พระราชวรญาณมุนี (วินัย) ผู้นำพระพุทธศาสนาไปบุกเบิก ณ ซีกโลกใต้

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 19 ธันวาคม 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธ.ค. 2553 พระเถระวัย 53 ปี รูปหนึ่งเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะชั้นสามัญ...

    เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธ.ค. 2553 พระเถระวัย 53 ปี รูปหนึ่งเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ท่านคือ พระราชวรญาณมุนี (วินัย อภิวินโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าอาวาสและประธานสงฆ์วัดญาณประทีป นครโอกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

    [​IMG]
    พระราชวรญาณมุนี

    เมื่อศึกษาข้อมูลที่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ เขียน และประวัติวัดญาณประทีป ที่พระธรรมวราจารย์ (หลวงปู่แบน) เรียบเรียง ในหนังสือหลวงปู่เล่าให้ฟัง เล่ม 2 ที่พิมพ์บรรณาการแก่ผู้แสดงมุทิตาจิตพระราชวรญาณมุนี ก็ทึ่งในความสามารถของเจ้าคุณชั้นราชรูปนี้ ที่สร้างศรัทธาให้แก่ชาวพุทธได้กว้างขวางในเวลาสั้นๆ เช่น วัดที่ไปริเริ่มครั้งแรกปี พ.ศ. 2536 มีชาวพุทธศรัทธาเข้ามามากจนคับแคบ ต้องขยับขยายหาที่สร้างใหม่ แต่เมื่อได้ที่ใหม่ซึ่งกว้างขวาง พอที่จะทำกิจกรรมทางศาสนาเพื่อชนหมู่มากได้ ต้องพบปัญหาจากเพื่อนบ้านที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกิจกรรมทางศาสนาที่มีคนไปชุมนุมกันมากๆ จึงต้องหาที่สร้างวัดใหม่อีกครั้ง ในที่สุดมาลงตัว ณ เลขที่ 99 ถนนซาบูไลต์ เคลสตัน นครโอกแลนด์ อันเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน

    ณ ที่แห่งใหม่ ความสามารถในการนำหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ ณ ขั้วโลกใต้แสดงผล จึงทำให้ท่านเป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระพุทธศาสนาว่า เป็นผู้ฟื้นฟูจิตวิญญาณชาวไทยและชาวนิวซีแลนด์ที่สนใจพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน

    ประวัติส่วนตัว
    ส่วนประวัติส่วนตัวของท่านมีสั้นๆ ว่า เดิมชื่อ วินัย ฉายา อภิวินโย นามสกุล ไตรพร เกิดวันที่ 3 ก.พ. 2500 ที่ จ.นครศรีธรรมราช บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร

    เข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศขณะที่เป็นสามเณร ในปี พ.ศ. 2520 เพราะได้รับการคัดเลือกจากสำนักเรียนวัดธรรมบูชาให้มาอยู่แทนพระ จ.สุราษฎร์ธานี รูปหนึ่งที่ลาสิกขา

    เมื่ออยู่วัดบวรนิเวศสามารถสอบเปรียญธรรม 3 ประโยคได้ และสอบได้ถึงเปรียญธรรม 7 ประโยค และเรียนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจบได้ปริญญา ศน.บ. แต่ไม่ได้ไปเรียนต่อปริญญาโท เพราะหลวงปู่แบนว่าพอแล้ว
    อยู่เมืองไทยมีตำแหน่งทางปกครอง เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่เมืองนอกเป็นกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เจ้าอาวาส และประธานสงฆ์วัดญาณประทีป นครโอกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

    เป็นหัวหน้าศูนย์การศึกษา กศน.. นครโอกแลนด์ ประธานคณะกรรมการมหามกุฏไทยบุดดิสต์ทรัสต์ และรองประธานคณะกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

    งานเผยแผ่ในเมืองไทยเป็นครูสอนปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร อาจารย์สอนในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในต่างประเทศเป็นพระธรรมทูตประเทศนิวซีแลนด์ สามารถบรรยายธรรมและจิตตภาวนาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และยังมีผลงานทางด้านสาธารณูปการทั้งในเมืองไทยและนิวซีแลนด์อีกหลายรายการ

    ส่วนด้านสังคมสงเคราะห์นั้น ท่านช่วยให้ที่พักพิงแก่คนไทยและต่างชาติ ออกหนังสือรับรองการขอวีซ่า (เข้าประเทศนิวซีแลนด์) และจัดโรงอาหารเลี้ยงเด็ก และผู้ที่มาเรียนภาษาไทย–วัฒนธรรมไทย ที่วัดญาณประทีปสม่ำเสมอ

    สำหรับสมณศักดิ์นั้น ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระกวีวรญาณ เมื่อปี พ.ศ. 2545 และเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2553 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวรญาณมุนี วิ.

    กว่าจะมีวันนี้
    ท่านเล่าเรื่องประสบการณ์ในต่างแดน พอสรุปได้ดังนี้

    ก่อนที่จะมีวัดถาวรดังที่เห็นในปัจจุบัน ชุมชนคนไทยที่โอกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ที่มีหลายพันคน ตั้งสมาคม Buddhist Trust เป็นองค์กรการกุศลขึ้นอยู่กับ Charitable Mission ขึ้นมาก่อน จากสมาคมพัฒนาเป็นที่พักสงฆ์ Buddhist Resideence โดยนิมนต์พระมาพักเป็นระยะๆ ต่อมาทางสมาคมเห็นว่าควรนิมนต์พระเป็นทางการจึงได้นิมนต์พระไป ซึ่งตัวท่านได้รับการนิมนต์ด้วย

    [​IMG]
    บริเวณวัดญาณประทีป นิวซีแลนด์

    แต่ก่อนจะนิมนต์ท่านนั้น กรรมการสมาคมได้นิมนต์พระอาจารย์เชาวรา ธัมมปุญโญ วัดบรมนิวาส และพระ ดร.สมศักดิ์ วัดราชประดิษฐ์ ก่อนแล้ว แต่ทั้งสองรูปไม่รับ กรรมการสมาคมจึงนิมนต์ท่านเป็นทางการผ่านเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต คือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ท่านยินดีรับเพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ญาติโยม เพราะที่นั่นไม่มีพระสงฆ์ เมื่อไปปฏิบัติงานระยะหนึ่งที่ดั้งเดิมคับแคบ ไม่เพียงกับชาวพุทธที่สนใจมากขึ้น จึงหาที่ตั้งวัดใหม่ได้ที่กว้าง แต่ทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ได้ เพื่อนบ้านไม่ยอม จึงหาที่ใหม่

    สุดท้ายมาลงตัวที่ เลขที่ 99 ถนน Sabulite, Kelston Aukland New Zealand ตั้งอยู่บนที่ดิน 2.5 เอเคอร์ กับอีก 723 ตารางเมตร อยู่ใกล้ชุมชนไทย ไม่ไกลจากเมือง อีกทั้งเป็นที่สงบเงียบ มีต้นไม้ร่มรื่น สมกับเป็นวัดป่า เป็นที่ที่หายาก และมีเพียงแห่งเดียวที่มีทำเลและบรรยากาศเช่นนี้

    ณ ที่แห่งนี้เริ่มทีเดียวมีบ้าน 2 หลัง ต่อมาสร้างศาลาอเนกประสงค์ 2 ชั้น ชั้นบนมี 10 ห้องนอน ชั้นล่างเป็นศาลาเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยตั้งชื่อว่าศาลา 96 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยปี พ.ศ. 2552 ได้รองรับการประชุมใหญ่สามัญประจำปีธรรมทูตคณะธรรมยุตในซีกโลกใต้ได้อย่างพอเพียงเมื่อเดือน ก.พ. 2553 ซึ่งมีพระร่วมประชุมประมาณ 50-60 รูป ล่าสุด วันที่ 19 พ.ย. 2553 ได้ใช้เป็นที่รับรองสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต และคณะที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมการพระศาสนา ณ ซีกโลกใต้ สมเด็จพระวันรัต ประทับใจกับอากาศและบรรยากาศที่วัดมาก ที่|ร่มรื่นด้วยแมกไม้ อยู่ติดลำธารที่มีน้ำไหลลงสู่ทะเล

    บิณฑบาตในตลาด
    ท่านบอกว่าที่ตั้งวัดแห่งใหม่ไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านและชุมชน ตรงกันข้ามเขาให้การต้อนรับดีมาก ทั้งนี้เพราะทางวัดผูกมิตรทำตัวเป็นผู้ให้ มอบของขวัญ อาหาร ขนมให้เมื่อเขามีงานในเทศกาลต่างๆ เมื่อคนไทยและชาวพุทธไปชุมนุมที่วัดนับร้อยนับพันคนในเทศกาล และวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพื่อนบ้านจึงไม่มีปัญหา

    กิจกรรมของวัดมีเกือบทุกเดือน เริ่มจากวันปีใหม่ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วัดวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันแม่แห่งชาติ วันประสูติสมเด็จพระสังฆราชและวันสลากภัต วันออกพรรษา วันทอดกฐิน และปิดท้ายด้วยวันพ่อ วันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา รวมทั้งการทำบุญให้อดีตกรรมการและผู้มีอุปการคุณแก่วัดอีกวาระหนึ่ง

    ที่ปฏิบัติเป็นประจำสัปดาห์ คือทุกวันพระ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ จะมีกิจกรรมทางศาสนาทั้งวัน

    ในวันเสาร์-อาทิตย์ ในฤดูร้อนจะมีกิจกรรมพิเศษคือ พระจะออกบิณฑบาตที่ตลาดในเมือง เพื่อโปรดญาติโยม หลังจากขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าของตลาดแล้ว

    ผู้ใส่บาตรน่าสนใจมาก แรกทีเดียวมีคนไทยคนลาวและเขมร ต่อมามีชนเผ่าเมาลีซึ่งเป็นชนพื้นเมือง จากนั้นเป็นฝรั่งที่แต่แรกนั้นเขาเห็นเป็นเรื่องแปลกๆ ต่อมาพอทราบว่าอะไรเป็นอะไรก็ร่วมใส่บาตรด้วย

    ยกเว้นฝรั่งที่เคยมาเมืองไทย จะใส่บาตรอย่างสนิทสนม ส่วนชนเผ่าเมาลีใส่บาตรเพราะได้รับความรู้สึกที่ดี สิ่งของที่ชนเผ่าเมาลีนำมาใส่บาตรจะเป็นผลไม้และผักที่บรรจุในถุงใหญ่ๆ โดยนำมาวางบนฝาบาตรด้วยความเคารพและเต็มใจ

    การเผยแผ่
    เมื่อถามถึงปัญหาในการเผยแผ่พระธรรมคำสอน ท่านว่ามีปัญหาบ้างในเรื่องภาษา ถ้ามุ่งเจาะจงไปที่ผู้ฟังที่เป็นฝรั่ง เพราะไม่แตกฉานภาษาพอ นอกจากนั้นก็ขาดบุคลากรที่สามารถช่วยงานที่วัดอย่างถาวร

    คนพื้นเมือง เช่นเมาลี ให้ความร่วมมือดี เป็นกันเอง แต่มักเข้าใจว่าเป็นพระจีนมาจากเส้าหลิน จึงขอให้สอนกังฟูให้ พระไทยจึงตอบแบบสนุกๆ ว่าสอนได้แต่มวยไทย เพราะเป็นคนไทย

    ท่านเล่าถึงการสอนวิปัสสนากรรมฐานว่าที่วัดจะเน้นการสอนไปที่คนเอเชียที่เป็นคนไทย คนลาว และคนมาเลย์ที่ศรัทธาจะมานั่งสมาธิกันทุกวันพระ จนกระทั่งเต็มศาลาที่สร้างใหม่ทีเดียว บางคนมีความอดทนสูง สามารถนั่งวิปัสสนากรรมฐานได้ถึง 6 ชั่วโมงติดต่อกัน ตั้งแต่เวลา 19.00-02.00 น. เป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง

    นอกจากนั้น ได้จัดกิจกรรมเพื่อลูกหลานคนไทยอย่างต่อเนื่อง เช่นจัดการสอน กศน. ถึงชั้น ม.6 จบเป็นรุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนั้นก็เปิดสอนธรรมศึกษา วัฒนธรรมไทย และภาษาไทย มีผู้สนใจเรียนนับร้อยคนทีเดียว โดยเฉพาะภาษาไทยนั้นมีฝรั่งมาเข้าเรียนถึงกับต้องจัดชั้นเรียนให้พิเศษ

    อนาคตฝากไว้กับลูกหลานไทย
    เมื่อถามถึงอนาคตพระพุทธศาสนาในซีกโลกใต้ ท่านบอกว่า ท่านเน้นไปที่ทายาทลูกหลานไทย ความคิดแบบนี้มีคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเขาอยากให้เน้นไปที่ฝรั่ง แต่ท่านเห็นว่าควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ลูกหลานไทยให้เข้มแข็ง และคุ้นเคยกับวัด โดยหวังว่าพวกเขาจะมาแทนปู่ย่าตายายที่แก่เฒ่า อนาคตพุทธศาสนาในต่างแดนจึงอยู่ที่เด็กๆ แต่จะทำได้ตามเป้าหมายคงต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เพราะเด็กๆ เกิดที่นั่น โตที่นั่น จะคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมฝรั่ง การดึงเขามาเป็นเรื่องยาก จึงต้องจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นมาเสริม เช่น จัดบวชภาคฤดูร้อน และบวชเนกขัม เป็นต้น

    จะอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 17 ปี คำสอนพระพุทธศาสนา ประเพณีชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในซีกโลกใต้แล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งจากญาติโยม พระเถระผู้ใหญ่ ส่วนหัวหน้าพระธรรมทูตมีปฏิปทาที่ควรแก่การกราบไหว้ สร้างศรัทธาให้ชาวพุทธไม่เสื่อมคลาย สมกับที่ พระธรรมวราจารย์ (หลวงปู่แบน) เรียบเรียงในประวัติวัดญาณประทีป ตอนหนึ่งว่า เมื่อคณะกรรมการเข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่กรุงเทพฯ เพื่อทูลว่าวัดไทยเกิดขึ้นแล้วที่ขั้วโลกใต้ และคณะกรรมการพิจารณาว่า “หากได้พระเถระที่มีความรู้ไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ขั้วโลกใต้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวไทยพุทธมาก” พระองค์ทรงเห็นชอบ

    จากนั้นได้พิจารณาหาพระธรรมทูตที่มีความรู้ มีจริยาวัตรดีงามเพื่อจะเรียกศรัทธาชาวพุทธได้มาก และในอนาคตจะทำให้วัดเจริญรุ่งเรือง ที่ประชุมเห็นชอบที่จะขอ พระมหาวินัย อภิวินโย วัดบวรนิเวศวิหาร ป.ธ.7 ศน.บ. ไปเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตประจำประเทศนิวซีแลนด์

    พระมหาวินัย คือ พระราชวรญาณมุนี ผู้นำพระพุทธศาสนาไปบุกเบิก ณ ซีกโลกใต้ จนเป็นที่กล่าวขานในปัจจุบันนี่เอง

    พระราชวรญาณมุนี (วินัย) ผู้นำพระพุทธศาสนาไปบุกเบิก ณ ซีกโลกใต้
     
  2. bowondet surin

    bowondet surin สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    75
    ค่าพลัง:
    +7
    ขอให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปทั่วโลกครับ
    ขออนุโมทนา สาธุ ครับ
     
  3. nao7310

    nao7310 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    258
    ค่าพลัง:
    +931
    อนุโมทนาสาธุค่ะ :cool: ดีใจมากๆ พระพุทธศาสนาได้เจริญทางซีกโลกใต้แล้ว สาธุ ...
     
  4. มุมุมิมิ

    มุมุมิมิ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กันยายน 2010
    โพสต์:
    14
    ค่าพลัง:
    +4
    น่ายินดีมากครับ ศาสนาพุทธเดินทางไปถึงใหน มีความสุขร่มเย็นไปถึงนั่นร่วมอนุโมทณา สาธุ สาธุด้วยคนครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...