ความรุ่งเรืองและความเสื่อมพระพุทธศาสนาในอินเดีย

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 13 กันยายน 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ชมพูทวีป ดินแดนเกิดพระพุทธศาสนา แต่คนที่นับถือหายไปจากทวีปนี้เกือบหมดนานนับพันปี ที่เหลือกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าในดินแดนที่เรียกว่าอินเดีย หรือปากีสถานในปัจจุบัน....

    เรื่องพระพุทธศาสนาในปากีสถานที่ผมเขียนมาเป็นตอนๆ ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา เน้นเรื่องพระพุทธรูปศิลปะคันธาระในประเทศปากีสถานเป็นหลัก ในตอนนี้จะเขียนเรื่องความเจริญ ความเสื่อมและอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ที่ Peter Moss เขียนใน Oxford History for Pakistan ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจเช่นเดียวกับข้อความบางตอนที่ พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) เขียนในหนังสือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย ว่าด้วยความเสื่อมพุทธศาสนา ก็มีประเด็นน่าสนใจไม่แพ้กัน จึงนำมาถ่ายทอดไว้ด้วย
    Peter Moss เขียนใน Oxford History for Pakistan ว่า
    พระพุทธศาสนาเริ่มต้นในอินเดียด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเผยแผ่ไปอย่างเชื่องช้าจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 269-232) ที่เป็นผู้ปกครองอาณาจักรเมารยะ พระพุทธศาสนาจึงได้ครอบคลุมอนุทวีปเป็นส่วนมาก และเป็นประเพณีของพระมหากษัตริย์ที่นับถือศาสนาอะไรแล้ว จะอนุญาตให้ประชาชนนับถือศาสนานั้นได้อย่างเสรี พระองค์ทรงกระทำเป็นตัวอย่าง และด้วยระบบสวัสดิการสังคมที่พระองค์ตั้งในอาณาจักร ทำให้พุทธศาสนิกชนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว พระองค์ได้ส่งพระธรรมทูตไปทั่วประเทศและศรีลังกา รวมทั้งส่งไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความพยายามให้เปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่เริ่ม ค.ศ. 500

    พระสงฆ์และวัดวาอาราม
    พระสงฆ์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของศาสนา ท่านท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ เมื่อพักอยู่ในวัดต่างๆ ได้ปฏิบัติสมาธิ เขียนตำรา และช่วยเหลือประชาชนด้วยการสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน ขุดบ่อ ปลูกต้นไม้ และช่วยเหลือประชาชนทั่วไป
    [​IMG]
    ปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนาสูญไปจากอินเดีย

    แต่หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคต พระสงฆ์แตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก (หินยาน) เคร่งครัดมาก เชื่อว่าการขับร้องและการบันเทิงต่างๆ ผิดวินัย เพราะไปแทรกเป้าหมายสำคัญของการบวชนั่นคือการบรรลุพระนิพพานที่พระเท่านั้นอาจบรรลุพระนิพพานได้ ส่วนฆราวาสจะต้องบวชจึงจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

    กลุ่มที่ 2 คือมหายาน เคร่งครัดวินัยน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่พยายามเป็นพุทธด้วยตัวเขาเอง พยายามช่วยเหลือมวลมนุษยชาติให้มีความสุขและบรรลุพระนิพพานให้ได้ก่อน มหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้า (God) ส่วนหินยาน เชื่อว่าพระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์

    พระพุทธศาสนาแตกแยกและความเสื่อม
    การสังคายนาที่เมืองปัตนะ (อินเดีย) ใน พ.ศ. 250 พระสงฆ์แตกแยก หินยานมุ่งลงใต้ มหายานมุ่งตะวันออกเฉียงเหนือที่พวกเขาได้ติดต่อกับอารยธรรมกรีกแบกเตรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นคันธาระ

    พระพุทธศาสนาเสื่อมลง ในขณะที่ฮินดูเข้มแข็งขึ้น เพราะคนในวรรณะชั้นสูง ไม่ชอบแนวคิดเรื่องสันติภาพและเสมอภาคของพระพุทธเจ้า ในขณะที่พระสงฆ์ส่วนมากสนใจแต่การสวดมนต์และธรรมสากัจฉาด้านศาสนามากกว่าสนใจประชาชน วัดวาอารามหลายแห่งร่ำรวยขึ้นจากที่ดินและทรัพย์สินที่พุทธศาสนิกชนถวาย พระสงฆ์เองก็สนใจแต่เรื่องทางโลก และได้ละทิ้งการปฏิบัติธรรม

    นอกจากนั้น การบุกรุกรานโดยชาวฮั่นจากเอเชียกลางและแม่ทัพท้องถิ่นอินเดียที่เห็นวัดร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง ขณะที่จำนวนพุทธศาสนิกชนลดลงอย่างมากมาย พร้อมกับการที่กองทัพมุสลิมจากภาคเหนือของอินเดียบุกรุกเข้ามาในต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ได้ปิดฉากชะตากรรมของพุทธศาสนาสิ้นเชิง เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทาได้ถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1200 (พ.ศ. 1743)

    การขยายตัวของพุทธศาสนา

    [​IMG]

    ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะได้สูญหายจากอินเดีย ยกเว้นบางพื้นที่ในเนปาล พระธรรมทูตก็ได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนายังภาคต่างๆ ของเอเชียเพื่อชักชวนให้ประชาชนเปลี่ยนศาสนา เริ่มจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พระสงฆ์ได้เดินทางเข้าสู่เอเชียกลางที่ครั้งหนึ่งพุทธศาสนาเข้มแข็งมากได้เข้าสู่จีน มีพระสงฆ์จีนและนักปราชญ์ต่างเดินทางเข้าไปเยือนอินเดียก่อน ค.ศ. 400 เพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และกลับจีนพร้อมด้วยคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูปมากมาย อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศจีนกลายมาเป็นประเทศที่นับถือพุทธอย่างเข้มแข็ง

    จากจีนพุทธศาสนาได้ผ่านเข้าสู่เกาหลีและญี่ปุ่นและยังคงมีอิทธิพลจนทุกวันนี้
    พุทธศตวรรษที่ 7-11 คณะธรรมทูตและพ่อค้าได้นำพุทธศาสนาหินยานเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา กลายเป็นศาสนาหลักที่ในประเทศนั้นๆ รวมทั้งเคยเป็นที่นับถือเข้มแข็งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยศาสนาอิสลาม

    บ่อยครั้งพุทธศาสนาได้ปรับตัวเข้ากับประเพณีวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ปฏิบัติกันอยู่ อย่างเช่นสถาปัตยกรรมของวัด และบางครั้งเทพเจ้าพื้นเมืองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของชาวพุทธไป แม้ว่าวัด แท่นที่บูชา เทศกาลต่างๆ ในประเทศที่นับถือพุทธเช่นญี่ปุ่นและพม่า จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญยังเหมือนกัน

    พุทธศาสนาแพร่หลายทั่วเอเชีย
    พระสงฆ์และพ่อค้าได้เดินทางตามเส้นทางสายไหมผ่านเอเชียกลางไปยังจีน เริ่มจาก ค.ศ. 200 พุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่สำคัญ (ในเส้นทางที่ผ่าน) ระหว่างศตวรรษที่ 7-10

    ประเทศจีนไม่เหมือนพม่า ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่ยอมรับนับถือพุทธทั้งหมด แต่นับถือเพราะเห็นว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายอย่างมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดคำสอนของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของตน อย่างเช่นขงจื๊อและเล่าจื๊อ

    มีความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างกันของชาวพุทธในประเทศจีน คือเรื่อง ฌาน (Ch’an) ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในญี่ปุ่นว่า เซน (Zen) จากจีนพุทธศาสนาเข้าสู่เกาหลี และเข้าสู่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6-7 ซึ่งยังคงมีความสำคัญในสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน

    ผลกระทบหลายอย่างของพุทธศาสนาในจีน
    เมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่จีนก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญในจีนคือการพัฒนาไปสู่การพิมพ์ ทั้งนี้เมื่อประชาชนจำนวนมากต้องการบทสวดมนต์ และศึกษางานของขงจื๊อ แต่ว่าสมัยนั้นหนังสือทั้งหมดเขียนด้วยลายมืออย่างช้าๆ (จึงไม่ทันใจ)

    [​IMG]
    พอตกมาถึงศตวรรษที่ 9 หลังคริสตกาล ชาวจีนได้ค้นพบว่าการแกะภาพวาด และคำทั้งหมดลงบนแผ่นไม้ ทำให้พวกเขาสามารถนำมาพิมพ์บนกระดาษได้ ซึ่งแน่นอนว่าทำได้เร็วกว่าการเขียนด้วยมือ เพราะบล็อกพิมพ์สามารถใช้พิมพ์ได้หลายหน้าหลายครั้งอย่างรวดเร็ว แต่บล็อกพิมพ์ก็ใช้ได้เฉพาะหน้านั้นๆ เท่านั้น

    ต่อมานักประดิษฐ์ชาวจีนพบว่า สามารถแกะตัวอักษรแตกต่างกันบนบล็อกพิมพ์ไม้ และผูกมัดอักษรเหล่านั้นไว้ในกรอบ โดยวิธีนี้สามารถพิมพ์ข้อความซ้ำกันได้หลายๆ หน้าเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น

    พุทธศาสนายังส่งผลกระทบต่อภาษาจีน จะเห็นว่ามีหลายคำเกิดขึ้นเพื่ออธิบายความคิดพุทธศาสนา โดยใช้คำที่มาจากภาษา สันสกฤต และในการสอนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ประชาชนฟัง ในไม่ช้าเรื่องเหล่านี้ก็มีอิทธิพลต่องานเขียนนวนิยายจีน

    สิ่งก่อสร้าง
    ในอินเดียมีการสร้างที่บูชาที่เรียกว่าสถูปเพื่อเก็บกระดูกนักบุญ สถูปเหล่านี้ไม่มีห้อง ผู้บูชาจะเดินเวียนรอบประทักษิณ สวดมนต์และนั่งสมาธิ ในจีนเองได้ทำสถูปสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบเฉพาะของจีน

    พุทธศาสนาในญี่ปุ่น
    เมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่นใน พ.ศ. 600-700 ญี่ปุ่นยังไม่มีภาษาเขียน ในประเทศจีนศาสนาพุทธทำให้เกิดความต้องการด้านการเขียน ฉะนั้นชาวญี่ปุ่นจึงได้ประยุกต์สคริปต์แบบจีนไปใช้ หลายปีต่อมา ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงใช้พื้นฐานแบบของจีน

    ชาวญี่ปุ่นได้สร้างพุทธศาสนานิกายเซนจนโด่งดัง ชาวพุทธเซนมีความเชื่อว่าจิตสงบได้ด้วยความเงียบและสมาธิ หลายวิธีเข้าถึงสมาธิก็ยังคงปฏิบัติกัน ลูกศิษย์หลายสำนักถูกสอนให้นั่งนิ่งไม่ติงกายบนพื้นคล้ายพุทธรูป เพื่อนำจิตให้เป็นสมาธิ ในพิธีชงชา มีการตระเตรียมดอกไม้ รวมทั้งสวนทรายก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดแบบเซนเพื่อเข้าถึงความสงบและสันติภาพ

    พุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    พุทธศาสนาในตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากเป็นนิกายหินยานที่ผู้นับถือต่างพยายามปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้าตลอดมาเกือบ 2,500 ปี อาคารสถานที่ รูปเคารพ อนุสาวรีย์ มีการประดับตกแต่งวิจิตรกว่าที่อื่น พิธีกรรมต่างๆ ล้วนมีสีสัน

    พุทธศาสนาในประเทศเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อผู้ปกครองและวิถีชีวิตของประชาชน

    มูลเหตุที่พุทธเสื่อมจากอินเดีย
    อย่างไรก็ตาม ชมพูทวีป ดินแดนเกิดพระพุทธศาสนา แต่คนที่นับถือหายไปจากทวีปนี้เกือบหมดนานนับพันปี ที่เหลือกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าในดินแดนที่เรียกว่าอินเดีย หรือปากีสถานในปัจจุบัน

    Peter Moss เขียนใน Oxford History for Pakistan โดยเขียนภาพพระแตกร้าวว่ามาจากเหตุ 4 ประการคือ การทบทวน (คำสอน) ของฮินดู การบุกรุกของชาวฮั่น มุสลิมบุกรุก และพระสงฆ์ไม่ทำตามหน้าที่
    ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) รวบรวมความเสื่อมพุทธศาสนาไว้ 7 ประการ

    1.พระภิกษุสงฆ์เกิดแตกสามัคคี ชิงดีชิงเด่นแย่งกันเป็นใหญ่ หลงใหลในลาภ ยศ สักการะ ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ติดอยู่ในพิธีกรรม มากกว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสอนเดิม เพิ่มเติมใหม่ ทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป จะเห็นว่าสังคายนาแต่ละครั้งที่ทำในอินเดียย่อมมีมูลเหตุมาแต่การแตกแยกของพระภิกษุสงฆ์

    2.ขาดผู้อุปถัมภ์ พระพุทธศาสนาเจริญและดำรงมาได้ก็เพราะมีพระเจ้าแผ่นดินให้ความอุปถัมภ์บำรุง เมื่อสิ้นกษัตริย์ผู้มีความเลื่อมใส พระพุทธศาสนาก็เหมือนกับต้นไม้ขาดน้ำและปุ๋ย

    3.ถูกศาสนาอื่นๆ เบียดเบียน เช่น ศาสนาฮินดู ที่เป็นคู่แข่ง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ฮินดูประกาศคำสอนของตนเป็นการใหญ่ ส่วนพระพุทธศาสนามีแต่ตั้งรับ บางครั้งก็เปิดช่อง หรือไม่ก็หลอมตัวเข้าหา เท่ากับทำลายตัวเอง และถูกคนอื่นทำลาย

    4.เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทวนกระแส คือตรงดิ่งสู่ความจริง เป็นการฝืนใจคน ต้องดึงคนเข้าหาหลัก มิใช่ดึงหลักเข้าหาคน ไม่บัญญัติหรือสอนไปตามความชอบพอของคนบางคน แต่สอนไปตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ผู้มักง่ายเกิดความเอือมระอา พากันหันไปหาคำสอนที่ถูกใจ

    5.พุทธศาสนาปฏิเสธวรรณะ ขัดต่อความคิดเห็นของคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ ที่ยึดมั่นอยู่ในลัทธิประเพณี คนชั้นสูงต้องการคงวรรณะไว้ คนชั้นต่ำก็คิดเช่นเดียวกัน

    6.เพราะพระพุทธศาสนาได้รับเอาลัทธิตันตระของฮินดูมาปฏิบัติ ซึ่งเป็นการขัดต่อคำสอนอันดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

    7.สมัยที่มุสลิมเข้ามามีอำนาจ กษัตริย์มุสลิมได้แผ่อำนาจไปในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางและพร้อมกันนั้น อิทธิพลของศาสนาอิสลามก็ได้แผ่ตามไปด้วย เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาที่กำลังจะล้มพับอยู่แล้ว ก็ถึงกาลอวสาน
    นี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ชาติต่างๆ

    ความรุ่งเรืองและความเสื่อมพระพุทธศาสนาในอินเดีย
     

แชร์หน้านี้

Loading...