พระเจ้าหลวงทันใจ หน้าตักกว้าง ๕.๕ เมตร สูง ๑๑ เมตร ที่สร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเมื่อครั้งมีการบูรณะวัด พระพุทธรูปประธาน ที่สร้างจากหินทราย (องค์สีขาว) ในวิหารลายคำของวัดมณเฑียร ชั้นที่ ๑ ลวยลายของวิหารลายคำ ด้านหน้าวัดมณเฑียร พระนอนวิหารหลวง "วัดมณเฑียร" ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๙ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๗๔ เดิมชื่อ "วัดราชมณเฑียร" เป็นวัดแรกที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์สมัยราชวงศ์มังรายทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยที่พระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชและพระมหาเทวีทรงโปรดเกล้าให้รื้อพระตำหนักราชมณเฑียรส่วนพระองค์มาสร้างเป็นวัดเพื่อถวายพระมหาญาณคัมภีร์มหาเถระและคณะ พระองค์ทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดราชมณเฑียร" ดังข้อความที่ปรากฏในตำนานศาสนาตอนหนึ่งว่า "เมื่อพ.ศ.๑๙๗๔ เดือน ๗ ในปีนั้นชาวเมืองทั้งหลายพร้อมกันปลงศพ พระยาสามฝั่งแกน แล้วจึงอาราธนาเอาลูกท่าน ชื่อท้าวลกมากินเมืองเชียงใหม่ เดือน ๘ ออก ๕ ค่ำ เม็งวันอังคาร ได้ราชาภิเษกชื่อว่า อาทิตตราชดิลก หรือ ติโลกราช และท่านรู้ข่าวว่า พระมหาญาณคัมภีร์เถรเจ้า ไปเอาศาสนามารอด ท่านก็ยินดีมากนัก และพระยาอาทิตย์ และพระมหาเทวี จึงพร้อมกันให้รื้อหอราชมณเฑียรหลังเก่าไปสร้างที่พระมหาเถรเจ้าจักอยู่ และได้ชื่อว่า “วัดราชมณเฑียร” ดังนี้แล" ในสมัยที่ราชวงศ์มังรายเรืองอำนาจ วัดราชมณเฑียรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ และพระมหาญาณคัมภีร์ปฐมเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณเฑียรยังเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรม เป็นที่เคารพนับถือและเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาในอดีต เพราะทรงทำนุบำรุงเผยแพร่ศาสนาพุทธจนรุ่งเรือง และแผ่ขยายไปถึงแคว้นนครเชียงตุง และเมืองสิบสองปันนา แต่ภายหลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานกว่า ๒๐๐๐ ปี วัดวาอารามในล้านนาถูกปล่อยให้รกร้าง ขาดการบูรณะซ่อมแซม จนอยู่ในสภาพทรุดโทรม กระทั่งเมื่อพระเจ้ากาวิละได้กอบกู้เอกราชของแคว้นล้านนาคืนมา วัดราชมณเฑียรและวาอารามที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง สำหรับโบราณสถานที่สำคัญของวัดมณเฑียร มีวิหารลายคำ เป็นวิหาร ๒ ชั้น ทรงไทยล้านนา ประดับลวดลายปูนปั้น และลายคำแบบล้านนา จึงเป็นที่มาของชื่อ "วิหารลายคำวัดมณเฑียร" แต่วิหารหลังเดิมที่สร้างมานานกว่า ๕๗๙ ปี ชำรุดทรุดโทรม พระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และคณะศรัทธาจึงร่วมกันบูรณะ และสร้างวิหารหลังใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ รูปแบบของวิหารลายคำ ชั้นแรกใช้เป็นสถานที่ทำบุญ ชั้นที่ ๒ ใช้ในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุ สามเณร ภายในพระวิหารประกอบด้วยเสากลาง มีระบียงเพไลล้อมรอบ ด้านนอกพระวิหารมีซุ้มประตู ประดับด้วยปูนปั้นลวดลายล้านนาประยุกต์ ประดับด้วยกระจกแก้วอังวะ ติดทองคำเปลว เช่นเดียวกับศิลปะล้านนาที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบัน วัดมณเฑียรมีเอกลักษณ์พิเศษที่สำคัญ คือ มีการนำเอาวัสดุหินทรายมาสร้างเป็นพระพุทธรูป เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เคยมีปรากฏในปัจจุบัน ตามตำนานในอดีตนั้น ได้เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ทรงสร้างพระพุทธรูปหินทราย ประดิษฐานไว้ยังวัดร่ำเปิง ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมีปรากฏในเมืองเชียงใหม่ว่า มีการสร้างพระพุทธรูปหินทรายอีกเลย พระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เจ้าอาวาสจึงนำหินทรายจาก จ.พะเยา มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป และได้นำมาประดิษฐานไว้ภายพระวิหารลายคำ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับการบูรณะและสร้างวิหารลายคำหลังใหม่ของวัดมณเฑียร มีทั้งหมด ๗ องค์ ประกอบด้วย พระพุทธรูปประธาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารชั้น ๑ พระพุทธรูปประธาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารชั้น ๒ พระพุทธรูปรองประธาน ๔ องค์ พระนอนทรงเครื่อง ๑ องค์ วัดมณเฑียร ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกหลายองค์ อาทิ พระประธานวิหาร ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดมณเฑียรหลังเดิม พระพุ่ม ๙ ตื้อ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างพร้อมกับพระเจ้าเก้าตื้อ ของวัดสวนดอก เป็นพระพุทธรูปศิลปะเก่าแก่ที่งดงามที่สุด วัดมณเฑียรมีพระที่สร้างพุ่มเดียวกัน หรือสร้างพร้อมกัน คือ พระเจ้าพุ่ม หรือ พระพุ่ม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ รวมทั้งพระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญที่พระมหาญาณคัมภีร์นำมาจากศรีลังกา เมื่อครั้งไปสืบศาสนาที่เมืองลังกา และได้นำพระพุทธรูปมาจากลังกาทวีป มี ต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธรูป พระไตรปิฎก และหีบอีก ๑ ชุด กิ่งมหาโพธิ์นำมาปลูกไว้ที่วัดป่าแดง พระไตรปิฎกนำไปประดิษฐานที่วัดป่าตาล แต่ปัจจุบันนี้ร่องรอยของพระไตรปิฎก ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าอยู่ ณ ที่ใด ส่วนพระพุทธรูปได้นำมาประดิษฐานที่วัดมณเฑียร โดยคณะสงฆ์และคณะศรัทธาวัดราชมณเฑียรในอดีต ได้ร่วมใจกันรักษาพระพุทธรูปองค์นี้เอาไว้จวบจนปัจจุบัน และยังมีพระเจ้าหลวงทันใจ หน้าตักกว้าง ๕.๕ เมตร สูง ๑๑ เมตร ที่สร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เมื่อครั้งมีการบูรณะวัด "วัดมณเฑียรมีเอกลักษณ์พิเศษที่สำคัญ คือ มีการนำเอาวัสดุหินทรายมาสร้างเป็นพระพุทธรูป เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เคยมีปรากฏในปัจจุบัน ตามตำนานในอดีต ได้เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่" http://www.komchadluek.net/detail/20110520/97992/วัดมณเฑียรวัดแรกของกษัตริย์ราชวงศ์มังราย.html
สาธุครับ ผมคนเชียงใหม่ ผ่านไปวัดนี้ทีไร ก็ยกมือไหว้พระเจ้าทันใจ ทุกครั้ง ชอบพระองค์นี้ครับ ท่านดูสมส่วน พระพักตร์ก็ อิ่มตา งดงาม ตรงข้าม อีกฝั่งเป็นวัดโลกโมฬี ครับ
อนุโมทนา สาธุ ๆ กับท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมกัน สร้างวัดแห่งนี้และสร้างบุญกุศลทุกอย่างด้วยครับ นิพพานัง ปัจจโย โหตุ
ที่แรกผมนึกว่าวัดกู่เต้าซะอีก เพราะหลวงพ่อทันใจ ทรงเครื่องเหมือนกันมากเลยครับ แต่ที่วัดกู่เต้าจะวิจิตรมากกว่า ภาพสวยครับ.............