ร่วมคัดค้านสวนสัตว์เชียงใหม่จัดแสดงหมีขั้วโลก

ในห้อง 'ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์' ตั้งกระทู้โดย bennynaja, 12 พฤษภาคม 2011.

  1. bennynaja

    bennynaja เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    124
    ค่าพลัง:
    +104
    Binary Brielle | Facebook

    ตามที่ สวนสัตว์เชียงใหม่ได้ริเริ่มโครงการ Polar World Chiang Mai Zoo โดยวางแผนจะให้มีการจัดแสดงหมีขั้วโลก (Polar bear ชื่อวิทยาศาสตร์ Ursus maritimus) และ นกเพนกวินคิง (King Penguin) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของขั้วโลก ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของขั้วโลก รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาวิจัยอนุรักษ์พันธุ์หมีขั้วโลกและนกเพนกวิน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น ทางเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ฯ (ตามรายชื่อปรากฏด้านล่าง) มีความห่วงไย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำหมีขั้วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้



    *** 1.ด้านสวัสดิภาพสัตว์ ***

    1.1 หมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่คนนิยมชมชอบและเป็นหนึ่งในดาราสวนสัตว์ (Star Animal) โดยเฉพาะลูกหมีขาวที่มีความน่ารักน่าเอ็น ดูทำให้ในอดีตมีสวนสัตว์จำนวนมากพยายามนำเข้ามาจัดแสดงในสวนสัตว์ของตน แต่กลับพบว่าหมีขั้วโลกเป็นสัตว์ป่าที่มีปัญหาในการปรับตัวในสภาพกักขังมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนสัตว์ประเทศเขตร้อน ทั้งนี้เพราะหมีขั้วโลกเป็นสัตว์ผู้ล่า ที่มีวิวัฒนาการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิเย็นจัดตลอดปี และใช้อาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลในการดำรงชีวิต โดยใช้ชีวิตเร่ร่อนออกล่าแมวน้ำในทุ่งน้ำแข็งแห่งมหาสมุทรอาร์คติค ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจำลองระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งมีพื้นที่ที่กว้างพอ อุณหภูมิเย็นจัดตลอดปี ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำตลอดปี สภาพแสงอ่อน มีความยาวกลางวันกลางคืนที่แปรเปลี่ยนมากในช่วงปี ฯลฯ เพื่อให้หมีสามารถมีความเป็นอยู่ใกล้เคียงที่สุดกับชีวิตปกติของมันได้ แม้สวนสัตว์ที่มีงบประมาณมากและมีความเชี่ยวชาญพิเศษ (เช่น Sea World, SanDiego, USA ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาให้กับสวนสัตว์เชียงใหม่) ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงหมีขั้วโลกให้เป็นปรกติสุขได้

    1.2 งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุชัดเจนว่า หมีขั้วโลกที่ถูกจัดแสดงในสวนสัตว์ทั่วโลกเกือบทั้งหมดมีอาการป่วยทางจิต โดยแสดงอาการซึมเศร้า(depression) และพฤติกรรมซ้ำซาก(stereotypical behavior) งานวิจัยยังพบด้วยว่า พฤติกรรมผิดปกติดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับความไม่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จัดแสดง ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการทางธรรมชาติและพฤติกรรมเฉพาะของหมี เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับการถูกจำกัดบริเวณให้อยู่ในพื้นที่ 1 ในล้านส่วนของ อาณาบริเวณในการดำรงชีวิตตามสภาพธรรมชาติ (home range) ที่กว้างขวางกว่า 50,000.ตร.กม. ผู้วิจัยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า สวนสัตว์ทั่วโลกควรวางแผนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนการเลี้ยงสัตว์ผู้ล่าที่มี home range ขนาดใหญ่เหล่านี้ลง และยุติการนำสัตว์ใหม่เข้ามาจัดแสดงเพิ่มเติม

    1.3 ปัจจุบันสวนสัตว์หลายแห่งในอารยประเทศ เช่นสหราชอาณาจักร สวิสเซอร์แลนด์ หรือเยอรมนี ได้ยุติการจัดแสดงหมีขั้วโลกแล้ว ด้วยเหตุผลด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ

    1.4 แผนการจัดแสดงหมีขั้วโลกของสวนสัตว์เชียงใหม่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ AZA (Association of Zoo and Aquarium ; Standardized Animal Care Guidelines for Polar bears. 2007 ) และกฏหมายพิทักษ์หมีขั้วโลกแห่งมลรัฐแมนนิโตบา แคนาดา (The Polar Bear Protection ACT, Manitoba) ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดแสดงหมีขั้วโลกไว้ไม่ต่ำกว่า 500 ตารางเมตร สำหรับหมี 1 คู่ และต้องมีพื้นที่ส่วนที่เป็นสระน้ำ (เย็นจัด)ไม่ต่ำกว่า 70 ตรม. และลึกเพียงพอให้หมีสามารถดำน้ำได้ คอกกักถ้ำหรือแหล่งที่พักหลบนอนต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 4 x 3 x 2.5 เมตร และพ้นสายตาผู้คน สำหรับ WSPA (World Society for Protection of Animals) และ Province of Newfoundland and Labrador Wildlfe Act นั้นกำหนดพื้นที่จัดแสดงหมีขั้วโลกไว้ไม่ต่ำกว่า 4,500 ตารางเมตร ต่อหมี 1 คู่

    อาคารของ Polar World Chiang Mai Zoo ทั้งหมดมีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 2,909 ตารางเมตร แต่เป็นส่วนจัดแสดงหมีขั้วโลกจริงๆ เพียง 135 ตรม. และเป็นพื้นที่สระน้ำเพียง 23 ตร.ม. นอกนั้นเป็นส่วนของพื้นที่สำหรับแสดงนกเพนกวิน พื้นที่โถงต้อนรับ พื้นที่ส่วนงานระบบ ห้องคอกกัก ห้องปฏิบัติการ ห้องเตรียมอาหาร อาคารระบบยังชีพ พื้นที่ส่วนสำนักงาน และพื้นที่ให้เอกชนเช่าเพื่อค้าขายเชิงพาณิชย์ พื้นที่สำหรับหมีขั้วโลกของสวนสัตว์เชียงใหม่นับว่าคับแคบและต่ำกว่ามาตราฐานสากลเป็นอย่างมาก
    นอกจากนี้ มาตราฐานสากลยังกำหนดให้ในพื้นที่จัดแสดงควรมีส่วนที่เป็นคอนกรีตหรือปูนให้น้อยที่สุด นอกนั้นต้องเป็นพื้นผิวธรรมชาติ (ดิน ทราย สนามหญ้า ฟาง เศษไม้) ไมต่ำกว่า 125 ตารางเมตร

    1.5 การจัดแสดงหมีขั้วโลกในสวนสัตว์ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสวัสดิภาพหมี ไม่ว่าจะปรับให้เป็นส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง (outdoor) หรือในร่ม (indoor)

    1.5.1 การจัดแสดงในร่ม เป็นการปิดกั้นสัตว์จากสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เช่นท้องฟ้า ลม อากาศ เสียงธรรมชาติ ฯลฯโดยสิ้นเชิง กฎหมาย Polar Bear Protection Act แห่งมลรัฐ Manitoba สหพันธ์รัฐแคนาดา กำหนดการจัดแสดงหมีขั้วโลกไว้ว่าต้องมีพื้นที่กลางแจ้งอยู่ด้วย
    ในการจัดแสดงหมีขั้วโลกในพื้นที่ปิดในร่มนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานมหาศาลเพื่อสร้างอุณหภูมิที่เย็นจัด โดยเฉพาะในฤดูร้อนจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี การวางแผนปรับอุณหภูมิไว้ที่ 18 ถึง 22 องศาเซลเซียสตามที่แจ้งไว้นั้น นับว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากยังสูงกว่าอุณหภูมิที่เขตขั้วโลก (ซึ่งมีอุณหภูมิลบ 40 ถึง 0 องศาเซลเซียสในฤดูหนาวและลบ10 ถึง 10 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน) อยู่มาก กายภาพของหมีขั้วโลก (ขนาดตัว ขนหนา ขน hollow guard และชั้นไขมัน) ทำให้หมีจะไม่สามารถปรับตัวกับสภาพดังกล่าวได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะ heat stress / heat stroke ดังปรากฏกับหมีขั้วโลกที่จัดแสดงไว้แบบกลางแจ้งในสวนสัตว์ประเทศเขตอบอุ่น เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป นอกจากนี้ หากไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลายาวนาน จะมีผลต่อสวัสดิภาพของหมีเป็นอย่างยิ่ง

    1.5.2 ส่วนการจัดแสดงภายนอกอาคาร ไม่สามารถทำได้ในสวนสัตว์เชียงใหม่ แม้จะเป็นช่วงเช้าของฤดูหนาว ที่มีอุณหภูมิต่ำสุดราว 14-15 องศาเซลเซียส ซึ่งยังนับว่าสูงกว่าอุณหภูมิที่เขตขั้วโลกอยู่มาก หมีขั้วโลก 2 ตัวที่สวนสัตว์สิงค์โปร์ที่จัดแสดงแบบนอกอาคารมีประสบปัญหา heat stress อย่างรุนแรง (กรณีนี้แตกต่างจากจัดแสดงของหมีแพนด้าที่สามารถให้หมีมาใช้พื้นที่โล่งในวันที่มีอากาศเย็นได้) นอกจากนี้การจัดแสดงกลางแจ้ง ไม่สามารถจำลองการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลากลางวันกลางคืนที่แตกต่างกันอย่างมากในเขตขั้วโลกได้เลย ในช่วงฤดูหนาวที่อาจไม่มีแสงสว่างเลยเป็นเวลาหลายเดือน หมีขั้วโลกปรับตัวโดยการขุดรูเพื่อจำศีล และถึงแม้การจัดแสดงแบบภายในอาคารจะพยายามสร้างบรรยากาศจำลองนี้ได้ แต่การทำให้ส่วนจัดแสดงมืดสนิทเป็นเวลาหลายเดือนย่อมไม่เหมาะสมในเชิงธุรกิจ และความต้องการของผู้มาเยี่ยมชม



    *** 2. ด้านการศึกษาวิจัย และคุณค่าทางการศึกษา ***

    โครงการ Polar World Chiang Mai Zoo ยกเรื่องการวิจัยและคุณค่าทางการศึกษาเป็นวัตถุประสงค์หลัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจะวัตุถุประสงค์นี้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงด์ได้จริงหรือไม่

    2.1 คุณค่าต่องานวิจัยทางวิชาการ และการเพาะเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์
    เป็นที่ทราบดีว่า การศึกษาทางชีววิทยาในสภาพกักขังมีส่วนเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์น้อยมาก เนื่องจากในสภาพจำลองนั้น หมีขั้วโลกไม่สามารถแสดงพฤติกรรมปกติ เช่น การล่า การย้ายถิ่น การจำศีล หรือ การเลี้ยงลูกตามธรรมชาติได้ นอกจากนี้มีหน่วยงานต่างประเทศที่ทำเรื่องนี้อยู่มาก่อนมากมายแล้ว ด้วยความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ และความเชี่ยวชาญจำเพาะ จึงเป็นเรื่องยาก ที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ อีกทั้งไม่คุ้มค่า หากประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยแถบขั้วโลก ในขณะที่ยังขาดแคลนการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในประเทศเราเองเป็นอย่างมาก

    ทางกลุ่มเครือข่ายฯ สนับสนุนและชื่นชมผลงานขององค์กรสวนสัตว์ด้านงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ของสัตว์พื้นถิ่น เช่น โครงการนกกระเรียนไทย และ ละองละมั่งคืนถิ่น และเชื่อแน่ว่าหากนำงบประมาณกว่า 70 ล้านบาทนี้มาสนับสนุนโครงการในลักษณะดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากกว่า นอกจากนี้ การขยายพันธุ์หมีขั้วโลกโดยวิธีเพาะเลี้ยงในสวนสัตว์นั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหมีขั้วโลก (The Polar Bear Specialist Group) แห่ง World Conservation Union (IUCN) แต่อย่างใด

    2.2 คุณค่าการศึกษาชีวิตหมีขั้วโลกและระบบนิเวศขั้วโลกสำหรับประชาชน
    งานวิจัยที่สวนสัตว์สิงค์โปร์ศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกว่า 200 คนที่เข้ามาเยี่ยมชมส่วนแสดงของหมีขั้วโลก พบว่า มีนักท่องเที่ยวเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อ่านป้ายสื่อความหมาย และนักท่องเที่ยวแต่ละคนใช้เวลาดูหมีเฉลี่ยแล้วเพียงคนละ 46.3 วินาทีเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะสื่อข้อมูล ความเข้าใจให้กับประชาชน แม้ทำสื่อให้น่าสนใจเพียงใดก็ตาม นอกจากนี้การแสดงโชว์ความสามารถต่างๆของหมี (เช่นให้หมีโบกมือ ยกมือไหว้ สั่นกระดิ่งขออาหาร ปรบมือ หรือ เต้นระบำ) อาจทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ผิดๆ เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมปกติตามธรรมชาติของหมีขั้วโลกก็เป็นได้ พฤติกรรมของหมีขั้วโลกในสภาพกักขังนี้ จึงมีส่วนน้อยมากที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตที่แท้จริงและปัญหาที่หมีขั้วโลกประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทางองค์การสวนสัตว์มีวัตถุประสงค์จะใช้การจัดแสดงหมีขั้วโลกเพื่อกระตุ้นรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนและตระหนักถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของหมีขั้วโลกด้วยแล้วนั้น การจัดแสดงดังกล่าวกลับสร้างคำถามสำคัญและอาจก่อให้เกิดความสับสนและความเข้าใจที่ผิดว่านี่คือหนึ่งในวิธีแก้ปัญหา เนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานมหาศาลในการสร้างความเย็นจัดอย่างต่อเนื่องให้อาคารขนาดใหญ่นี้ กลับส่งผลซ้ำเติมภาวะโลกร้อน และเร่งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก (Polar Sea Ice) และแหล่งหากินของหมีขั้วโลก เท่ากับเป็นการเร่งให้พวกมันสูญพันธุ์เร็วขึ้นไปอีก




    *** 3. ด้านความคุ้มทุนในเชิงธุรกิจ ***

    เป็นที่น่าสงสัยว่า งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 70 ล้านบาทนั้น จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ หากมองในระยะยาวเป็นไปได้มากกว่าหลังจากกระแสความตื่นเต้นจางหายลง หมีขั้วโลกและนกเพนกวินคิงจะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เหมือนในปีแรกๆ เหมือนที่ในขณะนี้ไม่มีใครตื่นเต้นกับการแสดงหมีขั้วโลกที่ซาฟารีเวิร์ล หรือแม้แต่กระแสความตื่นเต้นของหมีแพนด้า และนกเพนกวินฮัมโปลต์ของสวนสัตว์เชียงใหม่เองก็อ่อนลงไปมากแล้ว สำหรับหมีขั้วโลกเป็นไปได้ว่าเมื่อหมีมีอายุมากหรือสุขภาพทรุดโทรมลงขนสีหมองและหลุดร่วง หรือมีพฤติกรรมป่วยทางจิต จะนำมาซึ่งความเบื่อหน่ายและหดหู่ของคนที่มาเยี่ยมชม จนความนิยมในหมู่ประชาชนเสื่อมถอย ในขณะที่ค่าบำรุงรักษากลับต้องสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งประมาณไว้หลายแสนบาทต่อเดือนในช่วงฤดูร้อน งบประมาณดังกล่าวสามารถมาปรับปรุงการจัดแสดง การสื่อความหมายและสวัสดิภาพสัตว์ที่มีอยู่แล้วในสวนสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะสัตว์ป่าพื้นถิ่นไทย




    *** 4. ด้านเชิงสัญลักษณ์ ***

    หมีขั้วโลกไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของไทย ไม่ใช่อัตลักษณ์ หรือเกี่ยวข้องกับรากทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ล้านนาแต่อย่างใด ทางกลุ่มเครือข่ายฯมีความเห็นว่าควรมีการลงทุนด้านงานวิจัยและมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ สร้างความภาคภูมิใจ ความรู้สึกหวงแหน ตระหนักในคุณค่าของสัตว์พื้นถิ่น เช่นกวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง เป็นต้น มากกว่าสัตว์ป่าต่างประเทศ แม้สัตว์เหล่านั้นอาจไม่สามารถเรียกคนดูและมีประโยชน์ทางการค้ามากเท่ากับสัตว์ดาราจากต่างประเทศ


    ทางกลุ่มเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้ทางสวนสัตว์เชียงใหม่พิจารณายกเลิกการจัดแสดงหมีขั้วโลก ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด อนึ่งทางเครือข่ายฯ ทราบดีว่าการก่อสร้างอาคารได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่การตัดสินใจที่ถูกต้องและกล้าหาญนี้ จะทำให้สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนานาอารยประเทศ และเป็นก้าวสำคัญในการเป็นสวนสัตว์ชั้นนำของโลกอย่างแท้จริง ที่มุ่งแข่งขันและให้ความสำคัญในด้านความเป็นเลิศของสวัสดิภาพสัตว์ และคุณค่าการศึกษาวิจัยเชิงอนุรักษ์มากกว่าการมุ่งเน้นทางการแสวงกำไร


    ขอแสดงความนับถือ
    ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
    ภาคีคนฮักเชียงใหม่
    เครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย
    มูลนิธิโลกสีเขียว
    มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
     
  2. bennynaja

    bennynaja เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    124
    ค่าพลัง:
    +104

แชร์หน้านี้

Loading...