พระอาจารย์เนียม โชติโก พระอนาคามีผู้จะบรรลุอรหันต์ที่ชั้นพรหม

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย คนมีกิเลส, 11 เมษายน 2010.

  1. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,431
    พระอาจารย์เนียมเป็นผู้หนึ่งที่มีพลังจิตที่พอจะแก้ไขได้ จึงนับว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งซึ่งใครๆ ไม่เคยกล่าวขวัญถึงเลย

    โดย...ภัทระ คำพิทักษ์


    ในหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งบันทึกไว้โดย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ตอนหนึ่งว่าไว้ด้วย “เรื่องพระที่มรณภาพในวัดหนองผือ” ว่า มีศิษย์พระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งซึ่งอยู่รับการอบรมศึกษาจากพระอาจารย์มั่น ที่วัดหนองผือ ซึ่งต่อมาคือ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร แล้วมรณภาพที่นั่น และพระอาจารย์มั่นได้ระบุว่า ศิษย์ของท่านรูปนั้นได้ไปจุติในพรหมโลกชั้น 6
    ศิษย์รูปนั้นคือผู้ใด?
    บันทึกพระอาจารย์มหาบัว มิได้ระบุชัดบอกเพียงว่า
    “...ระยะที่ท่านอาจารย์พักอยู่วัดหนองผือมีพระตายในวัด 2 องค์ ตายบ้านนาในอีก 1 องค์ องค์แรกอายุราวกลางคน ท่านองค์นี้บวชเพื่อปฏิบัติโดยเฉพาะ และปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์แบบเข้าๆ ออกๆ เรื่อยมาแต่สมัยท่านอยู่เชียงใหม่ และติดตามท่านจากเชียงใหม่มาอุดรธานี สกลนคร แล้วมามรณภาพที่วัดหนองผือ ทางด้านจิตตภาวนาท่านดีมาก ทางสมาธิ ส่วนทางปัญญากำลังเร่งรัดโดยมีท่านอาจารย์เป็นผู้คอยให้นัยเสมอมา ท่านมีนิสัยเคร่งครัดเด็ดเดี่ยวมาก เทศน์ก็เก่งและจับใจไพเราะมาก ทั้งที่ไม่ได้หนังสือสักตัว เทศน์มีปฏิภาณไหวพริบปัญญาฉลาด สามารถยกข้อเปรียบเทียบมาสาธกให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างง่ายๆ


    [​IMG]

    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    แต่น่าเสียดาย ท่านป่วยเป็นวัณโรคกระเสาะกระแสะมานาน มาหนักมากและมรณะที่วัดหนองผือ ตอนเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. ด้วยท่าทางอันสงบสมเป็นนักปฏิบัติทางจิตมานานพอสมควรจริงๆ เห็นอาการท่านในขณะจวนตัวและสิ้นลมแล้วเกิดความเชื่อเลื่อมใสในท่าน และในอุบายวิธีของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่าที่ควร ก่อนจะมาถึงวาระสุดท้ายซึ่งเป็นขณะที่ต้องช่วยตัวเองโดยเฉพาะ ไม่มีใครแม้รักสนิทอย่างแยกไม่ออกจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จิตจะมีทางต้านทานสู้กับสิ่งเป็นภัยแก่ตนได้อย่างเต็มกำลังฝีมือที่มีอยู่และแยกตัวออกได้โดยปลอดภัย เพราะวาระสุดท้ายเป็นข้าศึกศัตรูต่อตัวเองอย่างสำคัญ ใครมีอุบายฉลาดหรือขลาดเขลาเมามัวเพียงไร ก็ต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์อันนี้จนได้ ผู้ช่วยตัวเองได้ก็ดีไป ผู้ช่วยตัวเองไม่ได้ก็จมไป และจมอยู่ในความไม่เป็นท่าของตนโดยไม่มีใครช่วยได้
    ฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท เป็นต้น ซึ่งแปลเอาความว่า ก็เมื่อโลกอันความมืดด้วย ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนไฟกองใหญ่ไหม้ลุกโพลงอยู่ทั้งวันทั้งคืนเช่นนี้ ยังพากันหัวเราะเฮฮาหน้ายิ้มอยู่ได้ ทำไมไม่พากันแสวงหาที่พึ่งเสียแต่บัดนี้เล่า? อย่าพากันอยู่แบบนี้ เดี๋ยวจะพากันไปแบบนี้ ตายแบบนี้ แล้วก็เสวยผลทนทุกข์แบบนี้กันอีกไม่มีสิ้นสุดได้ดังนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเตือนหมู่ชนไม่ให้ลืมตัวจนเกินไป พระคาถาที่ทรงเตือนไว้นั้นฟังแล้วน่าอับอายแทบมุดหน้าลงในดิน กลัวพระองค์จะทรงมองหน้าตนที่เพลิดเพลินไม่รู้จักตาย อายก็อาย อยากก็อยาก รักก็รัก เกลียดก็เกลียดเพราะนิสัยของปุถุชนมันหากดื้อด้านอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ทราบจะทำอย่างไรจึงจะละได้ นี้เหมือนเป็นคำที่ทูลตอบพระองค์ด้วยความละอายที่ตนละไม่ได้ตามคำที่ทรงตำหนิ
    ที่เขียนเรื่องพระองค์ที่มรณภาพในวัดหนองผือแทรกลงในประวัติท่านบ้าง เนื่องจากเห็นว่าเป็นคติแก่พวกเราอยู่บ้าง ซึ่งกำลังเดินทางไปสู่จุดนั้นด้วยกัน ได้พิจารณาเพื่อตัวเองในวาระต่อไป
    ขณะท่านองค์นั้นจะสิ้นลม ท่านอาจารย์มั่นและพระสงฆ์ซึ่งกำลังจะออกบิณฑบาต ได้พากันแวะไปปลงธรรมสังเวชที่กำลังแสดงอยู่อย่างเต็มตา พอท่านสิ้นลมแล้วชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นขณะที่ท่านอาจารย์กำลังยืนรำพึงอยู่อย่างสงบ ได้พูดออกมาด้วยท่าทางเคร่งขรึมว่า “ไม่น่าวิตกกับเธอหรอก เธอขึ้นไปอุบัติที่อาภัสรา พรหมโลกชั้น 6 เรียบร้อยแล้ว” นับว่าหมดปัญหาไปสำหรับท่านในครั้งนี้ แต่เสียดายอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าท่านมีชีวิตยืดเวลาเร่งวิปัสสนาให้มากยิ่งกว่านี้บ้าง ก็มีหวังได้ขึ้นพรหมโลก 5 ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วเตลิดถึงที่สุดเลย ไม่ต้องกลับมาวกเวียนในวัฏวนนี้อีก...”
    เมื่อพลิกประวัติหนังสือ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต พบว่า หลวงปู่หล้าได้บันทึกถึงคุณธรรมของ “พระอาจารย์เนียม” ผู้ซึ่งหลวงปู่มั่นได้กล่าวไว้ว่า “ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้วไปเกิดชั้นหกอาภัสรา”
    นี่ย่อมทำให้พอสรุปได้ว่า พระอาจารย์เนียมรูปนี้ คือ ศิษย์พระอาจารย์มั่นผู้มรณภาพแล้วได้ “ไปอุบัติที่อาภัสรา พรหมโลกชั้น 6” ทันทีที่ท่านละขันธ์
    พระอาจารย์เนียมเป็นใคร?
    ไม่มีหนังสือประวัติว่าด้วยเรื่องราวของพระอาจารย์เนียม แต่ในหนังสือชีวประวัติหลวงปู่หล้า ท่านระบุไว้ในเรื่องจัดการศพพระอาจารย์เนียมว่า พระอาจารย์เนียมมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ “โยมแพง” ซึ่งอยู่ที่บ้านโคกนามน จ.สกลนคร
    นั่นหมายความว่า พระอาจารย์เนียมก็คือ คนบ้านโคกนามนนั่นเอง
    พลิกไปเปิดอนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ แม่พุ่ม งามเอก มารดาของ น.อ.เกษม งามเอก ผู้สร้างเหรียญหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อันลือลั่น ในนั้นมีบันทึกประวัติหลวงปู่มั่น ฉบับพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร มีความตอนหนึ่งว่า
    “ระหว่างที่ท่าน (หลวงปู่มั่น) ได้อยู่ทางเชียงใหม่นี้ มีผู้มาศึกษามาก ตามที่ข้าพเจ้าได้ฟังจากท่านมา แต่ก็ไม่หมดเสียทีเดียวดังนี้
    พระอาจารย์เนียม โชติโก พระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระอาจารย์ปลัดทองสุก ธัมมคุตโต พระอาจารย์พรหม พระอาจารย์สิม พระอาจารย์ชอบ พระอาจารย์มนู พระอาจารย์เหรียญ เข้ามาในราว พ.ศ. 2480...”
    นอกจากนี้ พระอาจารย์วิริยังค์ ยังระบุไว้ในหนังสือ “ชีวิตคือการต่อสู้” หน้า 164-165 ถึงประวัติคราวไปพัก จำพรรษา ณ วัดป่านาคนิมิตต์ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยจำพรรษาในช่วงปีพ.ศ. 2485 หรือปีพ.ศ. 2486 ว่า ครั้งนั้นท่านได้จำพรรษากับพระอาจารย์เนียม ณ วัดป่านาคนิมิตต์ โดยได้กล่าวถึงประวัติท่านพระอาจารย์เนียมละเอียดขึ้นว่า
    “ท่านอาจารย์เนียมได้อุปสมบทหลังจากมีภรรยาแล้ว มีความเบื่อหน่ายฆราวาส ท่านมิได้เรียนหนังสือมาก่อนเลย หมายความว่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย แต่ว่าเมื่อท่านบวชแล้วท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่น ได้เรียนกรรมฐานกับท่าน แล้วก็พยายามปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ทีเดียว ทั้งในใจในการไต่ถามปฏิบัติจนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ เมื่อปีพ.ศ. 2475
    พระอาจารย์เนียม ก็ได้ธุดงค์ลงไปถึง จ.นครราชสีมา พร้อมกับพระอาจารย์อีกหลายองค์ มีพระอาจารย์สิงห์ เป็นหัวหน้า มีคนสำคัญอยู่คนหนึ่งคือหลวงชาญ ได้ไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์เนียม เกิดความเลื่อมใสในคณะกรรมฐานอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านพระอาจารย์เนียมท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านนำธรรมมาแสดงแด่หลวงชาญได้อย่างไร นี้ก็น่าคิด แต่ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมจนเกิดธรรมภายในได้แล้ว ก็เห็นเป็นของธรรมดา ปรากฏต่อมาว่า หลวงชาญเกิดความเลื่อมใส ถวายที่ของตนให้สร้างวัด จนปรากฏชื่อ วัดป่าสาลวัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้
    ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์มั่น ได้ใช้ให้เป็นผู้คอยแก้พระภิกษุสามเณรที่หลงวิปัสสนูปกิเลส เพราะบางองค์ที่บำเพ็ญความเพียรอย่างหนักเกิดความเข้าใจผิด หลงตัวว่าได้สำเร็จพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สำเร็จเพราะอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส ทำให้เข้าใจไปเช่นนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากขณะที่เกิดวิปัสสนูปกิเลสนั้น มีทั้งความผ่องใส ลึกซึ้งยังกับหมดกิเลสซึ่งแต่ละรูปที่หลงนั้นย่อมมั่นหมายในตัวเองมาก ยากที่จะแก้ไขได้ หากไม่มีวิธีแก้ จะติดไปนานมากทีเดียว
    การเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นแก่รูปใด พระอาจารย์เนียมเป็นผู้หนึ่งที่จะต้องถูกพระอาจารย์มั่น ใช้ให้ไปแก้ไขเพื่อให้ท่านเหล่านั้นกลับใจ ดำเนินไปตามทางที่ถูก การแก้ผู้หลงวิปัสสนูปกิเลสนี้ มิใช่ง่ายเลย เพราะความเข้าใจผิดของผู้เป็นนั้นลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่จะไปแก้เขานั้นจะต้องมีกำลังจิตมากทีเดียว หากแต่จะใช้เพียงวาทะถ้อยคำ ก็ยากนักที่จะแก้ได้
    พระอาจารย์เนียมจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีพลังจิตที่พอจะแก้ไขได้ จึงนับว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งซึ่งใครๆ ไม่เคยกล่าวขวัญถึงเลย แต่กับผู้เขียน (หลวงปู่วิริยังค์) สนิทสนมกันมาก
    พระอาจารย์เนียมได้มรณภาพที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม ที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ 5 ปีนั้นเอง ท่านป่วยด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ท่านอาจารย์ก่อเชิงตะกอนด้วยท่อนไม้ทำฌาปนกิจศพแก่พระภิกษุสามเณรที่มรณภาพกับท่านเช่นนี้ โดยปกติเพราะได้เคยพูดไว้เสมอว่าซากอสุภะ ร่างกายที่ตายนั้น ควรแก่การที่จะพึงพิจารณาให้เป็นสักขีพยานในการปลงธรรมสังเวชเท่านั้น ส่วนการบำเพ็ญกุศลที่จะพึงอุทิศผลไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีร่างกายที่สิ้นลมแล้วจะมาเป็นผู้คอยรับส่วนกุศล จะอย่างไรก็ตามผู้เขียน (หลวงปู่วิริยังค์) ก็ได้ถือว่าท่านพระอาจารย์เนียมเป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิสูงผู้หนึ่ง”
    หลวงปู่หล้าให้รายละเอียดถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่เนียมว่า “ในปีพ.ศ. 2489 นั้นเอง เป็นเดือนพ.ค. แรม 7 ค่ำ เวลาเช้าบิณฑบาตมาถึงวัดแล้ว กำลังเตรียมแต่งบาตรฉัน พระเนียมมีพรรษาล่วงไปสิบแปดพรรษา องค์ท่านป่วยมาประมาณ 1 เดือนกว่า องค์ท่านตั้งเตียงพักอยู่โรงจงกรมเก่าของหลวงปู่มั่นใกล้กับศาลาฉันอาหารประมาณเจ็ดแปดวา ได้สิ้นลมปราณไปแบบสุภาพ ไม่มีสกลกายกระดิกหรือเคลื่อนไหวอันใด ปรากฏเห็นแต่ลมเบาไป หมดไปเท่านั้น
    งามมาก น่าเคารพมาก น่าเลื่อมใสมาก ไม่อั๊ก ไม่แอ๊ก ไม่ยักคิ้ว ยักสบปาก ยักจมูก หลับตาสุภาพอยู่ ผู้เขียนได้เห็นกับตา พิจารณากับใจ พระอาจารย์บัวก็ได้เห็นด้วย
    หลวงปู่มั่นอยู่ศาลาก็ทราบแล้วเพราะได้กราบเรียน หลวงปู่มั่นปรารภว่า เออ ท่านเนียมก็ไปแล้ว ในส่วนสิ้นลมปราณ เธอเล่ากับเราบ่อยๆ ว่า รู้จักวิธีภาวนาแห่งสมมติแล้ว พวกเธอมาศาลาฉันเช้าซะ ปล่อยให้อยู่นั้นเสียก่อน ฉันเสร็จเก็บบริขารแล้วจึงพูดกันใหม่
    แล้วก็ปล่อยไว้ ไม่มีใครเฝ้าอยู่ดอก เมื่อฉันเสร็จแล้ว ขนบริขารขึ้นกุฏิเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่มั่นเดินมาจากกุฏิองค์ท่าน พอมาถึงศพ ก็ก้มลงจับเสื่อสองมือซ้ายและขวาทางหัวศพ พร้อมทั้งกางขาออกขึงขัง พร้อมทั้งปรารถว่า พวกเรานี้มันขี้โง่พากันมาเกิดมาตายเล่นเผากันเล่นอยู่ พอตกคำปรารถ พระอาจารย์มหาว่า ถ้าจะเอาจริงๆ พวกเกล้าจะพากันเอาดอก ว่าแล้วยกมือใส่หัว แกะมือหลวงปู่ออก หลวงปู่ตอบว่า เราไม่ใช่ทำเล่นดอก
    ทีนี้พระก็รุมกันจับเสื่อโดยรอบศพเป็นวง พระพวกผู้ใหญ่อยู่ทางหัวศพ พระผู้ขนาดกลางอยู่ระหว่างกลางตัวศพ พวกพระผู้น้อยก็อยู่ทางเท้าศพ ชูกันไปถึงริมวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้ในบริเวณวัด
    หลวงปู่มั่น ปรารถว่า ไปบอกโยมบ้านหนองผือว่า หลวงปู่จะพาเผาศพพระอาจารย์ด่วนเดี๋ยวนี้ แล้วบอกเณรตาปะขาวและพระว่า เอ้ารีบเอาฟืนโดยเร็ว
    ต่างก็รีบเอาฟืนโดยเร็ว พระเอาไม้ตาย เณรตาปะขาวเอาไม้ดิบปะปนกัน เดี๋ยวเดียวฟืนก็พอเพราะฟืนยังไม่อด
    หลวงปู่ก็บอกว่า ยกศพขึ้นคะแคงข้างขวา ไม่ต้องล้างศพดอก ไม่ต้องคลุมผ้าจีวรให้ดอกเพราะตายแล้วล้างทำไม คลุมห่มทำไม นั่นประคดเอวไหมใหม่ๆ อยู่นั้น แก้ออกเอาไว้ให้ผู้ขาดเขิน
    เสร็จแล้วบอกตาปะขาวจุดไฟโดยด่วน ไฟเดือนหกฤดูร้อนแสกๆ ลุกกรุ่นขึ้นโดยด่วน ชาวบ้านมาถึงไฟลุกโพลงขึ้นแล้ว ทีนี้องค์ท่านก็ให้เอาผ้าปูนั่งของใครของมันปูกับพื้นดินห่มเฉวียงบ่าแล้ว กล่าวว่า เราจะพาว่า มาติกาเป็นพิธี ไม่ว่าเอาสตางค์ใครหรอก
    พอจบแล้วก็กลับที่ใครที่มัน พอตกเวลาเย็นใกล้ค่ำ ไฟไหม้ศพเหลือแต่หัวกับหน้าอก พอตกพลบค่ำองค์หลวงปู่กล่าวว่า พากันเห็นอาจารย์ไหม ไฟเผาอยู่นั่น รีบจงกรม ภาวนาเข้าเดี๋ยวจะตายเปล่า
    ข้าพเจ้านั่งสังเกตอยู่ว่า องค์ท่านจะพาสวดมนต์เป็นพิธีไล่ผีหรือเปล่าไม่หนอ แล้วเลยเห็นท่านไม่เกี่ยวไม่ยุ่ง และก็นึกในใจว่า หลวงปู่นี้เด็ดเดี่ยวมาก หาผู้เทียบได้ยากในสมัยปัจจุบัน ไม่แอบเอารายได้กับศพๆ เส็บๆ ของลูกศิษย์เลย เชื่อกรรมและผลของกรรมที่ตนทำเอาเอง อันยังมีชีวิตอยู่จริงๆ แม้พี่ชายของท่านผู้มรณภาพก็มาถึงแต่หลายวันแล้วคือ โยมแพง บ้านโคกนามน พระอาจารย์เนียมก็คนบ้านโคกนามน จ.สกลนคร นั้นเอง ไม่ใช่อื่นไกลเลย และหลวงปู่มั่นปรารภเปิดเผยต่อพระเณรในยุคนั้น ขณะนั้นว่า ท่านเนียมเป็นพระโสดาบัน แล้วไปเกิดชั้นหกอาภัสรา
    ข้าพเจ้าก็คอบสังเกตอีกว่า องค์หลวงปู่จะทำประการใดหนอ จะประกาศญาติโยมหรือประการใดหนอว่า เดี๋ยวนี้พระมรณภาพอาตมาจะพาทำบุญอุทิศ ท่านผู้ใดจะมีศรัทธายังไงก็สมทบทุนกัน องค์ท่านก็เงียบเลยแต่บอกโยมแพง อันเป็นโยมพี่ชายของพระอาจารย์เนียมว่า โยมแพงอยากได้กระดูกก็เอาไปเสียเน้อ อาตมาไม่เอาดอกเพราะอาตมาไม่อดกระดูก อาตมามีแต่จะทอดอาลัยในกระดูกนั้นแหละ โยมอดกระดูกก็เอาไปซะ
    โยมแพงกราบเรียนว่า เกล้าก็ไม่เอาดอก เกล้าก็ไม่อดเหมือนกัน แท้จริงโยมแพงลงมติของหลวงปู่มั่นทุกกรณี แบบราบคาบมาแต่นมนานแล้วไม่จืดจาง...”
    หลวงปู่หล้า เล่าเรื่องงานศพพระอาจารย์เนียมอย่างละเอียด เพราะจะได้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึง แนวจัดการศพที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาปฏิบัติ แต่ถึง พ.ศ.นี้ จากยุคที่อัฐิครูบาอาจารย์ระดับพระอนาคามีก็ไม่มีผู้เอา ได้กลายเป็นยุคขายกระดูกครูบาอาจารย์กันแล้วโดยสมบูรณ์
    ถ้าพลิกหาความรู้เรื่องชั้นพรหม จะพบว่า รูปพรหม หรือ รูปาวจรภูมิ คือ ชั้นที่พระพรหมผู้วิเศษมีรูป หากแต่เป็นรูปทิพย์ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถ มองเห็นได้ จักเห็นได้ก็โดยทิพยวิสัยเท่านั้น ประกอบด้วยวิมาน 16 ชั้น แบ่งเป็น 4 เขต พรหมชั้น 1-3 จะเป็นที่สถิตของเหล่าผู้บรรลุด้วยปฐมฌาน
    ชั้นที่ 4 - ชั้นที่ 6 เป็นที่สถิตของเหล่าพระพรหมซึ่งบรรลุด้วยทุติยฌาน
    ชั้นที่ 7 - ชั้นที่ 9 เป็นที่สถิตของเหล่าพระพรหมซึ่งบรรลุด้วยตติยฌาน
    ตั้งแต่ชั้นที่ 10 ขึ้นไป เป็นที่สถิตของเหล่าพระพรหมซึ่งบรรลุด้วยบรรลุด้วยจตุตถฌาน
    เฉพาะเหล่าพระพรหมในชั้นที่ 12 – ชั้นที่ 16 ซึ่งเรียกว่า ปัญจสุทธาวาส หรือ สุทธาวาสภูมินั้นเป็นชั้นที่เหล่าพระพรหมอริยบุคคลในพุทธศาสนา ระดับอนาคามีอริยบุคคล เท่านั้น
    ตามตำรานั้นว่าไว้ว่า พระพรหมอนาคามีในสุทธาวาสพรหมแรกทั้ง 4 นั้นหากยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน พอสิ้นพรหมายุขัย ก็ต้องจุติจากภูมิที่ตนสถิตอยู่มาอุบัติในชั้นที่ 16 เพื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานด้วยกันทั้งหมด
    ว่ากันตามนี้ พระอาจารย์เนียมก็เป็นพรหมระดับอนาคามีผู้รอบรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

    พระอาจารย์เนียม โชติโก พระอนาคามีผู้จะบรรลุอรหันต์ที่ชั้นพรหม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...