การดำเนินของจิตในแนวปฏิบัติ (๒) พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 12 กันยายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666



    คืนที่แล้วได้พูดถึงเรื่องแรก คือ ทางสงบ แนวสมถะ วันนี้จะเทศน์ถึง 2 ข้อต่อไปคือ จิตดำเนินแนววิปัสสนา กับดำเนินแบบโพธิปักขิยธรรมที่เรียกว่า เดินแบบปัญญา


    ถึงจะเดินแบบวิปัสสนา หรือเดินแบบปัญญาก็ตาม ก็ต้องอาศัยหลักคือความสงบเหมือนกัน ถ้าความสงบไม่มีกำลัง จะเดินวิปัสสนาก็ไม่ตลอด จะเดินปัญญาก็ไม่ไหว ต้องอาศัยความสงบเป็นหลัก คือต้องมีความสงบในเบื้องต้น


    เหตุนั้น ถึงแม้ว่าความสงบเขาจะเรียกว่าโง่ หรือไม่มีความฉลาดก็ช่างเถิด ทำความสงบให้มันมีพลังเต็มที่ เหมือนกับเราอัดลมเข้าลูกโป่ง พออัดลมเข้าเต็มที่แล้ว มันลอยขึ้นไปเอง ถ้าอัดลมยังไม่ทันเต็มที่มันก็ไม่ลอย


    ธรรมะ ถ้าหากว่าไม่มีความสงบ มันก็ไม่มีธรรม ความสงบมีมากพลังก็เต็มที่ คือ สมถะมีพลังเต็มที่แล้ว มันค่อยระเบิดของมันออกมาเอง คือ มันฉายแสงออกมา ให้มีอะไรปรากฏขึ้นมาเป็นแบบต่างๆ


    คำว่า "ฉายแสง" ในที่นี้ อย่าไปคิดว่าแสง คือ แสงสว่าง แสงสว่างมันเป็นภาพนิมิต เช่น ขณะภาวนาเห็นแสงสว่างอยู่ในที่ต่างๆ เป็นดาว หรือ เห็นเป็นดวงสว่างท่ามกลางหน้าอก ฯลฯ อันนั้นไม่ใช่แสงปัญญา อันนั้นเป็นภาพนิมิตเกิดในสมถะ


    นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


    ที่ท่านพูดเช่นนั้น ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องแสง ท่านพูดถึง แสงสว่างของปัญญา คือไปตามรู้ตามเห็นในสิ่งต่าง ๆ เช่น ไปตามรู้เรื่องทุกข์ ดังที่เรามีทุกข์อยู่แล้ว ปรากฏว่าทุกข์อยู่แล้ว แต่หากว่าไม่รู้จักตัวทุกข์ ถ้าหากว่าเรามีความสงบแล้ว จะรู้ทุกข์ขึ้นมาชัดเจน


    หรือหากว่าจะรู้ทุกข์แต่มันก็ไม่ชัด รู้เหมือนคนทั่วๆ ไป ทุกข์จนกระทั่งออกปาก ปรากฏร้องโวยวาย เพราะว่าเมื่อทุกข์แล้วก็ไม่รู้จะแก้ไข มีอย่างเดียวคืออยากตาย อยากหนีให้พ้นจากทุกข์ ตายให้พ้นจากทุกข์นั้น เป็นทำนองนั้นไป รู้ทุกข์อย่างนี้ยังไม่จัดเข้าในพวกรู้ทุกข์ ที่เกิดจากความสงบ เห็นทุกข์แบบนี้ไม่เหมือนรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ในความสงบ รู้ทุกข์แบบนี้เป็นแบบฟุ้งแบบระเบิด ไม่เป็นตนเป็นตัว มันกระจายออกไป


    ถ้าหาก รู้จักทุกข์ แบบที่เข้าถึงสัจจะ ต้องมีความสงบเป็นรากฐาน เห็นตัวทุกข์เฉพาะในตัวของเรา ที่ตัวของเรา แล้วก็เกิดสลดสังเวชในตัวเองที่หลงทุกข์ มัวเมาในกองทุกข์ ติดทุกข์ ยึดทุกข์เข้ามาเป็นอารมณ์ ในลักษณะที่เห็นเช่นนี้ คือว่า มีคนหนึ่งเป็นผู้เห็นทุกข์ ถ้ามีความสงบมันมีหลักอย่างนี้ ผู้ที่ไม่มีความสงบแล้ว มันไม่มีใครเป็นตัวเห็นทุกข์ ตัวเรากับทุกข์เป็นอันเดียวกันไปหมด เหตุนั้นจึงแตกกระจาย ทุกข์ไปถึงไหน ก็แตกกระจายไปถึงนั่น


    ส่วนทุกข์ที่เห็นในความสงบนั้น คือจิตมันสงบแล้ว จึงเห็นทุกข์ที่เกิดอยู่ก่อน เห็นเพราะความสงบ มันมีผู้เห็น แล้วก็อาการที่เห็น แล้วก็ทุกข์ที่เห็น 3 อย่างประกอบกัน นี่เป็นปัญญา ที่เกิดจากความสงบแล้วเห็นทุกข์ มันผิดแผกกันตรงนี้


    เหตุนั้นเห็นแบบนี้ จึงมีหนทางแก้ทุกข์ ไม่มีการอยากจะตายเพื่อให้พ้นจากทุกข์ คือ ขณะที่เห็นนั้นมันพ้นจากทุกข์แล้ว จึงค่อยเห็นได้ ถ้าหากว่าอยู่ในทุกข์ ไม่มีความสงบแล้ว ผู้เห็นทุกข์กับตัวทุกข์ มันเข้าอยู่ในอันเดียวกัน เลยเป็นอันเดียวกัน ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้ เลยอยากตาย อยากหนีพ้นจากทุกข์นั้นพร้อมกัน ทั้งผู้เห็นและตัวทุกข์นั่นเลย เหตุนั้นจึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ไปอยู่ที่ไหนๆ ทุกข์มันก็ตามไปอยู่ที่นั่น


    ถ้าหากมีผู้เห็นแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ จึงว่า ต้องอาศัยความสงบ จึงจะเห็นทุกข์ นั่นเป็นปัญญา มันเข้าไปสอดส่องเห็นชัดถึงจิต


    นอกจากนั้นอีก ที่มันเห็นเหตุที่เกิดทุกข์ นั่นคือว่า เห็นอาการของจิตที่มันเกิดทุกข์ เพราะจิตตัวนี้เข้าไปยึดไปถือในทุกข์อันนั้น ไปหลงยึดถือเอาทุกข์อันนั้นมาเป็นของตัว


    เห็นเรื่องที่มันจะทำให้เกิดทุกข์ด้วย ถ้าหากเราไม่เอามาเป็นของตัว ไม่เอามาเป็นของเราเสียแล้ว ทุกข์อันนั้นมันก็เป็นสักแต่ว่าทุกข์ มันไม่เข้าไปยึดเอามาเป็นของตัว มันไม่เข้าไปอยู่ในทุกข์ เป็นเพียงแต่ว่า เห็นทุกข์เฉยๆ มองเห็นได้ชัดเลยว่าเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์คือตรงนี้ เมื่อไม่ต้องการจะให้เกิดทุกข์ เราก็ไม่เข้าไปยึดไปถือ มันเห็นพร้อมกันเลย ไปเห็นความจริงตรงนั้น


    ในขณะที่เห็นการเกิดทุกข์นั่น พร้อมกันนั่นจะเห็นเป็น อนัตตา พร้อมกันไป คือ ทุกข์นั้นไม่ใช่เรา เป็นอันหนึ่งต่างหาก อนัตตาชัดขึ้นมาก่อนไตรลักษณ์ ที่เกิดนี้ อนัตตา มาก่อน ไม่ใช่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเห็นเป็นอนัตตา แล้วจึงค่อยเป็นทุกข์ แล้วจึงค่อยเป็นอนิจจัง


    ที่เห็นว่า ทุกข์ไม่ใช่เรา มันเป็นอนัตตาตรงนั้นแหละ แล้วก็เห็นชัดในขณะนั้นด้วยว่า ทุกข์นั้นเกิด ดับ ไม่ใช่มั่นคงถาวร เปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา จึงว่า อนัตตา แล้วไปหา ทุกขัง แล้วเป็น อนิจจัง ความรู้เห็นเกิดจากความสงบมันกลับกัน ถ้าหากพูดตามบัญญัติตำราต้องเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ก็ได้เหมือนกัน มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดปัญญา มันต้อง อนัตตา เกิดก่อน ต้องเป็นอย่างนั้น ที่พูดนี่พูดตามแนวปฏิบัติ การที่เห็นเช่นนี้ (ไตรลักษณ์) เรียกว่า ปัญญาวิปัสสนา อันเกิดจากความสงบ


    ปัญญาวิปัสสนา คือ รู้แจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริง วิปัสสนาคือ ความรู้แจ้ง "รู้แจ้ง" ก็หมายความถึง แสงสว่าง แจ้งก็คือสว่างนั่นเอง มันไม่ได้ "รู้" เฉยๆ มัน "รู้แจ้ง" มันสว่าง ท่านจึงว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี แสงสว่างจากอย่างอื่น เช่น แสงไฟ ถ้ามีอะไรมาบังแล้ว แสงนั้นเข้าไม่ถึง


    แต่แสงปัญญาอันนี้มันทะลุปรุโปร่งหมด คือ มันเห็นตัวของเรา มันเห็นตัวสมุทัย ที่เกิดขึ้นในตัวเรา อย่างที่อธิบายมาแล้ว ทุกข์ มันเกิดขึ้นเพราะอย่างนี้ ละสมุทัยได้อย่างนี้ๆ อนัตตา ทุกขัง อนิจจัง เป็นอย่างนี้ๆ ชัดขึ้นมา มันทะลุปรุโปร่งหมด ไม่มีเครื่องปกปิด ใครจะมาโกหกก็ไม่ได้ ไม่ยอมเชื่ออะไรทั้งนั้น ใครจะมาว่าไม่จริงก็ไม่ได้ ใครจะมาปิดป้องกำบังก็ไม่ได้ แม้จะอยู่ในตัวของเรา ก็ไม่มีอะไรจะส่องเข้าไปภายใน เห็นภายในตัวได้เท่าปัญญา ปัญญามันส่องเข้าไปเห็นตัวของเรา


    เมื่อเห็นตัวของเราแล้ว มันเห็นอย่างอื่นทะลุปรุโปร่งไปหมดทุกอย่าง บรรดาขันธ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกอันนี้ ได้แก่ขันธ์ 5 ขันธ์ 4 และขันธ์ 1 ก็เห็นทะลุปรุโปร่งด้วยกันหมด มันเหมือนกันหมด ไม่มีผิด


    ขันธ์ 5 มีรูป มีนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เช่นตัวของเรา มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย


    ขันธ์ 4 มีแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แก่พวกอรูปพรหม


    ขันธ์ 1 ที่ท่านอธิบายไว้ในตำราว่า "พรหมลูกฟัก" นั้น ถ้าหากพูดตามแนวปฏิบัติ คือว่า จิตเข้าไปรวมอยู่นิ่ง แล้วไม่มีความรู้สึก แข็งนิ่งอยู่คนเดียว ไม่มีอะไร ปรากฏอยู่เฉพาะตัวเท่านั้น ใจไม่ทราบหายไปไหน เห็นเฉพาะกาย คือไปถือ "รูปจิต" นั่นแหละเป็นกาย มันไปถือมั่นเหมาะอยู่แต่ในอันนั้น คือรูปจิตไม่ใช่รูปกายนี้ แต่ทางบัญญัติท่านถือเอารูปกาย ก็คิดดูซิว่า เป็นอรูปพรหมแล้ว ทำไมถึงยังจะไปถือ รูป อีกเล่า


    อรูปพรหม ก็แปลว่าไม่มีรูป คราวนี้ขันธ์ 1 มันเลยนั่นไปอีก และจะมีแต่รูป แล้วไม่มีนาม จะใช้ได้หรือ มันไม่สมเหตุสมผล ถ้าสมเหตุสมผลคือว่า รูปจิต เป็นความว่าง ในการภาวนา จิตไปถือเอาความว่าง เอาวิญญาณ ถือเอาความไม่มีเป็นอารมณ์ เป็นภพของอรูปพรหม ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญาตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ท่านแสดงไว้ ไปถือเอาตัวจิต


    คราวนี้เมื่อมันว่างเรื่องเหล่านี้แล้ว มันจึงไปถือเอาความที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวนั่น จิตมีอยู่อันเดียว เลยไปถือเอาอันหนึ่งเดียว คือ รูปจิต นั่นแล้วก็ไม่มีอุบายปัญญาคิดค้นอะไร คือ หยุดอยู่นิ่ง อันนั้นท่านจึงเรียกว่า พรหมลูกฟัก เรียกว่า ขันธ์ 1 มีแต่รูป คือ รูปจิต


    ขันธ์ 5 มีรูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวของเรานี่


    ขันธ์ 4 ไม่มีรูป มีแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ


    ขันธ์ 1 มีแต่รูป คือ รูปจิต


    แล้วอะไรจะดีกว่ากัน ลองคิดดูซิ? 1 ดี หรือว่า 4 ดี หรือว่า 5 ดี ของมากมันก็เป็นของดี มีความรู้กว้างขวาง ถ้าอัน 1 แล้วไม่มีความรู้กว้าง อัน 4 ก็ไม่กว้าง คนเรามันต้องการของมาก มันจึงจะแตกฉานมาก ไม่ใช่อันเดียวแตกฉาน ถ้าอันเดียวแล้วมันไม่แตกฉาน


    แต่ความแตกฉานเกิดขึ้นในที่เดียวนั้น ไปรู้รอบ 5 (ขันธ์ 5) ไปรู้รอบ 6 คือ อายตนะ 6 ไปรู้รอบ 4 คือ อริยสัจจ์ 4 ไปรู้รอบ 12 คือ ปัจจยาการ 12 (ปฏิจจสมุทปบาท) รู้รอบ 37 คือ โพธิปักขิยธรรม มันมารู้ขึ้นในที่อันเดียว


    นี่แหละเรื่อง ปัญญา มันสว่างอย่างนี้ มันสว่างจ้า คือความชัดตามความเป็นจริง ในแสงสว่างทั้งหลายเสมอด้วยแสงสว่างของปัญญาไม่มี แสงไฟแสงฟืน แสงดาวแสงเดือน ไม่ได้ส่องให้เห็นทุกข์เห็นภัยหรอก นอกจากแสงปัญญาแล้วไม่มี จึงเรียกว่า ปัญญาวิปัสสนา รู้แจ้ง รู้จริง รู้ทั้งภายนอกภายใน หรือที่เรียกว่า ทั้งรู้ ทั้งเห็น รู้ด้วยเห็นด้วย มีแต่รู้อย่างเดียวก็ยังใช้ไม่ได้ มีแต่เห็นอย่างเดียวก็ยังใช้ไม่ได้


    เห็นอย่างเดียวไม่รู้คืออย่างไร? คือ เห็นภาพนิมิต อย่างที่อธิบายมาแล้ว ภาพนิมิตที่เกิดจากการทำภาวนาสมาธิ ไปเห็นนรกเห็นสวรรค์ชั้นฟ้า เห็นนางฟ้า เห็นภูตผีปีศาจฯ อันนี้ไม่มีความรู้ มีแต่เห็น เห็นด้วยใจ "ตาใจ" เป็นผู้เห็น ไม่มีความรู้ มันเห็นภาพ แต่หาได้รู้เหตุผลต้นตอของภาพไม่ ว่าเกิดจากอะไร? จึงเรียกว่าไม่มีความรู้ ได้แต่เห็นอย่างเดียว


    มีแต่รู้อย่างเดียวคืออย่างไร? คือ รู้เฉพาะตนเอง เข้าใจเฉพาะตนเอง เช่นว่า เราไปเห็นดวงจิต ผ่องใสสะอาด นุ่มนวล เบาสบาย แวววาว สวยงาม ชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วก็เพลิดเพลิน มัวเมา หลงชอบ รักเพลินอยู่แต่ในสิ่งนั้น นั่นเรียกว่ารู้ด้วยใจ มันรู้ชัดขึ้นมาในที่นั้น รู้ภายในด้วยจิต แต่หาได้เทียบของภายนอกไม่ คือ ไม่ได้เทียบเหตุผล ต้นตอ กับของภายนอก


    ถ้าหากทั้งรู้ทั้งเห็นแล้ว เทียบกันได้เลยทั้งภายในภายนอก เช่น เราเห็นทุกข์ เห็นเป็นอนัตตา เห็นเป็นทุกขัง เห็นเป็นอนิจจัง ไม่มีใครมาค้านสักคน ทั้งภายในก็เห็นเป็นอนัตตาแท้ๆ ทีเดียว ชัดเลยเรียกว่า ญาณทัสนะ ทั้งรู้เห็นตามเป็นจริง แล้วเทียบดูกับภายนอก ภายนอกก็เห็นอยู่ กายของคนมันเปลี่ยนสภาพเรื่อยไป เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นแก่ เป็นชรา ต้องแตกดับเห็นชัดทีเดียว ตรงกันเป๋งไม่มีผิด ใครก็ค้านไม่ได้สักคนเดียว


    รู้ภายในเป็นอย่างนั้น เห็นภายนอกก็เป็นอย่างนั้น เป็น อนิจจังแท้ แปรสภาพไปเรื่อยแท้ทีเดียว ไม่มีใครค้าน เป็น อนัตตา คือว่าไม่ใช่ของเรา เราบอกไม่ได้ บังคับไม่ให้แปรสภาพไม่ได้ การแปรสภาพนั้นแหละเป็นของไม่เที่ยง เป็น อนิจจัง เพราะการแปรสภาพมันยักย้ายไม่คงที่ มันถึงเป็นทุกข์ พูดเรื่องเดียวกันนั่นแหละ


    เมือภายในรู้เห็นด้วยใจชัดแล้ว ส่วนภายนอกก็เป็นสักขีพยาน เป็นไปตามนั้นจริงๆ ต้องรับรองทุกคน จึงว่า ทัสสนะ ทั้งรู้ทั้งเห็นแล้วก็มีสักขีพยานในสิ่งที่รู้เห็น เรียกว่า สัจจธรรม เป็นของจริง นี่เป็นปัญญาวิปัสสนา


    พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรม ความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านก็รู้ความจริงอย่างนี้ ของจริงมีอยู่ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นมาในโลก พระสาวกก็ยังไม่มีขึ้นมาในโลก แต่ผู้คนจะรู้ความจริงอย่างนี้ ต่อเมื่อพระองค์ทรงค้นคว้าด้วย ความวิริยะพากเพียรของพระองค์ จึงไปทรงเห็นชัดขึ้นมาว่า อ้อ! ไม่ใช่มาจากอื่นไกล สัจจธรรม ก็อยู่ในนี้เอง


    แล้วจึงสอนพระสาวกทั้งหลายว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ๆ นา ผู้มีบุญอย่างพระอัญญาโกญธัญญะ ขณะที่ฟังธัมมจักกัปวัตนสูตร (ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนา อริยสัจจ์) ท่านตั้งจิตพิจารณาไปตามกระแสธรรมที่พระองค์ตรัส จิตเลยชัดเจนขึ้นมาว่า อ้อ! มันเป็นจริงอย่างที่พระองค์ตรัสโดยแท้ จิตก็หนักแน่นมั่นคงในสัจจธรรมนั้น เป็นคนแรกที่เป็นพยานให้พระพุทธเจ้าเรียกว่า สาวก คือ ผู้ฟังแล้วเห็นตามรู้ตาม ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นด้วยพระองค์เอง เรียกว่า สัพพัญญู ไม่มีครูอาจารย์สั่งสอน


    ถึงแม้ว่า พระสาวกทั้งหลายจะเห็นชัดด้วยตนเองก็ตาม จะฟังพระองค์ทรงเทศนาแล้วจึงเห็นก็ตาม แต่การเห็นชัดนั้นก็ไม่เหมือนกัน มีระดับต่ำ สูง หยาบ ละเอียด ต่างกัน ไม่เสมอภาคกัน และความเห็นอันนั้นที่ชัดหรือไม่ชัดนั่น ระดับความชัด ต่ำสูงก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครมาวัด วัดด้วยตนเอง เรียกว่า ปัจจัตตัง


    ปัจจัตตัง อันนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าทรงให้ ถึงแม้ว่าจะฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วเกิดความรู้เห็นชัดขึ้นมา แต่ปัจจัตตังที่เกิดไม่ใช่พระองค์ทรงให้ อาศัยพุทธโอวาทเป็นเครื่องกำหนดพิจารณา มันเป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคล วิปัสสนาต้องเป็นอย่างนั้น


    อย่าไปนึกมันจะเป็นวิปัสสนึก ไม่ดี ไปนึกว่าอันนั้นเป็นอนิจจัง อันนั้นเป็นทุกขัง เป็นอนัตตา หรือว่า อันนั้นเป็นอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ อันนั้นเป็น ภังคานุปัสสนาญาณ อันนั้นเป็น ภยตูปัฏฐานญาณ ฯลฯ อย่าไปนึก ถ้ามันไม่ได้เกิดจากจิตอันสงบจากสมถะแล้ว ไม่เป็นวิปัสสนาเลย ถ้าหากเราไปนึก มันก็เป็น วิปัสสนึกเสีย พอหมดจากเรื่องนึก กิเลสมันก็อยู่เท่าเก่า เท่าเดิม


    ถ้าเป็น วิปัสสนา เกิดเองแล้ว กิเลสที่มีอยู่เก่า ความยึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าตน ว่าตัว เรา เขา ต่างๆ มันหายไปไหนไม่ทราบ มันวางเสีย มันเบามันเยือกเย็น จิตใจสว่างแจ่มจ้าภายใน เกิดปิติ ปัสสัทธิ มีความพออกพอใจ ยึดมั่นอันนั้นไว้ภาวนา ไม่ท้อถอยจึงเรียก วิปัสสนา


    มรรค ทีนี้วิปัสสนานี่แหละ ถ้าหากว่ามันดำเนินเข้าไปถึง มรรค คือ เมื่อพิจารณาเห็นชัดเห็นจริงแจ่มแจ้งแล้ว (มันเป็นไปอีกระยะหนึ่ง กว่าจะเข้าไปถึงมรรค) มันทิ้งวิปัสสนาแล้วคราวนี้ เข้าไปอยู่ในที่เดียวของมันต่างหาก เรื่องทั้งหลายไปรวมหมด ชัดอยู่ในที่แห่งเดียวนั่น ไม่ต้องส่งไปพิจารณาตามหมวด ตามกระทู้ ถ้อยคำอะไรต่างๆ เช่น ขันธ์ 5 เป็นอย่างนั้น อายตนะ เป็นอย่างนั้น ธาตุ เป็นอย่างนั้นๆ ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างนั้น ฯลฯ ไม่ต้องไปตามพิจารณาเลย แต่ว่ามาปรากฏอยู่ในที่แห่งเดียวนั่น ชัดเจน


    ญาณทัสสนะ การเห็นทั้งภายนอกภายใน ไม่ต้องพูดถึงละขณะนั้น ตรงนั้น มันไม่มีนอกมีในแล้วคราวนี้ เมื่อไปเห็นตรงนั้นแล้วมันรู้เห็นครอบหมด เรียกว่า มรรค เกิดมรรคอยู่ในที่เดียว


    แต่มันก็ไม่ได้พักอยู่ที่นั่นตลอดไป มันอยู่ในที่เดียวนั้นพักเดียว มันเป็นอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ถอนออกมา ทีหลังมันก็ทำอย่างนี้ไม่ได้อีกเหมือนกัน


    การเดินปัญญา เมื่อจิตถอนออกมาจากมรรค คราวนี้มันเดินปัญญา ตอนมันเดินปัญญานี้ จะยกอะไรขึ้นมา มันก็เรื่องคิดเรื่องพิจารณาทั้งนั้น


    เช่นยก สติปัฏฐาน 4 ขึ้นมาพิจารณาถึงเรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม ในขณะนั้นมันเป็นเรื่องที่น่าคิดน่าค้น น่าพิจารณา น่าตรวจตราจริงๆ กายานุปัสสนา พิจารณากายให้เป็น อสุภะ มันก็ชัด เป็น ธาตุ ก็ชัด พิจารณาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ชัด หรือจะพิจารณา อริยสัจจธรรมทั้ง 4 มันก็ชัด แม้จะพิจารณาในแนว ปฏิจจสมุปบาท มันก็ชัดอยู่ในแนวนี้หมด


    หมวดธรรมทั้งหลาย ที่ท่านแสดงไว้ในที่ต่างๆ จะพิจารณาอะไรมันก็ชัดอยู่ในที่นี้หมด นี่แหละที่ท่านว่า ธรรมทั้งหลาย 84,000 พระธรรมขันธ์อยู่ในที่เดียวก็คือ ตัวนี้อันนี้แหละ ที่ว่า รู้แจ้งแทงตลอดเลย ธรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน การที่ไปตามดูตามศึกษาในคัมภีร์ต่างๆ การเรียนรู้ทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว จะหายสงสัยนั้น หามิได้ พอมารู้ในที่นี้แล้ว หมดสงสัยเลย ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาในที่นี้แล้ว หมดสงสัย


    เหตุนั้น เมื่อเราพิจารณาตรงนี้นั้น ใช้ปัญญาตรวจตราไปตามอาการต่างๆ มันจะไปโดยรอบเอง อย่างเช่น เมื่อเดินปัญญาพิจารณาถึงเรื่อง กาย พอเราพิจารณากายเท่านั้น มันกลายเป็นเรื่อง จิต ไปในตัว คือว่าใครเป็นผู้พิจารณากาย ก็จิตนั่นซิเป็นผู้พิจารณากาย ใครเป็นคนว่า เวทนา ก็จิตน่ะซีเป็นผู้ว่า เวทนาก็เกิดจากกาย กับใจ พอพิจารณา กาย มันเห็น เวทนา ขึ้นที่ในนั้น ความสุขความทุกข์ทั้งหลาย มันก็เกิดจากกายกับใจ นั่นซี ไม่มี กายกับใจ มันจะเกิดความสุข ความทุกข์ได้อย่างไร?


    ท่านบัญญัติว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเรื่องๆ เป็นวรรคเป็นตอนไป ความเป็นจริงอันเดียวกันนั่นเอง แต่ท่านแยกออกเป็น 4 อย่าง เพราะมีอาการ 4 เมื่อพิจารณา กาย ก็เห็นเวทนาไปด้วย เวทนาเกิดขึ้นที่กายกับใจ เมื่อพิจารณา เวทนา มันก็เป็นการพิจารณาจิต มันเห็นจิต เห็นกาย อยู่ในนั้น มันเกิดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เพราะจิตไปยึดไปถือ มันเลยเป็นการพิจารณา กาย เวทนา จิต อยู่ในนั้นพร้อมแล้ว ทั้ง กาย ทั้ง เวทนา ทั้งจิตก็เป็น ธรรม ก็เป็นการพิจารณา ธรรม ไปในตัว


    ทางบัญญัติท่านแยกกันไว้เป็นส่วนหนึ่งๆ ถ้าไม่แยกเป็นอันเดียวกัน ในทางปฏิบัติเห็นในที่เดียวกันเลย พอพิจารณากายก็เห็นเวทนา เห็นจิต พร้อมกันไปเลย


    ถ้าหากใครวิตกขึ้นมาว่า ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้?


    ให้ตั้งจิตใจของเราให้มันแน่วแน่ เพ่งพิจารณาตรวจค้นแล้วจะสนุกเหมือนกัน แบบนี้เรียกว่า เดินปัญญา


    สัมมัปปธาน 4 หากพิจารณาต่อไปถึงเรื่อง การละ การถอน การติด เรียกว่า สัมมัปปธาน 4 ได้แก่ การละบาป การบำเพ็ญบุญ และเจริญบุญไว้ และบาปที่ละแล้วอย่าให้มันเกิดขึ้นมาอีก คือว่า ละบาปแล้วรักษาไว้อย่าทำบาปนั้นอีก บำเพ็ญบุญแล้วพยายามรักษาไว้ อย่าให้บุญสูญไป หมายความว่า พยายามอย่าให้ความดีเสื่อมไป


    เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ละบาปอยู่ในตัว ละความชั่วไปในตัวแล้ว และทำอยู่อย่างนั้น ก็เท่ากับทำความดี และรักษาความดีอยู่ในตัวแล้วเหมือนกัน ก็เป็นอันเดียวกัน แล้วจะเอาอย่างไรกันอีกเล่า? อันส่วนปลีกย่อยนั้น ก็แล้วแต่ใครหรอก แต่หลักมันต้องเป็นอย่างนี้


    พละ 5 ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็อันเดียวกันอีก ศรัทธา ความเชื่อมั่นของเรา เมื่อเราพิจารณาเห็นชัดแจ้งขึ้นมา มันก็เกิดความเชื่อมั่นขึ้นในที่นั้น แน่วแน่แล้วมันก็ไม่ท้อถอย บางคนนั่งภาวนาอยู่ได้ตั้ง 3-4 ชม. มันไม่ใช่ วิริยะ หรืออันนั้น?


    อินทรีย์ 5 สัทธินทรีย์ ความเชื่อเป็นใหญ่ วิริยินทรีย์ ความเพียรเป็นใหญ่ มันก็เป็นใหญ่น่ะสิ มีความขยันไม่ท้อถอย นั่งอยู่ได้ตั้งหลายชั่วโมง มันก็เพียรเป็นใหญ่ ความที่จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในที่เดียว ในอารมณ์อันเดียวก็เป็นสตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มีอยู่ในที่เดียวนั่นครบหมดเลย พิจารณาดูเถิด พละ 5 เมื่อมันเป็นใหญ่แล้ว มันก็เป็นกำลัง ดังนั้น พละ 5 อนิทรีย์ 5 เมื่อมันเป็นใหญ่แล้ว มันก็เป็นอันเดียวกัน


    อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็อยู่ในอันเดียวกันนั้น ทำนองเดียวกันกับที่อธิบายไปแล้ว


    โพชฌงค์ 7 สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา มีอยู่ในที่เดียวกันนั่น พิจารณาดูเถิด


    อัฏฐังคิกมรรค หรือ มรรคมีองค์ 8 มีสัมมทิฏฐิ เป็นต้น มันก็อยู่ในอันเดียวกันนั่น มีพร้อมกันหมดเลย


    ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้ว มันเป็นอย่างนั้น พิจารณาธรรมะข้อใดมันชัดแจ้งอยู่ในที่เดียวนั่น มันไม่ได้ส่งออกไปภายนอก ถ้าหากส่งออกไปหยิบอันโน้นอันนี้แล้ว นั่นยังไม่ถูกทาง ถ้าเราจับจุดตรงนี้ได้แล้ว เรียกว่า เดินปัญญา ปัญญาอันนี้ท่านเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม หมายความถึงว่า การพิจารณาธรรมแบบนี้ เป็นคล้ายกันกับว่า นกที่บินไปในอากาศ มันบินไปข้างหน้า นกเวลาบิน มันบินไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่ได้บินกลับหลังหรอก


    ผู้ที่พิจารณาเช่นนี้ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เจริญงอกงามในด้านปัญญา จิตใจสว่างเบิกบานแจ่มจ้า ปัญญาเจริญโดยลำดับๆ มีถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง คือ พ้นจากทุกข์


    ที่ท่านว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรม 37 ประการ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 รวมเป็น 37 แล้วคิดค้นพิจารณาเหมือนที่อธิบายมานี้ เป็นการตรวจตราพิจารณาธรรมแบบ เดินปัญญา เป็นเหมือนอย่างนก ที่บินไปข้างหน้าในอากาศ มีหวังที่จะถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความพ้นจากทุกข์


    นี่พูดถึงเรื่อง วิปัสสนา กับ วิธีเดินปัญญา มันแฝงกันอยู่อย่างนี้ บางทีเราเดินวิปัสสนา เดินไป เดินไป มันรวมลงในที่เดียวเป็น มัคคสมังคี พอมันถึงมัคคสมังคี จิตรวมลงไปพักอยู่พักหนึ่งออกจากมัคคสมังคี แล้วก็เดินปัญญา


    จิตจะดำเนินแบบใดก็ตาม จะเข้าไปรวมแบบใดก็ช่างเถิด แต่ขอให้เข้าใจหลักตามนี้ เวลาจิตดำเนินไป มันไปเองของมันหรอก เราไม่ได้ตั้งใจจะให้มันเป็นแบบนี้ แบบโน้น แต่มันเป็นไปของมันเอง ให้เข้าใจหลักเอาไว้ก็แล้วกัน อยากจะให้นักปฏิบัติเข้าใจถึงสิ่งที่มันเป็นไปเอง ไม่ใช่แต่งเอา ถ้าแต่งแล้วผิดไม่ใช่หนทาง ในทางปฏิบัติจิตมันดำเนินไปแล้ว การปฏิบัติมันเป็นไปแล้ว เราจึงค่อยมาตามรู้เท่าทีหลัง ว่ามันเป็นอย่างนั้น ๆ เราไปตามรู้เรื่องของมัน ก็เพื่อไม่ให้มันเดินแหวกจากทาง ให้มันเดินตรงแน่วไป


    ที่ว่า "มันแหวกจากทาง" เช่นว่า จะเดินสมถะ พิจารณาอสุภะกัมมัฏฐานอยู่ หรือบริกรรม พุทโธ พุทโธอยู่ กำหนดอยู่เพียงประเดี๋ยวเดียว มันก็ไปทางอื่นเสียแล้ว วิ่งไปเอาอย่างอื่น ไปเอาอานาปานสติ ไปเอาพิจารณาธาตุ ฯลฯ เรียกว่ามันแหวกแนว


    หรือหากว่าเราจะ เดินปัญญา พิจารณากายคตาสติปัฏฐานหรือพิจารณาสติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นต้น พิจารณาไปประเดี๋ยวเดียวมันก็ไม่เอาเสียแล้ว มันไม่อยู่ที่สติปัฏฐาน 4 แล้ว มันวิ่งไปเอาอรหังสัมมา ไปเอาพุทโธ ไปเอาอย่างอื่นๆ นี่รียกว่ามันแหวกแนว มันไม่เข้าทาง


    เหตุนั้น เราจึงต้องตั้งสติประคองจิตของเรา ให้มันเดินตามแนวนี้ มันจะเดินสมถะ หรือจะเดินวิปัสสนา หรือจะเดินปัญญา ก็ตาม ให้มันเดินตามแนวที่อธิบายมานี้ ให้รู้ว่า อ้อ! อันนี้จิตมันเดินปัญญานะ อันนี้เดินสมถะ อันนี้เดินวิปัสสนานะ เข้าใจตามเป็นจริงแล้วก็พอ เปรียบเหมือนกันกับเรื่องทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายเรามีอยู่ตามเป็นจริง แต่เราไม่เข้าใจทุกข์ เมื่อไม่เข้าใจทุกข์เลย เป็นคนหลงเสีย ไปมัวเมาในกองทุกข์ เลยไม่เห็นทุกข์


    เช่นเดียวกัน อันนี้ ธรรม มีอยู่ เมื่อจิตของเราไม่เดินตามธรรม เราก็เลยไม่เห็นธรรม หรือว่าเมื่อเดินไปตามธรรม แต่เราไม่เข้าใจถึงว่าจิตเดินตามทางธรรม มันก็เลยไม่รู้เรื่องของธรรม ไม่รู้ว่าจิตเดินแบบไหน


    จึงว่าให้เห็นตามเป็นจริงแล้วก็พอ อย่าไปแต่งมัน จะไปแต่งให้ทุกข์เป็นสุขก็ไม่ได้ จะไปแต่งสมุทัยให้เป็นทุกข์ก็ไม่ได้ หรือจะไปแต่งอนิจจัง ให้เป็นอนัตตาก็ไม่ได้ หรือแต่งมันก็ไม่ถูก


    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมีอยู่แล้ว เมื่อจิตเข้าถึงไปเห็นในที่อันเดียวตรงนั้นแล้ว เห็นชัดตามเป็นจริง ทีนี้ความเห็นไม่กลับมาแล้ว มันเป็นอย่างไรก็เห็นชัดตามเรื่องที่เป็นจริงของมัน ก็เรียกว่า เห็นชัด เห็นแจ้ง เห็นจริง เท่านั้น


    วันนี้ประมวลรวมเรื่อง การดำเนินของจิตในแนวปฏิบัติ 3 ข้อ คือ สมถะแบบ 1 วิปัสสนา อีกแบบ 1 แล้วก็ปัญญาอีกแบบ 1


    ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ทั้งปัญญา อาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติ จิตจะเดินแบบใดก็ช่าง แต่เราเป็นคนไปตามรู้ตามเห็น เข้าใจเรื่องของมันแล้วก็พอ เราอย่าไปแต่งมัน ให้มันเดินไปตามทางตามเรื่องของมัน ถ้าไปแต่งมันแล้ว มันผิดแผกแหวกแนวใช้ไม่ได้


    พากันจำอันนี้ไว้ให้มั่นคง แล้วดำเนินต่อไป จะได้รู้ความเป็นจริงด้วยตนเอง และมีหลักฐานมั่นคงในการที่จะดำเนิน ในทางที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป


    เท่านี้ละ เอวํฯ


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thes/misc-71.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 กันยายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...