ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 27 กันยายน 2011.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]
    .....................................................................................................................................................





    ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    ประณีต ก้องสมุทร
    สารบัญ
    เรื่อง
    ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    การใช้ทรัพย์ ๕ ประการ
    มหาทาน
    ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
    ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
    กาลทาน ๕ อย่าง
    ให้ทานในที่ใดมีผลมาก
    ทานที่เจาะจงและไม่เจาะจง ๒๑ ประเภท
    สังฆทาน ๗ ประเภท
    ถวายภิกษุรูปเดียว ก็เป็นสังฆทาน
    ทัททัลลวิมาน-แสดงอานิสงส์ของสังฆทาน
    เรื่องเศรษฐีเท้าแมว
    ความบริสุทธิ์แห่งทักษณาทาน ๔
    อานิสงส์ของทาน ๕ อย่าง
    ทานที่มีผลมาก อานิสงส์มาก ๗




    [​IMG]
    -------------------------------------------------------------------------------
    ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมี พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตร
    สหาย ข้าทาส บริวาร และบุตร ภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุข
    และเป็นที่รักของคนเหล่านั้น นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อ ผู้ที่ควรคารวะ
    พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคน
    เหล่านั้นด้วย

    ผู้ขอบ่อยๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น

    ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่
    หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น คนที่สามารถหยิบ
    ยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ใน
    ครั้งต่อๆไป

    ทั้งๆที่ทุกคนรู้จักการรับ และการให้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว
    การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้อง
    ให้เกิดประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ เป็นการให้แบบสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาค
    อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง
    แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์
    ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดง เรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑
    (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ

    ๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและบ่าว
    ไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก

    ๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ

    ๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร
    หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ

    ๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือ ญาติพลี บำรุง
    ญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษี
    อากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า
    "คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"

    ๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบาก
    เป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้
    สงบระงับจากกิเลส ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
    ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดใน
    สวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติ
    ดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุ
    เหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่
    ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย

    ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้

    และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน

    ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะ
    ได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่
    เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูป
    ธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทาน
    ในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆกันไป

    เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้น
    ก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้
    ของเหล่านั้น อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน

    บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของ
    กรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก

    เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไป
    แล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ใน พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน
    แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่าง
    เช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่ง
    เคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้า เป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่
    เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จ
    เป็นพระอรหันต์





    [​IMG]

    ......................................................................................................................................................
    วัตถุทาน คือสิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง กล่าวกว้างๆ ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวร ซึ่งรวมทั้ง
    เครื่องนุ่งห่มด้วย บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช
    คือยารักษาโรค

    ในโภชนทานสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทายกผู้ให้โภชนะเป็น
    ทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๕ อย่าง คือ ๑. ให้อายุ ๒. ให้วรรณะ คือผิวพรรณ
    ๓. ให้ความสุข คือ สุขกาย สุขใจ ๔. ให้กำลัง คือความแข็งแรงของร่างกาย ๕. ให้ปฏิภาณ คือฉลาดใน
    การตั้งปัญหาและตอบปัญหา

    ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้ ๑๐ อย่างคือ ข้าว น้ำ ผ้า
    ยาน (พาหนะ) ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อยู่ ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ

    ใน กินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่า ให้กำลัง
    การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่า ให้ผิวพรรณ
    การให้ยานพาหนะ ชื่อว่า ให้ความสุขทั้งกายและใจ
    การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา
    การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่า ให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุข และให้ดวงตา

    แต่การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย เพราะบุคคลจะพ้นจากความตาย
    ไม่ต้องเกิดอีกได้ ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

    การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม

    ใน วนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า ชนพวก
    ไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไป
    สวรรค์ ด้วยข้อความว่า
    ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้ สวนผลไม้) ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา) สร้างสะพาน
    และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน บ่อน้ำ บ้านเป็นที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ
    ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

    ซึ่งมีความหมายว่า ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้น เหล่านี้ เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้น
    ในกาลใด ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ คือเพิ่มขึ้น และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม คือกุศลธรรม ๑๐ มีการไม่
    ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์

    นอกจากนั้น เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็น
    มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า

    การงดเว้นจากปาณาติบาต คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวร
    ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์

    การงดเว้นจากอทินนาทาน คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่น
    เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น

    การงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ชื่อว่า ให้ความ
    บริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น

    การงดเว้นจากมุสาวาท คือการกล่าวเท็จ กล่าวไม่จริงชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น

    การงดเว้นจากสุรา เมรัย และของมึนเมา เสพติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่าให้ความ
    ปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
    และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้วย่อมขาดสติ เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติ
    ล่วงศีลได้ทุกข้อ รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็น
    ทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน เป็นทานที่ไม่เจาะจง
    เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ด้วยการรักษาศีล ๕ ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็
    ยิ่งประเสริฐ

    ขอกล่าวถึง ทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดง
    ไว้ใน อสัปปุริสสูตร และ สัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้

    ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่ยำเกรง ๑
    ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยทิ้งขว้าง ๑ ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑

    ส่วน สัตบุรุษ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้โดยยำเกรง ๑ ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยไม่ทิ้ง
    ขว้าง ๑ เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑

    อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑
    ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรง
    ข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ

    ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑

    ๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้
    ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส

    ๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมี
    ประโยชน์ ของสะอาดมีรสดี เป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่งผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่
    พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่
    ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ
    นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า

    การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่า เคารพในผู้รับ ข้อนี้
    มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่
    ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้
    แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่า สังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่
    ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ

    ๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์
    เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราว
    ในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญ
    ในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด
    ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอก
    จากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น

    ๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ

    ๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทาน
    ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัด
    เกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน

    ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้

    ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒

    ๑. ให้ทานโดยศรัทธา ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม และผล
    ของกรรมว่ามีจริงจึงให้ ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อม
    ใส มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล

    ๒. ให้ทานโดยเคารพ คือ ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ นอบน้อม ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์
    มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส และคนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง สนใจสดับรับ
    ฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล

    ๓. ให้ทานตามกาลอันควร ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อม
    เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล คือ เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก
    สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม
    ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว

    กาลทาน หรือทานที่ให้ในกาลอันควรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ใน กาลทานสูตร
    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่ามีอยู่ ๕ อย่าง คือ

    ๑. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จัก
    สถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย
    แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา
    ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ ทำให้ท่านได้รับความ
    สะดวกสบายไม่เดือดร้อน อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน

    ๒. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยัง
    ถิ่นอื่น สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่อง
    อุปโภคบริโภคที่สมควร

    ๓. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน
    แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ เครื่องใช้ข้าวปลาอาหาร
    ในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน

    ๔. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
    ๕. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

    ที่ข้อ ๔ และข้อ ๕ จัดเป็นกาลทาน เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี มิใช่ว่า
    จะมีอยู่เสมอตลอดปี มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่
    ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็น
    ว่า เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ ข้าวแก่อีกนิด
    ก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน แม้ชาวสวนเมื่อ
    ผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง คนที่มิใช่ชาวนาชาวสวน
    บางคน เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค
    นับว่าท่านเหล่านี้ ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา ในข้อ
    กาลทาน

    บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่ และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน แล้วเพิ่ม คิลานทาน
    คือ การให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง ด้วยยา และอาหารเป็นต้น ซึ่งคิลานทาน นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้
    เช่นกัน

    เพราะเหตุที่กาลทาน เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้า
    จึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น
    หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล ก็ได้รับผล ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควร
    ยินดีในการให้ทาน ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย

    ๔. มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้ หมายความว่า สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก ขาด
    แคลนสิ่งใด ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเรา
    ช่วยเหลือเขาแล้ว เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุข
    สบาย ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีต
    ที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    ๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน และ
    ไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ แต่บางคนก็ทำ
    เพียงครั้งละเล็กๆ น้อยๆ ตามฐานะของตน คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น ชอบกล่าววาจาดูถูก
    ผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง

    เพราะอะไร
    เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่ นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน แต่แล้วเราก็กลับทำลาย
    ความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส คือดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่
    เพราะหูนั้นเข้า ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสีย
    ใจก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย คุณงามความดีของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี คือกุศลที่มี
    อยู่ หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็
    ตามทำให้ผู้รับมึนเมา ขาดสติ สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้ อย่างนี้ก็เป็นการ
    ให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีล
    อย่างเรา กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบ
    ตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และโภคทรัพย์นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ
    จากน้ำ จากพระราชา จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ ทานนั้นให้ผล

    นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ





    [​IMG]
    ,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,


    ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย คือเหตุดี ผลต้องดี
    เหตุชั่วผลต้องชั่ว ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว หรือเหตุชั่วแล้วผลดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล สัตบุรุษ
    ท่านทำเหตุ คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดา

    ใน อิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕ พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหน

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส คือจิตเลื่อมใสในที่ใด
    ในบุคคลใด ควรให้ในที่นั้น ในบุคคลนั้น

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก
    พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ให้ในท่านผู้ไม่มีศีล
    หามีผลมากไม่

    เพราะฉะนั้น การให้ทานในที่ใด จึงเป็นอย่างหนึ่ง ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีลทานของท่านย่อมมีผลมาก ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้
    ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น ด้วยจิตผ่องใส
    ยิ่งมีผลมาก

    ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดงว่า ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส และมีศีลก็จริง
    แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ยาจก วณิพก
    เป็นต้นเสีย เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท ปล่อย
    ให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด ก็ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น
    เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น

    พระพุทธองค์ตรัสว่า การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์
    ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทาน
    ในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจงใน


    [​IMG]
    ''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''

    ทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจำแนกอานิสงส์
    ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท คือ

    ๑. ให้ทานแก่ดิรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
    ถึง ๑๐๐ ชาติ
    ๒. ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
    ๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
    ๔. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพุทธศาสนา อย่างพวกนักบวชหรือฤาษี
    ที่ได้ฌานเป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ

    สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดย
    เฉพาะ และมีผลจำกัด ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้ มากน้อย
    ตามลำดับขึ้นอีก ๑๐ ประเภท ดังต่อไปนี้

    ๑. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล
    ๒. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
    ๓. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
    ๔. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
    ๕. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
    ๖. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
    ๗. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
    ๘. ให้ทานแก่พระอรหันต์
    ๙. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
    ๑๐. ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    [​IMG]
    รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท ใน ๑๔ ประเภทนี้
    ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด

    ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งที่เรียกว่า สังฆทาน มี ๗ อย่าง

    ๑. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
    ๒. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
    ๓. ให้ทานในภิกษุสงฆ์
    ๔. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
    ๕. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวน
    เท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
    ๖. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็น
    สงฆ์แก่ข้าพเจ้า
    ๗. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่า
    นี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า

    สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้ ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง คือให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทาน
    ในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้นเพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว

    ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ แม้ในอนาคตกาล
    จักมีแต่ โคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันที่คอ หรือผูกข้อมือ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก พระพุทธองค์
    ก็ยังตรัสว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์
    แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้ ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึง
    แล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่

    แต่ว่าสังฆทาน จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น
    วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือ
    สามเณรที่ไม่ชอบใจ หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ หรือ
    ได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้ ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์ หรือผู้แทนที่
    สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก

    ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียว
    ที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี
    ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า

    กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า
    ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อ
    ภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น
    เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อ
    พระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้น
    อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทาน
    แก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า
    เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่

    การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ
    พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระ
    อนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่
    ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติ
    ตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น
    อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ
    ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำ
    อัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า
    ใน ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔ กล่าวถึง อานิสงส์ของสังฆทานว่า มากกว่า ทานธรรมดา
    ดังนี้

    นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า
    ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี
    ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันด้วย
    ชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า

    นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า
    ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่
    ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพ
    ธิดาประจำสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี

    นางภัททาเทพธิดา ถามต่อไปว่า
    ดูก่อนแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ ๆ
    สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใคร
    เป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและ
    รักษาศีลเช่นไรไว้ ดูก่อนแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลของกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

    นางสุภัททาเทพธิดา ตอบว่า
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป
    ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะ
    บุญกรรมนั้น

    นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า
    พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ
    ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วน
    เธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา ฉันถาม
    เธอแล้ว นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

    นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่าน
    รวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธาน ด้วยภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิด
    ประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่าจงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณา
    ของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่
    เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น เป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก

    นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า
    พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็น
    ผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์

    เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ขั้นนิมมานรดี
    ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร
    มาสนทนากับเธอ มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด

    นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่า
    ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก
    เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ
    ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ

    สมเด็จอมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า
    ดูก่อนนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวาย
    สังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
    ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำ
    บุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก


    [​IMG]
    '''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔
    จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง
    ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภ
    การเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่
    ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยาก
    ที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น

    พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยม
    ในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่
    พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์
    ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็น
    บูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า
    ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ

    ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน
    คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่
    เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์

    จากวิมานวัตถุเรื่องนี้ แสดงชัดว่า สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น มีผลมาก มี
    อานิสงส์มากจริง
    ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย พระคุณ ๙ ประการดังกล่าวมาแล้ว ทาน
    ที่ถวายในท่านเหล่านี้จึงมีผลมาก ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติ
    ไม่ได้ทีเดียว ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วบรรลุแล้วให้ผู้ถวายได้เห็น
    ตามบรรลุตามเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย การหมดจดจากกิเลสนี้เป็น
    อานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและ
    อานิสงส์มากอย่างนี้

    ก็พระคุณ ๙ ประการ ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน
    ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทาน
    แก่ท่าน คือให้ได้รับผลมาก แม้อุทิศให้แก่เปรต เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี ก็ยังพ้นสภาพเปรต
    เป็นเทวดาได้

    ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้น
    ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่

    อุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคล
    บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภค
    สมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด

    ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขา
    ตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด

    ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา
    ตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด

    ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา
    ตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"

    อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ
    เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้า
    ก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาค
    ข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ
    ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐี
    เกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวาย
    อาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน
    ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"

    เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ
    ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง
    น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลย
    ตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว

    อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับ
    มาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คน
    ใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อ
    ละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทาน
    ของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่
    ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา
    เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง
    ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบ
    ทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้
    คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย
    จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียง
    หยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่
    บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

    ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา
    แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้า
    ไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น
    กริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ
    ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่
    ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็ม
    ด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่
    มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละ
    น้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"

    ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของ
    พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ
    ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง

    จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชัก
    ชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด

    เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปราม
    เขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิต
    ก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑

    และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความ
    ตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ คืออานิสงส์ที่แท้
    จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น

    เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด
    จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ มีทานเป็นต้น เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมด
    จดฉันนั้น

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือทานไว้ ๔ อย่าง คือ

    ๑. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกคือผู้รับ
    กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่
    ผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

    ๒. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับ
    เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อ
    กรรมและผลของกรรม

    ๓. ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับ
    เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

    ๔. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มี
    ศีลงาม มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์

    อนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมา
    โดยชอบธรรม มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม
    มีธรรมงาม ปราศจากราคะแล้วทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

    อนึ่งใน ทานานิสังสสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทาน
    ไว้ ๕ อย่างคือ

    ๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
    ๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า
    ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
    ๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว
    ๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด
    ๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

    แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า
    ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ มหาบุรุษ
    หรือพระโพธิสัตว์) สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ
    สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้
    ปรินิพพานในโลกนี้



    [​IMG]

    '''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''


    ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ มีทานเป็นต้น ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะว่า
    เมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย

    ใน ทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้
    ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์
    มาก ไว้ดังต่อไปนี้

    ๑. บุคคลบางคน ให้ทานด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้
    เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลก
    แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี
    เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ
    เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่
    ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี
    แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร
    ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็
    กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี
    ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหา
    กินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ
    เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก
    แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี
    ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ให้ทานเพราะ
    ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว เขาตาย
    ไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความ
    เป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี
    ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะ
    ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ให้ทานเพราะคิดว่า
    เมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้ ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม
    สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทาน
    อย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้
    ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของ
    สมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดใน
    พรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิด
    ในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก
    [​IMG]
    สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิด
    ที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้

    ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์
    มากด้วย เพราะทำให้หมดจดจากกิเลส

    ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก

    จริงอยู่ การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น มีความสุขมาก เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็น
    ทิพย์ ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของเลว เป็น
    ของชาวบ้าน เป็นของชวนให้หลงใหล เป็นของมีสุขน้อย แต่มีโทษมาก เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรง
    แสดงธรรม คือ อนุปุพพิกถา แก่คฤหัสถ์ จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย ผู้ที่ยินดีหลงไหลเพลิด
    เพลินในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้ ผู้ที่จะล่วง
    ทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น

    ด้วยเหตุนั้น ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ขัดเกลาจิตให้อ่อน ให้ควรแก่การเจริญสมถะและ
    วิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงเป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มากแม้สังฆทานที่
    กล่าวว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม ก้าว
    ล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

    พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน ก็ทรงแสดงให้
    พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประ
    โยชน์อย่างยิ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำใจให้เลื่อมใส บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์
    ทั้ง ๓ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง

    ควรหรือไม่ ที่เราจะทำทานชนิดที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก


    ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    ประณีต ก้องสมุทร
    ขอขอบคุณ
    คุณนวชนก โพธิ์เจริญ
    [ ผู้คัดลอก และตรวจทาน ]
    จัดทำเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2545
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 23 พฤษภาคม 2012
  2. ttt2010

    ttt2010 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1,754
    ค่าพลัง:
    +905
    อนุโมทนาสาธุ บุญนี้ ขอยกให้กับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยเทอญ...
    ttt2010 ศิษย์พระอาจารย์บุญยง อภิลาโส ภิกขุ
    _____________________________________________________

    บอกบุญแหล่งทำบุญ
    ท่องวัดและศาสนสถานที่สำนักสงฆ์พรหมรังศรี
    เปิดดวง พิธีกรรมแก้ดวงชะตา (สำนักสงฆ์พรหมรังศรี)
     
  3. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,255
    กราบโมทนา สาธุ ๆ
    กับท่านที่ได้นำพระธรรมมาเผยแผ่
    ด้วยครับ
     
  4. apichartmatiyapak

    apichartmatiyapak Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มกราคม 2012
    โพสต์:
    71
    ค่าพลัง:
    +97
    ขอบุ็คมาร์คกระทู้นี้ไว้หน่อยนะขอรับ มีประโยชน์มากๆเลย

    กราบอนุโมทนา สาธุ.. เช่นกันขอรับ ^^
     
  5. น้อมกราบ

    น้อมกราบ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มกราคม 2012
    โพสต์:
    28
    ค่าพลัง:
    +159
    ขออนุโมทนา ครับ กับ สิ่งดีๆ ทีนำมาเผยแผ่ ขอความสุขจงมีแก่ท่าน
     
  6. Chang_oncb

    Chang_oncb ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    12,276
    ค่าพลัง:
    +80,040
    [​IMG]

    กราบโมทนา สาธุ ท่านผู้มีใจบุญใจกุศล เสียสละเวลาหาบทความ นำบทความที่ดี มีสาระประโยชน์ ให้ผู้อ่านได้ศึกษา อันก่อให้เกิดปัญญาในการพิจารณา เมื่อปัญญาพิจารณาแล้ว จิตจะเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เลือกความถูกต้อง ถือว่าเป็น จาคะ คือการให้และการให้นั้น ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อีกทั้ง ถือว่าการให้นั้น เป็นธรรมทาน เป็นบุญใหญ่ สมดั่งพระธรรมคำสั่งสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพยดา ปรากฏใน ตัณหาวรรค ธรรมบท ว่า “การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง ผู้ใดให้ธรรมะเป็นทาน ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คนทั้งหลาย“ ขอโมทนาสาธุ
     
  7. เทพออระฤทธิ์

    เทพออระฤทธิ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    4,573
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +22,049
    อนุโมทนา สาธุ กับเจ้าของกระทู้ด้วยนะครับ ที่เสียสละเวลาทำกระทู้ดีๆ ให้สมาชิกเว็ปพลังจิตได้ศึกษาธรรมะกัน :cool:


    [​IMG]

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น (เล่ม 7)

    ผลบุญจากธรรมทาน ซึ่งชนะทานทั้งปวง
    เพราะสร้างปัญญาให้เกิด

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. การให้ธรรมเป็นทาน คือ การให้เขาอ่านหรือฟัง หรือดูแล้วเกิดปัญญา เป็นการเพิ่มปัญญาบารมีให้กับตนเองด้วยและกับผู้อื่นด้วย จักทำให้มีปัญญาตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ เข้าถึงพระนิพพานเร็วเข้า

    ๒. อย่าลืมเราให้ทานอันใด เราย่อมได้ทานอันนั้นตอบสนอง จักหวังผลหรือไม่หวังผลตอบแทนก็ตาม แต่กฎของกรรมก็เที่ยงอยู่อย่างนี้แหละ

    ๓. อนึ่ง แม้เรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เจ้าเขียนนั้น การเขียนบรรยายธรรมไว้ใต้ภาพ ก็อย่าให้ย่อมากไปจนเสียใจความของธรรมะ ความใดควรยาวก็ให้ยาวเข้าไว้ ความใดควรสั้นก็สั้นตามนั้น ต้องให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจในธรรมปฏิบัติได้เป็นสำคัญ นั่นแหละจึงจักมีอานิสงส์ที่สมบูรณ์


    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 มิถุนายน 2012
  8. extreme_dgt

    extreme_dgt เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    99
    ค่าพลัง:
    +219
    ทานที่มีผลมาก


    ปัญหา ควรให้ทานแก่บุคคลเช่นไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

    พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือนตระกูลไร ๆ เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้ แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมากองค์ ๕ อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นไฉน กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว องค์ ๕ เหล่านี้อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
    “กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะเป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติ ขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสสนะขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก.....
    “ศีลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญมีอยู่ในชายหนุ่มใด พระราชาผู้มีพระประสงค์ด้วยการยุทธ์ พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มเช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติฉันใด ธรรมคือขันติและโสรัจจะตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้น ผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ แม้มีชาติทรามฉันนั้นเหมือนกัน
    “พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตร ทั้งหลายให้สำนักอยู่ ณ ที่นั้น พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวายข้าวน้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย ด้วยน้ำใจอันผ่องใส เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ มียอดตั้งร้อย กระหึ่มอยู่ยังแผ่นดินให้ชุ่มโชกแล้ว ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็มฉันใด ทายกผู้มีศรัทธาเป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพก ด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ.... ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น”


    อิสสัตถสูตรที่ ๔ ส. สํ. (๔๐๙-๔๑๐)
     
  9. pontook

    pontook เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    250
    ค่าพลัง:
    +976
    ขออนุโมทนาท่านเจ้าของกระทู้นี้ด้วยค่ะ ดีมากๆ ค่ะจะได้รู้ถึงการให้ทานที่มีอานิสงส์มากขอบคุณที่ให้ธรรมทานในครั้งนี้ ขอให้เป็นผู้มีปัญญามากทุกภพทุกชาติเพราะการให้ธรรมทานที่ดีด้วยค่ะ
     
  10. พุืทธวจน000

    พุืทธวจน000 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    259
    ค่าพลัง:
    +1,051
    ...ทานที่มีอนิสงส์มาก ดูพระสูตรนี้ครับ....
    ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็น
    มหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาดถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐
    ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง
    มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนัง
    เสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้
    แม่โคนม๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน
    ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะ
    สีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาด
    เพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย
    เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน
    ไหลไปเหมือนแม่น้ำ ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลาม
    พราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็น
    เวลามพราหมณ์
    เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล
    ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ
    ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อม
    ด้วยทิฐิร้อยทานบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียว
    บริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญ
    ให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
    มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระ
    อนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค ทาน
    ที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียว
    บริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้
    พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทาน
    ที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภคทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
    มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจก
    พุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค ทาน
    ที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระ
    ปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
    มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค การที่บุคคลสร้างวิหาร
    ถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
    บริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่า
    ทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ
    งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มี
    ผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่
    บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส
    สมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ดูกรคฤหบดีทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่าน
    ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคล
    เจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส
    สมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลา
    ลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


    ***นี่คือทานที่มีอนิสงส์มาก ตามคำพระศาสดา
     
  11. Followdream

    Followdream เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2012
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +12,448
    ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

    สาธุ..........สาธุ............สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...