วิชชาจรณสัมปันโน พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 6 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วิชชาจรณสัมปันโน



    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)


    การปฏิบัติทุกวันนี้ เพื่อจะนำมาแห่งความสุขแก่ตน ผู้ที่ไม่รู้จักความสุขแล้วอย่าว่าแต่เป็นฆราวาสเลย ถึงแม้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถ้าไม่รู้จักแต่งความสุขแล้วก็ไม่ได้รับความสุขเหมือนกัน และอย่ามัวไปเกี่ยงกันว่า การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกา ใครๆ ก็ปฏิบัติได้เหมือนกันทั้งนั้น หรืออย่าถือว่าเพราะมั่งมีศรีสุขจึงทำได้ หรือคนมีก็อย่าเห็นเสียว่าเพราะยากจนไม่มีกังวลอะไรจึงตั้งหน้าปฏิบัติได้ ต้องรู้ว่ากรรมเป็นของของตน การที่มั่งมีก็เพราะกรรมที่ตนทำมาเป็นกรรมดี การที่ยากจนก็เพราะกรรมที่ตนทำมาเป็นกรรมชั่ว เมื่อตนทำไว้อย่างไร ต้องได้รับผล อย่างนั้น และต้องถือเอาแก่นสารในตน ตนไม่เป็นแก่นสาร ก็ต้องทำให้เป็นแก่นสารขึ้น แก่นสารในตนนั้นคือ ทาน ศีล นี่แหละเป็นแก่นสารของตน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็น รส ของพรหมจรรย์ และเป็นแก่นสารของศาสนา ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ทำประโยชน์ให้เป็นแก่นสารอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน ก็ไม่ต่างอะไรกับโค กระบือ ที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ที่บริสุทธิ์แล้ว ก็ควรหรือที่จะทำตนเช่นนั้น

    บัดนี้จักได้พรรณนาในจรณธรรม 15 ต่อไป ในวาระก่อนได้แสดงในวิชชา 3 วิชชา 8 มาแล้วโดยลำดับ วาระนี้จักได้อธิบายในจรณธรรม 15 ข้อ ความในจรณธรรม 15 นั้น มีเสขปฏิปทา 4 สัปปุริสธรรม 7 และฌาน 4 เสขปฏิทา นั้น แปลว่าเป็นทางปฏิบัติแห่งพระเสขบุคคล เสขบุคคล ได้แก่พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เพราะมีกิจที่ยังต้องทำอยู่และตั้งหน้าทำไปถ่ายเดียว อเสขบุคคล นั้นได้แก่พระขีณาสวอรหันต์ เสร็จกิจแล้วไม่ต้องทำอีก เนวเสกขานาเสกขาบุคคลนั้นได้แก่พวกอุบาสกอุบาสิกา เพราะทำบ้างไม่ทำบ้าง ในพวกเราเหล่าพุทธบริษัทนี้ก็สมมติว่าเป็น เสขปฏิปทา ได้บ้างบางอย่างในเสขปฏิปทา 4 นี้ คือ สีลสังวร 1 อินทรีย์สังวร 1 โภชเนมัตตัญญุตา 1 ชาคริยานุโยค 1 สีลสังวรนั้นให้สำรวมระวัง ในศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลพระปาฏิโมกข์ ตามที่ตนได้สมาทานไว้ ผู้ที่สมาทานศีล 5 ก็ต้องระวังของตนไว้อย่าให้เศร้าหมอง ผู้ที่รักษาศีล 8 ศีล 10 หรือศีลพระปาฏิโมกข์ ก็จงสำรวมระวังของตนๆ ไว้ อย่าให้เศร้าหมองไปได้

    ในวันหนึ่งๆ ให้ตรวจของตนอยู่เสมอ ส่วนอินทรีย์สังวรนั้นก็ให้ระวังในศีลเหมือนกัน แต่เป็นของที่ควรระวังได้ยาก คือให้ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 อย่างนี้ ก็ต้องเอาใจนั่นแหละเป็นผู้ระวังใจ จะเอาอะไรมาระวังก็ไม่ได้ หรือจะเอาใจเป็นเจ้าของคอยระวังอารมณ์ 5 อย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะกิเลสที่เกิดขึ้นก็ต้องมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้แหละ ถ้าใจรู้เท่าทันต่ออารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้ไม่มีพิษมีสงอะไร การที่ให้ระวังนั้นไม่ใช่จะให้ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น หรือปิดกาย ดังเช่นแขกเขาคลุมกายจนหมดเช่นนั้น การที่คลุมกายนอกอยู่เช่นนั้นใช้ไม่ได้ ต้องการให้รู้เท่าทันต่ออารมณ์เท่านั้น อารมณ์นั้นให้แบ่ง 3 อย่าง คือสิ่งที่พอใจอย่าง 1 ที่ไม่พอใจอย่าง 1 หรือที่เฉยๆ ไม่ใช่ชอบหรือไม่ใช่ไม่ชอบนั้นอย่าง 1 เมื่อตาเห็นรูปก็เป็นรูปารมณ์ หูได้ยินเสียงก็เป็นสัททารมณ์ จมูกได้ดมกลิ่นก็เป็นคันธารมณ์ ลิ้นได้ลิ้มรส ก็เป็นรสารมณ์ กายได้รับสัมผัสก็เป็นโผฏฐัพพารมณ์ เมื่อระหว่างที่กระทบกันอยู่เรียกว่า รูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นต้น เมื่อล่วงไปแล้วเป็นธัมมารมณ์ ฝังอยู่ที่ใจนี่แหละ เพราะใจเป็นชาติกายสิทธิ์ เมื่ออารมณ์ที่ดีหรือที่ชั่วเข้ามาเป็นธัมมารมณ์อยู่แล้วก็ถอนไม่ออก ฝังอยู่นั้นแหละ ธัมมารมณ์นี้เป็นของเรียนรู้มาแต่ผู้อื่น เมื่อเขาว่ารูปนี้ดี รูปนี้ชั่ว เสียงนี้ดี เสียงนั้นไม่ดี เป็นต้น ก็เข้ามาฝังอยู่ในใจทีเดียว ที่นี้พอได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเข้าอีกก็รับรู้รับเห็นทันทีทีเดียว ว่าเขามาสรรเสริญเรา หรือเขามาด่ามาว่าเราเช่นนี้ก็เกิด ราคะ โทสะ โมหะ เกิดความรักความชังขึ้นทันทีทีเดียว บางคนก็ว่าข้าพเจ้าไม่มีอิจฉาพยาบาลดอก มีแต่โทสะเท่านั้น จะว่าเช่นนั้นอย่างไรได้ ก็โทสะมันเป็นลูกหลานอิจฉาพยาบาทต่างหาก ผู้ที่มักโกรธนั้นเข้าใจว่าโกรธคนอื่น ถ้าพิจารณาให้ดีก็โกรธตนเอง หาใช่โกรธผู้อื่นไม่ การที่จะรู้เท่าทันต่ออารมณ์เหล่านี้ต้องรู้จักสภาพธรรมดา เมื่อเวลาอารมณ์ใดเกิดขึ้นต้องรู้ว่าเขาหากเป็นอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดก็เป็นอยู่ดังนี้ หรือเราตายไปแล้วก็เป็นอยู่ดังนี้ เมื่อรู้เท่าทันสภาพธรรมดาเสียเช่นนี้ก็จะต้องไปยุ่งเหยิงอะไรกับอารมณ์เหล่านั้น เปรียบเหมือนเขาจะว่าอ้ายหมาหรืออ้ายเปรตเช่นนี้ หมาหรือเปรตของเราก็มี เราจะนั่งพูดไปวันยังค่ำก็ได้ ก็ธุระอะไรจะเอาหมาของเราไปกัดกับหมาของเขา เท่านั้นก็พอแล้ว ถ้าของเราไม่มีอยู่เราจะรู้หรือที่เขามาว่าเช่นนั้นเช่นนี้ เพราะมันเข้ามาเป็นธัมมารมณ์เช่นนี้จึงรู้ ถ้าเรามัวจะวิ่งตามไปตามมากับอารมณ์เหล่านี้แล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ไม่พอกัน วันคืนมีมากก็จริง แต่ชีวิตของเรานั้นน้อยนัก ส่วนโภชเนมัตตัญญุตา ให้รู้ประมาณในอาหารที่จะบริโภคนั้น คือให้พิจารณาเสียก่อนแล้วจึ่งบริโภค และต้องรู้ว่าพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ถ้าไม่พิจารณาเสียก่อนแล้วก็อาจเป็นพิษเป็นโทษได้ หรือบริโภคอาหารมากเกินไปก็มักทำให้ร่างกายหนักและเป็นข้าศึกแก่สมถะและวิปัสสนาด้วย การที่พิจารณาแล้วจึงบริโภคนั้นเป็นปัจจัยสันนิสสิตศีลด้วย ชาคริยานุโยค นั้น คือไม่เป็นผู้หน่ายต่อความเพียร เช่น ในสัมมัปปธาน คือเพียรละบาปบำเพ็ญบุญเป็นต้น และให้มีความรู้อยู่เสมอ อย่าให้หลับอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ให้หมั่นตรวจของตนอยู่เสมอว่าศีลของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีละหรือๆ ด่างพร้อยด้วยประการใดบ้าง ในวันหนึ่งๆ อินทรีย์ของเราสำรวมระวังไว้ดีละหรือ เรารู้เท่าทันต่ออารมณ์ดีละหรือ อาหารที่เราบริโภคนั้นพิจารณาดีละหรือ เป็นของบริสุทธิ์ละหรือ ให้หมั่นมีการตรวจของตนอยู่ดังนี้ทุกเมื่อ

    เมื่อพุทธบริษัทได้สดับตรัสฟังแล้วจงหมั่นตรวจตรองของตนแล้วอุตส่าห์ปฏิบัติขึ้นในตน เพราะพระองค์ผู้เป็นพระบรมครูก็เป็นผู้อุตส่าห์เช่นนี้ เมื่อเราได้มาเป็นลูกศิษย์ของท่าน ก็ต้องเดินตามท่านในชั้นนี้แล้วจึงจะถึงวิชชาชั้นสูงต่อไป.

    http://www.lanna.mbu.ac.th/panya/no_60/vitcha.asp


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 สิงหาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...