หนึ่งศตวรรษแห่งการเรียนการสอนนักธรรม

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 31 มกราคม 2011.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ปีพ.ศ. 2554 เป็นปีที่ประเทศไทยเรียนและสอน‌นักธรรมอย่างเป็นระบบ มาครบศตวรรษ หรือ ‌100 ปี ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ‌กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.....

    ปีพ.ศ. 2554 เป็นปีที่ประเทศไทยเรียนและสอน‌นักธรรมอย่างเป็นระบบ มาครบศตวรรษ หรือ ‌100 ปี ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ‌กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงริเริ่มการเรียนการ‌สอนพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณรแบบใหม่ ‌ขณะที่ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารรูปที่ 3 ‌พระชนมายุ 32 พรรษา

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ‌วโรรส ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 ‌แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศ‌วิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ‌เมื่อปี พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุล‌จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระอิสริยยศ 22 พรรษา ‌สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2464 พระชนมายุ 62 ‌พรรษา

    พระกรณียกิจพอประมวลได้ดังนี้

    1.ด้านการพระศาสนา พระองค์ได้พัฒนาภิกษุ‌สามเณรให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย ‌เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและ‌เหมาะสม ทรงผลิตตำราและหนังสือทางพระพุทธ‌ศาสนาที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย

    2.ด้านการคณะสงฆ์ ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ‌ประทานพระวินิจฉัยและทรงวางระเบียบ แบบแผน ‌เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร‌ในด้านต่างๆ ให้ถูกต้องเป็นมาตรฐาน เช่น ระเบียบ‌เกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ การบรรพชา อุปสมบท การ‌ปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัย‌อธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับสมณศักดิ์ พัดยศ นิตยภัต ‌ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น

    3.ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงการศึกษาของ‌คณะสงฆ์ให้ทันสมัย ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติ‌ธรรมเพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ศึกษาภาษาบาลี โดยให้‌ศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเรียกว่า หลักสูตร ‌นักธรรม

    4.งานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงรอบรู้ภาษาต่างๆ ‌หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษา‌อังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ‌ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ‌โท เอก หลักสูตรบาลี ไวยากรณ์บาลีทั้งชุด รวม|พระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้‌ยังทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์

    การศึกษาในอดีต
    ก่อนที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นจะ‌ดำเนินการปรับปรุงการสอนแบบใหม่ การศึกษาพระ‌ธรรมวินัยพัฒนามาตามลำดับในรูปการศึกษาภาษา‌บาลีเพื่อแปลพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และชาดก ‌และการเรียนการสอนสมถวิปัสสนา เพื่อบำเพ็ญ‌ภาวนาทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส

    [​IMG]
    สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

    ย้อนอดีตไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่ง‌ชมพูทวีป ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาใน‌ประเทศต่างๆ รวมทั้งสุวรรณภูมิเมื่อ พ.ศ. 235 หลัง‌จากการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลีบุตร ‌พระพุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ‌มีการเรียนทั้งในรูปคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ โดย‌เฉพาะคันถธุระนั้นเคยรุ่งเรืองที่เมืองเชียงใหม่ ถึงกับ‌มีการแต่งคัมภีร์เป็นภาษาบาลีขึ้นมาใช้อ้างอิง เช่น ‌พระสิริมังคลาจารย์ แต่งมงคลทีปนีในราวปี พ.ศ. ‌2020 คัมภีร์นี้ยังใช้เป็นตำราเรียนผู้ที่เรียนบาลี‌ประโยค 4 ในปัจจุบัน

    ยุครุ่งเรือง
    ในยุคสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคที่‌พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่ง จะเห็นวัดวา‌อารามกระจายไปทุกหนทุกแห่งที่มีหมู่บ้าน คนไทยที่‌เป็นชายต้องอุปสมบทอย่างน้อยหนึ่งพรรษาเพื่อเรียน‌พระธรรมคำสอน เพราะพระพุทธศาสนาเป็นส่วน‌หนึ่งของชีวิต ความรุ่งเรืองและมั่นคงพระพุทธ‌ศาสนาในยุคนั้นถึงกับมีการแลกเปลี่ยนสมณทูต‌ระหว่างประเทศไทยกับเกาะลังกา และเมื่อสมณะ‌วงศ์หรือพระภิกษุสูญไปจากเกาะลังกา เพราะถูก‌ศาสนาอื่นเบียดเบียนทำลาย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ‌(พ.ศ. 2275-2301) ได้ส่งพระสงฆ์ไทยไปฟื้นฟูตามที่‌กษัตริย์ของเกาะลังกาทูลขอมา จนกระทั่งเกาะลังกา‌เรียกว่าพระสงฆ์สยามวงศ์ และอุบาลีวงศ์ เพื่อเป็น‌เกียรติแก่สมณทูตจากไทยตราบเท่าทุกวันนี้

    รัตนโกสินทร์
    ถึงยุครัตนโกสินทร์ การศึกษาปริยัติธรรมคึกคัก‌อย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าเมื่อพระบาทสมเด็จ‌พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้‌สังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นมาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปี พ.ศ. 2331 มีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ‌ด้านภาษาบาลีมาชุมนุมชำระพระไตรปิฎกนับ‌จำนวนถึง 218 รูป ราชบัณฑิต 32 คน แสดงว่าการ‌เรียนบาลีของไทยไม่เคยหยุด แม้บ้านเมืองจะไม่สงบ‌เพราะศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าก็ตาม

    ส่วนการเรียนภาษาบาลีของไทยสมัยก่อน ผู้เรียนต้องเรียนภาษาขอมก่อน เพราะตำราก็ดี ‌คัมภีร์อื่นๆ ก็ดี ล้วนจารึกด้วยอักษรขอมทั้งสิ้น

    เมื่อต้องการวัดความรู้ว่าแปลบาลีได้ก็ต้องมีการ‌สอบ แต่เป็นการสอบปากเปล่า โดยกรรมการ‌กำหนดให้แปลบาลีจากคัมภีร์ใบลาน 30 บรรทัดบ้าง ‌20 บรรทัดบ้าง 30 หรือ 20 บรรทัดเท่ากับ 1 ประโยค ‌ผู้ที่มีความรู้ดีสามารถแปลได้หลายประโยคในเวลา‌เดียวกัน ดังเช่นสมัยรัชกาลที่ 5 มีสามเณรที่เก่งมาก‌ชื่อ ปลด วัดเบญจมบพิตร สอบได้เป็นเปรียญ 9 ‌ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร พระองค์ทรงโปรดมาก ‌พระราชทานรถหลวงให้ไปส่งถึงวัด เมื่ออุปสมบทก็‌ทรงรับเป็นนาคหลวง กลายเป็นประเพณีถึงปัจจุบัน‌ว่าสามเณรที่สอบได้ประโยค 9 เป็นนาคหลวง และ‌มีรถหลวงส่งถึงวัดทุกองค์

    ส่วนสามเณรปลดนั้น เจริญในสมณเพศจน‌กระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศา‌คตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2503 และ‌สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ. 2505

    การสอบบาลีแบบปากเปล่าเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. ‌2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6

    เริ่มสอนธรรมวินัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
    ส่วนการเรียนการสอนพระธรรมวินัยยังไม่เป็น‌ระบบ ขึ้นอยู่กับพระอาจารย์จะถ่ายทอดให้ จนกระทั่ง‌สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ‌ทรงจัดสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรในวัดบวรฯ ‌ปี พ.ศ. 2435 เพื่อให้ผู้เรียนนำไปปฏิบัติ การสอนธรรม‌วินัยที่วัดบวรฯ กลายเป็นที่นิยม เพราะพระองค์ทรง‌เลือกข้อธรรมมาสอนที่เหมาะแก่ผู้บวชใหม่

    [​IMG]
    ตำหนักจันทน์ที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

    รศ.สุเชาว์ พลอยชุม ว่าเนื้อหาที่ทรงนำมาสั่ง‌สอนแนวใหม่ประกอบด้วยพระวินัย เพื่อให้รู้|สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์ พระธรรม เพื่อให้รู้‌ข้อธรรมในเบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มศึกษาพระพุทธ‌ศาสนา คิหิปฏิบัติ เพื่อให้รู้ข้อธรรมสำหรับผู้ครอง‌เรือน เป็นประโยชน์สำหรับผู้ละสมณเพศ และกระ‌ทู้ธรรม เพื่อสอนให้รู้การอธิบายพุทธภาษิตอย่างถูก‌วิธี และรู้วิธีการเรียงความอีกด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. ‌2448 มีพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร พระภิกษุได้‌รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร แต่สามเณรไม่ได้รับ‌ยกเว้น ราชการจึงต้องการให้สามเณรได้รับยกเว้น‌ด้วย แต่ต้องเป็นสามเณรรู้ธรรม สมเด็จพระมหา‌สมณเจ้าพระองค์นั้นจึงทรงตั้งหลักสูตรองค์สามเณร‌รู้ธรรมขึ้นมา โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ‌เมื่อปี พ.ศ. 2554 (ร.ศ. 130) นี่คือที่มาแห่งการริเริ่ม‌ศึกษาพระธรรมครบ 100 ปี ในปีนี้

    หนังสือสนามหลวงแผนกธรรม ได้เล่าเรื่อง ‌ประวัตินักธรรมไว้ในหนังสือเรื่องสอบธรรมของ‌สนามหลวงแผนกธรรม พ.ศ. 2551 ว่า

    การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่‌เรียกกันว่า นักธรรมเกิดขึ้นตามพระดำริของ สมเด็จ‌พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อ‌ปี พ.ศ. 2435 โดยเริ่มที่วัดบวรฯ ก่อน ต่อมาจึงเป็น‌ที่นิยมและทรงขยายแนวทางนี้ไปยังภิกษุสามเณร‌ทั่วไปด้วย ประกอบกับในปี พ.ศ. 2448 ประเทศไทย‌เริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งภิกษุได้รับการ‌ยกเว้นเกณฑ์ทหาร ส่วนสามเณรจะยกเว้นให้เฉพาะ‌สามเณรผู้รู้ธรรม ทางราชการจึงขอให้คณะสงฆ์ช่วย‌กำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรม สมเด็จพระมหา‌สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรง‌กำหนดหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น ต่อมาได้‌ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น ‌“องค์นักธรรม” สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้‌บวชใหม่) ทั่วไปได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ‌27 มี.ค. 2454 และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลาง‌ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน โดยใช้วัด‌บวรฯ วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถาน‌ที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้มี 3 วิชา คือ ธรรมวิภาค‌ในนวโกวาท แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปล‌ภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท

    ปี พ.ศ. 2455 ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรม‌ให้เหมาะสมสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปจะเรียนรู้ได้‌กว้างขวางยิ่งขึ้น ปี พ.ศ. 2456 ทรงปรับปรุงหลัก‌สูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรม‌หมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อ‌ให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุ‌สามเณรรูปนั้นๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไป‌ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การ‌ศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ได้รับความนิยมจาก‌หมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไป‌อย่างรวดเร็ว เพียง 2 ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัคร‌เข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูป

    เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณ‌ประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป ใน‌เวลาต่อมาจึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้‌ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรม‌ชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน 5 ‌แต่ไม่ถึง 10 และนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ ‌คือมีพรรษา 10 ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้น‌พื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้

    ส่วนธรรมศึกษา สำหรับฆราวาสนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆ‌ราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรม‌สำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า “ธรรมศึกษา” มีครบทั้ง ‌3 ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียว‌กันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่‌วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรม‌และอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้ง‌แรกเมื่อปี พ.ศ. 2472

    ปัจจุบัน องค์กรที่รับผิดชอบการศึกษาพระปริยัติ‌ธรรมแผนกธรรม ได้แก่ กองธรรมสนามหลวง มี‌สมเด็จพระวันรัต (พฺรหฺมคุตฺตเถร) วัดบวรฯ เป็นแม่‌กอง แต่ละปีต้องจัดการวัดผลผู้เรียนที่มีจำนวนนับ‌ล้านคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงนับได้ว่า ‌หนึ่งศตวรรษา การศึกษาปริยัติธรรมแผนกธรรม‌เจริญก้าวหน้า ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังยุโรป อเมริกา ‌และออสเตรเลีย

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หนึ่งศตวรรษแห่งการเรียนการสอนนักธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...