การเดินจงกรม โดยใช้หลักวิชาธาตุ ๔

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย เพียรละ, 26 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. เพียรละ

    เพียรละ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กุมภาพันธ์ 2013
    โพสต์:
    16
    ค่าพลัง:
    +148
    การเดินจงกรม
    โดยใช้หลักวิชาธาตุ ๔


    โดย พระอาจารย์อารยะวังโส ภิกขุ

    วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน



    การเดินจงกรม สามารถช่วยคลายเวทนาจากการนั่งสมาธินาน ๆ ให้ลดน้อยลง และยังทำให้สมาธินั้นมีกำลังเข้มแข็งมากขึ้น จึงเหมาะสำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหา ซึ่งมักจะปวดหัวเข่าเสมอ ๆ ทำให้ไม่สามารถนั่งสมาธิได้นาน

    ทางสำหรับเดินจงกรมนี้ ควรจะเป็นทางตรงและเรียบ ๆ ที่มีความกว้างประมาณ 80-100 เซ็นติเมตร และมีความยาวประมาณ 23-24 ก้าว เพราะถ้าหากระยะทางสั้นเกินไป จะทำให้เกิดการเวียนศีรษะและไม่ได้สมาธิแต่ถ้าหากระยะทางยาวเกินไป ก็จะทำให้สมาธิไม่ตั้งมั่น

    ดังนั้น จึงไม่ควรเดินจงกรมบนทางที่กว้างมากเกินไป เช่นเดินบนถนน เพราะจะไม่ได้สมาธิ และควรทำเครื่องหมายที่ตำแหน่งของหัวและท้ายของทางเดินจงกรม เอาไว้อย่างชัดเจน โดยที่พระป่าจะนิยมจุดเทียนไขและปักเทียนไขเอาไว้เป็นเครื่องหมาย

    การเดินจงกรมนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

    - ระยะที่ 1 ให้ยืนพนมมือแล้วสวดมนต์ด้วยบท "อิติปิโส ภควา..." โดยให้สวดมนต์อย่างช้าๆจนจบแล้วให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ

    จากนั้น จึงหลับตาลงและอธิษฐานในใจว่า

    "ข้าพเจ้า ขอตั้งจิตอธิฐานในการประกอบความเพียร โดยการเดินจงกรมในครั้งนี้เป็นระยะเวลานาน 30 นาที 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นพุทธบูชา"

    ซึ่งจะต้องระมัดระวังอย่าให้เสียสัจจะวาจา ตามที่ได้อธิษฐานไว้

    เสร็จแล้ว ให้ยืนตัวตรง มองทอดสายตาต่ำไปยังทางเบื้องหน้า ไม่ก้มหน้าและสำรวมสายตา โดยมองให้ห่างจากปลายเท้าไปประมาณ 1.5 เมตร และมองเพ่งดูอยู่เพียงจุดเดียว ยกฝ่ามือข้างขวาขึ้นมาวางปิดไว้ที่เหนือสะดือ แล้วฝ่ามือข้างซ้ายขึ้นมาวางทับที่ฝ่ามือข้างขวา โดยระวังอย่าให้แขนห้อยลงต่ำเกินไป
    เมื่อพร้อมแล้วจึงเริ่มเดิน การเดินให้เริ่มโดยใช้เท้าขวาก้าวเดินก่อนทุกครั้ง ซึ่งการเดินในระยะที่ 1 นี้ ให้เดินอย่างช้า ๆ พร้อมกับการบริกรรมประกอบการเดินว่า " ไฟส่ง ลมขับ น้ำวาง ดินแนบแน่น " การเดินนี้จะประกอบด้วย 4 อิริยาบท คือ

    1. เมื่อจะเคลื่อนตัว โดยจะยกส้นเท้าขวาขึ้นมาก่อน พร้อมกับการบริกรรมในใจว่า "ไฟส่ง "

    2. พอยกเท้าขวาลอยขี้นมาจากพื้น และเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ให้ยกเท้าขวาค้างเอาไว้ชั่วขณะและบริกรรมในใจว่า "ลมขับ"

    3. ค่อย ๆ ลดเท้าขวาลง จนปลายเท้าเริ่มจะแตะพื้นข้างหน้าเบา ๆ ก็บริกรรมในใจว่า "น้ำวาง"

    4. ค่อย ๆ เคลื่อนกายไปข้างหน้า และเมื่อถ่ายน้ำหนักตัวลงไปที่เท้าข้างขวาจนเต็มที่แล้ว ก็บริกรรมในใจว่า "ดินแนบแน่น"
    โดยที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างจะวางราบติดอยู่กับพื้น

    ต่อไปให้กำหนดยกส้นเท้าซ้าย ซึ่งจะมี 4 อิริยาบทเช่นเดียวกันกับการยกสันเท้าขวา และตลอดทั้งการบริกรรมในใจด้วย
    ก้าวต่อไปทีละก้าวอย่างช้า ๆ จนสุดทางเดินจงกรม ตามที่กำหนดเอาไว้แล้ว ก็ค่อย ๆ หมุนตัวกลับ ถนัดหมุนด้านใด ก็ให้หมุนไปด้านนั้นตลอด เดินบริกรรมในระยะที่ 1 นี้ เป็นเวลาประมาณ 30-40 นาที จนสามารถเดินบริกรรมภาวนาได้คล่องแล้ว จึงต่อไปยังระยะที่ 2

    - ระยะที่ 2 ขณะที่เดินจงกรม ให้กำหนดจิตสอดส่องไปดูอาการของธาตุประกอบกับคำบริกรรม โดยให้มีสติหรือจิตตามรู้อาการของธาตุในร่างกาย เช่น การยกส้นเท้าขึ้นนั้น ไฟส่ง ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่น โดยจะร้อนที่บริเวณสะโพกหรือที่เอ็นร้อยหวาย ลมขับ ก็จะทำให้มีความรู้สึกว่าเท้าเบา น้ำวาง ก็จะทำให้มีความรู้สึกที่ใต้ฝ่าเท้าไหวตึงหรือชุ่มชื้น ดินแนบแน่น ก็จะทำให้มีความรู้สึกว่าแข็งหรือแน่นหนัก เป็นต้น

    - ระยะที่ 3 ให้หยุดเดิน ยืนและพิจารณาธาตุ 4 ที่ตำแหน่งหัวและท้ายของทางเดินจงกรม คือ ก่อนที่จะหมุนตัวกลับ โดยให้เอาความรู้สึกไปไว้ที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ที่จะถูกกดทับให้แนบแน่นกับพื้นด้วยธาตุดิน ให้พิจารณาตามอาการของธาตุในร่างกาย จนจิตสามารถพิจารณาร่างกายของเราได้ว่า ร่างกายทั้งหมดนี้ล้วนประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 มาประชุมกัน การหยุดเดินนี้ ไม่มีการกำหนดตายตัวเจาะจงลงไปว่า จะให้ยืนพิจารณาอยู่นานสักเท่าใด โดยให้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล

    -ระยะที่ 4 ให้ละทิ้งคำบริกรรมทั้งหมด โดยจับความรู้สึกอยู่กับอาการของธาตุ ที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว ซึ่งยังจะเป็นการเดินช้า ๆ อยู่ในจังหวะเดิม

    -ระยะที่ 5 ในการเดินจงกรมเที่ยวสุดท้าย ให้ใช้คำภาวนาอัฎฐะกัมมัฎฐานแทน โดยยึดเอาคำบริกรรมเพียง 8 คำ ในทุก ๆ ย่างก้าว ซึ่งจะบริกรรมในใจว่า " เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มังสัง นะหารู อัฐิ " ด้วยวิธีอนุโลมและปฏิโลม คือ การท่องกลับไปกลับมา ซึ่งจะบริกรรมทวนกลับมาว่า "อัฐิ นะหารู มังสัง ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา" หรือถ้าหากท่องบริกรรมได้ไม่คล่อง ก็ให้ลดคำบริกรรมลงมาเหลือเพียง 5 คำ ก็ได้ คือ " เกษา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ " และบริกรรมทวนกลับมาว่า " ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกษา " ส่วนการเดินนั้น ให้ก้าวย่างไปตามปรกติ

    -ระยะที่ 6 เมื่อเดินกลับมาจนสุดท้ายของทางเดินจงกรมแล้ว ให้ยืนพนมมือและหลับตาลงเพื่ออธิษฐานแผ่เมตตา แล้วรีบไปทำการนั่งสมาธิต่อทันที โดยที่สำหรับจะนั่งสมาธิต่อไปนั้น ไม่ควรอยู่ห่างจากทางที่เดินจงกรมมากนัก

    ตามปรกติแล้วพระป่ามักจะถือปฏิบัติ โดยการเดินจงกรมครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจะนั่งเจริญสมาธิต่อไปทันที เพราะสมาธิจากการเดินจงกรมจะสามารถตั้งอยู่ได้นาน จึงทำให้การนั่งเข้าสมาธิได้รวดเร็วยิ่งขึ้น.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กุมภาพันธ์ 2013

แชร์หน้านี้

Loading...