การให้ผลของกรรม ดีหรือชั่ว -------------------------------------------------------------------------------- การให้ผลของกรรม บางคนก็สงสัยของผลแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เหตุผลเป็นอย่างไร....เชิญอ่าน บทความ เทศนาของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี แล้วท่านจะเข้าใจ ในเหตุผลต่างๆ ที่คาใจ (หนังสือ ทางสายเอก) การให้ผลของกรรม การให้ผลของกรรมมีสองชั้นคือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาเป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่า ถูกหลักความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก.โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก.ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก.ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก.ก็จะได้บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงนั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีกคือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฏฐธัมมเวทนียะกรรม กรรมบางอย่างจะให้ผลในชาติหน้าเรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจะให้ผลในชาติต่อๆ ไปเรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่ พอหว่านเมล็ดลงไปในดินแล้ว พืชหรือต้นไม้จะขึ้นหรือให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปี ๆ เช่น ข้าวเพียง ๔-๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียนกว่าจะให้ผล ก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนาอาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่ คนที่ไม่เชื่อในเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดาเป็นผู้มีสายตามืดมัวไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้น ศีลธรรม บุคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่อง ตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาติเดียวก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่า ตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องของกรรมว่าเป็นคนโง่งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนกินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็ยังคิดว่า ขนมนั้นอร่อยสมตามพุทธภาษิตที่ว่า มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นนําผึ้งตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจและการให้ผลทางวัตถุ การให้ผลทางจิตใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็จะได้ผลทันที คือเมื่อทำกรรมดีก็จะได้รับ ความสุข ความปิติ แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะทำให้ จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นจะทำให้ได้ดี ยากมาก คนทำดีจะให้ได้ดีทางวัตถุต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ ๑. คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่ ๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล ๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา ๔. ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ การที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญแต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการ ข้างต้นคือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแต่เจ้านายของเรา เป็นคนคอร์รัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำความดีกับบุคคลเหล่านี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหินหรือพื้นดินที่แห้งแล้ง ฉะนั้นการทำความดีเราควรจะหวังผลในด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือทำดีเพียงเล็กน้อยก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่า ทำดีทำไมไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดนำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชไดผล ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่วในทางโลกและทางธรรมมีความหมายแตกต่างกัน ในทางโลกมักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายถึงว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่น ได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนาหรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่า ไม่ได้ดี ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวของเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเรา สะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึง การทำให้จิตใจตําลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีหมายถึง ความดี คำว่าได้ชั่วหมายถึง ความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น บุคคลที่ทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญ ตักบาตร ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปิติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่เป็นกุศลจริงๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ทำด้วยความโลภหรืออกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน http://larnbuddhism.net/milintapanha/milin04_index.html