บรรลุอิทธิวิธี มีอภิญญาทำอิทธิปาฎิหาริย์ได้ ไม่เข้าใจธรรมฐิติญาณ จิตหลุดพ้นไม่ได้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 16 มิถุนายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖
    ๑๐. สุสิมสูตร
    [๒๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานเขตพระนคร
    ราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
    ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แม้ภิกษุสงฆ์
    อันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต
    เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แต่พวกปริพาชกเดียรถีย์อื่น อันเทวดาและ
    มนุษย์ทั้งมวลไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวรบิณฑบาต
    เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ฯ
    [๒๘๐] สมัยนั้นแล สุสิมปริพาชกอาศัยอยู่ ณ พระนครราชคฤห์กับปริพาชกบริษัท
    เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล บริษัทของสุสิมปริพาชกได้กล่าวกะสุสิมปริพาชกว่า มาเถิดท่านสุสิมะ
    ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระสมณโคดม ท่านเรียนธรรมแล้ว พึงบอกข้าพเจ้า
    ทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าเรียนธรรมนั้นแล้วจักกล่าวแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเรา
    ก็จักมีเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง จักได้จีวร บิณฑบาต
    เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ฯ
    สุสิมปริพาชกยอมรับคำบริษัทของตน แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไป
    หาแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง
    ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นสุสิมปริพาชกนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า
    ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
    [๒๘๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์พาสุสิมปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่ง
    เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า สุสิมปริพาชกผู้นี้กล่าวอย่างนี้ว่า
    ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้สุสิมปริพาชกบวช ฯ
    สุสิมปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
    [๒๘๒] สมัยนั้นแล ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
    ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
    กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ ท่านสุสิมะได้ฟังมาว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้าง
    พระอรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
    พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
    ทันใดนั้นเอง ท่านสุสิมะก็เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น
    ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะนั่ง
    เรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ได้ยินว่าท่านทั้งหลายอวดอ้างพระอรหัตผลในสำนัก
    พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ
    ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้จริงหรือ ฯ
    ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๓] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธี
    หลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้
    หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน
    เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้
    ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไป
    ตลอดพรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๔] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง
    ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสต
    ของมนุษย์ บ้างหรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๕] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจ
    ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะหรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่า
    จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
    จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิต
    หดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็น
    มหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่น
    ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิหรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่า
    จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น บ้าง
    หรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๖] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติ
    ก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง
    สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติ
    บ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏ
    กัปวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น
    มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้นครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว
    ได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพนั้น เรามีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร
    อย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นมีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วมาเกิด
    ในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้
    บ้างหรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๗] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์
    ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพย
    จักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
    สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ
    ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
    นรกท่านผู้เจริญทั้งหลาย ส่วนสัตว์เหล่านั้น ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
    ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิเมื่อตายเพราะกาย
    แตกดับไป ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
    มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้
    ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๘] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารูปวิโมกข์อันสงบ
    ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลายด้วยกาย บ้างหรือหนอ ฯ
    ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ ฯ
    [๒๘๙] สุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่
    ในเรื่องนี้ในบัดนี้ อาวุโส เรื่องนี้ เป็นอย่างไรแน่ ฯ
    ภิ. ท่านสุสิมะ ผมทั้งหลายหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ฯ
    สุ. ผมไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอท่าน
    ทั้งหลายจงกล่าวแก่ผม เท่าที่ผมจะพึงเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้ โดย
    พิสดารเถิด ฯ
    ภิ. ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลายก็หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ฯ
    [๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านสุสิมะลุกจากอาสนะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว
    กราบทูลถ้อยคำที่สนทนากับภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดภายหลัง ฯ
    พระสุสิมะกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่พระองค์
    ตรัสไว้โดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสแก่ข้าพระองค์ เท่าที่ข้าพระองค์จะพึง
    เข้าใจ เนื้อความแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ
    [๒๙๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม โดยแท้จริงแล้วธรรมฐิติญาณ
    เกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดทีหลัง สุสิมะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือ
    ไม่เที่ยง ฯ
    สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
    สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะ
    ตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
    สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
    พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
    สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
    สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม
    เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
    สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
    พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
    สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
    สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตาม
    เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
    สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
    พ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
    สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
    สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะ
    ตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
    สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
    พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
    สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
    สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะ
    ตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
    สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า ฯ
    [๒๙๒] พ. ดูกรสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี
    อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดีอยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่
    ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั่นอันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่
    ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี
    ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สังขาร
    ทั้งหลายทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของ
    เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    [๒๙๓] พ. ดูกรสุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป
    แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย
    กำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นเมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
    ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
    เป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
    [๒๙๔] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทานหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา ... เพราะ
    สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็น
    ปัจจัย จึงมีนามรูป ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอวิชชา
    เป็นปัจจัย จึงมีสังขารหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๒๙๕] พ. ดูกรสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
    พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ... เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะเวทนา
    ดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ...เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะ
    นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ...เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึง
    ดับ ... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับหรือ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๒๙๖] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ
    คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุ
    ฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำ
    ก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปบนอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำ
    พระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลก
    ก็ได้ บ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
    [๒๙๗] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียง
    ทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของ
    มนุษย์บ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๒๙๘] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของ
    บุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้น
    บ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๒๙๙] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
    คือชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ ทั้งอุเทศ ด้วยประการ
    ฉะนี้ บ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๓๐๐] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ ฯลฯ ด้วย
    ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม บ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๓๐๑] พ. ดูกรสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารูปวิโมกข์อันสงบ ก้าว
    ล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลาย ด้วยกายบ้างหรือหนอ ฯ
    สุ. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๓๐๒] พ. ดูกรสุสิมะ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้มีอยู่ในเรื่องนี้ ใน
    บัดนี้ เรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่ ฯ
    ลำดับนั้นเอง ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
    ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้ตกถึงข้าพระองค์ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่า
    ที่ไม่ฉลาด ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาค
    จงรับโทษไว้โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไป ของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ฯ
    [๓๐๓] พ. เอาเถิด สุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด
    เธอบวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่จับโจรผู้ประพฤติ
    ผิดมาแสดงตัวแก่พระราชา แล้ว กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ โจรคนนี้ ประพฤติผิด
    แด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาชญาตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์แก่โจรคนนี้เถิด พระราชา
    พึงรับสั่งให้ลงโทษโจรนั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้มั่นด้วยเชือกที่เหนียว
    แล้วเอามีดโกนโกนหัวเสีย พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยฆ้อง ด้วยกลอง
    เล็กๆ ให้ออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วจงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง ราชบุรุษมัดโจร
    นั้นไพล่หลังอย่างมั่นคง ด้วยเชือกที่เหนียวแล้วเอามีดโกนโกนหัว พาเที่ยวตระเวนตามถนน
    ตามทางสี่แยกด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆพาออกทางประตูด้านทักษิณ พึงตัดศีรษะเสียข้างด้าน
    ทักษิณของเมือง สุสิมะเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอัน
    มีกรรมนั้นเป็นเหตุหรือหนอ ฯ
    สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๓๐๔] พ. ดูกรสุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ แต่
    การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้ นี้ยังมีผลรุนแรงและเผ็ดร้อน
    กว่านั้น และยังเป็นไปเพื่อวินิบาต แต่เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตาม
    ธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความ
    สำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ ฯ
    จบสูตรที่ ๑๐
    จบมหาวรรคที่ ๗
     
  2. 夕月夜顔だ

    夕月夜顔だ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    19
    ค่าพลัง:
    +4
    いいです.......
    :cool:
     
  3. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,427
    ค่าพลัง:
    +35,048
    สรุปอย่างนี้นะครับในกรณีนี้ คือ ตัดขันธ์ 5 ส่วนนามธรรม และดับอวิชชาได้ขาด แล้วความสามารถต่างๆจึงบังเกิดขึ้นมาเป็นการตัดในส่วนการตัดด้วยปัญญา ไม่ใช่มาจากการฝึกด้วยวิชาพิเศษ ประมาณนี้ไหมครับ..คุณ อุรุเวลา
     
  4. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ฯ :cool:
     
  5. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๒๙๒] พ. ดูกรสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี
    อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดีอยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่
    ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั่นอันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่
    ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี
    ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สังขาร
    ทั้งหลายทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของ
    เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
    วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอก
    ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดีในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมด
    นั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น
    เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
     
  6. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑/๓๐๔
    [๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท เป็นอนุโลมและปฏิโลม
    ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:-
    ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
    เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
    เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
    เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
    เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
    เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
    เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
    ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
    อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ
    เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
    เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
    เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
    เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
    เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
    เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
    เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
    เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
    เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
    เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
    เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.
     
  7. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [ame=http://www.youtube.com/watch?v=Vvubw8VPgZU]อิทัปปัจจยตา ตอนที่ ๑. - YouTube[/ame]
     
  8. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ญาณวัตถุ ๗๗

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖
    [๑๒๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณวัตถุ ๗๗ เป็นไฉน ญาณ
    วัตถุ ๗๗ นั้น คือความรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อชาติไม่
    มี ชราและมรณะจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาลความรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึง
    มี ๑ ความรู้ว่า เมื่อชาติไม่มีชราและมรณะจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะชาติ
    เป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า
    ธรรมฐิติญาณของชาตินั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความ
    รู้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล
    ความรู้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ๑ความรู้ว่า เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ๑ แม้ใน
    อนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อภพไม่มี ชาติจึง
    ไม่มี ๑ ความรู้ว่าธรรมฐิติญาณของภพนั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความ
    ดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ๑ ความรู้ว่าเมื่ออุปาทาน
    ไม่มี ภพจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ๑ ความ
    รู้ว่า เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะอุปาทานเป็น
    ปัจจัย ภพจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณ
    ของอุปาทานนั้น มีความสิ้นความเสื่อม ความคลาย ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่า
    ตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีต
    กาลความรู้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อตัณหาไม่มีอุปา
    ทานจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ๑ ความ
    รู้ว่า เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณของตัณหานั้น มีความ
    สิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่าเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
    ตัณหาจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี ๑แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า
    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี ๑ แม้ใน
    อนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อเวทนาไม่มี
    ตัณหาจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณของเวทนานั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความ
    คลาย ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่าเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ๑ ความรู้ว่า
    เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวท
    นาจึงมี ๑ความรู้ว่า เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า
    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี ๑ความ
    รู้ว่า ธรรมฐิติญาณของผัสสะนั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลายความดับเป็น
    ธรรมดา ๑ ความรู้ว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ๑ความรู้ว่า เมื่อสฬายตนะ
    ไม่มี ผัสสะจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่าเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึง
    มี ๑ ความรู้ว่า เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า
    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี๑ ความรู้ว่า เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี ๑
    ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณของสฬายตนะนั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความ
    ดับเป็นธรรมดา ๑ความรู้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อ
    นามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
    สฬายตนะจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล
    ความรู้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ๑ ความรู้ว่าเมื่อนามรูปไม่มี สฬาย
    ตนะจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณของนามรูปนั้นมีความสิ้น ความเสื่อม ความ
    คลาย ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ๑ ความ
    รู้ว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี ๑แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะวิญญาณเป็น
    ปัจจัย นามรูปจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล
    ความรู้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูป
    จึงไม่มี ๑ ความรู้ว่าธรรมฐิติญาณของวิญญาณนั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย
    ความดับเป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อ
    สังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย
    วิญญาณจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาลความรู้ว่า
    เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่อสังขารไม่มีวิญญาณจึงไม่มี ๑
    ความรู้ว่า ธรรมฐิติญาณของสังขารนั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับ
    เป็นธรรมดา ๑ ความรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า เมื่อ
    อวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี ๑ แม้ในอดีตกาลความรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร
    จึงไม่มี ๑ ความรู้ว่า เมื่ออวิชชาไม่มีสังขารจึงไม่มี ๑ แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า
    เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ๑ ความรู้ว่า เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี ๑ ความ
    รู้ว่า ธรรมฐิติญาณของอวิชชานั้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับเป็น
    ธรรมดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ญาณวัตถุ ๗๗ ฯ
     
  9. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    มหาอภิญญา

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙
    การบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา
    [๑๒๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุตนุ ใกล้พระนครสาวัตถี
    ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอนุรุทธะ
    ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงไปนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า
    ท่านอนุรุทธะบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน?
    [๑๒๗๑] ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราบรรลุภาวะแห่ง
    มหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?
    เราย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส
    ในโลกเสียได้ เราพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เราพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
    เราพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
    โทมนัสในโลกเสียได้
    ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราบรรลุภาวะแห่งมหาอภิชฌา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก
    ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล อนึ่ง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
    เราจึงได้รู้ธรรมอันเลว โดยความเป็นธรรมเลว รู้ธรรมปานกลาง โดยความเป็นธรรมปานกลาง
    รู้ธรรมอันประณีต โดยความเป็นธรรมอันประณีต.
     
  10. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    เป็นแฟนคลับกระทู้นี้แล้วล่ะ ^^

    นำมาลงเรื่อยๆนะครับ
     
  11. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑
    [๗๒๗] ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร ฯ
    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุดิน โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่
    พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็น
    สุข พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่
    ยินดี ย่อมคลายกำหนัดไม่กำจัด ย่อมดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น เมื่อพิจารณา
    เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละ
    สุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละ
    ความยินดีได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดได้ เมื่อดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน
    ย่อมละความยึดถือได้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายโดยอาการ ๗ นี้ กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏ
    ด้วย เป็นตัวสติด้วยภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึง
    เรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา ฯ
     
  12. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๓๕๓/๓๖๔
    [๗๒๘] ภิกษุมีปรกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร ฯ
    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่
    พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง ฯลฯ ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่นเมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็น
    ของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ ฯลฯ เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นเวทนาด้วยอาการ ๗ นี้เวทนาปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อม
    พิจารณาเห็นเวทนานั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นเวทนา
    ในเวทนาทั้งหลายว่า สติปัฏฐานภาวนา ฯ
    ภาวนา ในคำว่า ภาวนา มี ๔ ฯลฯ ภาวนาด้วยความว่า เป็นธรรมที่เสพ ฯลฯ ภิกษุ
    บางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นทุกขเวทนา ฯลฯ อทุกขมสุขเวทนา จักขุสัมผัสสชาเวทนา
    โสตสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ เมื่อสละคืนย่อมละความถือมั่นได้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนา
    ด้วยอาการ ๗ นี้ เวทนาปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นเวทนานั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
    ทั้งหลายว่า สติปัฏฐานภาวนา ฯ
     
  13. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๓๕๔/๓๖๔
    [๗๒๙] ภิกษุมีปรกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไร ฯ
    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นจิตมีราคะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่
    พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง ฯลฯ ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็น
    ของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ ฯลฯเมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นจิตด้วยอาการ ๗ นี้จิตปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นจิตนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า สติ
    ปัฏฐานภาวนา ฯ
    ภาวนา ในคำว่า ภาวนา มี ๔ ฯลฯ ภาวนาด้วยความเป็นธรรมที่เสพฯลฯ ภิกษุบาง
    รูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นจิตอันปราศจากราคะ จิตมีโทสะจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ
    จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
    จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่นจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้น จักขุวิญญาณ โสตวิญ
    ญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่
    พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง ฯลฯ ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น เมื่อพิจารณาเห็นโดยความ
    เป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ ฯลฯ เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ภิกษุย่อม
    พิจารณาเห็นจิตด้วยอาการ ๗ นี้ จิตปรากฏ ไม่ใช่สติสติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อม
    พิจารณาเห็นจิตนั้นด้วยสติและญาณนั้นเพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า
    สติปัฏฐานภาวนา ฯ
     
  14. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐
    [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทาน
    ขันธ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้
    เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความ
    เกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความ ดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร
    อย่างนี้ความดับ แห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับ
    แห่งวิญญาณ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณา
    เห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้ง ภายนอกบ้าง พิจารณา
    เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณา
    เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมใน ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้ง
    มั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียง สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา
    และทิฐิไม่อาศัย อยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุ
    ชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ฯ
     
  15. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑
    [๙๔] ปัญญาในการกำหนดปัจจัย เป็นธรรมฐิติญาณอย่างไร ปัญญาในการกำหนด
    ปัจจัยว่า อวิชชาเป็นเหตุเกิด เป็นเหตุให้เป็นไป เป็นเหตุเครื่องหมาย เป็นเหตุประมวลมา
    เป็นเหตุประกอบไว้ เป็นเหตุพัวพัน เป็นเหตุให้เกิด เป็นเหตุเดิม และเป็นเหตุอาศัยไปแห่ง
    สังขาร ด้วยอาการ ๙ ประการ อวิชชาจึงเป็นปัจจัย สังขารเกิดขึ้นแต่ปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้
    ต่างก็เกิดขึ้นแต่ปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี อวิชชาเป็นเหตุเกิด ...
    และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งสังขารด้วยอาการ ๙ ประการนี้ อวิชชาจึงเป็นปัจจัย สังขารเกิดขึ้น
    แต่ปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นแต่ปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า สังขารเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่ง
    วิญญาณ ฯลฯ วิญญาณเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งนามรูป ... นามรูปเป็นเหตุเกิด ...
    และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งสฬายตนะ... สฬายตนะเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่ง
    ผัสสะ ... ผัสสะเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งเวทนา ... เวทนาเป็นเหตุเกิด... และ
    เป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งตัณหา ... ตัณหาเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งอุปาทาน ...
    อุปาทานเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งภพ ... ภพเป็นเหตุเกิด ... และเหตุอาศัย
    เป็นไปแห่งชาติ ... ชาติเป็นเหตุเกิด ... และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งชราและมรณะ ...ปัญญาในการ
    กำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี ชาติเป็นเหตุเกิด เป็นเหตุให้เป็นไป เป็น
    เครื่องหมาย เป็นเหตุประมวลมา เป็นเหตุประกอบไว้ เป็นเหตุพัวพัน เป็นเหตุให้เกิด เป็นเหตุ
    เดิม และเป็นเหตุอาศัยเป็นไปแห่งชราและมรณะ ด้วยอาการ ๙ ประการนี้ ชาติจึงเป็นปัจจัย ชรา
    และมรณะเกิดแต่ปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นแต่ปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    [๙๕] ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า อวิชชาเป็นเหตุ สังขารอาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้
    ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นแต่เหตุดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี อวิชชาเป็นเหตุ
    สังขารอาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นแต่เหตุดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า สังขารเป็นเหตุ วิญญาณเกิดขึ้นแต่เหตุ... วิญญาณเป็น
    เหตุ นามรูปเกิดขึ้นแต่เหตุ ... นามรูปเป็นเหตุ สฬายตนะเกิดขึ้นแต่เหตุ ... สฬายตนะเป็นเหตุ
    ผัสสะเกิดขึ้นแต่เหตุ ... ผัสสะเป็นเหตุ เวทนาเกิดขึ้นแต่เหตุ ... เวทนาเป็นเหตุ ตัณหาเกิดขึ้น
    แต่เหตุ ... ตัณหาเป็นเหตุ อุปาทานเกิดขึ้นแต่เหตุ ... อุปาทานเป็นเหตุ ภพเกิดขึ้นแต่เหตุ ...ภพ
    เป็นเหตุ ชาติเกิดขึ้นแต่เหตุ ... ชาติเป็นเหตุ ชราและมรณะเกิดขึ้นแต่เหตุ แม้ธรรมทั้งสองนี้
    ต่างก็เกิดขึ้นแต่เหตุ ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี ชาติเป็นเหตุ ชราและ
    มรณะเกิดขึ้นแต่เหตุ แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นแต่เหตุ ดังนี้เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    [๙๖] ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า อวิชชาอาศัยปัจจัยเป็นไป สังขารอาศัยอวิชชา
    เกิดขึ้น แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี อวิชชาอาศัยปัจจัย
    เป็นไป สังขารอาศัยอวิชชาเกิดขึ้น แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้ เป็นธรรม
    ฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า สังขารอาศัยปัจจัยเป็นไป วิญญาณอาศัยสังขารเกิดขึ้น
    วิญญาณอาศัยปัจจัยเป็นไป นามรูปอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นามรูปอาศัยปัจจัยเป็นไป สฬายตนะ
    อาศัยนามรูปเกิดขึ้น สฬายตนะอาศัยปัจจัยเป็นไป ผัสสะอาศัยสฬายตนะเกิดขึ้น ผัสสะอาศัย
    ปัจจัยเป็นไป เวทนาอาศัยผัสสะเกิดขึ้น เวทนาอาศัยปัจจัยเป็นไป ตัณหาอาศัยเวทนาเกิดขึ้น
    ตัณหาอาศัยปัจจัยเป็นไปอุปทานอาศัยตัณหาเกิดขึ้น อุปทานอาศัยปัจจัยเป็นไป ภพอาศัยอุปทาน
    เกิดขึ้นภพอาศัยปัจจัยเป็นไป ชาติอาศัยภพเกิดขึ้น ชาติอาศัยปัจจัยเป็นไป ชราและมรณะอาศัย
    ชาติเกิดขึ้น แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี ชาติอาศัยปัจจัยเป็นไป
    ชราและมรณะอาศัยชาติเกิดขึ้น แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    [๙๗] ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารเกิดขึ้นเพราะปัจจัย
    แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี อวิชชาเป็นปัจจัย
    สังขารเกิดขึ้นเพราะปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดขึ้นเพราะปัจจัย วิญญาณ
    เป็นปัจจัย นามรูปเกิดขึ้นเพราะปัจจัย นามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะเกิดขึ้นเพราะปัจจัย สฬายตนะ
    เป็นปัจจัย ผัสสะเกิดขึ้นเพราะปัจจัยผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาเกิดขึ้นเพราะปัจจัย เวทนาเป็นปัจจัย
    ตัณหาเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานเกิดขึ้นเพราะปัจจัย อุปาทานเป็นปัจจัย
    ภพเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ภพเป็นปัจจัย ชาติเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะ
    เกิดขึ้นเพราะปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    ปัญญาในการกำหนดปัจจัยว่า ในอดีตกาลก็ดี ในอนาคตกาลก็ดี ชาติเป็นปัจจัย ชรา
    และมรณะเกิดขึ้นเพราะปัจจัย แม้ธรรมทั้งสองนี้ต่างก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ดังนี้ เป็นธรรมฐิติญาณ ฯ
    [๙๘] ในกรรมภพก่อน ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็นสังขาร ความ
    พอใจเป็นตัณหา ความเข้าถึงเป็นอุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพธรรม ๕ ประการในกรรมภพก่อน
    เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในอุปปัตติภพนี้ปฏิสนธิเป็นวิญญาณ ความก้าวลงเป็นนามรูป
    ประสาท (ภาวะที่ผ่องใสใจ) เป็นอายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็น
    เวทนาในอุปปัตติภพนี้ธรรม ๕ ประการในอุปปัตติภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในปุเรภพ
    ความหลงเป็นอวิชชา กรรมที่ประมวลมาเป็นสังขาร ความพอใจเป็นตัณหา ความเข้าถึงเป็น
    อุปาทาน ความคิดอ่านเป็นภพ (ย่อมมี) เพราะอายตนะทั้งหลายในภพนี้สุดรอบ ธรรม ๕ ประการ
    ในกรรมภพนี้เหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในอนาคต ปฏิสนธิในอนาคตเป็นวิญญาณ ความ
    ก้าวลงเป็นนามรูป ประสาทเป็นอายตนะ ส่วนที่ถูกต้องเป็นผัสสะ ความเสวยอารมณ์เป็นเวทนา
    ธรรม ๕ ประการในอุปปัตติภพในอนาคตเหล่านี้ เป็นปัจจัยแห่งกรรมที่ทำไว้ในภพนี้ พระโยคาวจร
    ย่อมรู้ ย่อมเห็น ย่อมทราบชัด ย่อมแทงตลอด ซึ่งปฏิจจสมุปบาท มีสังเขป ๔ กาล ๓ ปฏิสนธิ ๓
    เหล่านี้ โดยอาการ ๒๐ ด้วยประการดังนี้
     
  16. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖
    [๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ ๒ อย่าง คือธรรมญาณ อันวยญาณ ๑
    เหล่านี้ของอริยสาวก เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้
    เราเรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะบ้าง ผู้มาสู่สัทธรรมนี้บ้าง เห็น
    สัทธรรมนี้บ้าง ประกอบด้วยญาณของพระเสขะบ้างประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะบ้าง ถึงกระ
    แสแห่งธรรมบ้าง เป็นอริยบุคคลผู้มีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง อยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ฯ
    [๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภพเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ตัณหาเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลายก็เวทนาเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ผัสสะเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สฬายตนะเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็นามรูปเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน ...
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารเป็นไฉน ...
    สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร ๑ วจีสังขาร ๑จิตสังขาร ๑ นี้เรียกว่าสังขาร
    เพราะอวิชชาเกิด สังขารจึงเกิด เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น
    คือความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ อาชีพชอบ ๑ พยายามชอบ ๑
    ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจไว้ชอบ ๑ ฯ
    [๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกรู้ชัดสังขารอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง
    สังขารอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งสังขารอย่างนี้ รู้ชัดปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร
    อย่างนี้นี้ชื่อว่า ความรู้ในธรรมของอริยสาวกนั้น อริยสาวกนั้นย่อมนำนัยในอดีตและอนาคต
    ไปด้วยธรรมนี้ ซึ่งตนเห็นแล้ว รู้แล้วให้ผลไม่มีกำหนดกาล อันตนได้บรรลุแล้ว อันตนหยั่งรู้แล้ว
    สมณะหรือพราหมณ์ ในอดีตกาลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ได้รู้สังขาร ได้รู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร
    ได้รู้ความดับแห่งสังขาร ได้รู้ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขารเหมือนอย่างที่เรารู้
    ในบัดนี้เหมือนกันทั้งนั้น สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาล แม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็จักรู้สังขาร
    จักรู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร จักรู้ความดับแห่งสังขาร จักรู้ปฏิปทาอันให้ถึง
    ความดับแห่งสังขาร เหมือนอย่างที่เรารู้ในบัดนี้เหมือนกันทั้งนั้น นี้ชื่อว่า อันวยญาณ
    ของอริยสาวกนั้น ฯ
    [๑๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ ๒ อย่าง คือธรรมญาณ ๑ อันวยญาณ ๑
    เหล่านี้ ของอริยสาวก เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้
    เราเรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะบ้างผู้มาสู่สัทธรรมนี้บ้าง
    เห็นสัทธรรมนี้บ้าง ประกอบด้วยญาณของพระเสขะบ้างประกอบด้วยวิชชา ของพระเสขะบ้าง
    ถึงกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นอริยบุคคลผู้มีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง
    อยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ดังนี้ ฯ
     

แชร์หน้านี้

Loading...