(๙) เมื่อเราบวช : บวชเป็นนิสัย

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 18 มกราคม 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    -๗-
    บวชเป็นนิสัย

    แท้จริง การบวช เราไม่ถือประโยชน์เพียงเรียนตามที่กล่าวไว้ในเรื่องบวชเรียนเท่านั้น ยังต้องการให้เป็นนิสัยปัจจัยของผู้บวชอีกด้วย ถึงผู้ที่สึกหาลาเพศพระออกมาสู่ความเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังนิยมกล่าวในที่ทั่วไปอยู่เสมอๆ ว่า บวชพอเป็นนิสัย ถ้อยคำอันนี้ แม้จะฟังดูเผินๆ ก็ยังน่าฟังอยู่ไม่น้อย ยิ่งใคร่ครวญดูแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่าเป็นคำที่น่าจับใจนัก ข้าพเจ้าเกรงไปว่าผู้ที่บวชจะไม่เข้าใจความหมายในคำนี้ดีพอ หรือมิฉะนั้นก็จะไปสุดมืออยู่เพียงที่เข้าใจไม่ยึดเอาการบวชเป็นนิสัยจริงๆ อย่างที่พูดว่าบวชเป็นนิสัยแล้ว ข้าพเจ้าก็คาดไม่ถูกว่า ผู้บวชจะอุดมสมบูรณ์ด้วยบุญลาภปานใดสมกับคำนิเทศแห่งอานิสงส์บรรพชาบันลือลั่นอยู่ว่า การบวชเป็นบ่อให้เกิดบุญกุศลตั้งหลายกัปหลายกัลป

    เรื่องการบวชพอเป็นนิสัยนี้ ในท่านที่มุ่งจะบวชอยู่ก็ดี หรือกำลังบวชอยู่ก็ดี แม้บวชแล้วก็ดี เฉพาะผู้ทราบดีแล้ว ขอจงยินดีเถิด ส่วนผู้ที่ยังไม่ทราบ ขอจงสงบใจค่อยคิดค่อยอ่านคำอธิบายต่อไป

    คำว่า นิสัย เป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นภาษาบาลี เราเอามากใช้เรียกกันจนติดปาก ใช้กันจนชิน จนเป็นที่รู้กันทั่วๆ ไป พอได้ยินคำว่านิสัย ก็ดูเหมือนจะเข้าใจความหมายได้ทันทีว่า อะไร แต่ถ้าผู้ฟังจะลองถามผู้พูดสักหน่อยว่า นิสัย คืออะไรแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้พูดจะงันไป แม้จะแก้ได้ก็ไม่แจ่ม คือไม่อาจให้ความเข้าใจแก่ผู้ถามจนเป็นที่พอใจ น้อยคนจะแก้ไขได้ดี ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคำนั้นมิใช่ภาษาของเรา เป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม ทั้งก่อนแต่เราจะใช้ ก็มิได้ใคร่ควญให้เข้าใจความหมายก่อนว่าอะไร ใช้กันส่งๆ ไปจนเลือนจากความหมายเดิม เกือบจะถือเอาเดิมให้ถูกดีไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น นิสัยคืออะไร? เฉพาะในที่นี้ นิสัยคือธรรมเป็นเครื่องอาศัย อธิบายว่า คนพอใจทำอะไร เพราะอาศัยธรรมอันใดเป็นเหตุ ธรรมอันนั้นชื่อว่า นิสัย คือธรรมที่เป็นเหตุให้คนอาศัยทำอะไรต่ออะไร แม้ธรรมอันเป็นเครื่องอาศัย ก็ยังคงเป็นคำกลางๆ เพราะเป็นได้ทั้งดีและชั่ว คือถ้าเป็นฝ่ายดี ก็เป็นกุศลธรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อคนใดอาศัยกุศลธรรม เช่น เมตตา ทาน ศีล เป็นต้น เป็นเหตุคนนั้นก็มีนิสัยดี คือมีนิสัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารีเรียบร้อย เมื่อคนใดอาศัยอกุศลธรรม เช่นอิสสา อภิชฌา พยาบาท เป็นต้น เป็นเหตุ คนนั้นก็นิสัยเลวทราม คือมีนิสัยริษยา ส่อเสียด ปากบอน ฉ้อโกง ปองร้ายเป็นต้น

    เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จับความจริงได้ว่า นิสัยเป็นสิ่งที่อบรมให้เกิดให้มีให้ดี ให้เลวได้ สุดแต่จะให้มากไปในทางใด มิใช่เป็นสิ่งที่ติดมาแต่สัญชาติเดิมและเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ถ้าประสงค์จะแก้นิสัยเลวให้กลับดี โดยที่ให้ได้เห็นได้ฟัง แต่อาการและเสียงอันเป็นจริยาวัตรของคนดีให้ได้เสวนะากับคนดีเป็นส่วนมากแล้ว นิสัยอันกระด้างลามกก็จะอ่อนโยนไปกลับให้เป็นคนมีนิสัยดีได้ ข้อนี้แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสรับยืนยันว่า เราตถาคตยังไม่เห็นเหตุภายนอกอื่นใด อันจะเป็นปัจจัยให้คนเปลี่ยนนิสัยได้ดัง เสวนะ (การคบ) แสวนะจึงเป็นปัจจัย อันสำคัญในการกลับนิสัย ดังนัยที่สมเด็จพระมหาสมณะตรัสเตือนใจไว้ในข้อหนึ่งว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนใดก็เป็นเช่นคนนั้นแล

    เพื่อยืนยันข้อนี้ ขอยกเรื่องนกแขกเต้ามาเล่าให้ฟังสักเรื่อง ๑ เชิญสดับ

    เรื่องลูกนกแขกเต้า

    แต่กาลไกลโพ้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ใกล้สานูบรรพต เรียกว่า สิมพลีวัน เป็นที่อาศัยของฝูงนกมากต่อมาก นกแขกเต้าฝูงหนึ่งทำรังอาศัยอยู่ปลายไม้งิ้ว วันหนึ่งพายุกล้าพัดเอารังนกแขกเต้า ซึ่งมีลูกอ่อนสองตัวอยู่ภายในขาดปลิวไปไกล ชีวิตของลูกนกยังไม่ถึงฆาต ตัวหนึ่ง บังเอิญตกลงในกองหอกดาบของพวกโจรขณะที่กำลังทำพิธีอยู่ในโจรคามฟากเขาโน้น พวกโจรเห็นเป็นมงคลพากันอุ้มชูเลี้ยงต่อมาให้ชื่อว่า สัตติคุมพะ เพราะตกลงที่กองหอกดาบเป็นนิมิต นกสัตติคุมพะโตขึ้นด้วยมือโจรเลี้ยง นิสัยหยาบคายเหมือนโจร

    ส่วนอีกตัวหนึ่ง ตกลงมาที่กองดอกไม้ของฤาษีขณะที่กำลังจัดพิธีบูชากูณฑ์ ฤาษีการุณย์เก็บเลี้ยงต่อมา ให้ชื่อว่าปุบผกะ เพราะตกที่กองดอกไม้เป็นนิมิต นกปุบผกะโตขึ้นด้วยมือฤาษีเลี้ยง ก็มีนิสัยใจคออ่อนโยนเรียบร้อยดังฤาษี

    อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากรุงอุดร พระนามว่า ปัญจาละ เสด็จล่าเนื้อ ติดตามเนื้อทรายไปชายป่า พลัดจากราชบริพารถึงกับล้าตลอดม้าพระที่นั่ง ต้องแวะเข้าพักผ่อนพระกายยังร่มไม้ไทรใกล้บ้านโจรพวกนั้น บังเอิญวันนั้น พวกโจรไม่อยู่พากันเข้าป่าหมด คงเหลือไว้แต่คนครัวคนหนึ่งเท่านั้น นกสัตติคุมพะบินออกจากบ้านโจรโผเล่นตามชายป่า เหลือบเห็นพระเจ้าปัญจาละ ซึ่งงามสะพรั่งด้วยอาภรณ์ ก็พึงใจอย่างสันดานโจร บินเข้ามาใกล้และร้องลั่นด้วยความร่าเริงว่ แหม! เจ้านี่สวมสร้อยและอาภรณ์ที่งามและยิ่งด้วยค่า กูจะรีบไปบอกนายโจรมาฆ่ามันเสียแล้วชิงเอาสร้อยและอาภรณ์ไป ครั้นแล้วก็บินกลับเข้าบ้าน

    พระเจ้าปัญจาละทรงสดับเสียงนกนั้นแล้วตกพระทัย ทรงดำริว่าที่นี่มีภัยไม่ควรอยู่ ดูซิเพียงแต่นกก็ยังร้ายอย่างนี้ถ้าเป็นคนเห็นจะดุร้ายเกินเปรียบแล้ว รีบเสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งออกจาร่มขับม้าวกอ้อมเชิงภูเขามา สักครู่ใหญ่ก็ถึงอาศรมฤาษีที่ตั้งอยู่เป็นขนัด ทรงดำริว่าควรจะเข้าไปนมัสการพระดาบสตามราชประเพณี ครั้นเข้าไปใกล้ลานอาศรมแล้ว ก็เสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง ทรงดเนินเข้าชานอาศรม

    บังเอิญวันนั้นบรรดาฤาษีไม่อยู่ พากันเข้าป่าหาผลไม้ เหลือนกปุบผกะตัวเดียวเฝ้าอาศรม ทันใดนั้นนกปุปผกะโผลงจากคอนไม้ ยกปีกขึ้นประสาน กระทำปฏิสันถารโดยคารวะ พร้อมด้วยวาจาไพเราะแต่ไกลว่า ข้าแต่มหาราช ฝ่าพระบาทเสด็จมาดี ไม่มีภัย อัญเชิญเสด็จประทับระงับร้อนก่อนเถิด น้ำใสสะอาดมีรสจืดสนิทควรแก่การเสวย ท่านเจ้าพระคุณอาจารย์จัดตั้งไว้เป็นอันดีแล้ว

    ท้าวเธอสดับคำทูลของปุบผกะว่ ทั้งเลื่อมใสในการปฏิสันถารเพิ่มอีกด้วย จึงตรัสชมนกปุบผกะว่า พ่อปักษีทวิชาติ ช่างงดงามน่ารักหนักหนาพ่อประกอบด้วยธรรมอันงดงามยิ่งแท้ แล้วทรงตำหนินกสัตติคุมพะต่อไปด้วยว่า แหม! อ้ายนกแขกเต้าตัวโน้น มันช่างแสนร้าย พูดจาหยาบคายตรงข้ามกับเจ้านกนี่

    นกปุบผกะทูลต่อไปว่า ข้าแต่มหาราช ถึงช้าพระบาทเอง ก็เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันกับนกแขกเต้าโน้น ต่างแต่นกสัตติคุมพะโตในสำนักคนไม่ดี พร่ำสอนด้วยอิสิธรรม นำให้มีนิสัยอ่อนโยนเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ข้าพระบาททั้งสองจึงต่างกันโดยธรรม เมื่อจะทูลถวายธรรมแด่พระเจ้าปัญจาละ จึงกล่าวต่อไปว่า

    ข้อแต่มหาราช ใครคบสัตบุรุษหรืออสัตบุรุษ คบคนมีศีลหรือคนทุศีล เขาจะต้องไปสู่อำนาจคนนั้นทันที ผู้ใดทำเช่นใดให้เป็นมิตร หรือคบมิตรเช่นใดเขาผู้นั้นจะต้องเป็นเหมือนคนเช่นนั้น ศิษย์ที่เสวนะกับครูอาจารย์คลุกคลีอยู่ร่วมกัน ก็ย่อมติดนิสัยครูบาอาจารย์นั้น เหมือนดังลูกศรที่กำซาบยาพิษย่อมประทุษร้ายแล่งของมัน เพราะฉะนั้นผู้ีปัญญาจึงไม่คบเพื่อนลามกเพราะกลัว ใบคาพันปลาเน่าก็ยังเหม็นคลุ้งไปดังปลา การคบคนพาลก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นคนฉลาดทราบความสำเร็จประโยชน์แห่งตน เหมือนใบไม้ก่อกฤษณา จึงไม่คบคนชั่ว คบแต่นดี เพราะคนชั่วนำไปนรก ส่วนคนดีนำไปให้เข้าถึงสวรรค์ได้

    พระเจ้าปัญจาละ ทรงเลื่อมใสในธรรมกถาของนกปุบผกะ ครั้งฤาษีเหล่านั้นกลับมาก็ทรงมนัสการแล้วตรัสว่า "ข้าแต่พระคุณทั้งหลาย ผู้เจริญ เมื่อจะอนุเคราะห์โยมก็ได้โปรดไปพำนักอยู่ในพระนครของโยมเถิด" แล้วทรงลาฤาษีและนกแขกเต้าเสด็จกลับพระนคร พระราชทานอภัยแก่นกแขกเต้าทั้งหมด รับสั่งให้จัดพระราชอุทยานให้เป็นที่พักของเหล่าฤาษีที่นิมนต์มา ทรงบำรุงเป็นอย่างดีบำเพ็ญทางสวรรค์สำหรับพระองค์ตลอดพระชนม์

    เพราะฉะนั้น จึงว่าเสวนะเป็นสื่อสร้างนิสัยให้ดีและเลว แม้สัตว์เดรัจฉานก็ยังเป็นไปได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์ผู้มีชาติเสมอกัน

    เมื่อได้ความจริงว่า คติของนิสัยแรงไปทางเสวนะดังเรื่องที่ว่าคบโจรเป็นโจร คบฤาษีเป็นฤาษี คบคนชั่วหรือดีชนิดใดๆ ก็กลับนิสัยไปเป็นคนชนิดนั้นๆ ได้ ฉะนั้นคนที่เลื่อมใสในพระ เสวนะกับพระเนืองๆ จึงมีนิสัยไปทางพระ ถ้าถึงกับได้บวช ร่วมสิขาลาชีพกับพระแล้ว จะต้องมีนิสัยไปทางพระเป็นส่วนมาก ฉะนั้นเองในตระกูลพุทธศาสนิกของเราจึงถอืเอาการบวชเป็นกิจสำคัญทีเดียวสำหรับลูกผู้ชาย ต้องให้บวชเรียนดังกล่าวแล้วในภาคต้น และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ต้องให้มีนิสัยไปทางพระนั่นเอง เพราะเหตุดังนี้ เมื่อผู้บวชสึกหาลาเพศออกมาแล้ว ตนเองก็ดี มารดาบิดาก็ดีหรือญาติมิตรก็ดี จึงมีเสียงอันเดียวกัน "บวชพอเป็นนิสัย"

    บรรดาจริยวัตร ที่พระประพฤติอยู่ในปรกติเช่น การนุ่งห่ม การฉัน การพูด การทำวัตร การบูชา การเคารพ เป็นต้นเหล่านี้ พระศาสนาถือเป็นระเบียบเพื่อความเรียบร้อย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปเหล่านี้ พระสงฆ์ผู้รักความสุภาพ ควรพยายามประพฤติให้ติดเป็นนิสัย เผื่อว่าจะลาจากสมณเพศไป จะได้มีนิสัยรักความสุภาพเรียบร้อยเหล่านี้ติดไปด้วย ให้สมกับที่นิยมกันว่า บวชเป็นนิสัย เพื่อโยมและญาติมิตรทั่วไปจะได้ต้อนรับความชื่นชมยินดี

    อนึ่ง เมื่อสังสารวัฏฏ์ยังวนเวียนอยู่อย่างนี้ เราจึงไม่ควรประมาทไม่ควรวางใจ ควรรู้สึกเสมอว่า ความวนเวียนของสังสารวัฏฏ์ยังมีอยู่ ตัวเราที่อาศัยอยู่ในสังสารวัฏฏ์ จะต้องวนเวียนไปตามด้วย

    ความวนเวียน บอกอยู่ชัดว่า ไม่แน่นอน เอายุติลงตรงไหนไม่ได้ ทั้งไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ด้วย ดังนั้น ทุกสิ่งที่เรามุ่งหมายไว้ว่าจะดี จะุรุ่งเรือง จึงตกอยู่ในลักษณะว่า ไม่แน่ ไม่ควรวางใจ ซึ่งจะต้องทำให้เสียใจมากในภายหลัง

    ท่านบัญญัติ อนิมิตธรรม คือเรื่องที่ใคร่รู้ไม่ได้ไว้ ๕ อย่าง คือ
    ๑. ชีวิต
    ใครจะรู้แน่ว่า เมื่อนั่นจะรุ่งเรือง เมื่อนั่นจะล่มจม วิถีของชีวิต รู้กันไม่ได้
    ๒. พยาธิ
    ใครจะรู้แน่ว่า เมื่อนั่นจะป่วย และจะป่วยด้วยโรคอย่างนั้นๆ รู้ไม่ได้
    ๓. กาล
    ใครจะรู้แน่ว่า เมื่อนั่นจะตาย และจะตายด้วยอาการที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนาอย่างนั้นๆ รู้ไม่ได้
    ๔. เทหนิกฺเขปนํ
    ใครจะรู้แน่ว่า เราจะทอดร่างลงตายที่ไหน ป่าช้าอยู่แห่งใด รู้ไม่ได้
    ๕. คติ
    ใครจะรู้แน่ว่า ตายแล้วจะไปอยู่ภพไหน ที่ใด สุขหรือทุกข์อย่างไร รู้ไม่ได้

    ดังนั้น ควรละหรือ ที่เราจะวางใจ ในสิ่งที่เรามุ่งหมาย ดูเถอะ แม้ตัวของเราก็ยังรู้แน่ไม่ได้ ทางที่ดีควรนั้นก็คือ ควรพยายามสร้างความดีบำเพ็ญบุญกุศลไว้สำหรับตัวเสมอ อุตสาหะทำให้เป็นนิสัยปัจจัยไว้เถิด เพราะถ้าประสบเรื่องร้ายในชีวิต โดยไม่เคยนึกว่าจะประสบเข้าจะได้ไม่เศร้าโศกนัก พอมีสติเหนี่ยวรั้งจิตใจ เพราะรู้ตัวอยู่ก่อนแล้ว

    อนึ่ง ชีวิตมีความตายเป็นปลายทาง จะต้องเดินไปถึงจุดปลายทางด้วยกันทุกชีวิต ดังนั้น หากถึงวาระเข้าแล้ว ขณะนั้น ขณะอารมณ์ของเราจะเป็นอะไร ใครจะรู้จริงนอกจากเราคนเดียว แต่ก็คงมีอาการละม้ายคล้ายกัน คือหลักตาลงเห็นโลกหน้า ลืมตาขึ้นเห็นโลกนี้ อา ! ถ้าเวลานั้นเราบังเอิญเคราะห์ร้าย ไม่มีใครพยาบาล ไม่มีใครช่วยดูแล ให้ยาบ้าง อยู่เป็นเพื่อนอุ่นใจบ้าง เราจะสลดใจในความอนาถาของเรา และจะเรียกร้องเอาอะไรๆ ก็ไม่ได้แล้ว หมดหวังทั้งสิ้น เราจะทุกข์ร้อนเสียใจ จนหมดลม

    แต่ยังก่อนท่าน เรายังมีเพื่อน เรายังมีสหายที่ประคองใจเราอยู่ ผู้นั้น คือ "บุญ" บุญที่เราบวช บุญที่ได้อบรมจิตใจไว้ บุญที่ได้สั่งสมไว้ เป็นนิสัยปัจจัยช่วยให้ชีวิตเราสดชื่น นึกถึงภพหน้าไว้ เราจะอุ่นใจหายหวาด เป็นสุขขึ้น คิดว่าการมาเกิดของเรา ไม่เปล่าประโยชน์ด้วยเคยสั่งสมบุญไว้ เพื่อเป็นนิสัยปัจจัยสืบไป ดังพระพุทธโอวาทตรัสประทานไว้ว่า

    ปุญญํ สุขํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ.
    บุญให้เกิดความสุขในเวลาสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น จงพยายามบำเพ็ญคุณธรรมไว้ ทำให้เป็นนิสัย ให้เป็นคนใจบุญใจกุศล ใจเมตตาปรานีเถิด ด้วยว่านิสัยดี เป็นความดีจริงๆ อย่างน้อยก็จะต้องเอาไว้ใช้เมื่อปลายมือด้วยกัน เวลา ถึงแม้จะน้อยแต่มีค่าสำหรับผู้ตั้งใจจริงยิ่งนัก "บวชเป็นนิสัย" จึงเป็นข้อที่ผู้ใหม่ในศาสนาจักพึงพิจารณาด้วยความรอบคอบสุขุมและจงจำไว้ว่า

    ของดีดีเด็ด เหมือนเพชรเหมือนทอง
    ถึงไร้เจ้าของ ก็เหมือนตัวยัง
    ถึงใส่ตู้อุด ถึงขุดหลุมฝัง
    ก็มีวันปลั่ง อะหลั่งฉั่งชู เอยฯ



     
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    เมื่อมียศ

    เมื่อมียศ เขาก็รับ นับว่าญาติ
    มีอำนาจ ยกเป็นนาย ให้ใช้สอย
    คราวสิ้นยศ หมดอำนาจ ญาติมิตรลอย
    เหลือบุญคอย ช่วยชู ผู้เดียวเอย.

    ธรรมสาธก.
     

แชร์หน้านี้

Loading...