นิทรรศการ"เครื่องรางของขลัง" รู้แจ้งถึงแก่น "เปลือกศาสนา"

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 3 พฤศจิกายน 2010.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    นิทรรศการ" เครื่องรางของขลัง" รู้แจ้งถึงแก่น "เปลือกศาสนา"

    <!-- main-content-block --><!--3 พฤศจิกายน 2553 - 00:00-->

    ความเชื่อท้องถิ่นเก่าแก่ของผู้คนในแดนดินถิ่นสุวรรณภูมิซึ่งรวมถึงคนไทย มักเกิดจากการหลอมรวมความเชื่อเข้ากับศาสนา จนเกิดเป็นระบบความเชื่อที่ซับซ้อนฝังแน่นและแสดงออกมาในรูปแบบเครื่องรางของขลังชนิดต่างๆ ทว่าระบบทุนนิยมในปัจจุบันทำให้ความเชื่อบริสุทธิ์ในเปลือกศาสนาแปรเปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ งมงาย และหวังผลประโยชน์
    ด้วยเหตุและผลที่แจงในเบื้องต้น ทำให้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยาม คิดต่อยอดกิจกรรมจากเวทีสัมมนาวิชาการ "เครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ" มาสู่นิทรรศการ "เครื่องรางของขลัง" เพื่อนำเสนอตำนาน เรื่องราวความเป็นมา และองค์ความรู้ของเครื่องรางของขลังในมิติวิชาการ ที่จะเผยให้เห็นความเป็นมาของรูปแบบความเชื่อในวัฒนธรรมไทย กับการผสานความเชื่อดั้งเดิมควบรวมเข้ากับหลักพุทธศาสนา และมีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มิวเซียมสยาม โดยมี อ.ภุชชงค์ จันทวิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องรางและวัตถุมงคล ณัฐธัญ มณีรัตน์ นักวิชาการนักเขียนเรื่องเลขยันต์ และวุฒินันท์ ป้องป้อม นักวิชาการด้านเลขยันต์ สพร. ร่วมให้ความรู้
    อ.ภุชชงค์เล่าให้ฟังถึงที่มาของเครื่องรางของขลังว่า มนุษย์มีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังมากว่า 2,000 ปี ในส่วนของสยามประเทศเองก็มีมาก่อนที่จะตั้งเป็นอาณาจักรทวารวดี หรือแม้แต่ก่อนศาสนาพุทธจะเข้ามาเสียอีก ส่วนสาเหตุที่มนุษย์นับถือเครื่องรางของขลังนั้น ก็เพราะพวกเขาเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ และเกรงกลัวต่อสิ่งที่อธิบายไม่ได้ นอกจากนี้ มนุษย์ยังเป็นสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด แต่มีความฉลาดที่จะอาศัยความเชื่อในเครื่องรางมาเป็นตัวชูให้เกิดความกล้าหาญ ปลอบประโลมใจ และเมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาสู่ถิ่นสุวรรณภูมิ ผู้คนก็นำทั้ง 2 สิ่งมาเชื่อมรวมไว้ด้วยกัน โดยหวังว่าเครื่องรางของขลังนี้จะเป็นที่พึ่งทางใจ และนำพาผู้คนให้เข้าถึงศาสนามากขึ้น
    "แต่ทุกวันนี้ความเชื่อดังกล่าวมันผิดเพี้ยนไป พูดได้ว่า 90% เป็นความเชื่อปลอม ของจริงมีแค่ 10% เท่านั้น ที่จะเชื่อมโยงเอาเครื่องรางของขลังที่เปรียบได้กับเปลือกของพุทธศาสนาให้เข้าถึงแก่นพุทธศาสตร์ได้อย่างแท้จริง
    ด้านณัฐธัญกล่าวเสริมว่า ความผิดเพี้ยนทางความเชื่อที่กล่าวถึงนั้น เป็นไปในด้านตอบสนองกิเลศและความต้องการของตนเองมากกว่าจะเป็นกุศโลบายให้เข้าถึงธรรม เราจึงเห็นเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน โชคลาภ ฯลฯ ที่หลายคนฟันธงว่าเป็นเรื่องงมงายไปแล้ว
    "อยากให้คนรุ่นใหม่ศึกษาให้ลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้วเครื่องรางของขลังคืออะไร มันไม่ใช่เรื่องงมงายอย่างที่เข้าใจ แต่กลับเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าที่คิด เหมือนกับปฏิทินมายาที่ซ่อนบางสิ่งไว้ เพียงแต่ยังไม่ถูกเปิดเผยในปัจจุบันก็แค่นั้น เครื่องรางของไทยก็เช่นกัน ของเหล่านี้ไม่ใช่แค่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ช่วยบำบัดความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่คือมรดกในด้านวิวัฒนาการของชนชาติ การพัฒนาก่อเกิดเป็นประเทศ และนำคนเข้าถึงศาสนามากขึ้น ด้วยการใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ใจสงบ แล้วค่อยเขยิบเข้าหาพระธรรม เสมือนกับแหล่งน้ำน้อยที่อยู่ใกล้ ช่วยบรรเทาทุกข์ในระดับหนึ่งให้มีแรง ก่อนเดินไปเอาน้ำในแม่น้ำมาดับไฟให้สิ้น นับเป็นของโบราณที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาให้ยั่งยืน"
    ขณะที่ อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า เครื่องรางของขลังเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนสมัยโบราณ เป็นกุศโลบายให้คนมุ่งเข้าหาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงน่าเสียดายว่าคนในยุคสมัยนี้กลับไม่สนใจที่จะค้นหาและสืบทอดแก่นที่แท้จริงของความรู้เหล่านี้ แต่หันไปมุ่งเน้นในเรื่องผลที่จะได้รับหรือผลด้านไสยศาสตร์และผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งผู้ที่จัดสร้างและผู้ที่นำไปบูชา ทำให้ภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกับหลักคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ากลายเป็นความเชื่องมงายที่ไร้สาระ
    นอกจากองค์ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเร้นลับในแง่มุมวิชาการ ทั้งทำไมมนุษย์ต้องสร้างเครื่องราง ไสยศาสตร์ ของขลัง ของผี พรจากเทพ เปลือกหุ้มแก่น ไม่เชื่ออย่าลบหลู่...แต่ต้องให้รู้ด้วยปัญญา ของขลัง...ของ (ราคา) สูง จากเพราะความกลัวต่อสิ่งเร้นลับ...เป็น...เพราะอยากได้ กลัวไม่มี ฯลฯ แล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงเครื่องรางของขลังนานาประเภทที่เกิดจากความศรัทธาและความเชื่อของชาวสุวรรณภูมิและคนไทย ตั้งแต่อดีตที่เริ่มเชื่อในเรื่องภูตผี ปีศาจ เทพเจ้า จนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงวัตถุมงคลอันทรงคุณค่าที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา อาทิ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด ฯลฯ ที่หาชมได้ยาก และยังมีพระเครื่องต่างๆ โดยเฉพาะสุดยอดวัตถุมงคลล้ำค่าของคนไทย "พระเครื่องชุดเบญจภาคี" มูลค่านับร้อยล้านบาทก็สามารถหาชมได้ภายในงาน
    นิทรรศการเครื่องรางของขลังจัดแสดงให้ชมจนถึงวันที่ 27 ก.พ.2554 เข้าชมได้ตั้งแต่วันอังคาร-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. ณ ห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว และห้องพิพิธเพลิน 1 มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2225-2777 ต่อ 413, 414



    http://www.thaipost.net/x-cite/031110/29559
     
  2. ชาวประมง

    ชาวประมง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มกราคม 2009
    โพสต์:
    4,657
    ค่าพลัง:
    +22,538
    น่าไปจริงๆ แต่กลัวลืมจริงๆ อิอิ
     

แชร์หน้านี้

Loading...