารณาอะไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าบริกรรมนั้นเป็นแต่เครื่องล่อ ธรรมดานายพรานเบ็ดเอาเหยื่อล่อปลา ความประสงค์ของนายพรานมิใช่ประสงค์ที่เหยื่อประสงค์เอาปลาโน่นต่างหาก ฉันใด ผู้บริกรรมภาวนาก็ประสงค์เอาสมาธินั้นต่างหาก คือบริกรรมไปๆ ให้เอาสตินั้นคอยจับจ้องที่ใจ มันจะเข้าใจมาเป็นสมาธิ เมื่อจับใจได้แล้วบริกรรมนั้นทิ้งเสียโดยไม่รู้ตัว หรือหากมันไม่ทิ้งก็ให้ปล่อยวางเสีย


    ..................

    ผู้ถาม: เคยพิจารณากาย โดยใช้หลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การพิจารณาปัญหาในชีวิตประจำวัน จะใช้หลักเดียวกัน ได้หรือไม่


    หลวงปู่เทสก์
    : ถึงแม้ว่าเราจะพิจารณาปัญหาชีวิตประจำวัน ก็ยังไม่หนีจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คืออย่าให้หนีจากความเกิด – ดับ จึงจะเข้าหลักธรรม พิจารณาอาการของมันเป็นไปตามโลกแล้ว นั่นจะไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความเดือดร้อนเสียเปล่าๆ เราเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันควบคู่ไป ถึงแม้จะทำอะไรก็ตาม เราจะต้องทำสักแต่ว่าทำเพื่อประกอบอาชีพให้ยังชีวิตคงอยู่ไปวันหนึ่งๆเท่า นั้น ผลที่สุดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีสาระสักอย่างเดียว เราทำอย่างนี้เราจึงจะมีวิชาทางธรรมและจะทำให้ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์ ชีวิตเมื่อเกิดขึ้นมาก็จำจะต้องหล่อเลี้ยงมันต้องรักษาบริหาร แต่รักษาบริหารผลที่สุดก็ต้องทอดทิ้ง เห็นอย่างนี้จึงค่อยสบาย นี่แหละธรรมเป็นของมีคุณค่ามีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของชาวโลกอย่างนี้


    ..................

    ผู้ถาม: สัมมาอาชีพหมายถึงอะไร


    หลวงปู่เทสก์
    : สัมมาอาชีพตามที่ท่านอธิบายเรียกว่า การเป็นอยู่โดยสุจริต ได้แก่การที่เราเกิดมาเป็นคนแล้ว ทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่สุจริต ไม่ผิดจากหลักศีลธรรม คือว่าไม่ให้เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนตนและคนอื่น เรียกว่าสัมมาอาชีพ

    ..................

    ผู้ถาม: ไปภาวนาที่ป่าช้าแล้วเห็นภาพกระโหลกศีรษะ ได้พยายามเพ่งต่อไปให้เห็นเป็นหน้าของตนเองอยู่บนกระโหลกศีรษะ เมื่อกลับมาได้นั่งภาวนาอีก เห็นภาพกระโหลกศีรษะอีก ทำให้ตกใจจนถึงกับนอนไม่หลับ ผมพอจะได้อ่านหนังสือมาบ้างซึ่งแนะนำไม่ให้ไปยึดเรื่องภาพนิมิต แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็ยังกลัวอยู่ ขอท่านอาจารย์โปรดแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะหายตกใจกลัว



    หลวงปู่เทสก์
    : จะเรียนรู้มาเท่าไรก็ตาม เวลาเกิดนิมิตมามันลืมหมดไปเห็นประจักษ์เฉพาะใจ การจดจำจากตำรามันทิ้งถ้าไม่ทิ้งมันก็ไม่เกิด มันเกิดขึ้นจนกระทั่งตกใจทำให้กลัวขึ้นมาได้ โดยเข้าใจว่านิมิตนั้นเป็นของจริงจังขึ้นมา จงย้อนถอนจิตออกดูข้างนอกอีกทีหนึ่งว่า นั้นมันเป็นจริงหรือไม่ ก็เห็นว่าไม่จริง อย่าไปอยากเห็นหน้าบนกะโหลกศีรษะซี ใจถอนออก แล้วจะไม่รวมอีก มันจะเห็นก็ช่างมัน ขอให้ตามรู้อยู่ว่านั้นเป็นภาพนิมิต แล้วตั้งสติคุมจิตให้อยู่ที่ใจ ภาพนิมิตและความตกใจนั้นก็จะหายไป


    ..................

    ผู้ถาม
    : เวลานั่งธรรมดาๆ นิมิตก็ยังปรากฏอยู่

    หลวงปู่เทสก์: เป็นได้เพราะใจเป็นสมาธิอยู่ สมาธิหมายควมว่าใจมันแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว ถึงจะมีธุรการงานสิ่งอื่นใด จิตก็เป็นไปกับงานนั้นบางครั้งบางคราว แต่แล้วมันก็กลัววกคืนเป็นสมาธิอีก ภาพนิมิตก็มาปรากฏอีก เรียกว่า อุคหะนิมิต อุคหะนิมิตนี้มีทั้งโทษทั้งคุณ คุณนั้นทำให้ใจนิ่งแน่วอยู่ได้นานๆ ในอารมณ์อันเดียว โทษนั้นถ้าผู้ไม่รู้เท่าเข้าใจไปถือว่าเป็นจริงเป็นจังก็จะหลงมัวเมาซึมเซ่อ เสียคน จึงควรระวังอย่าเข้าไปติดภาพนิมิตนั้นจะเสียคนไป

    ..................

    ผู้ถาม: ใจของคนเราซาบซึ้งอยู่ในกาย แล้วกายก็เป็นวิบากกรรมของคน เป็นที่รับทุกข์ เราห้ามไม่ได้จึงต้องรับทุกข์ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เราเข้าใจถึงเรื่องความทุกข์นั้น และใช้ความเข้าใจนั้นเป็นเครื่องต่อสู้กับความทุกข์ อยากทราบว่าความเห็นเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

    หลวงปู่เทสก์: แน่ละซี วิบากคือผลของกรรมที่สร้างไว้แล้ว จะเอาไปให้ใครใครก็ไม่เอา ถึงแม้เราจะเห็นเป็นทุกข์ ก็ต้องทนสู้อุตส่าห์เลี้ยงมันไปจนกว่าจะแตกดับ มีทางเดียวคือพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง แล้วไม่เข้าไปยึดถือมัน แต่ถึงกระนั้นเมื่อเราไม่พิจารณา ทุกข์อันนั้นก็กลับเข้ารุมล้อมอีก ฉะนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงพิจารณาอยู่ด้วยความไม่ประมาทจนกว่าจะแตก ดับไปเป็นที่สุด
    ..................

    ผู้ถาม: ใจของผมคล้ายจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยังติดข้องอยู่ในอารมณ์ที่เคยได้ยินได้ฟัง ติดอยู่ในกิเลสบาปกรรมที่เคยทำมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนใหม่ที่มีความเข้าใจว่าอันนี้เป็นเรื่องไม่ถูก ทำไม่ดี แล้วใจทั้งสองส่วนนี้มันแย่งกัน จะทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้

    หลวงปู่เทสก์: มันยึดมานานแสนนาน ยากที่จะแก้ไขได้ แต่ก็ยังดีที่เห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นจิตที่ไปคิดติดอยู่กับกิเลสบาปกรรมที่ทำ มาแต่ก่อน จงไปยึดเอาจิตที่เป็นส่วนใหม่ที่เห็นว่าไม่ดีไม่ถูกนั้นเสีย นานๆเข้ามันก็ลืมไปเอง พร้อมกันนั้นขอให้พิจารณาเห็นโทษจิตที่ไม่ดีไปยึดเอาสิ่งต่างๆนั้นว่าเป็น ภัย เป็นศัตรู ทำให้เกิดบาปกรรมมากๆ มันจะเบื่อหน่ายเกลียดกลัวแล้ววางไปเอง
    ..................

    ผู้ถาม: ที่ว่าไม่ได้ยึดหมายความว่าอย่างไรครับ
    หลวงปู่เทสก์: หมายความว่าไม่ให้เอาใจไปจดจ้องปักฝังแน่นอยู่กับอารมณ์นั้นๆ ทั้งดีและชั่วไม่ลืมเลย อันเป็นเหตุดึงดูดให้ได้ไปเกิดเป็นภพชาติต่อไป

    ..................

    ผู้ถาม: ถ้าภาวนานิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว หากว่ามีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก แล้วเราพิจารณาเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยให้มันเกิดขึ้น อันนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ

    หลวงปู่เทสก์: ถ้าภาวนาแล้วจิตนิ่งอยู่กับอารมณ์เดียวถูกแล้ว อารมณ์อันอื่นมาแทรกไม่ถูก แต่อารมณ์อันนั้นถ้าพิจารณาเป็นธรรมก็ใช้ได้ แต่ให้วางได้ในเมื่อพิจารณาแล้ว ถ้าวางไม่ได้ก็ไม่ถูก จะวางก็ได้ จะพิจารณาก็ได้ จึงจะถูก เมื่อพิจารณามันจะเป็นธรรมคือลงที่ไตรลักษณ์ก็ได้ หรือไม่พิจารณามันจะอยู่เฉยๆของมัน มีสติคุมจิตให้อยู่ในความสงบสุขต่อไป

    ..................

    ผู้ถาม: ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว แล้ววางจิตเฉยๆ เช่น ถ้ากระเป๋าถูกขโมยแล้วก็ทำเฉยๆเช่นนั้นหรือ
    หลวงปู่เทสก์: นักภาวนาทั้งหลายพิจารณาถอนอัตตาแล้วเฉยได้ ไม่กังวลกับสิ่งของทั้งหลายแม้แต่ชีวิตของตนก็ไม่เข้าไปยึด นับประสาอะไรแค่กระเป๋า
    ..................

    ผู้ถาม: คำว่าอุบายนี่หมายถึงวิธีการใช่ไหมครับ
    หลวงปู่เทสก์: อุบายนี้หมายถึงโครงการ หรือวิธีการที่จะทำให้ถูกตามเป้าหมายนั้นๆ ที่ตนกำหนดไว้แล้ว

    ..................

    ผู้ถาม: ที่ว่าไม่ไปยึดถือ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราจะทำตัวอย่างไรในชีวิตประจำวันของเรา
    หลวงปู่เทสก์: ยึดนั้นต้องยึดแน่ๆ ถ้าไม่ยึดถือจะพิจารณาอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาสิ่งนั้นๆ เห็นตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ไม่ทราบจะยึดถืออะไรกัน ยึดหรือไม่ยึดมันก็เพียงแค่นั้น การงานประจำวันทำก็สักแต่ว่าทำ เพื่อให้ลุล่วงไปวันหนึ่งๆเท่านั้น ชีวิตความเป็นอยู่ถ้าทำได้อย่างนี้มันก็เบาไม่เป็นทุกข์
    ..................

    ผู้ถาม: บางทีรู้สึกว่าไม่มีตัว ใจก็ไม่มี มันมีแต่การเกิด-ดับ เท่านั้น ในชีวิตประจำวันเวลาอยู่กับครอบครัวก็เห็นว่าครอบครัวไม่ได้เป็นของเรา อยากทราบว่าความคิดเช่นนั้นเป็นจริงหรือว่าเป็นมารมาหลอกลวง
    หลวงปู่เทสก์: ไม่มีมารมาหลอกลวง ความเห็นนั้นเป็นธรรมแล้ว แต่มารมาหลอกลวงต่างหากว่าความเห็นเช่นนั้นอาจจะผิดไป จงอย่าเชื่อคำหลอกลวงของมารเลย ผู้เห็นเช่นนี้มิใช่ของง่าย ต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์จึงจะเห็นได้

    ..................

    ผู้ถาม: ปฏิบัติธรรมะแล้วก็เป็นสุข
    หลวงปู่เทสก์: ก็ถูกอีกละซี ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นสุข ไปหาสุขที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ในชีวิตประจำวันก็หาความสุข ทำบุญทำทานก็หาความสุข จะเอาอย่างไรอีก ให้สังเกตอีกนัยหนึงว่า ความสุขที่เราได้รับนั้นทำให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อนหรือไม่ ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อนมันก็ยังไม่ทันถูก

    ..................

    ผู้ถาม: ขอกราบเรียนถามว่าถ้าร่างกายประกอบด้วยธาตุสี่ เมื่อมีร้อน มีหนาว เรารู้สึก คือรู้ที่ใจ ใจผู้รู้มันรู้สึกเดือดร้อนไปต่างๆนานา ใจนี้มันเป็นธาตุหรือเปล่าครับ ธาตุสี่นั้นพอจะเข้าใจ
    แต่ตัวรู้นี้สมมติว่าเราจะวางนะครับว่าไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ตัวรู้นี่คืออะไร เป็นธาตุหรือเปล่าครับ

    หลวงปู่เทสก์: เป็นธาตุรู้เหมือนกัน ถ้าหากเราไม่ไปถือว่าเป็นเราเสีย ธาตุรู้สึกแต่ว่ารู้ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง ก็สักแต่ว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ธาตุรู้สักแต่ว่า ธาตุรู้ มันก็หมดเรื่องกัน

    ผู้ถาม: ธาตุรู้นี้ไม่ใช่ผู้รู ้ใช่ไหมครับ
    หลวงปู่เทสก์หลวงปู่เทสก์: ธาตุรู้คือผู้รู้นั่นแหละ

    ผู้ถาม: แล้วถ้าไม่ถือเป็นเรา ถือเป็นใครครับ
    หลวงปู่เทสก์: ถือเป็นสักแต่ว่าปัจจัยกระทบกัน สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ให้เห็นเป็นหน้าที่ของมัน ของที่ไม่ใช่เราแล้วเราวางได้ ถ้าหากว่าเราวางไม่ได้ ก็ไปยึดเป็นของเราเป็นอุปาทาน

    ..................

    ผู้ถาม: เมื่อวานนี้ท่านอาจารย์โปรดพระมหาสมัย เกี่ยวกับเรื่องอนัตตลักขณสูตร บอกว่าคนโดยมากเข้าใจว่าไม่มีตัวตน หมายความว่าอย่างไรครับ กระผมขอได้ยินสั้นๆอีกทีหนึ่งครับ ว่าควรจะเข้าใจอย่างไรจึงจะถูก

    หลวงปู่เทสก์: คำว่าอนัตตาในที่นี้นั้นน่ะ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี มีอยู่แต่ไม่มีสาระ ตัวคนเราน่ะมี มีอยู่เหมือนกัน แต่ว่าหาสาระไม่ได้ คือว่าเกิดขึ้นมาแล้ว มันแปรสภาพตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ นั่งอยู่นี่ก็แปรสภาพไปเรื่อยๆ ไม่มีสาระแก่นสารอะไร สักแต่ว่าเป็นปัจจัยสืบเนื่องกันไป อย่างเซลล์ตัวต้นมันดับไป ตัวอื่นเกิดมาแทน ตาย-เกิด-ตาย ผลที่สุดมันหมดปัจจัยแล้วก็ดับหมดเลย นั่นจึงว่าไม่ใช่ของเราคือไม่มีสาระ

    .................

    ผู้ถาม: ถ้าดับหมด ธรรมชาติของตัวรู้จะยังมีอยุ่หรือจะดับไปด้วยครับ
    หลวงปู่เทสก์: เรื่องนี้ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยของผู้รู้ยังมีอยู่ก็ยังไม่ดับ

    ผู้ถาม: แล้วธาตุรู้นี่มันจะติดต่อจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่งเรื่อยๆใช่ไหมครับ
    หลวงปู่เทสก์: ถ้าหากว่ายังไม่ทันหมดบริสุทธิ์เด็ดขาด คือมันเข้าไปยึดอยู่ มันก็ยังต่อไปเรื่อยๆ
    .................

    ผู้ถาม: ถ้าตอนนี้หมดบริสุทธิ์ได้แล้ว ธาตุรู้นี้จะหายไปหรือครับ
    หลวงปู่เทสก์: เมื่อเราเข้าใจและไม่เข้าไปยึดแล้ว ไม่มีปัจจัย มันก็ไม่สร้างอะไรทั้งนั้น อันนั้นไม่ต้องพูดกันนะ

    ผู้ถาม:: ท่านอาจารย์พูดเรื่องนี้แล้วน่าสนใจ ขอกราบเรียนให้ท่านอาจารย์อธิบายในเรื่องนี้
    หลวงปู่เทสก์: คือว่ามันเป็นภพหนึ่งของใจ เมื่อเวลาใจเข้าไปในนั้นๆแล้ว มันวางทอดธุระอายตนะภายนอกทั้งหมด อันนั้นเป็นภพของใจ ภพของใจจำเป็นจะต้องมีขันธ์ มีธาตุ อายตนะมีหมด นี่พูดถึงเรื่องอายตนะภายใน คือมันคุยอยู่คนเดียว มันมีกระทบกระทั่งอยู่คนเดียว มันรู้เรื่องของมันอยู่คนเดียว อะไรทั้งหมดมีเหมือนอายตนะภายนอกนี้แหละ

    .................

    ผู้ถาม: ที่ท่านอาจารย์กล่าวนี้หมายความว่าจิตนี่มันมีขันธ์ห้าพร้อมอยู่ในตัวของมันหรือครับ
    หลวงปู่เทสก์: ใช่แล้ว ไม่ใช่มีแต่ขันธ์ห้า อายตนะทั้งหลายก็มีด้วย ถ้าไม่มีมันจะเอาอะไรมาเกิด จิตนี้มันสร้างของมันไว้สองภพ ภพนี้ดับไปแล้ว มันก็ไปถือเอาภพอื่นต่อไป ผู้ภาวนาถึงขั้นความสงบพิจารณาเห็นว่าหมดกิเลสแล้วก็อยู่เฉยๆ นั้นแหละคือสร้างภพใหม่ไว้ให้ตัวเอง


    .................

    ผู้ถาม: ตามความเห็นของผมคือเราต้องอาศัยปัจจัยสี่ ในการที่จะช่วยเหลือคนอื่น ตัวเราเองก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่ จุดหมายของเรามันมีอยู่เพียงเท่านี้ใช่ไหมครับ

    หลวงปู่เทสก์: เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่ ถึงแม้ว่าเราจะว่า ปัจจัยสี่เป็นทุกข์ก็ตาม แต่เราเกิดขึ้นมาทุกข์ก็ต้องอาศัยทุกข์ไปเสียก่อน ถ้าหากว่าเราเข้าไปยึดนั้นจริงๆจังๆ มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึดเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยมันก็ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เหมือนเราจะต้องการข้ามน้ำด้วยเรือ เราต้องอาศัยเรือ พอไปถึงฝั่งแล้วเราก็ทิ้งเรือไม่เอาเรือไปด้วยเหมือนๆกัน

    .................

    ผู้ถาม: ตามจิตวิทยาของฝรั่งบอกไว้ว่า ถ้ามีอารมณ์ภายในใจ ต้องมีการแสดงออกถึงจะระบายอารมณ์นั้นได้ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    หลวงปู่เทสก์: ถูกแล้ว ถ้าไม่แสดงอาการออกมา คือไม่ระบายออกมา มันก็ยังค้างอยู่ แต่มิได้หมายความว่าหมดแล้ว แต่ถ้าปฏิบัติเข้าถึงธรรมแล้ว ไม่มีการแสดงอาการออกมาก็หมดได้
    .................

    ผู้ถาม: ความตายคืออะไรครับ

    หลวงปู่เทสก์: ตาย หมายถึงความแตกดับของร่างกาย หรือเรียกว่าความสลายไปของสภาพอันหนึ่ง จิตก็มีสภาพให้นึกคิดปรุงแต่งโน่นนี่เหมือนกัน เมื่อมันดับจากอารมณ์นี่แล้วก็ไปปรุงแต่งอารมณ์อื่นต่อไป เรียกว่าเกิดอารมณ์ใหม่ต่อไป จิตก็มีการ เกิด- ดับ เหมือนกัน เรียกว่าภพน้อยภพใหญ่ ทั้งที่ขณะยังมีชีวิตอยู่นี้

    .................

    ผู้ถาม: ผมอยากจะเปรียบเทียบศาสนาพุทธกับคริสต์ ศาสนาคริสต์สอนเรื่องวิญญาณ วิญญาณนี้เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เมื่อตายแล้วมีการขึ้นสวรรค์ ตกนรกเวลาทำดีทำชั่ว ถ้าจะเปรียบกับศาสนาพุทธ จิตก็คล้ายๆวิญญาณใช่หรือไม่

    หลวงปู่เทสก์: คล้ายกัน คือจิตกับวิญญาณในพุทธศาสนาก็มี เรียกชื่อว่าจิตก็มี วิญญาณก็มี คือว่าผู้ที่สร้างกรรม รับกรรม คือตัวจิตหรือวิญญาณนั่นเอง แต่ทางพุทธศาสนา ไม่ได้ถือว่าพระเจ้าเป็นคนส่ง ถือกรรมนิมิตคตินิมิตเป็นคนส่งให้ขึ้นสวรรค์ตกนรก ส่วนคริสต์ศาสนามีพระเจ้าเป็นคนส่ง ผิดกันเท่านั้นแหละ

    .................

    ผู้ถาม: ถ้าเจตนาเป็นไปตามโมหะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าทำลายแล้วเป็นบุญ เช่น ไปฆ่าสัตว์เพื่อถวายพระเจ้าคิดว่าเป็นบุญ เขาคิดทำและเสียสละเพื่อพระเจ้า เขาทำแล้วก็มีความปลาบปลื้มใจว่าเขาได้ทำบุญ แบบนี้จะเป็นกุศลหรือเปล่าครับ

    หลวงปู่เทสก์: กุศลส่วนนี้ในทางพุทธศาสนาท่านว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ได้อานิสงส์เหมือนกัน แต่ว่ากุศลส่วนนี้มันยังไม่เป็นกุศลอันบริสุทธิ์ กุศลที่ทำให้เขาได้รับความปลาบปลื้มปิตินิดหนึ่งนั้นน่ะ แต่มันไปเบียดเบียนคนอื่นเข้า กรรมที่ไปเบียดเบียนคนอื่นมันยังติดตามอยู่ กรรมดีและชั่วเราทำแล้วต้องรับผลของกรรมนั้นด้วยตนเอง จะสละให้พระเจ้าไม่ได้ นั้นเป็นแต่ความเชื่อเฉยๆ พระเจ้ารับหรือไม่รับเราก็ไม่เห็น

    ..............

    ผู้ถาม: วิบากกรรมเป็นสิ่งที่ตามมาสนอง แล้วทำบุญเพื่อล้างกรรมได้ไหมครับ

    หลวงปู่เทสก์: ไม่ได้ อย่างพระองคุลีมาล กรรมที่ท่านทำไม่มีเจตนา แต่ทำเพราะคำแนะนำของอาจารย์ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วกรรมมันตามทันอยู่ ไปบิณฑบาตเขายังปาก้อนหินอะไรต่างๆไปถูกศีรษะท่านเลย

    .................

    ผู้ถาม: ขอเรียนถามถึงเรื่องกฎของกรรม กรรมที่ตนกระทำไว้ สมมติว่าทำกรรมดี เมื่อไรผลของกรรมดีจะมาสนอง

    หลวงปู่เทสก์: กรรมบันดาลเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นไปของมันเอง ของพวกนี้แต่งกันไม่ได้ ถ้าเราแต่งได้ก็สบายน่ะซี เช่นเราเกิดมานี้จะตั้งใจเกิดมาเป็นผู้หญิงก็ไม่ได้ จะตั้งใจเกิดมาเป็นชายก็ไม่ได้ จะเป็นคนดำ คนขาว ผิวเหลือง ผิวแดง ไม่ได้ทั้งนั้น แต่กรรมบันดาลมาให้เอง พระพุทธเจ้าเทศนาไว้ กรรมเป็นผู้จำแนกแจกให้เกิด เรามาเสวยกรรมของเรา ฉะนั้นเราเป็นอันใดเราพอใจยินดีของเราดีกว่า เราเป็นผู้ชายก็ยินดีความเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงก็ยินดีความเป็นผู้หญิง อย่าไปเปลี่ยนเพศมันเลย ไปแต่งเพศใหม่เปลืองเงินเปล่า
    .................

    ผู้ถาม: ผมเคยอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกรรม บอกว่ากรรมนี้เหมือนเมล็ดจะต้องขึ้นกับ กิน น้ำ ลม ไฟ ทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของมันมาพร้อม

    หลวงปู่เทสก์: ก็นั่นแหละมันมาให้ผลไม่สม่ำเสมอกัน เราแต่งเอาไม่ได้แล้วแต่เหตุผล กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว แล้วก็ขึ้นอยู่กับเจตนาอีกด้วย ถ้าเจตนาที่ทำกรรมนั้นแรง ผลก็ชั่วร้ายกาจ ถ้าเจตนาไม่แรงทำกรรมนั้น ผลก็ไม่ร้ายกาจ

    .................

    ผู้ถาม: อีกเรื่องหนึ่งในประวัติของพระอาจารย์มั่น มีพี่น้องอยู่สองคนที่สร้างเจดีย์ไว้ยังไม่เสร็จแล้วก็เกิดสิ้นไป

    หลวงปู่เทสก์: เราไม่คิดถึงกรรมที่เราทำไว้และล่วงมาแล้ว เอาปัจจุบัน ทำให้ใจบริสุทธิ์ในขณะนี้ ไม่คิดถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ถ้าไปคิดแล้วกลุ้มใจ ร้อนใจ มันยิ่งสร้างกรรมไม่ดีต่อไปอีก เมื่อเราลงปัจจุบันเดี๋ยวนี้แล้ว ไม่มีอะไรเลย อย่างพระองคุลีมาล ที่ว่าท่านทำกรรมไม่ดีไว้มาก ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าลงปัจจุบัน ท่านไม่ได้คิดถึงข้างหน้าถึงข้างหลัง มันจึงลุล่วงไปได้ แต่ว่าเมื่อขันธ์วิบากอันนี้ยังเหลืออยู่ตราบใดมันก็ยังต้องเสวยกรรม เพราะขันธ์วิบากอันนี้เป็นผลยังมีอยู่ วิบากคือผลของกรรมเก่า

    .................

    ผู้ถาม: สมมติว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี หรือว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น เราควรจะนึกว่านี่เป็นกรรมของเรา เช่น สมมติว่าเกิดมาเป็นคนจน เราคิดว่าเป็นกรรมของเรา แล้วไม่ขวนขวายที่จะประกอบอาชีพ อย่างนี้เราไม่ควรจะคิด หรือว่าคิดอย่างนั้นถูกแล้วครับ

    หลวงปู่เทสก์: ถูก เราทุกข์ยากลำบากกาย ไม่มีอาชีพ เรามาคิดถึงเรื่องผลของกรรม เราได้ทำความชั่วไว้ แต่ก่อนกระมัง จึงได้เสวยทุกข์อย่างนี้ แล้วเราก็เว้นเสียจากกรรมชั่ว อย่าทำต่อไป ประกอบอาชีพทำแต่ทางดี หรือเมื่อได้รับความทุกข์กลุ้มใจแล้ว ก็บอกว่านี่แหละเราเคยทำไว้เช่นใดแล้วเราก็ได้รับอย่างนี้แหละ เราก็พอใจยินดีกับกรรมของเรา แล้วเราจะไม่ทำกรรมชั่วนั้นขึ้นอีกต่อไป กรรมที่มันมีอยู่แล้วแต่ก่อน ก็ค่อยๆหมดไปๆ ไม่ให้กรรมใหม่เกิดขึ้นมาได้อีก นี่จึงจะถูก ถูกหนทางที่พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าได้สร้างกรรมเวรต่อไปอีกจะเกิดภพเกิดชาติไม่มีที่สิ้นสุดลงได้

    .................

    ผู้ถาม: แสดงว่าไม่ควรที่จะขวนขวายให้เราทำชั่วอีก ควรจะขวนขวายในการทำความดีต่อไป
    หลวงปู่เทสก์: ใช่ ขวนขวายในความดี ขวนขวายดี พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แต่พึงเข้าใจว่า ความดีนั้นเป็นบ่อเกิดของการรวย รวยทั้งบุญ ทั้งทรัพย์

    .................

    ผู้ถาม: การขวนขวายในทางโลกเพื่อให้มีสมบัติมากขึ้น เลี้ยงชีพในชาตินี้ก็ควรจะทำใช่ไหมครับ
    หลวงปู่เทสก์: การอาชีพของฆราวาสท่านไม่ห้าม ท่านห้ามแต่อาชีพในทางเบียดเบียนผู้อื่น นำทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแลผู้อื่น

    .................

    ผู้ถาม: ถ้าขวนขวายแล้วไม่ได้ ก็ให้คิดว่าผลวิบากมันยังกั้นอยู่ ให้ปล่อยวางเสียใช่ไหมครับ

    หลวงปู่เทสก์: ให้ขวนขวยไปจนหมดกำลัง คนขยันย่อมไม่อดตาย อย่าปล่อยวางให้ผลวิบากของเก่า เราไม่ทราบได้ว่ามันมีจริงหรือไม่ เมื่อขวนขวายจนสุดความสามารถแล้วก็ยังไม่มีจึงคิดว่า บางทีจะเป็นเพราะกรรมเก่ากระมัง เพื่อปลอบใจเราต่างหาก
    .................

    ผู้ถาม: ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มีโอกาสดีกว่าพวกสัตว์อื่นๆ เพราะสามารถที่จะบำเพ็ญบารมีให้ได้ บรรลุถึงนิพพานในที่สุด คนที่เกิดมาแล้วแทนที่จะทำดี แต่ทำชั่วต่อไป นี่อาจจะเป็นเพราะกรรมมาตัดเสียจะเป็นไปได้ไหมครับ

    หลวงปู่เทสก์: จะเรียกว่าเพราะกรรมมาตัดรอนเสียก็ได้ เพราะเราไม่สามารถจะตัดกรรมนั้นได้ แต่มิใช่กรรมเก่านะ กรรมปัจจุบันนี้เอง คนเราเมื่อสู้กับกิเลสไม่ได้ (คือใจชั่ว) แล้วทำกรรมชั่วลงไป มักจะทิ้งให้กรรมชั่วพาทำอย่างนั้น และเพราะมีกรรมชั่วนั้นแหละ เราจึงต้องทำกรรมดีให้มากพื่อเอาชนะกรรมชั่ว

    .................

    ผู้ถาม: ในชาดกมีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่าพระอินทร์แปลงเป็นอสูรแก่ และไปได้นางสุชาดามาเป็นภรรยา ขอเรียนถามว่าเทวดาไม่ควรจะมีแก่เพราะเขาว่า เทวดานี่เวลาตายก็หายไป เวลาเกิดก็วับขึ้นมา อย่างนี้แสดงว่าเรื่องนี้บันทึกไว้ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ครับ

    หลวงปู่เทสก์: ไม่ผิด ถ้าผิด ตัวพระอินทร์เอง ซึ่งเป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็ผิด คือพระอินทร์ยังมีต้นปาริชาติ มีช้างเอราวัณ มีสระโบกขรณี มีสวนดอกไม้ มีรถพระที่นั่ง เมื่อคราวรบกับอสูร มาตะลีเทวบุตรขับรถหนีข้าศึกไปทางทิศปัจฉิม เสียงรถบดอากาศดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้ลูกพระยาครุฑตกใจแทบจะกระโดดหนีจากรัง เหล่านี้ล้วนแต่สัตว์เดรัจฉาน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น
    ในตำนานบอกว่า พระอินทร์ลักเอานางสุชาดาไป อสูรโกรธเลยเกิดสงครามกัน แท้ที่จริงไม่ได้ลักลูกสาว ลูกสาวเราไปชอบอสูรแก่เข้า ได้กันแล้ว เขาจะพาไปเลี้ยงที่ไหนก็ตามใจเขา เพราะเราไม่ได้มีข้อแม้แต่ทีแรกว่า ได้แล้วจะอยู่กับพ่อตาแม่ยายอย่างนั้นอย่างนี้ พระอินทร์ได้ไปแล้วก็ปรากฏว่าเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ไปไหนก็เอาไปด้วย เรื่องนิยายมันอย่างนี้แหละ ศาสนาใดๆ ก็มีเหมือนกัน มีไว้สำหรับผู้มีปัญญาคิด คุณมีปัญญาก็คิดไป เกิดความรู้ทางไหนก็สุดแต่คุณจะพิจารณาเอา


    .................

    ผู้ถาม: คนที่จะพูดว่าพระองค์นั้นองค์นี้เป็นพระอรหันต์ คนนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ก่อนหรือจึงพูดถูก

    หลวงปู่เทสก์: คนทุกวันนี้ตื่นพระอรหันต์นักตนก็ไม่รู้ธรรมที่จะเป็นพระอรหันต์ แต่ไปตื่นว่า องค์นั้นองค์นี้เป็นพระอรหันต์เสียแล้ว อย่าพากันหลงตื่นเต้น เดี๋ยวพระอรหันต์เหล่านั้นจะอยู่ไม่ติด เราไม่รุ้จักขอให้พากันแต่เพียงว่า ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใสเท่านั้นก็พอ

    .................

    ผู้ถาม: ทุกวันนี้ในประเทศไทยพากันเชื่อว่า อาจารย์บางองค์ถึงขั้นโน้นขั้นนี้ การที่เป็นเช่นนี้มีผลดี ผลเสียอย่างไรบ้าง
    หลวงปู่เทสก์: มีผลดีตอนต้นคนที่ยังไม่ทันเลื่อมใสจะดึงดูดให้เลื่อมใสศรัทธา แต่ไม่ค่อยดีตอนปลาย ผู้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมจะเหยียดหยามดูถูกเขา หาว่างมงาย อาตมาจึงอธิบายในหนังสือที่อาตมาเขียนว่า ถ้าใครถือว่าตนเป็นพระอรหันต์คนนั้นยังไม่ทันเป็นพระอรหันต์

    .................

    ผู้ถาม: พระอริยบุคคลสองประเภทเบื้องต้น ยังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ตายไปแล้วเกิดใหม่ยังเป็นพระอริยบุคคลอยู่หรือ
    หลวงปู่เทสก์: พระอริยบุคคลสองประเภทเบื้องต้น ตายแล้วไปเกิดใหม่ได้ เป็นพระอริยบุคคลเป็น ปุถุชน เพราะว่าคนในโลกนี้เป็นปุถุชน ไม่มีพ่อพระอริยเจ้า แม่พระอริยเจ้าก็ไม่มี แม่พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคาก็ไม่มี มีแต่แม่ปุถุชน เหตุนั้นจึงมาเกิดเป็นปุถุชน

    .................

    ผู้ถาม: ถ้าหากเป็นพระโสดาบันยังมี สามี ภรรยา แลลูก อยู่ได้หรือ โปรดอธิบาย
    หลวงปู่เทสก์: เรื่องนี้อธิบายยาก เพราะท่านพูดไว้อย่างนั้นแล้ว ว่าพระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น ได้เด็ดขาดแล้ว แต่นางวิสาขาสำเร็จโสดาบันแต่อายุ ๗ ขวบ เมื่ออายุได้ ๑๖ปี แต่งงานกับลูกชายมิคคารเศรษฐี มันอย่างไรอยู่

    เป็นอันว่า พระโสดาบัน เป็นผู้ตกถึงกระแสพระนิพพาน ยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็แล้วกัน คือท่านยังไม่ถึงนิพพาน แลท่านยึดเอาพระไตรลักษณญาณเป็นอารมณ์ พระไตรลักษณญาณนี้เป็นสายยึดเหนี่ยวของผู้จะไปนิพพาน คนใดเห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง ในพระไตรลักษณ์แล้วยึดมั่นอยู่ในนั้นไม่หลงลืม นั่นแลเรียกว่า ตกกระแสพระนิพพาน

    ถ้าพูดเรื่องการละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น พระสกิทาคามีก็ทำให้ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเบาบางขนาดไหน ราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นที่ตั้งของสักกายทิฏฐิอยู่แล้ว มติของอาตมาละสักกายทิฏฐิ คือ เห็นพระไตรลักษณ์ชัดแจ้ง แล้วยึดเอาพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แน่วแน่ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ วิจิกิจฉาความสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่มี แต่ธรรมขั้นละเอียดต้องมีแน่ แต่พระโสดาบันนั้นพิจารณาไม่ถึง สีลพพตปรามาส ก็ไม่มี คือความเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแน่วแน่ สงสัยไปถือเครื่องรางของขลังตลอดถึงโชคลาง แลผีเจ้าเข้าทรงต่างๆ

    .................

    ผู้ถาม: ผมเข้าใจว่ากรรมดีกรรมชั่วเป็นสิ่งที่คนเราเลือกเอาไม่ได้ คนจะดีจะเลว เพราะกรรมเท่านั้น บันดาลให้เป็นไปตามอำนาจของมัน

    หลวงปู่เทสก์: ที่ท่านแสดงว่ากรรมเป็นผู้จำแนกสัตว์ให้เป็นต่างๆกันนั้น ท่านแสดงถึงกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วตอนให้ผลต่างหาก ส่วนกรรมใหม่ เลือกกระทำได้ ตามปรารถนา ถ้าหากคนเราเลือกทำกรรมดีกรรมชั่วไม่ได้แล้ว เกิดมาเป็นอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่เช่นเคย เช่น ต้นไม้พันธ์ต่างๆ มีขนุน ทุเรียนเป็นต้น เพราะต้นไม้ไม่มีจิตใจ มีแต่ชีวะ แล้วก็ไม่สามารถทำกรรมด้วยทั้งสามได้ด้วย

    แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เมื่อมนุษย์ผู้ทำกรรมทั้งสาม ได้มาผสมพันธ์ต้นไม้อันไม่มีจิตใจ ยังสามารถแปรสภาพไปได้ แล้วก็ผลของกรรมใหม่นี้อีกนั่นแหละ ที่จะไม่ให้คนเราเลือกเอาได้ในเมื่อไปเกิดในภพใหม่ต่อไป เช่น คนเราทำกรรมไว้อันจะนำไปให้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อเราไปเกิดในภพดิรัจฉาน จะขอให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้เป็นต้น


    .................

    ผู้ถาม: คนเราทำกรรมไปเก็บไว้ ณ ที่ใด เช่น คนที่เคยทำการภาวนาไว้แต่ชาติก่อนๆ เกิดมาในชาตินี้ทำไมจึงไม่ทำภาวนาต่อเลย ทำไมจึงต้องมาฝึกอบรมกันใหม่ ผู้ที่ได้โสดาบันบุคคลแล้ว เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ทำไมจึงมาเป็นปุถุชนคนธรรมดาๆ

    หลวงปู่เทสก์: คนเราเกิดมาเมื่อมีชีวิตอยู่ก็ย่อมทำกรรมด้วยทวารทั้งสามร่วมกัน เวลาตายแล้วยังแต่มโนกรรมอย่างเดียว กรรมอันใดที่พร้อมกันทำด้วย ทวารทั้งสามเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็มารวมอยู่ที่มโนกรรม แต่ผู้เดียว (ใจเป็นผู้เก็บกรรม) เมื่อใจผู้นี้ยังมีภพชาติอยู่ ไปเกิดในที่ใด กายเขาเป็นอย่างไรมีอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เขาจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างอื่นไป เขาก็เรียกว่า วิการ

    ที่ถามว่าทำไม จึงต้องมาฝึกอบรมกรรมกันใหม่ ทำไมจึงไม่ฝึกอบรมกรรมเก่าต่อเลย วิสัชนาว่า เพราะกายกรรม วจีกรรม มันขาดตอนกันแล้วในเวลาตาย เมื่อมาเกิดใหม่จึงต้องมาตั้งต้นใหม่ แต่มีดีที่ใจเป็นผู้รับมอบกรรมเก่านำมาเกิด ถึงแม้จะแสดงกรรมเก่าออกมาให้ปรากฏไม่ได้ แต่เมื่อได้มาอบรมฝึกฝนกาย วาจา ที่เป็นแนวของกรรมเก่าแล้ว ย่อมเป็นไปได้เร็วกว่า ง่ายกว่า

    เหมือนนักดนตรี ถึงแม้เขาจะเปลี่ยนอาชีพเดิมไปหาอาชีพอื่น จะด้วยเหตุใดๆก็ตามหากเขาได้ฟังดนตรีหรือเพลงๆนั้นเข้าแล้ว เขาย่อมระลึกได้ และรู้ได้ชัดว่า เพลงนั้นๆ ดนตรีๆนั้นๆ ต้องมีจังหวะจะโคน บทบาทอย่างนั้นๆ ผิดถูกอย่างนั้นๆ มีชื่อว่าอย่างนั้นๆ แม้เขาจะลืมไปนานแล้ว เพราะเขามีอาชีพอื่น ไม่ได้สนใจก็ตาม เมื่อเขาได้มาฟังและมาฝึกอบรมใหม่ เขาย่อมได้เร็วเป็นเร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยอบรมมาก่อน เหมือนกับคนที่ได้อบรมความดีไว้ จนเคยชินติดนิสัยแล้ว เมื่อยังมีภพมีชาติอยู่ ตายไปเกิดในภูมินั้นๆ เมื่อได้รับการอบรมหรือได้ฟังธรรมที่ตนเคยได้อบรมและได้ฟังมาแต่ภพก่อนๆ ย่อมเป็นเร็วและเข้าใจง่ายฉันนั้นเหมือนกัน

    ที่มา : จากบอร์ดอกาลิโก
     

แชร์หน้านี้

Loading...