(๗) มรดกธรรมของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 29 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๕
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๕
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน


    วันนี้ จะไ้ด้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ตอนที่ว่าด้วย "อาตาปี" ต่อไป

    ถ. คำว่่า "อาตาปี" แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. คำว่า "อาตาปี" แปลและหมายความได้ ๓ อย่างดังนี้ คือ
    ๑. อาตาปี แปลว่า ธรรมที่ยังบุคคลให้รุ่งเรืองโดยรอบ
    หมายความว่า ธรรมะ คือ ความเพียร ถ้ามีอยู่ในบุคคลใด ทำบุคคลนั้นให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ดังหลักฐานรับรองไว้ว่า อา สมนฺตโต ตาเปติ ทีเปตีติ อาตาปี ธรรมชื่อว่า อาตาปี เพราะยังบุคคลให้เจริญรุ่งเรืองโดยรอบ
    ทางโลก เช่น ผู้ใดมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านในกิจการน้อยใหญ่ ขยันหา ขยันเก็บรักษา รู้จักประหยัด ระมัดระวัง ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายพอประมาณ รู้กาลเวลา ไม่แส่หาอบายมุข ไม่สนุกเพลิดเพลินในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ผู้นั้นย่อมมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ นับว่าตั้งตัวได้ ถึงทุกข์ยากลำบากก็สามารถพ้นทุกข์ประสพความสุขความเจริญรุ่งเรืองได้ ดังพุทธภาษิตว่า "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" คนพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร ดังนี้

    ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะยากจนเข็ญใจสักปานใดก็ตาม ถ้มีคุณธรรมคือความเพียรอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เป็นเศรษฐีได้ เช่น จูฬันเตวาสิกเป็นตัวอย่าง เบื้องแรกมีทุนทรัพย์เพียงหนูตายตัวเดียวเท่านั้น เพราะอาศัยความขยันนำหนูไปขาย แล้วนำเอาทุนทรัพย์ที่ขายหนูได้นั้นมาประกอบอาชีพอย่างอื่นๆ ต่อไป รู้จักประหยัด รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักประมาณตัว ไม่ประมาท สามารถเป็นเศรษฐีได้ในเวลาอันไม่นานนัก
    ความสุขของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนนั้น มีอยู่ ๔ อย่าง คือ
    ๑. อตฺถิสุขํ สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
    ๒. โภคสุขํ สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
    ๓. อนณสุขํ สุขเกิดแต่ความไม่มีหนี้
    ๔. อนวชฺชสุขํ สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

    ความสุขเหล่านี้จะเกิดมีได้ต้องอาศัยความเพียร ความขยันทั้งนั้น ข้อนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่อนาถปิณฑิกเศรษฐีซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ หน้า ๙๐ ถอดใจความว่า

    อนาถปิณฑิกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า
    อิธ คหปติ กุลปุติตสฺส โภคา โหนฺติ ดูก่อนคฤหบดี โภคะทั้งหลายของกุลบุตรในโลกนี้ ที่ตนหาได้ด้วยกำลังแห่งความขยันหมั่นเพียร ที่ตนสั่งสมไว้ด้วยกำลังแขน ที่ตนอาบเหงื่อต่างน้ำได้มาโดยชอบธรรม กุลบุตรนั้นย่อมถึงสุข ถึงความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่า ทรัพย์นี้เราได้มาแล้วด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเหนื่อยยากลำบากแท้ๆ นี่แหละ คฤหบดี เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
    อิธ คหปติ กุลปุตฺโต อุฏฺฐานวิริยาธิคเตหิ ดูก่อนคฤหบดี กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมจ่ายทรัพย์บริโภคบ้าง ย่อมทำบุญบาง ด้วยทรัพย์ทั้งหลายที่ตนแสวงหามาด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเหนื่อยยากลำบากนั้น กุลบุตรนั้น ย่อมถึงความสุข ย่อมเกิดมีปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งว่า เราได้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์ ได้ทำบุญทำทานอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เพราะผลแห่งความขยันหมั่นเพียรของตนแท้ๆ นี้แหละคฤหบดี เรียกว่า สุขเกิดแต่จ่ายทรัพย์บริโภค
    อิธ คหปติ กุลปุตฺโต น กสฺสจิ กิญฺจิ ธาเรติ ดูก่อนคฤหบดี กุลบุตรในโลกนี้ ไม่เป็นหนี้เป็นสินของใครๆ ย่อมถึงความสุข ย่อมถึงความโสมนัส คือภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่า เราไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินใครๆ เลยแม้แต่น้อย ดังนี้ นี่แหละคฤหบดี เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไ่ม่ต้องเป็นหนี้

    อิธ คหปติ อริยสาวโก อนวชฺเน กมฺเมน สมนฺาคโต โหติ ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในพระศาสนานี้ ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันไม่มีโทษ พระอริยสาวกนั้น ย่อมถึงความสุข ย่อมถึงความโสมนัสว่า "เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันไม่มีโทษ" นี่แหละคฤหบดี เรียกว่า สุขเกิดแต่ประกอบการงานไม่มีโทษ
    เท่าที่ไ้ด้อธิบายมานี้เป็นความรุ่งเรืองในทางโลก เกิดเพราะความขยันหมั่นเพียร

    ส่วนความรุ่งเรืองในทางธรรมนั้น ได้แ่ก่บุคคลผู้มีอาตาปี คือความเพียรในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เ่ช่น เีรียนพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมให้เข้าใจได้ดี พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

    มีความเพียร ในการประพฤติ ปฏิบัติตามธรรมวินัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น เช่น รักษาศีล เจริญสมถะ เจริญวิปัสสนา เพื่อบำบัดกิเลสอย่างหยาบอย่างกลาง และอย่างละเอียด

    เมื่อมีความเพียรเรียนปริยัติลงมือปฏิบัติเช่นนั้น ย่อมจะเกิดปฏิเวธ คือผลแห่งการปฏิบัติเป็นแน่นอน เช่น ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่ง อยู่ในติสสมหาวิหารในมหาคามได้ทราบว่า พระมหาชาตกภาณกเถระ จะเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับไปด้วยพระคาถา ๑ พัน ในทีฆวาปีวิหาร ท่านตั้งใจเดินทางมาสิ้นหนทางถึง ๙ โยชน์ ภายในวันเดียวเท่านั้น พอท่านมาถึงพระเถระก็เริ่มแสดงธรรม ภิกษุหนุ่มจำคาถาเริ่มแรกกับคาถาสุดท้ายได้ แต่ตรงกลางๆ จำไม่ได้ เพราะร่างกายเหน็ดเหนื่อยมาก เนื่องจากเดินทางไกล พอพระธรรมกถึกลุกขึ้น ท่านได้ยืนร้องไห้อยู่ว่า การมาของเราเปล่าประโยชน์เสียแล้ว

    ครั้งนั้น มนุษย์คนหนึ่งได้เรียนพระเถระให้ทราบ พระเถระได้ให้อุบาสกนั้นไปกราบเรียนท่านว่า พรุ่งนี้จักเทศน์ให้ฟังอีก ท่านมีวิริยอุตสาหะอย่างแรงกล้าตั้งใจฟังธรรมอย่างเต็มที่ ฟังธรรมประกอบด้วยองค์ ๖ คือ
    ๑. อฏฺฐิกตฺวา ทำให้เป็นประโยชน์ ทำให้จดกระดูก คือให้คนถึงธรรม ให้ธรรมถึงคน
    ๒. มนสิกตฺวา ใส่ใจอย่างเต็มที่
    ๓. สพฺพเจตนา สมนฺนาหริตฺวา ประมวลจิตทั้งหมดมาเป็นหนึ่ง ได้แก่มีสมาธิดี ใจไม่ออกหนีไปข้างนอก คือไม่ปรับอารมณ์อื่น
    ๔. โอทหิตโสโต เงี่ยโสตลงสดับอย่างถึงใจ
    ๕. มนสานุเปกฺขิตา ตามพิจารณาด้วยใจ คือลงมือปฏิบัติตามไปด้วย
    ๖. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา แทงตลอดด้วยปัญญา คือได้สำเร็จผลตามความตั้งใจ เมื่อท่านฟังจบ ท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน

    ที่ได้บรรยายมานี้เป็นความรุ่งเรืองในทางธรรม เกิดเพราะอาตาปี คือ ความเพียรทำให้บุคคลเจริญรุ่งเรืองในทางธรรม

    ๒. อาตาปี แปลว่า ธรรมที่ยังกายและจิตองอาจกล้าหาญ
    ดังหลักฐานว่า
    อาภุโส กายํ จิตฺตญฺจ ตาเปตีติ = อาตาปี หมายความว่า ถ้าบุคคลผู้ใดมีความเพียรแล้ว แม้ทางจะไกลสักปานใดก็ตาม สามารถจะไปจนถึงได้ เข้ากับคำของโบราณว่า "ใจประสงค์แล้ว เมืองแกว เมืองจีนก็ไปถึง ใจเกียจคร้าน กลางบ้านก็เป็นดง" คือถ้าบุคคลมีความขยัน รักงานจริงแล้ว งานนั้นจะอยู่ไกลสักปานใดก็ตาม ขนาดประเทศแขก ประเทศจีน ก็สามารถจะไปถึงได้ แต่ถ้าใจขี้เกียจ ใจไม่เอาถ่าน ใจไม่เอาการเอางานแล้ว ถึงงานนั้นจะอยู่กลางบ้านกลางเมือง ก็เป็นเสมือนอยู่ในดงทึบ ดงดิบ ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ มี เสือ ช้าง เป็นต้น ฉะนั้น
    กายเป็นรูปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจิต จิตเป็นนามอยู่ภายใต้อำนาจของเจตสิก เจตสิกเป็นผู้ปรุงแต่งให้ดี ไม่ดี ขยัน เีกียจคร้านต่างๆ นานา เจตสิกนั้น มีอยู่ ๓ ประเภท
    ประเภทที่ ๑ เรียกว่า อกุสลเจตสิก สำหรับแต่งใจให้เลว ให้ต่ำ ให้ชั่ว มีอยู่ ๑๔ ดวง คือ
    ๑. โมหะ ความหลง
    ๒. อหิริกะ ความไม่ละอายบาป
    ๓. อโนตตัปปะ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป
    ๔. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
    ๕. โลภะ ความโลภ
    ๖. ทิฏฐิ ความเห็นผิด
    ๗. มานะ ความถือตัว
    ๘. โทสะ ความประทุษร้าย
    ๙. อิสสา ความริษยา
    ๑๐.ม้จฉริยะ ความตระหนี่
    ๑๐. กุกกุจจะ ความร้อนใจ ความรำคาญ
    ๑๒. ถีนะ ความหดหู่ ท้อถอย
    ๑๓. มิทธะ ความง่วงเหงา
    ๒๔. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจ
    ถ้าอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนี้ ดวงใดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแต่งใจของผู้นั้นให้ตกต่ำลงไป จนถึงอบายภูมิ ๔ ได้ เช่น โทสะ คือความโกรธเป็นตัวอย่าง ทำให้ฆ่ากันทะเลาะกันได้
    ประเภทที่ ๒ เรียกว่า กุศลเจตสิก สำหรับแต่งใจให้สูง ให้ดี ให้เป็นบุญ เป็นกุศล มีอยู่ ๒๕ ดวง คือ
    ๑. สัทธา ความเชื่อ
    ๒. สติ ความระลึกได้
    ๓. หิริ ความละอายต่อบาป
    ๔. โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
    ๕. อโลภะ ความไม่โลภ
    ๖. อโทสะ ความไม่ประทุษร้าย
    ๗. ตัตรมัชฌัตตา ความเป็นกลางในธรรมนั้นๆ
    ๘. กายปัสสัทธิ ความสงบของเจตสิก
    ๙. จิตตปัสสัทธิ ความสงบของจิต
    ๑๐. กายลหุตา ความเบาของเจตสิก
    ๑๑. จิตลหุตา ความเบาของจิต
    ๑๒. กายมุทุตา ความอ่อนของเจตสิก
    ๑๓. จิตมุทุตา ความอ่อนของจิต
    ๑๔. กายกัมมัญญตา ความควรแก่การงานของเจตสิก
    ๑๕. จิตตกัมมัญญตา ความควรแก่การงานของจิต
    ๑๖. กายปาคุญญตา ความคล่องแคล่วของเจตสิก
    ๑๗. จิตตปาคุญญา ความคล่องแคล่วของจิต
    ๑๘. กายุชุกตา ความซื่อตรงของเจตสิก
    ๑๙. จิตตุชุกตา ความซื่อตรงของจิต
    ๒๐. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔
    ๒๑. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓
    ๒๒. สัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔
    ๒๓. ปัญญา ความรอบรู้
    ๒๔. กรุณา ความสงสารต่อผู้ที่ได้ทุกข์
    ๒๕. มุทิตา ความยินดีต่อผู้ที่ได้สุข คือพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
    ถ้าเจตสิกเหล่านี้ ดวงใจดวงหนึ่งเข้าไปปรุงแต่งใจแล้ว มีแต่ให้ทำความดี ส่งเสริมให้บุคคลเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับๆ ส่งเสริมให้บุคคลมีความองอาจกล้าหาญ ส่งเสริมให้บุคคลมีกำลังใจเข้มแข็ง ส่งเสริมให้บุคคลสร้างแต่ความงามความดี หลีกหนีจากความชั่ว ไม่เกลือกกลั้วด้วยบาปอกุศล มีแต่อำนวยผลให้แก่บุคคลอื่นฝ่ายเดียว
    ประเภทที่ ๓ เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก มี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ พวก คือ
    ๑. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบเข้ากับจิตได้ทุกดวง หมายความว่า จิตทั้งหมดคือ ๘๙ หรือ ๑๒๓ ดวงนี้ เมื่อดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น เจตสิกหลายดวงนี้ ย่อมเกิดประกอบพร้อมกันเสมอไป มีอยู่ ๗ ดวง คือ
    ๑.ผัสสะ การกระทบอารมณ์ของทวารทั้ง ๖ มี ตา หู จมูก เป็นต้น
    ๒. เวทนา การเสวยอารมณ์ มีสุข เป็นต้น
    ๓. สัญญา ความจำอารมณ์
    ๔. เจตนา ความตั้งใจ
    ๕. เอกัคคตา ความตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
    ๖. ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เลี้้ยงรักษาสหชาตธรรมให้เป็นไป ให้ดำรงอยู่ตลอดฐีตะขณะ
    ๗. มนสิการ การทำอารมณ์ไว้ในใจ

    ๒. ปกิณณกเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบเข้ากับจิตได้บางส่วน โดยการบางครั้งบางคราว คือเรี่ยรายไปทั้งฝ่ายโสภณจิต และอโสภณจิต โลกียจิต และโลกุตตรจิต ตามสมควรมีอยู่ ๖ ดวง คือ
    ๑. วิตก ความตรึก คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์
    ๒. วิจาร ความตรอง คือพิจารณาอารมณ์
    ๓. อธิโมกข์ การตัดสินอารมณ์เด็ดขาด
    ๔. วิริยะ ความเพียร
    ๕. ปิติ ความเอิบอิ่ม
    ๖. ฉันทะ ความพอใจ
    รวมทั้งเจตสิกฝ่ายบาป ฝ่ายบุญ และเจตสิกที่เข้าได้ทุกฝ่าย มีอยู่ ๕๒ ดวง เจตสิกเหล่านี้แหละ ปรุงแต่งจิตใด้ดีให้ชั่ว เป็นไปต่างๆ แม้คนจะขยันก็เพราะเจตสิกเหล่านี้ เช่น ความเพียร คือวิริยะ เป็นต้น เข้าไปปรุงแต่งใจให้องอาจแกล้วกล้า สามารถต่อกิจการทุกๆ อย่าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงจำกัดความไว้ว่า ธรรมที่ยังกายและใจให้องอาจกล้าหาญ ดังได้บรรยายมาแล้วนั้น ชื่อว่า อาตาปี

    ๓. อาตาปี แปลว่า ผู้มีความเพียรเผากิเลสทั้งหลายในภพ ๓ ให้เร่าร้อน ดังหลักฐานว่า ตีสุ ภวสุ กิเลเส อาตปฺปตีติ อาตาโป อาตาโป อสฺส อตฺถีติ อาตาปี
    หมายความว่า ความเพียรนี้มีอยู่หลายขั้น คือ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ชั้นสูง ภพก็มีอยู่ ๓ คือ
    ๑. กามภพ ได้แก่อบาย ๔ คือมนุษย์ ๑ เทวดา ๖ ชั้น
    ๒. รูปภพ ได้แก่รูปพรหม ๑๖ ชั้น
    ๓. อรูปภพ ได้แก่อรูปพรหม ๔ ชั้น
    กิเลสทั้งหลายที่ยังสรรพสัตว์ให้วนเวียน ให้ท่องเที่ยว ให้เร่ร่อนไปๆ มาๆ อยู่ในภาพเหล่านี้ทั้งหมดก็มีอยู่ ๑๕๐๐ กับตัณหา ๑๐๘ กิเลสตัณหาเหล่านี้ ก็แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด เพราะฉะนั้น ความเพียรที่เผากิเลสเหล่านี้ก็มีอยู่ ๓ ขั้นเช่นเดียวกัน คือ
    ๑.ความเพียรขั้นต่ำ ได้แก่ เพียรเจริญรักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อปราบกิเลสหยาบๆ อันจะล่วงออกมาทางกาย วาจา คือ โลภะ โทสะ โมหะ
    ๒. ความเพียรขั้นกลาง ได้แก่ เพียรเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุรูปฌาน และอรูปฌาน เพื่อปราบกิเลสอย่างกลาง คือนิวรณ์ทั้ง ๕
    ๓. ความเพียรขั้นสูง ได้แก่ เพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อปราบอนุสัยกิเลสให้เป็นสมุจเแทประหาน คือ ละโดยเด็ดขาด ไม่มีวันจะกลับเกิดขึ้นมาได้อีก ถอนรากไปหมดสิ้นทีเดียว
    บทว่า อาตาปี นี้ ท่านหมายเอาความเพียรขั้นสูงสุด คือ ความเพียรของท่านผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน จริงๆ ปฏิบัติถึงอมตมหานิพพานเมื่อใด เมื่อนั้นภพทั้ง ๓ ก็เป็นอันหมดสิ้นไปแล้ว กิเลสที่พาวนเวียนอยู่ในภพเหล่านี้ก็ขาดสะบั้นลงไปหมดแล้ว

    สรุปความได้ดังนี้ คำว่า อาตาปี แปลว่า ธรรมที่ยังบุคคลให้รุ่งเรืองโดยรอบอย่างหนึ่ง แปลว่า ธรรมที่ยังกายและจิตให้องอาจกล้าหาญอย่างหนึ่ง แปลว่าผู้มีความเพียรเผากิเลสในภพทั้ง ๓ ให้เร่าร้อน คือ ให้เหือดหายไปอย่างหนึ่ง

    ถ. ความเพียรมีลักษณะเป็นอย่างไร?
    ต. อุตฺสาหลกฺขณํ มีลักษณะอดทนถอนตนขึ้นจากความเีกียจคร้านทั้งมวล มีแต่ความบากบั่น ก้าวหน้า กล้าเสียสละกำลังกาย กำลังใจ เพื่อให้ได้ชัยชนะในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม มีผลนำตนให้เป็นคนไม่ย่อท้อ ให้แกล้วกล้า ให้อาจหาญในกิจการทุกๆ อย่าง

    ถ. เหตุให้เกิดความเพียรมีเท่าไร มีอะไรบ้าง?
    ต. มีหลายอย่างหลายประการอยู่ จะนำมาบรรยายในที่นี้สัก ๑๒ ข้อ คือ
    ๑. ให้พิจารณาถึงความทุกข์ต่างๆ ที่เบียดเบียนสรรพสัตว์อยู่ทุกๆ วัน มิได้ยกเว้นใครๆ เลย เช่น พิจารณาถึง ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ นิรยทุกข์ ติรัจฉานทุกข์ เปตติทุกข์ อสุรกายทุกข์ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเพียร ทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูงได้

    ๒. ให้พิจารณาถึงภัยต่างๆ ที่จะต้องได้รับทั้งภพนี้และภพหน้า เช่น ทุพภิกขภัย อัคคีภัย อุทกภัย โจรภัย วาตภัย มหาวาตภัย เป็นต้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเกิดความเพียรทั้ง ๓ ขั้น ดังกล่าวมาแล้วนั้นได้


    ๓. ให้พิจารณาถึงอานิสงส์ของความเพียรต่างๆ แล้วสอนตนเองให้ตั้งมั่นอยู่ในความเพียร เช่นคนที่ยากจนเข็ยใจ ไร้ทรัพย์อับปัญญา ถ้ามีความเพียรก็สามารถจะพ้นจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ได้ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ไม่มีใครเลยจะตั้งตัวได้ด้วยความขี้เกียจ คนที่มียศมมีทรัพย์ก็เพราะผู้นั้นพิจารณาให้ดีก่อน จึงทำลงไป ไม่ทำตามอำนาจของกิเลส ทำตามหลักธรรมเท่านั้น เมื่อเตือนตน สอนตนเองอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเพียรได้

    ๔. ให้พิจารณาถึงทางดำเนินของผู้ที่เป็นนักปราชญ์ เช่น พระพุทธเจ้าสาวกของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ ๆ จะเห็นว่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความเพียรทั้งนั้น แม้ตัวของเราก็ได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธบริษัท สมควรที่จะขยันหมั่นเพียรโดยแท้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเพียรได้

    ๕. ให้พิจารณาถึงอาหารที่เรารับประทานแต่ละมื้อแต่ละวันว่า อาหารเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะความเพียรแท้ๆ ถ้าคนเราเกียจคร้านแล้วจะไม่ได้รับประทานอย่างนี้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเพียรได้ เข่น มหามิตตะเถระ เป็นตัวอย่าง

    ๖. ให้พิจารณาถึงมรดกอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าว่า มรดกคือพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นของเลิศ เป็นของประเสริฐแท้ ถ้าคนเกียจคร้านก็ไม่สามารถจะทรงพระสัทธรรมไว้ได้เป็นแน่แท้ แม้มรดกในทางโลกมีที่ไร่ที่นา ทรัพย์สินเงินทองของปู่ย่าตายาย ของบิดามารดา เป็นต้นก็เช่นกัน ถ้าลูกๆ หลานๆ เป็นขี้เกียจไม่เอาถ่าน ไม่เอาการเอางาน มัวแต่แส่หาอบายมุข เห็นแต่ความสนุกแล้ว ก็จะต้องล่มจมดุจคนขี่ไม้ท่อนเล็กๆ ในทะเลหลวงเป็นแน่แท้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความขยันหมั่นเพียรได้

    ๗. ให้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระบารมี ทั้ง ๓๐ ทัศของพระพุทธเจ้าแต่ละข้อๆ เช่นทานบารมี ทานอุปปบารมี ทานปรมัตถบารมี เป็นต้น ก็จะเป็นเหตุให้้้เกิดความเพียรได้

    ๘. ให้พิจารณาถึงความเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ เป็นของประเสริฐแท้ ต้องเกิดมาเพราะผลบุญแต่ชาติก่อน บุญจะเกิดก็ต้องอาศัยความเพียรของตนสร้างเอาเองจะสร้างให้กันและกันไม่ได้ ใครทำใครได้ ใครกินใครอิ่ม การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของได้ยากแท้ บัดนี้เราก็เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องสร้างตัวเองให้เป็นคนมีความเพียร ถ้าพิจารณาบ่อยๆ เตือนตนบ่อยๆ อย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเพียรได้

    ๙. ให้พิจารณาถึงคนที่ดีๆ มีประวัติเด่นด้วยความเพียรทั้งทางโลกและทางธรรม ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความขยันหมั่นเพียรได้

    ๑๐. ให้คบแต่คนขยัน ให้คบแต่คนมีความเพียร อย่าคบคนเกียจคร้าน

    ๑๑. ให้น้อมใจของตนไปในความขยันเสมอ

    ๑๒. ฝึกตนให้ขยัน ฝึกตนให้มีความเพียร ฝึกตนให้มีความอดทนเสมอ อย่าปล่อยให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ อย่าให้กิเลสฝ่ายต่ำดึงดูดไป ต้องพยายามยกจิตของตนขึ้นสู่ความเพียรขั้นสูงๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ เช่น เพียรทำทาน เพียรรักษาศีล เพียรเจริญสมถะ เพียรเจริญวิปัสสนา เป็นตัวอย่าง

    ทั้ง ๑๒ ข้อนี้เป็นเหตุเป็นอุบายที่จะให้เกิดความเพียรได้ทั้งนั้น ถ้าคนมีความเพียรอย่างนี้แล้ว สามารถจำอำนวยผลใ้หท่านผู้นั้นเจริญด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิืพพานสมบัติ ตามความมุ่งมาตรปรารถนา หรือตามมโนปณิธานที่ตนได้อธิษฐานตั้งไว้เป็นแน่แท้

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า อาตาปี มาก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

    ;aa40

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๖๑-๗๑

     

แชร์หน้านี้

Loading...