พระธรรมวราจารย์หลวงปู่นักพัฒนาและนักสังคมสงเคราะห์

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 12 เมษายน 2010.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    พระธรรมวราจารย์หลวงปู่นักพัฒนาและนักสังคมสงเคราะห์

    พระธรรมวราจารย์ หลวงปู่นักพัฒนา ผู้ที่ยังทำงานพัฒนาและสงเคราะห์ตลอดเวลาแม้ว่าจะอายุ 83 ปี แล้วก็ตาม
    โดย...สมาน สุดโต


    องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) นิมนต์ พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าอาวาส วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ ให้เดินทางไปประเทศปากีสถานเพื่อเยี่ยมชมและบูชาพุทธสถาน ที่ยังมีให้เห็นอย่างน่าอัศจรรย์แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาเกินกว่า 2,500 ปีแล้ว ทั้งนี้ตามคำเชิญของรัฐบาลปากีสถาน เมื่อวันที่ 22-28 มี.ค. 2553

    สวดมนต์ที่ปากีสถาน
    เมื่อไปถึงสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา เช่น โบราณสถานที่บุตคารา สวัตวัลเลย์ North West Frontier Province และ Shingardar Stupa พระธรรมวราจารย์ ได้นำสวดมนต์และบูชาสถานที่เหล่านั้น ทำเอาทุกท่านที่เป็นชาวพุทธเกิดความปลื้มปีติถึงกับขนลุกขนชันทีเดียว

    [​IMG]
    พระธรรมวราจารย์

    เสียงสวดมนต์ที่พุทธสถาน แวดล้อมด้วยหมู่บ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศปากีสถาน หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ปากีสถานรายงานข่าวว่า พระสงฆ์ไทยสวดด้วยภาษาที่ไม่เคยได้ยินมานานกว่า 2,500 ปี
    คณะที่เดินทางไปปากีสถานครั้งนี้ นอกจากพระธรรมวราจารย์แล้ว ก็มี พระ ดร.อานิล ศากยะ พระครูสะท้าน และพระอ๊าท ปิยศิลป์ สุปิยสิปโป ทั้งหมดสังกัดวัดบวรนิเวศวิหาร
    ส่วนฆราวาสได้แก่ พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. พร้อมกับภริยา ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ซีอีโอ ดีซี คอนซัลแตนท์ กิตติธัช ไทยอารี บริษัท เอวิส บริการรถเช่า และสื่อมวลชน 2 คน รวม 10 คนด้วยกัน
    เมื่อเห็นปฏิปทาท่านดังกล่าว ผมกราบเรียนถามประวัติและความเป็นมาของท่าน เมื่อได้ทราบต่างก็แปลกใจ เพราะท่านบอกว่าปีนี้ท่านอายุ 83 ปีแล้ว แต่สภาพร่างกายท่านแข็งแรง หน้าตาหนุ่มกว่าอายุ แม้กระทั่งนาง Bano Qudsia สตรีชาวมุสลิมอายุ 83 ปี ที่ชาวปากีสถานยกย่อง ยังออกปากว่าเห็นแล้วคิดว่าท่านอายุประมาณ 70 ปีเท่านั้น

    ประวัติย่อ
    ประวัติย่อๆ ท่านมีนามเดิมว่า แบน นามสกุล อุปกลิ่น เกิด ณ บ้านเกาะจาก ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ปี พ.ศ. 2471
    ท่านเขียนเล่าประวัติไว้น่าสนใจว่าเรียนจบชั้นประถมแล้ว อยากเรียนต่อแต่ไม่มีโอกาส จนกระทั่งอายุ 20 บวชพระ ที่วัดเกาะจาก เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ปี พ.ศ. 2491 จึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี และสอบได้ในปีนั้น ท่านเล่าว่าการเดินทางใน พ.ศ. นั้นแสนลำบาก แม้กระทั่งเดินทางไปสอบนักธรรมชั้นตรีที่สนามสอบรวมที่ อ.ปากพนัง ต้องแจวเรือไป 6 ชั่วโมง
    ตอนหนึ่งท่านเล่าว่าเมื่อสอบได้จึงมีความคิดว่าจะไปศึกษาต่อ ณ กรุงเทพมหานคร โดยเลือกเอา วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ท่านอาจารย์บอกว่า วัดบวรนิเวศวิหารระเบียบจัด จะต้องท่องพระปาฏิโมกข์กับสวดมนต์อีกหลายสิบสูตร จึงไปหาหนังสือพระปาฏิโมกข์เอามาท่อง ปรากฏว่าท่องจบภายใน 1 เดือน จึงท่องสวดมนต์ได้อีกหลายสูตร

    7 วัน 7 คืนถึงกรุงเทพฯ
    ท่านเล่าถึงการเดินทางมากรุงเทพฯ พ.ศ. 2492 ว่าหลังจากพบและร่ำลาพรอาจารย์วันรุ่งขึ้นเดินทางโดยทางเรือกลไฟ ค่าโดยสารพร้อมอาหาร 45 บาท ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน 7 คืน เรือชื่อ “มังกรทอง 2” มีกัปปิยภัณฑ์ติดตัวมาจำนวน 467 บาท โดยมีนายจรูญ แก้วจันทร์ เป็นลูกศิษย์นำทาง ขึ้นเรือที่ท่าสวัสดี กรุงเทพฯ วันที่ 20 พ.ค. ปี 2492 นั่งรถ 3 ล้อ ไปวัดบวรนิเวศวิหาร เข้าไปกราบพระมหาจับ อุคฺคเสโน พักกับท่านได้ 7 วัน ถึงวันที่ 27 พ.ค. ปี พ.ศ. 2492 เป็นวันที่รัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ณ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และได้อาราธนาพระภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ไปสดับปกรณ์ ขณะนั้นเป็นอาคันตุกะ แต่ได้รับอาราธนาไปด้วย เนื่องจากพระสงฆ์ไม่พอกับจำนวน เห็นพระบรมมหาราชวังครั้งแรกรู้สึกงงงวย ทึ่งในความงาม และกาลล่วงมาถึงวันที่ 12 ส.ค. ปี พ.ศ. 2511 ได้รับอาราธนาไปในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 36 พรรษา นั่งอันดับที่ 37 ขณะนั้นได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสามัญที่ พระโศภน คณาภรณ์ วันที่ 5 ธ.ค. ปี พ.ศ. 2510

    อาวุโสอันดับ 2 ในวัดบวร
    เมื่อเข้ามาพักวัดบวรนิเวศวิหาร พัก ณ ตำหนักจันทร์ จวนจะเข้าพรรษา ได้รับแจ้งว่าวัดบวรนิเวศวิหาร ยังไม่มีความประสงค์จะรับพระภิกษุเข้ามาอยู่ ท่านเจ้าคุณพระธรรมรัชมงคล (จับ) จึงนำไปฝากไว้ ณ วัดเขมาภิรตาราม

    [​IMG]
    พระธรรมวราจารย์และพัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. กับคณะที่เยี่ยมตักสิลาปากีสถาน
    ขณะที่อยู่วัดเขมาภิรตาราม ก็ยังตั้งใจทวนพระปาฏิโมกข์และท่องสวดมนต์ เพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าท่านเจ้าคุณพระเขมาภิมุขธรรม ชักจูงให้อยู่ ณ วัดเขมาภิรตารามต่อไปก็ไม่รับ โดยกราบเรียนว่า “ผมได้ตั้งใจว่า จะเข้าอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร”
    วันที่ 22 ม.ค. ปี พ.ศ. 2493 ก็เดินทางจากวัดเขมาภิรตาราม พัก ณ ตำหนักจันทร์ ทางวัดจัดให้พระมหามณี เป็นผู้ซ้อมสวดพระปาฏิโมกข์และสวดมนต์ ต้องให้จบภายใน 1 เดือน พระมหามณี บอกว่าหากไม่จบตามกำหนดจะให้ออก แต่สวดซ้อมภายใน 20 วันก็จบตามหลักสูตร จึงนำขึ้นถวายตัวแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และไปกราบกรรมการวัดทุกรูป ภายใน 15 วัน สามารถรู้จักกับพระภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารหมดทุกรูป
    เมื่อดูประวัติการเข้าอยู่วัดบวรนิเวศวิหารของหลวงปู่แล้ว ท่านถือว่าอาวุโสอันดับที่ 2 รองจาก พระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญญาคโม) ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น
    เมื่อสังกัดวัดบวรนิเวศสมปรารถนาได้สมัครเข้าเรียนภาษาบาลี โดยปีแรกเรียนบาลีไวยากรณ์ แต่เพื่อไม่ประมาทจึงได้ท่องบาลีไวยากรณ์ได้ 2 เล่ม คือเล่มนามนามและอาขยาต ทั้งนี้เพื่อจะสู้กับสามเณร มีพระภิกษุสามเณรเข้าศึกษาประมาณ 14 รูป มีพระมหาวีระ เปรียญธรรม 6 ประโยค เป็นครูสอน ต้องซ้อมสวดมนต์อีกครั้งในพระอุโบสถ ตอนเย็น พร้อมกับพระมหาบานเย็น บัดนี้ลาสิกขาแล้ว จึงจะสมบูรณ์ที่จะเข้าอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ. 2493 ไม่ได้สมัครสอบนักธรรมชั้นเอก เนื่องจากใช้สมองท่องสวดมนต์ ท่องบาลีไวยากรณ์ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2494 จึงสมัครสอบนักธรรมชั้นเอก พร้อมกับ ดร.ประยูร เวชปาน ปรากฏว่าสอบ นักธรรมชั้นเอกได้ การศึกษาภาษาบาลีเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยมิได้ติดต่อกับทางบ้านเลย การสื่อสารในสมัยนั้นลำบากมาก เขียนจดหมายก็ไปไม่ถึง

    โยมพ่อตายไม่รู้
    เดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2495 เวลาบ่าย ก็ได้รับโทรเลขครั้งแรก เปิดออกดู ลมเกือบจับ เพราะในโทรเลขบอกสั้นๆ ว่า “พ่อตายแล้ว เผาแล้ว ไม่ต้องกลับ” ลงชื่อ “ประภาส” (หลวงลุง) เข่าอ่อน แต่จำต้องทำใจ เพราะจะคร่ำครวญร้องไห้ก็เปล่าประโยชน์ แต่วันที่เห็นหน้าพ่อครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ปี พ.ศ. 2492 ซึ่งไปส่ง ณ เรือมังกรทอง 2 แต่นั้นก็มีความตั้งใจศึกษาภาษาบาลี เพื่อให้มีคำนำหน้าชื่อว่า “มหา” ปี พ.ศ. 2496 เข้าสอบเปรียญธรรม 3 ประโยคปรากฏว่าสอบตก
    ในปีนั้นเดินทางไปวัดเกาะจาก เพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่โยมพ่อ แล้วปฏิญญาในใจว่า “หากสอบไม่ได้เป็นมหา จะไม่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีก” ปรากฏว่าสอบตกอีก จึงมุมานะแปลธรรมบท 8 เล่ม 8 ภาค 8 วัน ได้ 1 จบ แปลเสียงดัง จนขึ้นชื่อลือนาม ในที่สุดก็แปลหนังสือได้ถึง 12 จบ อันเป็นการทำสถิติไว้ให้รุ่นน้องทำตาม และสอบได้เป็นมหา สมใจนึกและสอบสูงสุดเพียง ป.ธ. 5 ปี พ.ศ. 2500 หันไปเรียนสภาการศึกษามหามกุฏฯ จบเป็นรุ่นที่ 10 แต่ได้รับการประสาทปริญญาตรี เมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโศภนคณาภรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 และทำงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2509–2541 อายุ 72 ปี

    ชำนาญหลายด้าน
    เมื่อมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ได้เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด กับทั้งได้เป็นผู้คำนวณการย้ายราศีของดวงดาวให้แก่พระพรหมมุนี (ผิน) ผู้เป็นโหราศาสตร์อันขึ้นชื่อในสมัยนั้น และมีความรู้ไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนไฟฟ้าจาก 110 วัตต์ เป็น 220 วัตต์ ได้รับมอบหมายจากกรรมการ วัดบวรนิเวศวิหารให้เป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนไฟฟ้าทั้งวัด กับทั้งมีความรู้พิเศษ คือสามารถเขียนใบแต่งตั้งฐานานุกรม ใบปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรของสถาบันต่างๆ เขียนวุฒิบัตรตลอดถึงใบอนุโทนาบัตร ฯลฯ งานอดิเรกคือแต่งหนังสือ สะสมของมีค่า และวัตถุโบราณ นับพันชิ้นจนสามารถตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ได้

    ภูมิใจ
    สิ่งภูมิใจคือการสร้างวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ เริ่มก่อสร้างมาแต่ปี พ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2549 มีหอพักสำหรับพระภิกษุสามเณร 200 ห้องนอน มีกุฏิจำนวน 28 หลัง มีอาคารเรียนขนาดใหญ่ 2 หลัง มีห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติขนาดใหญ่ 1 หลัง กลุ่มอาคารศูนย์เด็กเล็ก 6 หลัง และตึกหอพัก 84 ห้องนอน เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 1 หลัง รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 18 ปี สิ้น ค่าก่อสร้างโดยประมาณ 161 ล้านบาทเศษ
    ท่านพูดถึงสมณศักดิ์ว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนมาตามลำดับ จากพระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี (ผิน) เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโศภนคณาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ปี พ.ศ. 2510 พระราชสุมนต์มุนี วันที่ 5 ธ.ค. ปี พ.ศ. 2520 พระเทพวราจารย์ วันที่ 5 ธ.ค. ปี พ.ศ. 2531 พระธรรมวราจารย์ วันที 5 ธ.ค. ปี พ.ศ. 2537
    ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง และยังทำงานพัฒนาและสงเคราะห์ตลอดเวลาแม้ว่าจะอายุ 83 ปี แล้วก็ตาม


    [​IMG]
    พระธรรมวราจารย์หลวงปู่นักพัฒนาและนักสังคมสงเคราะห์
     

แชร์หน้านี้

Loading...