<table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">อิ ติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ พระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีเป็นเอนกประการ สุดที่จะพรรณนา แต่เมื่อรวบรัดกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๙ ประการ คือ ๑. อรหํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส อีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่รโหฐาน หมายความว่า แม้แต่ในที่ลับ ก็ไม่กระทำบาป ๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ วิชาและจรณะนี้ได้แสดงแล้วในปริจเฉทที่ ๗ ตอน สัพพสังคหะ ตรงมัคคอริยสัจจ ขอให้ดูที่นั่นด้วย ๔. สุคโต แปลว่า ทรงไปแล้วด้วยดี ซึ่งในที่นี้มีความหมายถึง ๔ นัย คือ ก. เสด็จไปงาม คือไปสู่ที่บริสุทธิ์ อันเป็นที่ที่ปราศจากโทษภัยทั้งปวง ซึ่งหมายถึง อริยสัจจทั้ง ๔ ข. เสด็จไปสู่ฐานะอันประเสริฐ คือ อมตธรรม อันเป็นธรรมที่สงบระงับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ค. เสด็จไปในที่ถูกที่ควร คือพ้นจากวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ง. ทรงตรัสไปในทางที่ถูกที่ชอบ คือทรงเทสนาในสิ่งที่เป็นความจริงและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ฟัง ประมวลลักษณะแห่งพระพุทธดำรัสได้เป็น ๖ ลักษณะ ดังจะแสดงโดยย่อที่สุด ดังนี้ (๑) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส (๒) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส (๓) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส (๔) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส (๕) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์ถึงจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นก็รู้กาลที่จะตรัส (๖) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นด้วยก็รู้กาลที่จะตรัส ๕. โลกวิทู พระพุทธองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งด้วยประการทั้งปวง คือ ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดของโลก รู้จักธรรมที่ดับของโลก และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับของโลก อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการแจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก และโอกาสโลก ก. สังขารโลก หมายถึง สังขารธรรม คือ รูปนาม ได้แก่ จิต เจตสิก รูปทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ด้วยการปรุงแต่ง ทำให้หมุนเวียนไปในสังสารวัฏฏ จำแนกโลกได้เป็นหลายนัย เช่น โลกนับว่ามี ๑ ได้แก่ สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิกา สัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ได้ด้วยต้องอาศัยอาหารเหมือนกันหมด โลกนับว่ามี ๒ ได้แก่ นาเม จ รูเป จ คือ นาม ๑ รูป ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ว่าได้แก่ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑ โลกนับว่ามี ๓ ได้แก่ ตีสุ เวทนาสุ คือ เวทนา ๓ มี สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา โลกนับว่ามี ๔ ได้แก่ จตูสุ อาหาเรสุ คือ อาหาร ๔ มี กพฬีการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ โลกนับว่ามี ๕ ได้แก่ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อินทรีย ๕ โลกนับว่ามี ๖ ได้แก่ ฉสุ อชฺฌตฺติเกสุ อายตเนสุ คืออายตนะภายใน ๖ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ นิสสรณียธาตุ ๖ โลกนับว่ามี ๗ ได้แก่ สตฺตสุ วิญฺญาณฏฺฐิตีสุ คือวิญญาณฐีติ ๗ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โพชฌงค์ ๗ โลกนับว่ามี ๘ ได้แก่ อฏฺฐสุ โลกธมฺเมสุ คือ โลกธรรม ๘ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมัคค ๘ โลกนับว่ามี ๙ ได้แก่ นวสุ สตฺตาวาเสสุ คือ สัตตาวาส ๙ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙ โลกนับว่ามี ๑๐ ได้แก่ ทสสุ อกุสลกมฺมปเถสุ คือ อกุสลกรรมบถ ๑๐ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ กุสลกรรมบถ ๑๐ โลกนับว่ามี ๑๒ ได้แก่ อายตนะ ๑๒ โลกนับว่ามี ๑๘ ได้แก่ ธาตุ ๑๘ ข. สัตวโลก บาลีเป็น สัตตโลก หมายถึง บุคคล คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทรงแจ้ง ประเภท (บุคคล ๑๒) , เหตุให้เกิด, นิสัย, จริต, บารมี แห่งสัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น ค. โอกาสโลก หมายถึง ภูมิ อันเป็นที่ตั้งแห่งสังขารธรรม คือ เป็นที่อาศัยเกิด อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนรวม ๓๑ ภูมิ ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงสามารถฝึกอบรมสั่งสอนแนะนำผู้ที่สมควรฝึกได้เป็นอย่างเลิศไม่มีใครเสมอ เหมือน ทั้งนี้เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์นั้น ๆ ๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดจะเทียมเท่า เพราะทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ได้ ๘. พุทฺโธ ทรงเห็นทุกอย่าง (สพฺพทสฺสาวี), ทรงรู้ทุกสิ่ง (สพฺพญฺญู) ทรงตื่น , ทรงเบิกบานด้วยธรรม ๙. ภควา ทรงเป็นผู้ที่มีบุญที่ประเสริฐสุด ทรงสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ตามควรแก่อัตตภาพของสัตว์นั้น ๆ</td> </tr> <tr> <td> </td> </tr> <tr> <td class="postdetails" height="40" valign="bottom"> </td></tr></tbody></table><table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">พระพุทธคุณ ๑๐๐ ประการ (คำของอุบาลีคหบดี ผู้เคยเป็นสาวกของนิคันถนาฏบุตรมาก่อน กล่าวตอบแก่คณะนิครนถ์ว่าเหตุใดเขาจึงเปลี่ยนใจมานับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า. ม.ม. ๑๓/๗๗/๘๒ - พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, พุทธทาส) ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! ขอท่านจงฟังซึ่งคำของข้าพเจ้าเถิด : ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น :- 1. เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญา 2. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโมหะ 3. เป็นผู้มีเสาเขื่อนเครื่องตรึงจิตอันหักแล้ว 4. เป็นผู้มีชัยชนะอันวิชิตแล้ว 5. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากสิ่งคับแค้นสะเทือนใจ 6. เป็นผู้มีจิตสม่ำเสมอด้วยดี 7. เป็นผู้มีปรกติภาวะแห่งบุคคลผู้เป็นพุทธะ 8. เป็นผู้มีปัญญาเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จ 9. เป็นผู้ข้ามไปได้แล้วซึ่งวัฏฏะสงสารอันขรุขระ 10. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากมลทินทั้งปวง ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 11. เป็นผู้ไม่มีการถามใครว่าอะไรเป็นอะไร 12. เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยความอิ่มในธรรมอยู่เสมอ 13. เป็นผู้มีเหยื่อในโลกอันทรงคายทิ้งแล้ว 14. เป็นผู้มีมุทิตาจิตในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง 15. เป็นผู้มีสมณภาวะอันทรงกระทำสำเร็จแล้ว 16. เป็นผู้ถือกำเนิดแล้วแต่กำเนิดแห่งมนูโดยแท้ 17. เป็นผู้มีสรีระอันมีในครั้งสุดท้าย 18. เป็นผู้เป็นนรชนคือเป็นคนแท้ 19. เป็นผู้อันใครๆ กระทำอุปมามิได้ 20. เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันพึงเปรียบได้ด้วยธุลี ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 21. เป็นผู้หมดสิ้นแล้วจากความสงสัยทั้งปวง 22. เป็นผู้นำสัตว์สู่สภาพอันวิเศษ 23. เป็นผู้มีปัญญาเครื่องตัดกิเลสดุจหญ้าคาเสียได้ 24. เป็นสารถีอันประเสริฐกว่าสารถีทั้งหลาย 25. เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่าโดยคุณธรรมทั้งปวง 26. เป็นผู้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความชอบใจของสัตว์ทั้งปวง 27. เป็นผู้มีกังขาเครื่องข้องใจอันทรงนำออกแล้วหมดสิ้น 28. เป็นผู้กระทำซึ่งความสว่างแก่ปวงสัตว์ 29. เป็นผู้ตัดแล้วซึ่งมานะเครื่องทำความสำคัญมั่นหมาย 30. เป็นผู้มีวีรธรรมเครื่องกระทำความแกล้วกล้า ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 31. เป็นผู้เป็นยอดมนุษย์ แห่งมนุษย์ทั้งหลาย 32. เป็นผู้มีคุณอันใครๆ กำหนดประมาณมิได้ 33. เป็นผู้มีธรรมสภาวะอันลึกซึ้งไม่มีใครหยั่งได้ 34. เป็นผู้ถึงซึ่งปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี 35. เป็นผู้กระทำความเกษมแก่สรรพสัตว์ 36. เป็นผู้มีเวทคือญาณเครื่องเจาะแทงซึ่งโมหะ 37. เป็นผู้ประดิษฐานอยู่ในธรรม 38. เป็นผู้มีพระองค์อันทรงจัดสรรดีแล้ว 39. เป็นผู้ล่วงกิเลสอันเป็นเครื่องข้องเสียได้ 40. เป็นผู้หลุดรอดแล้วจากบ่วงทั้งปวง ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 41. เป็นผู้เป็นดังพระยาช้างตัวประเสริฐ 42. เป็นผู้มีการนอนอันสงัดจากการรบกวนแห่งกิเลส 43. เป็นผู้มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว 44. เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากทุกข์ทั้งปวง 45. เป็นผู้มีความคิดเหมาะเจาะเฉพาะเรื่อง 46. เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี 47. เป็นผู้มีมานะเป็นดุจธงอันพระองค์ทรงลดลงได้แล้ว 48. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากระคะ 49. เป็นผู้มีการฝึกตนอันฝึกแล้ว 50. เป็นผู้หมดสิ้นแล้วจากกิเลสเครื่องเหนี่ยวหน่วงให้เนิ่นช้า ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 51. เป็นผู้แสวงหาพบคุณอันใหญ่หลวง องค์ที่เจ็ด 52. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากความคดโกง 53. เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวิชชาทั้งสาม 54. เป็นผู้เป็นพรหมแห่งปวงสัตว์ 55. เป็นผู้เสร็จจากการอาบการล้างแล้ว 56. เป็นผู้มีหลักมีเกณฑ์ในการกระทำทั้งปวง 57. เป็นผู้มีกมลศันดานอันระงับแล้ว 58. เป็นผู้มีญาณเวทอันวิทิตแล้ว 59. เป็นผู้ทำลายซึ่งธานีนครแห่งกิเลสทั้งหลาย 60. เป็นผู้เป็นจอมแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 61. เป็นผู้ไปพ้นแล้วจากข้าศึกคือกิเลส 62. เป็นผู้มีตนอันอบรมถึงที่สุดแล้ว 63. เป็นผู้มีธรรมที่ควรบรรลุอันบรรลุแล้ว 64. เป็นผู้กระทำซึ่งอรรถะทั้งหลายให้แจ่มแจ้ง 65. เป็นผู้มีสติสมบูรณ์อยู่เองในทุกกรณี 66. เป็นผู้มีความรู้แจ้งเห็นแจ้งเป็นปรกติ 67. เป็นผู้มีจิตไม่แฟบลงด้วยอำนาจแห่งกิเลส 68. เป็นผู้มีจิตไม่ฟูขึ้นด้วยอำนาจแห่งกิเลส 69. เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจแห่งกิเลส 70. เป็นผู้บรรลุถึงซึ่งความมีอำนาจเหนือกิเลส ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 71. เป็นผู้ไปแล้วโดยชอบ 72. เป็นผู้มีการเพ่งพินิจทั้งในสมาธิและปัญญา 73. เป็นผู้มีศันดานอันกิเลสตามถึงไม่ได้แล้ว 74. เป็นผู้หมดจดแล้วจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง 75. เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้แล้ว 76. เป็นผู้ไม่มีความหวาดกลัวในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกลัว 77. เป็นผู้สงัดแล้วจากการรบกวนแห่งกิเลสทั้งปวง 78. เป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งธรรมอันเลิศ 79. เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่งโอฆกันดาร 80. เป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ข้ามซึ่งโอฆะนั้น ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 81. เป็นผู้มีศันดานสงบรำงับแล้ว 82. เป็นผู้มีปัญญาอันหนาแน่น 83. เป็นผู้มีปัญญาอันใหญ่หลวง 84. เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโลภะ 85. เป็นผู้มีการไป การมาอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 86. เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี 87. เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเปรียบ 88. เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเสมอ 89. เป็นบุคคลผู้มีญาณอันแกล้วกล้า 90. เป็นผู้มีปัญญาละเอียดอ่อน ข้าพเจ้านั้น เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด; พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น : 91. เป็นผู้เจาะทะลุข่ายคือตัณหาเครื่องดักสัตว์ 92. เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานเป็นปรกติ 93. เป็นผู้มีกิเลสดุจควันไฟไปปราศแล้ว 94. เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาได้อีกต่อไป 95. เป็นผู้เป็นอาหุเนยยบุคคลควรแก่ของที่เขานำไปบูชา 96. เป็นผู้ที่โลกทั้งปวงต้องบูชา 97. เป็นบุคคลผู้สูงสุดแห่งบุคคลทั้งหลาย 98. เป็นผู้มีคุณอันไม่มีใครวัดได้ 99. เป็นผู้เป็นมหาบุรุษ 100. เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเลิศด้วยเกียรติคุณ ; ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น; ดังนี้ แล. </td> </tr> <tr> <td> บุคคลผู้เป็นเอกหาได้ยากในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกนี้แลหาได้ยากในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ยถาปิ อุทเก ชาตํ ปุณฺฑรีกํ ปวฑุฒฒิ โนปลิปฺปติ โตเยน สุจิคนฺธํ มโนรมํ ตเถว จ โลเก ชาโต พุทฺโธ โลเก วิหรติ โนปลิปฺปติ โลเกน โตเยน ปทุมํ ยถาฯ ดอกบัว เกิดและเจริญงอกงามในน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ ทั้งส่งกลิ่นหอม ชื่นชูใจให้รื่นรมย์ ฉันใด พระพุทธเจ้าทรงเกิดในโลก และอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนบัวไม่ติดน้ำ ฉันนั้น กรมการศาสนา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๑๓๙ , ๑๔๐ เอก ปุคคลบาลี เอกปุคคลวรรคที่ ๓ หน้า ๑๘๑. ที่มา::
hp_dayhp_dayhp_day ..พระปัญญาคุณ.. ..พระวิสุทธิคุณ.. ..พระมหากรุณาธิคุณ.. ..อะสังวิสุโลปุสะพุภะ.. .......พุทโธ........ .....อนุโมทนา..... .......พุทโธ........ hp_dayhp_dayhp_day