เหตุแห่งความเจริญ (1)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย สังขารไม่เที่ยง, 11 มกราคม 2008.

  1. สังขารไม่เที่ยง

    สังขารไม่เที่ยง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    5,943
    ค่าพลัง:
    +24,697
    เหตุแห่งความเจริญ (1)

    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    ถ้าสังเกตสักนิด จะเห็นว่าวิธีที่จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า ประการแรกที่ไม่ควรมองข้ามคือสิ่งแวดล้อม อันเรียกว่า "ปรโตโฆสะ" เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าทรงเน้นว่า สิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือสิ่งแวดล้อมทางสังคม อันหมายรวมถึงบุคคลที่จะต้องคบหาเสวนา ตลอดจนผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ คือครูบาอาจารย์ เมื่อมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตนแล้วก็ต้องการคุณธรรมอื่นๆ สูงขึ้นตามลำดับ

    เมื่อไม่คบคนพาล (ข้อ 1) คบบัณฑิต (ข้อ 2) ยกย่องคนควรยกย่อง (ข้อ 3) อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (ข้อ 4) สร้างความดีเป็นทุน (ข้อ 5) ตั้งตนในความถูกต้องดีงาม (ข้อ 6) เป็นผู้คงแก่เรียน (ข้อ 7) มีความเป็นเลิศในวิทยาการ (ข้อ 8) มีระเบียบวินัย (ข้อ 9) และรู้จักเจรจาพาที (ข้อ 10)

    (ข้อ 11-14) จากนั้นก็เลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่เฒ่า เลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำงานไม่อากูล

    บิดามารดาถือว่าเป็นผู้มีพระคุณของบุตร-ธิดา เป็นอรหันต์ของลูก เป็นบูรพาจารย์ (อาจารย์คนแรก) ของลูก เป็นผู้แสดงโลกให้แก่ลูกๆ ไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่คุณคลอดออกมาแล้ว ถ้าพ่อแม่เอาขี้เถ่ายัดปาก คุณก็ไม่มีโอกาสลืมตาดูโลกนี้แล้ว เพียงแค่นี้ก็นับว่าเป็นบุญคุณต่อเราแล้ว ลูกที่ดีมีสำนึกจึงต้องตระหนักในบุญคุณของท่าน และพยายามตอบแทนเท่าที่จะทำได้

    การมีเมียมีลูกมิใช่เรื่องยาก แต่การมีเมียดีลูกดีนี่สิมิใช่มีกันได้ทุกคน บางคนก่อร่างสร้างตัวมาแต่เป็นเด็กบ้านนอก เติบโตเป็นอธิบดี อะไรๆ ก็น่าจะลงตัวหมด แต่ไปได้เมียผลาญลูกผลาญหายนะล่มจมก็มี

    พระพุทธเจ้าท่านให้สงเคราะห์ภรรยาด้วยการให้เกียรติยกย่อง ไม่ดูหมิ่น, ไม่นอกใจ, ยกความเป็นใหญ่ในบ้านให้ และซื้อหาเครื่องประดับตกแต่งให้ตามเวลาเหมาะสม

    สอนให้สงเคราะห์บุตรด้วยการกันลูกจากสิ่งที่ชั่ว, ปลูกฝังในทางดี, ให้การศึกษาที่ดี, ตกแต่งภรรยาให้ และมอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงเวลา การงานไม่อากูลคั่งค้าง หมายถึงการทำดี ทำเต็มที่และทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะจับงานอะไรก็ตามตั้งใจทำเต็มความสามารถ ทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้จนงานสำเร็จ เรียกทำงานไม่อากูล ทำงานไม่อากูลอีกความหมายหนึ่งคือทำงานไม่จับจด เช่น ทำงาน ก ได้หน่อยหนึ่งแล้วเบื่อ หันไปจับงาน ข ทำไปได้หน่อยหนึ่งไม่ชอบหันไปจับงาน ค อย่างนี้ผู้ไม่รู้ความจริงอาจทึ่งว่าเขาเก่ง เป็นนักริเริ่มวางแผนเก่ง หามิได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าคนจับจด มีแต่จะอัปมงคล ไม่เป็นมงคล

    (ข้อ 15-18) ทาน ประพฤติธรรม สงเคราะห์ญาติ ทำงานไม่มีโทษ เป็นเหตุแห่งความเจริญข้อต่อไป

    ทาน คือ การให้ ซึ่งรวมถึงการเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้วัตถุสิ่งของ ให้คำแนะนำที่ดีแก่คนอื่น ให้อภัย คือให้ชีวิตแก่คนอื่นสัตว์อื่น เช่น ไม่ยิงนกตกปลา ไม่เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นไม่ว่ารูปแบบใดๆ ทานจึงมิใช่เพียงทำบุญตักบาตรพระ หากรวมถึงพฤติกรรมที่เกื้อกูลสังคมทั้งหลายด้วย

    การประพฤติธรรม ท่านโฟกัสไปที่กุศลกรรมบถ (ทางแห่งความดี) 10 ประการ สรุปลงเป็น 3 มิติ คือ ดีทางกาย ได้แก่ ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนคนอื่น, ไม่ล่วงละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น, ไม่ละเมิดของรักของหวงของผู้อื่น อันนี้พูดในแง่ลบ รวมถึงการกระทำที่เกื้อกูลสังคมไม่เบียดเบียนสังคมทั่วไปด้วย ดีทางวาจา คือไม่พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยงให้คนแตกสามัคคี พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ดีทางใจ คือ ไม่โลภจ้องแต่จะเอาของเขา, ไม่พยาบาทคิดปองร้ายเขา, มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม, ตกลงการประพฤติธรรมที่จะนำความเจริญเต็มที่มาให้นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำดีทั้งกาย วาจา ใจจริงๆ เพราะอย่างนี้นี่เอง คนจึงไม่อยากประพฤติธรรม สู้ประพฤติอธรรมไม่ได้ ง่ายดีเนาะ

    สงเคราะห์ญาติ เขาว่าคนที่ไม่มีญาติก็เสมือนต้นไม้ไร้ใบหรือไร้ดอกผล ญาติที่เกื้อกูลกันทำให้ชีวิตสมบูรณ์ แต่ก็มีบางท่านว่า ญาติที่ไม่เกื้อกูลกัน ไม่มีเสียดีกว่า เพราะฉะนั้น คำว่า "ญาติ" คงไม่ได้หมายถึงเป็นญาติทางสายเลือดเท่านั้น คนอื่นที่ไม่เกี่ยวพันทางสายเลือดแต่มีความเกื้อกูลอุดหนุนกันนับว่าเป็นญาติยิ่งกว่าญาติ มีพุทธวจนะรับรองไว้ว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี = ความคุ้นเคยกันเป็นยิ่งกว่าญาติ ถ้าจะให้ญาติมีความเป็นญาติที่เกื้อกูลกันจริงๆ ก็ต้องรู้จักสงเคราะห์อนุเคราะห์ตามความเหมาะสม

    การงานไม่มีโทษ แปลจากคำว่า "อนวัชชะ" ความหมายก็คืองานที่ไม่น่าตำหนิ พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างงานที่ไม่น่าตำหนิมากมาย อย่างเช่น รักษาศีลอุโบสถ การช่วยเหลืองานสังคม การสร้างสาธารณสถานต่างๆ การปลูกป่าปลูกต้นไม้ ล้วนแต่งานที่ไม่มีโทษทั้งนั้น ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ งานที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดศีลธรรม และงานที่เกื้อกูลแก่สังคมทุกชนิดอยู่ในข่ายนี้

    (ข้อ 19-21) งดเว้นจากบาป งดการดื่มสุราเมรัย ไม่ประมาทในการประพฤติธรรมเป็นเหตุให้เจริญ

    ในโอวาทปาติโมกข์บอกว่า งดเว้นจากบาปทั้งปวง ทำความดีให้พร้อม ทำจิตให้ผ่องแผ้ว เป็นโอวาทของพระพุทธเจ้า ในที่นี้พูดว่า งดเว้นจากบาป ก็คงหมายความเช่นเดียว แต่ก็พูดกว้างๆ

    เอายังงี้ก็แล้วกัน "อาการที่จิตเสีย" คือบาป ดูของใช้สอยเป็นตัวอย่าง ถ้ามันใช้การไม่ได้ เรียกว่าของเสีย จิตใจเราก็เช่นกัน ถ้ามันเสียแล้วจะมีอาการต่างๆ เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจต่ำ ใจร้าย ใจทราม คำเหล่านี้บ่งบอกว่าจิตเสีย อาการจิตเสียนี้แหละคือบาป การกระทำอะไรที่ก่อให้เกิดจิตเสีย การกระทำนั้นแหละคือบาป งดเว้นจากบาปก็คือไม่ทำการอะไรที่ทำให้จิตเสียดังกล่าวข้างต้น

    การดื่มสุราเมรัยสมัยนี้รวมบุหรี่ ยาเสพติดต่างๆ เข้าด้วย ถ้าดื่มพอประมาณก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ดื่มเป็นนิจศีล จนกระทั่งติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด ไม่เจริญแน่นอน

    ไม่ประมาทในธรรม ธรรมก็คือความดีงามทั้งปวง การไม่ประมาทในธรรมนั้นก็คือ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ สร้างสมคุณความดีให้เกิดมีในตน พระอรรถกถาจารย์ท่านเน้นคุณธรรมข้อความพากเพียรว่าเป็นหนึ่งในธรรมที่พูดถึงนี้ อันนี้เข้าใจได้ คนที่มีความเพียร 4 มิติ คือ (1) เพียรระวังไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น (2) เพียรละความไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้ว (3) เพียรพัฒนาความดีที่ยังไม่มี และ (4) เพียรรักษาความดีที่มีอยู่แล้ว ใครทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ประมาทในธรรม

    เหตุแห่งความเจริญ 38 ประการยังไม่จบ แจงมาเพียง 20 ข้อเท่านั้น

    หน้า 29

    http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdPREV4TURFMU1RPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09DMHdNUzB4TVE9PQ==
     
  2. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,130
    อ นุ โ ม ท น า ส า ธุ

    ทางแห่งความเจริญ มงคล ๓๘ ประการ
     
  3. โสภา จาเรือน

    โสภา จาเรือน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    2,013
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,332
    อนุโมทนา...สาธุ

    ตราบใด ภิกษุยังประพฤติธรรมโดยชอบ

    ตราบนั้น โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย
     

แชร์หน้านี้

Loading...