สังฆทานได้บุญมากแค่ไหน ประโยชน์อย่างแรกของสังฆทานก็คือทำให้เราได้บุญมาก โดยมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 ข้อ ๓๔ ที่เป็นเรื่องของผู้หญิง 2 คนที่เป็นพี่น้องกัน พี่สาว(ภัททา)เป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศล ทำบุญตักบาตรเป็นประจำสม่ำเสมอ ส่วนน้องสาว(สุภัททา)เป็นคนที่ไม่ค่อยได้ทำบุญเท่าไหร่ แต่อยู่มาวันหนึ่งน้องสาวเกิดอยากทำบุญขึ้นมา แล้วบังเอิญได้พบกับพระเรวตเถระซึ่งท่านก็แนะนำให้ทำสังฆทาน น้องสาวจึงได้นิมนต์พระมาจำนวน 8 รูป เพื่อถวายสังฆทาน เมื่อทั้งคู่ตายไป พี่สาวที่ทำบุญตักบาตรอย่างสม่ำเสมอ ก็ได้ไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์(ชั้น2) ส่วนน้องสาวที่มีโอกาสได้ทำสังฆทานกลับได้ไปอยู่บนสวรรค์ชั้น 6 และมีวิมานที่ใหญ่โตกว่าของพี่สาวมากมายนัก และหากเราใช้หลักการที่อธิบายไปในบทที่ 12 ว่า การทำบุญสังฆทานได้บุญเทียบเท่าหรือมากกว่าทำบุญกับพระพุทธเจ้า เราจะได้คำตอบว่า เราจะต้องตักบาตรกับพระอย่างน้อย 100,000 ล้านรูป เราถึงจะได้บุญเท่ากับการทำสังฆทานเพียง 1 ครั้ง หรือเทียบง่ายๆว่า หากเราตักบาตรวันละ 10 รูป ก็ต้องตักบาตรทุกวันนานถึง 27,500,000 ปี(เกิด 370,000 ชาติ) ถึงจะได้บุญเท่าทำสังฆทานเพียง 1 ครั้ง สังฆทานทำให้ทำบุญอย่างสบายใจ ประโยชน์อย่างที่สองก็คือทำให้เราสามารถทำบุญที่ได้บุญมากได้ง่ายขึ้นและสบายใจขึ้น เพราะตามหลักการที่ได้อธิบายไปในบทที่ 12 ที่ อธิบายว่า เราจะได้บุญมากขึ้นหากเราทำบุญกับคนที่มีศีลสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้ทำบุญพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าจะได้บุญมากมายมหาศาล ด้วยความเข้าใจนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่ง พยายามแสวงหาพระที่เป็นพระอรหันต์แล้วพยายามทำบุญกับท่าน เพื่อให้ได้บุญมากมายมหาศาล เหมือนดังเช่นในสมัยพุทธกาล(พระไตรปิฎกเล่มที่ 22ข้อ 330) พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามพ่อค้าฟืนคนหนึ่งว่า ได้ทำบุญบ้างหรือเปล่า พ่อค้าฟืนคนนั้นตอบว่า ไม่ต้องห่วงเพราะว่าเขาได้ทำบุญกับพระอรหันต์อยู่เป็นประจำ พระพุทธเจ้าได้ถามพ่อค้าฟืนคนนั้นต่อว่า ทราบได้อย่างไรว่าเป็นพระอรหันต์ พ่อค้าฟืนตอบว่า ก็เพราะว่าพระรูปนั้น ปลีกวิเวก อยู่ป่า และมีกิริยาที่เหมือนกับพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า เป็นเรื่องยากสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่จะรู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระอรหันต์ เพราะพระบางรูปที่ ปลีกวิเวก อยู่ป่า แต่ภายในอาจจะยังคงมีกิเลสตัณหาอยู่มากมาย จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ตั่งมั่น ถือตัว จึงยังห่างไกลจากคำว่าพระอรหันต์ ใน ขณะที่พระบางรูป ที่ไม่ได้อยู่ป่า คลุกคลีกับผู้อื่น(พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่แต่ในป่า และพระองค์ก็คลุกคลีกับฝูงชนมากมาย) แต่ภายในใจอาจจะสิ้นแล้วซึ่งกิเลสตัณหาจนบรรลุอรหันต์ไปแล้วก็เป็นไปได้ ในเมื่อเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำว่า ให้ถวายสังฆทาน ซึ่งเราก็จะได้บุญมากเช่นกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้ จึงทำให้เราไม่จำเป็นจะต้องเที่ยวเสาะแสวงหาพระอรหันต์ เพื่อที่จะทำบุญให้ได้บุญมาก เพียงแค่เราหาวัดใกล้บ้านแล้วถวายสังฆทาน แม้ว่าพระจะเป็นพระทุศีล(ทำผิดศีล) เราก็จะได้บุญมากเท่ากับหรือมากกว่าถวายกับพระพุทธเจ้า(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อ 713) ความเข้าใจนี้จะทำให้เรามีความสุขใจและสบายใจในการทำบุญ เพราะทำที่ไหนก็ได้บุญมากเช่นกัน การทำสังฆทานที่ถูกต้อง ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนเรียกถังเหลืองว่าสังฆทาน จึงทำให้ผมเคยเข้าใจผิดว่าการถวายถังเหลืองก็หมายถึงเราได้ทำสังฆทานแล้ว แต่ความจริงแล้วจะเป็นสังฆทานหรือไม่เป็น ไม่ได้เกี่ยวกับถังเหลืองเลยแม้แต่น้อย(ไม่เกี่ยวกับสีของถัง และไม่จำเป็นต้องใส่ถัง) การถวายสังฆทานนั้นหมายถึง การถวายแด่หมู่สงฆ์(สังฆ-สงฆ์ ,ทาน-ให้หรือถวาย) เป็นการถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการถวายสังฆทานมักจะเป็นการถวายอาหาร และอาจจะมีการถวายปัจจัย 4 อย่าง อื่นให้ครบถ้วน(เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย) หรือข้างของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระ เช่น แปรงสีฟัน ยามีฟัน มีดโกน ฯลฯ โดยการถวายสังฆทานเราจะทำที่วัดหรือทำที่บ้านของเราก็ได้(ในสมัยพุทธกาลจะทำ ที่บ้าน) คำว่าหมู่สงฆ์สำหรับสังฆทานนั้นหมายถึงตัวแทนของพระ(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อ 712) ซึ่งในพระไตรปิฎกได้ระบุเอาไว้ว่ามี 7 อย่าง ซึ่งในปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว และไม่มีภิกษุณีแล้ว ก็จะเหลือลักษณะของสังฆทานเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ 1.ให้ทานในภิกษุสงฆ์(พระทั้งหมดหรือพระทั้งวัด) และ 2.เผดียงสงฆ์(นิมนต์-อาราธนา)ว่า ขอได้โปรดจัดพระจำนวนเท่านี้เพื่อทำสังฆทาน ใน กรณีที่เราไม่ได้นิมนต์ด้วยตนเอง(ไม่ว่าจะนิมนต์มาทำที่บ้านเรา หรือนิมนต์แล้วทำที่วัด) แล้วเราไปที่วัดโดยไม่ได้นิมนต์ล่วงหน้า แต่เราไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันอาหารพร้อมๆกัน การที่มีพระทั้งวัดแบบนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นหมู่สงฆ์โดยอัตโนมัติ(ตามกรณีที่ 1) ส่วนกรณีที่ 2 จะ หมายถึงการนิมนต์พระที่เป็นตัวแทนของพระวัดนั้น โดยมาจากการประชุมของพระทั้งวัด หรือมาจากการจัดสรรของพระที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร เช่น เราไปที่วัดแล้วติดต่อผู้ที่รับผิดชอบของวัด ว่าจะขอนิมนต์พระจำนวนกี่รูป แล้วผู้รับผิดชอบก็นิมนต์พระมาให้ตามจำนวนที่เราขอ แบบนี้จะถือว่าเป็นหมู่สงฆ์ที่ถูกต้อง ที่เป็นตัวแทนของวัด(จะถวายสังฆทานที่วัดหรือที่บ้านก็ใช้หลักการเดียวกัน) แต่ หากเราเดินเข้าไปที่วัด แล้วเจอพระรูปหนึ่งแล้วแจ้งกับท่านว่าจะนิมนต์พระไปทำสังฆทาน แล้วพระรูปนั้นไปชักชวนพระที่ตนรู้จักจนครบจำนวน แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นหมู่สงฆ์ที่เป็นตัวแทนของวัด หมายเหตุ: ใน กรณีที่นิมนต์พระมาที่บ้าน จะต้องจัดสถานที่และอุปกรณ์ให้พร้อม เช่นน้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อนส้อมและช้อนกลาง (โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๓๐) และต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และที่นั่งต้องสูงกว่าที่ของผู้นั่งฟัง(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ข้อ ๑๓, ๑๔) และตอนนิมนต์ไม่ควรบอกว่ามีอาหารอะไรบ้าง แค่กล่าวนิมนต์เฉยๆ(โภชนวรรค ข้อ ๒) การถวายแด่หมู่สงฆ์ ในการถวายสังฆทานนั้น แม้ว่าเราจะนิมนต์พระอย่างถูกต้อง หรือเราจะไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันพร้อมๆกัน ก็ยังไม่ถือว่าเราได้ทำสังฆทานอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ หากเรานำอาหาร นั้นไปถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่ถวายให้พระทีละรูปจนครบทุกรูป เพราะจะถือว่าของที่เราถวายนั้นจะเป็นของพระรูปนั้น จึงเป็นการถวายทานปกติเป็นทานที่ให้บุคคล(ปาฏิปุคคลิกทาน)ไม่ได้เป็นสังฆทาน(ได้บุญแต่ไม่ได้บุญมากเท่าสังฆทาน) การที่เราจะถวายสังฆทานได้อย่างถูกต้อง จะต้องเป็นการถวายให้เป็นส่วนกลางก่อน โดยอาจจะเป็นพระที่มีพรรษาสูงสุดเป็นผู้รับทั้งหมด แล้วพระท่านจะแจกจ่าย(ส่งต่อ)กันไปตามพรรษาจากพรรษาสูงสุดไปหาพรรษาน้อย หรืออาจจะมีตัวแทนพระมารับของที่เป็นส่วนกลาง แล้วแจกจ่ายโดยเริ่มจากพระที่มีพรรษาสูงสุด แล้วพระท่านจะแจกจ่ายกันไปตามพรรษาเช่นกัน สรุปว่าหลักการที่ถูกต้องก็คือ การถวายสังฆทาน ต้องถวายให้เป็นของส่วนกลางก่อน แล้วให้พระท่านแจกจ่าย(ส่งต่อ)กันเอง ส่วนตัวเราในฐานะผู้ถวายก็ต้องถวายโดยไม่มีจิตยึดติดกับพระรูปใดเป็นพิเศษด้วย(คิดจะถวายแบบรวมๆ ให้พระทั้งหมด ให้พระพุทธศาสนา) พระรูปเดียวรับเป็นสังฆทานหรือไม่ ในกรณีที่เราไปที่กุฏิของท่านแล้วถวาย แบบนี้ไม่เป็นสังฆทานแน่นอน เพราะของนั้นจะตกเป็นของท่านแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้ตกเป็นของส่วนกลางก่อน(ได้บุญแต่ไม่เป็นสังฆทาน) แต่ในกรณีที่มีพระรูปเดียว แต่มาเป็นตัวแทนของสงฆ์หรือตัวแทนวัด เช่นทางวัดมีการจัดสรรว่า วันไหนพระรูปไหนจะเป็นตัวแทนสงฆ์ออกมารับสังฆทาน และของที่ได้รับไม่ได้เป็นของพระรูปนั้น แต่เป็นของกลางของวัดก่อนแล้วค่อยไปจัดสรรภายหลัง แบบนี้แม้จะเป็นพระรูปเดียวก็ถือได้ว่าเป็นสังฆทาน(อรรถกถาเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้า 407 เวรัญชกัณฑวรรณนา) หรือแม้แต่ในกรณีที่เรานิมนต์พระมาทำสังฆทานที่บ้านเพียงรูปเดียว โดยเป็นการติดต่อทางวัด และทางวัดเป็นผู้จัดสรรมาให้ ก็ยังถือว่าเป็นสังฆทาน แต่โดยทั่วไปเรามักจะนิมนต์พระมามากกว่า 1 รูปด้วยเหตุผลของความรู้สึก และความจำเป็นในเรื่องการอปโลกสังฆทาน(อธิบายเพิ่มเติมภายหลัง) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เราได้บุญอย่างเต็มที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย วิธีที่ดีที่สุดของการทำสังฆทานก็คือ การไปวัดตอน 8-10 โมงเช้า(แต่ละวัดจะช้าเร็วไม่เหมือนกัน) แล้วไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันอาหารพร้อมกัน เพื่อถวายอาหารเป็นสังฆทาน หรือนิมนต์พระมาที่บ้านเพื่อถวายอาหารเป็น สังฆทาน ส่วนข้าวของเครื่องใช้อื่นๆเราก็สามารถถวายเพิ่มเติมได้ แต่ควรตั้งใจถวายอาหารเป็นหลัก(อ่านเพิ่มเติมท้ายบทว่าทำไมต้องถวายอาหาร เป็นหลัก) หากทำตามสองแบบนี้เราก็จะได้บุญสังฆทานแน่นอน และได้ความอิ่มอกอิ่มใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้บุญเพิ่มขึ้นด้วย ตักบาตรเป็นสังฆทานหรือไม่ หากพระท่านมาในฐานะตัวแทนหมู่สง และอาหารที่เราใส่บาตรพระท่านนำไปรวมที่ส่วนกลางก่อน แล้วค่อยแจกจ่ายให้แต่ละรูปฉัน แบบนี้มีโอกาสเป็นสังฆทานได้ แต่ถ้าพระท่านไม่ได้มาในฐานะตัวแทนหมู่สงฆ์หรือฉันของที่ท่านบิณฑบาตมาเอง ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งแบบนี้ไม่เป็นสังฆทานแน่นอน ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่เราจะทราบว่า พระท่านเป็นตัวแทนหมู่สงฆ์หรือเปล่า อาหารนั้นจะเป็นของส่วนกลางหรือเป็นของพระรูปที่เราใส่บาตร รวมถึงเป็นเรื่องยากที่เราจะทำจิตใจให้รู้สึกว่าถวายเป็นสังฆทาน(ให้หมู่ สงฆ์) เพราะตอนที่เราตักบาตรเพราะเรานิมนต์ทีละรูป การตักบาตรจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นทานบุคคล(ปาฏิปุคคลิกทาน)มากกว่าเป็น สังฆทาน ฉะนั้นหากอยากทำสังฆทาน ก็ควรตั้งใจทำสังฆทานอย่างเต็มรูปแบบจะดีกว่า ส่วนการตักบาตรก็เป็นสิ่งที่ได้บุญและเป็นการช่วยสืบทอดอายุพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำหากมีโอกาส ถวายอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการถวายอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ผ้าไตร เรายังสามารถถวาย ดอกไม้ ธูปเทียน หลอดไฟ แปรงสีฟัน รองเท้า ไฟฉาย พระพุทธรูป และสิ่งต่างๆที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับพระและวัด ซึ่งของแต่ละอย่างก็จะให้อานิสงค์ไม่เหมือนกัน(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ของแต่ละอย่างได้อานิสงค์อะไร ได้ท้ายเล่ม) เพียงแต่ว่าการถวายอาหารเป็นสังฆทานนั้น เราจะต้องถวายก่อนเที่ยง(หลังเที่ยงพระจะรับอาหารไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรือแห้งหรือนม เพราะตามวินัยสงฆ์ พระจะเก็บสะสมอาหารไม่ได้) ส่วนน้ำปานะ เภสัชทั้ง…และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารสามารถถวายก่อนหรือหลังเที่ยงก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับของที่เหมาะสมจะถวายได้ท้ายเล่ม) โดย การถวายเราไม่จำเป็นต้องซื้อถังเหลือง(หรือถังสีอะไรก็ตาม) เราไปเลือกซื้อของแต่ละอย่างที่เราต้องการถวาย และไม่จำเป็นต้องซื้อเท่าจำนวนพระที่เรานิมนต์ จะซื้อปริมาณเท่าไหร่ก็ได้(มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าปริมาณพระก็ได้) แล้วใส่ภาชนะอะไรก็ได้ถวาย การเลือกซื้อด้วยตนเองนอกจากจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากของในถังไม่ได้ คุณภาพแล้ว ยังทำให้เราได้บุญมากขึ้นเพราะเป็นการทำบุญด้วยความประณีต(จะอธิบายเพิ่ม เติมภายหลัง) สรุปอีกครั้งว่าจะเป็นสังฆทานหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1. พระที่รับสังฆทานเป็นตัวแทนของหมู่สงฆ์ 2. ของที่ถวายจะต้องตกเป็นของส่วนกลางก่อน ไม่ถวายเจาะจงพระรูปใดเป็นพิเศษ 3. จิตใจของผู้ถวายจะต้องไม่ยึดติดกับพระรูปใดเป็นพิเศษ(ทั้งชอบหรือไม่ชอบ) คิดถวายให้โดยรวม ที่มา
ถวายอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการถวายอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ผ้าไตร เรายังสามารถถวาย ดอกไม้ ธูปเทียน หลอดไฟ แปรงสีฟัน รองเท้า ไฟฉาย พระพุทธรูป และสิ่งต่างๆที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับพระและวัด ซึ่งของแต่ละอย่างก็จะให้อานิสงค์ไม่เหมือนกัน(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ของแต่ละอย่างได้อานิสงค์อะไร ได้ท้ายเล่ม) เพียงแต่ว่าการถวายอาหารเป็นสังฆทานนั้น เราจะต้องถวายก่อนเที่ยง(หลังเที่ยงพระจะรับอาหารไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรือแห้งหรือนม เพราะตามวินัยสงฆ์ พระจะเก็บสะสมอาหารไม่ได้) ส่วนน้ำปานะ เภสัชทั้ง…และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารสามารถถวายก่อนหรือหลังเที่ยงก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับของที่เหมาะสมจะถวายได้ท้ายเล่ม) สรุปอีกครั้งว่าจะเป็นสังฆทานหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1. พระที่รับสังฆทานเป็นตัวแทนของหมู่สงฆ์ 2. ของที่ถวายจะต้องตกเป็นของส่วนกลางก่อน ไม่ถวายเจาะจงพระรูปใดเป็นพิเศษ 3. จิตใจของผู้ถวายจะต้องไม่ยึดติดกับพระรูปใดเป็นพิเศษ(ทั้งชอบหรือไม่ชอบ) คิดถวายให้โดยรวม กราบอนุโมทนาค่ะ ติงอ่านแล้วก็เข้าใจ เพียงแต่ติงเคยได้ยินพระท่านบอกว่า วัตถุทานบางอย่างถือเป็นสังฆทานไม่ได้ เช่นรองเท้า แปรงสีฟัน เพราะพระท่านไม่สามารถแบ่งกันได้ ติงเรียนถามนี้ ไม่ได้ติดใจอะไรค่ะ ไม่ได้สงสัยในอานิสงส์ที่จะได้รับ เพียงแต่ถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เรียนท่านผู้รู้แนะนำด้วยนะคะ กราบขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูงค่ะ
สาธุ กราบอนุโมทนากับ จขกท....ด้วยนะครับ ถ้าท่านที่ไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมสิ่งของไปถวาย ก็ทำบุญ ตู้บำรุงค่าน้ำค่าไฟฟ้า (ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้) พระท่านได้ใช้กันทั้งวัดเลยนะครับ ( สังฆ แปลว่า หมู่ )
ท่านพี่ติงครับ จะถวายอะไรก็ได้นะครับ ที่จำเป็นที่พระท่านต้องใช้นะครับ ไม่ว่าจะเป็น รองเท้า แปรงสีฟัน แต่ ของที่ถวายไปต้องตกเป็นของส่วนกลางก่อน(ที่ท่าน จขกท..กล่าวไว้) แล้วพระท่านก็จะไปแบ่งกันเองนะครับ
ถ้าเป็นสถานปฏิบัติธรรม/สำนักสงฆ์ มีพระอยู่ประจำเพียง 1 รูปเท่านั้น การถวายของให้ท่านถือว่าเป็นสังฆทานหรือไม่
ต้องขอบอกว่าโพสต์ข้างต้นนั้น ผมไม่เห็นด้วยหลายประการ แต่ขี้เกียจไปเถียงละ ขอให้หลักการง่ายๆในเรื่องการถวายสังฆทานว่า คุณจะถวายของแก่พระแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม และแม้ว่าพระท่านจะอยู่ประจำเพียงรูปเดียวก็ตาม ขอให้คุณตั้ง "เจตนา" ของคุณไว้สูงที่สุด ก็คือ ถวายให้เป็นสมบัติของสงฆ์ เท่านั้นแหละ หลักการง่ายๆ แล้วก็ไม่ต้องมานั่งตีความว่าเอ๊ะ อย่างนี้มันเป็นสังฆทานมั้ย ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า จะทำให้เกิดกังวล เวลาผมถวายสังฆทาน แม้เพียงสถานที่นั้นจะมีเพียงพระรูปเดียวก็ตาม ผมกล่าวเป็นภาษาไทยอย่างนี้ครับว่า "ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พระสงฆ์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอถวาย....... เพี่อประโยชน์แห่งพระสงฆ์ทั้งหลาย ขอพระสงฆ์ทั้งหลายจงรับ...... เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพเจ้าทั้งหลาย (หรือข้าพเจ้า) สิ้นกาลนานเทอญ" เหมือนเวลาเราทำบุญ แล้วอธิษฐานว่าขอให้ได้ไปพระนิพพานในชาตินี้นั่นแหละ ตั้งกำลังใจไว้ให้สูงที่สุดไปเลย เพราะถ้าเราตั้งกำลังใจไว้อย่างนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นการถวายสังฆทาน ก็ไม่เห็นเป็นไร และถ้าใช่ ก็จะยิ่งสมปรารถนา แต่ถ้าเรามัวมากังวลว่า เอ๊ะ สงสัยไม่ใช่เป็นการถวายสังฆทานมั้ง ตัวกังวลนั่นแหละ จะเป็นการตัดผลบุญที่ควรจะได้ ขอให้เจริญในธรรม
วันนี้วันพระ ขอสัก 1 กัณฑ์ 555 ที่มีผู้บอกว่า วัตถุทานบางอย่างแบ่งไม่ได้ เช่น รองเท้า แปรงสีฟัน ดังนั้นจึงเป็นสังฆทานไม่ได้ คงไม่ใช่ ตอนที่เราถวายสังฆทาน เจตนาต้องตั้งว่าถวายให้เป็นสมบัติของสงฆ์ สงฆ์ทุกรูปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "มีสิทธิ" ใช้ คำว่า "มีสิทธิ" ตรงนี้แหละ สำคัญ การที่สงฆ์มีสิทธิใช้ ไม่ใช่หมายความว่าสงฆ์ทุกรูปต้องมาใช้ของชิ้นนั้น ถ้าบอกว่า เป็นของใช้ส่วนตัว แบ่งไม่ได้ จึงไม่อาจถือว่าเป็นสังฆทาน แล้ว "บาตร" ละ เคยเห็นพระวัดไหน เวียนใช้บาตรกันมั้ยละครับ เวลาเราถวายบาตร เราถวายเป็นสังฆทาน พอพระรูปใดได้ใช้ ก็จะใช้เฉพาะพระรูปนั้น ไม่ใช่ว่าวันนี้พระรูปนี้ใช้บาตรใบนี้ วันพรุ่งนี้ให้พระอีกรูปใช้ ไม่ใช่อย่างนั้น ถามว่า "บาตร" เป็นเครื่องสังฆทานมั้ย เป็น เพราะเป็นสมบัติของสงฆ์ สงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ เมื่อสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ ก็ถือว่าเป็นกองกลางโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเอาเข้าส่วนกลาง เหมือนเข้าคลังแล้วค่อยแจกจ่ายทีหลัง ไม่ต้องขนาดนั้น เหมือนตัดถนนหลวง ถนนหลวงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมั้ย คำตอบ คือ เป็น แล้วทุกคนในประเทศไทยนี้ต้องมาใช้ถนนหลวงสายนั้น "ก่อน" หรือเปล่า จึงจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เปล่า ..... เพราะเจตนาอยู่ที่ให้ "เป็นสิทธิ" ของคนทุกคน ถ้าเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้นะครับ การถวายสังฆทานจะเป็นการถวายด้วยความเข้าใจ เป็นการถวายด้วยปัญญา ประเภทสูงสุดคืนสู่สามัญ หรือประเภทกระบี่อยู่ที่ใจ ^-^
โดยปกติตามเท่าที่รู้มาก็เป็นไปตามที่คุณ Khomeraya กล่าวมา แต่พอมาเจอข้อความที่กล่าวมาตอนหน้าต้นๆ มันค่อนข้างคลุมเครือ จึงขอถามให้แน่ใจ เพราะทุกครั้ง ผมตั้งใจถวายเป็นสังฆทานทุกครั้ง ครั้งต่อไปก็แน่ใจได้ว่าไม่ผิดพลาดแล้ว ขอขอบคุณมากสำหรับคำแนะนำ
ดีแล้วละ ตั้งกำลังใจให้สูงสุดไว้เลยนะครับ เปรียบเทียบเหมือนอย่างคำอธิษฐานว่าขอให้ถึงพระนิพพานในชาตินี้แหละ เป็นการตั้งกำลังใจไว้สูงที่สุด ส่วนจะไปได้หรือไม่ได้นั้น ก็ต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบ แต่ก็ไม่รู้ละ เราตั้งเข็มทิศไว้ที่ปลายทาง และตั้งกำลังใจแบบขีดสุด เรื่องการตั้งกำลังใจไว้สูงสุดนี่ ก็อาจแสดงออกมาในรูปของคำอธิษฐาน วันนี้ใส่บาตรที่บริษัท แนะนำน้องคนหนึ่งว่า ขอให้เค้าตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้ผลบุญนี้เป็นปัจจัยเข้าถึงพระนิพพาน เพราะเห็นน้องเค้าอ่านคำอธิษฐานประเภทปลดเวรปลดกรรมอะไรทำนองนั้น คิดว่าหลายๆคนคงเคยเห็นคำอธิษฐานทำนองนี้ ผมก็เลยบอกเพิ่มไปว่า ขอให้อธิษฐานเพิ่มในส่วนการเข้าถึงพระนิพพานไปด้วย แต่เท่าที่ดู น้องเค้าตั้งใจอ่านคำอธิษฐานที่พิมพ์ออกมาเหลือเกิน ก็ไม่รู้แล้วละ บอกไปแล้ว ถ้ายังไม่ถึงเวลา ก็คือไม่ถึงเวลา.... แล้วขอเพิ่มอะไรอีกอย่างก็คือ ในเมื่อเราตั้งใจจะถวายสิ่งของหรืออาหารนั้นให้เป็นของสงฆ์ ให้พระสงฆ์ทุกรูปตั้งแต่อดีตกาลตราบจนถึงปัจจุบันนี้ "มีสิทธิ" อุปโภคบริโภค พระสงฆ์รูปใดเป็นผู้รับก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์ที่ทางวัดแต่งตั้งมารับโดยเฉพาะ คือ เป็นการหาตัวแทนของสงฆ์มารับไง แล้วตัวแทนของสงฆ์เนี่ย ถามว่า ต้องเฉพาะพระสงฆ์ที่ทางวัดแต่งตั้งมานั่งรับสังฆทานหรือเปล่า สมมติเราเดินเข้าไปในวัด เราเห็นพระที่ทางวัดแต่งตั้งมานั่งรับสังฆทานแล้วละ แต่จิตไม่เกิดศรัทธา ก็เลยเดินเลยไป ไปเจอพระอีกรูปหนึ่งในวัด เราเห็นแล้ว เกิดศรัทธาทันที ก็ขอถวายสังฆทานกับท่าน แล้วจะเป็นสังฆทานหรือเปล่า ก็ในเมื่อเราไม่ถวายกับพระตัวแทนที่ทางวัดแต่งตั้งให้มานั่งรับสังฆทาน คำตอบก็คือ เป็น เพราะการที่พระรูปใดได้รับการมอบหมายให้มานั่งรับสังฆทานนั้น ก็เพื่อความสะดวกของญาติโยม ที่ไม่ต้องเดินตามหาพระในการถวายสังฆทาน นั่นแหละ ประเด็นอยู่ตรงนั้น..... และถ้าเราจับหลักได้ว่า เจตนาในการถวายของเรานั้น เราขอถวายให้พระทุกรูป "มีสิทธิ" อุปโภคบริโภค ถามต่อไปว่า ถ้าเราขี้เกียจไปวัดไกลๆบ้าน ถวายวัดใกล้ๆบ้านนี่แหละ วันที่ 1 ก็ถวายวัดนี้ วันที่ 2 ก็ถวายวัดนี้ วันที่ 3 ก็ถวายวัดนี้ ถามว่าวันที่ 2 กับวันที่ 3 เป็นการถวายสังฆทานหรือเปล่า เพราะเล่นถวายอยู่วัดเดียว คำตอบก็คือ เป็น ... เพราะเจตนาในการถวาย อย่างที่บอก คือ เราถวายให้พระสงฆ์ทุกรูป ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัดนั้น มีสิทธิอุปโภคบริโภค ไม่ใช่ว่า วันที่ 1 ถวายวัดนี้ วันที่ 2 กับวันที่ 3 ต้องไปวัดอื่น จึงจะเป็นการถวายสังฆทาน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเอาหลักคิดอย่างนี้มาจับว่า วันที่ 2 กับวันที่ 3 ต้องแบ่งๆไปถวายวัดอื่น จึงจะเป็นการถวายสังฆทาน เพราะไม่เจาะจงอยู่วัดเดียว ถ้าคิดอย่างนี้ ถามว่า มีพระรูปหนึ่งเดินบิณฑบาตมาหน้าบ้านเรา เราใส่บาตรไปแล้ว ถือว่าเป็นการถวายสังฆทานใช่มั้ย พอวันรุ่งขึ้นท่านก็มาบิณฑบาตอีก เอ๊ะ ถ้าอย่างนี้เราต้องใส่บาตรพระรูปอื่นซิ ต้องไม่ให้ซ้ำกันทุกวัน ไม่อย่างนั้นไม่ใช่เป็นการถวายสังฆทาน ถ้าคิดอย่างนี้ก็ถือว่าขาดทุนเลย..... ทีนี้การถวายสังฆทานมีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งว่า "ผู้รับบริสุทธิ์" ผู้รับบริสุทธิ์หมายถึงพระที่เป็นตัวแทนรับของที่เราตั้งใจถวายเป็นสังฆทานนั้น ท่านมีศีลมีธรรมมีวัตรปฏิบัติที่ดีขนาดไหน นั่นแหละเป็นตัวแปรที่ทำให้การถวายสังฆทานนั้นมีผลยิ่งๆขึ้นไปอีก..... สมกับคำกล่าวที่ว่า "เนื้อนาบุญอันประเสริฐ"
สุดท้าย เคล็ดลับที่ไม่ลับก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นั้น เริ่มต้นที่ใจ และจบลงที่ใจ ทาน เริ่มที่ใจหมายถึง ใจที่คิดอยากจะให้ จบลงที่ใจ หมายถึง ใจอิ่มเอิบในทานที่ให้นั้น ศีล เริ่มที่ใจหมายถึง มีจิตคิดรักษาศีล เพราะเห็นข้อดี เพราะอยากปรับจิตปรับใจ จบลงที่ใจ หมายถึง เอาใจไปรักษาศีล เมื่อถึงขั้นเอาใจไปรักษาศีล ก็จะเป็นการรักษาศีลแบบเป็นธรรมชาติ ผนึกเป็นชีวิตไป ภาวนา เริ่มที่ใจ หมายถึง มีจิตคิดอยากจะภาวนา เพราะเริ่มได้คิดแล้วว่า เราก็ให้ทานแล้ว รักษาศีลแล้ว ยังเหลือแต่ภาวนา อย่ากระนั้นเลย เรามาทำให้ครบขั้นตอนที่องค์พระศาสดาสั่งสอนไว้ดีกว่า จบลงที่ใจ หมายถึง ใจสงบ สว่าง และวางทุกอย่างลงหมด...... นั่นเอง เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้