หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 มิถุนายน 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ผีปอบสาว

    ปี พ.ศ. 2493 เดือนเมษายน เป็นช่วงที่ท่านพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ที่นั่นท่านได้พบกับคุณหมอเจริญ ซึ่งกำลังเตรียมตัวจะบวชตามประเพณี

    วันหนึ่ง มีหญิงสาวผู้หนึ่งเข้ามาสนทนากับคุณหมอเจริญ หลังจากพูดคุยกันอยู่ครู่ใหญ่ เรื่องราวที่สนทนากันทำให้หญิงสาวผู้นั้นถึงกับยอมเปิดเผยความในใจว่าแกเป็นปอบ ในตอนนั้น ท่านเองก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ท่านเล่าไว้ ดังนี้

    "...อย่างเขาว่าเป็นปอบเป็นผีก็เหมือนกัน คนนั้นเป็นปอบ คนนี้เป็นปอบ มันมีผีมาสิงอยู่ในคนเขาเรียกปอบ เอ๊ ชื่อว่าอะไรนาหญิงคนนี้ หมอเจริญซักเอาเสียจนตาแห้ง นั่งดูหญิงคนนั้น หมอเจริญน่ะเป็นนักเรียนแพทย์ปัจจุบัน อยากรู้ชัดๆ เป็นยังไงแน่ แกก็เล่าให้ฟังจริงๆ โห แกเล่าอย่างอาจหาญนี่ นั่งเหมือนกับอ้าปากด้วย ลืมตาไม่หลับด้วย อ้าปากด้วย คือแกพูดมันน่าฟัง

    ถ้าวันไหนมันหิวมันดิ้นอยู่ในนี่ เจ้าของจะรู้สึกรำคาญ ว่างั้น ปอบส่วนมากมันจะออกทางตา แพล็บๆ ทางตา แล้วก็ไป แล้วทางเจ้าของนี้ก็คอยร้อนใจละซิ กลัวว่ามันจะไปกินใครเข้า ถูกหมอเขาเก่งเขาไล่ติดตามผีมา ก็มาหาเราได้ ถ้าคนไล่ผีไม่เก่ง คนไล่ผีไม่รู้ มันก็กินคน พอมันกินอิ่มแล้ว ก็กลับมาหาคน กลับมาหาเจ้าของนั่นแหละ มาเข้าเจ้าของ เข้าทางหูบ้าง เข้าทางตาบ้าง แวบเดียว ทีนี้ก็จะรู้สึกง่วงนอนทั้งวัน ถ้ามันได้ไปกินอิ่มๆ มาแล้ว จะง่วงนอนทั้งวันเลย แต่ถ้ามันหิวแล้ว เจ้าของก็จะรู้สึกกระวนกระวาย คือมันกวนอยู่ภายใน ครั้งถ้าออกไปกินเขา ก็ถูกเขาไล่ละซิว่า

    "อีนี้เป็นปอบ อีนั้นเป็นปอบ"

    เขาไล่ตามมาก็มาโดนเอาเราเข้า เหตุที่จะเป็นปอบก็เพราะแกไปสักว่าน เขาเรียกว่ากระจาย สักอยู่บนหัวนี่...ให้เขาสักว่านให้ที่กระหม่อม แล้วอยู่ยงคงกระพันด้วยนะ เมื่อสักว่านแล้ว แทงก็ไม่เข้า ฟันไม่เข้า ปืนยิงไม่ออก นั่นละ เหตุที่จะมาเป็นปอบก็เพราะว่านอันนี้ คือรักษาไม่ได้

    แกว่ามีวิชาที่ขัดกันกับสิ่งนี้ เช่นกินของดิบอย่างนี้นะ ถ้าหากกินเนื้อดิบปลาดิบอย่างนี้เข้าไปมันจะขัดกับวิชานี้ ถ้าขัดแล้วก็ทำให้เป็นปอบได้ ถ้าไม่ขัดก็ไม่เป็นอะไร สิ่งที่ทำให้ขัดกันก็เช่น ไม่ให้กินเนื้อหรือไม่ให้กินปลาดิบ หรืออย่างลาบเลือด หรือเครือกล้วยก็ห้ามไม่ให้ไปลอด นี้ก็ไปลอดไม่ได้มันผิด นี่ละที่แกเล่าให้ฟัง

    เราก็ฟังดูเหมือนกัน เอ๊ พิลึก ที่วัดป่าสุทธาวาสนี่ละ เรากำลังจะไปวัดดอยธรรมเจดีย์กับหมอเจริญ หมอเจริญกำลังจะบวช ให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ไปบวช...แกบวชให้แม่ แม่ขอก็เลยบวชให้ ก็พอดี ผู้หญิงคนนั้นแกมาคอยรถอยู่ที่หน้าวัด แต่ก่อนรถไม่ค่อยมีแหละ มาที่กุฏิ พวกนี้ก็นั่งอยู่นั้น แกมาก็เลยพูดกันไปพูดกันมาจึงได้รู้เรื่องรู้ราวว่าแกเป็นปอบ

    "ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่เหรอ ?"

    "เป็นอยู่" แกว่างั้นนะ "ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ยังแก้ไม่ตก เพราะว่านเขาสักไว้กระหม่อมนี้ แล้วไปทำผิดเลยกลายเป็นปอบไป..."

    ...ถ้าหมอเขาเก่งๆ มันไปกินใครอย่างนี้ เขาไปขับผี พอจับมัดได้แล้ว เอาเชือกนะมัด เขาเรียกเชือกระกำ เป็นเชือกวิชา เมื่อเขามัดผูกนี้ไว้แล้วมันก็ออกไม่ได้ จากนั้นเขาก็ซักถามซิ

    "เป็นใคร ? มาจากไหน ?"

    เป็นนั้น ชื่อว่าอย่างนั้นๆ "แล้วใครเป็นเจ้าของ ?" มันก็ชี้บอกเจ้าของ

    "ยายนี้แหละ" คนยังสาวๆ อยู่นะ ไม่ใช่ยายอะไรแหละ หมอเจริญนี้เชื่อเลย...

    โอ้โห ! วิชามันแปลกนะ เอาไปคิดแหละพวกหมอแผนปัจจุบันนี่นะ สิ่งเหล่านี้เขาไม่เชื่อว่ามี ทีนี้หมอเจริญนี่แหละเชื่อ ไปเห็นแล้วไม่เชื่อได้ยังไง เพราะเขาพูดเป็นตุเป็นตะ พูดเป็นหลักความจริง หลักฐานพยานก็สักอยู่บนกระหม่อมเขา ก็บอกว่าสักอยู่ตรงนี้ นี่ละตัวมันพาเป็นเหตุ ก็มีหลักฐานพยานอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะไม่เชื่อได้ยังไง มันกินคนเขาก็บอกว่ามันไปกินคน..."
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
    จากภาพ..แถวหลังองค์ที่ 2 จากขวามือ คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



    ตอนที่ 10 คืนแห่งความสำเร็จ

    น้ำซับ น้ำซึม ด้วยสติปัญญา

    เทศน์อบรมพระตอนหนึ่งของหลวงตากล่าวถึงความเพียรในการบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านในระยะนั้นว่าเป็นไปเองโดยไม่ต้องได้บังคับ ทั้งนี้เป็นผลมาจาก ภาวนามยปัญญา อันเป็นสติปัญญาที่หมุนตัวเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการบังคับบัญชาในเรื่องความพากเพียรเลย กลับต้องได้รั้งเอาไว้ มิเช่นนั้นแล้วสติปัญญานี้จะทำงานจนเลยเถิด ด้วยเพราะเห็นโทษแห่งวัฏจักรอย่างถึงใจนั่นเอง ใจ จึงมีกำลังมากที่จะถอนตัวออกจากทุกข์อย่างเต็มเหนี่ยม โดยไม่มีคำว่าเป็นว่าตายเลย ท่านกล่าวว่า

    "...นี่สติปัญญาขั้นนี้ก้าวแล้ว ทีนี้เบิกกว้าง ออกเรื่อยๆ เรื่องกิเลสตัณหาวัฏจักรวัฏวนหมุนภายในดวงใจนี้ เหมือนกับว่ามันหดย่นเข้ามาๆ ทางเบิกกว้างที่จะหลุดพ้นจากทุกข์เบิกกว้างออกๆ สติปัญญาหมุนตัวเป็นธรรมจักร นี่เรียกว่า ธรรมทำงาน ธรรมมีกำลัง ย่อมหมุนตัวกลับเหมือนกันกับกิเลสที่มันมีกำลังหมุนหัวใจของสัตว์เป็นวัฏจักรไปตามๆ กันหมด ไม่ว่ากิริยาใดของกิเลสที่มันแสดงตัวออกมา มันทำงานเพื่อวัฏจักรของมันทั้งนั้นๆ ทีนี้เมื่อสติปัญญาอันเป็นฝ่ายธรรมมีกำลังแล้วหมุนกลับ ทีนี้หมุนกลับโดยอัตโนมัติ เหมือนกิเลสมันหมุนอยู่ในหัวใจ สัตวโลกเป็นอัตโนมัติของตัวเองนั้นแล พอถึงขั้นสติปัญญาขั้นนี้แล้ว เป็นหมุนกลับๆ ตลอดเวลา ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอนเว้นแต่หลับอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้น สติปัญญาขั้นนี้จะฆ่ากิเลสตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ หมุนติ้วๆ กิเลสขั้นหยาบหมุนหนักเรียกว่า ปัญญาขั้นผาดโผนโจนทะยานเหมือนว่าฟ้าดินถล่ม ปัญญาขั้นหยาบกับกิเลสขั้นหยาบๆ ฟัดกัน

    พอจากนั้นแล้ว สติปัญญาก็ค่อยเบาไปๆ เพราะกิเลสเบาลงๆ สติปัญญาก็ค่อยเบาไปตามๆ กัน หมุนไปตามๆ กัน เป็นน้ำซับน้ำซึมๆ กิเลสซึมซาบไปไหน สติปัญญาขั้นอัตโนมัติก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาแล้ว ซึมซาบไปตามๆ กันเลย เหมือนไฟได้เชื้อ เอ้า ละเอียดขนาดไหน สติปัญญานี้ก็ละเอียดตามกันไปๆ โดยอัตโนมัติ..."
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    เสียงบันลือโลกธาตุ ชาติสิ้นแล้ว

    ออกจากวัดป่าสุทธาวาสในตัวเมืองสกลนครแล้ว ท่านก็ย้อนกลับสู่วัดดอยธรรมเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง โดยพักอยู่กุฏิกระต๊อบหลังเล็กๆ อยู่บนยอดเขา เป็นกุฏิต่างจากครั้งก่อนที่เคยเกิดปัญหาธรรมผุดขึ้นในใจ ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ 16 ในชีวิตการบวชของท่าน และเป็นปีที่ 9 แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐาน บนเขาลูกนี้ของคืนเดือนดับ แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง ด้วยความอดทนพากเพียรพยายามติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยว รวมเวลาถึง 9 ปีเต็ม คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมกายในใจของท่านจึงตัดสินกันลงได้ ตอนหนึ่งของการแสดงธรรมแก่พระภิกษุวัดป่าบ้านตาด ท่านเมตตาเล่าถึงสภาวะธรรมในคืนนั้นว่า

    "...ก็พิจารณาจิตอันเดียว ไม่ได้กว้างขวางอะไร เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุ มันรู้หมดเข้าใจหมดและปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณาแม้แต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลย

    มันสนใจอยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมติ มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหนก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น

    อวิชชานั้นแลคือตัวสมมติ จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆ ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้ บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้างผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้างสุขบ้าง ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน แทนที่ทันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่ มันไม่จ่อ มันส่งไปที่อวิชชาหลอกไปโน้นจนได้

    อวิชชานี้แหลมคมมาก ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่าอวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้ายว่า ความโลภมันก็หยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย แต่โลกยังพอใจกับโลภ คิดดูซิความโกรธก็หยาบๆ โลกยังพอใจโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไร เป็นของหยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน

    อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมด ปล่อยมาได้หมด แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้ ทีนี้อันนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้ มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิดๆ แสดงความทุกข์ขึ้นมานิดๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวา ให้จับได้ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาไม่ลดละความพยายามอยากรู้อยากเห็นความเป็นต่างๆ ของจิตดวงนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ต้องรู้กันจนได้ว่า จิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจตายใจได้ จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า

    "จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังแสดงอาการต่างๆ อยู่ได้"

    พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า

    "ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมติทั้งสิ้นและเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ"

    เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้

    หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้นผ่านไปครู่เดียว จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตน ไม่จดจ่อกับสิ่งใด

    ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร

    ขณะที่ฟ้าดินถล่มโลกธาตุหวั่นไหว (โลกธาตุภายใน) แสดงมหัศจรรย์ขั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมติกับวิมุตติตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณ ทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา มรรคอริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงแปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลก อุทานออกมาว่า

    "โอ้โหๆ...อัศจรรย์หนอๆ แต่ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหนๆ มาบัดนี้ ธรรมแท้ ธรรมอัศจรรย์เกินคาดเกินโลก มาเป็นอยู่ที่จิต และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร...

    และแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน ? มาบัดนี้องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตดวงนี้ได้อย่างไร...

    ...โอ้โห ธรรมะแม้ พุทธะแท้ สังฆะแท้ เป็นอย่างนี้หรือ...
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    การเวียนว่ายตายเกิด...มีจริง

    ผลการปฏิบัติธรรมของท่านในคืนนั้น ทำให้เกิดสลดสังเวชใจในความเป็นมาแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของตน ดังนี้ "...จนถึงคืนวันดับนั้นถึงได้ตัดสินใจกันลงได้ด้วยความประจักษ์ใจ หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภทได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้น ใจได้เปิดเผยโลกธาตุให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดความสลดสังเวช น้ำตาร่วงตลอดคืน

    ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนเลย เพราะสลดสังเวชความเป็นมาของตน สลดสังเวชเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสมันวางเชื้อแห่งกองทุกข์ฝังใจไว้ ไปเกิดในภพนั้นชาตินี้มีแต่แบกกองทุกข์หามกองทุกข์ ไม่มีเวลาปล่อยวาง จนกระทั่งถึงตายไปแล้วก็แบกอีกๆ คำว่า แบก ก็คือเข้าสู่ภพใดชาติใดจะมีสุขมากน้อย ทุกข์ต้องเจือปนไปอยู่นั่นแล จึงได้เห็นโทษ เกิดความสลดสังเวช แล้วก็มาเห็นคุณค่าแห่งจิตใจซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิดว่าจิตใจจะมีคุณค่ามหัศจรรย์ถึงขนาดนั้น การไม่นอนในคืนนั้น เพราะความเห็นโทษอย่างถึงใจและความเห็นคุณอย่างถึงจิตถึงธรรม ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต เราก็เห็นว่าอวิชชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิทติดจมไปพักหนึ่ง...

    ...หลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา 8 เดือน ไม่เคยลืม เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส ตัวสง่าผ่าเผย ตัวององาจกล้าหาญ จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย...ทั้งๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิแต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น เมื่อเวลาได้นำสติปัญญาหันกลับมาใช้กับอวิชชาอย่างเต็มภูมิ เรื่องอวิชชาจึงแตกกระจายลงไป ถึงได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในจิตใจนั้นแหละ จึงเป็นความอัศจรรย์อย่างแท้จริง ไม่อัศจรรย์แบบจอมปลอมดังที่เป็นมา..."

    เรื่องการเกิดตายของคนแต่ละคนๆ นี้ ท่านเคยเล่าให้ศิษย์พระเณรฟังอย่างถึงใจเพื่อให้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิด และรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีใส่ตนให้มาก ดังนี้

    "...การเกิดการตายนี้ เกิดตายทับถมกันมานี้ สักเท่าไรๆ แต่ละศพแต่ละคนๆ มันรู้ไปหมด เวลามันรู้นะ เอาให้มันจริงๆ จังๆ อย่างนี้เลยนะ มันจึงขยะแขยง โห มันผ่านของมันออกแล้ว มันก็ยังขยะแขยงอยู่ นะ โถ ! แต่เวลามันจมอยู่ มันไม่ขยะแขยงนะ บืนอยู่อย่างนี้ เวลามันผ่านออกมาแล้ว มันถึงได้เห็นโทษของมัน ขยะแขยงนะ...

    ...คนหนึ่งสัตว์ตัวหนึ่งๆ นี้ถ้าไม่มีบุญ ไม่มีกุศลแล้วไม่มีความหมายเลย วนเวียนตายเกิดตายสูงตายต่ำตายเกิดอยู่อย่างนั้นตลอด ตลอดมากี่กัปกี่กัลป์ คนหนึ่งๆ นี้ เอามากองประเทศไทยนี้ไม่พอกอง ศพของคนคนหนึ่งที่ตายเกิดๆ เป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม มารวมกันนี้

    เพียงคนคนเดียวเท่านั้น ทั่วประเทศไทยเรานี้ หาที่กองศพไม่มีเลย นานขนาดไหน กี่กัปกี่กัลป์ที่ตายเกิดตายทับกองกันอยู่นี่นะ เรียกว่าตายกองกัน ล้วนแล้วตั้งแต่จิดนี่ออกไปร่างนั้นแล้วเข้าสู่ร่างนี้ เข้าสู่ร่างไหนก็ว่าเกิด ร่างไหนหมดสภาพก็ว่าตายๆ ว่าเกิดว่าตาย มันหากหมุนของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี่ละ...วัฏวนวัฏจักร...

    ...สิ่งที่มาแก้คืออะไร บุญกุศลเราสร้างมาน้องเท่าไรๆ มารวมกัน แล้วค่อยแก้ไปแก้มา แก้มากเข้าๆ บุญกุศลมีมากเข้า ความหนาแน่นของการแก้ก็หนาแน่นเข้าๆ อันนี้ก็ค่อยจางไปๆ ก็สว่างจ้าออก สว่างจ้าก็ดีดผึงๆ เลย นี่ละ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ มองดูหัวใจสัตวโลก ที่เขาไม่มีศาสนาคือเขา ไม่ได้มองดูหัวใจเลย เขาดูแต่วัตถุเท่านั้น..."
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สลดสังเวช...อดีตชาติเคยเป็นมา

    ความรู้เห็นประจักษ์ใจบนดอยธรรมเจดีย์นี้เอง ทำให้ท่านถึงกับน้ำตาร่วง ด้วยเหตุผล 2 ประการ ท่านเล่าไว้ ดังนี้

    "...ร่วงสองอย่าง ร่วงด้วยความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตนหนึ่ง เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้หนึ่ง เราก็เป็นมาอย่างนี้ คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้ายได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว..." เกิดความอัศจรรย์ในธรรมที่ปรากฏขึ้นโดยปราศจากสมมติใดๆ เข้าไปเจือปนในจิตดวงนั้น ถึงกับทำให้เกิดความขวนขวายน้อย ไม่คิดจะสอนผู้หนึ่งผู้ใดได้ เพราะคิดในเวลานั้นว่า สอนใครก็ไม่ได้ ถ้าลงธรรมกับใจเป็นของอัศจรรย์เหลือล้นถึงขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้เห็นได้ในโลกอันนี้ เพราะเหลือกำลังสุดวิสัยที่จะรู้ได้

    เบื้องต้นที่เป็นทั้งนี้เพราะจิตยังไม่ได้คิดในแง่ต่างๆ ให้กว้างขวางออกไปถึงปฏิปทาเครื่องดำเนิน จึงได้ย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีก ทั้งฝ่ายเหตุคือปฏิปทา ทั้งฝ่ายผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่า ถ้าธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่คนอื่นๆ จะรู้ได้แล้ว เราทำไมถึงรู้ได้ เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกับมนุษย์ทั่วๆ ไป เรารู้ได้เพราะเหตุใด ก็ย้อนเข้ามาหาปฏิปทา พิจารณากระจายออกไปจนได้ความชัดเจนว่า...

    "ถ้ามีปฏิปทาคือข้อปฏิบัติแล้ว ก็จะต้องได้รู้อย่างนี้..."

    ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ทำให้พ้นจากทุกข์ได้จริง

    ท่านกล่าวแสดงให้เห็นเป็นที่แน่ใจได้ว่า หากยังมีผู้พากเพียรดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติอันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ 8 อย่างจริงจังให้สมบูรณ์เต็มภูมิแล้ว ย่อมประจักษ์ผลเป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิด ได้ด้วยตัวของผู้นั้นเองอย่างแน่นอน ดังที่ท่านเคยแสดงไว้ ดังนี้

    "...ท่านผู้ใดบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอกจะรู้เองเห็นเอง เพราะอำนาจแห่ง มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย สิ่งที่รกรุงรังพัวพันอยู่ภายในใจจะแตกกระจายออกไปหมดเหลือแต่ธรรมล้วนๆ จิตล้วนๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์ จากนั้นจะเอาอะไรมาเป็นภัยต่อจิตใจ แม้สังขารร่างกายจะมีความทุกข์ความลำบากแค่ไหน ก็สักแต่ว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทับถมจิตใจให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวได้เลย เพราะธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมติ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมติล้วนๆ ธรรมชาตินั้นเป็นสมมติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพมันที่ประชุมกันเท่านั้น..."
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ไตรโลกธาตุ...ชัดเจนประจักษ์ใจ

    ท่านเมตตาเล่าถึงความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นบนยอดเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ด้วยความห่วงใยลูกหลานชาวพุทธ เกรงจะลืมเนื้อลิมตัวไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์ว่าเป็นของมีจริง ดังนี้

    "...จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ก็ประจักษ์กับใจของเรา สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิเลสที่เรารู้ ประจักษ์ใจของเราคืออะไร คือ นรก เปรต อสุรกาย บุญ บาป เทวบุตร เทวดา อินทร์พรหม มีหรือไม่มี พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ยอมรับกราบอย่างราบเลย หาที่ค้านไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนแล้ว มีมาดั้งเดิม พระพุทธเจ้าพรค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้เห็นสิ่งเหล่านี้ นอกจากเห็นกิเลส ฆ่ากิเลสจากพระทัยของท่านแล้ว ก็มารู้เห็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันกับความรู้ที่จะควรรู้ควรเห็นนี้เหมือนกันหมด

    เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมสอนธรรมแก่โลก ท่านจึงต้องสอนตามหลักความจริงว่า บาปมี เพราะบาปมีมาดั้งเดิม มาแต่กาลไหนๆ บุญมี บุญเคยมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหนๆ นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี ยอมรับว่ามีมาตั้งแต่กาลไหนๆ แล้ว

    เมื่อความรู้ความเห็นซึ่งหยั่งเข้าไปสู่จุดเดียวกันแล้ว เห็นอย่างเดียวกันแล้ว จะเอาอะไรมาค้านกัน เห็นก็เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่สงสัย รู้อย่างกระจ่างแจ้ง อย่างอาจหาญชาญชัยตามความจริงที่มีอยู่นั้น เวลานำมาพูดจะสะทกสะท้านที่ไหน ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ความรู้ความเห็นความเป็นนี้ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักความจริงไปเลย เป็นความจริงล้วนๆ

    ...อย่าพากันกล้าหาญต่อบาปนะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ทุกๆ พระองค์สอนว่า บาปมี อย่าทำบาป บุญมี ให้สร้างคุณงามความดีเพื่อบุญเพื่อกุศล นรกมี อย่ากล้าหาญชาญชัยต่อสู้พระพุทธเจ้าอวดดิบอวดดีเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ไปลบล้างว่า นรกไม่มี ตายแล้วจะจมลงทันทีทันใด

    ถ้าใครอาจหาญชาญชัยต่อพระพุทธเจ้า กล้าลบล้างว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ผู้นั้นแลคือผู้หมดคุณค่าแล้ว ทั้งๆ ที่ลมหายใจยังฟอดๆ อยู่นั้น พอลมหายใจขาดแล้ว จะดีดผึงทันที ไม่ได้มีคำว่าใกล้ว่าไกล จากนี้ถึงแดนนรกกี่กิโลกี่เส้นกี่วา ไม่เคยมี พอใจขาด ลมหายใจขาดสะบั้นลงไปแล้ว กรรมที่ทำชั่วช้าลามก ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง เป็นกรรมโดยแท้ ไม่มีที่ลับที่แจ้ง มันแจ้งขาวดาวกระจ่างอยู่ภายในใจของผู้ทำนั่นแล..."
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    องค์ถือไม้เท้าอยู่หน้าสุดคือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม (ไม่ใช่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต),
    หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    ถ่ายภาพ ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



    ยืนยัน...เทวดา อินทร์ พรหม เปรตผี สัตว์นรก...มีจริง

    คนตาบอดไม่เชื่อคนตาดี ย่อมมีทางตกหลุมตกบ่อได้ฉันใด ผู้มีใจมืดบอดด้วยกิเลสตัณหา ไม่เชื่อตาใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ย่อมนำความล่มจมมาสู่ตนได้ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านแสดงไว้ ดังนี้

    "...ความล่มจมจะมีแก่ผู้ไม่เชื่อนั้นแล นี่เรียกว่า สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้ว นี้ประมวลเข้ามา เรายอมรับทุกประเภทที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งแต่บาปแต่บุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เทวบุตร เทวดา เปรต ผีมี เรายอมรับร้อยเปอร์เซ้นต์ ตั้งแต่ขณะที่กิเลสเปิดจากใจเท่านั้นสว่างจ้าขึ้นมาหมด ไม่เคยคาดเคยคิด เคยรู้เคยเห็นว่าจะรู้จะเห็น ก็เป็นขึ้นมาแบบอัศจรรย์ จึงได้อัศจรรย์ตัวเองว่า

    "เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ?"

    จิตดวงนี้แลตั้งแต่กิเลสครอบงำอยู่ มันก็เหมือนคนตาบอด อะไรจะมีอยู่มากน้อยเพียงไรมันไม่เห็น สีแสงวัตถุต่างๆ มองไม่เห็น แต่โดนเอาๆ นี่จิตที่มืดบอดก็เหมือนกัน มีแต่โดนความทุกข์ความทรมาน โดนบาปโดนกรรมเรื่อยมา แล้วขั้นบำเพ็ญมาๆ ก็ค่อยหูแจ้งตาสว่างออกไปๆ สุดท้ายเปิดโล่งหมดทั่วแดนโลกธาตุ สว่างจ้าครอบโลกธาตุ เกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า

    "รู้ได้อย่างไร ? เห็นได้อย่างไร ? สิ่งที่ไม่เคยคาดเคยคิดเคยรู้เคยเห็น ก็เห็นก็เป็นขึ้นมาประจักษ์ใจเพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าตาเรามันหลับด้วยกิเลสปิดบังเท่านั้น พอเปิดตาคือกิเลสออกจากใจแล้ว สว่างจ้าขึ้นมา"

    ก็ยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้..."
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    จิตวิญญาณ...มีจริง

    เหตุนี้เองทำให้ท่านยืนยันเรื่องจิตวิญญาณว่าเป็นของมีจริง ดังนี้

    "...จิตดวงนี้ไม่เคยตาย ไม่เคยฉิบหาย แต่ไหนแต่ไรมา ถ้าพูดถึงเรื่องวัตถุต่างๆ ในแดนโลกธาตุนี้ว่าอันไหนมากกว่าอะไร ไม่มีอะไรที่จะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตวโลกเต็มท้องฟ้ามหาสมุทร ใต้ดิน เหนือดิน มีเต็มหมดเลย อันนี้มากที่สุดคือจิตวิญญาณของสัตวโลก เพราะมันไม่เคยสูญนั่นเอง มันเต็มอยู่นี่ ครอง ภพ ครอง ชาติ อยู่ทุกแห่งทุกหนตามเพศตามภูมิ

    อย่างที่เราเป็นมนุษย์ก็เห็นกันอยู่ ไม่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ก็เห็นกันอยู่อย่างนั้นเป็นไก่ เป็ด นก ปลา เป็นอะไรเราก็เห็นกันอยู่อย่างนั้น ที่ละเอียดกว่านั้นมันก็มีอยู่อย่างเดียวกันนี้เลย ไม่ได้ผิดกัน มันมีอยู่ตามสภาพของตนๆ เป็นแต่เพียงว่าเราสามารถสัมผัสสัมพันธ์รู้เห็นได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง นั่นก็เป็นอย่างนั้นละ

    มันมีภพละเอียด หยาบ หยาบต่างกัน อย่างพวกเทวบุตรเทวดา อินทร์พรหม พวกเปรตพวกผีก็เหมือนกับเรานี่ มีภพมีชาติเป็นกำเนิดที่เกิดของตัวเองด้วยวิบากกรรมดีชั่วเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน สัตวโลกที่เกิดขึ้นมาด้วยกัน อย่าตำหนิกันด้วยชาติชั้นวรรณะ สถานะสูงต่ำ อย่าไปตำหนิกับ..."
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    กิเลสหลอกว่า "ตายแล้วสูญ"

    มีคนจำนวนมากยังเข้าใจว่า เมื่อสิ้นใจตายไปแล้วก็สูญสิ้นจบกันเท่านั้น แท้จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนย้ำเสมอๆ ว่า

    "...สัตว์ที่ว่าตายเกิดๆ มันไม่มีที่ไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สูญ มันหากหมุนหากเวียนกัน ออกจากนี้ไปเป็นสัตว์ เป็นเทวบุตรเทวดา ไปเป็นอินทร์เป็นพรหมก็มี เป็นเปรตเป็นผีก็มี เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์มาแล้ว จิตวิญญาณดวงนี้ตายไม่เป็น

    เพราะฉะนั้น คำว่าตายแล้วสูญถึงขัดกันเอาอย่างมากทีเดียว เป็นกลมายาของกิเลสโดยตรงที่หลอกสัตวโลกได้ทำชั่ว เพราะถ้าว่าตายแล้วสูญแล้วไม่มีเงื่อนสืบต่อ อยากทำอะไรก็ทำ ความอยากทำคือทางเดินของกิเลสอยู่แล้ว ก็ทำตามความอยาก ตายลงไปแล้วไม่สูญละซิ ก็เสวยกรรมอยู่งั้น

    อะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตวโลก เต็มอยู่ในโลกอันนี้ เพราะมันไม่สูญหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามอำนาจของกรรม เกิดเป็นนั้นเกิดเป็นนี้อยู่อย่างนั้น ตายแล้วก็เกิดๆ ตายกองกัน พวกนี้พวกตายกองกัน กองทัพเขากองทับเราอยู่นั้นไม่มีทางไป

    เพราะจิตวิญญาณไม่สูญมีเต็มท้องฟ้าอากาศ ที่ไหนเต็มไปหมด ไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าธรรมชาติอันนี้หนาแน่นที่สุด นี่ละเรียกว่ากรรมของสัตว์ คือพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็มากวาดเอาดวงวิญญาณเหล่านี้ที่ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเทวบุตรเทวดาแล้วก็ถอดออกไปๆ พ้นไปๆ

    ใครจึงให้สร้างความดีซิ ถ้าอยากพ้นไปตามพระพุทธเจ้าให้สร้างความดี มันเปลี่ยนเรื่อยนะจิตวิญญาณนี่ เปลี่ยนเป็นภพนั้น ชาตินี้ตามอำนาจของกรรม หมดกรรมนี้แล้วก็มีกรรมนั้นต่ออีก ภพนั้นสืบภพนี้ไปเรื่อย กรรมหนักกรรมเบามีอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นละ..."
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ

    ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่คืนอัศจรรย์บนวัดดอยธรรมเจดีย์เป็นต้นมา ทำให้ท่านกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ และกราบยอมรับยืนยันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเมตราแสดงไว้ทุกอย่าง ไม่มีที่คัดค้าน ไม่มีอะไรติดข้องภายในใจเลย ท่านกล่าวอย่างเด็ดถึงขนาดว่า "...หากว่าผู้ใดจะมาตัดคอเรา ถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่าบาปนรกสวรรค์มีแล้วจะตัดคอ เรายอมให้ตัดเลย แต่ความเชื่อที่ประจักษ์หัวใจนี้ไม่ยอมตัด เราจะตายทั้งๆ ที่คอขาดก็ไม่เสียดาย เพราะเราได้รู้ได้เห็นอย่างนั้นจริงๆ นี่แหละศาสนาเปิดเผยมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว สอนชาวเราทั้งหลาย กิเลสมันก็ปิดมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงงกงันไปตามมัน ให้ได้รับความเดือดร้อนมากมาย...ให้เชื่อเถิด ถ้าไม่อยากจมให้เชื่อพระพุทธเจ้านะ

    ศาสนานี่เป็นศาสนาชั้นเอก ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น เป็นจิตที่บริสุทธิ์พุทโธสว่างเจ้าครอบโลกธาตุ แล้วจึงมองเห็นได้หมด เรียกว่า โลกวิทู เมื่อจิตได้เข้าถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธแล้วจะสว่างจ้า แม้จะไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าก็ตาม

    พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีใบดกใบหนาชุ่มเย็น แผ่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ต้นไม้อื่นๆ จะไม่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางอย่างต้นไม้ของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เต็มกำลังแห่งกิ่งก้านสาขาของตนที่แผ่กิ่งก้านออกไปนั่นเอง

    นี่ความรู้ของพระพุทธเจ้าเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านออกไปสุดแดนโลกธาตุ สุดแดนสมมติ แต่ความรู้ความเห็นของพระสาวกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญยังมีอีก ก็ลดกันลงมาๆ แต่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลย...กระจ่างแจ้งด้วยกันหมด นอกจากท่านจะพูดหรือท่านไม่พูดเท่านั้น นี่เป็นโอกาสที่ได้มาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ก็เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชาติ แต่ก่อนเราไม่เคยพูด รู้ก็รู้ เห็นก็เห็นประจักษ์มาตั้งแต่ที่กล่าวนั้นแหละ วัดดอยธรรมเจดีย์..."
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    แม้มืดเพียงใด พากเพียรฝึกไป ก็สว่างได้

    ความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตนักบวชของท่านในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากความพากเพียรอุตสาหะอย่างแท้จริงๆ ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่นั้น ท่านไม่รู้จักเรื่องบุญกรรมมาก่อนแต่อย่างใด แต่ด้วยท่านมีนิสัยรักเคารพในเหตุผลอรรถธรรมเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ ดังนี้

    "...เราอ่านเรา...ที่อ่านมาเพื่อเป็นคติสอนพี่น้องทั้งหลาย คือเราอ่านตัวเราเองมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มแรกเลย ไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย มันก็เห็นชัดๆ ในใจของเรา คือไม่รู้จักบุญจักบาป มีแต่ความอยากได้ สมมติไปหากินนี้ ไปหาอะไรบ้างที่มันจะได้ เห็นสัตว์ฆ่าสัตว์ เห็นปลาเอาปลา เห็นไก่เอาไก่ เห็นอะไรเอาทั้งนั้น เพราะอยากได้ มันไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ นั่นละดูพื้นฐานของจิต นี่เป็นพื้นฐานของจิตในขั้นนั้น ว่างั้นเถอะ คือว่าไม่ได้สงบเรื่องบาป เรื่องบุญอะไรเลย มีแต่ความอยาก ไปหาอะไรก็อยากได้อันนั้น ไปหากินมันก็ไม่พ้นที่จะฆ่าสัตว์ เห็นสัตว์ตัวใดเอาทั้งนั้นล่ะ

    จากนั้นก็มาบวชเป็นพระ นี่ละ ความรู้สึกทางด้านจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลงตอนมาบวชเป็นพระนะ แต่ก่อนเป็นธรรมดา แต่อันหนึ่งที่เป็นนิสัยจิตใจอยู่นั่น ความเคารพพระ เลื่อมใสพระและเชื่อศาสนา มันฝังอยู่ในจิตเลย เห็นพระคือไม่อยากพบ ไม่อยากเข้าไปหาใกล้ อายท่าน อายกับกลัวเป็นสิ่งอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะเข้าไปหาพระ

    ที่ไม่เข้าไปหา คืออายท่าน ลักษณะอายกับกลัวมันอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่เจอหน้ากันจริงๆ แล้ว ไม่ค่อยได้พบพระ นอกจากจะไปเจออย่างจัง หลีกไม่ได้ ก็หมอบกราบสักที นี่พื้นใจนะ พื้นของจิตที่มันเป็นของมันในหลักธรรมชาติ ธาตุดั้งเดิมมันเป็นอย่างนั้น ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบาปเรื่องบุญอะไร นี่เป็นเรื่องความอยาก อยากได้อะไรก็ไปตามความอยาก ไม่ได้สนใจกับคำว่า "บาป" ว่า "บุญ" อะไร

    ถึงวาระจะบวชล่ะ นี่ก็อ่านมาตลอด นี่ละ คำว่า "สายบุญสายกรรม" มันเป็นที่แน่ใจเจ้าของเช่น เจ็บไข้ได้ป่วยจนว่ามันจะไปจริงๆ ก็มีนะ ป่วยบางครั้งหนักมาก แต่สติยังดีอยู่ เวลาเป็นไข้หนักนั่นล่ะ ตอนใกล้จะบวช พอหายป่วยแล้วก็ออกบวชปีนั้นล่ะ ป่วยหนักเสียด้วย จากนั้นมาประหวัดเกี่ยวกับเรื่องบวชหนักเข้านะ

    "เอ...เราจะตายแล้วจริงๆ เหรอ ? ยังไม่ได้บวชพอมีบุญติดเนื้อติดตัวเลยเหรอ ?"

    เป็นคำนึกน้อมในใจว่า

    "...ขอให้โรคนี้ หายโรคหายภัย ขอให้ได้บวช..."


    แล้วมันก็แปลกนะ โรคนี้มันจะตายอยู่แล้วนะ มันก็หายวันหายคืน ทีนี้ออกมาบวช มันเหมือนกับว่ามีอะไรช่วยนี่ เวลาบวชก็ง่ายมาก ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเลย เกี่ยวกับเรื่องการบวช อย่างอื่นขัดข้องหมด เกี่ยวกับเรื่องบวชโล่งไปเลย นี่อะไร น่าคิด...

    เวลาบวชเราก็เป็นนิสัยอันนี้ด้วยจริงจังมาตลอด จะเป็นฆราวาสก็จริงตลอด เป็นพระมีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องประกันเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะแล้วมันก็ยิ่งแน่นแม่นยำ ติดแน่นกับหลักธรรมหลักวินัย นี่เรียนหนังสือไปเรียนไป เอะใจไปเรื่อย เรียนหนังสือธรรมะ เรียนไปๆ เอะใจเรื่อย

    "เอ๊ะ นี่...ท่านตำหนิว่ายังงั้น เราก็เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว"

    เอ๊ะเรื่อยๆ นะ...ให้สะดุ้งเรื่อยไป แต่ในเรื่องภาวนาไม่ละนะ นี่อันหนึ่งมันแปลกอยู่ เลื่อมใสพระกรรมฐาน เราอยู่เรียนหนังสือ ถ้าเห็นพระกรรมฐานมาพักในวัดเรานี่ เราจะไปถึงก่อนใครล่ะ ไปคุยกับท่าน ท่านคุยน่าฟังนะ ติดใจ ชอบกรรมฐาน ภาวนาก็ไม่ลดละ ภาวนาอยู่เงียบๆ ไม่ให้ใครรู้ ทำอยู่แบบนั้นละ...

    นี่อันหนึ่งฝังใจ ฝังนิสัย เรียนหนังสืออยู่กับพวกลิงพวกค่าง เขาไม่รู้ภาษีภาษาอะไร กิริยาท่าทางก็เป็นไปเหมือนเขา แต่ส่วนลึกในหัวใจเรานี้คือเรื่องภาวนานี้ เราไม่ละ "ธรรม" เป็นหลักใจ ไม่ลดละ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำว่าล่วงเกินสิกขาบทวินัยด้วยเจตนาอันลามก..."
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    คนเรานี้...ดีได้ด้วยการฝึก

    ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านสมัครใจที่จะเผชิญกับความทุกข์จากความเพียรฝึกฝนจิตอย่างหนัก ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้อย่างเด็ดว่า

    "...ทุกข์ใดๆ ที่โลกว่ากันว่าทุกข์หนักหนานั้น เราก็เคยผ่านโลกเห็นโลกมาก่อนพอสมควรถึง 20 ปีเต็ม บางงานก็เหมือนกับว่าจะเหลือกำลังคือหนักมาก แต่เมื่อเทียบแล้วไม่มีงานใดที่จะหนักมากและทุกข์ยากลำบากยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลส เพราะงานเหล่านั้นแม้จะหนักมากเพียงใด ก็ไม่เคยถึงขนาดสละชีวิตจิตใจกับงานนั้น แต่สำหรับงานฆ่ากิเลสนี้ ต้องยอมสละเป็นพื้นฐานเรื่อยๆ เลย..."

    ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของท่านก็คือการตื่นนอน ท่านก็ยังอุตส่าห์ฝึกหัดดัดนิสัยกันเสียใหม่อย่างเข้มแข็งจริงจัง ดังนี้

    "...พอรู้สึกจะดีดผึงเลย ตั้งแต่เรียนหนังสือ ไม่เคยที่จะลุกขึ้นมาธรรมดา เพราะความตั้งใจ ความฟิตตัวเอง เป็นจริงเป็นจังกับตัวเอง พอตื่นนี้ ดีดผึงๆ ถ้ามีเพื่อนนอนอยู่ข้างด้วยนะ หมู่เพื่อนจะตื่นเพราะความสะดุ้งเวลาลุกตื่นนอน เรียนหนังสือก็เป็นแบบนั้น ตั้งแต่เป็นนาคเข้าเรียนก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา ฝึกเสียจนชินเป็นนิสัย...

    ทีนี้ยิ่งออกปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งเก่ง แล้วไม่เคยนอนซ้ำอีกนะ ถ้าลงได้ดีดผึงไปแล้วเท่านั้น นั่นเราก็ยกเว้นให้เฉพาะ ไม่ให้ลุกลาม...มันถ่ายท้องก็ลุกขึ้นไปถ่าย แล้วก็กลับเข้ามานอน อย่างนี้เรายกให้ เป็นกรณีอย่างนี้ นอกจากนั้นเป็นไม่ได้เด็ดขาดนะ ว่างั้นเลย ทีนี้เมื่อทำตลอดตั้งแต่บวชมาจนกระทั่งออกปฏิบัติ จนมันชินต่อนิสัยไม่ต้องตั้งใจ ลุกอะไรนะ พอรู้สึกนี้มันจะดีดผึงทันที

    จนกระทั่งพรรษา 18 เราไม่ลืมนะ ที่เรามาฝึกหัดนิสัยใหม่ เพราะมันเป็นนิสัยแล้วแก้ไม่ตกง่ายๆ นะ...พรรษาที่ 17 ล่วงไปแล้ว เราก็มาแก้นิสัยใหม่ คือการตื่นนอนแบบนั้นก็ถูกต้องแบบหนึ่ง เพราะอยู่ในเวลาเร่งความพากความเพียร...ให้ตื่นเนื้อตื่นตัวตลอดเวลา ก็ยอมรับว่าถูกต้อง

    แต่เวลานี้ควรจะต้องพักผ่อนธาตุขันธ์พอประมาณ ต่อไปนี้กำหนดสอนเจ้าของรำพึงในเจ้าของ แล้วเวลาการตื่นนอนก็ควรจะให้รู้ทิศใต้ทิศเหนือที่นั่นที่นี่ แล้วค่อยลุกขึ้นมาธรรมดา ด้วยความมีสติธรรมดา ต้องการอย่างนี้ ทีนี้เราจะฝึกให้มันพอรู้สึกตัว แล้วมองรู้ทิศทางแล้วลุกขึ้นธรรมดาเรียบๆ ไม่ให้ตื่นปึ๋งปั๋งอย่างนั้น พยายามฝึก...เราก็พยายามฝึกมาร่วมปี...ให้รู้สึกตัวแล้วลุกขึ้นมาธรรมดา ฝึกอยู่ร่วมปีจึงเปลี่ยนได้..."

    ท่านกล่าวถึงจุดนี้ ทำให้ทราบชัดเจนว่า คนเรานี้ดีได้ด้วยการฝึก ฝึกหัดเช่นไร ย่อมเป็นไปเช่นนั้น จะให้อยู่เฉยๆ แล้วดีขึ้นมาเองย่อมเป็นไปไม่ได้ ท่านยังเล่าถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลสถึงขนาดต้องยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อแลกกับธรรมอันสุดประเสริฐ ดังนี้

    "...เมื่อถึงคลื่นที่จะฟัดกับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว ชีวิตนี้ไม่มีความหมายเลย เรียกว่าตายก็ยอมตาย เสียสละเอาชีวิตเข้าแลกเลย เพราะกิเลส ถ้ามันไม่เก่งจริงๆ แล้ว มันคงไม่สามารถครองหัวใจสัตวโลกได้ตลอดมาทุกภพทุกชาติเช่นนี้ ครั้นพอจะต่อกรกับมัน มันก็เลยต้องฟัดกันให้เต็มเหนี่ยว เรียกว่าทุกข์แสนสาหัส..."

    ท่านเคยเปรียบความทุกข์ยากลำบากนี้กับการติดคุกติดตะรางไว้ ดังนี้

    "...ตั้งแต่บัดนั้น...ขึ้นเวที ไม่มีการให้น้ำ ถ้าว่าให้น้ำก็ให้เวลาหลับ นอกนั้นไม่มีกรรมการไม่ต้อง ไม่มีกรรมการแยก มันจะตายช้าไป ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่งให้ตกเวที ระหว่างกิเลส กับ ธรรม ฟัดกันบนหัวใจเรา เอ้า ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่ง เอ้า ให้ตกเวที...ติดคุกติดตะรางนี้ เราสมัครเลยนะ

    ความทุกข์ยากลำบากในการประกอบความพากเพียร เราหนักมากขนาดนั้น เขาว่าติดคุกติดตะรางนี้เป็นความทุกข์ความลำบาก เราจะสมัครไปติดคุกติดตะราง เพราะติดคุกติดตะรางกินข้าววันละ 3 มื้อ จักตอกเหลา ตอกได้วันละ 5 เส้น ฆ่าเวลาไปวันหนึ่งๆ พอได้ถึงวันออก แต่ส่วนเราถ้ากิเลสไม่พังจากหัวใจเมื่อไรไม่มีวันออก ต้องเอากันจนเป็นจนตาย มันก็หนักกมากละซิ..."

    แม้ทุกข์ยากลำบากเพียงใด ความพากเพียรเข้มแข็ง และใจมุ่งมั่นของท่าน มีน้ำหนักมากกว่า คำกล่าวที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จึงเป็นจริงขึ้น ปรากฏผลเป็นความบริสุทธิ์อยู่ในใจท่าน
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]

    ตอนที่ 11 สมบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    พระครั้งพุทธกาล บวชเพื่อนิพพานจริงๆ

    หลวงตากล่าวถึงความจริงจังของพระในครั้งพุทธกาล ดังนี้

    "...ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเป็นองค์ประทานพระโอวาทแก่บรรดาพระผู้ปฏิบัติที่เข้ามาอบรมศึกษา และศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ ไม่ได้ศึกษาเพียงสักแต่ชื่อแต่นานเพราะความจดจำเพียงเท่านั้น และไม่ได้ศึกษาเพื่อเเอาขั้นเอาภูมิดังปัจจุบันนี้

    นอกจากท่านจะได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์แบบทุกอย่างในเรื่องมรรคผล ท่านยังได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมในการชำระกิเลสอยู่ทุกกาลอีกด้วย โดยมักหลีกเร้นอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ไม่ค่อยพลุกพล่านวุ่นวายด้วยฝูงชน

    พระผู้มาศึกษาก็ล้วนแต่มีความมุ่งมั่นต่อมรรคผล ต่อวิมุตติ ต่อความพ้นทุกข์จริงๆ โดยมีความพากเพียรเป็นพื้นฐานเพราะเห็นภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด งานของพระในครั้งพุทธกาลจึงมีแต่เรื่องของงานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ซึ่งก็คืองานฆ่ากิเลสโดยตรงนั่นเอง ฉะนั้น ผลแห่งความปฏิบัติจึงมักบรรลุสมความตั้งใจ เกิด พระอรหันต์ขีณาสพ ขึ้นอย่างมากมายในสมัยนั้น..."

    ย้อนกลับมาสู้ชีวิตของท่าน แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มิได้ตั้งใจอยากบวชแต่อย่างใด ด้วยขนบประเพณีแต่โบราณ ทำให้พ่อแม่ปรารถนาจะได้บุญจากการบวชของลูก ใจในทีแรกแม้จะยังไม่พร้อม แต่ด้วยน้ำตาพ่อแม่ทำให้ท่านตระหนักเห็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพ่อแม่ที่จะขออภัยพึ่งใบบุญบวชจากลูก เพื่อเป็นทุนอุดหนุนชีวิตหลังสิ้นอายุขัยแล้ว ความกตัญญูรู้คุณ ทำให้ตัดใจได้ เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ นิสัยทำอะไรทำจริงอันติดมาแต่ครั้งฆราวาส ทำให้มีความจริงจังต่อการศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเข้าใจจุดหมายแท้จริงของชีวิต

    เมื่อเรียนปริยัติก็เรียนเพื่อเก็บหอมรอมริบข้อธรรมและวินัยหลายแง่หลายมุม โดยหวังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการออกปฏิบัติธุดงคกรรมฐานอย่างแท้จริง มิใช่หวังชั้นหวังภูมิยศศักดิ์แต่อย่างใด ความรู้นั้ทำให้พอมีเกณฑ์บรรทัดฐานในการเสาะหาครูอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องมรรคผลและข้อปฏิบัติที่ตรงทาง

    จากนั้นเมื่อมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมกับท่านอาจารย์มั่น จึงได้เร่งความเพียรอย่างเต็มสติกำลังความสามารถด้วยจิตตภาวนา จนสามารถหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสเข้าสู่แดนแห่งความพ้นทุกข์อันเกษมชีวิตอันบวชของท่านจึงสมบูรณ์พร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    พระไตรปิฎกใน : พระไตรปิฎกนอก ผู้รู้จริง : ผู้รู้จำ

    ท่านเปรียบเทียบความรู้จากการเรียนปริยัติกับความรู้จากการปฏิบัติไว้ ดังนี้

    "...พระไตรปิฎกใน คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมล้วนๆ ไว้บริสุทธิ์เต็มที่ พระไตรปิฎกนอก เป็นคนที่มีกิเลส ไปจดจารึกเอามา

    แยกเข้าไปอีกว่า พระไตรปิฎกตาดีคือ ท่านผู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทรงธรรมแท้ทรงธรรมที่บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่ไว้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์ท่าน นี่ออกจากหัวใจของท่านจ้าไปหมดครอบโลกธาตุ

    พระไตรปิฎกตาบอด คือ เราเรียนเท่าไหร่ก็เรียน ฟาดจนจบพระไตรปิฎกก็ได้ แต่ชื่อ ได้แต่นาม ได้แต่ความจำ ได้แต่ตำรับตำรา ไม่ได้ความจริงอย่างท่านมา ก็เรียกว่า ผู้ไปจดจารึก หรือถ้าเป็นประเภทนั้นก็ตาม แล้วผู้ที่เรียนตามนั้นก็เป็นคนตาบอด คำว่า บอด นี้ หมายความว่ากิเลสครอบงำหัวใจ ใจยังมืดมิดปิดตาอยู่ แม้จะเรียนอรรถเรียนธรรม ก็มีแต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรม แต่ใจยังบอดอยู่..."

    "ธรรม" รู้เห็นได้ ด้วย "การปฏิบัติจริง"

    ด้วยเหตุข้างต้นนี้ ท่านจึงเน้นภาคปฏิบัติมากที่สุด โดยให้เหตุผลไว้อย่างละเอียดลออ ดังนี้

    "...พระพุทธศาสนาของเราตามตำรับตำราท่านก็มีไว้สมบูรณ์ ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ท่านบรรจุไว้เรียบเรียน เราก็เรียนมาตามนั้น เรียนตามที่ท่านจดจารึกเอาไว้ในปิฎกต่างๆ เข้าสู่หัวใจด้วยความจำ ในระยะนี้การเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเรียนปิฎกใดเข้าสู่ใจ เป็นเข้าสู่ด้วยความจำธรรมะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังได้ท่องบ่นสังวัธยายทั้งหมด รวมเข้ามาสู่ใจนี้ เป็นธรรมะภาคความจำ ไหลเข้าสู่ใจด้วความจำ ยังไม่เข้าสู่ใจด้วยความจริง เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษามากน้อยจึงไม่พ้นความสงสัยในการดำเนินว่าจะดำเนินอย่างไรดี ดำเนินอย่างไรถูกหรืออย่างไรผิด ความสงสัยนี้จะต้องเป็นพื้นอยู่โดยดีในบรรดานักปริยัติทั้งหลายไม่ว่าท่านว่าเรา นี่พูดตามหลักความจริงซึ่งมีอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาเล่าเรียนมา

    เราอยากจะพูดเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยว่า ทุกดวงใจเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็นเรื่องที่จะเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เนื่องจากไม่มีผู้สันทัดจัดเจนในปฏิปทาเครื่องดำเนินและรู้เห็นจากการดำเนินนั้น อันเป็นฝ่ายผลมาก่อน แล้วมาชี้แจงแสดงบอก จึงทำให้ผู้ที่ศึกษามากน้อยอดสงสัยไม่ได้ จำต้องสงสัยอยู่โดยดี นี่เป็นคตินิสัยของปุถุชนเราโดยทั่วๆ ไป การพูดถึง ก็พูดถึงแต่ภาคความจำ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในปิฎกใด...พระวินัยปิฎกนั้นรู้แล้วว่าต้องอาศัยความจำเป็นหลักสำคัญที่จะประพฤติปฏิบัติตัว อันนี้ไม่พิสดารอะไรมาก ที่พิสดารมากก็คือพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นธรรมที่พิสดารมากจริงๆ...

    ผู้ที่เรียนมาทั้งหลายนี้ไม่ได้มีความจริงเข้าสู่ใจแล้วจะเอาอะไรไปประพฤติปฏิบัติ จึงต้องแบกความสงสัยเต็มหัวใจอยู่นั่นแล เรียนก็เรียน รู้ก็รู้ในภาคความจำ แต่วิธีปฏิบัติ เมื่อไม่มีผู้ชำนิชำนาญพร้อมทั้งการทรงผลมาแล้วมาพาดำเนิน จึงเป็นเรื่องลำบากอยู่มาก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยถูกต้องดีงามและราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์อย่างสมัยปัจจุบันนี้คือ หลวงปู่มั่น เป็นสำคัญ..."
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ผู้ปฏิบัติจริงไม่ถกเถียงใคร...เพราะมองดูก็รู้หมด

    ความรู้ที่เกิดจากการเรียนธรรมกับความรู้จากการปฏิบัติธรรมจนเห็นจริง ท่านเคยเปรียบให้มองเห็นภาพง่ายๆ ดังนี้

    "...คนมีกิเลสไปอ่านพระไตรปิฎก ไปเรียนพระไตรปิฎก...ถกเถียงกันยุ่งไปหมด เห็นไหมนั่นเพราะคนมีกิเลส ธรรมเป็นของจริงแค่ไหน หัวใจไม่ได้จริง ใจปลอม มันก็ถกเถียงกันเพราะความปลอม ไม่ใช่เพราะความจริง ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วมองดูที่ไหนก็รู้หมดเหมือน ช้าง ตัวหนึ่งนั่นละ อันไหนเป็นหางช้าง อันไหนเป็นงวงช้าง อะไรเป็นงา อะไรเป็นหู อะไรเป็นสีข้าง มันก็รู้หมดคนตาดีๆ แต่คนตาบอดไปคลำ คลำตรงไหนก็ว่าช้างเหมือนนั้นเหมือนนี้ไป ก็อย่างนั้นแหละ...

    ...ตาบอดคนหนึ่งว่า "ช้างนี้เหมือนไม้กวาด" เพราะไปคลำถูกหางช้าง

    ตาบอดอีกคนหนึ่งไปคลำถูกข้างของมันก็ว่า "ไม่ใช่นะ ช้างนี้เหมือนฝาเรือน"

    อีกคนหนึ่งไปคลำถูกขาของมัน...เถียงกันอีกละ "ไม่ ช้างไม่ใช่ฝาเรือน ช้างไม่ใช่ไม้กวาด ช้างมันคือต้นเสา" คนหนึ่งก็ไปคลำถูกหูมันอีกแหละ คลำช้างตัวเดียวกันนั่นแหละ คลำคนละแห่งๆ คนที่ไปคลำถูกหูนี้ก็มาค้านเอานี่"ช้างมันไม่ใช่ต้นเสา มันเหมือนกระด้งฝัดข้าว"

    คราวนี้ผู้ที่มาคลำเอางวงของมันนี้ว่า "ช้างคือปลิง"

    ก็เถียงกันอยู่อย่างนั้นละ และเถียงกันอยู่ใต้ร่มมะกอกด้วยนะ พอดีลมพัดมา มะกอกหล่นตูมใส่หัวตาบอดคนหนึ่ง แกก็ร้องขึ้นว่า

    "เฮ้ย กูพูดแต่ปากนะ มึงถึงขนาดถึงไม้ถึงมือ ตีกูถึงขนาดนี้เชียวเหรอ"

    ว่าแล้วก็ซัดกันเลย ทีนี้ตาบอด 6 คน ฟัดกันนัวเลย เพราะมะกอกลูกเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน คนนั้นว่างั้น คนนี้ว่าอย่างงี้นะ เวลานี้มะกอกกำลังจะหล่นลงหรือมันหล่นลงแล้วก็ไม่รู้นะ มะกอกหล่นลงในพวกนี้นะ พวกเราเหมือนตาบอดคลำช้างนั่นละ คลำไปถูกตรงไหนก็ว่า ธรรม นี้เหมือนนั้นๆ ไปหมดเลย

    คนตาดีมองดูช้างมันเห็นหมด จะไปสงสัยอะไร ช้างทั้งตัวไม่สงสัย คนตาดีดูแป๊บเดียวรู้ นั่นแหละ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านดู ธรรม ท่านดูเหมือนคนตาดีดูช้าง พวกเราเรียนธรรม ดูธรรม เหมือนตาบอดคลำช้าง เถียงกันวันยังค่ำ...
    .
    ..มะกอกหล่นไปไหนแล้วไม่รู้ มะกอกไม่ได้สนใจใครหรอก...แต่พวกนี้เลยซัดกันนัวเลย แทนที่จะชำระคดีมันก็เลยไม่ได้ชำระ มะกอกมาตีหัวแล้วซัดกันนัวเลย...ฟัดกันอยู่ในสนามตาบอด มันจะไม่เลิกนะ ทีนี้ไม่ทราบว่ามะกอกมาจากไหน มันก็หายากนะมะกอกที่จะมาหล่นตูมใส่หน้าผากพวกนี้ มันหายากนะ สมัยทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีแล้วนะมะกอก คือใครไม่ได้สนใจมะกอกยิ่งกว่าคลำช้าง แล้วมาเถียงกันตีกัน นั่นแหละ...พวกเรามันเรียน เรียนด้วยความจำ...

    ...ใครเรียนที่ตรงไหนก็ไปยึดกรรมสิทธิ์ อวดอำนาจความรู้ความฉลาดของตนขึ้นจากความจำนั้น แฝงความจำไปอีกเป็นปลอมๆ ไปอีก เอามาโต้กันเสียเป็นบ้าน้ำลายโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าหากปฏิบัติให้รู้ตามความจริงของธรรมที่ท่านสอนไว้...ก็จะไปถามใคร ไปโต้เถียงกันให้เสียเวล่ำเวลาทำไม ถ้าไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง

    ท่านให้ปฏิบัติซี ให้รู้ซี ใครรู้มากน้อยเท่าไรอาจหาญ ทำไมจะไม่อาจหาญสัมผัสด้วยใจ รู้ด้วยใจเพราะปฏิบัติด้วยใจนี่ ต้องรู้ทั้งกิเกสหยาบกลางละเอียด รู้ทั้งธรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และอย่างละเอียดสุดสิ้นพ้นความละเอียดไปจนถึงความบริสุทธิ์ ไม่รู้ที่ใจอะไรจะเป็นผู้รู้..."
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สายทางน้ำ...ไหลเข้าสู่มหาสมุทร : สายทางการปฏิบัติ...ไหลเข้าสู่มหาวิมุตติมหานิพพาน

    ผลแห่งการบำเพ็ญของนักปฏิบัติแต่ละคนๆ เพื่อเข้าสู่แดนนิพพานนั้น ท่านเคยเปรียบไว้ ดังนี้

    "...แม่น้ำสายต่างๆ ไม่ว่าสายใดก็ตาม ไหลลงมาแล้วไปรวมลงในมหาสมุทรแห่งเดียวกัน แม่น้ำสายต่างๆ เราจะเรียกว่าแม่น้ำสายนั้นๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำอะไรก็ตามนะ นี่เรียกว่าสายทางของน้ำไหลลง

    พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้วเป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมด แยกกันไม่ออก ไม่มีว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ เมื่อเข้าสู่มหาสมุทร ทะเลหลวงแล้วเรียกว่า แม่น้ำมหาสมุทรอย่างเดียวกันหมด...

    แม่น้ำสายต่างๆ เปรียบกับผู้บำเพ็ญในที่ต่างๆ อยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อบารมีแก่กล้าพอไหลเข้ามา ใกล้เข้ามาๆ สร้างคุณงามความดี นี่เรียกว่าแม่น้ำสายต่างๆ ไหลเข้ามาอย่างนี้ พอมากเข้า จวนเข้าๆ ก็ถึงแม่น้ำมหาสมุทรทะเล เนี่ยอันนี้ ก็เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพาน เมื่อเต็มที่แล้วก็ต้องถึงขั้นสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลายได้เหมือนกันหมด

    ไม่ได้เลือกว่าเป็นผู้หญิงผู้ชายนักบวชฆราวาสนะ สำคัญอยู่ที่การสร้างบารมีซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่จะยกผู้บำเพ็ญให้ถึงความหลุดพ้นได้ ทีนี้เมื่อบำเพ็ญเต็มที่ๆ ก็เหมือนกับแม่น้ำสายต่างๆ ค่อยไหลเข้ามาใกล้เข้ามาๆ บารมีแก่กล้าก็ใกล้เข้ามาๆ พอถึงกันปุ๊บ ก็เรียกว่า ถึงเต็มภูมิเป็นอรหัตตบุคคลขึ้นมา

    นั่นละ มหาวิมุตติมหานิพพานเข้าถึงแล้วทีนี้ ผู้บรรลุธรรมนี้เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพานแล้วเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานเหมือนกันหมด ทีนี่แยกไม่ออกว่าผู้นี้รายนี้ รายนี้มาจากไหน มาจากไหน พูดไม่ออกเพราะเข้าถึงแล้ว เรียกว่าแม่น้ำสายต่างๆ ไม่มีความหมายละ เพราะเข้าในมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกัน

    นี่ ผู้บำเพ็ญในคุณงามความดีประเภทต่างๆ ก็เป็นจุดแม่น้ำลำคลอง แต่ละรายๆ ไหลเข้าๆ แล้วเข้าสู่จุดสุดยอดแห่งความพ้นทุกข์ ว่างั้นเลย เรียว่า ความพ้นทุกข์อยู่ที่จุดนั้น อยู่ที่มหาวิมุตติมหานิพพาน เนี่ยเข้าถึงนั้นแล้ว เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานอันเดียวกันหมด

    เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า บรรดาผู้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตตภูมิแล้ว นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้ายเป็นเหมือนกันหมด นั่งฟังซิ แยกกันไม่ออก...ไม่มีคำว่ายิ่งว่าหย่อนต่างกัน แยกกันไม่ออก..."
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ตอนที่ 12 ปฏิปทาสายท่านอาจารย์มั่น

    ระลึกพระคุณ...ท่านอาจารย์มั่น ไม่สร่างซา

    หลวงตากล่าวกับพระเณรเสมอๆ ว่า ผลแห่งกรรมที่พากเพียรปฏิบัติมาจนประจักษ์ใจได้ก็ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากท่านอาจารย์มั่น ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้ความเคารพบูชาและระลึกบุญระลึกคุณต่อท่านอาจารย์มั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ชนิดมอบกายถวายชีวิตแก่ท่านได้ ท่านเคยกล่าวยกย่องคุณธรรมและคุณสมบัติของท่านอาจารย์มั่นว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดตกเรี่ยเสียหายเลย ไม่ว่าจะเรื่องหลักธรรมหลักวินัย ท่านอาจารย์มั่นสามารถเก็บหอมรอมริบได้หมด เรื่องญาณหยั่งทราบหรือความรู้ภายในก็สุดเลิศเลอ

    ความเคารพบูชาอย่างสูงสุดของท่านที่มีต่อท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านเคยกล่าวไว้อย่างจับจิตจับใจผู้ฟังว่า

    "...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านเป็นทั้งพ่อเราทั้งแม่เรา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมด ให้อรรถให้ธรรม ให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นสิริมงคล สิ่งใดไม่ดีปัดเป่าออกไปด้วยคำแนะนำสั่งสอนทุกแง่ทุกมุม จึงเป็นเหมือนกับพ่อกับแม่ของเรา เหมือนเรามีพ่อมีแม่นี่แหละ...

    เราเคารพท่านสุดขีด ในหัวใจของเรานี้อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นหมดเลย เราพูดจริงๆ ในบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราไม่ได้ประมาทท่าน เราไม่ได้คบค้าสมาคมกับท่านสนิทติดจมจริงๆ ฝากเป็นฝากตายเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น นี่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ กิ แต่ กา แต่ เอะ แต่ เอ เรื่อยไป ท่านสอนหมดในภาคปฏิบัติธรรมนะ

    ส่วนภาคปริยัติเราก็เรียน เรียนไปแล้วแต่ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไร เพียงแค่จดได้มา จำได้มาเฉยๆ ไม่รู้วิธีภาคปฏิบัติเป็นยังไง ท่านต้องบอก อันนี้ทำอย่างนี้ เครื่องมืออันนี้เอาไปทำอย่างนั้น เครื่องมืออันนี้ไปใช้อย่างนี้ๆ ที่เราเรียนมาเราจำได้ แต่ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่เป็น อาศัยท่านพาปฏิบัติดำเนินการเรียนมานั้น เราจำได้แต่ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ท่านก็หยิบออกมา อันนี้ให้ทำประโยชน์อย่างนั้น อันนั้นให้ทำประโยชน์อย่างนั้นๆ เราก็ยึดก็จับเอาได้จากท่านเรื่อยมาจนเป็นภาคปฏิบัติ

    ภาคปฏิบัติก็เอาอีกเหมือนกัน ต้องให้ท่านเป็นแม่เหล็ก เป็นเครื่องดึงดูด เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร เหมือนกับกาจับภูเขาทอง...เหลืองอร่ามไปเลย กิเลสมันกลัวเวลามาอยู่กับท่าน กิเลสมันก็หมอบ อยู่กับท่านสบายๆ นี่ก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันหนึ่ง เป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดเราให้มีแก่ใจประกอบความพากเพียรเอาเป็นเอาตายหนักเบาออกมาจากท่าน ได้รับการศึกษาจากท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านแนะนำเต็มภูมิ และพาปฏิบัติเต็มกำลังทุกด้าน...อันนี้ท่านสอนละเอียดลออมากทีเดียว..."

    ความเคารพผูกพันระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่แนบแน่นฝังจิตของท่านนั้น จะทราบได้ชัดเจนจากคำเทศน์ของท่านตอนหนึ่งว่า

    "...ผมไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้กราบ ท่านอาจารย์มั่นแล้วนอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรม ก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลย ก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมติน้อมนมัสการไป

    พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง...ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา..."
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ลูกหลาน...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น

    ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากผู้รู้จริงเห็นจริงเช่นท่านอาจารย์มั่นนี้เอง ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาภิกษุบริษัทที่เข้ามาศึกษากับท่านอาจารย์มั่นมีเป็นจำนวนมาก แตกกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะได้หลักได้เกณฑ์ที่ถูกต้องจากท่านมาเป็นเครื่องดำเนินจนเป็นที่อบอุ่นใจ ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟังเกี่ยวกับปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นว่า

    "...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร 13 นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดัง อะไรออกนอกลู่นอกทางนั้นก็ไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยือถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัยก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน

    นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ จนกระทั่งถึงพวกเรานี้ ก็มาจากสายของท่านนั่นเอง เป็นที่แน่ใจไม่สงสัยคือไม่มีคำว่าแฝงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตาไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย

    นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนินไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน

    ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา ดังที่เคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว

    พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมาเป็นเครื่องดำเนินของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณ เฉพาะอย่างยิ่ง ภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไป การที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก นี่ละ เป็นที่ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับที่เราเรียนมาโดยลำพังและปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ

    ยกตัวอย่าง ไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอบอุ่นแน่ใจตายใจสำหรับตัวเองไม่มีจะว่ายังไง นั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    มหานิกาย ธรรมยุต คือ "ศากยบุตร" อันเดียวกัน

    วัดหรือสำนักใดก็ตามที่มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็ให้ความเคารพนับถือเข้ากันได้อย่างสนิทใจโดยไม่ถือในเรื่องกลุ่มก้อนหมู่เหล่า ไม่ถือเรื่องชาติเรื่องภาษาเรื่องชั้นวรรณะ ไม่ถือเรื่องชื่อเรื่องนิกายเป็นประมาณยิ่งกว่าธรรมวินัย ดังตัวอย่าง คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้กับพระทางมหานิกาย ใจความว่า

    "...พระครั้งพุทธกาล ท่านมีแต่ศากยบุตร เท่านั้น ท่านไม่มีนิกายนั้นนิกายนี้ นิกายนี้ตั้งเป็นชื่อเป็นนามไม่เห็นสำคัญอะไร ตั้งฟากจรวดดาวเทียมก็ไปตั้งชื่อนักโทษซิ มันอยู่ในเรือนจำ แต่ชื่อมันอยู่ฟากจรวดดาวเทียม ใครนับถือไหมนักโทษคนนั้น นี่เขา ชื่อเขาสูงนะนักโทษคนนี้นะ เขามาติดคุกต่างหาก แต่ชื่อเขาอยู่ฟากจรวดดาวเทียมนี้ คนจะยอมรับนับถือเขาไหมนั่น ศากยบุตรของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าลงมาประพฤติปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย ก็เรียกว่าลดคุณค่าชองตัวลงโดยลำดับ

    ชื่อนามไม่เกิดประโยชน์ ชื่อตั้งไว้ยังงั้นละ ตั้งแต่เป็ด แต่ไก่ หมู หมา เขาก็มีชื่อพระก็ตั้งไว้อย่างนั้น หลักใหญ่คือ ศากยบุตร ขอให้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นั่นแล คือผู้จะทรงมรรคทรงผลและผู้ทรงมรรคทรงผล ชื่อนามเฉยๆ นั้น ตั้งไว้ยังงั้นแหละ ไม่ใช่ผู้ทรงมรรคทรงผล...โลก...ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น...อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี้เป็นผู้พูดซะเองนะ

    ...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านไม่ได้สนใจกับชื่อนะ ท่านสนใจกับหลักธรรมหลักวินัยศากยบุตรต่างหาก ฉะนั้น เวลาลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านที่เป็นพระฝ่ายมหานิกายมาขอญัตติกับท่าน ท่านอาจารย์มั่นนี่เองพูดให้เราฟังนะ เราถึงได้พูดได้อย่างอาจหาญ ท่านว่า

    "ท่านเหล่านี้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจำนวนมากก และท่านเหล่านี้จะมาขอญัตติกับเรา"

    ท่านว่า "ไม่ต้องญัตติ" ท่านพูดตรงๆ อย่างนี้เลย...ท่านสั่งเลยนะ

    มัคคาวรณ์ สัคคาวรณ์ ไม่มี เพศ ก็ตั้งขึ้นแล้ว ทางสังคมยอมรับกันทั้ง ธรรมยุต และมหานิกาย นี่เป็นความยอมรับทั่วหน้ากันแล้วในสังคม ส่วนธรรมวินัยก็เป็นที่เปิดทางให้แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีคำว่านิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น เป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้าได้เสมอหน้ากันหมด นี่หลวงปู่มั่นท่านแสดง

    "ผมสงสารเพื่อนฝูงของท่าน มีจำนวนมาก ถ้าท่านทั้งหลายญัตติเสียแล้ว หมู่เพื่อนก็จะเข้ากันไม่ติด ไม่ต้องญัตติแหละ"

    คำว่า เพื่อนฝูง ได้แก่ ธรรมยุต มหานิกาย ที่เขาตั้งชื่อกันอย่างนั้น...เพราะโลกเขาถือสมมติ

    "ถ้าญัตติแล้วก็เป็นฝ่านั้นฝ่ายนี้ นี่คณะของท่านมีเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับประโยชน์จากท่านทางด้านอรรถธรรมบ้าง จึงไม่ให้ญัตติ"

    ท่านบอกอย่างเด็ดขาดไปเลย ทางด้านปฏิบัติ สัคคนาวรณ์ มัคคาวรณ์ ไม่มีต่อ ผู้ปฏิบัติดี แต่ผู้ปฏิบัติไม่ดีนี้ไม่มีหวัง ว่างั้นเลยนะ อยู่กับข้อปฏิบัติ...ท่านเล็งผลประโยชน์โน่นนะ ท่านไม่ได้เล็งนิกายนั้นนิกายนี้นะ

    "พอเวลาญัตติแล้วเขาก็จะถือว่าเป็นคณะนั้นคณะนี้ไปเสีย ผู้ที่ไม่เข้าใจในอรรถในธรรมมันก็เข้าไม่ถึง ผลประโยชน์ก็ขาดไป" ว่างั้น

    "เมื่อพวกท่านได้กระจายออกไปทางด้านธรรมะนี้แล้ว เวลาไปที่ไหน พวกท่านทั้งหลายนี้มีพวกมากเสียด้วย ก็ยิ่งกระจายมาก ผลประโยชน์ก็มาก จึงไม่ต้องญัตติ ดี"

    ท่านว่า "ผลประโยชน์มากกว่าญัตติ"

    ท่านพูดตรงๆ เลยละ ท่านเล่าให้ฟังนะ พูดถึงลูกศิษย์ลูกหาของท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุตหรือมหานิกาย ใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านชมเชยทั้งนั้น นั่นละ ผู้เป็นธรรมเป็นอย่างนั้น...

    เอาหลักธรรมหลักวินัยนั่นละ เป็นหลักของพระ อันนี้เป็นหลักที่แน่ใจ ตัวเองก็อบอุ่น ไปที่ไหนเย็นละ เพราะพระมีธรรม มีวินัยมีเมตตาไปพร้อม เย็นไปหมด ไม่มีธรรมไม่มีวินัยใจดำน้ำขุ่นตีบตันอั๋นตู้ ดูไม่ได้พระใจดำน้ำขุ่นตีบตันอั้นตู้หาเมตตาไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟในตัวเองก็ไปเผาบ้านเผาเมืองต่อไปอีกละ เนี่ย ไม่ดี

    ไปที่ไหนเย็น ดูจิตเจ้าของตลอด นี่ละผู้ปฏิบัติธรรม ต้องดูจิตเป็นสำคัญ ศีลก็ดีสมาธิปัญญาวิมุตติหลุดพ้นออกไปจากจิต สติปัญญารักษาจิตบำรุงจิตให้ดี...อยู่ไหนเย็นสบายไปหมด นี่ละ มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ที่คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ นิกายนั้นนิกายนี้นะ อันนั้นตั้งไว้โก้ๆ ไปอย่างงั้นแหละ..."
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]

    ตอนที่ 13 สอนตนให้ได้ก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่น

    เลี่ยงไม่ได้ จึงเทศน์

    ความสมหวังในชีวิตการบวชของหลวงตา เป็นผลจากความจริงจังของท่านที่มุ่งฝึกสอนแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นมาให้ได้ก่อนในเรื่องการเทศน์สอนผู้อื่นนั้น ท่านไม่ถือเป็นอารมณ์หรือไม่สนใจเลยก็ว่าได้ ผลแห่งการปฏิบัติจึงเจริญขึ้นๆ เป็นลำดับไป หากจะมีการเทศน์อยู่บ้างก็เป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้นด้วยความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องได้เทศน์ตอนหนึ่งว่า

    "...นี่บวชดูเหมือนจะเป็นพรรษาที่ 2 นะ พอออกพรรษาแล้ว พวกญาติโยมเขามานิมนต์ไปทำบุญที่ลานข้าวเขา อันนี้ท่านพระครูให้เราเป็นหัวหน้าไปสวดมนต์ เราก็ได้หนังสือพกเล่มหนึ่ง เวลาจำเป็นก็จะเอาอันนี้เทศน์ว่างั้น...พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็นิมนต์เทศน์ เราก็เอาหนังสือนี้มาอ่าน พอรอดตัวไปได้ จบแล้ว สักเดี๋ยวตามหลังกันมาอีกคณะหนึ่ง เขามาขอฟังเทศน์ เขาว่า

    "จะยากอะไร ท่านฉันเสร็จแล้วนี่ ท่านก็เทศน์ให้ฟังได้"

    แต่เรามันแค่นเสียแล้ว หัวอกมันคับแล้ว จะเอาอะไรมาเทศน์ละทีนี้ มันไม่มีอะไรแล้ว กูตายนี่...

    พอหลังจากนั้นแล้ว เขาก็นิมนต์ให้เทศน์ทีนี้ มันก็อยู่กับหัวหน้า จะให้เขาเทศน์ มันก็ไม่ได้นี่นา... ตกลงก็ต้องเป็นเราเทศน์ โถ หนาวๆ นี้ แต่ก็เหงื่อแตกหมดเลยนะ แต่มันก็ไปได้นะก็แปลกอยู่ เวลาจนตรอก มันไปได้นะ เทศน์ไปได้นี่นะ แต่ว่าอกนี้จะแตก มันก็พอบืนรอดตัวไปได้ ว่างั้นเถอะนะ พอกลับมา หมู่เพื่อนมาพูดแหย่แล้ว ทีนี้

    "โฮ้ ! เทศน์ดีนะ"

    เราเลยว่า "อย่ามาพูดนะ กำลังโมโหนะ ยังไม่อยากตายอย่ามาพูดนะ..."

    ท่านเล่าพลางหัวเราะพลางด้วยขบขัน ตนเองในระยะแรกๆ ของการบวช จากนั้นพอกลับมาถึงวัด ท่านก็เอากัณฑ์เทศน์ ท่านเจ้าคุณอุบาลี มาท่องใหญ่เลย เลือกดูว่ากัณฑ์ไหนเหมาะก็เอาอันนั้นมาท่องจนคล่องเหมือนปาฏิโมกข์เลย ท่านคิดในใจว่า

    "คราวนี้ไม่ตายแล้ว ถ้าเผื่อมีเหตุจำเป็นต้องได้เทศน์ที่ไหนอีก ก็จะเอากัณฑ์ที่อุตส่าห์ท่องจนขึ้นใจนี้ออกเทศน์เลย" แต่การณ์กลับเป็นว่า นับแต่นั้นมา ท่านกลับไม่เคยได้เทศน์ในลักษณะนั้นอีกเลย จนบัดนี้ หนนั้นเป็นหนหนึ่งที่ประทับใจท่านไม่เคยลืม ท่านให้เหตุผลว่า

    "...เพราะเป็นการเทศน์แบบจนตรอกจริงๆ ไม่มีทางไปเลย แต่ก็ต้องบืนเอา เอาตายสู้เลย จากนั้นมาก็พอเทศน์ได้ธรรมดา ไม่อั้นตู้เหมือนตอนนั้น เพราะเรียนหนังสือไปด้วย จะมีเทศน์บ้างก็ยามจำเป็นจริงๆ หากไม่จำเป็นไม่เทศน์..."
     

แชร์หน้านี้

Loading...