บทความให้กำลังใจ(ช้างรับศีล)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,333
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ช้างรับศีล
    หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แม้ท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ แต่ท่านก็ยังเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ผู้ใฝ่ธรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย

    ท่านเป็นพระปฏิบัติที่ใฝ่ในธุดงควัตรมาตั้งแต่ยังหนุ่ม เมื่อท่านได้ยินกิตติศัพท์พระอาจารย์มั่นก็บุกป่าฝ่าดงตามหาท่าน และเที่ยวติดตามท่านจนภายหลังได้รับเมตตาเข้าไปจำพรรษากับท่านอาจารย์ใหญ่

    คืนหนึ่งในพรรษา ขณะที่ท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ ช้างบ้านใหญ่เชือกหนึ่งได้พลัดตรงเข้ามายังกุฏิท่าน แต่เผอิญกุฏิด้านหลังมีม้าหินใหญ่ก้อนหนึ่งบังอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้ามาถึงตัวท่านได้ แต่กระนั้นก็เอางวงสอดเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้ง เสียงสูดลมหายใจดมกลิ่นท่านดังฟูดฟาดๆ จนกลดและมุ้งไหวไปมา แต่ท่านเองไม่ไหวติง นั่งภาวนาบริกรรมพุทโธ ๆ ตลอด ๒ ชั่วโมง ช้างใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมหนีไปไหนราวกับจะคอยทำร้ายท่าน ต่อมาก็เคลื่อนไปทางตะวันตกของกุฏิ แล้วล้วงเอามะขามมากิน

    ท่านเห็นว่าหากนิ่งเฉยคงไม่ได้การ จึงตัดสินใจออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง เพราะเชื่อว่าช้างนั้นรู้ภาษาคน หากพูดกับช้างดี ๆ มันคงจะไม่พุ่งมาทำร้ายเป็นแน่

    เมื่อตกลงใจแล้วท่านก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้หน้ากุฏิ แล้วพูดกับช้างว่า “พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้องจะพูดเวลานี้” ท่านว่าพอช้างได้ยินเสียงท่านก็หยุดนิ่งเงียบแล้วท่านก็พูดต่อไปว่า

    “พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเวลานานจนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่างตลอดจนภาษามนุษย์ที่เขาพูดกันและพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่างยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก ดังนั้นพี่ชายควรจะรู้ขนบธรรมเนียมและข้อบังคับของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการกระทำบางอย่างแม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้วเขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายก็ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดแหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศีรษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้อย่าได้ลืมคำที่น้องสั่งสอนด้วยความเมตตาอย่างยิ่งนี้”

    แล้วท่านก็ขอให้ช้างรับศีลห้า และกำชับให้รักษาให้ดี เมื่อตายไปจะได้สู่ความสุข มีชาติที่สูงขึ้น จากนั้นท่านก็สรุปว่า “เอาละ น้องสั่งสอนเพียงเท่านี้ หวังว่าพี่ชายจะยินดีทำตาม ต่อไปนี้ขอให้พี่ชายจงไปเที่ยวหาอยู่หากินตามสบายเป็นสุขกายสุขใจเถิด น้องก็จะได้เริ่มบำเพ็ญภาวนาต่อไปและอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาให้พี่ชายเป็นสุขทุก ๆ วัน และไม่ลดละเมตตา เอ้าพี่ชายไปได้แล้วจากที่นี่”
    ท่านว่าขณะที่ท่านกำลังให้โอวาทสั่งสอน ช้างยืนนิ่งราวก้อนหินไม่กระดุกกระดิกหรือเคลื่อนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแม้แต่น้อย ต่อเมื่อท่านให้ศีลให้พรเสร็จและบอกให้ไปได้ มันจึงเริ่มหันหลังกลับออกไปจากที่นั้น

    เมตตาและปิยวาจานั้นไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้ช้างก็ซาบซึ้งและสัมผัสได้ด้วยใจ

    เมตตาของหลวงพ่อ

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังนั้น ท่านเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๑ หากแต่มีกิตติศัพท์เลื่องลือจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนมากเวลานึกถึงท่าน ผู้คนมักมองไปในแง่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือพระเครื่อง ทั้ง ๆ ที่คุณธรรมของพระองค์ท่านมีอยู่อเนกประการที่สมควรน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมของท่านประการหนึ่งได้แก่ ความเมตตา ไม่เฉพาะต่อผู้คน หากยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อย

    มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปในงานบ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้ไปโดยทางเรือ ครั้นเรือจะเข้าทางอ้อม ท่านได้ขึ้นบกลัดทุ่งนาไปด้วยหมายจะให้ถึงเร็ว ปล่อยให้ศิษย์แจวเรือไปตามลำพัง ระหว่างทางท่านได้พบนกกระสาตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ จึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงแทน เมื่อศิษย์แจวเรือถึงบ้านงาน ไต่ถามได้ความว่าท่านขึ้นบกเดินมาก่อนนานแล้ว เจ้าภาพจึงได้ให้คนออกติดตามสืบหา ไปพบท่านติดแร้วอยู่ พอจะเข้าไปแก้บ่วง ท่านร้องห้ามว่า “อย่า อย่าเพิ่งแก้ เพราะขรัวโตยังมีโทษอยู่ ต้องให้เจ้าของแร้วเขาอนุญาตให้ก่อนจ้ะ”

    ครั้นท่านได้รับอนุญาตแล้วจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ แล้วท่านได้กล่าวคำอนุโมทนา ยถา สัพพี เสร็จแล้วท่านจึงได้เดินทางต่อไปยังบ้านงาน

    หลวงพ่อชากับรถยนต์

    ทุกวันนี้รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับคนมีเงินไปแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสเห็นอะไรดีก็อยากถวายให้พระได้ใช้บ้าง เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก ดังนั้นการถวายรถยนต์แก่พระจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนมีเงิน จนกระทั่งรถกลายเป็นเครื่องแสดงสถานภาพของพระว่าเป็นที่ศรัทธานับถือของญาติโยม ผลก็คือพระที่มีสมณศักดิ์ท่านใดที่ไม่มีใครถวายรถให้ ก็ต้องถือเป็นกิจที่จะขวนขวายหารถมาประดับบารมี

    สำหรับหลวงพ่อชา สุภทฺโทนั้น ท่านไม่ต้องขวนขวายหารถ เพราะมีคนอยากถวายรถยนต์ให้ท่าน แต่แทนที่ท่านจะตอบรับ ท่านได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์วัดหนองป่าพงหลังสวดปาฏิโมกข์เพื่อฟังความเห็นพระสงฆ์ ทุกรูปต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับด้วยเหตุลว่าสะดวกแก่หลวงพ่อเวลาไปเยี่ยมสำนักสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขาในเวลานั้น อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธก็จะได้นำส่งหมดได้ทันท่วงที

    หลังจากที่หลวงพ่อชารับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแล้ว ท่านก็แสดงทัศนะของท่านว่า “สำหรับผม มีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

    “เมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริง ๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก

    “ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...