ธัมมิกมหาราช

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 29 พฤศจิกายน 2007.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    นับว่าเป็นบุญของพวกเราชาวไทย ทั้งหลาย ที่ได้มีองค์ประมุขประกอบด้วยธรรมะ เรียกว่าเป็นธัมมิกมหาราช คือ พระราชาผู้ทรงธรรม อย่างแท้จริง ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นประโยชน์แก่ประชาราษฎร์ ทั่วไป ทุกเวลานาทีที่พระองค์จะทรงกระทำได้

    ถ้าเราสำรวจดูพระจริยาวัตรของพระองค์ แล้วก็จะพบว่า ได้ทรงกระทำอะไรอย่างมาก มาย ที่เป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดที่เข้าถึงประชาชนยิ่งไปกว่าพระเจ้าแผ่นดินของเราพระองค์นี้ แม้ในหลวงรัชการที่ ๕ ก็พยายามทรงเข้าถึงประชาชนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเข้าถึงประชาชนแค่บางส่วน แต่ในหลวงองค์ปัจจุบันนี้เข้าถึงประชาชนทุกหนทุกแห่ง แม้คนที่อยู่บนดอยบนภูเขา อยู่ในป่าในดงห่างไกลจากความเจริญ เช่นพวกชาวเขาในจังหวัดภาคเหนือ พวกกระเหรี่ยงในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี พระองค์ก็เสด็จฯไปเยี่ยมเยียนคนเหล่านั้น ผูกมิตรกับคนเหล่านั้น ให้ความอุ่นอกอุ่นใจแก่คนเหล่านั้นตลอดมา จนคนเหล่านั้นเคารพ รักในพระองค์เหมือนกับรักพ่อของตนเอง ก็ว่าได้ อันนี้เป็นพระจริยาวัตรอันน่าเลื่อมใสขององค์พระมหากษัตริย์ของเราที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดมา...

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราพระองค์นี้ ทรงดำเนินชีวิตตามรอยบาทของ พระพุทธเจ้า คือพระองค์อยู่เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ประชาราษฎร์ ไม่ได้อยู่เพื่อความสุขสบายเฉพาะส่วนพระองค์ เพราะพระองค์มีความสำนึกในน้ำพระทัยว่า พระองค์ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้พ้นไปจากความเดือดร้อนทางกายทางใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถประทับนิ่งอยู่ในพระราชวังได้ เสด็จฯไปในที่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทั่วประเทศเขตไทย สถานที่ใดที่ไม่มีใคร เขาไป พระองค์ก็เสด็จฯไป

    แม้ในบางแห่งเราทั้งหลายหวาดวิตกกังวลว่า จะมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่พระองค์ แต่ว่าพระองค์หาทรงหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านั้นไม่ เพราะว่าทรงไปในที่นั้น ด้วยน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยม ไปด้วยความเมตตากรุณา เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเกราะป้องกันพระองค์ คือความมีเมตตากรุณาประจำใจ แล้วเสด็จฯไปแม้ในถิ่นที่มีผู้ก่อการร้ายชุกชุม ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นพิษเป็นภัยกับใครๆ แต่ว่าไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขความ สบายแก่คนทั้งหลาย จึงได้รอดปลอดภัยทุกหนแห่ง อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงน้ำพระทัยว่า มีแต่ความเมตตากรุณาต่อประชาราษฎร์ พระองค์ตั้งพระทัยไว้ว่าจะทำแต่ประโยชน์ทำความสุขแก่ประชาชน เหมือนกับพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมครู ภายหลังได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อประกาศธรรมะ อันเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่มหาชน...

    เราลองนึกดูว่า พระองค์ท่านเหนื่อยขนาดไหน ในประเทศไทยเรานี้อาตมามานั่งมองดูแล้วไม่มีใครเหนื่อยเท่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าถึงท่านเหนื่อยท่านก็ไม่บอกใครว่าท่านเหนื่อย เหลือเกิน ไม่บอกใครให้ทราบว่าหนักใจเหลือเกิน พระขันติธรรมมีอยู่ในน้ำพระทัยเต็มเปี่ยม

    มีคนที่นราธิวาสคนหนึ่ง ชื่อนายอ้วน แกเป็นกำนันเก่า เป็นคนดีอยู่ในศีลในธรรมเรียบร้อยมาก แล้วก็ขยันทำมาหากิน มีสวนเงาะสวนยาง ในหลวงเสด็จฯไปสวนตาคนนี้ นั่งคุยกันใต้ต้นเงาะใหญ่เป็นเวลาตั้งชั่วโมง แกเขียนจดหมายมาเล่าความปลื้มใจให้อาตมาฟัง บอกว่าเจ้าคุณเอ๋ยตั้งแต่เกิดมาเป็นนายอ้วน ไม่มีตอนไหนที่จะดีใจเท่าตอนนี้ ดีใจที่ในหลวง เข้าไปในสวน แล้วไปนั่งไต่ถามความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่น เรื่องอะไรต่ออะไรหลาย เรื่องหลายประการ แกบอกว่าถึงแม้จะตายไปก็ไม่เสียดายแล้วชาตินี้ เพราะว่าได้สนทนากับ ในหลวงแล้ว ปลื้มใจนักหนา ในหลวงเสด็จฯมาถึงบ้านดีใจหนักหนา ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ ตัวแก่สวนแก่บ้านแก่เรือนของเรา

    ในหลวงเสด็จฯไปนราธิวาสขึ้นไปถึงบนบ้านเข้าไปในครัว ไปชะเง้อมองเข้าไปในครัวของ ชาวบ้าน พี่น้องอิสลามดีใจเหลือเกินปลื้มใจคุยกันไม่ขาดปาก ถ้าเจอใครก็ต้องคุยเรื่องในหลวงก่อน ประทับใจ นี่แหละเขาเรียกว่า ทรงใช้สังคหอุบาย

    สังคหอุบายของพระพุทธเจ้ามี 4 อย่าง คือ ทานการให้ ปิยวาจา พูดจาอ่อนหวาน อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สมานัตตา ไม่ถือเนื้อถือตัว

    พระองค์ทรงทำครบ ไปไหนก็ให้ให้ความสุขด้วยการให้ เขาเห็นพระเจ้าแผ่นดินนี่ก็ให้แล้ว ก็ เป็นความสบายใจแล้ว พูดจาอ่อนหวานกับคนเหล่านั้น ทุกคนที่ได้ยินได้ฟังก็ปลื้มใจ แล้วก็ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้นทุกโอกาส นอกจากนั้นแล้วก็ไม่ถือพระองค์ พวกอีก้อบนดอยที่อำเภอแม่จันทน์์คุยว่านี่ในหลวงมานั่งตรงนี้ เก้าอี้เตี้ยๆ แล้วมาซดน้ำชากับเขา เขาว่าอย่างนั้น น้ำชาอีก้อก็ไม่น่ากินอะไร แต่ว่าในหลวงไปเสวยแล้ว แล้วจะไม่ประทับใจอย่างไร อีก้อเหล่านั้นเขาสบายใจ แล้วในหลวงเอาวัวไปให้ไว้ตั้งสิบกว่าตัว ให้ทุกคนช่วยกันเลี้ยงไว้ ก็ ช่วยกันเลี้ยงวัวในหลวงอ้วนท้วนแข็งแรง วัวบ้าง แพะบ้าง แกะบ้าง ก็เอาไปให้ไว้ เอาปลาไปให้เขา ทำบ่อเลี้ยงปลานิล ปลานิลนี่ในหลวงท่านเอามาเลี้ยงมีพันธุ์มากก็เอาไปแจก เดี๋ยวนี้ปลานิลแพร่หลายทั่วประเทศไทย

    น้ำพระทัยเป็นอย่างนี้ เป็นที่ชื่นอกชื่นใจแก่ประชาราษฎร์ผู้ได้ประสบพบเห็นได้เข้าใกล้ ได้สนทนากับพระองค์ นี่เป็นเรื่องที่เรียกว่าเป็นพระมหากรุณาที่ได้เสด็จฯไปหาประชาชนเหล่านั้น

    คุณธรรมของพระเจ้าอยู่หัว เขาเรียกว่าทศพิธราชธรรม มีอยู่ 10 ประการด้วยกัน เอามาสำรวจตรวจสอบแล้ว ในหลวงของเราปฏิบัติครบ ถ้วนทุกประการ ไม่ขาดตกบกพร่อง
    เรื่องแรกเรียกว่า ทานัง หมายถึงการให้ ให้ สิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ผู้อื่น นี่เรียกว่าทาน ในหลวงทรงกระทำสมบูรณ์ เรียบร้อยทุกโอกาสเท่าที่ทรงกระทำได้ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานในเรื่องอาหาร เรื่องเสื้อผ้า เรื่องหยูกยา เรื่องเหย้าเรือนที่อยู่อาศัย

    ศีล เราพิจารณาดูศีลพระเจ้าแผ่นดินท่านสมบูรณ์เรียบร้อย น้ำพระทัยเป็นปกติอยู่ด้วย พระเมตตาพระกรุณา นี่เรียกว่าเป็นศีลอยู่โดยปกติ
    มีการบริจาค คำว่า บริจาคนี้ ไม่ได้หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของ เช่นให้เสื้อผ้าให้หยูกยาให้เงินให้ทอง อย่างนี้เรียกว่าให้ทาน ส่วน จาคะนั้นให้สิ่งที่เป็นกิเลสออกไปจากตัว เช่น ทำลายความเห็นแก่ตัวให้เบาไป ทำลายความตระหนี่ให้เบาไป ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หายไป ขูดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งชั่วร้าย คนที่บำเพ็ญจาคะ เป็นผู้รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว เรียกว่ามีการบำเพ็ญจาคะอยู่ตลอดเวลา พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงบริจาคอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีเรื่องอะไรที่เรียกว่าเป็นการเห็น แก่ตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมทั้งนั้น

    ประการต่อไปเรียกว่า อาชชวะ หมายความว่า เป็นผู้ซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อธรรมะ ซื่อสัตย์ต่อพระรัตนตรัย ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่มีต่อประชาราษฎร์ ได้ทรงปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่อย่างสมบูรณ์เรียบร้อย มีความซื่อสัตย์อยู่ในน้ำพระทัย

    ข้อต่อไปเรียกว่า มัทวะ หมายความว่าเป็นผู้อ่อนโยนอ่อนน้อม ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดื้อไม่ถือดี รับฟังความคิดความเห็นของคนอื่นตลอดเวลา เสด็จฯไปที่ใดก็ไปด้วยน้ำพระทัยอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง เข้าไปหาใครก็เข้าไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้เข้าไปด้วย ฐานะว่า ฉันเป็นราชา ฉันเป็นใหญ่ ฉันเป็นนาย น้ำพระทัยไม่มีลักษณะอย่างนั้น มีแต่ความ สุภาพอ่อนโยนตลอดเวลา ใครได้เห็นแล้วก็สบายใจ

    ข้อต่อไปเรียกว่า ตบะ หมายความว่า บำเพ็ญเพียร เผากิเลส การปฏิบัติหน้าที่นั่นแหละคือการเผาสิ่งชั่วร้ายในน้ำพระทัยให้หายไป มีความเพียรบำเพ็ญกิจตามหน้าที่ไม่ย่นย่อท้อถอย ไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวความกันดารในถิ่นที่จะไป นี่เรียกว่าทรงมีตบะ มีอำนาจมีธรรมะเป็นเดชเป็นสิริมงคลสำหรับพระองค์อยู่ตลอดเวลา อักโกธะ ไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่ริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อใคร ใครทำอะไรก็ไม่โกรธ ในหลวงท่านโกรธใครไม่เป็น

    อวิหิงสา คือไม่เบียดเบียนใคร แล้วก็มีขันติคือความอดทน อวิโรธนะ ไม่มีความขุ่นมัวในน้ำพระทัยแม้แต่น้อย


    นับว่าเป็นบุญเป็นกุศลของพวกเราชาวไทย ที่ได้พบพระประมุขแห่งชาติผู้ประพฤติธรรม เป็นธัมมิกมหาราชด้วยประการฉะนี้

    (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรมวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)


    จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85ธ.ค. 50 โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี

    http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9500000141212
     

แชร์หน้านี้

Loading...