ทำบุญ-สืบชะตาเมือง ต่ออายุเชียงใหม่ให้ยืนยง

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 14 มิถุนายน 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    ทำบุญ-สืบชะตาเมือง ต่ออายุเชียงใหม่ให้ยืนยง

    จินตนา กิจมี



    [​IMG]

    ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดเห็นที่รุนแรงของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อนในอดีตกาลนั้น หนึ่งอาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนมีความต้องการในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย นุ่มนวล ตามวิธีแห่งสังคมชนบท หรือผู้เป็นใหญ่ของบ้านเมืองมีวิธีปกครองคนของตนด้วย "กุศโลบาย" อันแยบยลนั่นอีกประการหนึ่ง

    พญามังรายมหาราช องค์ก่อตั้ง..นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือ นครเชียงใหม่..ในปีพุทธศักราช 1839 ก็คงเช่นกัน เพราะที่สุดนครแห่งนี้ได้กลายเป็น เมืองแห่งศูนย์กลางของอาณาจักล้านนา

    ก่อนสร้างเมือง พญามังรายมหาราช ทรงดำเนินพระกุศโลบายแรกด้วยการส่งพระราชสาส์นแก่..พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงผู้ครองนครพระร่วงเมืองสุโขทัย มาร่วมตัดสินพระทัยดังคำ

    "..สหายคำ พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสอง กูจักเรียกร้องเสงปองโฟ่จา (ปรึกษา) จักตั้งบ้านใหญ่เมืองหลวงแวจึงควรตั้งชะแล.."

    ซึ่งพญาทั้งสองก็ให้คำแนะนำการสร้างเมืองเป็นหลักประกันแห่งการยอมรับของสองนครใหญ่ ให้นครเชียงใหม่กว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา การขุดคู ก่อกำแพงนครอย่างรอบคอบในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนเหนือของเวียกงุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งมีลำน้ำแม่ข่าไหลลงมาจากยอดดอย และหนองน้ำใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ให้ความอดมสมบูรณ์ต่อประชาชน

    ตามบันทึกระบุชัดว่า พญาร่วง และพญางำเมือง มีศุภนิมิตรว่า ชัยภูมิเมืองเชียงใหม่มีมงคล 7 ประการ หนึ่งนั้น มีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกจากป่าใหญ่มาอาศัย ผู้คนมาอาศัยและสักการะบูชา

    ประการสองฝูงสุขของนายพรานสู้กวางเผือกไม่ได้ ประการสาม มีหนูเผือกตัวใหญ่พร้อมริวาร 4 ตัว วิ่งออกจากชัยภูมินี้ไปตามทิศต่างๆ โดยเฉพาะตัวหนึ่งวิ่งลงรูใต้ต้นไทร ที่นี่จึงกลายเป็นไม้เสื้อเมืองหรือศรีเมืองในปัจจุบัน

    ศุภนิมิตรประการสี่บอกว่า พื้นที่ตั้งอยู่สูงเบื้องตะวันตก เอียงหาตะวันออกเป็นชัยมงคลยิ่ง และมองเห็นน้ำตกแต่เขาอุสุบรรพต หรือดอยสุเทพ ไหลลงเป็นลำน้ำและไหลขึ้นไปหนเหนือเลี้ยวไปตะวันออกและลงใต้ ก่อนอ้อมไปทิศตะวันตกโอบเวียงกุมกามเป็นชัยมงคลที่ห้า

    สภาพหนองใหญ่คือคำทำนายว่าท้าวพญานานาประเทศจะมาบูชา มีน้ำแม่ปิงไหลมาแต่มหาสระที่พระพุทธเจ้าได้อาบยังดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นขุนน้ำใหญ่เป็นชัยมงคลที่หกและเจ็ด

    พิชัยฤกษ์ แรกตั้งพิธีกลบบาตฝังนิมิตหลักเมืองจึงบังเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ ปีวอกอัฐศก จุลศักราช 658 หรือ พุทธศักราช 1839 จัรทรเสวยฤกษ์ 16 ยาม แตรจักใกล้รุ่ง แล้วสองลูกนาที ปลายสองบาท ไว้ลัคนาเมือง ในราศีมีนอาธาต ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เมษายน 1839 เวลา 04.00 น.

    โดยการวางผังเมืองทั้งหมดจะสอดคล้องกับชัยภูมิทางโหราศาสตร์ คือ คัมภีร์มหาทักษาประกอบตามทิศทางของแผนภูมินครที่มีทั้ง เดชเมือง ศรีเมือง อายุเมือง บริวารเมือง มูลเมือง อุตสาหเมือง และกาลิณีเมือง เพราะตามความเชื่อโบราณกาล

    การเกิดเมือง การสร้างเมือง จะสร้างตามฤกษ์ยามที่เป็นมหามงคลตบะ เดชะ เช่นเดียวกับการเกิดของประชาชนที่มีทั้งความสุข ความเจริญ ความสมหวัง และเสื่อมโทรมอับเฉา

    ครั้งนั้นดำเนินการขุดคูเวียงและสร้างนิเวศน์พร้อมกัน มีจำนวนพลสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียร 50,000 คน ขุดคูพระนคร 40,000 คน โดยขนเอาดินถมเป็นแนวพระนคร ซึ่งการเริ่มต้นขุดนั้นเริ่มที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือ แจ่ง (มุม) ศรีภูมิ ซึ่งเป็นทิศมงคลก่อน อ้อมไปทิศทักษิณวนรอบครบ 4 ด้าน เป็นแจ่งข๊ะต้ำ แจ่งกู่เฮือง และแจ่งหัวริน โดยกำแพงเมืองนั้นสูง 8 สอก กว้าง 6 ศอก ใบเสมาล้อมรอบเมือง ขุดคูรอบเมืองกว้าง 20 วาทั้ง 4 ด้าน ใช้มูลคูถมเป็นไส้กำแพงชั้นใน

    พญามังรายมหาราชโปรดให้สร้าง "ประตูเมือง" กว้าง 4 วา ไว้ตรงกึ่งกลางกำแพงเมืองด้านละแห่ง..

    ประตูทิศเหนือ เรียกว่า ประตูหัวเวียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ประตูช้างเผือก ซึ่งถือว่าเป็นเดชเป็นศรีของเมือง ประตูทิศใต้ เรียกว่า ประตูท้ายเวียง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ประตูเชียงใหม่ ถือเป็นมูลเมืองจะเป็นประตูสำหรับรับเจ้านายผู้ใหญ่เข้าเมือง

    ประตูทิศตะวันออก เรียกว่า ประตูท่าแพ เพราะมีถนนตรงไปสู่ท่าแม่น้ำปิง จุดขนส่งค้าขายทางเรือกับหัวเมืองต่างๆ เรียกว่าอุตสาหเมือง ส่วนประตูทิศตะวันตก เรียกว่า ประตูสวนดอก เพราะมีพระราชอุทยานอยู่ไม่ไกล เรียกว่าบริวารเมือง

    ต่อมาสร้างประตูเมืองใหม่ 2 ประตู คือ ประตูแสนปุง และกลายมาเป็นประตูสวนปรุงในปัจจุบัน เป็นประตูมรณะ เพราะใช้นำคนตายออกทางด้านนี้

    ส่วน ประตูช้างม่อย เดิมชื่อ ประตูศรีภูมิ ประตูเมืองทั้ง 6 นี้ นอกจากจะกว้าง 20 วา ยังลึก 2 วาเศษ การข้ามต้องใช้สะพานเรือกทำด้วยไม้ไผ่ จะเปิดตอนย่ำรุ่งและปิดย่ำค่ำ ยามมีศึกจะรื้อสะพานเก็บไว้ในเมือง ป้องกันมิให้ข้าศึกเข้ามาได้ง่ายๆ

    หลังจากใช้เวลา 4 เดือน ในการสร้างพระนคร พญามังรายมหาราชสั่งตั้งมหรสพสมโภชฉลองเมือง 3 ทิวาราตรีกาล มีการเลี้ยงดูหมู่เสนา พลโยธาอย่างรื่นเริง พร้อมพระราชทานรางวัลเป็นที่สุขใจกันถ้วนหน้า

    อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองใช่แต่จะมีสุขเท่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปความทุกข์ และความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นเช่นกัน

    ชาวไทยล้านนาจึงมีความเชื่อว่า หากได้มีการทำบุญสืบชะตาเมือง ก็จะช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม..

    พิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่..จึงเป็นพิธีมหามงคลที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งสร้างนครเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นที่การต่ออายุเมืองให้ยืนยงคงอยู่ ขจัดปัดเป่างชั่วร้าย บำรุงขวัญ และสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองและประชาชน

    ปีนี้การทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2550 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ห่างจากวันก่อตั้งนครเชียงใหม่ 711 ปี กับ 56 วัน ด้วยการทำบุญตักบาตรเช้าตามหัววัดสำคัญ พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่

    จุดสำคัญจะอยู่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นกลางเมือง เดิมเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โดย นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พลุสัญญาณ 3 ครั้ง ก็ดังขึ้นเพื่อให้สถานที่ประกอบพิธีอีก 9 จุด คือประตูช้างเผือก ประตูเชียงใหม่ ประตูท่าแพ ประตูสวนปรุง ประตูสวนดอก แจ่งศรีภูมิ แจ่งข๊ะต้ำ แจ่งกู่เฮือง และแจ่งหัวริน เริ่มประกอบพิธีพร้อมกัน

    พระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะ จ.เชียงใหม่ บอกว่า การแสดงพระธรรมเทศนา "สารากริวิชชาณสูตร" จะทำเฉพาะพิธีใหญ่ต่อบ้านเมืองเท่านั้น เพราะจะอำนวยความสุขสวัสดีต่อบ้านเมืองและประชาชน ขจัดความหวาดกลัว ความเศร้าหมองออกไปจากจิตใจ

    โดยมีกุศโลบายให้ประชาชนดำรงตนในศีลในธรรม ไม่ประมาทต่อการใช้ชีวิต ใช้สติในการตัดสินใจ มีชีวิตร่มเย็น ปฏิบัติตนไปในทางที่ดีตามหลักคำสอนของพระธรรมเทศนา อีกทางหนึ่งคือการอุทิศส่วนกุศลถึงเทพยดาอารัษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงพระวิญญาณพญามังรายมหาราช พญางำเมือง พญาร่วง ตลอดจนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกพระองค์

    "นับจากนี้ไปบ้านเมืองและประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุขยาวนานสืบไป ไม่มีเจ็บ ไม่มีป่วย ไม่มีอุทกภัย ไม่มีอุบัติภัย มีชีวิตที่สมบูรณ์อยู่ดีกินดีปราศจากขวากหนาม ตั้งแต่ก่อตั้งนครเชียงใหม่จะมีพิธีสืบชะตามาอย่างต่อเนื่อง จนตกเป็นเมืองพม่าก็หยุดไป และมาเริ่มขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นพิธีมงคลที่สำคัญยิ่ง"

    วนิดา จงมีสุข คุณยายวัย 72 มาพร้อม คุณยายศรีนวล เพื่อนรักวัยทอง 75 ปี สีหน้าทั้งคู่เปื้อนยิ้มอย่างมีความสุข

    ..ฉันมาทุกปี เอาทรายและข้าวตอกดอกไม้มาร่วมพิธี อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล อายุมั่นขวัญยืน..

    ส่วน จารุวรรณ คำป๋า สาวน้อยแรกรุ่นวัย 16 บอกว่า ตอนทำพิธีรู้สึกสงบเย็น มาร่วมพิธีเป็นครั้งแรกปีหน้าจะมาอีก เพราะอยากเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของล้านนา เด็กๆ ต้องเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแบบนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายไป

    เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ ย้ำว่า คนเชียงใหม่ทุกคนควรภาคภูมิใจกับพิธีมหามงคลนี้ และให้ความสำคัญกับคติความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ เพราะ จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นจากคติความเชื่อและความเป็นสิริมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพ เทวดา อารักษ์ ที่รักษาบ้านเมือง หากเราเคารพกราบไหว้ก็จะบังเกิดสุขสวัสดีต่อตน

    "พิธีมหามงคลทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เยาวชนควรตื่นตัว เพราะวัฒนธรรมประเพณีจะยั่งยืนได้ อยู่ที่จิตสำนึกในใจของเด็กๆ และทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้"

    นับจากนี้..นครเชียงใหม่..จะสุขสงบและเจริญรุ่งเรือง ภายหลังผ่านการทำบุญและสืบชะตาเมืองตามคติความเชื่อทางล้านนาได้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องรอคอยการพิสูจน์โดยผ่านกาล..เวลา

    หากแต่ความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน หนทางแห่งความสุขจะบังเกิดได้เร็วแบบทันตาเห็นได้นั้น น่าจะเริ่มด้วย..ประชาชนชาวไทย..ลงมือปฏิบัติตนด้วยการตั้งมั่นอยู่ในศีล ในธรรม หยุดการทะเลาะเบาะแว้ง แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตนฝ่ายเดียว

    เชื่อว่า..ความสงบร่มเย็นของบ้านเมืองก็คงจะมาถึงในไม่ช้า

    ---------
    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01pra04140650&day=2007/06/14&sectionid=0131
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    เครื่องทำบุญเมืองและสืบชะตาเมือง



    [​IMG]

    ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ กองทราย หมายถึง ธาตุดิน น้ำ หมายถึง ธาตุน้ำ ช่อตุง (ธง) หมายถึง ธาตุลม เทียน หมายถึง ธาตุไฟ

    ผลไม้สำคัญ มะพร้าว กล้วย อ้อย ฟัก ข้าวเปลือก หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้ พานบายศรี หม้อทอง สายสิญจน์ ซึ่งทั้งหมดคือเครื่องบริโภคแห่งธาตุทั้ง 4 ที่ทำให้มนุษย์ดำรงตนอยู่ได้

    ซึ่งภายหลังเสร็จพิธีการ ชาวเชียงใหม่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะนำด้ายสายสิญจน์ และน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์กลับไปพรมบ้านเรือนและลูกหลาน เพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไป

    -----------
    Ref.
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01pra05140650&day=2007/06/14&sectionid=0131
     

แชร์หน้านี้

Loading...