พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน9องค์ ณ วังหน้า

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย aprin, 1 พฤษภาคม 2011.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ในวันที่กรมศิลปากรจัดพิธีฉลอง 100 ปี แห่งการก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 นั้น โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ได้เชิญประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติไปกราบบูชาพระพุทธสิหิงค์ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้เพราะพระพุทธสิหิงค์ เป็น 1 ใน พระพุทธรูป 9 องค์แห่งวังหน้า ที่กรมศิลปากรระบุว่าเป็นพระปฏิมาแห่งแผ่นดิน (ตามชื่อที่ระบุไว้ในอัลบั้มภาพพระพุทธรูป 9 องค์)

    กรมศิลปากร ได้ให้รายละเอียดและความเป็นมาพระพุทธรูปทั้ง 9 องค์ ไว้พอสมควร ผมจึงขออนุญาตนำมาตีพิมพ์พร้อมทั้งภาพพระพุทธรูปสำคัญดังกล่าว
    พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน ณ วังหน้าทั้ง 9 องค์นั้น ได้แก่

    1.พระพุทธสิหิงค์
    พระปฏิมาแบบสุโขทัย–ล้านนา
    อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 (ประมาณ 500–600 ปีมาแล้ว)
    นับถือเป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์จึงสถิตเป็นมงคลแก่พระนคร ประจำ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

    กรุงเทพมหานครได้อัญเชิญออกให้ประชาชนถวายน้ำสงกรานต์เป็นประจำทุกปี นับเป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์และสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง

    2.พระหายโศก
    พระปฏิมาศิลปะล้านนา
    พุทธศตวรรษที่ 21 (ประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว)

    เป็นพระพุทธรูปของหลวงพระราชทาน มีนามเป็นมงคลพิเศษ จากจารึกฐานพระพุทธรูปกล่าวว่าส่งมาถึงกรุงเทพฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2399 เดิมคงใช้ในพระราชพิธีหลวง จนกระทั่งกรมพระราชพิธีส่งมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานเมื่อ พ.ศ. 2474 เชื่อกันว่าพระพุทธรูปจะอำนวยความสุข สวัสดี

    3.พระไภษัชยคุรุ
    ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 17–18 (ประมาณ 800-900 ปี)
    แสดงปางสมาธินาคปรกทรงเครื่อง มีผอบบรรจุพระโอสถอยู่ในพระหัตถ์ เป็นพระพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ผู้ช่วยสัตว์โลกทั้งปวงให้พ้นทุกข์อันเกิดจากโรคทางกายและโรคทางใจ ตลอดจนช่วยให้มีชีวิตยืนยาว เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระบารมีเชื่อกันว่าผู้ปฏิบัติบูชา พระไภษัชยคุรุ สามารถหายจากอาการเจ็บป่วยทางกายและใจ ด้วยการสวดบูชาออกพระนามและสัมผัสรูปพระปฏิมาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกรุงกัมพูชา สร้างพระราชทานเป็น|พระปฏิมาประธานในอโรคยาศาลา เพื่อผู้ป่วยและประชาชนบูชาจะได้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

    4.พระชัยเมืองนครราชสีมา
    ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 19-20 (ประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว)
    เดิมพระชัยฯ สร้างขึ้นเป็นมงคลในการศึกสงคราม เพื่อความมีชัยชนะต่ออริราชศัตรู ต่อมาอัญเชิญไปในพิธีการด้วย เรียกว่าพระชัยพิธี เพื่อให้การพิธีสัมฤทธิผล ปราศจากการเบียดเบียนบีฑาจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ พระชัยเมืองนครราชสีมา แสดงปางมารวิชัย คือครั้งพระพุทธองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพระยามาราธิราช พระองค์เบื้องหน้า เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) พระนลาฏ (หน้าผาก) พระศอ (คอ) พระอังสา (ไหล่) และพระกรทั้งสองจารึกอักขระขอม ภาษาบาลี อายุอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 เป็นยันต์และหัวใจพระคาถาต่างๆ เช่น หัวใจพระคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ (นะ โม พุท ธา ยะ) หมายถึง ชัยชำนะโดยยึดถือคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย

    5.พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ
    ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22-23 (ประมาณ 300-400 ปีมาแล้ว)
    สร้างขึ้นตามคติเรื่องชมพูบดีสูตรหรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี โดยทรงบันดาลพระเวฬุวันวิหารประดุจเมืองสวรรค์ และเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช แสดงบุญญานุภาพเหนือพระยามหากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อคลายทิฐิมานะแห่งพระยามหาชมพูกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ และทรงแสดงธรรมจนกระทั่งพระยามหาชมพูสิ้นมานะ ขอบวชเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิจึงหมายถึงอำนาจและธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระพุทธรูปดังกล่าวนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับถือเป็นหน่อพุทธางกูร

    6.พระแก่นจันทน์คู่
    ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (ประมาณกว่า 200 ปีมาแล้ว)
    เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ ตามตำนานพระแก่นจันทน์มีเนื้อความว่าด้วยสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดายังดาวดึงส์สวรรค์เป็นเวลา 3 เดือน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอนุสรณ์ถึงพระพุทธองค์จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ขึ้นในครั้งนั้น พระแก่นจันทน์จึงเป็นรูปแทนเสมือนองค์พระพุทธเจ้า เพราะสร้างในขณะพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าแผ่นดินและผู้มีอำนาจวาสนาจึงมักสร้างพระพุทธรูปจากไม้จันทน์หอม พระไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่นี้แสดงปางประทานอภัย มีความหมายถึงการปกป้องภยันตรายทั้งปวง

    7.พระพุทธรูปหลวงพ่อนาก
    ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 (ประมาณ 500 ปีมาแล้ว)
    เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ พระองค์สีนาก เนื่องจากเนื้อสำริดมีส่วนผสมของทองคำมากเป็นพิเศษ พระเนตรฝังนิล ประทับขัดสมาธิเพชรพระบาททั้งสองข้างจำหลักลวดลายมงคล จารึกฐานพระพุทธรูประบุว่าพระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 เดิมคนร้ายขุดค้นพบในเจดีย์โบราณ ที่วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จ.พะเยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้พร้อมของกลางที่ จ.ลำปาง ต่อมาหลวงดุลยธารณปรีชาไวท์ ผู้พิพากษาศาล จ.เชียงราย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2469 จึงพระราชทานให้เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ หมายถึงการตรัสรู้ธรรม

    8.พระพุทธรัตนมหามุนี (พระแก้วน้อย)
    ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 (ประมาณ 500 ปีมาแล้ว)
    เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ องค์พระพุทธรูปจำหลักจากอัญมณีเนื้ออ่อนแก้วสีเขียวน้ำแตงกวา พุทธศิลป์ล้านนาสมัยหลัง ทรงเครื่องทองและอัญมณี เดิมพบแตกเป็น 2 ส่วน เจ้าของเดิมได้มาคนละคราวนำมาต่อเป็นเนื้อเดียวกันได้เป็นอัศจรรย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับถวายจาก พ.ต.อ.อานนท์ อาขุบุตรและครอบครัว พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2534

    ณ มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ มีพระพุทธรูปสำคัญแต่ไม่อยู่ในบัญชี 9 องค์นั้นที่พอระบุได้คือพระพุทธรูปบุเงินและบุทอง เป็นพระพุทธรูปยืนอยู่ใต้ฉัตรแก้ว 5 ชั้น อยู่ซ้ายและขวาของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปหินอ่อน ปางสมาธิ 1 คู่ โดยมีพระนากประดิษฐานตรงกลาง ที่นอกเหนือจากนี้คือพระพุทธรูปศิลปะพม่าที่ทำจากหยก และพระอังคีรส ที่วัดเบญจมบพิตรมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

    ประวัติพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
    ส่วนประวัติพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีย่อๆ ว่า เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

    เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จทิวงคตของ รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    พระที่นั่งสุทธาสวรรย์จึงเป็นท้องพระโรงและเป็นที่ทำการพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นต้น รวมทั้งเคยเป็นที่ตั้งพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ 2 ด้วย
    ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ใหม่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า การปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้เป็นที่น่าชมอย่างหนึ่งที่ของเดิมสิ่งใดดีเอาไว้หมดทุกอย่าง เป็นแต่ซ่อมแซมที่ชำรุด จึงยังแลเห็นของเดิมที่ทำโดยประณีตบรรจงมาจนทุกวันนี้ พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” เป็น “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์”

    ส่วนการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กลับมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์อีกครั้ง เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญกลับมาและสถิตถาวร ณ พระที่นั่งพุทไธสววรย์ ตราบเท่าทุกวันนี้

    [​IMG]

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน9องค์ ณ วังหน้า
     
  2. ญ.ผู้หญิง

    ญ.ผู้หญิง ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,419
    ค่าพลัง:
    +26,932
    โมทนากับท่าน จขกท. กับบทความธรรมทานดี ๆ เช่นนี้ค่ะ



    [​IMG][/COLOR][/SIZE]
    ทริปเป่ายันต์เกราะเพชรวัดท่<wbr>าขนุน-อุทยานสงคราม ๙ ทัพ-โรงถ่ายตำนาน "พระนเรศวร" ๗ พ.ค. (ว่าง) [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...