ชิตํเม ชนะใจ ชนะธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ญาณธโร, 2 สิงหาคม 2009.

  1. ญาณธโร

    ญาณธโร สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +0
    [​IMG]

    นักปฏิบัติธรรมหลายคนต่อหลายคน ท้อแท้ !
    นักปฏิบัติธรรมหลายคนต่อหลายคน ท้อถอย !
    นักปฏิบัติธรรมหลายคนต่อหลายคน ถดถอย !
    นักปฏิบัติธรรมหลายคนต่อหลายคน ยอมแพ้ !
    นักปฏิบัติธรรมหลายคนต่อหลายคน พ่ายแพ้ !


    ทำไม ? ทำไม ? ทำไม ?

    เพราะปฏิบัติไม่ก้าวหน้า !
    เพราะปฏิบัติย่ำอยู่กับที่ !
    เพราะปฏิบัติย่อหย่อนลง !
    เพราะปฏิบัติต่อไปไม่ไหว !
    เพราะปฏิบัติไม่ฉลาดพอ !​

    พระพุทธเจ้า ทรงใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพเผยแผ่พระศาสนา นับตั้งแต่ได้ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นเวลา ๔๕ ปีเต็ม จนสุดท้ายพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์พุทธอนุชาว่า ธรรมทั้งหลายเราตรัสไว้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงดีแล้ว แม้เราจะดำรงอยู่ถึงกัปป์หนึ่ง ก็ไม่มีธรรมอันยิ่งกว่านี้จะกล่าวอีก
    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย หากท่านปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้ผล พึงโทษตนเองเถิดว่า เราเป็นโมฆบุรุษ เราเป็นโมฆสตรีเสียแล้ว เราเป็นผู้เปล่า เป็นผู้เสียชาติเกิดเสียแล้ว เพราะเราเป็นคนโง่ คนหลงผิด ด้วยอกุศลเข้าสิงจิต ทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด ยังตนให้ตกต่ำ ย่อมไม่พ้นอบายไปได้
    เมื่อกล่าวโทษโจทย์ตัวเองอยู่เนืองๆ เช่นนี้แล้ว ยังมีความมานะที่จะทำตนให้พ้นภัยในวัฏฏสงสารแล้วไซร้ ก็ได้ชื่อว่ายังไม่ตกต่ำไปเสียทีเดียว ยังนับว่ามีบุญญาวาสนาอยู่ ยังพอมีสติปัญญาที่จะดีดตัวออกจากอาสวะทั้งหลายได้อยู่ ไม่มากก็น้อย...
    ขอเชิญชวนท่านพุทธศาสนิกชน สหธรรมมิก และพระโยคาวจรทั้งหลาย ตั้งใจสดับพระธรรมดังต่อไปนี้ เมื่อฟังแล้วจงจำ จำแล้วคิด คิดแล้วธรรม อาจนำตนให้พ้นภัยได้ในไม่ช้า ในข้อที่ว่า..


    วิธีชนะใจตนเอง

    จากการปฏิบัติของหลายๆ คนเท่าที่เคยเห็นมา เมื่อปฏิบัติแบบเคร่งจัด มักทำให้เครียด และแตกได้ เหมือนสิ่งของที่แข็งแต่เปราะ เมื่อตกกระทบพื้นนิดเดียวก็แตกกระจาย
    เมื่อปฏิบัติกันแบบย่อหย่อน มักโลเลเหลวไหล เหมือนกับน้ำที่ไหลไปตามกระแส ในที่สุดก็สลายกลมกลืนไปในทะเล
    วิธีปฏิบัติตามทางสายกลางนั้น ให้ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ค่อยๆปั้น ค่อยๆตี เหมือนช่างทำหม้อดิน หากผสมน้ำน้อยไป ดินก็แข็งปั้นไม่ได้ หากผสมน้ำมาก ดินก็เหลวเกินไป ปั้นให้รวมตัวกันไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ต้องอย่าตึงเกินไป อย่าหย่อนเกินไป ให้ดูกำลังของตัวเอง
    1. ไม่ใช่ว่าพวกบอกต้องอดข้าว เราก็อดตะพรึด จนทรมานกาย, บางพวกบอกหิวเมื่อไหร่ก็กิน เค้าไม่ให้ทรมานกาย ก็กินตะพรึด กลายเป็นคนไม่รู้จักประมาณ, ต้องกินให้พอดี กินให้เป็นเวลา
    2. ไม่ใช่ว่าพวกบอกต้องนั่งแต่เช้ายันสว่าง เราก็นั่งตะพรึด จนทรมานกายและจิต, บางพวกบอกแล้วแต่อารมณ์หากอารมณ์ดีๆก็นั่งได้เอง อารมณ์ไม่ดีก็อย่าไปฝืน ก็เป็นอันไม่ต้องนั่งกัน รออารมณ์ดี กลายเป็นอีเรื่อยเฉื่อยแฉะไป, ต้องทำให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง นานเท่าไหร่ก็ต้องดูความเหมาะสมของใจตนเอง
    3. ไม่ใช่ว่าพวกบอกอยากบรรลุต้องเข้าป่าไปนู่น แล้วก็ดั้นด้นไป จนเป็นการทรมานกาย และจิตที่หวาดผวาไปหมด, บางพวกบอกทำไปเรื่อยๆ สืบพระศาสนาไป ว่างก็ทำไม่ว่างก็ไม่ต้องทำ นานทีปีหนก็ทำไป อย่างนี้ก็เรีนกว่าทำไปส่งเดชส่งเด่า ไม่ได้เรื่องอีกเช่นกัน, การปฏิบัติพิจารณาธรรมนั้น อยู่ที่บ้าน กับอยู่ในป่า ก็คล้ายกัน ปฏิบัติในบ้านได้ ก็ปฏิบัติในป่าได้ ไม่เชื่อก็ลองดู

    นี่เป็นวิธีวางตัวในการปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เอาแค่ 3 ข้อก็พอ เพราะเป็นการวางกำลังใจขั้นต้น ต่อไปเรามาดูว่า เราจะปฏิบัติด้วยวิธีไหน ปฏิบัติตามแนวทางธรรมะข้อใด ไปกันเลย..

    1. ทาน คือ การให้, มีจิตคิดจะให้เมื่อมีโอกาส ไม่มากก็น้อย
    2. ศีล คือ การสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นผู้ปกติไม่ก่อเวรภัย
    3. สมาธิ คือ การตั้งจิตไว้ในกุศล มีสติสัมปชัญญะ ไม่เผลอไผล
    4. ปัญญา คือ การเห็นธรรม อันนำตนให้พ้นภัย ไม่เป็นเหยือของกิเลสอีกต่อไป

    นี่เป็นหลักใหญ่ใจความ ของการปฏิบัติ และจะขอแสดงรายละเอียดเฉพาะในข้อที่ 4 คือ การเจริญปัญญา เพียงข้อเดียว เพราะถ้ามีปัญญาซะแล้ว ทาน ศีล สมาธิ มาเอง ไม่ต้องบอก ไม่ต้องบังคับ ในทางกลับกันก็ต้องมีทาน ศีล สมาธิ อันได้ทำไว้มาก่อนแล้ว จึงจะเกิดปัญญาได้ (หากท่านไม่เข้าใจแสดงว่ายังมี ทาน ศีล สมาธิ ไม่พอนั่นเอง)

    ในการพิจารณาธรรมนั้น ดูเหมือนจะยากยิ่งที่สุด เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หากจะแยกพิจารณากันได้ก็มี 2 แบบคือ สมถกรรมฐาน และวิปัสนากรรมฐาน ทั้งสองแบบนี้สามารถนำไปสู่ปัญญาญาณ อันจะสามารถตัดประหัดประหารกิเลสได้ทั้งนั้น
    สมถกรรมฐาน มี 40 กอง ตามในพระวิสุทธิมรรค
    วิปัสนากรรมฐาน มี มหาสติปัฏฐาน 4 เป็นยอด เป็นประธาน
    ใครชอบทางไหนก็เลือกปฏิบัติใด้ หรือเลือกใช้ทั้งสองแบบเลยก็ได้ตามแต่โอกาสเหมาะ ในการปฏิบัตินั้นเราต้องรู้เป้าหมายเสียก่อน เหมือนการออกรบ ต้องรู้ว่าศัตรูมีอะไรบ้าง พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเราปฏิบัติเพื่อชนะซึ่งกิเลส เครื่องหมักดองสันดาร มีดังนี้

    1. โลภะ คือ ความอยากได้ ตามใจต้องการ
    2. ราคะ คือ ความต้องการทางเพศ (ราคะกับโลภะ จัดเป็นความอยากเหมือนกัน)
    3. โทสะ คือ ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ
    4. โมหะ คือ ความลุ่มหลง จมปลักกับสิ่งใด โดยเห็นผิด

    อกุศลมูลเหล่านี้ มีอยู่ในสันดารใจ จัดเป็น สังขาร ในขันธ์ห้า อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา 3 คือ
    1. ตัณหา คือ ความอยากมีอยากได้ อยากเป็น
    2. ภวตัณหา คือ ความอยากให้คงอยู่ตลอดกาล ตลอดสมัย
    3. วิภวตัณหา คือ ความไม่ชอบใจ ความไม่ต้องการ

    แน่นอนเราทุกคนยังมีกิเลสอยู่ ตัณหาก็ยังมีอยู่ ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ร่ำไป ถ้าเราทำให้มันเบาบางลง ก็จะได้รับความสุขมากขึ้นไปตามส่วน ที่เรียกว่า สุขที่ไม่ต้องอิงอามิส ข้าวของรางวัลใดๆ ก็เป็นสุขจนถึงที่สุกเรียกว่า เอกันตบรมสุข คือ พระนิพพาน

    ธรรมะท้ายสุดของพระพุทธองค์ อันเป็นทางลัดตัดตรง เป็นไม้เด็ดไม้ตายคือ มหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้เราท่านทั้งหลาย ชนะกิเลสได้ ไม่ยากนัก เริ่มจากการชนะใจตนเองเป็นข้อๆ ไป ดังนี้


    มหาสติปัฏฐาน ๔
    ๑. กายานุปัสสนา
    ๒. เวทนานุปัสสนา
    ๓. จิตตานุปัสสนา
    ๔. ธัมมานุปัสสนา


    สำหรับรายละเอียดของแต่ละหัวข้อนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานของเรา ท่านได้อธิบายไว้ดีแล้ว ส่วนที่จะอธิบายต่อไปนี้ เป็นการนำธรรมไปใช้เฉพาะจุด เพื่อการเอาชนะใจตน เป็นขั้นแรก จนถึงขั้นเอาชนะกิเลสได้ในที่สุด ตามอย่างที่หลวงพ่อท่านสอนไว้

    1. กายานุปัสสนา แปลง่ายๆว่า เห็นกายก็สักแต่ว่าเห็น, เห็นรูปก็สักแต่ว่ารูป, พิจารณาเข้าในไตรลักษณ์ว่า
    1.1 เห็นรูปสวย ก็เห็นว่าสวยในปัจจุบัน, ที่ผ่านมาก็คงน่ารักเป็นเด็กๆ น่าเอ็นดู, ชาติก่อนเค้าคงทำบุญมาดี โมทนาด้วย, แต่ต่อไปก็ต้องมีความเจ็บไข้และแก่เฒ่าลงไปแน่ แล้วที่สุดก็ตายเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์แน่ๆ ถ้าไปยึดเข้า ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรตายเปล่า
    1.2 เห็นรูปไม่สวย ก็เห็นว่าไม่สวยในปัจจุบัน, ที่ผ่านมาเมื่อตอนเป็นเด็กก็อาจไม่น่ารักก็ได้, ชาติก่อนคงทำกรรมไม่ดีมา เราจะไม่ทำกรรมไม่ดี ซึ่งมีผลเห็นปานนี้, แต่ต่อไปก็ต้องมีความเจ็บไข้และแก่เฒ่าลงไปแน่ แล้วที่สุดก็ตายเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์แน่ๆ ถ้าไปยึดเข้า ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรตายเปล่า
    1.3 เป็นรูปไม่สวยไม่ขี้เหร่ ก็เห็นว่าธรรมดาไม่สวยไม่ขี้เหร่,ผ่านมาก็อาจไม่น่ารักหรืออาจน่ารักเมื่อตอนเป็นเด็กก็ได้, ชาติก่อนคงทำกรรมดีบ้างไม่ดีบ้าง เราจะงดทำกรรมไม่ดี ทำแต่กรรมดี ซึ่งมีผลเห็นปานนี้, แต่ต่อไปก็ต้องมีความเจ็บไข้และแก่เฒ่าลงไปแน่ แล้วที่สุดก็ตายเหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์แน่ๆ ถ้าไปยึดเข้า ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรตายเปล่า
    แล้วน้อมจิตมาพิจารณาตน ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน จึงวางรูปนั้นลงแล้วกลับมาอยู่ที่ลมหายใจพร้อมกับคำภาวนา​

    2. เวทนานุปัสสนา แปลง่ายๆว่า ความรู้สึกสุข, ความรู้สึกทุกข์ และความรู้สึกเฉยๆ(ไม่สุขไม่ทุกข์) เกิดขึ้นกับกายก็สักแต่ว่ารู้อยู่

    3. จิตตานุปัสสนา แปลง่ายๆว่า ความชอบใจ, ความไม่ชอบใจ และเฉยๆ ความอยากมี, อยากให้คงอยู่, ไม่อยากมีไม่อยากได้, จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตเป็นอัพยากฤตคือจิตกลางๆ เกิดขึ้นในจิตก็สักแต่ว่ารู้อยู่

    4. ธัมมานุปัสสนา แปลว่า ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปสวย ความรู้สึกสุข ความชอบใจ, รูปไม่สวย ความรู้สึกทุกข์ ไม่ชอบใจ และรูปไม่สวยไม่ขี้เหร่ ความรู้สึกเฉยๆ ใจวางเฉย, ความอยากมี, อยากให้คงอยู่, ไม่อยากมีไม่อยากได้, จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตเป็นอัพยากฤตคือจิตกลางๆ ก็ตาม เรียกว่าทั้งสามข้อข้างต้น รวมลงในข้อสี่นี้ข้อเดียว และก็รวมลงในไตรลักษณ์เลยที่เดียวว่า ทุกอย่างมันผันแปรแน่ๆ(ไม่มีความแน่นอนตายตัวเลย) ลองนึกดูดีๆ ว่าอะไรที่มันไม่เที่ยงนั้น มันเตรียมตัวทุกข์ได้เลย อะไรที่มันไม่เที่ยงนั้น มันก็ตั้งอยู่ไม่นานแน่ เดี๋ยวมันต้องเสื่อมสลายไปแน่ นี่แหละที่เรียกว่า

    ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน

    เมื่อเรารู้ทันมัน เราก็ไม่ติดในมัน เมื่อไม่ติดในมัน เราก็ชนะมัน เราก็พ้นจากมัน เราพ้นจากกิเลสได้ในที่สุด อยากรู้ว่าสุดไม่สุด ก็เอาสังโยชน์ ๑๐ มาวัดๆดู ถึงขั้นมันจะเป็นพระโสดาบัน-พระอรหันต์จริงหรือเปล่า เราก็ไม่สน เราสนแค่...

    ชิตังเม ชิตังเม เราชะนะแล้ว เราชนะแล้ว


    แต่ขออย่างเดียวว่า ให้ชนะจริงๆ ให้พ้นจริงๆ ให้ทำจริงๆ อย่าลืมใครที่คิดว่าตัวเองดีแล้ว นั่นยังเลวอยู่มาก ต่อเมื่อเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วไม่ติด ไม่ทุกข์ ไม่เพ้อเจ้อไปกับมัน นั่นแหละจึงควรพอใจ พระอริยเจ้าพ้นแล้วพ้นเลย หากพบว่ายังกลับมาเลวอยู่อีกให้ทวนใหม่ๆๆๆๆๆ ทวนทุกวันนั่นชื่อว่า ไม่เป็นผู้ประมาท การจะพ้นได้นั้น ก็ต้องค่อยๆ พ้นทีละน้อยๆ การที่จะหาคนมีวาสนาบารมีมากหลุดพ้นในคราวเดียวนั้นยากมาก ขนาดหลวงพ่อเรายังค่อยๆ พ้นเลย ดังนั้นระวังพ้นทีเดียว อาจจะต้องไปอยู่ในโลกคนเดียว คือ บ้าไปเลย ! จึงต้องโจทย์ตัวเอง สงสัยตัวเองอยู่ร่ำไป ปฏิบัติตัวเองอยู่ร่ำไป ไม่ไว้วางใจตัวเอง จนกว่าจะตาย แล้วไปนิพพาน นั่นแหละจึงจะพ้นจริง ถึงตอนนั้นก็เลิกสงสัยได้​

    ปล. ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วย เพราะผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์


     
  2. ญาณธโร

    ญาณธโร สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +0
    การเอาชนะใจตนเอง ในสถานการณ์ต่างๆ

    ความจริงแล้วธรรมารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะมีสิ่งมากระทบทางทวารทั้ง 6 คือ
    1. จักขุทวาร รูปกระทบทางตา
    2. โสตทวาร เสียงกระทบทางหู
    3. ฆานทวาร กลิ่นกระทบทางจมูก
    4. ชิวหาทวาร รสกระทบทางลิ้น
    5. กายทวาร สัมผัสกระทบทางกาย
    6. มโนทวาร อารมณ์กระทบทางใจ

    โดยปกติ เมื่อเกิดการกระทบทวารใดๆ ก็ตาม ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วหายไปเอง ตามกฏไตรลักษณ์อยู่แล้ว หากจิตไม่ยึดติดกับมันตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร แต่บังเอิญว่าเรายังมีกิเลสอยู่ท่วมหัวกันทุกคน เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งก็จึงยังมีความทุกข์ ความสุข ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ฯ คือยังยึดติดอยู่ หากจะปล่อยให้หายไปเองก็คงจะนานเกินไป และไม่ดีแน่ ถ้าปล่อยให้จิตใจขุ่นมัวนานๆ เพราะเราต้องการจิตที่สดใสและหมดจด นั่นจึงต้องหาวิธีที่เรียกว่า กุศโลบาย ต่างๆในการระงับกิเลส หรือคลายความเศร้าหมองในจิตให้รวดเร็วที่สุด จึงชื่อมาเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ทุกเมื่อ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีสติรู้เท่าทันปัจจุบันจริงแท้ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาแก้กิเลสหาย

    ต่อไปนี้จะได้แสดงกุศโลบาย ในเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องต่างๆ เป็นตอนๆไป ตามแต่โอกาสจะอำนวย วันนี้เป็นเรื่อง

    วิธีชนะใจ วิธีชนะความโลภ


    ท่านทั้งหลาย เมื่อมีความต้องการสิ่งใดมากๆ จนรู้สึกทุรนทุราย ร้อนรน ท่านทำอย่างไร ?
    อันที่จริงไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ผ่านไปสักพัก ก็คงหายไปเอง ตามธรรมชาติ, ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องอ่านต่อ ขอให้ผ่านไปเลย เพราะการคิดแค่นั้นดูจะง่ายจริงๆ แต่ในความเป็นจริงทำได้ยาก! และไม่ชื่อว่ามีความขวนขวายหาความดีใส่ตัวแต่อย่างใด เป็นการปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส โดนมันเผาเล่นจนกว่ามันจะหนำใจ เดี๋ยวมันก็ปล่อยเราไปเองแหละ นี่จะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วเท่านั้น แล้วทางเลือกแรกล่ะควรทำอย่างไร
    1. พิจารณาว่า เรามีเสื้อผ้าใส่หรือเปล่า?, เรามีข้าวกินมั้ย?, มีที่ให้เรานอนหรือเปล่า?, เรามียารักษาโรคมั้ย? ในเมื่อเรามีปัจจัยสี่ครบแล้ว เรายังต้องการอะไรอีก ?
    2. พิจารณาว่า สิ่งที่เราต้องการนี้จำเป็นในขณะนี้หรือไม่?, ต่อไปจะจำเป็นหรือไม่?, อีกนานแค่ไหนจึงจะจำเป็นสำหรับเรา?, เราจำเป็นต้องใช้มันบ่อยหรือไม่? ในเมื่อประโยชน์ของมันยังไม่เกิด หรือเกิดไม่บ่อย เรายังต้องการมันอยู่อีกหรือ?
    3. พิจารณาว่า เราสามารถหามาได้โดยบริสุทธิ์หรือไม่?, ต้องไปยื้อแย่งใครเขามาหรือไม่?, หากนำมาเจ้าของเขาจะทุกข์หรือไม่?, หากเป็นของๆเรา แล้วมีคนยื้อแย่งขโมยไป เราจะมีความสุขใจหรือไม่?, เมื่อของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เรายังต้องการมันอีกหรือ?
    4. พิจารณาว่า มีปัจจัยเพียงพอหรือไม่?, ต้องเป็นหนี้ตามส่งเบี้ยหัวแตกหรือไม่?, สุขเดี๋ยวนี้ทุกขังเป็นแรมปีหรือไม่?, ในเมื่อปัจจัยไม่พอเรายังอยากได้มันอีกหรือ?
    5. พิจารณาว่า ปัจจัยสี่เรามีครบแล้ว ไม่มีสิ่งนี้ เราก็ไม่ตาย
    6. พิจารณาว่า เมื่อก่อน เราไม่มีสิ่งนี้ เราก็ไม่ตาย
    7. พิจารณาว่า สิ่งนี้ไม่ค่อยจำเป็นนัก ไม่มีสิ่งนี้ เราก็ไม่ตาย
    8. พิจารณาว่า เรายังไม่มีปัจจัยเพื่อสิ่งนี้ เราไม่ได้สิ่งนี้ เราก็ไม่ตาย
    9. หากยังมีความต้องการอยู่ ลองมองดูสิ่งจำเป็นอื่นๆ ว่าสิ่งไหนจำเป็นมากกว่า
    10. หากยังมีความต้องการอยู่ ลองลดๆความต้องการลง ว่าเอาเพียงพอแก่ความจำเป็น เพียงพอกับฐานะปัจจัย
    11. หากยังมีความต้องการอยู่ แต่ปัจจัยไม่เพียงพอ ลองมองหาของมือสองสภาพใช้ได้
    12. หากยังมีความต้องการอยู่ แต่ไม่มีปัจจัย ลองหยิบยืมเพื่อนมาใช้ หรือมาเล่นดูก่อน แล้วรอสะสมปัจจัย
    13. หากยังมีความต้อการอยู่ ลองดูลมหายใจของตัวเองสิว่า ยังหายใจอยู่หรือเปล่า (แม้ในขณะที่ยังไม่มีของสิ่งนั้น)
    14. หากยังมีความต้องการอยู่ ลองหาสิ่งอื่นทำ ลองคุยกับพ่อแม่ ลองไปอาบน้ำ ไปกินข้าว ไปออกกำลังกาย ไปพบปะเพื่อนๆดู
    15. หากยังมีความต้องการอยู่ ลองอดข้าวเย็นสักมื้อ ลองซักผ้าเองสักที ลองทำกับข้าว ลองทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ลองตัดหญ้า ลองปลูกต้นไม้ ลองรดน้ำพรวนดินต้นไม้ ลองให้อาหารสัตว์ดู
    16. หากยังต้องการอีก ลองไปช่วยคนแก่ ลองไปดูแลคุณตาคุณยาย คุณปู่คุณย่า ลองไปช่วยเลี้ยงเด็ก เลี้ยงหลาน
    17. หากยังต้องการอีก ลองทำบุญ ลองรักษาศีล 5 ศีล 8, ลองนั่งสมาธิ ลองฟังเทศน์ฟังธรรม ลองเข้าวัดเข้าวา ไหว้พระดู​
    18. หากยังต้องการอีก แต่ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นเท่าไหร่แล้ว ก็ให้เอาปัจจัยที่พอจะซื้อสิ่งนั้นได้ ไปซื้อสิ่งที่มีประโยชน์อย่างอื่นซะ
    แต่ถ้าในที่สุดกำลังใจไม่ถึง ก็ซื้อไปเถอะ ขอแค่ไม่ลักขโมยก็พอ (ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป)

    บางครั้งต้องทวนกลับไปกลับมา ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วแต่กิเลสหรือกำลังใจเรามากแค่ไหนที่จะเอาชนะมัน

    เมื่อเรามีสติปัญญาเท่าทันกิเลสมากเข้าๆ แก้กิเลสได้เร็วขึ้นๆ ต่อไปเมื่อมีสิ่งมากระทบทางทวารทั้ง ๖ ก็จะไม่สามารถก่อให้จิตใจเราเศร้าหมองได้ เพราะมันจะจบลงแค่นั้น เดี๋ยวนั้น นี่ถึงจะเรียกได้ว่า...


    นิพพานจิต
    คือ จิตว่าง ปราศจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง

    สุดท้ายนี้ขอให้สหธรรมิกทั้งหลาย ตั้งใจประพฤติธรรม ขัดเกลาจิตใจ ตามกำลังค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ให้ถึงที่สุดเถิด และขอความเจริญในธรรม จงมีแด่ทุกท่าน ทุกคนเทอญ เอวังก็มีด้วยประการฉนี้
    (f)​
     

แชร์หน้านี้

Loading...