"บาร์มหาผัน"จุดกำเนิดวงการพระเครื่อง

ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 21 มิถุนายน 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    "บาร์มหาผัน"จุดกำเนิดวงการพระเครื่อง


    [​IMG]

    คำว่า "วงการ" หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีอาชีพหรือความสนใจอย่างเดียว หรือในแนวเดียวกัน ซึ่งสังคมปัจจุบันนั้น มีมากมายหลายวงการ ทั้งใหญ่และเล็ก

    วงการพระ ก็เป็นอีกกลุ่มบุคคลผู้มีอาชีพ มีความสนใจชื่นชอบสะสม พระบูชา พระเครื่อง เหรียญที่ระลึก เหรียญพระคณาจารย์ เครื่องรางของขลัง ตลอดจนวัตถุมงคลต่างๆ โดยเริ่มจากกลุ่มเพียงไม่กี่คน แล้วมีการรวมตัวกันมากขึ้นๆ เป็นลำดับ จนกล่าวได้ว่า ปัจจุบันวงการพระมีปริมาณผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ มากที่สุดวงการหนึ่งของประเทศไทย

    สำหรับพัฒนาการของวงการพระเครื่องนั้น อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักโบราณคดี และอาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก อธิบายให้ฟังว่า


    [​IMG]

    วงการพระ เริ่มก่อสร้างตัวเองมานานมาก โดยในสมัยก่อนก็จะนิยมสะสมกันในหมู่ผู้คุ้นเคยตามแต่ละท้องที่ เมื่อยุคแรกๆ จะเน้นความสนใจให้กับวัตถุมงคลต่างๆ ที่มีพุทธานุภาพโดดเด่นทางด้านคงกระพัน ผู้ที่ชื่นชอบเรื่องนี้ก็มักจะมารวมตัวกันตามร้านกาแฟ หรือแหล่งชุมนุมในกลุ่ม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

    การเริ่มต้นที่เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างของวงการพระเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยเริ่มจากกลุ่มคนผู้มีฐานะดีในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของความต้องการเสาะแสวงหาและสะสม

    เมื่อมีกำลังของผู้ต้องการครอบครอง ย่อมเกิดกลุ่มผู้ที่ขวนขวายหาวัตถุมงคลมาให้ได้ครอบครอง การแผ่ขยายทางความนิยมจึงเริ่มต้นขึ้น อันถือเป็นการกระตุ้นเร้าให้เกิดความสนใจ เสาะแสวงหาพระบูชา พระเครื่อง และวัตถุมงคลต่างๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนกลุ่มคนผู้สนใจทั่วๆ ไป ที่มีการจับกลุ่มกันตามท้องถิ่น หรือหมู่คณะของตน ก็เริ่มเข้ามารวมตัวกันขยายวงผู้สนใจมากขึ้น รวมถึงการสัญจรมารวมกลุ่มกับผู้สนใจในส่วนกลาง โดยมีจุดเริ่มต้นที่ตามใต้ต้นมะขาม ที่รายล้อมรอบสนามหลวง


    [​IMG]

    อ.ราม ยังบอกด้วยว่า ต่อมาเพื่อไม่ให้เป็นที่กีดขวางแก่ผู้สัญจรอื่นๆ เหล่าบรรดาผู้นิยมสะสมพระจึงพร้อมใจมารวมตัวกันที่ใต้ถุนศาลอาญา ในราวปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยกลุ่มคนผู้มีฐานะดีจะนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันที่ร้านกาแฟ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ที่เรียกกันในหมู่นักสะสมพระว่า "บาร์มหาผัน" (เป็นชื่อร้านกาแฟ ที่เจ้าของร้านชื่อ นายผัน ปัจจุบันร้านกาแฟนี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ แต่ไม่มีการรวมกลุ่มกันแล้ว ส่วนการที่เรียกร้านกาแฟว่า บาร์ ก็เป็นการเรียกสัพยอกให้ดูโก้หรู มิใช่สถานเริงรมย์ดังที่หลายท่านเข้าใจ)

    เมื่อผู้คนมากมายมารวมตัวกันบริเวณใต้ถุนศาลอาญา จนเกิดความพลุกพล่าน ดูไม่เหมาะสมกับสถานที่ราชการ จนเห็นสมควรที่จะพร้อมใจกันขยับขยายไปรวมกลุ่มกันที่ วัดมหาธาตุ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๔

    และในช่วงเวลานี้เอง ที่ระบบในการสะสมแลกเปลี่ยนจากเดิม เริ่มมีการเช่าบูชา ซื้อขาย เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นจุดเริ่มที่มีการแบ่งกลุ่มพระออกเป็น พระหลัก และพระย่อย รวมถึงการแบ่งพระเครื่องออกเป็นชุดๆ เช่น พระชุดเบญจภาคี พระชุดยอดนิยม และพระชุดอื่นๆ รองลงมา


    [​IMG]

    ครั้นปลาย พ.ศ.๒๕๑๒ วัดมหาธาตุต้องการปรับปรุงพื้นที่บริเวณวัด สำหรับให้นักท่องเที่ยวมานมัสการหลวงพ่อนาคภายในโบสถ์ ทำให้มีการย้าย "สนามพระ" มาอยู่บริเวณรอบวัดราชนัดดา หากแต่เนื้อที่ไม่เพียงพอรองรับ ปริมาณนักนิยมสะสมได้ จึงมีการแยกกลุ่มผู้สะสมส่วนหนึ่งมาอยู่ยังตลาดสดท่าพระจันทร์

    ซึ่งเดิมทีนั้น สนามพระท่าพระจันทร์ เป็นตลาดสดที่พ่อค้าแม่ค้าไม่นิยมมาทำการค้าขาย จนปล่อยให้รกร้าง มิได้ทำประโยชน์ใดๆ กลุ่มผู้นิยมสะสมพระจึงเข้ามาทำการปรับปรุง และเป็นแหล่งรวมนักนิยมสะสมพระ จนกลายเป็น สนามพระท่าพระจันทร์ ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

    "ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบาร์มหาผัน คือ ร้านถ่ายรูปพระเครื่อง นักเลงพระยุคนั้นจะไปถ่ายรูปพระเครื่อง "โมนาลิซ่า" ซึ่งเป็นร้านของ อ.ประชุม กาญจวัฒน์ ด้วยเหตุที่ท่านถ่ายภาพพระเครื่องและวัตถุมงคลไว้จำนวนมาก จึงได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมภาพพระเครื่องของขลัง ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีเชิงตำรา ว่าด้วยเรื่องราวของพระเครื่อง นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ในสมัยนั้น) ในเล่มมีภาพประกอบ (ขาวดำ) รวมเรื่องของพระสมเด็จทั้งหมด, ตระกูลพระกำแพง, รวมพระร่วง, พระผงสุพรรณ ฯลฯ พร้อมกับบัญญัติ ๑๐ ประการของนักเลงพระในยุคนั้นทั้งหมด หนังสือเล่มดังกล่าว จึงเป็นหนังสือพระเครื่องยุคบุกเบิกของวงการพระเครื่องเมืองไทยด้วย" อ.ราม กล่าว

    ตำนานสนามพระ

    นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร และประธานชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพพระเครื่อง บอกว่า สนามพระวัดมหาธาตุ สนามพระวัดราชนัดดา และสนามพระท่าพระจันทร์ จึงนับเป็นรูปธรรมของวงการพระในยุคแรก แม้สนามพระบางแห่งจะสูญหายไป แต่ก็มีสนามพระบางแห่งอยู่ยง เป็นศูนย์กลางของวงการพระมาโดยตลอด จนกระทั่งวงการพระมีการขยายตัวอย่างมาก ไม่เพียงพอรองรับปริมาณผู้สนใจในเรื่องพระจำนวนมาก ทั้งทวีคูณขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งเริ่มมีการขยาย "สนามพระ" หรือที่เรียกกันใหม่ในครั้งนั้นว่า "ศูนย์พระ" ไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ใน พ.ศ.๒๕๒๑ โดยประมาณ ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ นับเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีศูนย์พระเครื่องเข้าดำเนินการ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดศูนย์พระเครื่อง ชมรมพระเครื่อง รวมถึงร้านพระอิสระต่างๆ ต่อมาภายหลังทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

    ส่วนมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทราบถึงปริมาณผู้นิยมสะสมพระเครื่องว่า มีมากมายเพิ่มขยายอยู่ตลอดเวลาทั่วประเทศนั้น เนื่องจากทุกครั้งที่มีการจัดงานอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางของขลัง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "งานประกวดพระ" อันถือเป็นช่วงเวลาและสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมการพบปะของนักสะสมจำนวนมาก จากทั่วทุกสารทิศ ยิ่งนานวันก็ยิ่งเพิ่มขยาย ทำให้เกิดการก่อตั้งองค์กรเพื่อเป็นแกนกลางของหมู่ผู้นิยมสะสม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ในนาม "สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย" โดยมี อาจารย์ปรีชา ดวงวิชัย ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมท่านแรก กระทั่ง ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในสมัยต่อมา

    นายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า ระยะแรกของการก่อตั้งนี้ สมาคมยังไม่เป็นที่ยอมรับ ด้วยส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลระดับสูงของสังคม ทำให้ไม่เกิดความผสมผสานในวงการภาคส่วนรวม ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จต่อการดำเนินงาน

    กระทั่ง พ.ศ.๒๕๓๙ จึงมีการรวมกลุ่มอย่างจริงจังอีกครั้งของผู้นิยมสะสม ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด มีการก่อตั้งสมาคมขึ้นใหม่ ทั้งรูปแบบการจัดการ การดำเนินงาน ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีระบบ ระเบียบ ของการทำงาน รวมถึงการกระจายผู้บริหารไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนในการให้ความช่วยเหลือ ร่วมกันปรับปรุงและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีของวงการพระ โดยกระทำการสำเร็จรวมตัวเป็นองค์กรได้ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ และพร้อมเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.๒๕๔๒ จัดตั้งเป็น "สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย" ซึ่งดำเนินการมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยมี นายพยัพ คำพันธุ์ เป็นนายกสมาคม
    ที่มา http://www.soonphra.com/board/index.php?showtopic=77073
     
  2. มันตรัย

    มันตรัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    8,346
    ค่าพลัง:
    +8,189
    ขอบคุณมากๆครับ ใครเคยอ่านหนังสือเก่าๆอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้แน่นอน
     
  3. ครึ่งชีวิต

    ครึ่งชีวิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    4,178
    ค่าพลัง:
    +15,103
    [​IMG] สาธุ ขอรับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...