รวมคำสอน “พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ”

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย วิปัศย์, 17 กรกฎาคม 2012.

  1. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    [​IMG]


    ปัจฉิมโอวาท

    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
    ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก)
    ๕ เมษายน ๒๕๒๓

    เทศน์โปรดชาวคณะนิตยสาร “คนพ้นโลก”


    นี่เป็นโอวาทครั้งสุดท้ายที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แห่งวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) ได้ให้ไว้เป็นโอวาทรำลึกในวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน แก่คณะนิตยสาร คนพ้นโลก ก่อนที่ท่านจะละสังขารเนื่องจากเครื่องบินตก (เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓)


    กำหนดใจให้สงบก่อน หักความร้อน ความวุ่นวายของจิต


    นี่คณะ “คนพ้นโลก” มีอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆเป็นหัวหน้า
    ได้นำหมู่คณะพ้นโลกไปทั่วทุกสำนัก เพื่อแสวงหาบุญกุศล ที่ไปทุกสำนักนั้น
    แต่ละสำนัก ๆ ท่านก็ให้ธรรมะฝากฝังไว้ที่จิตใจทุก ๆ คน ทุก ๆ ท่าน
    อันธรรมะทุกท่านที่ฝากฝังไว้ในจิตใจ ก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง
    ไม่ใช่ธรรมะมาจากอื่น เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเจ้า
    ของธรรมะ เป็นผู้รู้ธรรมะ ทีนี้จะอธิบายเรื่องคณะคนพ้นโลก


    คำว่าพ้นโลกนี้ คือหมายถึงว่า พ้นไปจากโลกอันนี้ โลกนี้มีอยู่ ๓ โลก
    ที่ธรรมะเรียกว่าโลก คือ กามโลก ๑ รูปโลก ๑ อรูปโลก ๑ มีเท่านี้เรียกว่าโลก
    ทีนี้คณะคนพ้นโลก คือพ้นจากโลกทั้ง ๓ นี้ คือ พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก และทางที่จะพ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก นั้นเป็นอย่างไร
    ท่านก็แสดงในมัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง

    ย่อลงมาก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง ทาน ศีล ภาวนานี้
    เป็นทางพ้นโลกทั้ง ๓ เหตุไฉนจึงเป็นทางพ้นโลกทั้งสาม
    เราจะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาประเภทใดนี้
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ ในศิริมานันทสูตรโดยย่อ ๆ ว่า
    ดูก่อนอานนท์ ท่านที่จะพ้นโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี้
    เมื่อบุคคลผู้มีศรัทธา ความเชื่อก็เลื่อมใส บำเพ็ญในทาน ศีล ภาวนา
    ไม่ต้องพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา

    อันบุคคลผู้ที่บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาเป็นผู้แสวงบุญนั้น
    เพื่อลาภสักการะ หรือเพื่อยศ เพื่อความสรรเสริญ
    เพื่อความสุขในกามโลก รูปโลก อรูปโลกนี้ ยังไม่ได้จัดเข้าเป็นข้อปฏิบัติ
    ที่ให้ถึงธรรมปฏิบัติโดยแท้ ยังไม่อาจพ้นไปจากโลกได้
    เพราะธรรมเหล่านี้มีอยู่ในโลก ความมีลาภก็มีอยู่ในโลก ความมียศก็มีอยู่ในโลก
    ความเสื่อมลาภก็มีอยู่ในโลก ความเสื่อมยศก็มีอยู่ในโลก
    ความเสื่อมสรรเสริญก็มีอยู่ในโลก ความนินทาก็มีอยู่ในโลก
    ความสุขก็มีอยู่ในโลก ความทุกข์ก็มีอยู่ในโลก


    ทีนี้ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนานี้ หวังลาภสักการะหรือหวังลาภหวังยศ
    หวังความสรรเสริญ หวังความสุขนั้น ยังไม่จัดเป็นข้อปฏิบัติ
    ให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ยังไม่พ้นโลก
    ผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เมื่อเป็นผู้ทีมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหา
    อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป ให้เกิดอยู่ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก นี้จึงเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
    ถ้าผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา คือผู้แสวงบุญ
    มุ่งหวังที่จะต้องทำลายแต่กิเลส ตัณหา อันเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
    เป็นตัวกรรมวัตร กิเลสวัตร คือเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวให้เกิดทุกข์
    นี้จึงจะพ้นไปเสียจากโลกทั้ง ๓ ได้

    การที่จะพ้นไปเสียจากโลก ทั้ง ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนานี้เท่านั้น
    ฉะนั้น การบำเพ็ญท่าน ศีล ภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาแล้ว
    มันก็ไม่พ้นไปเสียจากโลกได้ เมื่อไม่พ้นไปเสียจากโลกได้
    ส่วนบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา นั้นมีอยู่หรือไม่
    มีอยู่ ได้รับผลอยู่ ไม่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับ ได้รับผลอยู่
    แต่ได้ผลเพียงมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น ไม่พ้นไปจากทุกข์
    เพราะเหตุไม่ได้เจตนาที่จะทำลายกิเลสตัณหานั้นให้สิ้นไปหมดไป จึงไม่พ้นทุกข์ สุขที่ได้รับจากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนามีอยู่
    มีมนุษย์สุข สวรรค์สุขเท่านั้น แต่ไม่พ้นไปจากทุกข์
    ส่วนการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาเพื่อมุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดไป ให้สิ้นไป ให้ดับไป ไม่มุ่งหวังอะไร สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้น



    นี่แหละ พวกเราคณะพ้นโลก ให้สมชื่อ อย่าประกาศแต่ชื่อ ว่าคณะคนพ้นโลก
    มันเสียชื่อเสียงของพวกเรา เมื่อเสียชื่อเสียเสียงของพวกเรา
    เราไม่ปฏิบัติให้ตรงกับว่า ทำอะไรจึงจะเป็นเครื่องพ้นโลก
    มันก็เสียชื่อพระพุทธศาสนาไปอีก ทั้งตลอดวงในการพระศาสนาของเรา


    ฉะนั้นที่คณะพวกเราเที่ยวแสวงหาบุญกุศลเพื่อบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา
    ในที่ต่าง ๆ นั้น ให้พากันมุ่งหน้ามุ่งตาที่จะทำลายกิเลสตัณหา
    ให้ออกไปจากจิตใจของเราเท่านั้น ให้หมดไปสิ้นไป
    จึงจะพ้นไปเสียจากโลก เพราะธรรมที่จะพ้นไปเสียจากโลก
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องต้นประวัติของท่าน พวกเราก็เข้าใจกันดี

    ท่านแสดงในอริยมรรคปฏิปทา ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการนี่เอง
    ดังจะนำมาแสดงโดยย่อ ๆ เพียงข้อต้น คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
    สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ เพียงแค่นี้ ความเห็นชอบ เห็นสิ่งที่เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลกนี้ ท่านเห็นอย่างไร ดำริชอบ ดำริจิต เป็นเหตุให้พ้นไปเสียจากโลก ดำริอย่างไร ความเห็นชอบนั้น คือเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์
    นี่ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ นี่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์


    นี้ทุกข์ คือเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์


    เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือเห็นตัณหา ความอยาก อันทุกข์ทั้งหลาย
    ทุกข์ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ที่จะปรากฏขึ้น ก็เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความอยาก ฉะนั้นธรรมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านจึงเจาะจงบ่งชื่อตัณหาว่า ยายงฺตณฺหา ตัณหาคือความอยากนี้ เป็นเหตุให้เกิดกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มี มีแต่ตัณหาเท่านี้

    ความยินดี ความกำหนัด ความเพลิดเพลินลุ่มหลงฮึกเหิมตามความกำหนัด ความยินดี คือความใคร่ ความรัก ความปรารถนาในกามารมณ์ ความทะเยอทะยานอยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ
    ตัณหาคือความอยากเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่พ้นไปจากโลกได้
    หรือไม่พ้นไปจากกามโลก รูปโลก อรูปโลกได้
    เพราะเหตุแห่งตัณหา มีปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ รู้ชอบ ในธรรมเป็นที่ดับทุกข์

    ความทุกข์ทั้งหลายมี่จะดับไป ความเห็นว่าต้องทำตัณหานี่แหละให้สิ้นไป
    ดังที่ท่านตรัสว่า ธรรมอันทีดับทุกข์นั้น คือทำตัณหาความอยากนี่แหละให้สิ้นไป
    ดับตัณหาความอยากนี่แหละ โดยไม่เหลือนั้น ๆ เสียให้สิ้นไปจากใจของตน
    พึงละ พึงสาง พึงสร้าง พึงปลดปล่อย ตัดขาดจากตัณหาคือความอยากนี้นี่แหละให้สิ้นไป ทุกข์จึงจะดับ เพราะเหตุแห่งตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    ถ้าผู้ต้องการจะพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลก กามทุกข์ รูปทุกข์ อรูปทุกข์
    ก็ต้องดับเสียซึ่งตัณหาให้หมดให้สิ้นไป เราจึงจะพ้นไปจากโลกได้
    นี้ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาสังกับโป ท่านรู้ธรรมอันที่ดับทุกข์ ด้วยประการอย่างนี้


    ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความรู้ชอบ เห็นชอบในข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ย่นลงก็คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้


    การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปให้สิ้นไปแล้ว ก็ไม่มีทางพ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากโลกนี้ได้
    ถ้าเราบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดให้สิ้นไปคือที่ว่าพ้นไปจากโลก เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันที่ดับทุกข์โดยแท้ ไม่ต้องมีความสงสัยเลยดังนี้


    ให้พวกเราจงพากันน้อมนำ ไปพิจารณา
    ขอยุติการแสดงธรรมแต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
     
  2. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    กรรม และวิบากของกรรม

    พระพุทธเจ้า พระองค์สอนพุทธบริษัททั้งหลายให้เชื่อต่อกรรม เชื่อต่อผลของกรรม เชื่อต่อวิบากของกรรม ให้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้าใครเชื่อต่อกรรม เชื่อต่อผลของกรรม เชื่อต่อวิบากของกรรม เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ผู้นั้นไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

    ที่แจ้ง หมายถึง ไม่ทำบาปด้วยกาย กายไม่ทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดมิจฉากาม วาจาไม่ทำบาปที่แจ้ง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำสำราก เพ้อเจ้อ ที่ลับ คือใจ ใจไม่โลภ ใจไม่โกรธ ใจไม่หลง ไม่มีความอิจฉาพยาบาทใครๆ มีใจประกอบไปด้วยเมตตา เจริญเมตตาพรหมวิหารทั้งสี่

    เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้ผู้อื่นและสัตว์อื่นอยู่เป็นสุข ไม่มีความคิดเบียดเบียนอยู่ภายในใจของตน ไม่มีความอิจฉาพยาบาทใคร กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

    มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

    อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงคราววิบัติ วางใจให้เป็นมัธยะ กลางๆ

    นี้ ไม่ทำบาปทั้งในที่ลับ คือ ใจ ไม่คิดในสิ่งที่เป็นบาป ไม่คิดในสิ่งที่ทุจริต สิ่งที่ไม่ดี คิดขึ้นในใจ ไม่คิดอารมณ์ที่ไม่ดีมาหล่อเลี้ยงใจของตนให้เศร้าหมอง

    ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม ผู้เชื่อต่อวิบากของกรรม ผู้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเด็ดขาด

    คำว่า กรรม คือการเชื่อว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อผลของกรรม เมื่อเหตุ คือ การกระทำมี ผลก็ต้องมี เป็นสิ่งที่เราผู้ทำต้องรับเอาผล ส่วนวิบากต้องติดตามไปเป็นสิ่งที่เราผู้ทำกรรมดี หรือกรรมชั่วต้องเสวย เป็นหน้าที่ของเรา พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้ เหตุที่พระองค์ตรัสสอนอย่างนี้เนื่องจากพระองค์ตรัสรู้ตามกฎของกรรมอันแท้จริง ฉะนั้น ผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรม จึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ท่านทำแต่คุณงามความดี ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต

    กายสุจริต ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดมิจฉากาม วาจาสุจริต คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำสำราก เพ้อเจ้อเหลวไหล ใจสุจริต คือ ใจไม่โลภ ใจไม่โกรธ ใจไม่หลง เมื่อมีใจไม่โลภ ก็เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อต่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป

    เมื่อมีศรัทธาเชื่อต่อกรรมเช่นนี้ ก็ยินดีในการบำเพ็ญบุญกุศล ผู้ไม่มีความโลภ ยินดีในการบำเพ็ญทาน เพราะกำจัดมัจฉริยะ ความตระหนี่เหนียวแน่นออกจากใจของตนเสียได้ เห็นว่าการบำเพ็ญทานทำบุญกุศลเป็นบุญเป็นกุศลจริงๆ เป็นผลที่ตนจะต้องได้รับ เป็นวิบากที่ตนจะต้องเสวยไปตามคติต่างๆ ถ้าตนยังไม่สิ้นกรรม บุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญไว้ในทาน ก็จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้เราไปเกิดในคติที่ดี ผู้ไม่มีความโลภย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ความเชื่อมั่นว่า ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป แล้วเป็นผู้ยินดีในการบำเพ็ญทานให้เกิดให้มีขึ้น บำเพ็ญให้มากขึ้น

    ผู้ไม่มีความโกรธในที่ลับ คือ ใจ ไม่มีความโกรธ ความอิจฉาอาฆาตมากร้ายใคร ย่อมยินดีในการรักษาศีลให้เกิด ให้มีขึ้น เพราะศีลเป็นเครื่องชำระความโกรธออกจากใจของตน ให้บริสุทธิ์หมดจด ไม่มีมลทินเครื่องเศร้าหมอง เมื่อใจไม่มีความโกรธแล้ว ใจของเราก็บริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อใจของเราบริสุทธิ์ คติของเราก็เป็นอันหวังได้ นี้ผู้เชื่อต่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ท่านจึงยินดีในการบำเพ็ญทาน ยินดีในการรักษาศีล ยินดีในการเจริญภาวนา ผู้มีใจไม่มืด ไม่หลง เชื่อต่อผลของการภาวนา เพราะการภาวนาชำระความหลงออกจากใจของตนที่มันมืดมนอนธการให้รู้แจ้งตามเป็นจริงที่มันเป็นจริงอยู่

    นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อวิบากของกรรม เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนไปตามกฎของกรรมที่เป็นจริง ท่านสอนให้พวกเราบำเพ็ญทานให้เกิดให้มีขึ้น สอนให้พวกเรารักษาศีล คือ รักษากาย และวาจาของเราให้บริสุทธิ์ รักษาใจของเราให้บริสุทธิ์ สอนพวกเราให้บำเพ็ญภาวนา เจริญภาวนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริง ให้รู้จักบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ท่านสอนพวกเราให้ภาวนาเจริญอยู่ทุกวัน

    การภาวนานี้ เป็นเครื่องชำระความหลงความมืดออกจากใจของเรา ไม่ให้ใจของเราเพลิดเพลินเตร็ดเตร่ลุ่มหลงไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่ให้ลุ่มหลงอยู่ในโลกอันนี้ ไม่ให้ลุ่มหลงอยู่ในอัตภาพร่างกายอันนี้ รูปอันนี้ ท่านสอนพวกเราให้ภาวนาง่ายๆ ไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนให้มาก ให้ลำบากอะไร ท่านสอนง่ายๆ

    วิธีของท่านก็คือ ท่านสอนให้พวกเราภาวนาง่ายๆ ให้ภาวนาว่า

    “ชราธมฺโมมหิ ชรํ อนตีโต” ให้พิจารณาดูตัวของเรานี้ว่า เรามีความแก่อยู่เป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้

    “พฺยาธิธมฺโมมหิ พฺยาธึ อนตีโต” เรามีความเจ็บไข้อยู่เป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้

    “มรณธมฺโมมหิ มรณํ อนตีโต” ให้พิจารณาให้เห็นว่า เรามีความตายอยู่เป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

    และพิจารณาให้เห็นว่า เราจะได้พลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งสิ้นไป พิจารณาเข้าไปอีกให้เห็นว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป คุณหรือโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราได้ทำกรรมอะไรไว้ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดีหรือชั่ว กรรมนั้นแลจะเป็นที่พึ่งของเรา และกรรมนั้นแลจะได้เป็นทายาท คือ ติดตัวของเราไปทุกภพทุกชาติ ทุกคติ ทุกกำเนิด สิ่งอื่นหาได้ติดตัวเราไปได้ไม่ ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขอันเกิดแต่ลาภ แต่ยศ แต่สรรเสริญก็ดี วัตถุภายนอก มีข้าวของเงินทองทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแหละ ตายแล้วเอาติดตัวของเราไปไม่ได้ แม้แต่ตัวของเราทุกชิ้นทุกอัน ตายแล้วเขาก็เผาไฟทิ้ง ติดตัวของเราไปไม่ได้ นี่ท่านจึงสอนว่า เราจะได้พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้นไป

    เมื่อเราพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปแล้ว เรามีสมบัติอะไรที่ติดตัวของเราไป ก็มีกรรมนั่นแหละ ท่านจึงว่า มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นทายาท คือ กรรมนั้นจะเป็นทายาท คือ เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้บำเพ็ญแต่กรรมที่ดี กรรมที่เป็นบุญเป็นกุศล มีบำเพ็ญทานให้เกิดให้มีขึ้น รักษา ศีลให้เกิดให้มีขึ้น ภาวนาให้เกิดให้มีขึ้น ถ้าเราเป็นผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรมอย่างนี้ ย่อมปฏิเสธกรรมอันชั่ว เลิกละกรรมอันชั่ว ย่อมยินดีบำเพ็ญแต่กรรมที่ดีให้เกิดให้มีขึ้น บำเพ็ญทานให้มี บำเพ็ญศีลให้มี บำเพ็ญภาวนาให้เกิดให้มีขึ้น

    ต่อแต่นี้ไป ผลของกรรมดีที่เราได้บำเพ็ญไว้ ถ้าเราตายไป เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ถ้าเราขยันขันแข็งหมั่นเพียรไม่ท้อถอย ก็อาจจะได้สำเร็จนิพพานสมบัติ โดยไม่มีทางสงสัย
     
  3. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    คิดโค่นล้มทำลายสถาบัน...เป็นบาปกรรม เป็นโทษแก่ตน

    [​IMG]


    คิดโค่นล้มทำลายสถาบัน...เป็นบาปกรรม เป็นโทษแก่ตน


    “ต้องมีการสงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน

    แบ่งสรรปันส่วน มีความเห็นพร้อมเพรียงกัน

    มีทิฏฐิเสมอกัน มีความสามัคคีปรองดองกัน ไม่แตกแยก

    รักษาพัฒนาบำรุงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของตน

    อย่าไปคิดโค่นล้มทำลาย เป็นของไม่ดี

    ทำความชั่วเสียหายเป็นบาปกรรม เป็นโทษแก่ตน”



    โอวาทธรรม...พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
    หนังสือตามรอยพระอริยเจ้าพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
    รวบรวมและเรียบเรียงโดย ดำรงธรรม
     
  4. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม

    [​IMG]


    ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม
    ผู้เชื่อต่อวิบากของกรรม
    ผู้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้
    ท่านไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเด็ดขาด
    ที่แจ้งคือ ไม่ทำบาปด้วยกาย ไม่ทำบาปด้วยวาจา
    ที่ลับ ไม่ทำบาปด้วยใจ เพราะท่านเชื่อต่อกรรม
    คำว่ากรรม คือการเชื่อว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
    เชื่อผลของกรรม เมื่อเหตุ คือ การกระทำมี ผลก็ต้องมี
    เป็นสิ่งที่เราผู้ทำ ต้องรับเอาผล
    ส่วนวิบากต้องติดตามไปเป็นสิ่งที่เราผู้ทำกรรมดี
    หรือกรรมชั่วต้องเสวย เป็นหน้าที่ของเรา
    พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้
    เหตุที่พระองค์ตรัสสอนอย่างนี้
    เนื่องจากพระองค์ตรัสรู้ตามกฎของกรรมอันแท้จริง
    ฉะนั้น ผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรม
    จึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
    ท่านทำแต่คุณงามความดี
    ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต

    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


    ที่มา...กรรม และวิบากของกรรม
    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
    จากหนังสือ “กุลเชฏโฐอนุสรณ์”
    ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ
    ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) เดือนเมษายน ๒๕๒๔
     
  5. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    ปาฏิหาริย์ฟันท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

    [​IMG]


    ในการจัดเตรียมอัฐิและพระธาตุของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ให้พร้อมสำหรับพิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุอัฐิธาตุนั้น ทาง คุณไพบูลย์ พบสุข ผู้ช่วยหัวหน้ากองพระราชพิธี ในขณะนั้น แจ้งว่า ทางวัดและเราจะต้องเลือกพระธาตุและอัฐิในจำนวนอันสมควร ที่จะสามารถทรงบรรจุได้ในเวลาอันจำกัด ตามหมายกำหนดการที่ทางสำนักพระราชวังจัดถวาย

    คุณไพบูลย์มองดูอัฐิในโกศ และพระธาตุในโถแก้วใหญ่ ๒ โถแก้ว แถมพระธาตุลักษณะต่างๆ พระธาตุที่กำลังแปรจากอัฐิอีก จำนวนกว่า ๒๐ ครอบแก้ว แล้วส่ายหน้า “พระองค์ท่านไม่ทรงมีเวลาพอหรอก” คุณไพบูลย์นำพานทองมาให้ ๑ พาน แล้วพูดขึ้นว่า “พี่จัดให้ท่านอยู่ในพานนี้นะครับ”

    ทั้งๆ ที่เราปรารถนาเหลือเกิน ที่จะให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรพระธาตุทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนเรือนหมื่นแล้ว จักได้ทรงชื่นชมและเบิกบานพระราชหฤทัย เมื่อทรงประจักษ์ด้วยสายพระเนตรว่า พระภิกษุที่ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะ ถวายพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดมานั้น ได้เจริญรอยตามบาทพระศาสดาและพระอาจารย์ท่าน ครั้นมรณภาพ อัฐิของท่านก็ได้แปรสภาพเป็นจำนวนมาก ในลักษณะที่เรียกกันว่าพระธาตุของพระอรหันตสาวก

    อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาในพิธีมีค่า และกำหนดไว้ชัดแจ้ง เราก็ต้องเลือกอัฐิและพระธาตุของท่านลักษณะพิเศษ ใส่ในตลับในจำนวนเท่าที่จะสามารถบรรจุลงในพานทองใบนั้นได้ คงได้จำนวน ๘ ตลับ ตลับหนึ่งจัดเฉพาะฟันของท่านทั้งหมด ซึ่งเคราะห์ดีที่มีการถ่ายรูปได้ด้วย แม้นรูปจะเลือนซักหน่อย แต่ก็ยังพอเห็น ส่วนอัฐิในโกศและพระธาตุอีก ๒ โถแก้วใหญ่ ท่านพระอาจารย์แยง สุขกาโม ท่านเจ้าอาวาสวัดภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร) และคุณไพบูลย์ ช่วยกันอัญเชิญลงในเจดีย์จำลอง โดยมีพระภิกษุสงฆ์วัดภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร), คุณนงคราญ จันทนยิ่งยง รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนเป็นพยาน

    เรียบร้อยแล้วคุณไพบูลย์ ก็ขอให้ท่านพระอาจารย์แยง สุขกาโม เก็บรักษาไว้เพื่องานพิธีวันรุ่งขึ้นของสำนักพระราชวังจะมาขอรับจากท่านพระอาจารย์แยง เวลาประมาณบ่ายสองโมง ทางพระราชสำนักไม่อยากรับไปแต่วันนั้น ด้วยเกรงว่าพระธาตุอัฐิจะหายไปบ้างหรือไม่ บอกว่าให้ท่านพระอาจารย์แยงเก็บดีกว่า เพราะท่านเป็นพระ ท่านพระอาจารย์แยงจึงเก็บไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์ในเจดีย์นั้นเอง ใส่กุญแจถึง ๒ ชั้น

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบรรจุลงในเจดีย์จำลอง ทรงชักสายสูตรเชิญเจดีย์จำลองขึ้นบนยอดเจดีย์ใหญ่ ยอดเจดีย์ใหญ่ที่เปิดช่องรอไว้เพื่อการนี้ มีการโบกปูนและรีบปิดโมเสกทับภายในไม่กี่วันต่อมา

    วันดีคืนดีก็นึกขึ้นได้ว่า...ก่อนหน้านี้เราได้เป็นผู้จัดเตรียมพระธาตุและอัฐิธาตุเพื่อที่จะนำไปบรรจุในเจดีย์ และรวมทั้งพระธาตุที่จัดตั้งแสดงเป็นหมวดหมู่ในมณฑปพระธาตุด้วย พระธาตุลักษณะต่างๆ ในมณฑปพระธาตุในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวนนั้น ล้วนเป็นพระธาตุและอัฐิธาตุที่จัดถวายไปจากบ้านเรือนไทยทั้งสิ้น

    ช่วงเวลานั้นลูกเกดมายืนดูแม่ (คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต) ทำงาน แล้วก็พูดเสียงอ่อยๆ ว่า “มามี้...ฟันท่านพระอาจารย์ด้วยหรือคะ” ความจริงแล้วฟันของท่านพระอาจารย์จวนได้ปาฏิหาริย์มาที่บ้านเรือนไทยให้เราได้กราบไหว้ก่อนหน้านั้น และทำให้พวกเราได้ตื่นเต้นกันใหญ่อยู่ระยะหนึ่ง

    ลูกเกดพูดว่า “ท่านพระอาจารย์บอกให้ฟันมามี้ไว้นี่คะ”

    เราบอกลูกไปว่า “เราไม่มีสิทธิ์ลูก ท่านรับสั่งให้บรรจุรวมในเจดีย์เดียวกัน ก็ถวายไปให้หมดก็แล้วกัน อย่างน้อยท่านก็ปาฏิหาริย์มาให้เราได้กราบไหว้บูชาอยู่หลายปีแล้ว ถึงเวลาก็ต้องถวายกลับไป”

    ที่ท่านเสด็จมานี้...หรือว่าท่านพระอาจารย์จวนจะเมตตาลูกเกด...เด็กน้อยที่ท่านเรียกอย่างเอ็นดูอยู่เสมอๆ


    (สวัสดีครับ ขออภัยด้วยครับ รูปภาพทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวม ครั้งนี้ผมขออนุญาตนำรูปภาพจากหนังสือ “ปิยารำลึก” มาประกอบคำบรรยายก่อนนะครับ...ขอบคุณครับ)


    คัดลอกมาจาก...หนังสือกุลเชฏฐาภิวาท
    ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระอัฐิธาตุ
    และทรงเปิดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฎฺโฐ
    ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ
    คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียง


    http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=42684
     

แชร์หน้านี้

Loading...